โทษของกาม - เห็นโทษของสักกายทิฏฐิก่อน


    ถาม   ผมสงสัยเมื่อกี้นี้ ที่เทวดาได้ไปทูลพระผู้มีพระภาคว่า การเห็นโทษของกาม อุปมาเหมือนถูกแทงด้วยหอก หรือไฟกำลังไหม้บนศีรษะ อันนี้ก็เห็นโทษของโลภะ มันก็น่าจะถูกนี่ครับ แต่ทำไมพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ต้องละทิฏฐิเสียก่อน อันนี้มันไขว่เขวกันอย่างไร

    ส.   โสตาปัตติผลมรรคจิตดับสักกายทิฏฐิและมิจฉาทิฏฐิทั้งหมด ถ้าจะดับกาม คือ ความยินดี พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ  แล้วต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล แล้วถ้าดับโลภะหมดแม้ในภพ ในความเป็นอยู่ ก็ต้องเป็นพระอรหันต์ คือ อรหัตมรรคจิตเท่านั้นที่จะดับได้ แล้วไม่ใช่ว่าเป็นพระอรหันต์ก่อน ต้องเป็นพระโสดาบันบุคคลก่อน

    ผู้ฟัง    ใช่ครับ อันนี้ก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น แต่ว่าจะต้องละสักกายทิฏฐิ แต่ก่อนที่จะละสักกายทิฏฐิ จะต้องเห็นโทษของกามเสียก่อนหรือเปล่า

    ส.   เห็นค่ะ

    ผู้ฟัง    นั่นซิ ในเมื่อจำเป็นต้องเห็นโทษของกาม คำพูดของเทวดาก็น่าจะถูก

    ส.   ใครจะรู้ว่า เทวดานั้นคิดอย่างไร ใช่ไหมคะ เพราะเหตุว่าถ้ามีบุคคลหนึ่งบอกว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ เพื่อละกามราคะ เหมือนบุรุษผู้ถูกประหารด้วยหอกมุ่งถอนเสีย และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะมุ่งดับไฟ

    ฟังดูก็น่าเชื่อ น่าสรรเสริญอย่างยิ่ง เพราะเป็นผู้เห็นโทษของกามราคะ แล้วเตือนให้ภิกษุมีสติเว้นรอบ เพื่อที่จะละกามราคะ แต่ใครเป็นผู้รู้ว่า เทวดาท่านนั้นคิดอย่างไร

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า คาถาที่เทวดานั้นนำมาตั้งไว้ ทำอุปมาให้มั่นคง ถือเอาประโยชน์ได้นิดหน่อย แม้เธอจะกล่าวซ้ำๆซากๆ

    เวลานี้นะคะ ถ้าใครจะบอกท่านผู้ฟังว่า ให้ละโลภะ โลภะมีโทษมาก นำมาซึ่งความทุกข์ทั้งปวง เป็นมูลเหตุของอกุศลธรรมทั้งหลาย จะทำให้อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญขึ้น มีวิบากเป็นทุกข์ สารพัดที่จะแสดง สามารถที่จะดับกามราคะได้จริงๆ หรือเปล่า หรือว่าต้องตามลำดับเพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็เพราะคาถานี้ เทวดากล่าวถึงการละโดยการข่มกามราคะเท่านั้น 

    ข้อความต่อไปแสดงถึงความลึก เหนียวแน่นของความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ  ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็กามราคะอันมรรคยังไม่ทำลายตราบใด ตราบนั้นก็ยังมีการตามผูกพันเรื่อยไป

    คิดว่าชาตินี้ละได้ แต่ไม่ได้ค่ะถ้าโสตาปัตติมรรคจิตไม่เกิด สกทาคามิมรรคจิตไม่เกิด อนาคามิมรรคจิตไม่เกิด อรหัตมรรคจิตไม่เกิด ไม่มีหนทางอื่นที่จะละกามราคะได้

     


    หมายเลข 7748
    22 ส.ค. 2558