พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 150


    ตอนที่ ๑๕๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    อ.กุลวิไล สำหรับถีน (ถีนะ) ท่านกล่าวว่าถีนเป็นไฉน ความที่จิตไม่ข้อง ไม่ควรแก่การงานชื่อว่าถีน ส่วนมิทธะเป็นไฉน ความที่กายไม่ข้องไม่ควรแก่การงานชื่อมิทธะ สิ่งนี้จะเห็นความต่างของอสังขาริกกับสสังขาริก

    ท่านอาจารย์ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าธรรมละเอียด และลึกซึ้ง แม้ว่าจะกล่าวไว้แสดงไว้โดยประการต่างๆ แต่การที่เราจะเข้าถึงความหมาย เราจะเข้าใจได้แค่ไหน เช่นคำว่า “มีกำลังกล้า” กับ “กำลังอ่อน” เพียงเท่านี้ ๒ คำ ก็ต้องพิจารณาไตร่ตรองว่าจริงๆ แล้วหมายความถึงอย่างไร มีกำลังกล้ามากถึงขณะดุร้าย หรือมีกำลังกล้าเพราะว่าสะสมมาที่สามารถจะเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่อาศัยการชักจูง เช่น ขณะที่ทุกคนกำลังนั่งอยู่ที่นี่ กำลังฟัง มีโทสะบ้างไหม เห็นไหมแค่นี้ จะรู้ไหม เพียงขณะที่กำลังอยู่ที่นี่ เพราะว่าธรรมเป็นชีวิตจริงๆ ถ้าจะเข้าใจธรรมก็คือว่ามีสภาพธรรมจริงๆ ถ้าเข้าใจตรงนี้ได้ก็สามารถที่จะเข้าใจข้อความอื่นได้ด้วย แต่ว่าค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อยตามกำลังของสติปัญญา เช่นคำว่า “มีกำลังกล้า” กับ “ไม่มีกำลัง” ๒ คำนี่ต้องเข้าใจถึงความหมายว่า “กล้า” หมายความว่าอย่างไร “มีกำลังอ่อน” หมายความว่าอย่างไร แต่อย่างไรทั้ง ๒ ประเภทเกิดแล้ว เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็ถามว่าขณะที่กำลังนั่งมีโทสะบ้างไหม ใครบอกว่าไม่มี หรือใครคิดว่ามีด้วย มีไหม ขณะที่กำลังนั่งตั้งนาน มีโทสะเกิดขึ้นบ้างไหม ต้องมี เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ก็มี เกิดแล้วมีใครไปชักจูงหรือไม่ หรือว่ามีกำลังพอที่จะเกิดตามการสะสม แต่เป็นประเภทที่แม้ว่าจะเป็นความรำคาญ เช่น ผมที่จะปรกลงมาที่หน้าผากสักเส้นหนึ่งหรือสองเส้น ความรำคาญเกิดแล้วเป็นจิตประเภทไหน เป็นโทสมูลจิต เวทนาขณะนั้นเกือบจะไม่รู้ว่าเป็นโทมนัส แต่ความไม่สบายใจแม้เพียงนิดเดียวนั่นก็ใช่แล้วคือต้องเป็นโทสมูลจิต แล้วก็มีกำลังหรือไม่มีกำลังเพราะว่าเกิดแล้วโดยไม่มีใครมาชักจูง แต่เกิดแล้ว

    เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงคำเราก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าจริงๆ แล้วมุ่งหมายอย่างไร มีปัจจัยที่จะเกิด หรือต้องอาศัยการชักจูงคือขณะแรกๆ ก็ไม่เกิด แต่ขณะหลังๆ ก็เกิดได้ เช่น ถ้าเห็นสิ่งหนึ่งยังไม่ทันรู้ว่าเป็นอะไร กลัวไหม ยังไม่รู้เลย ตัวดำๆ อยู่ที่ดิน ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ขณะนั้นจะกลัวหรือยัง หรือว่ากลัวแล้ว แค่นั้นก็กลัวแล้ว นี่ก็แสดงให้เห็นว่ายังไม่มีปัจจัยที่จะให้โทสะเกิด แต่ดูไปดูมาเป็นงู ตกใจไหม เพราะฉะนั้นความที่ครั้งแรกยังไม่เกิด และภายหลังก็มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นจากการดู จากการไตร่ตรอง จะกล่าวว่าเป็นอสังขาริกหรือสสังขาริก นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งถ้ารู้ขณะจิตก็สามารถจะบอกได้ แต่ถ้าไม่รู้เราก็คงจะคิดว่าขณะไหนเป็นสสังขาริก และขณะไหนเป็นอสังขาริก เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ขณะที่เราสามารถจะเจาะจงตอบคำถามทุกคำถามได้ว่า ขณะนี้อย่างนี้เป็นสสังขาริกหรือว่าเป็นอสังขาริก แต่ว่าให้ทราบว่าการที่ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิตเกิดได้ก็จะต่างกัน โดยที่มีกำลังกล้ามีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเอง หรือว่าไม่มีปัจจัยในตอนแรก แต่อาศัยการชักจูง หลังๆ เกิดขึ้นพิจารณาหรือใคร่ครวญ หรือคิดไปคิดมาก็เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้นก็เป็นฝ่ายของที่เป็นสสังขาริก เพราะเหตุว่าอาศัยสังขารคือการที่คิดแล้วคิดอีกก็ได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นสสังขาริกตลอดไปหรือว่าจะเป็นอสังขาริกตลอดไป นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งยากที่จะรู้ แต่ว่าถ้าเราไม่ติด ๒ คำนี้ คือไม่ติดที่คำว่า “สสังขาริก” หรือ “อสังขาริก” ก็สบายใช่ไหม ไม่เดือดร้อน ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เกิดแล้วมีปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏแล้ว เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับตามกำลังที่สามารถจะรู้ได้ เข้าใจได้ ก็จะทำให้เราไม่อึดอัด ไม่เดือดร้อนไม่กังวล เพราะเหตุว่า การเข้าใจธรรมเป็นเรื่องเบาสบาย สามารถที่จะรู้ว่าเป็นบุญที่ได้มีโอกาสได้ฟัง และเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้เพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจจริงๆ ไปได้ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าสามารถประจักษ์แจ้งได้ เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมดเป็นเรื่องละ แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำให้เราเกิดสงสัยอยากรู้ และกระวนกระวาย และก็เดือดร้อน ขณะนั้นก็ไม่ใช่กุศลจิต

    อ.วิชัย ลักษณะของโทสะ ก็สังเกตจากชีวิตประจำวัน เช่น ถ้าเกิดความกลัวหรือบางท่านก็หยาบกระด้างวาจาหยาบคายแสดงออกมา หรือบางท่านก็เศร้าโศกเสียใจ ประมวลทั้งหมดก็เป็นลักษณะของโทสะ แต่ว่าอาการที่แสดงออกมารู้สึกว่าจะแตกต่างกัน

    ท่านอาจารย์ แต่อย่างไรก็ตามจะรู้ได้ว่าขณะนั้นไม่ใช่อกุศลที่เป็นโลภะ และก็ไม่ใช่อกุศลที่เป็นโมหมูลจิต

    อ.วิชัย ดูเหมือนว่าลักษณะจะแตกต่างกัน แต่เหตุใดประมวลว่าเป็นลักษณะของโทสะ

    ท่านอาจารย์ ไม่สบายใจ ไม่ติดข้อง ไม่พอใจในอารมณ์ ไม่ปรารถนาอารมณ์นั้นซึ่งลักษณะของโลภะตรงกันข้าม ติดข้อง ต้องการ ปรารถนา ไม่ทิ้ง ไม่ปล่อย

    อ.วิชัย ลักษณะของโทสะก็เป็นตรงกันข้ามกัน (กับโลภะ) แล้วแต่ว่าจะเป็นอาการแสดงออกมาในลักษณะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เสียใจเกิดขึ้น ไม่มีใครอยากเสียใจใช่ไหม

    ผู้ฟัง คนที่สะสมโทสะมามาก ก็จะเอะอะมากกว่าคนที่สะสมมาน้อย

    ท่านอาจารย์ แต่โทสะเกิดแล้วเหมือนกัน

    ผู้ฟัง เหมือนกัน แต่มีกำลังไม่เหมือนกัน กำลังหรือไม่มีกำลังที่เรากำลังจะเข้าใจก็คือว่า ความหมายของ “กำลัง” กับ “ไม่มีกำลัง” คืออย่างไร ถ้ามีกำลังก็คือสามารถที่จะเกิดได้เลย แม้เพียงเล็กน้อยก็เกิดแล้ว เช่น ความรำคาญใจ แม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นโทสะเกิดแล้วด้วยตามการสะสมที่จะเกิด แต่บางกาลที่มีกำลังอ่อน ก็หมายความว่าขณะนั้นไม่เกิดขึ้นได้ทันทีตามการสะสม แม้สะสมมาที่ว่าจะเกิดเล็กน้อย แต่ก็เกิดได้เพราะสะสมมา แต่บางกาลไม่ได้เกิดทันที แต่อาศัยการคิดไปคิดมา ไตร่ตรอง ขณะนั้นก็จะกล่าวได้ว่าเป็นสสังขาริก เป็นการไตร่ตรอง มีการคิดไปคิดมา หรือใช้คำว่าชักจูงหรือชักชวนก็ได้โดยบุคคลอื่นหรือโดยตนเอง คือ คิดไปคิดมาไม่อยากไป หรือคิดไปคิดมาไปดีกว่า อะไรก็แล้วแต่ที่ขณะนั้นจะเกิดขึ้น แต่จริงๆ แล้วก็คือว่า ถ้าจะกล่าวอย่างที่ว่าสิ่งภายนอกเป็นการชักจูงนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่า ถ้าเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ชอบหรือไม่ชอบ บุคคลในโลกนี้มีหลายบุคคล พระอรหันต์ไม่มีเลย แม้ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งเดียวกับที่บุคคลอื่นเห็น แต่ว่าไม่มีกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับบางคนสะสมมาที่จะเกิดโลภะชอบ และอีกคนเราก็ได้ยินเสียงเลย นั่งไปด้วยกัน เห็นสิ่งเดียวกัน ไม่ชอบเลย คนหนึ่งก็กล่าวว่าไม่ชอบ อีกคนก็กล่าวว่าชอบ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการสะสมที่ต่างกันจึงไม่ใช่สสังขาริก แต่ว่าบางสิ่งบางอย่างตอนแรกใหม่ๆ เราอาจจะไม่คุ้นเคย บางคนอาจจะไม่ชอบกลิ่นอาหารบางชนิด กลิ่นผลไม้บางชนิด แต่เมื่อบ่อยๆ เข้าก็ดี หมายความว่ารู้สึกว่ารสชาติดีขึ้น กลิ่นดีขึ้น สิ่งนั้นก็เป็นไปได้ที่กล่าวว่าเมื่อเกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้คุ้นเคย ได้มีการเห็นบ่อยๆ รับประทานบ่อยๆ ความชอบนั้นก็เกิดขึ้น แต่ภายหลังก็เกิดเองได้อีกเพราะเหตุว่าได้สะสมมาแล้วที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญใหญ่โตที่เราจะต้องเป็นฝ่ายตัดสินว่า ขณะใดเป็น สสังขาริก ขณะใดเป็นอสังขาริก แต่เขาเข้าใจสภาพธรรมว่าเป็นอย่างนี้ได้

    ผู้ฟัง ลักษณะของโทสะ เรามีโทสะ หรือเรารู้ว่ามีโทสะ กับสภาพลักษณะของโทสะที่เป็นสภาพธรรม มีความแตกต่างกัน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แม้แต่การศึกษาธรรม บางคนศึกษาด้วยความเป็นเรา เมื่อได้ยินก็ ใช่ เรามีโลภะอย่างนี้ แทนที่ว่าเป็นลักษณะของธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เรา ก็ต่างกันใช่ไหม เมื่อกล่าวเรื่องโทสะ ใช่ วันนั้นเรามีโทสะมากมาย เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่รู้ว่าโทสะเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ใครเลย เราศึกษาธรรมต้องมีความมั่นคงที่ว่าศึกษาเพื่อเข้าใจธรรม สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม ศึกษาเพื่อให้รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเราจะศึกษาจริงๆ ขณะนั้นเราก็จะเข้าใจสิ่งที่มีตามความเป็นจริงซึ่งเป็นหนทางที่จะทำให้ละโลภะได้ เพราะว่าพระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงนั้นเพื่อละโลภะ ถ้าได้ยินคำนี้ รู้สึกไหมว่าโลภะละยากแค่ไหน ต้องอาศัยพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงสามารถที่จะละได้จริงๆ ถ้าเป็นอย่างอื่นไม่สามารถที่จะละได้ เพราะว่ามีทั้งความละเอียด มีทั้งความมากมาย และก็แผ่ซ่านไปในอารมณ์ทั้งปวงเหมือนรสดินกับรสน้ำที่ต้นไม้เติบโตมาทุกก้าน ทุกกิ่ง ทุกดอก ทุกผลก็เป็นเพราะรสดิน และรสน้ำฉันใด โลภะก็จะเป็นเหตุเป็นมูล ที่จะทำให้สภาพธรรมทั้งหลายงอกงามไพบูลย์ไม่มีที่สิ้นสุดในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินอย่างนี้ ความละเอียดของพระธรรมที่จะละโลภะได้ คนนั้นต้องพิจารณาไตร่ตรองเป็นปัญญาจึงจะละโลภะได้ แต่ถ้ามีความเป็นเรารู้ และก็เข้าใจ วันนั้นเรามีโทสะอย่างนั้น วันนี้เรามีโลภะอย่างนี้ก็คือเป็นเราไปโดยตลอดที่ฟังเรื่องธรรม แล้วก็มีชื่อของสิ่งที่เกิด แต่ก็เป็นเรา ไม่ได้มีความเข้าใจว่าแล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

    มีท่านผู้หนึ่งบอกว่าท่านอยากจะเป็นพระโสดาบัน ถามว่าเมื่อไร ท่านบอกว่าตั้งแต่เกิด เสร็จแล้วท่านก็เปลี่ยนว่าไม่ใช่ตั้งแต่เกิด แต่เป็นตอนโตขึ้นแล้วรู้ความก็อยากจะเป็นพระโสดาบัน ศึกษาธรรมเพื่ออยากเป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางเป็นพระโสดาบัน แต่ศึกษาธรรมเพราะรู้ว่าธรรมเป็นสิ่งที่มี อบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มี เมื่อมีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกเจริญขึ้นย่อมสามารถถึงกาลที่จะดับกิเลสได้ แต่ไม่ใช่อยากจะดับกิเลส และก็พยายามทุกวิถีทาง ขณะนี้มีกิเลสมากก็ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ นี่เป็นคำสอนหรือไม่ สอนให้ละระดับไหน ละด้วยศีล ละด้วยความสงบของจิตหรือว่าละด้วยปัญญาที่สามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท นี่คือคำสอนที่งามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด เพราะฉะนั้นเราก็ได้ยินเรื่องของศีล ได้ยินเรื่องของความสงบพอสมควร แต่การที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ถ้าพระศาสนาอันตรธาน ไม่มีทางที่สามารถจะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ หรือแม้โอกาสที่จะได้ยินได้ฟัง อาจจะมีตัวหนังสืออยู่ แต่ความเข้าใจ ความลึกซึ้ง ความละเอียดของการที่ละนั้นเป็นอย่างไร เช่น ถ้าเข้าใจความหมายของธรรม และรู้ว่าธรรมเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ธรรมใดขณะนี้ปรากฏเพราะเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย ที่จะเปลี่ยนลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย ถ้าเป็นอย่างนี้จะเดือดร้อนไหม อกุศลเกิดเพราะเหตุปัจจัย แต่ปัญญายังสามารถที่จะเข้าใจถูก เห็นถูก ในลักษณะของอกุศล แต่ไม่ใช่ตัวตนที่เริ่มทำ ที่จะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่คือความลึกซึ้งที่จะรู้ว่าการที่จะดับกิเลสหรือละโลภะจะไม่มีในคำสอนอื่นได้เลย เพราะเหตุว่าคำสอนอื่นไม่ได้สอนให้รู้ในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง เวลาที่เราระลึกรู้สภาพของโทสะ เราจะมีความเดือดร้อน และมีโทมนัสเกิดร่วมด้วย แต่เราจะไม่มีลักษณะที่ท่านอาจารย์กล่าวว่าเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน แล้วก็จะเบาสบาย

    ท่านอาจารย์ เพราะนั่นเรียกชื่อ จำได้ว่าคำนี้คือโทสะ เพราะฉะนั้นพอลักษณะนี้ปรากฏก็นึกถึงคำ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นธรรมของโทสะ และไม่รู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะ เพราะขณะนั้นไม่ใช่สติสัมปชัญญะ ไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่เป็นการนึกถึงชื่อ ขณะนี้ก็นึกได้สิ่งที่ปรากฏทางตา ทั้งๆ ที่ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาแต่ก็นึกถึงชื่อ ไม่ใช่ถึงลักษณะของธรรมที่เพียงปรากฏเมื่อกระทบจักขุปสาทเท่านั้น ไม่ได้กระทบอย่างอื่น ความจริงคือแค่นั้น แต่เรื่องราวมากมายมหาศาลเพราะความไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา มหาสมุทร (สมุท) อะไรเป็นมหาสมุทร จำได้ไหม พระสูตรนี้กล่าวถึงแล้ว จักขุ (ตา) ไม่จบสิ้น อย่างเดียวหรือไม่ หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และยังสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอีกด้วย ถ้าพูดให้เข้าใจว่าอกุศลมีมากมายสักเท่าไร เป็นหนทางที่จะละโลภะ เพราะรู้จริงๆ ว่าละยากแค่ไหน ต้องเป็นปัญญาจริงๆ มิฉะนั้นก็จะไปพยายามทำอย่างอื่นที่คิดว่าจะทำให้ละโลภะได้

    ผู้ฟัง ลักษณะของการที่สติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วเป็นกุศล เบาสบายก็ไม่น่าจะใช่โลภะ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้นลักษณะของโลภะ ความติดข้องเกิดกับอุเบกขาเวทนาก็ได้ เกิดกับโสมนัสเวทนาก็ได้ ลักษณะของกุศลซึ่งไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาก็ได้ โสมนัสเวทนาก็ได้ แต่ต้องไม่ปนกัน

    ผู้ฟัง ก็ต้องเป็นปัญญาเท่านั้นที่จะทราบได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ต้องเป็นปัญญาที่เกิดพร้อมสติสัมปชัญญะที่เป็นสติปัฏฐานเท่านั้น

    ผู้ฟัง ในวันหนึ่งๆ ที่เราพิจารณาหรือระลึกได้ก็คือไม่ใช่สติระลึก

    ท่านอาจารย์ ปัญญาขั้นคิดหลังจากที่ได้ฟัง และก็ไตร่ตรอง

    ผู้ฟัง แล้วมีประโยชน์หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ปัญญามีประโยชน์หรือไม่

    ผู้ฟัง ปัญญามีประโยชน์

    ท่านอาจารย์ จะให้บอกหรือว่าจะให้เข้าใจเอง

    ผู้ฟัง คือจริงๆ ก็คิดว่ามีประโยชน์ เมื่อมีความสงสัยเกิดขึ้นในลักษณะของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ขอถามคุณสุกัญญาว่า มีความเห็นถูกต้องมีประโยชน์ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ความเห็นถูกต้องก็คือปัญญาเจตสิก ขณะนี้เป็นปัญญาหรือไม่ ความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง ก็เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แต่เมื่อระลึกสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน ก็กลายเป็นเราระลึก เรารู้ลักษณะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้ความต่างกันของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ จะไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นอะไร ยังมีความสงสัยอยู่ แต่ถ้ามีความเข้าใจว่าขณะใดที่กำลังมีลักษณะจริงๆ ขณะนี้มีแน่นอน มีลักษณะของสภาพธรรมแน่นอน แล้วขณะที่กำลังรู้ตรงนั้นแม้จะสั้นหรือเพียงเล็กน้อย ขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ เพราะกำลังรู้ลักษณะ เพราะฉะนั้นขณะนั้นจึงไม่มีอภิชฌา และโทมนัส เรื่องในอดีตไม่มี ใครจะพูดว่าอะไรวันก่อนหรือต่อไปจะทำอะไรที่ไหน อย่างไร ไม่มี ในขณะที่ลักษณะของสภาพนั้นกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นจึงเข้าใจว่าหนทางนี้เป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่สามารถที่จะละอภิชฌา และโทมนัสได้ เพราะว่ากำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏด้วยสติสัมปชัญญะ

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่าการศึกษาธรรมด้วยความเป็นตัวตนมีความหมายมากน้อยแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นตัวเราที่รู้ ทั้งหมดที่พูดก็คือเรา

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะดูทีวีหรือทำอะไรต่ออะไร

    ท่านอาจารย์ มีใครไหมที่คิดว่า เมื่อได้ฟังเรื่องอกุศล ก็จะรู้สึกว่า น่ารังเกียจ เรามีอกุศลมาก นั่นคือศึกษาด้วยความเป็นเรา เป็นเราหมดเลย เมื่อมีอกุศลก็เราทั้งนั้น เรานี่ก็น่ารังเกียจมาก เกิดความรังเกียจ อยากจะให้เราดี ก็เป็นเราหมด ไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรมซึ่งมีปัจจัยก็เกิด แล้วก็หลากหลาย เห็นก็ไม่ใช่คิดนึก

    ผู้ฟัง ส่วนมากเราก็จะติดเรื่องราวที่เราคิดนึก แต่ไม่เคยที่จะใส่ใจถึงลักษณะของจิตที่คิดถึงเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ ปกติหลงลืมสติปัฏฐาน หรือปกติสติปัฏฐานเกิด

    ผู้ฟัง ถ้าสติปัฏฐานหรือสติสัมปชัญญะไม่เกิดก็เป็นเรื่องที่นึกคิดอกุศลก็เกิดมากมาย

    ท่านอาจารย์ ขณะใดเข้าใจ ขณะนั้นเป็นกุศล ขณะที่ไม่เข้าใจ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญา

    ผู้ฟัง ขณะนั้นถ้าไม่มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็คุยกันเรื่องราวของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ที่มี และกำลังปรากฏ

    อ.วิชัย เกี่ยวกับที่แสดงลักษณะของโทสะว่ามีรากเป็นพิษ มียอดหวาน ถ้ากล่าวถึงรากเป็นพิษก็เห็นโทษของลักษณะของโทสะ ถ้าแสดงถึงยอดหวาน ซึ่งโทสะเกิดมีความพอใจด้วย และส่วนมากจะพิจารณาว่าจะไม่ชอบโทสะ

    ท่านอาจารย์ แต่ส่วนมากพอใจที่จะมี

    อ.วิชัย คือลักษณะของโทสะเป็นสภาพที่ไม่พอใจตามที่ท่านอาจารย์กล่าว แต่ว่ามีฉันทะด้วย รู้สึกว่าจะขัดๆ กัน

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าจริงๆ แล้วสภาพธรรมที่เกิดไม่มีใครยับยั้งได้ แม้แต่ที่ทรงแสดงว่าเวลาที่โทสะเกิดกับจิตก็จะมีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ก็แสดงว่าบุคคลนั้นยังมีฉันทะในโทสะที่จะเกิด มิฉะนั้นแล้วก็ต้องถึงการที่จะดับโทสะเป็นสมุจเฉท เวลาที่โกรธ ชอบ ไม่หยุดเลย ใช่ไหม โกรธนึดหนึ่ง ต่อไปอีก ต่อไปอีกด้วยฉันทะ ก็แสดงว่าต้องมีความชอบในลักษณะนั้นที่จะให้เป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง เท่าที่พิจารณาตอนโกรธ ก็ไม่ค่อยได้คิดว่ามีความพอใจในโกรธขณะนั้น แต่ภายหลังก็จะคิดว่าไม่น่าจะเป็น

    ท่านอาจารย์ ถ้าคน ๒ คนแสดงความคิดเห็น ถ้าความเห็นนั้นต่างกัน ไม่จบ ถ้าจบ คำเดียวที่เป็นโทสะก็หยุดแล้ว แต่ยังมีโทสะที่จะกล่าวถึง แสดงความคิดเห็นด้วยความขุ่นข้องใจต่อไปอีก ต่อไปอีกๆ นั่นคือฉันทะในโทสะ

    ผู้ฟัง ถ้าพอใจที่จะโกรธ ก็คิดว่ามีกำลังมากกว่าโกรธธรรมดา จะสะใจ นึกถึงเวลาที่สะใจที่จะว่าใครสักอย่าง กำลังของโทสะจะมากกว่าธรรมดา

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์ของพระธรรมที่ทรงแสดง คือให้เห็นความจริงว่าเวลาที่เรามีอกุศลเกิดขึ้นเราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า แม้มีฉันทะในอกุศลก็ไม่รู้ แล้วหิริโอตตัปปะจะมาจากไหน เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าหิริโอตตัปปะของเราน้อยมากเพียงขั้นไม่ล่วงศีล ในขณะนั้นก็เป็นหิริโอตตัปปะที่สามารถจะวิรัติจากทุจริต เว้นจากสิ่งที่ไม่ควรจะกระทำ หรือขณะที่กำลังเกิดจาริตศีลคือความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่สมควรจะกระทำ ขณะนั้นก็แสดงให้เห็นว่ามีหิริโอตตัปปะที่ถ้าไม่ทำเราก็รู้สึกว่าไม่สมควร จึงกระทำสิ่งที่สมควรต่อผู้ที่สมควรได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    26 ม.ค. 2567