โสภณ - อโสภณ


    ถ้าท่านผู้ฟังไม่มีข้อสงสัยอะไร ก็จะขอกล่าวถึง อรรถ คือ ความหมายของจิต ประการที่ ๔ ต่อไปที่ว่า

    ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

    ซึ่งก็ได้แก่ เจตสิกที่เกิดกับจิตนั่นเอง ที่ทำให้จำแนกจิตต่างกันออกเป็นนัยต่างๆ อีกนัยหนึ่ง คือ โดยนัย ของโสภณและอโสภณ

       โสภณธรรม หมายความถึงสภาพธรรมที่ดีงาม ไม่ได้หมายความเฉพาะกุศล อย่าลืมเวลาที่ใช้คำว่า “โสภณ” หมายความถึง สภาพธรรมที่ดีงาม

       อโสภณธรรม ก็เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโสภณ คือ ไม่ใช่สภาพธรรมที่ดีงาม

    เพราะฉะนั้นโดยนัยของสัมปยุตตธรรมที่จำแนกให้จิตต่างกัน เป็นจิตประเภทที่ดีงาม เป็นโสภณบ้าง และเป็นจิตประเภทที่ไม่ดีงาม เป็นอโสภณบ้าง ก็จะต้องเข้าใจว่า หมายความถึงเจตสิก ซึ่งเป็นเหตุ ๖ นั่นเอง

    สำหรับเจตสิกที่ดีงาม ก็ได้แก่ อโลภเจตสิก ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้สัมปยุตธรรมในขณะนั้นดีงาม เวลาที่อโลภเจตสิกเกิด

    หรือว่าอโทสเจตสิกเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นก็ทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตที่เกิดร่วมด้วยและเจตสิกอื่นๆในขณะนั้นเป็นสภาพที่ดีงาม

    เวลาที่ปัญญาเจตสิกเกิดขึ้น เป็นอโมหะ เป็นสภาพที่ไม่หลงในขณะนั้น เป็นสภาพที่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม หรือเป็นสภาพที่เข้าใจเรื่องของปรมัตถธรรม

    ขณะใดที่ปัญญาเจตสิกเกิดขึ้น ขณะนั้นจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นสภาพที่ดีงาม

    เพราะฉะนั้นความหมายของโสภณและอโสภณก็สืบต่อมาจากเหตุนั่นเอง คือ จิตใดที่ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก จิตนั้นเป็น “โสภณจิต”

    เพราะฉะนั้นจิตใดก็ตามที่ไม่ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก จิตนั้นเป็น “อโสภณจิต”


    หมายเลข 7386
    21 ส.ค. 2558