โลภะ มีการไม่ละไปเป็นอาการปรากฏ จาก คังคมาลชาดก


    ซึ่งจะขอกล่าวถึงลักษณะของโลภะ ซึ่งเป็นอาการปรากฏ คือ อปริจาค ปจฺจุปัฏฺฐาโน มีการไม่ละไป เป็นอาการปรากฏ ดุจการติดสีที่หยอดน้ำมัน

    ขอกล่าวถึงชาดกเรื่องหนึ่ง ที่จะแสดงให้เห็นว่า การไม่บริจาคเป็นอย่างไร เวลาที่โลภะเกิดขึ้นแล้ว มีการไม่บริจาค เป็นอาการปรากฏ

    ในครั้งนั้นท่านพระอานนท์เป็นคนรับจ้างตักน้ำ สมบัติที่มีอยู่ก็เพียงเงินครึ่งมาสก ซึ่งซ่อนไว้ใต้แผ่นอิฐที่กำแพงประตูเมืองด้านหนึ่ง เวลามีงานมหรสพในเมือง ภรรยาของท่านก็ขยั้นขยอให้ไปเที่ยว และถามว่า มีเงินพอที่จะไปเที่ยวงานมหรสพนั้นหรือเปล่า ซึ่งท่านก็ตอบว่า มีอยู่เพียงครึ่งมาสก และซ่อนไว้ไกลถึง ๑๒ โยชน์ ภรรยาก็บอกให้ไปเอา แม้ตัวภรรยาเองก็เก็บเงินไว้ได้ครึ่งมาสกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อรวมกัน ๒ คน ก็ได้ ๑ มาสก ซึ่งก็พอที่จะซื้อมาลัยของหอม หรือสุราเครื่องดื่มได้ ท่านพระอานนท์ในครั้งนั้นซึ่งเป็นคนรับจ้างตักน้ำ ก็ได้เดินตากแดดไปเพื่อที่จะไปเอาเงินที่ซ่อนไว้ที่แผ่นอิฐใต้กำแพง ในขณะนั้นก็คิดถึงเรื่องที่จะไปเที่ยวให้สนุก ก็ร้องเพลงไปด้วย เวลาที่ผ่านลานพระราชวัง พระเจ้าอุทัย พระเจ้ากรุงพาราณสีเห็นคนรับจ้างตักน้ำคนนี้ร้องเพลง เดินฝ่าแดด เดินตากแดดไป ก็สงสัยว่า อะไรที่ทำให้เขามีความสุข

    เพราะฉะนั้นก็ตรัสถามถึงเหตุที่ทำให้เขารู้สึกเป็นสุข ทั้งๆที่แดดก็ร้อนออกอย่างนั้น ซึ่งเขาก็ตอบว่า เขาไม่รู้สึกถึงความร้อนของแดดเลย เพราะว่าเขากำลังทำสิ่งที่เขาปรารถนาอย่างเหลือเกิน คือ ต้องการที่จะไปเอาเงิน สำหรับจะไปเที่ยวงานมหรสพ

    พระราชาก็ตรัสถามเขาว่า เขามีเงินอยู่เท่าไร มีประมาณถึงแสนหรือที่จะไปเอา

    ตอนนั้นยังไม่ทรงทราบว่า มีอยู่เพียงครึ่งมาสก แต่เมื่อทรงทราบว่า เขามีเงินเพียงครึ่งมาสกเท่านั้น ก็ตรัสว่า ไม่ต้องเดินตากแดดไปเอาไกลถึง ๑๒ โยชน์ พระองค์จะประทานเงินครึ่งมาสกนั้นให้ ซึ่งเขาก็ตอบว่า เขารู้สึกดีใจมากที่จะได้เงิน ๑ มาสก เพราะเหตุว่าพระเจ้าแผ่นดินจะประทานให้ครึ่งมาสก รวมทั้งของเขาเองอีกครึ่งมาสก เพราะฉะนั้นเขาก็ดีใจที่เขาจะได้เงิน ๑ มาสก

    ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงเห็นว่า ทำอย่างไรเขาก็ไม่ละ คือ ไม่บริจาค ไม่สละเงินครึ่งมาสกของตน เพราะฉะนั้นก็เพิ่มขึ้นให้อีกเป็น ๒ มาสก ๓ มาสก ๔ มาสก ๕ มาสก มากขึ้นไป เขาก็ไม่ยอม ถึงได้จากพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็จะต้องไปเอาเงินครึ่งมาสก ซึ่งฝังไว้ใต้แผ่นอิฐที่กำแพงเมือง จนกระทั่งพระเจ้าอุทัยจะประทานตำแหน่งเศรษฐีให้ เขาก็ไม่ยอมสละเงินครึ่งมาสกซึ่งฝังไว้ ในที่สุดพระเจ้าอุทัยก็ได้ตรัสว่า จะพระราชทานพระราชสมบัติให้ครึ่งหนึ่ง แล้วพระราชาก็ได้ประทานพระราชสมบัติให้เขาครึ่งหนึ่ง  ด้วยเหตุนั้นเขาจึงได้นามว่า พระเจ้าอัฑฒมาสก หมายความถึงพระเจ้าครึ่งมาสก “อัฑฒ” แปลว่า ครึ่ง

    ข้อความนี้มาใน คังคมาลชาดก อัฏฐกนิบาต นี่คือ ท่านพระอานนท์

    ลักษณะของโลภะ อปริจาคํ ปจฺจุปฏฺฐาโน มีการไม่สละ

    ถาม   โลภะยิ่งมากยิ่งดี เพราะว่าโลภะนิดเดียว ก็ได้เพียงมาสก ๒ มาสก ก็พอแล้ว แต่ทีนี้ โลภะของท่านพระอานนท์ สมัยนั้นน่ะมีมาก เพราะว่าโลภะมากจึงได้ตำแหน่งพระราชา

    ส.   เพราะฉะนั้นทุกท่านจะเห็นได้ว่า เวลาที่โลภะเกิดขึ้นขณะใด ไม่บริจาค สละไม่ได้ ท่านผู้ฟังลองกลับไปบ้าน ดูเสื้อผ้าก็ได้ค่ะ ของใช้ต่างๆก็ได้ บางอย่างไม่ได้ใช้ ไม่ได้ใส่ สละหรือเปล่า ทั้งๆที่อาจจะเก็บไว้เป็นเดือน เป็นปี เป็นหลายๆปี เวลาที่โลภะเกิดขึ้น อาการที่ปรากฏ คือ ไม่สละ เพราะฉะนั้นเพียงครึ่งมาสกเท่านั้นเอง ยังไม่ยอมที่จะทิ้งไป ถึงแม้ว่าจะมีเงินถึง ๔ – ๕ มาสก ๘ พัน ๘ หมื่น เท่าไรก็ตาม แต่ก็ยังจะต้องกลับไปเอาครึ่งมาสกซึ่งฝังไว้ที่ใต้แผ่นอิฐ


    หมายเลข 7749
    22 ส.ค. 2558