พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 121


    ตอนที่ ๑๒๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ จิตเห็นเกิดขึ้นเพียงทำกิจเห็น ไม่มีความเห็นผิดใดๆ ที่จะเกิดร่วมด้วยเพราะเหตุว่าเป็นจิตที่เป็นผลของกรรม เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ทำให้จิตนี้เกิดขึ้นเพียงเห็นแล้วดับ แต่ว่าเห็นแล้วไม่ได้สิ้นสุดตรงนั้น จะต้องมีการสืบต่อภพชาติจนกระทั่งมีสัญญาความทรงจำในสิ่งที่เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เช่น ในขณะนี้มีเห็น แล้วก็รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ขณะที่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไรไม่ใช่จิตเห็น นี้ห่างกันแล้วใช่ไหมกับจิตที่อาศัยตาเกิดขึ้นเห็น แล้วจะพอใจ หรือจะเป็นโลภะ โทสะ หรือกุศลอะไรก็ตามแต่ เกิดอย่างรวดเร็วแล้วก็ดับไปหมดก่อนจะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร นี้ก็แสดงให้เห็นว่าการที่เราจะรู้ว่ากำลังเห็นคน ก็มีจิตที่เกิดดับสืบต่อกันมาก แล้วระหว่างนั้น เราค่อยๆ พิจารณาว่ามีความเห็นผิดเกิดขึ้นร่วมด้วย หรือไม่ มิฉะนั้นเราก็จะเพียงกล่าวแต่เรื่องของความเห็นผิด แต่ไม่รู้ว่ามีความเห็นผิดระดับไหน และเกิดขึ้นเมื่อไร

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันเป็นนามธรรม และรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ ให้รู้ความจริง เพราะฉะนั้น ตั้งต้นที่คำว่าธรรมคือสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ ที่เป็นอนัตตาไม่ใช่เรา ก็เพราะเหตุว่าเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง และเป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยแม้ว่ามองไม่เห็น เช่น เสียง เสียงไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เสียงเป็นรูปธรรม แต่สภาพได้ยินเสียงมี เสียงจึงปรากฏ สภาพที่ได้ยินเสียงเคยเป็นเรา แต่เวลาศึกษาธรรมก็เริ่มเข้าใจถูกว่าเป็นธรรม คือจิตที่สามารถรู้แจ้งในลักษณะของเสียง และมีเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันด้วย เพราะว่า สังขารธรรมทั้งหลายที่จะเกิดได้ จะต้องมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง

    ผู้ฟัง ขณะที่ได้ยินเป็นเสียงนก ตรงนั้นคิดว่าไม่มีความเห็นผิดจนกว่าจะมีเราได้ยินเสียงนก ขณะนั้นมีความเห็นผิดว่ามีเราได้ยินเสียงนก เป็นแต่ละขณะ เข้าใจถูก หรือไม่

    ท่านอาจารย์ กำลังได้ยินคิด หรือไม่ เข้าใจ หรือไม่ว่าเรากำลังได้ยิน หรือว่าได้ยินแล้วหมดแล้ว ได้ยินแล้วหมดแล้ว ขณะนั้นไม่มีความเห็นใดๆ เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วเป็นอกุศล จะมีวิปลาส ๓ อย่าง ไม่ใช่อย่างเดียว คือ วิปลาสด้วยสัญญาความจำในรูปร่างสัณฐานในสิ่งที่ปรากฏ มีความยินดียินร้ายในสิ่งนั้นเพราะสัญญาวิปลาส ถ้าไม่มีคนเราจะโกรธใคร หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่โกรธ

    ท่านอาจารย์ แต่ที่โกรธนั้นโกรธด้วยสัญญาวิปลาสใช่ หรือไม่ ขณะที่เป็นอกุศลเกิดขึ้น มีสัญญาวิปลาสว่าสิ่งนั้นว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ สิ่งต่างๆ แต่ไม่ใช่ทิฏฐิวิปลาส เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ทรงแสดงความละเอียดมาก ที่แสดงให้เห็นว่าก่อนที่เราจะเข้าใจว่าขณะไหนเป็นทิฏฐิ คือเป็นโลภะที่เกิดร่วมกับทิฏฐิมีความเห็นผิด ขณะนั้นเราก็ต้องค่อยๆ เข้าใจว่า ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องวิปลาส ๓ อย่าง ก็จะเข้าใจว่าทุกขณะเป็นทิฏฐิวิปลาส แต่ความจริงไม่ใช่ จึงต้องเข้าใจว่าลักษณะของทิฏฐิเจตสิกจะเกิดร่วมกับโลภมูลจิตเมื่อมีความเห็นผิดในสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าเป็นเพียงความพอใจที่มีมาก สะสมความพอใจไว้มากมายในชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตายสะสมความพอใจด้วยโลภะไว้มากประมาณไม่ได้เลย ทั้งวันก็เต็มไปด้วยความต้องการ หรือติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นปกติ เพราะฉะนั้น โลภะก็เกิดมาก แต่ทิฏฐิจะไม่เกิดขณะที่เราไม่ได้มีความเห็นผิด คือ ทิฏฐิเจตสิกไม่ได้เกิดขึ้นทำกิจการงานในขณะนั้น แต่ขณะนั้นวิปลาสด้วยสัญญาความจำ และขณะใดที่สัญญาวิปลาส สัญญานั้นก็เกิดร่วมกับจิต จิตนั้นก็เป็นจิตวิปลาส ยังไม่ถึงทิฏฐิวิปลาส ต่อเมื่อใดที่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็เป็นทิฏฐิวิปลาส ก็ยังดีใช่ หรือไม่ เพราะว่าห้ามโลภะไม่ได้เลยในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และการดับกิเลสต้องดับตามลำดับขั้น ถ้ายังไม่ได้ดับทิฏฐิเจตสิกก็ไม่สามารถที่จะดับโลภะในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ ต่อเมื่อใดที่ดับความเห็นผิด ทิฏฐิเจตสิกไม่เกิดอีก เมื่อนั้นจึงจะเป็นหนทางที่จะดับกิเลสอื่นๆ ได้ แต่ไม่ใช่ไปดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก่อน แสดงให้เห็นว่าทิฏฐิเจตสิกเป็นเจตสิกที่มีโทษมาก เพราะเหตุว่าโสตาปัตติมัคคจิตดับจึงไม่ไปเกิดในอบายภูมิ ถ้ายังไม่เป็นพระโสดาบันก็ยังมีปัจจัยที่ทำให้เกิดในอบายภูมิได้

    ที่กล่าวเช่นนี้ ก็เพื่อให้เห็นว่าการศึกษาธรรม ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องราวกับจำนวน แต่ให้ทราบจริงๆ ว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรมอะไร ข้อสำคัญที่สุดคือให้เข้าใจให้ถูกต้อง มิฉะนั้นเราก็จะเรียนเรื่องชื่อแล้วเราตอบได้ แต่เมื่อถามว่าขณะนี้มีทิฏฐิเจตสิกเกิดกับโลภะ หรือไม่ เราจะตอบตามความเป็นจริง หรือว่าตอบตามความจำว่า ทิฏฐิเจตสิกเกิดกับโลภมูลจิตได้ และไม่เกิดก็ได้ แต่ขณะไหนเป็นโลภมูลจิตที่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย และขณะไหนไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ต้องเป็นความรู้ของเรา ความเข้าใจถูกตามลำดับขั้น เพราะว่าปริยัติจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติ ถ้าไม่นำไปสู่การปฏิบัติก็ไม่ใช่ปริยัติ ไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้องเพราะเหตุว่าไม่ได้นำไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง ที่จะถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ด้วยสติสัมปชัญญะ พร้อมด้วยปัญญาตามลำดับขั้น

    ผู้ฟัง วิปลาส ๓ ทำให้เราปนกับสักกายทิฏฐิ คำว่า “เรา” เป็นวิปลาส จำผิด เห็นผิด หรือ คิดผิด ขอความกรุณาในความละเอียด

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นทิฏฐิวิปลาส ทั้งวันไม่มีทางพ้นเลยใช่ หรือไม่ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ลองถามเด็กเล็กๆ ที่เขาเห็นอะไรแล้วเขาชอบ ว่าชอบ หรือไม่ เขาตอบเลยว่าชอบ เขามีทิฏฐิวิปลาส หรือไม่ เพราะฉะนั้นแม้โตขึ้นมาจากการที่เราเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วเราเกิดพอใจ จำได้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร จะชอบ หรือไม่ชอบในสิ่งนั้นก็ตาม จำได้แล้วชอบ กับจำได้แล้วไม่ชอบก็เหมือนกันใช่ไหม คือจำได้นั่นเอง แต่ว่าจำอย่างนี้แล้วชอบ แต่เมื่อจำอีกอย่างหนึ่งเป็นไม่ชอบ แต่ขณะนั้นไม่ได้มีความเห็นผิดเป็นทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย มิฉะนั้นจะเป็นตลอดไป ไม่มีเวลาที่จะไม่มีทิฏฐิสัมปยุตต์เกิดกับจิตเลย เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องละเอียด แม้แต่คำที่เราได้ยินได้ฟังทั้งหมดยังไม่ปรากฏลักษณะ แม้แต่คำว่า “สักกายทิฏฐิ” หรือทิฏฐิอื่นๆ ก็ตาม ถ้าทิฏฐิอื่นเราจะเห็นได้จากการกระทำ และความคิดทางกาย ทางวาจา เช่น ถ้ามีความคิดว่าเราสามารถจะให้คนอื่นบันดาลให้เราเป็นสุขเป็นทุกข์ได้ ถ้าใครเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ผิด หรือถูก ไม่ใช่เรื่องของการที่พอใจในรูป ใน เสียง ในกลิ่น ในรส แต่เป็นความเห็น ขณะนั้นมีความเห็นว่าคนอื่นสามารถที่จะทำให้เราเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ได้

    แต่ความจริงกิเลสของเราต่างหาก ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏจะน่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจก็ตาม สิ่งนั้น หรือ คนนั้น หรือ คำนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เราเป็นสุขเป็นทุกข์ได้ ถ้าไม่มีกิเลส พระอรหันต์ที่ท่านดับกิเลสหมด ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเป็นอะไร จะน่ารักน่าชังอย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้ทำให้จิตของท่านหวั่นไหว และเกิดกิเลสอกุศลได้ จะรัก หรือ ชัง ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นถ้ามีใครที่มีความเข้าใจ แล้วก็กล่าวคำที่เห็นผิดต่างๆ เราก็รู้ได้ว่าขณะนั้นมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมกับจิต เป็นความเห็นอย่างนั้นในขณะนั้น ทำให้คิดอย่างนั้น เชื่ออย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้น ถึงกับกล่าววาจาอย่างนั้นอย่างมั่นคง นั่นก็แสดงให้เห็นว่าเราจะเห็นทิฏฐิส่วนที่หยาบที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมากๆ

    แต่ส่วนที่ละเอียดที่ยึดถือว่าเป็นเรา ต้องเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นความติดข้องที่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย หรือเป็นความติดข้องคือโลภะธรรมดาปกติซึ่งไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ถ้ามีคนเห็นว่า มารดาบิดาไม่มีคุณ ผิด หรือถูก เห็นอย่างนั้นเป็นความเห็น เพราะฉะนั้นก็เป็นทิฏฐิเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นทิฏฐิเจตสิกก็คือความเห็นผิดจากความเป็นจริงต่างๆ ตั้งแต่ระดับเรื่องราว จนกระทั่งถึงลักษณะสภาพธรรม ในขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด แล้วก็มีลักษณะนั้นปรากฏ ถ้าปัญญาไม่ถึงระดับขั้นที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ขณะนั้นก็ยังมี"เรา" ที่กำลังรู้ได้ ขณะนั้นต่างหากที่แสดงให้เห็นว่ามีทิฏฐิเจตสิกเกิดยึดถือสภาพของขันธ์หนึ่งขันธ์ใด เช่นยึดถือลักษณะของรูปขันธ์ว่าเป็นเรา เวทนาที่เกิดร่วมด้วยว่าเป็นเรา หรือสัญญาเป็นเรา สังขารทั้งหมดที่นอกจากเวทนาเจตสิกกับสัญญาเจตสิกแล้วว่าเป็นเรา หรือแม้แต่กำลังเห็นขณะนี้ก็มีความยึดถือว่าเป็นเรา จนกว่าจะรู้ว่าเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม แต่ขณะที่ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยก็เป็นไปตามสัญญาวิปลาส หรือ จิตตวิปลาส แต่ไม่ใช่ทิฏฐิวิปลาส ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ละเอียด และก็เป็นความจริง จะค่อยๆ รู้เมื่อสติสัมชัญญะเกิด เพราะว่าสภาพธรรมขณะนี้มี ก็จริง แข็งก็มี เห็นก็กำลังเห็น เสียงก็กำลังปรากฏ มีทั้งนั้น แต่ลักษณะที่เป็นสภาวธรรมที่ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่แยกขาดจากกันระหว่างนามธรรม และรูปธรรมจะปรากฏเมื่อสติสัมปชัญญะเกิด แต่จะไม่ปรากฏโดยที่ปัญญารู้แจ้งชัดเลยทีเดียว แต่เริ่มรู้ขณะที่ต่างกันของขณะที่สิ่งนั้นปรากฏกับสติ เช่น ในวันหนึ่งๆ กระทบแข็งบ่อยๆ ปรากฏกับสติ หรือปรากฏกับกายวิญญาณซึ่งรู้แข็ง ทุกคนตอบได้ เด็ก หรือ ผู้ใหญ่ ก็ตอบได้หมดว่า แข็ง เพราะกายวิญญาณเป็นสภาพที่รู้แข็งเป็นจิตประเภทหนึ่งที่สามารถจะรู้ลักษณะของสิ่งที่กระทบกายว่าสิ่งนั้นอ่อน หรือแข็ง เย็น หรือร้อน

    แต่ขณะใดที่กำลังปรากฏกับสติเป็นปกติ อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องยากที่อาจจะไม่เกิดตลอดชีวิต นั่นไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งธรรมดา เพียงแต่ว่าบังคับไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเราอยากมีสติแล้วก็พยายามให้คิด หรือให้นึก หรือให้ทำ แต่เมื่อไรที่เกิด เมื่อนั้นจะเห็นความเป็นอนัตตา ว่าลักษณะที่แข็ง ที่วันหนึ่งไม่ได้ปรากฏกับสติเลย แต่ว่าขณะใดที่กำลังรู้ตรงแข็ง ลักษณะแข็งกำลังปรากฏ นั่นคือขณะนี้เห็นความต่างของขณะที่วันหนึ่งๆ แข็งที่ปรากฏกับกายวิญญาณ กับแข็งที่ปรากฏกับกายวิญญาณ และปรากฏกับสติที่กำลังรู้ตรงนั้นด้วย

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหมดที่กล่าวถึง จะปรากฏเมื่อสติสัมปชัญญะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น มิฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างมีจริงเกิดแล้วดับแล้วหมดไม่เหลืออะไรที่จะให้เราไปตามรู้ได้ จะรู้ได้เฉพาะสิ่งที่กำลังมีลักษณะที่สติสัมปชัญญะระลึก เพราะฉะนั้นจึงเหมือนกับอยู่ในความมืด และรู้เรื่องราวของสภาพธรรม แต่ลักษณะของสภาพธรรมจะปรากฏในความมืดจริงๆ คือ ขณะที่สติสัมปชัญญะเริ่มระลึก ลักษณะนั้นจึงปรากฏ

    เพราะฉะนั้นแม้แต่เรื่องของทิฏฐิ หรือเรื่องของจิตประเภทต่างๆ เราฟังให้เข้าใจ เพื่อที่จะอบรมความรู้ที่ถูกต้องไม่คลาดเคลื่อน และเห็นความเป็นอนัตตาให้มั่นคงเป็นสัจจญาณ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีสัจจญาณ การรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม สติสัมปชัญญะจะไม่เกิด และก็จะไม่ระลึก ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง สมมติได้ยินเสียงนก โลภะ หรือโทสะเกิดก่อนที่เราจะรู้ว่าเห็นอะไร หรือได้ยินอะไร ถูก หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง หมายความว่าขณะใดที่อาศัยตา จักขุปสาทกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏมีจิตเห็นเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่มีเพียงจิตเห็นขณะเดียว จะมีจิตที่เกิดสืบต่อรู้สิ่งที่ปรากฏแต่ละทางรวมทั้งอกุศล หรือกุศลก็เกิดได้ด้วย

    ผู้ฟัง ในขณะที่เราได้ยิน ทั้งๆ ที่เรายังไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร แล้วจะมีโลภะ หรือโทสะเกิดขึ้นได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ หลังเห็นแล้ว จิตเห็นต้องดับใช่ หรือไม่ หลังจากที่จิตเห็นดับแล้ว สัมปฏิจฉันนะเกิด รู้ หรือไม่ว่ามี ถ้าไม่รู้ เวลาที่อกุศลจิตเกิดสืบต่อก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะเร็วมาก ไม่ใช่ว่าฟังจากการศึกษาว่าหลังจากที่จิตเห็น คือ จักขุวิญญาณดับแล้ว จิตที่เกิดต่อต้องเป็นจิตที่ทำสัมปฏิจฉันนกิจคือมีกิจที่จะรับรู้สิ่งที่จิตเห็น เห็นแล้วดับไป โดยที่สิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ดับ เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดต่อก็รับรู้ต่อจากจักขุวิญญาณที่เห็น เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตทำสัมปฏิจฉันนกิจดับไปแล้ว สันตีรณะเกิดสืบต่อขณะเดียว แต่ใช้คำว่า “พิจารณา” คือรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นต่อจากสัมปฏิจฉันนะ แล้วก็ดับ ไม่รู้เลยใช่ไหมว่าหลังจากสัมปฏิจฉันนะดับไปแล้ว โวฏฐัพพนะก็เกิดสืบต่อจนกระทั่งถึงชวนะที่เป็นกุศล หรืออกุศลก็ไม่รู้ทั้งนั้น แต่จะกล่าวว่าไม่มี ไม่ได้ เพราะมีผู้ที่รู้ และผู้ที่ทรงตรัสรู้ได้แสดงความเป็นจริงว่าเป็นอย่างนี้โดยปัจจัยต่างๆ ไม่ใช่โดยพระองค์ทรงกระทำ หรือโดยพระองค์ทรงแสดง แต่โดยปัจจัยของจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่าจะพิจารณาในแง่ของสติปัฏฐานแล้ว คือ มีรูป มีเวทนา มีสัญญาๆ ก็น่าจะรู้ว่าเสียงอะไรถึงเกิดความไม่พอใจ หรือเกิดความโลภ หรือโทสะ น่าจะเป็นลักษณะนี้

    ท่านอาจารย์ นั่นคือคิด ไม่ใช่สติสัมปชัญญะไม่ใช่สติปัฏฐาน ต้องรู้ขณะของปัญญาขั้นฟัง ขั้นคิด ขั้นไตร่ตรองพิจารณา และขั้นที่ระลึก คือ รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง โทสะ โลภะจะเกิดได้อย่างไร ในเมื่อเรายังไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เราเห็น เราได้ยินจริงๆ เป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เกิดมาในโลกนี้ รู้ไหมว่าเกิด

    ผู้ฟัง อะไรเกิด

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดแล้ว ปฏิสนธิจิตเกิดขณะแรกรู้ หรือไม่ จิตอื่นๆ อีกมากมาย ก็ไม่รู้ทั้งนั้น เมื่อสักครู่นี้กล่าวถึงจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะก็ไม่รู้ แล้วเมื่อถึงโลภะจะให้รู้ได้อย่างไร เกิดดับเร็วมากเลย เสียงนี่เกิดแล้วดับแล้ว แต่ก่อนที่เสียงที่เกิด จะดับ มีจิตที่เกิดสืบต่อตามลำดับ ตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดเวลาที่เราศึกษาธรรม เราจะเห็นได้ว่าเรากล่าวโดยกว้างโดยรวม แต่ว่าปัญญาต้องละเอียดที่จะรู้ความจริงได้ กำลังอยู่ในความมืดแท้ๆ เพราะว่าสภาพธรรมมี ก็ไม่ได้ปรากฏว่าเป็นธรรม ที่กล่าวว่าเราสุข เราทุกข์ ในแต่ละวัน อยู่ในความมืดทั้งหมด เพราะไม่รู้ว่าไม่มีเรา มีแต่สภาพธรรมเท่านั้นซึ่งเกิดดับ จนกว่าได้ฟังธรรมก็ยังอยู่ในความมืด ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏกับสติตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะ เพราะฉะนั้น การฟังมีประโยชน์ก็คือได้ไตร่ตรองให้เห็นความละเอียดให้เข้าใจความเป็นอนัตตา เพื่อที่จะได้เกื้อกูลให้เวลาที่สติปัฏฐาน หรือว่าสติสัมปชัญญะเกิด จะได้มีความเข้าใจถูกในลักษณะนั้น ในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะเหตุว่าได้ฟัง ได้ไตร่ตรอง ได้เพิ่มความเข้าใจขึ้นเป็นสัจจญาณไม่คลาดเคลื่อน ไม่ไปทำอะไรอื่น โดยที่ขณะนี้รู้ว่าสภาพธรรมกำลังทำกิจของธรรมเอง เช่น "เห็น" กำลังทำกิจของจิตเห็น จิตอื่นทำกิจนี้ไม่ได้ ขณะนี้ที่เห็นจิตเห็นเท่านั้นกำลังทำหน้าที่นี้ เมื่อถึงจิตได้ยินก็เป็นหน้าที่ของจิตอีก เมื่อถึงคิดนึก ไม่ว่าจะคิดนึกอย่างไรก็คือจิต เพราะฉะนั้นก็ค่อยๆ อบรมเจริญไป แล้วก็จะรู้ว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ เมื่อสติสัมปชัญญะเกิด

    ผู้ฟัง ขณะจักขุวิญญาณเห็นรูปที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ในขณะนั้นมีเจตสิก ๗ ดวงเกิดขึ้นแล้ว

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นสัญญามีอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ รู้ หรือไม่

    ผู้ฟัง น่าจะรู้

    ท่านอาจารย์ น่าจะ แต่ความจริง ไม่ใช่น่าจะ ขณะที่เห็น รู้สัญญาที่เกิดกับจิตเห็น หรือไม่

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ รู้อย่างไร

    ผู้ฟัง รู้ว่าเห็นอะไร

    ท่านอาจารย์ นั่นคือ คิด ไม่ใช่รู้ลักษณะของสภาพจำที่เกิดกับจิตเห็น

    ผู้ฟัง ขณะที่ไม่รู้ว่าจักขุวิญญาณเห็นอะไร

    ท่านอาจารย์ จักขุวิญญาณเกิดเห็นสิ่งที่ปรากฏ ใครจะไปรู้อะไรอีก ในเมื่อจักขุวิญญาณเพียงกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นไม่มีอื่นเลย มีแต่จิตเห็น สัญญาจำสิ่งที่เห็น สัญญามีหน้าที่จำ จิตรู้อะไร สัญญาก็จำสิ่งที่จิตกำลังรู้

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่าเกิดโทสะ หรือโลภะ จะใช้ปัจจัยอะไร

    ท่านอาจารย์ ใช้ หรือ อาศัย หรือ เข้าใจ

    ผู้ฟัง เป็นขณะเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เข้าใจคือความเห็นถูก ตรงกันข้ามกับความเห็นผิด ถ้าใช้เป็นความเห็นผิด เพราะเราใช้อะไรไม่ได้ ทุกอย่างมีปัจจัยเกิดแล้วดับทันทีไม่มีอะไรเหลือ แล้วไม่กลับมาอีกด้วย

    ผู้ฟัง ยอมรับว่าไม่กลับมาอีก

    ท่านอาจารย์ แล้วจะใช้สิ่งใด ในเมื่อไม่กลับมาสักสิ่งเดียว

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจให้ถูกว่า เกิดขึ้นเพราะอะไร ใช้ปัจจัยอะไร

    ท่านอาจารย์ โดยการฟัง ขั้นฟัง รู้ว่าเป็นปัจจัยขั้นฟัง แต่ลักษณะของสภาพธรรมก็อยู่ในความมืด ไม่ได้ปรากฏจนกว่าสติปัฏฐานเกิดเมื่อใด รู้ตรงลักษณะใด ลักษณะนั้นจึงปรากฏลักษณะนั้นว่าเป็นสภาพธรรม

    อ.กุลวิไล กรณีของสภาพจิตที่เป็นโลภะ กับกุศลจิต เวทนาก็มี ซึงเกิดได้ทั้งโสมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา หลายท่านก็อาจจะคลาดเคลื่อนในความเข้าใจถึงสภาพของลักษณะของกุศลจิตโดยพิจารณาจากเวทนา และก็อาจจะคลาดเคลื่อนได้ว่าขณะที่เรามีความติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้ไม่ใช่เป็นความที่เกิดโทมนัสเวทนาที่เห็นถึงความประทุษร้ายจิตใจขณะนั้น หรือดีใจจนกระทั่งตื่นเต้น หรือเป็นเพียงแค่อุเบกขาเท่านั้น ผู้นั้นก็อาจจะมีความเข้าใจว่าโลภะที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนานั้นเป็นสภาพธรรมที่เป็นกุศล ซึ่งก็เป็นความเข้าใจผิดในสภาพธรรมที่มีจริงในเรื่องของลักษณะ อาจารย์มีข้อคิดเห็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นความละเอียดขึ้นที่เราจะเห็นความเห็นผิดหลากหลายมาก ตั้งแต่ในขั้นเรื่องราว ถ้ามีการสนทนาเรื่องความเห็นต่างๆ ก็จะเห็นได้ว่าบางคนก็ไม่เชื่อเรื่องกรรม ตายแล้วก็สูญไม่เกิดอีก ก็เชื่อไปอีกอย่างหนึ่งซึ่งขณะนั้นก็เป็นความเห็นผิด ถ้าคิดเช่นนั้น จะทำให้ทำอกุศลกรรม หรือกุศลกรรม ในเมื่อเกิดมามีชีวิตอยู่ แล้วก็กรรมที่ได้กระทำไว้ไม่ว่าจะเป็นกรรมอะไรก็ตาม ก็ไม่ได้ให้ผลเพราะเหตุว่าตายแล้วก็จบ ไม่มีการได้ผลอีกต่อไป คนนั้นก็จะมีอกุศลมากไม่หวั่นเกรงต่อผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นแม้แต่ขั้นเรื่องราวก็จะเห็นได้ว่าเวลาที่สนทนา จะเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะจิตขณะนั้นแม้แต่คำพูด บางคนก็อาจจะตื่นเต้นกับเหตุการณ์ซึ่งไม่ได้เป็นจริง แต่ว่าเข้าใจว่าเป็นจริง ขณะนั้นก็เป็นความเห็นผิด

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    26 ม.ค. 2567