พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 152


    ตอนที่ ๑๕๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าของที่เรามี เราไม่ค่อยใช้เพราะว่าเราติดในสิ่งนั้น ไม่อยากให้สิ่งนั้นเสียไป เสื่อมไปได้ แต่เวลาที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นจะมีเจตสิกอีกประเภทหนึ่งเกิดขึ้นซึ่งต่างออกไป ไม่ต้องการให้สิ่งนั้นเป็นสาธารณะหรือร่วมเป็นของบุคคลอื่น เรามีสมบัติยังไม่ให้ใคร หวงหรือไม่หรือว่าเป็นโลภะที่ติดข้องในสมบัตินั้น

    ผู้ฟัง เช่น เตียงนอน คนอื่นมานอน เราก็ไม่อยากให้มานอน

    ท่านอาจารย์ รู้ได้เลย ลักษณะใดเป็นอกุศลจิตประเภทใด ถ้าความรู้สึกไม่สบายต้องเป็นประเภทโทสมูลจิต รำคาญแม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นโทสะ ส่วนสภาพของโลภะก็จะเป็นความรู้สึกเฉยๆ หรือเป็นสภาพของโสมนัส

    ผู้ฟัง ถูกแซงคิว จะเป็นมัจฉริยะหรือไม่ พอโดนแซงก็จะรู้สึกโมโห

    ท่านอาจารย์ โมโหก็เป็นโทสมูลจิต

    ผู้ฟัง แต่ก็นึกอยู่ว่าโมโหทำไม แต่ก็นานหลายนาทีกว่าจะนึกได้

    ท่านอาจารย์ ก็ดีกว่าไม่มี

    ผู้ฟัง สิ่งนี้นับเป็นมัจฉริยะหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ฟังเพื่อเข้าใจไม่ต้องไปติดที่ชื่อ สิ่งนี้จะเรียกอะไร สิ่งนั้นจะเรียกอะไร แต่ลักษณะจริงๆ เป็นอย่างนั้นโดยเฉพาะ ก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา เป็นธรรม เมื่อศึกษาก็รู้ว่าเป็นธรรมทั้งหมด ค่อยๆ คุ้นกับสภาพที่เป็นธรรม จะรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใคร แต่เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ตระหนี่ที่เกิดรวมกับโทสมูลจิต จะมีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้างที่ทำให้จากหนักเป็นเบา จากเบาหายไป

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดก็ต้องด้วยความเข้าใจถูก ความเห็นถูกว่าเป็นสิ่งที่เป็นอกุศลที่ไม่ได้นำประโยชน์อะไรมาให้ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ทุกคนไม่อยากมีอกุศล ไม่อยากตระหนี่ ไม่อยากจะอิสสาด้วย ไม่อยากมีโลภะ ไม่อยากมีโทสะ ไม่อยากจะมีโมหะด้วย ก็คือสิ่งที่ไม่ดีทั้งหมดไม่มีใครอยากจะมี แต่ถ้าไม่มีความเห็นที่ถูกจริงๆ ไม่สามารถที่จะดับอะไรได้เลยทั้งสิ้น บางคนอาจจะคิดขึ้นมาได้ว่าไม่มีประโยชน์เพราะว่าทุกคนมีกรรมเป็นของๆ ตน ใครจะได้ลาภมากน้อยก็เพราะเหตุที่ได้กระทำมาแล้ว ไม่ต้องไปอิสสาริษยาใคร หรือคิดว่าสิ่งที่มีอยู่ถ้าอยู่กับเราแล้วมีประโยชน์น้อย ถ้าคนอื่นได้รับสิ่งนั้นก็จะเป็นประโยชน์สำหรับเขา ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรืออะไรก็ตามแต่ ถ้าเห็นว่าคนอื่นจะได้รับประโยชน์มากกว่าการที่จะอยู่กับเราโดยที่ว่าไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรก็สามารถที่จะสละให้ได้ ความคิดอย่างนี้อาจจะมีได้ตามการสะสม การพิจารณา การเข้าใจเหตุผล แต่ไม่สามารถที่จะดับอกุศลใดๆ ได้เป็นสมุจเฉท ต้องอาศัยปัญญาความรู้ถูกหรือความเห็นถูกเพิ่มขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะละความเป็นเราในสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อปรากฏในขณะนี้ จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคลก็จะดับกิเลสตามลำดับขั้น

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงแสดงถึงเหตุที่ลึกมาก และก็นานมากที่ได้สะสมปรุงแต่งมาเป็นทุกขณะจิตในขณะนี้ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะบันดาลให้เกิดขึ้นได้ ทำเห็นให้เกิดขึ้นไม่ได้ ทำกุศล ทำอกุศลไม่ได้ เพราะว่ามีปัจจัยเกิดแล้วจึงปรากฏว่ามี และก็กำลังเป็นลักษณะนั้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้นปัญญาที่อบรมจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเท่านั้นที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะเหตุว่า ถึงจะมีการแสดงเหตุผลบางประการที่จะทำให้กุศลจิตเกิด บางขณะ อกุศลก็ยังคงเกิดอีก และก็มีปัจจัยที่อกุศลก็จะเกิดอีกมากมายไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับอกุศล

    ผู้ฟัง เพราะว่าโทสมูลจิตเป็นเหตุให้มองไม่เห็นอกุศลทั้งหลาย ฉะนั้นทุกคนที่เกิดโทสะไม่รู้ตัวเองอย่างที่วิทยากรบรรยายไว้ นอกจากจะมีคนชี้หรืออาจจะระลึกได้ภายหลังแต่ก็ช้าไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าไม่มีโลภะ ความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โทสะจะมาจากไหน และถ้าไม่มีโมหะคือความไม่รู้สภาพความจริงของธรรม ทั้งโลภะทั้งโทสะก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นการดับต้องดับที่เหตุ

    ผู้ฟัง การเกิดโทสะได้ เราต้องรู้เหตุถึงอกุศลนั้น ถึงจะดับได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง และเหตุที่แท้จริงแน่นอนก็คืออวิชชาหรือโมหะ

    คุณอุไรวรรณ ขณะฟังธรรม และเข้าใจธรรมที่ฟังนั้นก็เป็นการเจริญปัญญาทีละเล็กทีละน้อย ทีละขั้น ทีละตอน คุณธีรพันธ์มีโทสะมากหรือน้อย

    อ.ธีรพันธ์ มีมากแน่นอน แต่ว่าต้องอาศัยการฟังพระธรรมว่าที่มีมากเพราะอะไร อย่างเช่นลักษณะของโทสะกับโลภะก็เป็นเรื่องที่เข้าใจยากเหมือนกัน ถ้าไม่ได้ศึกษาสภาพธรรมก็จะเข้าใจว่าโลภะเป็นโทสะก็ได้ หรือว่าโทสะเป็นโลภะก็ได้ ฉะนั้นการศึกษาพระอภิธรรมเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา และพิจารณาความลึกซึ้งของความเป็นอภิธรรมจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมจึงต้องละเอียด แม้คำเดียวคือคำว่า “ธรรม” ฟังกี่ปีถึงจะถึงความเป็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลหรือยัง นี่คือเราข้าม คือเวลาที่ธรรมเกิด เรารู้ว่าเป็นอกุศลก็มีความขุ่นเคืองใจด้วยความเป็นเรา คือขณะนั้นจะขาดความเข้าใจว่าเป็นธรรม ลักษณะนั้นไม่ใช่เรา เป็นเพียงสิ่งที่มีจริงๆ ถ้าเกิดไม่หยุด สมมติว่าเกิดเสียจนมากมายก็คือมีปัจจัยที่จะเกิดอย่างนั้น แต่ความมั่นคงของเราที่จะเข้าใจ มั่นคงว่าขณะนั้นเป็นธรรม เพียงพอหรือไม่ที่จะสละความเป็นเราจากอกุศลที่กำลังเป็นขณะนั้น นี่คือการที่จะเห็นความต่างของกุศลกับอกุศล อกุศลก็ยับยั้งไม่ได้ ไม่อยากให้เกิดแต่ก็เกิด กุศลก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา อยากให้เกิดมากๆ ก็ไม่เกิด โดยเฉพาะที่จะให้เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่เราเลย จะเห็นได้ว่าต้องอาศัยการฟัง การปรุงแต่งของสังขารขันธ์ จากการที่ก่อนฟังไม่เคยฟังเลย และเริ่มเข้าใจขึ้น คนที่มีกิเลสทั้งวันก็ไม่รู้ว่ามีกิเลส บางทีอาจจะไม่มีกุศลเลยก็ได้ในวันนั้น ไม่มีการให้ ไม่มีการที่จะวิรัติกายวาจาที่ไม่ควร พูดจาก็ยังเหมือนเดิม เสียงแข็ง กระด้างทำให้คนอื่นไม่สบายใจอย่างไรก็อย่างนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเรื่องของสภาพธรรมเป็นจริง แต่ว่าไม่รู้ กับเมื่อเริ่มรู้ก็เห็นสิ่งที่เป็นจริง ไม่ได้ต่างจากที่เคยเป็น แต่ว่าเริ่มรู้ แต่ว่าความรู้นั้นไม่มั่นคงพอที่จะสละความเป็นเราจากอกุศลทั้งหลายที่กำลังปรากฏ มิหนำซ้ำ ยังมีความเห็นผิดที่จะทำให้ทำอย่างอื่นที่จะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับแล้วในขณะนั้นด้วย

    ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงต้องไม่ลืมว่าเป็นความละเอียด และลึกซึ้ง ทั้งหมดทุกคำเป็นคำจริง แต่ว่าปัญญาที่จะค่อยๆ ถึงลักษณะของสภาพธรรมด้วยความเข้าใจนั้นระดับไหน ระดับเพียงขั้นฟังหรือว่าระดับขั้นที่เริ่มจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม และปัญญาก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่มักจะถูกโลภะหลอกลวงหลงกลพาไปทางอื่น คือทางที่จะไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเข้าใจว่าถ้าทำอย่างอื่นจะง่ายกว่า จะเร็วกว่า ก็เลยคิดว่าต้องมีหนทางอื่น แต่จริงๆ แล้วทรงแสดงไว้ว่ามีหนทางเดียวคือการรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยสติสัมปชัญญะ และค่อยๆ เข้าใจในความเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตนจนกว่าจะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ เป็นพระอริยบุคคล

    ผู้ฟัง เราก็แค่คิดว่าไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ แต่เรากำลังคิดว่าไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ใช่ เรากำลังคิดว่าไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นเราก็ติดข้องอยู่ดี

    ท่านอาจารย์ ฟังไปอีก ฟังไปอีก เพราะว่าเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่มีหนทางอื่น และก็จะเห็นจริงๆ ว่ายากมากเหมือนกับการจับด้ามมีด ขณะนี้ไม่ทราบว่าจับไปแล้วกี่ครั้ง แต่การสึกของด้ามมีดก็ยังไม่ปรากฏเลย แต่ความรู้ค่อยๆ รู้ขึ้น เพราะฉะนั้นเราหวังอะไร เราหวังเกินหวังหรือไม่ เกินความเป็นจริงที่สมควรหวังหรือไม่ คือหวังไม่ให้มีอกุศล หวังไม่ให้มีโลภะ โทสะ โมหะ หวังให้ปัญญาเกิด หวังให้กุศลเกิด ทำไมไม่เพียงให้ละความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าถ้ายังมีความไม่รู้อยู่จะดับอะไรได้ ดับอะไรไม่ได้เลย ดับกิเลสทั้งหลายไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฏ ฟังเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น คือการละความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ได้มุ่งหวังอะไรเลย เพราะว่าเป็นหนทางเดียวที่จะละความไม่รู้ด้วยการเจริญความรู้ขึ้น

    ผู้ฟัง เป็นเรื่องยากมาก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ถูกต้อง ไม่มีใครสักคนบอกว่าง่าย

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน ถ้าเราบอกว่าเราฟังธรรมแล้ว และเราเข้าใจ แต่จริงๆ ก็ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ก็เป็นสภาพธรรมทั้งหมด และเราก็บอกว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่การที่จะรู้ลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏก็คือฟังจนกระทั่งสังขารขันธ์ปรุงแต่งค่อยๆ เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง คำว่า ตระหนี่หรือว่าขี้เหนียวหรือว่าหวงแหนทรัพย์สินของตนเอง ที่ท่านอาจารย์พูดเมื่อสักครู่นี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องของสภาพจิตของแต่ละคน แต่ละขณะ หลายๆ กรณีผมถูกกล่าวว่าเป็นคนขี้เหนียว ตระหนี่ แล้วก็หวง ผมก็ทำของผมอย่างนี้ไปเรื่อยๆ คือทำพอดีๆ ตามความเหมาะสมแห่งสภาพของตัวเองที่จะทำได้ เวลาไปทำบุญ ผมก็ไม่ได้ทำมากเป็นหมื่นเป็นแสนหรืออะไรจนเกินไป ยกเว้นแต่บางกรณีที่จำเป็นที่จะต้องทำเป็นครั้งคราว หรือเวลาเราวางแผนชีวิตของเราให้ดี เราทำอะไรของเราให้ดี เราตื่นแต่เช้า เราก็ไปได้ แต่คนที่ตื่นสายๆ ไปรถประจำทางไม่ได้ ขึ้นแท๊กซี่ อะไรๆ ก็แท๊กซี่ พอสิ้นเดือนก็ไม่พอใช้โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ทำงาน ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องของสภาพจิตที่เราจะบริหารตัวเองได้ เพราะฉะนั้นใครจะว่าตระหนี่ ใครจะว่าขี้เหนียว ใครจะว่าอะไร เราก็เฉยๆ เสียดีกว่า อยู่ที่ใจเราว่าเราพอใจหรือเราเห็นความเหมาะสมอย่างไร ผมไม่ทราบว่าวิธีคิดอย่างผมนี้จะเห็นแก่ตัว ขี่เหนียวหรือตระหนี่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องขออนุโมทนาที่คุณเด่นพงศ์เป็นผู้ที่รู้จักใช้เงิน คือคนที่มีเงิน และก็ใช้เงินโดยไม่จำเป็นก็คงจะมีเยอะ เสียเงินโดยใช่เหตุอย่างที่คุณเด่นพงษ์คิด ก็แสดงว่าเรามีเหตุผล จริงๆ แล้วเงินทองที่มีมากนั้นเป็นไปตามกรรม จะมาเมื่อไร จะไปเมื่อไร จะสิ้นไปเมื่อไร ก็ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งได้ แต่การที่แต่ละคนจะเป็นตัวของตัวเอง แล้วแทนที่จะเสียเงินทองไปในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ ถ้าใช้เงินนั้นในทางที่เป็นประโยชน์ที่จะช่วยเหลือคนอื่นก็ยังได้ประโยชน์มากกว่า เพราะฉะนั้นก็คงจะไม่ใช่เป็นเรื่องของความตระหนี่ แต่เป็นเรื่องของการใช้เงินโดยที่ไม่ไปเสียเงินกับสิ่งที่ไม่จำเป็น ใช้เฉพาะตามสมควร และทุกคนก็พอใจในความเป็นผู้มัธยัสถ์ มีใครอยากจะรับประทานอาหาร และก็เหลือสักครึ่งหนึ่งแล้วก็ทิ้งบ้าง เป็นประโยชน์ไหม ไม่ว่าอยู่บ้านหรือที่ไหนก็ตามแต่ อาหารที่รับประทานทิ้งเสีย กับอาหารที่รับประทานให้หมด เดิมทีเดียวทุกคนก็อาจจะคิดว่าถ้ารับประทานให้หมดก็อาจจะเป็นคนที่ไม่มีมารยาทในการรับประทานเพราะว่าเหมือนกับคนตะกละ ใช่ไหม เกลี้ยงเลย อาจจะคิดอย่างนั้น แต่ถ้าคิดว่าจะเหลือไว้ทำไมแม้แต่เม็ดเดียว เหลือไว้ทำไม จะว่าตระหนี่หรือ หรือเราควรจะทิ้งหรือไม่ หรือว่าควรจะทำอย่างไร

    ผู้ฟัง ช่วยขยายความ “ตระหนี่” กับ “มัธยัสถ์”

    อ.อรรณพ พระสูตรที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้สอยว่าทรัพย์สินที่ได้มาควรที่จะใช้สอยอย่างไร และควรที่จะมีทรัพย์ที่เหลือเก็บด้วย เพราะฉะนั้นพระองค์ท่านทรงสอนให้รู้จักมัธยัสถ์ มัธยัสถ์ก็จะต้องไม่ใช่ตระหนี่ ตระหนี่ก็คือการที่ไม่สละ การที่มีความติดข้องในสมบัติของตนเอง และก็ไม่อยากให้สมบัติของตนเองเป็นประโยชน์กับผู้อื่นโดยความตระหนี่ ไม่มีการสละ แต่ “มัธยัสถ์” นั้นก็คือการใช้ทรัพย์สมบัติที่หามาได้ด้วยความยากลำบากก็ควรจะใช้ทรัพย์สินนั้นให้เป็นประโยชน์อย่างที่สุด แล้วก็มีส่วนเหลือที่จะเป็นประโยชน์กับบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่เรามีโอกาสที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเขาโดยที่เราสะสมอุปนิสัยของการมัธยัสถ์ ไม่สะสมความฟุ่มเฟือยใช้สอยโดยที่ไม่ได้คิดถึงผู้อื่นนั่นเอง เพราะฉะนั้นต่างกันโดยที่มัธยัสถ์เป็นการรู้จักใช้สอย และรู้จักเก็บทรัพย์สินไว้ตามสมควร แล้วก็สามารถที่จะให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่นด้วย ไม่ใช่ว่าตระหนี่แล้วไม่มีการสละเลย

    ท่านอาจารย์ เพียงแต่เราคิดว่าแทนที่เราจะเสียสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นโดยไม่ฟุ่มเฟือย เพียงแต่มัธยัสถ์ เราก็น่าจะให้สิ่งที่เรามัธยัสถ์แทนที่จะฟุ่มเฟือยเป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่นได้ ความจริงเรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นเป็นความเมตตา ขณะนั้นเป็นความกรุณาหรือไม่ เพราะว่าเงินทองตามที่คุณอรรณพกล่าวถึง เมื่อมีการเก็บสะสมไว้พอสมควรคือไม่ทำให้เราต้องไปรบกวนคนอื่น พร้อมกันนั้นในขณะเดียวกันเรายังสามารถจะช่วยคนอื่นได้ก็ยิ่งดี แต่ถ้าเราไม่สามารถจะช่วยได้เพราะเราไม่มีเงิน แล้วเราจะช่วยได้อย่างไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่มีความละเอียดของจิตใจ แม้แต่ในการที่เราคิดว่าเราประหยัดเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดกับบุคคลอื่น มีไหม ไม่ว่าจะเป็นที่ร้านอาหารหรือที่ไหนๆ ก็ตาม

    เพราะฉะนั้น เรื่องบุญเป็นเรื่องที่น่าจะเข้าใจให้ถูกต้อง เช่น ที่คุณเด่นพงศ์พูดถึงเรื่องการทำบุญมากน้อยที่ต่างๆ กับมิตรสหายผู้ที่มั่งมีเงินทองอะไรต่างๆ เหล่านี้ บุญคือขณะที่จิตใจปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นต้องมีโสภณธรรมเกิดร่วมด้วย มีทั้งหิริโอตตัปปะ แม้แต่ในขณะที่กำลังฟังธรรมก็มีหิริโอตตัปปะแต่เรามองไม่เห็น มีศรัทธา มีสภาพธรรมเป็นโสภณเจตสิกที่เกิดพร้อมกัน กุศลจิตจึงจะสำเร็จได้ เพราะฉะนั้นบุญก็คือขณะที่กุศลจิตเกิด ไม่ใช่ขณะที่เรามีความต้องการจะทำ และก็หวังที่จะได้ผลจากการกระทำของเรา จะได้ขึ้นสวรรค์ หรือจะได้เป็นที่รักของคนนั้นคนนี้ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วให้ทราบว่า อย่างผู้ที่เป็นพระภิกษุท่านก็ไม่มีทรัพย์สมบัติ แต่บุญของท่านมากหรือน้อยกว่าคฤหัสถ์ ก็แสดงให้เห็นว่าต้องมีความเข้าใจจริงๆ ในเรื่องสภาพของจิต แม้แต่ก่อนสมัยพุทธกาล สมัยพุทธกาล จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ สภาพของจิตก็ไม่ได้เปลี่ยน กุศลก็เป็นกุศล อกุศลก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นเวลาที่กุศลจิตเกิดมีการสละทรัพย์สินเงินทองเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น จะมากหรือน้อยก็ตามเป็นที่น่าอนุโทนาในกุศลจิตซึ่งสามารถจะเกิดได้ในขณะนั้น ไม่ใช่ไปตำหนิในจำนวนว่ามากหรือน้อยอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็แล้วแต่ ใครก็ตามที่ขณะส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันเป็นอกุศล แต่ก็ยังมีกุศลจิตเกิดสามารถที่จะทำประโยชน์แก่บุคคลอื่นได้ในเรื่องการรับประทานอาหาร ในเรื่องคิดถึงเจ้าของร้าน หรือในเรื่องอื่นใดแม้เพียงเล็กน้อยนิดหน่อย จิตขณะนั้นไม่เป็นไปเพื่อตนเอง แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ขณะนั้นก็คือบุญ เพราะฉะนั้นเรื่องของการทำบุญ อาจจะมีผู้ติเตียนว่าทำมาก คนนี้ทำน้อย อย่างนี้อย่างนั้นก็แล้วแต่เรื่องความคิดของคนอื่นซึ่งเราไม่สามารถจะห้ามได้ แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมจริงๆ กุศลจิต ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร ขณะไหน วัยไหน ก็ตามเป็นที่ควรแก่การอนุโมทนา เพราะฉะนั้นเราก็จะได้อนุโมทนาในกุศลจิตของผู้ที่มีศรัทธา โดยที่ว่าถ้าขณะใดเกิดความคิดที่ไม่อนุโมทนา ขณะนั้นก็เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง สติก็เกิดรู้ไม่ประมาท สิ่งนี้ควรจะอย่างนั้น ควรจะอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราจะไปซื้อของ ของแพงมาก กับของที่ไม่แพงมาก แต่เราก็พอใจที่จะซื้อเพราะเราอยากจะได้สิ่งนั้น เพราะว่าเราไปซื้อของก็หมายความว่าเราอยากได้ของ เพราะฉะนั้นเวลาที่ซื้อในราคาพอสมควรขณะนั้นเป็นโลภะหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น แต่ก็เป็นคนละขณะจิต ในขณะที่เขามีปัญญารู้ด้วยเหตุด้วยผล ขณะจิตนั้นปัญญาก็เกิดด้วยเหตุด้วยผล

    ท่านอาจารย์ ปัญญามีหลายระดับขั้น ไม่ซื้อของถูกเลย ซื้อของแพงมากเพราะอยากได้ แต่สติสัมปชัญญะสามารถที่จะรู้สภาพธรรมในขณะนั้นได้ไหม นี่ก็อีกระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัว พระพุทธศาสนาก็คือคำสอนที่สอนให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปตามปัจจัยอย่างรวดเร็วมาก แต่ละกาล เราไม่สามารถจะคาดคะเนได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป แต่เมื่อเกิดแล้วรู้ได้ว่ามีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น

    ผู้ฟัง ผมคิดว่าค่านิยมของสังคมไทยในปัจจุบันนั้นน่ากลัวเหมือนกัน เราพูดคำว่า มัธยัสถ์กับตระหนี่ จะช่วยสังคมได้ไหม

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วดิฉันคิดว่าทุกคนนิยมความดี กระแสอาจจะไปทางหนึ่ง แต่ใจจริงๆ จะพ้นการเห็นสิ่งที่ดีว่าดี ไม่ได้เลย ต้องเห็นว่าดีเป็นดี ไม่ดีเป็นไม่ดี สิ่งนี้ก็แน่นอน ไม่ว่าจะสูงศักดิ์ สูงส่ง ลาภยศสรรเสริญสักเท่าไร แต่ถ้ากาย วาจาไม่ดี คนอื่นจะบอกว่าดี ได้ไหม เปลี่ยนไม่ได้เลย ความจริงเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น หรือคนที่ไม่มีอะไร สมบัติพัสฐานอะไรก็ไม่มี แต่ว่าเป็นคนใจดีมีเมตตากรุณาช่วยเหลือบุคคลอื่น แบ่งปันสิ่งที่มีอยู่น้อยยังสามารถที่จะให้คนอื่นได้ คนอื่นก็ต้องชื่นชมอนุโมทนา เพราะฉะนั้นความดีอยู่ที่ไหน คนอื่นก็ต้องเห็น เราคงไม่ต้องไปตามกระแสเรื่องของค่านิยมต่างๆ เพราะเหตุว่าลึกลงไปจริงๆ ทุกคนชื่นชมในคุณงามความดี ก็ขอกล่าวถึงท่านผู้หนึ่ง ท่านก็เป็นผู้ที่มีทรัพย์สินมาก แรกเริ่มเดิมทีท่านก็มีกระเป๋าหนังอย่างดี ก็ราคาแพง นำเข้าจากต่างประเทศ เดี๋ยวนี้ท่านก็ถือย่าม สบาย เบา ไม่เดือดร้อนเลย ไม่เห็นจะต้องเดือดร้อนว่าใครจะคิดอย่างไรถ้าเรามีความพอใจ เราไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้คนอื่น ไม่ได้ไปว่ากล่าวใคร ไม่ได้ไปอิจฉาริษยาใคร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567