พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 126


    ตอนที่ ๑๒๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ อย่างอื่นตั้งแต่เช้ามาที่เราตื่นเต้นดีใจกับทุกสิ่งทุกอย่างเรื่องอาหาร เรื่องเพื่อน หรือเรื่องอะไรก็ตามแต่ ความบันเทิงต่างๆ บางท่านก็อาจจะดูโทรทัศน์เรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่มีอะไรเหลือเลยจริงๆ แล้วไม่มีเลยสักขณะนอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา คิดถูกหรือคิดผิด ถ้าเข้าใจอย่างนี้ว่าแท้ที่จริงแล้วทั้งหมดที่ผ่านมาไม่มีอะไร หมด ไม่มีสาระ แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วเราจะคิดได้ไหมถ้าสมมติว่าเราไม่ได้ฟัง แค่คิดอย่างนี้ก็ไม่เหมือนกับเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด แล้วมีการรู้ในลักษณะของสภาพธรรม ความเข้าใจธรรมตรงนั้นจะชัดเจนกว่าเพียงคิดว่าไม่มีอะไรเหลือ ตั้งแต่เช้ามา มีเพียงแค่เห็น ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นถึงปัญญาที่ต่างระดับมาก กว่าที่จะถึงการรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรม แล้วยังถึงการที่จะรู้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เพียงชั่วขณะ ชั่วขณะที่ปรากฏแล้วก็ไม่มีเหลือ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เราได้ฟังทั้งหมดก็จะเป็นสังขารขันธ์สะสมสืบต่ออยู่ในจิต แม้จะจากโลกนี้ไป จากทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ไม่ได้จากสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือกุศล และอกุศลที่กำลังสะสมอยู่ ไม่ว่าเราจะไปเกิดที่ไหน อย่างไรก็ตาม ก็จะมีปัจจัยที่จะทำให้กุศลหรืออกุศลเกิดขึ้น จะมีความเห็นถูกมากน้อยแค่ไหน จะมีความเห็นผิดบ้างก็ตามการสะสะสม

    เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่มั่นคงจริงๆ ในการฟังพระธรรม เพื่อที่จะได้รู้ว่าแม้แต่ความคิดถูกของแต่ละคนก็คิดถูกตามขั้นฟัง ตามขั้นพิจารณา หรือตามขั้นที่กำลังมีลักษณะนั้นปรากฏให้รู้ความจริงว่าไม่มีอย่างอื่นเลย ทั้งหมดที่เคยมี ที่เคยมีแล้วตั้งแต่เด็กจนถึงตอนนี้ก็ไม่มี แล้วก็มีแต่เพียงสิ่งที่กำลังปรากฏ นี้ก็คือการอบรมความมั่นคงในการที่จะเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าจะสามารถดับได้โดยโสตาปัตติมรรคจิต ซึ่งถ้ายังไม่ดับก็คือว่าต้องมีการฟัง แล้วมีการพิจารณาไตร่ตรอง และมีความมั่นคงขึ้นเพื่อที่จะได้ไม่ไปสู่หนทางที่ผิด

    ผู้ฟัง ญาณวิมุตติ และมิจฉาวิมุตติเป็นอย่างไร ๒ มรรคที่เป็นมรรค ๔ นี้ ผิดจากพุทธศาสนาก็มีวิมุตติ เขาเข้าใจว่าเขาวิมุตติ แม้กระทั่งในโลกียจิตก็ยังถือว่าไม่วิมุตติใช่ไหม ในที่นี่ถือเป็นมิจฉาวิมุตติ

    อ.วิชัย คือผมเข้าใจอย่างนี้ คือพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่เป็นมรรคมี ๙ อย่าง คือสัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญา สัมมาสังกัปปะได้แก่วิตก สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะได้แก่วิรตี ๓ สัมมาวายามะได้แก่วิริยะ สัมมาสติได้แก่สติเจตสิก สัมมาสมาธิได้แก่เอกัคคตาเจตสิก และทิฏฐิเจตสิก ๑ ฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นมรรคหมายถึงหนทางที่ไปสู่ทุคติ สุคติ หรือว่าพระนิพพาน มี ๙ องค์ แต่โดยการเกิดขึ้นของธรรมเหล่านี้ บางอย่างเป็นกุศลอย่างเดียว เช่น สัมมาทิฏฐิ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาสติ เมื่อเกิดขึ้นเป็นกุศลอย่างเดียว ส่วนมรรคที่เป็นสังกัปปะ วายามะ หรือสมาธิ เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เพราะฉะนั้นถ้าจำแนกโดยการเกิดขึ้นก็จะมี ๑๒ องค์ มิจฉาวิมุตติหมายถึงบุคคลที่ไม่พ้นแล้วสำคัญว่าตัวเองพ้นแล้ว

    ท่านอาจารย์ ที่คุณวิชัยกล่าวเมื่อสักครู่นี้ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นความต่างเวลาที่ใช้คำว่า “มรรค” จะไปรวมถึงมิจฉาญาณ และมิจฉาวิมุตติไม่ได้ เพราะเหตุว่ามรรคคือหนทาง เพราะฉะนั้นก็จะมีมิจฉามรรคกับสัมมามรรค ส่วนผู้ที่เข้าใจผิด อบรมผิด ประพฤติผิด ผู้ที่เป็นผิดกับผู้ที่เป็นถูกคือ เป็นถูกก็คือขณะนั้นสติที่เป็นสัมปชัญญะเป็นสติปัฏฐานเกิดพร้อมด้วยองค์อื่นๆ คือสัมมาทิฏฐิตลอดไปจนกระทั่งถึงสัมมาสมาธิ ๘ องค์ ถ้าเป็นฝ่ายมิจฉาก็ ๘ เหมือนกัน แต่ว่าผู้ที่ปฏิบัติผิด เข้าใจผิดว่าปัญญาเกิดแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นมิจฉาญาณ เพราะบางคนเข้าใจว่าเห็นการเกิดดับ ขณะนั้นไม่ได้มีเหตุที่ปัญญาจะอบรมจนกระทั่งสามารถที่จะคลายความไม่รู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏในชีวิตประจำวันเลย แต่ว่ามีความต้องการ มีโลภะ ทำให้มีการปฏิบัติที่ผิด เพราะฉะนั้นเวลาที่มีอะไรเกิดขึ้นก็เข้าใจว่าขณะนั้นเป็นวิปัสสนา เป็นญาณ ขณะนั้นก็เป็นมิจฉาญาณ เพราะฉะนั้นมิจฉาญาณไม่ใช่มรรค แต่กล่าวถึงความเป็นผิด ๑๐ อย่าง และความเห็นถูก ๑๐ อย่าง ถ้าเป็นฝ่ายสัมมาก็เป็นสัมมาญาณด้วย สัมมวิมุตติด้วย แต่ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศลแสดงให้เห็นว่าคนที่มีความเห็นผิด ประพฤติปฏิบัติผิด ถ้าไม่ได้ฟัง และก็เทียบเคียง ผู้ที่มีสัจจะจริงๆ ที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อละคลายความไม่รู้ ละคลายกิเลสก็จะทำให้หลงทาง เช่นเข้าใจว่าสิ่งที่กำลังปรากฏนั้นเป็นหนทางที่ถูก รวมทั้งสิ่งที่ไม่ใช่ปัญญาก็เข้าใจว่าเป็นปัญญา และบางท่านก็จะกล่าวว่าท่านรู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้ว พ้นแล้ว หลุดพ้นแล้ว เป็นวิมุตติแล้วแต่ก็เป็นมิจฉาวิมุตติ เพราะฉะนั้นก็ต้องทราบว่าสำหรับมรรคจะเกินกว่านั้นไม่ได้ แต่ถ้าพูดถึง ๑๐ ก็คือว่า รวมมิจฉาญาณ และมิฉาวิมุตติด้วย

    อ.ธิดารัตน์ ในอัฏฐสาลินีใช้คำว่า “นัตถิ ยิฏฐัง” การบูชาไม่มีผล หมายความว่าการบูชาใหญ่เรียกว่า “ยิฏฐัง” วิบากของการบูชาไม่มี คือข้อนี้เขายึดถือว่าการบูชายัญไม่มีผล

    ท่านอาจารย์ นี้เป็นความเห็นผิด ที่คุณธิดารัตน์กำลังกล่าวถึงเป็นข้อความในอัฏฐสาลินีซึ่งแสดงถึงความเห็นผิดว่ามีประการใดบ้าง สิ่งนี้ก็เป็นความเห็นผิดประการที่หนึ่ง ประการหนึ่งที่ว่าการบูชาไม่มีผล เพราะฉะนั้นเรากำลังพูดถึงความหมายของคำว่า “บูชา” กับ “บวงสรวง”

    อ.ธิดารัตน์ อีกข้อหนึ่ง คำว่า “บวงสรวง” ภาษาบาลีใช้คำว่า “หุตัง” การบวงสรวง ความว่ากิริยาที่บูชา และนำของมาให้เพื่อมงคล ซึ่งเป็นมงคลกิริยาที่ได้กระทำไม่มีผล สิ่งนี้ก็คือความเห็นผิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะดูข้อความโดยรวมต่อไปอีกก็คงมี รวมทั้งคำว่า “ยัญ” ก็มีข้อความในพระไตรปิฎกด้วย แต่ที่นี่เราจะกล่าวถึง ๒ คำที่กำลังเป็นปัญหาว่า ผู้ที่เชื่อว่าการบูชาไม่มีผลหรือการบวงสรวงไม่มีผลก็เป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นต้องมีผลคือกุศลวิบาก จะเข้าใจว่าไม่มีผลไม่ได้ แต่ทีนี้มีความต่างกันของคำสองคำที่เราได้ยินคือคำว่า “บูชา” กับคำว่า “บวงสรวง” ซึ่งภาษาบาลีก็แยกกันเป็นสองศัพท์คือ “ยิฏฐัง” กับ “หุตัง”

    อ.สมพร คำว่า “บูชา” มุ่งถึงบูชาพระรัตนตรัย บูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็เรียกว่าพระรัตนตรัย คำว่า “บวงสรวง” เป็นคำที่พวกพราหมณ์บูชาเทวดา เพราะฉะนั้นคำว่า “หุตัง” แปลว่าบูชาเหมือนกันแต่บูชาพระรัตนตรัย

    อ.กุลวิไล มีในส่วนของนิยตมิจฉาทิฏฐิ๓ ที่ท่านแสดงถึงความเห็นผิดที่ดิ่งแนบแน่น ๓ อย่างมี อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ ซึ่งสิ่งนี้คิดว่าน่าจะสอดคล้องกับ “หุตัง” ที่เป็นการบวงสรวงที่ว่าผลวิบากของกิริยามงคลนั้นไม่มีผล

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ว่ามั่นคงขนาดไหนหรือเป็นแต่เพียงความคิดที่ไม่มั่นคง ยังไม่เป็นความเห็นที่ปักใจเชื่อ ถ้าได้ฟังคำอธิบายหรืออะไรก็อาจจะเข้าใจขึ้นได้ แต่ถ้าคิดเองแล้วมั่นคงอย่างนั้น ก็ต้องเห็นว่าการกระทำนั้นไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล

    อ.กุลวิไล แล้วก็มี “อเหตุกทิฏฐิ” ความเห็นว่าไม่มีเหตุ ส่วนที่ ๓ ก็คือนัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีผล ซึ่งก็เหมือนกับคำที่ว่าการบูชาไม่มีผล “นัตถิ ยิฏฐัง” ใกล้เคียงกับนัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีผล สิ่งนี้ก็คือในความเห็นผิด ๓ อย่าง

    ท่านอาจารย์ ความเห็นผิด ก็คือ เห็นผิดจากความเป็นจริง ทีนี้เราได้กล่าวถึงการบูชากับการบวงสรวง เข้าใจชัดเจนที่จะไม่กล่าวถึงอีกหรือไม่ หรือว่ายังมีสิ่งที่ควรพิจารณา เพราะว่าภาษาบาลีก็มี ๒ คำ ไม่ใช่คำเดียว แต่สำหรับการบูชาเราจะเห็นได้ว่า ก่อนที่เราจะได้เริ่มสนทนาธรรม เรามีการกล่าวคำนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย เป็นการบูชาในพระคุณของพระรัตนตรัย เพราะฉะนั้น ความหมายนี้ก็ตรง เวลาที่มีการบูชาในคุณความดี บูชาอะไรก็ได้ จะกว้างจนรวมถึงบูชาในคุณความดีของเทพของพรหมของอะไรก็ได้ แต่ขณะนั้นไม่ใช่ด้วยความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ต้องเป็นการระลึกถึงคุณที่จะทำให้ถึงความเป็นเทวดา หรือที่จะทำให้ถึงความเป็นพรหมในรูปพรหมภูมิต่างๆ นี้ก็แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่เป็นการกระทำที่ทำโดยความหลงผิด แต่เป็นความเห็นถูกที่รู้ว่าผู้มีคุณไม่ว่าจะเป็นใคร ควรแก่การบูชา เช่น มารดา บิดา คนที่บูชาบิดา มารดา แล้วเราจะบอกว่าเห็นผิดได้ไหม ไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้นก็คือการบูชาในคุณความดีไม่ว่าจะเป็นมารดาบิดา พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระรัตนตรัยหรือว่าบุคคลใดก็ตามที่มีคุณความดี ขณะนั้นกุศลจิตที่นอบน้อมก็เป็นการนอบน้อมในคุณความดี คือไม่ดูหมิ่น ไม่ลบหลู่ ไม่เหยียดหยาม แต่ว่าการบูชาเป็นการบูชาในคุณความดีของบุคคลนั้น

    แต่สำหรับอีกคำหนึ่งคือคำว่า “บวงสรวง” จะเห็นได้ว่าเราก็ใช้อีกคำหนึ่งด้วย ซึ่งไม่ทราบว่าภาษาบาลีจะแปลเหมือนกันหรือไม่ ที่เราใช้คำว่า “เซ่นสรวง” กับ “บวงสรวง” จะมีคำว่าเซ่นสรวงด้วยหรือไม่ แต่ถ้าแปลก็คือการใช้ภาษาเท่านั้นเอง ว่าหมายความถึงคำนี้ในภาษาบาลี จะหมายความถึงการกระทำ ความประพฤติ หรือความเป็นไปในภาษาต่างๆ ได้กี่คำ แต่ความต่างกันก็คือเวลาที่เราบูชา เราน้อมระลึกถึงความดีของบุคคลที่เราบูชา เรากล่าวได้ว่าบูชา บางท่านเขาก็เอามากล่าวเป็นภาษาธรรมดาใช่ไหม เช่น บูชาใคร ต่ำจนกระทั่งถึงคนที่เขาบูชามีความผูกพัน มีความรักใคร่ แต่ว่าบูชาไม่ใช่เพียงแค่รักเท่านั้น ก็เป็นเรื่องของภาษา แต่จริงๆ แล้วบูชาก็คือเป็นความนอบน้อมในคุณความดีต่อคุณความดีที่มีในบุคคลนั้น สำหรับการบูชาเราก็คงไม่จำกัดเพียงแค่ว่ามีการระลึกถึงคุณ ยังมีการกระทำด้วย ใช่ไหม เช่นอย่างที่เราจัดดอกไม้บูชา ก็ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวคำนอบน้อม หรือเราอาจจะมีสิ่งอื่นเป็นการบูชาก็ได้ เพราะเหตุว่าในครั้งโน้นบุคคลที่ไม่ว่าจะมีทรัพย์สมบัติใดก็นำมาบูชาพระรัตนตรัย เป็นการกระทำด้วยการเคารพบูชา แต่ไม่ใช่เป็นเพียงการบูชาแบบระลึกถึงคุณเท่านั้น ยังมีการกระทำด้วย เพราะฉะนั้นจึงมีอีกคำหนึ่งว่า “การเซ่นสรวง” ซึ่งอย่างที่ท่านอาจารย์สมพรท่านกล่าวว่าพราหมณ์ในสมัยโน้น พุทธศาสนาเราก็เพิ่งจะมีหลังจากที่มีศาสนาพราหมณ์ เพราะฉะนั้น ความประพฤติเป็นไปของพวกพราหมณ์ ซึ่งก็ไม่ได้เข้าใจในเรื่องของพุทธศาสนาเลย แต่การที่เขามีการกระทำกิริยามงคล มีการบูชากราบไหว้ผู้ที่เขาเข้าใจเช่น พรหม พราหมณ์ต่างๆ แม้ว่าจะไม่มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก หรือบางท่านแม้ในยุคนี้ก็อาจจะบูชาด้วยความหวังใช่ไหม ด้วยมาลัยเจ็ดสี ต้องบูชาที่นั่นที่นี่ ผู้นั้นเข้าใจว่าเป็นพรหม เข้าใจเองทั้งหมด แต่จริงๆ แล้วก็ทำด้วยความต้องการผล นั่นก็แสดงให้เห็นว่าถูกไหมที่จะหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็คิดว่าเพียงสิ่งนั้นก็จะนำมาซึ่งผลได้

    เพราะฉะนั้นเรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก จะต้องพิจารณาถึงจิตในขณะที่กระทำในขณะนั้นว่ามีความเห็นถูกหรือว่ามีความเห็นผิด เป็นการเคารพบูชาจริงๆ เป็นการทำกิริยามงคล มีความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรบูชา หรือเป็นแต่เพียงทำไปด้วยความหวังว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วผลที่ดีก็จะเกิดขึ้น สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก

    อ.กุลวิไล ที่ว่าการบวงสรวงก็เป็นการทำกิริยามงคล ซึ่งที่ท่านอาจารย์กล่าวว่าบุคคลที่ควรบูชาคุณของมารดา แน่นอน ก็ต้องมีความเห็นถูก แต่ถ้าหากเราไม่รู้ความจริงแล้วเราทำการบูชา ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากสภาพธรรมที่เป็นจริงไหม เช่น บูชาบิดามารดาโดยการที่ไม่ได้ระลึกถึงคุณ แต่เป็นความต้องการที่ให้บิดามารดาปกป้อง แต่ถ้าเป็นการบูชาที่เป็นกิริยามงคลที่มีความเข้าใจถูกด้วยแม้มีการตั้งอาหารเซ่นสรวงอย่างนี้ ก็เป็นการทำกิริยามงคลที่มีความเข้าใจที่ถูกต้องคือ ระลึกถึงคุณของมารดา สิ่งนี้ก็จะเป็นความเห็นถูก ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นเรื่องของการเซ่นสรวง ในสมัยโบราณก็จะมีนางพรหามณีที่บูชาพรหมด้วยเนยใส ด้วยข้าวปายาส ด้วยอะไรตามความเชื่ออย่างนั้น แต่สำหรับผู้ที่บูชาพระรัตนตรัย บางท่านก็บูชาด้วยสมบัติที่มี อย่างบางท่านก็มอบกำไลทองหรือว่าแหวนเพชรอะไรก็แล้วแต่ เป็นการบูชาตั้งแต่ครั้งในอดีต จนกระทั่งถึงแม้ที่ๆ มีพระบรมสารีริกธาตุ ก็จะมีผู้ที่บูชาด้วยวัตถุสิ่งของด้วยอาการกิริยาที่นอบน้อม เพราะฉะนั้นคำว่า “บวงสรวง” เราจะหมายความถึงการกระทำที่เป็นไปด้วยความนอบน้อม ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวคำบูชาเท่านั้น ดังนั้นก็แล้วแต่จิตของบุคคลนั้นจะนอบน้อมสักการะด้วยสิ่งใด การกระทำกิริยามงคลที่นอบน้อมนั้นก็คือการบวงสรวง แต่ในยุคของเราสมัยนี้จะเห็นการเซ่นสรวงหรือว่าบวงสรวง หรือจะใช้คำอะไร หรือไม่ใช้คำอะไร บางคนอาจจะใช้คำว่า “ไหว้เจ้า” คือหมายความถึงไหว้เทพ แต่ว่าการไหว้จะไหว้ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะอาจจะเข้าใจว่าเทพนั้นมีฤทธิ์ เซียนกี่องค์ก็ตามแต่ มีชื่อต่างๆ มีฤทธิ์ต่างๆ ก็เข้าใจว่าจะปกป้องคุ้มครอง สิ่งนั้นก็แสดงให้เห็นว่ามีความหวัง แต่ว่าบูชาในคุณความดีหรือไม่ เพราะว่าจริงๆ แล้วก่อนที่เราจะบูชาคุณความดีของใคร ก็ต้องหมายความว่าเรารู้คุณความดีนั้นแน่นอน ไม่ใช่ว่าเขากล่าวว่า แล้วเราก็พลอยตามๆ ไป แต่ว่าความจริงแล้วบุคคลนั้นมีความดีสมควรที่เราจะไหว้จริงๆ หรือไม่ ถ้าสมมติว่าเป็นไปในลักษณะนั้นก็คือว่าเราไม่ได้บูชาในคุณความดี เพราะเราไม่รู้คุณความดีของบุคคลนั้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่เรารู้จักคุณความดีของบุคคลนั้น เช่น พระรัตนตรัย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือผู้ที่มีความเห็นถูก พระอรหันต์ทั้งหลายที่ท่านได้กระทำการสังคายนาสืบทอดมาถึงเรา สิ่งนี้เราก็บูชาในคุณความดีของความเห็นถูก การกระทำที่เป็นประโยชน์ที่ถูก เพราะฉะนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่เพียงแต่จะดูกิริยาอาการภายนอก แต่เรื่องไหว้เจ้าก็คงจะมีปัญหาด้วย เพราะเหตุว่าเป็นการแสดงความเคารพในบรรพบุรุษซึ่งเป็นประเพณีธรรมเนียมซึ่งสืบต่อกันมา แต่ว่าประเพณีธรรมเนียมที่ทำสืบต่อกันมา จะทำด้วยความเห็นที่ถูกต้อง หรือจะทำตามธรรมเนียมโดยที่ยังไม่ได้มีความเห็นที่ถูกต้อง นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรมแล้วก็จะเข้าใจสภาพจิตในขณะนั้นว่าเป็นกุศลหรือไม่ และเวลาที่จะมีการบูชาๆ ในอะไร และบุคคลนั้นสมควรแก่การบูชาจริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง ประเด็นที่ผมพิจารณาก็คือว่าเมื่อสักครู่เราพูดถึงว่าเราบูชาบุคคล หรือว่าเราบูชาความดีซึ่งอาจจะไม่มีสภาพจิต ถึงแม้พ่อแม่เราตายไปแล้ว เราก็ยังบูชากราบไหว้อยู่ ที่นี้ผมพูดถึงข้าวหรือน้ำที่ว่า อาจจะหมายความว่าไม่มีจิต เป็นความดีของข้าวของน้ำ

    อ.อรรณพ จริงๆ ก็น่าพิจารณาคือตอนเด็กๆ ผมก็มีลูกผู้พี่ เวลารับประทานอาหารเสร็จก็จะยกมือไหว้ข้าวตลอด ก่อนรับประทานข้าว และหลังรับประทานข้าว ผมก็มีความรู้สึกนอบน้อม ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจแต่ก็ทำๆ ตามไปบ้าง แต่พอเราศึกษาธรรมเราเข้าใจ เราก็ต้องพิจารณาว่าเราไหว้อะไร ซึ่งจริงๆ แล้วการระลึกถึงคุณก็อย่างหนึ่ง แต่การที่เราทำอะไรโดยที่ไม่ได้ประกอบด้วยเหตุผลจริงๆ ก็อีกอย่างหนึ่ง เราก็ทำตามๆ กันไป และเราก็คิดว่าเป็นผู้ที่สำนึกถึงบุญคุณ

    ท่านอาจารย์ ไหว้ตอไม้ก็มี ไม่ใช่หรือ ก็ไหว้ทั้งนั้น ไม่รู้จะไหว้เพราะอะไรก็ตามแต่ แต่ว่าเราต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องเป็นผู้ที่เห็นถูก เราอาจจะเกิดชาตินี้เป็นอย่างนี้ ชาติหน้าเราจะไปเกิดที่ไม่มีข้าวก็ได้ใช่ไหม ไม่ต้องมานั่งไหว้ข้าวอย่างที่ใครๆ บอกให้เราไหว้ไป เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้นเวลาที่เราศึกษาธรรม เราต้องตรงต่อสภาพธรรมจริงๆ เพื่อที่จะสะสมสืบต่อไปที่จะเห็นถูก มิฉะนั้นแล้วเพียงแค่อย่างนี้ยังเห็นผิด แล้วยิ่งกว่านี้จะเห็นถูกได้อย่างไร ที่ละเอียดกว่านี้ ลึกซึ่งกว่านี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นสิ่งที่ตรงจริงๆ

    ผู้ฟัง ผมพอเข้าใจว่ามิจฉาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ ผมเข้าใจว่าไปไหว้ของพวกนี้ไม่ค่อยถูกเท่าไร แต่ว่าบางทีทำให้เรา โดยเฉพาะชาวนา ชีวิตทั้งชีวิตเขาผูกพันอยู่กับข้าวกับน้ำจริงๆ หรือแม้กระทั่งบางแห่งบุญคุณของโค กระบือที่ไถนาให้เขา เขาก็ยังบูชา

    ท่านอาจารย์ ไหว้โค

    ผู้ฟัง ก็ไม่ถึงกับไหว้ คือระลึกถึงบุญคุณของเขา อย่างนี้ก็ทำให้ใจเราอ่อนโยน

    ท่านอาจารย์ คือเราคิดอะไรก็ได้ แต่เราต้องดูตามความเป็นจริงจากพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ แม้ในกาลนั้นมีพระภิกษุหรือใครที่ไหว้ข้าวบ้างหรือไม่ ถ้าไหว้ๆ ด้วยความเห็นถูกหรือไหว้ด้วยความเห็นผิด เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง ทุกอย่างต้องอาศัยพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ เพราะว่าเราจะเกิดอีก เราไม่รู้ว่าจะเกิดที่ไหน เป็นใคร แต่อย่างน้อยที่สุดก็สะสมความเห็นถูกตามความเป็นจริงตามเหตุตามผล

    ผู้ฟัง อยากจะพูดเรื่องบูชา และบวงสรวง ถ้าบูชา เราก็บูชาเฉพาะผู้ที่เราเห็นคุณงามความดีของเขา ของพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ที่อาจจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ว่าเราบูชาคุณความดีของท่าน การบวงสรวงในสิ่งที่เป็นโอปปาติกะที่ไม่เห็นตัวตน คือบวงสรวงเทวดา

    ท่านอาจารย์ ขอโทษทำอย่างไร บวงสรวงเทวดา

    ผู้ฟัง เคยเห็นที่เขาทำกัน มีอาหาร ขนมบ้าง

    ท่านอาจารย์ แล้วเป็นประโยชน์กับเทวดาหรือไม่ ถ้าพูดถึงประโยชน์ ต้องคิดแล้ว

    ผู้ฟัง สิ่งนี้คงจะเป็นการแสดงความเคารพ

    ท่านอาจารย์ เป็นการแสดงความนอบน้อมเหมือนกับที่ใครมีอะไรที่คิดว่าจะมีค่าก็นำไปถวายพระรัตนตรัย แก้วแหวนเงินทองต่างๆ ในครั้งอดีตก็มีจนถึงยุคปัจจุบัน ตามวัดวาอารามต่างๆ นอกจากถวายที่ดินสร้างวัด สร้างพระพุทธรูป ก็ยังมีเครื่องบูชาต่างๆ แต่ว่าในครั้งอดีตก่อนการตรัสรู้ และการทรงแสดงธรรม ก็มีการบูชาด้วยข้าวปายาส ด้วยเนยใส ตามความคิดความเห็นของพราหมณ์


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567