พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 163


    ตอนที่ ๑๖๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    อ.วิชัย เรียนถามท่านอาจารย์ ได้อ่านในเรื่องของอกุศลกรรม เรื่องของปาณาติบาต และ พยาปาท ท่านจำแนกปาณาติบาตว่าโดยสภาพมีมูล ๒ เพราะเหตุว่าปาณาติบาตท่านมุ่งถึงเจตนา ส่วนพยาปาท ท่านกล่าวถึงว่ามีมูลเดียว ก็เลยเรียนถามท่านอาจารย์ ก็น่าคิดว่า ทำไมทรงแสดงปาณาติบาตจึงมุ่งที่เจตนา ส่วนพยาปาทมุ่งที่ตัวโทสะเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะแสดงให้เห็นว่า สำหรับอกุศลกรรม อย่างไรก็ต้องได้แก่เจตนาเจตสิก แต่การที่เราจะจำแนกว่ากรรมนั้นๆ เป็นทางทวารไหน ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะที่เกิดพยาปาทยังไม่มีเจตนาก็ได้ที่จะทำทุจริต เพราะเหตุว่าถ้ากล่าวถึงปาณาติบาตจะใช้คำว่า วธกเจตนาหมายถึงว่าเจตนาฆ่า เพราะว่าวันหนึ่งๆ ทุกคนก็มีความโกรธระดับต่างๆ กัน ตั้งแต่ขั้นขุ่นนิดหน่อย เกือบจะไม่รู้สึกเลย แม้แต่ในขณะนี้ก็มีได้แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง จนกว่าจะมีกำลังจนถึงปรากฏเป็นความโกรธ และความโกรธที่ปรากฏถึงขั้นพยาบาท หรือว่ามีความโกรธอย่างรุนแรง ที่จะถึงขั้นเป็นอกุศลกรรมบถ ก็หมายความว่า มีความคิดที่จะทำร้าย แต่ว่าการกระทำนั้นก็ยังไม่สำเร็จ แต่ว่า ถ้าคนที่โกรธแล้วคิดที่จะทำร้าย แล้วก็ทำสำเร็จจะเป็นปาณาติบาต ขณะนั้นก็ต้องมีเจตนาที่เป็น "วธกเจตนา" ด้วย แต่เวลาที่เกิดความโกรธ ยังไม่ได้มีเจตนาที่เป็นระดับนั้นก็ยังไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องของเจตนา แต่กล่าวถึงพยาปาทเท่านั้น

    อ.วิชัย ขณะที่ฆ่าสัตว์ อาจจะเป็นกรรมบถที่เป็นพยาบาทได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ การฆ่าก็แสดงไว้ว่า เป็นกายกรรมหรือมโนกรรม ต้องแยก ไม่ได้หมายความว่าการฆ่าทุกครั้งต้องเป็นมโนกรรม เพราะเหตุว่าบางทีเราก็ไม่ได้คิดมาก่อนเลย ว่าจะฆ่า ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็ก จนกระทั่งถึงมนุษย์ก็ตามแต่ แต่บางครั้งบางคนก็มีการตระเตรียม มีแผนการ มีความพยาบาทต้องการที่จะให้ฆ่า และการฆ่านั้นก็สำเร็จ เพราะฉะนั้นการฆ่าที่ประกอบด้วยพยาปาท จึงเป็นมโนทวารเป็นมโนกรรม แล้วแต่ว่าเป็นทางวาจาหรือทางกาย แต่ถ้าเป็นเฉพาะทางกายก็เป็นกายกรรม ไม่ใช่มโนกรรม มีไหมปกติเฉพาะที่เป็นกายกรรม ไม่ใช่มโนกรรม ตบยุงใช่ไหม ก็ไม่ได้คิดมาก่อนเลย ก็บางคนก็อาจจะแก้ตัวว่าพอเจ็บก็ตบ แต่ความจริงแม้ขณะนั้น ก็มีเจตนาเกิดร่วมด้วย และสัตว์นั้นก็ตายด้วย ไม่ใช่มโนกรรม แต่เป็นกายกรรม

    เรื่องธรรมจริงๆ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ต้องเข้าใจว่าในครั้งพุทธกาล ผู้ที่มีโอกาสได้เฝ้าได้ฟังพระธรรม เป็นผู้ที่ได้สะสมปัญญามากพอ ที่จะเข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดง และก็จะสังเกตเห็นได้ว่า ผู้ที่ไปเฝ้าฟังพระธรรม จุดประสงค์ของพระองค์ คือให้คนมีความเข้าใจถึงลักษณะของสภาพธรรมจนสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ถ้าผู้นั้นอบรมเจริญปัญญามาแล้ว ไม่ว่าจะกล่าวเรื่องจิต ผู้นั้นก็สามารถที่จะเข้าใจ ใช้คำว่า “วิญญาณ” หรือจะใช้คำว่า “วิญญาณขันธ์” ก็มีอยู่ทุกขณะ เมื่อมีอยู่ เมื่อมีผู้ที่กล่าวถึงลักษณะนั้น สภาวธรรมนั้น ก็สามารถที่จะเข้าใจในความเป็นอนัตตาได้ คือไม่ต้องไปติดที่คำ แล้วก็ไปพยายามขวนขวายที่จะรู้สิ่งซึ่งเราไม่สามารถจะรู้ได้โดยทั่วถึง เราสามารถจะรู้ได้เพียงบางสิ่ง บางอย่าง บางประการ แต่ความคิดของเราจากคำที่เราได้ยินจะกว้างจะไกล แต่เราสามารถที่จะเข้าใจได้หรือไม่ เราสามารถที่จะเข้าใจบางส่วน แต่ส่วนที่เป็นประโยชน์ที่สุดก็คือว่า ไม่ใช่ฟังเพียงเรื่องของสภาพธรรมโดยที่ทุกขณะเป็นสภาพธรรมซึ่งตรงกับที่ทรงแสดง เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ของพระองค์ ก็คือทรงแสดงเพื่อให้เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่ตัวตน จนกว่าจะสามารถประจักษ์แจ้งความจริงนั้นได้ แต่ทุกอย่างที่เราได้ยินได้ฟัง จะเห็นได้ว่าจะละเอียดขึ้นสำหรับผู้ที่ท่านรู้ทั้งหมด ท่านจะกล่าวโดยนัยหลากหลาย ท่านที่เป็นพระอรหันต์ด้วยกันจะกล่าวคำใด พระอรหันต์อีกรูปหนึ่งท่านก็จะสามารถเข้าใจในอรรถของคำที่ได้กล่าวนั้น แต่ถ้าผู้ที่ไม่ใช่ปัญญาระดับนั้น ความเข้าใจก็จะตื้น และก็จะลึกต่างกันด้วยตามระดับขั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่มีคำที่จะผ่านพบในพระไตรปิฎกมาก ก็จะต้องค่อยๆ ศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมเพียงเท่าที่จะเข้าใจได้ แต่ถ้าจะเข้าใจถึงระดับของพระอรหันต์ทั้งหลายในยุคนั้นที่เมื่อท่านกล่าวถึงคำใด ท่านก็เข้าใจโดยนัยหลากหลายก็เป็นสิ่งซึ่งเรารู้ได้ว่า ปัญญาของเราไม่ถึงระดับนั้น

    อ.วิชัย อีกส่วนหนึ่ง ก็คือเรื่องของ “วิตก” ทรงแสดงวิตกไว้ ๓ คือกามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก ความต่างกัน คือ พยาปาทวิตก กับวิหิงสาวิตกเป็นลักษณะคล้ายๆ โทสะ ลักษณะของ ๒ อย่างนี้จะต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นโทสะ เพราะว่าจริงๆ แล้วถ้ากล่าวถึงพยาปาทในภาษาไทยพอเราได้ยินแล้วรู้สึกว่าแรง มีกำลังมาก ไม่ใช่เพียงขั้นโกรธ แต่พยาบาทด้วย นี่คือเราเข้าใจความหมายในภาษาไทย แต่ถ้าอย่างละเอียด เราก็จะรู้ได้ว่าความโกรธต่างระดับ เราจะเอาคำไหนมาใช้ แต่แม้ว่าเราจะใช้คำที่แสดงถึงความโกรธต่างระดับก็จริง จะตรงกับที่เราคิดหรือเปล่า หรือว่ามีความที่ละเอียดต่างกันไปอีก อย่างพระโสดาบันละพยาปาทที่เป็นมโนกรรมหรือไม่

    อ.วิชัย ยัง

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม แล้วเราจะไปคิดว่าพระโสดาบันจะพยาบาทระดับไหน นี่ก็เป็นความต่างกัน การเบียดเบียนก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงว่าเมื่อมีโทสะถึงระดับนั้น ก็ต้องใช้อีกคำหนึ่งให้รู้ว่าไม่ใช่เป็นแต่เพียงพยาปาท

    ผู้ฟัง กรณีที่เราจำความไม่ดีที่คนอื่นเขาปฏิบัติต่อเรา ไม่ลืม แต่ว่าไม่พยาบาทอันนั้นจะเรียกว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ ต้องการเรียกหรือว่าความจริงเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ความจริงเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ความจริงเป็นอย่างนั้น จำ ก็คือจำ เพราะว่าคุณวิจิตรก็บอกเองใช่ไหม ว่าไม่พยาบาท หมายความว่าเวลาที่เราจำได้ และก็คิดถึงเรื่องนั้นจิตอะไรที่คิด เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลนี่ก็ประการหนึ่ง โกรธหรือเปล่า หรือยังขุ่นใจ มากหรือน้อย นั่นอีกเรื่องหนึ่ง หรือว่าคิดถึงจำได้ แต่ว่าไม่เหมือนกับตอนที่เราได้ยินแล้วโกรธมากในขณะนั้น เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องจริง เพียงแต่คำจะมีมากหลากหลายที่จะทำให้เราค่อยๆ พิจารณาว่าเมื่อสภาวธรรมเป็นอย่างนั้น แต่การที่จะมีคำอื่นที่กล่าวถึงก็ต้องแสดงถึงระดับขั้น เหมือนอย่างวิตกที่คุณวิชัยกล่าวถึงเมื่อสักครู่นี้ วิตกเกิดกับสัมปฏิจฉันนจิต หลังจากที่จิตเห็นดับแล้ว จิต ๑๐ ดวง ไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพราะเป็นการประจวบกันของสภาพธรรม โดยกรรมเป็นปัจจัยที่จะให้แม้จักขุปสาทก็ยังไม่ดับ รูปที่เกิดซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะก็ยังไม่ดับ แล้วกระทบกัน เป็นกาลที่จะต้องมีจิตเห็นซึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วก็ทำให้เกิดวิถีจิตซึ่งเป็นจิตเห็นเกิดขึ้น ขณะที่เห็นขณะนั้น ไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่จิตที่เกิดก่อนปัญจทวาราวัชชนจิตก็มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้สัมปฏิจฉันนจิตที่เกิดต่อก็มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่จะเป็นสัมมาสังกัปปะเหมือนอย่างมรรคมีองค์ ๘ หรือไม่ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความต่างระดับ ว่าแม้จะเป็นวิตกเจตสิก มีชื่อหลายอย่างก็ต้องเข้าใจตามความหมายด้วย วิตกเจตสิก ใครก็เปลี่ยนสภาพของวิตกเจตสิกให้เป็นวิจารเจตสิก หรือเจตสิกอื่นไม่ได้ วิตกเจตสิกก็เป็นวิตกเจตสิก แต่เกิดเมื่อไร กำลังรู้อารมณ์อะไร ประกอบด้วยเจตสิกระดับไหน เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจเวลาที่ใช้สัมมาสังกัปปะ เราก็ไม่ได้ไปคิดถึงวิตกที่เกิดกับสัมปฏิจฉันนะ หรือวิตกที่เกิดกับปัญจทวาราวัชชนจิต ขณะนี้มีวิตกเจตสิกหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็มีสลับไปบ้าง

    ท่านอาจารย์ มีเมื่อไร หลังจากเห็นแล้ว จิตที่เกิดต่อมีวิตกเจตสิก ขณะนั้นเป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับสติสัมปชัญญะหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องไปคิดถึงชื่อสัมมาสังกัปปะ เพราะเหตุว่า ตอนนั้นที่ใช้สัมมาสังกัปปะเพราะเกิดร่วมกับ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสติ และมรรคมีองค์อื่น

    ผู้ฟัง สรุปแล้ววิตกจะเป็นโลภะก็ได้

    ท่านอาจารย์ วิตกเป็นโลภะไม่ได้ วิตกเป็นเจตสิกที่ตรึกจรดในอารมณ์ ไม่ว่าจะเกิดเมื่อไหร่ ถ้าพูดถึงวิตกเจตสิก ต้องรู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตได้เกือบทั้งหมดเว้นจิตอะไรบ้างเท่านั้น

    อ.อรรณพ คุณวิชัยได้กล่าวว่า สังกัปปะหรือวิตกเกิดกับจิตได้กี่ประเภทบ้าง เพราะว่าคงจะไม่ใช่เฉพาะกับโลภะอย่างเดียว

    อ.วิชัย วิตกเจตสิก ก็คือเว้นไม่เกิดกับทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง

    อ.อรรณพ ระดับของวิตกนั้นก็แล้วแต่ว่าจะไปเกิดกับอกุศลจิตประเภทใด และมีกำลังมากกำลังน้อยอย่างไร ทำให้หลากหลายเป็นกามวิตกบ้าง ก็คือวิตกที่เกิดกับโลภมูลจิต พยาปาทวิตก เกิดกับโทสมูลจิต และก็วิหิงสาวิตกก็เกิดกับโทสมูลจิต แต่ว่าตรึกไปถึงการเบียดเบียนซึ่งในเรื่องความต่างกัน คุณวิชัยก็ได้เรียนถามท่านอาจารย์แล้ว ถามคุณธิดารัตน์ ว่าถ้าเป็นพยาปาทที่มีกำลังน้อยจะมีลักษณะอย่างไร อย่างพระโสดาบันท่านก็ไม่มีจิตที่คิดจะฆ่า หรือทำร้ายถึงขนาดที่จะล่วงอกุศลกรรมบถ แต่ว่าพยาปาทที่เป็นมโนกรรมยังมีอยู่อย่างไรบ้าง

    อ.ธิดารัตน์ ที่เราโกรธ เรียกว่าโทสะ คือแสดงออกไปเลย แต่หลังจากนั้นมีการคิดถึงเรื่องนั้น และก็ยังไม่พอใจบุคคลนั้นอยู่ ก็เรียกว่าเริ่มที่จะเป็นพยาปาท แต่ถ้ามีกำลังมากๆ เริ่มคิดที่จะปองร้ายเขา และถ้ามีการล่วงออกมามากกว่านั้นอีก มีการกระทำ เช่นคิดจะไปว่าเขา เมื่อใดที่มีการเบียดเบียนเขาด้วยวาจาจริงๆ ตรงนั้นก็เรียกว่าสำเร็จแล้วเป็นพยาปาททางมโนกรรม และก็ล่วงทางวจีกรรม แต่ถ้ามีการคิดปองร้ายเขา แต่ไม่ได้ล่วงทางวาจาต่างๆ ก็เป็นเพียงแค่ความคิดอยู่ เรียนถามท่านอาจารย์ ว่าไม่ได้ล่วงทางกายวาจา จะเป็นการสำเร็จเป็นกรรมหรือไม่ ถ้าเพียงแค่คิด

    ท่านอาจารย์ ก็มีองค์ของอกุศลกรรมบถทั้งหมด ว่าเป็นกรรมประเภทไหน

    อ.ธิดารัตน์ พยาปาท ถ้าพูดถึงตามองค์ก็จะมีแค่องค์ ๒ เท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ องค์ ๒ เกิดแล้วใช่ไหม และทำอะไรหรือเปล่า

    อ.ธิดารัตน์ ยังไม่ได้ทำ

    ท่านอาจารย์ ก็แสดงให้เห็นว่าองค์ ๒ ก็จะทำให้เราสามารถที่จะรู้ว่า กรรมนั้นเป็นกายกรรมหรือเป็นมโนกรรม

    ผู้ฟัง พยาปาทกับผูกโกรธ และปริยุฏฐานกิเลส เรียนถามท่านอาจารย์กิเลสทั้ง ๓ ขั้นตอน

    ท่านอาจารย์ เวลาที่พูดถึงชื่อ ไม่ทราบเพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่เกิดกับเราหรือว่าต้องการจะเรียกชื่อ อย่างเวลาที่เกิดขุ่นใจ เอ๊ะ! นี่ชื่ออะไรนะ ชื่อปฏิฆะ หรือว่าชื่อโทสะ หรือว่าเป็นพยาปาท และยังมีชื่ออื่นอีก วิหิงสาหรือเปล่า ก็เป็นการที่พยายามจะคิดถึงชื่อ จริงๆ แล้วแม้แต่ลักษณะของโทสะมี เรารู้หรือไม่ เรารู้เพียงชื่อหรือว่าเรารู้ลักษณะ โดยที่ว่าไม่คำนึงถึงชื่อเลย ถ้าลักษณะที่ขุ่นใจไม่สบายใจเกิดขึ้น เรารู้แล้วว่า ถ้าจะคิดถึงเวทนา เวทนาขณะนั้นตรงข้ามกับโสมนัสหรืออุเบกขา แต่ว่าเป็นความไม่สบายใจเลย เพราะเหตุว่า ในขณะนั้นมีความขุ่นใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม ถ้าเราโกรธมากกว่านั้นอีก เราจะนึกถึงชื่อไหม ว่าเปลี่ยนชื่อหรือยังจากโทสะมาเป็นพยาปาทหรือยัง หรือรู้ว่าลักษณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นลักษณะอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นใดๆ ก็ตามที่ลักษณะที่ประกอบด้วยความรู้สึกที่ไม่สบายใจทั้งหมด พอกลัว เอ๊ะ! นี่อะไร จะชื่อปฏิฆะหรือว่าจะชื่อโทสะ หรือจะชื่อพยาปาท ไม่สำคัญเลย เพราะเหตุว่า เรามัวกังวลหรือว่าคิดถึงเรื่องชื่อ แต่การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมลืมไม่ได้เลยว่าในสมัยก่อนโน้น ๒๕๐๐ กว่าปี ผู้ฟังเข้าใจ เพราะเหตุว่ามีลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏ ไม่ว่าจะใช้ชื่อใด จะใช้ว่าปฏิฆะ พยาปาท วิหิงสา ก็คือลักษณะของโทสะ ถ้าเป็นอย่างนี้ ขณะที่โทสะกำลังเกิด มีลักษณะที่จะให้รู้ว่าลักษณะนั้นไม่ใช่เรา ลักษณะนั้นต่างกับลักษณะอื่น เพราะฉะนั้น ก็เป็นเพียงสภาพธรรมลักษณะหนึ่งเท่านั้น ที่กว่าเราจะคุ้นเคยว่าไม่ใช่เรา เพราะเป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นจะไม่มีชื่อ เพราะว่าเราคุ้นกับชื่อ กับคิดเรื่องชื่อ แต่ว่าเราไม่ได้คุ้นกับลักษณะ

    เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้เราก็สามารถจะรู้ความต่างว่า การศึกษาธรรมเพื่อเข้าถึงลักษณะธรรมที่เป็นอนัตตาที่ไม่ใช่เรา เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปี ก็คงมีผู้ที่ได้ไปเฝ้า และได้ฟังพระธรรม แต่ความเข้าใจลักษณะของธรรมจะมีมากน้อยแค่ไหน จะติดตามมาจนกระทั่งถึงแม้ได้ยินได้ฟังอีก มีความเข้าใจในลักษณะของสภาวธรรมนั้นว่าเป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน หรือจะพะวงเรื่องชื่อ เหมือนอย่างที่เคยได้ฟังชื่อต่างๆ มาตั้งเป็นพันๆ ปีก็ได้ เพราะฉะนั้น ดิฉันคิดว่าถ้าเรามีความรู้เวลาที่เราอ่านพระธรรม ได้ยินชื่อต่างๆ รู้ว่านี่เป็นโทสะ หรือว่าได้ยินชื่อต่างๆ และก็รู้ว่านี่ไม่ใช่โทสะ แต่เป็นวิตก เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง หรือว่าอีกประการหนึ่ง นั่นไม่ใช่วิตก นี่เป็นวิจาร หรือว่านั่นเป็นโลภะ หรือนั่นเป็นมัจฉริยะ นั่นคือเราเรียกชื่อภาษาบาลี แต่ลักษณะนั้นไม่มีว่าจะต้องเป็นภาษาไหนเลย ถ้าเกิดริษยาต้องใช้คำในภาษาบาลีหรือเปล่า เอ๊ะ! นี่ชื่ออิสสา ไม่ต้องนึกถึงเลย เพราะลักษณะนั้นก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นลักษณะที่อิสสา ในภาษาบาลี ถ้าจะใช้คำในภาษาไทย บางคนอาจจะใช้คำว่า อิจฉา แต่ความจริงแล้วถ้าเป็นภาษาบาลี อิจฉาเป็นลักษณะของโลภะ นี่ก็คือ การที่จะต้องเข้าใจในคำที่ได้ยิน แต่ลึกกว่านั้น ก็คือว่าเข้าใจในลักษณะซึ่งเราผ่านไปเรื่อยๆ เพราะว่าเรามัวคิดถึงชื่อ

    เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะนี้เราจะเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าจะคิดถึงคำที่ได้ยินเช่นคำว่า “อนุสัย” หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายไม่ดีที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุทเฉจ เมื่อได้ยินอย่างนี้ ความเข้าใจของเราคิดได้ ไตร่ตรองได้ว่า หมายความถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ดีที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุทเฉจ ถ้าอย่างนั้น ขณะเกิดขณะแรก คือขณะปฏิสนธิจิตที่ทำปฏิสนธิกิจนั้น มีอนุสัยไหมใช่หรือไม่ เราจะได้เข้าใจความหมายของ "อนุสัย" ด้วย เวลาที่เรานอนหลับสนิทมี "อนุสัย" หรือไม่ เวลาที่กุศลจิตเกิด มี "อนุสัย" หรือไม่ ถ้าเข้าใจความหมายว่าเป็นสภาวธรรมที่สะสมในจิตพร้อมที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลเจตสิก ทำกิจการงานของอกุศลนั้นๆ ร่วมกับอกุศลจิต เพราะว่า จิตเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ จะรู้ได้ว่าจิตนั้นเป็นจิตประเภทใด ก็ด้วยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยประการหนึ่ง หรือด้วยกิจประการหนึ่ง หรือโดยชาติ เพราะเหตุว่าแม้สติเป็นกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี ถ้าจะถือว่าสติเกิดกับจิตแล้วจะรู้ว่าเป็นกุศล แต่ในขณะต่อไปที่ศึกษามากขึ้น เราก็จะรู้ว่าแม้กิริยาจิตของพระอรหันต์หรือว่าวิบากจิตก็มีสติเจตสิก แต่ว่าความต่างกันของสติที่เกิดกับวิบากจิตขณะหลับสนิท กับความต่างกันของสติเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต นี่ก็จะได้เห็นว่าขณะที่นอนหลับสนิท แม้ว่าจะมีโสภณเจตสิกเกิดแต่เป็นชาติวิบาก และเนื่องจากอารมณ์นั้นไม่ได้เป็นอารมณ์ที่รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อารมณ์นั้นจึงไม่ปรากฏ และเราก็จะรู้ว่าตราบใดที่ โลกุตตรจิตยังไม่ได้เกิด ยังไม่ดับกิเลสเป็นสมุทเฉจตามลำดับขั้น "อนุสัย" ก็ยังมีอยู่

    ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เรายังต้องกังวลไหมในชื่อ "อนุสัย" หรือว่าเมื่อไหร่เป็น "อนุสัย" แต่ว่าขณะใดก็ตามที่อกุศลเจตสิกเกิดร่วมกับจิตเป็นอกุศลจิต ขณะนั้นเป็น "ปริยุฏฐานกิเลส" ไม่ใช่ "อนุสัย" แล้ว เพราะเหตุว่า "อนุสัย" สะสมอยู่ในจิตเป็นปัจจัยที่จะทำให้อกุศลเจตสิกเกิดร่วมกับจิต เพราะว่าสภาพธรรม มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ แต่สะสมสืบต่อในขณะต่อๆ ไปไม่สิ้นสุดเลย เพราะเหตุว่าเมื่อจิตขณะหนึ่งเกิด และดับไปแล้วก็เป็นอนันตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสำหรับอนันตรปัจจัยของพระโสดาบันซึ่งดับทิฏฐานุสัย ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนแล้ว จิตขณะต่อไปของพระโสดาบันก็ไม่มี "อนุสัยกิเลส" นั้นเพราะเหตุว่าดับไปแล้ว

    นี่ก็เป็นเรื่องที่เราเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมกับเหตุผลก็คงจะพอ เพราะเวลาที่ได้ยินคำต่างๆ เราก็จะได้รู้ว่าที่มีคำอื่นก็เพราะเหตุว่าขณะนั้นมีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันต่างระดับขั้น เช่น สัญญา พอเห็นก็จำได้เลย สัญญาเกิดกับจักขุวิญญาณ เมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว สัญญาก็เกิดกับสัมปฏิจฉันนะ เมื่อสัมปฏิจฉันนะดับไปแล้ว สัญญาก็เกิดร่วมกับสันตีรณะ เพราะเหตุว่าสัญญาต้องเกิดกับจิตทุกขณะ สัญญานี้จะเป็นอนัตตสัญญาได้หรือไม่ ในเมื่อยังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยการประจักษ์แจ้งความเป็นธาตุในความไม่ใช่ตัวตน ก็จึงมีคำที่แตกแยกออกไป ที่จะให้เข้าใจลักษณะของสัญญาต่างๆ ซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะว่าสัญญานั้น เป็นสัญญาประเภทใดหรือว่าขณะที่กำลังมีวิริยะเกิดร่วมด้วยกับสัญญา โดยที่ว่าลักษณะของวิริยะก็ไม่ได้ปรากฏ ลักษณะของเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ถ้าสติสัมปชัญญะไม่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมใด สภาพธรรมนั้นไม่ได้ปรากฏ แม้เกิดแล้วก็ดับแล้ว อย่างพูดถึงผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิก เราได้ยินบ่อยๆ แต่ไม่ได้ปรากฏลักษณะของสภาพธรรมใดในขณะเห็น ขณะนี้ที่กำลังเห็น มีลักษณะของผัสสเจตสิกปรากฏหรือไม่ มีลักษณะของสัญญาเจตสิกปรากฏหรือไม่ มีลักษณะของเจตนาเจตสิกปรากฏหรือไม่ ก็จะเห็นได้ว่าสัญญาเจตสิกที่เกิดกับจิตประเภทหนึ่งก็ใช้คำอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดกับจิตประเภทอื่นที่มีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย ก็จะมีสัญญาชื่อต่างๆ เพิ่มขึ้นมาอีกได้ ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่จะเข้าใจได้ว่า ถ้าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแล้ว เวลาที่ได้ยินชื่อต่างๆ ก็หมายความถึง ลักษณะของสภาพธรรมนั้นเลย แล้วเวลาที่เราโกรธมาก เราจะต้องมานึกหรือไม่ว่านี่เป็นพยาปาท หรือว่านี่เป็นโทสมูลจิต แต่ว่าลักษณะจริงๆ ขณะนั้นก็ควรที่จะได้รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา แต่ว่าความต่างระดับก็ทำให้มีชื่อต่างๆ แต่เราจะมาเจาะจงรู้ว่าแล้วขณะนี้เป็นปฏิฆะ หรือเป็นโทสะ หรือว่าเป็นพยาปาท ใครสามารถที่จะบอกได้ในเมื่อลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น แล้วความหมายของพยาปาทก็ต่างระดับด้วย แม้ว่าจะใช้พยาปาทสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระโสดาบันหรือพยาปาทสำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ลักษณะของ พยาปาท ก็คือโทสะแต่ก็ต่างขั้น ต่างระดับ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567