เหตุ - นเหตุ


    เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่น่าคิด น่าสนใจ และไม่ควรจะลืมด้วย แล้วควรจะต้องสอดคล้องกับธรรมอื่นๆด้วย เช่น เมื่อทราบว่า ปรมัตถธรรมมี ๔ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เมื่อกล่าวโดยเหตุ  จิตไม่ใช่เหตุ เจตสิกที่เป็นเหตุมีเพียง ๖ เจตสิกอื่นนอกจากนั้นทั้งหมด ไม่ใช่เหตุ รูป ไม่ใช่เหตุ นิพพานไม่ใช่เหตุ ถูกไหมคะ ต้องคิด ถูกหรือไม่ถูกคะ ถ้าถูกก็ควรที่จะได้ทราบว่า สิ่งใดที่ไม่ใช่เหตุ ภาษาบาลีใช้คำว่า “นเหตุ”

    เพราะฉะนั้นมี เหตุ กับ นเหตุ เหตุ ก็คือ เหตุ ส่วนนเหตุ ก็คือ ไม่ใช่เหตุ

    เพราะฉะนั้นจิตเป็นอะไรคะ เป็นนเหตุ

    เจตสิกอื่น เช่น ผัสสะ เป็นนเหตุ เวทนา เป็นนเหตุ  สัญญา เป็นนเหตุ เป็นต้น เจตสิกอื่น นอกจากเจตสิก ๖ แล้ว ไม่ใช่เหตุ จึงเป็น นเหตุ

    รูปเป็นอะไรคะ เป็นนเหตุ

    นิพพานเป็นอะไรคะ เป็นนเหตุ

    ก็เป็นเรื่องค่อยๆเข้าใจตามลำดับ คือ แยก “เหตุ” กับ “นเหตุ” แล้วก็ยังต้องรู้ต่อไปว่า จิตซึ่งเป็นนเหตุ เพราะจิตไม่ใช่เหตุ แต่จิตบางดวงเกิดพร้อมกับเหตุ และจิตบางดวง ไม่มีเหตุสักเหตุเดียวเกิดร่วมด้วย

    เช่น จักขุวิญญาณที่เห็นในขณะนี้ ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ มีเจตสิกที่เกิดกับจักขุวิญญาณเพียง ๗ ดวง ซึ่งได้แก่ ผัสสเจตสิก ทำกิจกระทบรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา เวทนาเจตสิก ทำกิจรู้สึก อุเบกขาเวทนา อทุกขมสุขในขณะที่กำลังเห็น สัญญาเจตสิก ทำกิจจำสิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้น เจตนาเจตสิก เป็นสภาพที่ขวนขวายให้กิจ คือ การเห็นสำเร็จ ชีวิตินทรียเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก มนสิการเจตสิก เหล่านี้ไม่ใช่เหตุ แต่ว่าจิตบางดวงก็มีเหตุเกิดร่วมด้วย เช่น โลภมูลจิต เห็นแล้วดับไปแล้ว ชอบสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะที่ชอบในขณะนั้นไม่ใช่จักขุวิญญาณ แต่ว่าจิตที่เกิดต่อจากจักขุวิญญาณในขณะนั้น ประกอบด้วยเหตุ คือ มีสภาพของความพอใจ ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ เกิดกับจิตนั้น เป็นโลภมูลจิตเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นแม้ว่าจิตเป็น นเหตุ ก็จริง แต่ว่าจิตบางดวงมีเหตุเกิดร่วมด้วย และจิตบางดวงไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นจิตซึ่งเป็น นเหตุ เวลาที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เป็น “สเหตุกะ” หมายความว่า จิตนั้นประกอบด้วยเหตุ

    ค่อยๆเข้าใจไปเป็นลำดับขั้น คือ รู้ว่า เหตุ ได้แก่อะไร?

    “เหตุ” ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง

    ตลอดพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก จะไม่มีเหตุ ๗ บางแห่งอาจจะแสดงเหตุ ๙ คือ เป็นอกุศลเหตุ ๓ กุศลเหตุ ๓ อัพยากตเหตุ ๓

    ซึ่งอัพยากตเหตุจะเลยเหตุ ๖ ไปไม่ได้ หมายความว่า ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยของเหตุ ๓ โดยนัยของเหตุ ๖ โดยนัยของเหตุ ๙ โดยนัยใดๆก็ตาม สเหตุ อเหตุ นเหตุ ก็ได้แก่สภาพธรรมที่เป็นเหตุ คือ เจตสิก ๖ ดวงเท่านั้น อันนี้แน่นอน ไม่เป็นอื่น ทั้ง ๓ ปิฎก ที่จะต้องทราบว่า สภาพธรรมที่เป็นเหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง และชื่อก็คุ้นหูนะคะ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก

    ถ้าเป็นกุศล ก็เป็นกุศลเหตุ ๓ คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก

    ถ้าเป็นอัพยากต คือ ไม่ใช่กุศลและอกุศล ก็มี ๓ คือ เมื่อปฏิเสธว่า ไม่ใช่กุศลและอกุศล ก็ต้องเป็นอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ

    เพราะเหตุว่าอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ที่ไม่ใช่กุศล มี แต่ว่า โลภะ โทสะ โมหะ ที่ไม่อกุศล ไม่มี


    หมายเลข 7371
    21 ส.ค. 2558