ต้องอบรมกุศลเหตุโดยเฉพาะอโมหเหตุ


    สำหรับโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก และอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เป็นปัจจัยโดยเป็น “เหตุ” และเหตุอะไรมากคะในวันหนึ่ง ๆ อกุศลเหตุมาก กุศลเหตุไม่ใช่ว่า ไม่มี แต่ถ้าเทียบส่วนแล้ว น้อยกว่ามาก

    เพราะฉะนั้นเมื่อไรทางฝ่ายกุศลเหตุจะค่อย ๆ เจริญขึ้นจนกระทั่งมีกำลังมากกว่าทางฝ่ายอกุศล ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้น เป็นอโมหเหตุ เป็นปัญญาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง ถ้าตราบใดปัญญายังไม่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่จะไม่ให้โลภเหตุ โทสเหตุ หรือโมหเหตุ เจริญงอกงามไพบูลย์นั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่มีธรรมอื่นเลยที่จะละคลาย หรือว่าสามารถที่จะดับอกุศลเหตุได้ นอกจากปัญญา ซึ่งเป็น “อโมหเหตุ” และเมื่อกุศลกำลังเจริญ เช่น ท่านที่ศึกษาธรรม มีความสนใจที่จะรู้เรื่องของธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน กุศลที่เป็นอโมหะ ก็จะค่อยๆเจริญขึ้นๆ เมื่อบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคลเมื่อไร เมื่อนั้นจึงจะดับอกุศลเป็นประเภทๆได้ แต่ไม่ใช่ว่าดับไปได้ทีเดียวทั้งหมด ถึงความเป็นพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน ก็เป็นพระเสกขบุคคล ซึ่งจะต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไปอีก จนกว่าแม้กุศลเหตุก็ดับด้วย พร้อมกับอกุศลเหตุ ถึงแม้ว่าจะมีอโลภะ อโทสะ อโมหะเกิด ก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดผลข้างหน้า ไม่เป็นกุศลเหตุอีกต่อไป แต่เป็นอัพยากตเหตุ คือ เป็นกิริยาเหตุ ได้แก่ จิตของพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งจะไม่มีอกุศลเหตุเกิดอีกเลย และกุศลเหตุก็ไม่มี เพราะว่าอโลภะ อโทสะ อโมหะนั้นเป็นโสภณเหตุ เกิดกับกิริยาจิตและวิบากจิต ซึ่งไม่เป็นเหตุให้เกิดผล


    หมายเลข 7379
    21 ส.ค. 2558