พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 131


    ตอนที่ ๑๓๑

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วัน อาทิตย์ที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ข้ามพยัญชนะหนึ่งพยัญชนะใดเลย เรียน ฟัง เรื่องสิ่งที่ปรากฏเพื่อให้รู้ตัวเองตามความเป็นจริงว่ามีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังในเรื่องของสิ่งที่ปรากฏจริงๆ มากน้อยแค่ไหน นี้คือการอบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นการละโลภะไปในตัว เพราะเหตุว่าไม่ได้ไปทำพยายามให้ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นก็คือประโยชน์ของการฟัง ให้ทราบว่าสะสมความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏให้มั่นคงขึ้นให้เป็นสัจจญาณ และไม่ต้องห่วงเรื่องกิจจญาณคือสติสัมปชัญญะจะค่อยๆ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจนประจักษ์แจ้งได้

    ผู้ฟัง สิ่งที่กำลังปรากฏนั้นเป็นสภาวะธรรม ตามความเป็นจริง แต่สติสัมปชัญญะระลึกไม่ถึงตรงจุดนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอย่าไปกังวลถึงเรื่องไม่ปรากฏกับสติสัมปชัญญะ ต่อเมื่อใดมีความเข้าใจขึ้น เป็นเหตุให้ที่จะทำให้มีความเข้าใจพร้อมสติสัมปชัญญะโดยไม่ต้องเรียกชื่อเลย อย่างเหมือนแข็ง เวลาที่กระทบแล้วแล้วจิตก็เกิดขึ้นรู้แข็ง จะมีสติเกิดรู้ต่อหรือไม่มีสติเกิดรู้ต่อ ก็เพราะอาศัยความเข้าใจในเรื่องของลักษณะสิ่งนั้นว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง คำว่า “สิ่งที่กำลังปรากฏ” คำนี้คำเดียวก็ระลึกได้ยากมาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกังวล ก็ค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้น เช่น ทางตาก็ขอให้มีความเข้าใจทีละนิดทีละหน่อยว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ค่อยๆ เข้าใจอย่างนี้แล้ววันหนึ่งจะรู้ว่าขณะนั้นกำลังมีการเข้าใจลักษณะที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง คือไม่เป็นเช่นนั้น เพราะจะเป็นสัตว์เป็นตัวตนบุคคลอยู่เสมอ

    ท่านอาจารย์ คุณสุกิจมีมีดเล่มใหญ่จะทำให้บางลงได้อย่างไร รวดเร็วทันใจหรือไม่ แล้วมีดทางตาเล่มใหญ่นั้นใหญ่มากเพียงไหน ขณะนี้ก็คือความจริง ธรรมจริง และก็ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมต้องเป็นผู้ตรง ถ้าไม่ตรงเอนไปเอนมาทางโน้นทางนี้ไม่รู้ว่าปัญญาที่อบรมคือเพื่อรู้จริงๆ ประจักษ์แจ้งจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นจะรู้จริงก็ในขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อบรมความเข้าใจถูก ความเห็นถูกไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง จะพิจารณาลักษณาทิจตุกะของแต่ละอย่าง

    ท่านอาจารย์ จะพิจารณาหรือฟังแล้วเข้าใจขึ้นๆ ไม่กังวลเลย อกุศลจิตเกิดก็เกิดแล้ว และก็มีปัจจัยจึงเกิดด้วย และปัจจัยของอกุศลก็มากด้วย และไม่ใช่ว่าอกุศลก็ไม่ดับ อกุศลก็ดับ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ คือฟัง และรู้ว่าขณะนั้นที่เข้าใจก็ขณะหนึ่ง เวลาที่ไม่ได้คิดถึงธรรม ไม่เข้าใจธรรมก็เป็นอีกขณะหนึ่ง เวลาที่อกุศลจิตเกิดก็เป็นของธรรมดา เพราะว่ามีเหตุที่จะเกิดก็เกิดๆ แล้วก็ดับไป แล้วก็มีการคิดที่เป็นกุศลเกิดต่อก็ได้ถึงเรื่องธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ก็เป็นปกติไม่เดือดร้อนเลย แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดก็มีความมั่นคงว่า ขณะนั้นก็เป็นธรรม แล้วก็มีการที่จะเข้าใจลักษณะของธรรมนั้นจากการฟัง และการไตร่ตรองเพิ่มขึ้นด้วย

    ผู้ฟัง โยนิโสกับอโยนิโส จะรวมกับจิตที่เป็นกุศลกับจิตที่เป็นอกุศลทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ด้วยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ โดยมากทุกคนอยากจะได้ชื่อเพื่อไปเรียก ว่า เวลาที่วิบากจิตเกิดจะเรียกอะไร ถ้าเป็นอกุศลวิบากจะเรียกว่าอโยนิโสมนสิการ หรือเวลาที่เป็นกุศลวิบากจะไปเรียกว่าโยนิโสมนสิการได้หรือไม่ อยากจะเรียกให้ถูก แต่ว่าตามความเป็นจริงเพียงแค่ความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าเวลาที่จิตเป็นอกุศลต่างกับขณะที่เป็นอกุศลวิบากหรือไม่ ต้องต่างกัน อกุศลวิบากเกิดเพราะกัมมปัจจัย ถ้าไม่มีกรรมเป็นปัจจัย อกุศลวิบากก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นภาวะฐานะของอกุศลวิบากเพียงไหน จักขุวิญญาณเพียงเห็น โสตวิญญาณเพียงได้ยิน ฆานวิญญาณเพียงได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณพียงลิ้มรส กายวิญญาณเพียงรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะก็เพียงรู้สิ่งที่กำลังเป็นอารมณ์สืบต่อ สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อจากทวิปัญจวิญญาณ สันตีรณะก็เป็นวิบากที่เกิดจากกรรมที่ทำให้มีอารมณ์นั้นสืบต่อจากสัมปฏิจฉันนะ เราจะต้องไปคิดถึงโยนิโส อโยนิโสมนสิการที่เกิดกับวิบากหรือไม่ ถ้าเรามีความเข้าใจจริงๆ ว่าวิบากก็เท่านั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยโดยฐานะที่เป็นวิบากแล้วก็ดับไป ยังจะต้องไปพะวงว่าเรียกมนสิการที่เกิดกับอกุศลวิบากว่าอะไร จะไปเรียกมนสิการที่เกิดกับกุศลวิบากว่าอะไร เพราะโดยฐานะ เช่น มหาวิบากซึ่งเป็นผลของมหากุศล หรือถ้ากล่าวโดยระดับของภูมิก็คือกามาวจรวิบากทำกิจปฏิสนธิ ขณะนั้นรู้ตัวหรือไม่ในขณะที่จิตเกิดขึ้นทำกิจปฏิสนธิสืบต่อจากจุติของชาติก่อน แล้วยังไปห่วงว่าขณะนั้นจะเป็นโยนิโสมนสิการหรืออโยนิโสมนสิการ ในเมื่อจริงๆ แล้วเราสามารถที่จะเห็นความต่างของโยนิโส และอโยนิโส เมื่อเป็นกุศลจิต และอกุศลจิต

    ผู้ฟัง แต่ถ้าหากเป็นการเข้าใจธรรม ขณะนั้นก็เป็นการโยนิโสมนสิการเพราะมีปัญญาเกิดร่วมด้วย หรือไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยเพียงในขั้นทานขั้นศีล ถ้าพูดถึงก็เท่านี้แล้วก็ดูเสมือนว่าผมเข้าใจเฉพาะชื่อ และเรื่องหัวข้อเท่านั้นเอง ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเลย ลักษณะของโยนิโสมนสิการก็ไม่ปรากฏกับกระผมเลย

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของสภาพธรรมจะปรากฏกับอะไร

    ผู้ฟัง ก็จะต้องปรากฏกับสติสัมปชัญญะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจว่ามนสิการเท่าที่ได้ฟังมาทั้งหมดคืออะไร นั่นก็คือเข้าใจถูก

    ผู้ฟัง แต่ว่าสภาพธรรมจริงๆ นั้นก็ยังไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม เพื่อที่จะได้มีการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะรู้แน่ๆ ว่าขณะนี้จิต เจตสิก ทั้งหมดเกิดดับเร็วมาก โดยที่ว่าถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดก็จะไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง จิตซึ่งเป็นปรมัตถธรรมคิดถึงเรื่องราวที่เป็นปรมัตถธรรมจริงๆ ได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ จิตคิดได้ทุกอย่าง จิตรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง

    ผู้ฟัง แต่ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะจิต คือ ปัณฑระ ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก

    ผู้ฟัง เรื่องราวที่คิดนั้นเป็นการที่น้อมที่จะไปเข้าใจในสภาพธรรมต่างๆ จิตก็อาจจะเป็นกุศลได้

    ท่านอาจารย์ ก็ยังไม่ได้ระลึกที่ลักษณะ

    ผู้ฟัง ต้องระลึกลักษณะของจิต

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่มีลักษณะหนึ่งลักษณะใดปรากฏกับสติสัมปชัญญะ ขณะนั้นปัญญาก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่าขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่หลงลืมสติ

    ผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจธรรมหรือไม่เข้าใจธรรม ในทาน ในศีล หรือ เป็นกุศล อกุศลต่างๆ ก็ต้องอาศัยสติระลึกของจิตที่คิดถึงเรื่องราวจึงจะรู้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศลใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมมี สภาพธรรมไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมก็เป็นเพียงแต่ความคิดว่าไม่ใช่เรา แต่ยังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาจริงๆ โดยมากต้องเข้าใจความต่างศึกษาธรรมกับศึกษาเรื่องตัวเอง ถ้าศึกษาธรรมจะไม่มีเราตรงนั้นตรงนี้เลย แต่จะมีความเริ่มที่จะเข้าใจว่าขณะนี้มีจริงๆ สิ่งที่มีจริงมีลักษณะที่ต่างกันอย่างไรขณะนั้นคือศึกษาธรรม แต่ถ้าศึกษาเรื่องราว วันนี้เรามีอกุศลหรือไม่ มิทิฏฐิหรือไม่ และขณะนั้นเป็นอสังขาริก และสังขาริกด้วย ขณะนั้นคือศึกษาเรื่องตัวเรา ศึกษาตัวเอง ไม่ได้ศึกษาธรรม

    ผู้ฟัง ไม่รู้ว่า ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศลก็เป็นเพียงเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดก็จะไม่มีลักษณะของปรมัตถธรรมให้เข้าใจถูกต้องว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง เรียนถามถึงเรื่องวิถีปฏิปาทกมนสิการเปรียบเทียบกับชวนปฏิปาทกมนสิการ ยังไม่เข้าใจเรื่องชาติของจิต ถ้าหากว่าวิถีเป็นชาติกุศล แล้วชวนปฏิปาทกนี้ต้องเป็นชาติกุศลด้วยหรือไม่

    อ.อรรณพ สำหรับวิถีปฏิปาทกมนสิการ และชวนปฏิปาทกมนสิการเป็นกิริยาจิต สำหรับวิถีจิต เช่น ทางตา หลังจากภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว จิตขณะแรกของวิถีจิตทางตาก็คือปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นจิตชาติกิริยา จิตนี้เป็นบาทเฉพาะแก่การที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา เพราะฉะนั้นปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นจิตชาติกิริยา ตัวจิตเป็นวิถีปฏิปาทกมนสิการ มนสิการเจตสิกซึ่งเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวงก็ต้องเกิดกับจิตดวงนี้ด้วย ซึ่งมนสิการเจตสิกที่เกิดกับปัญจทวาราวัชชนจิตก็เป็นอารัมมณปฏิปาทกมนสิการ

    ผู้ฟัง ศึกษาให้รู้ว่าธาตุมีจริง ธาตุในที่นี้ไม่ทราบว่าเป็นธาตุอะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ทุกๆ ธาตุ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธาตุ เหมือนกับสิ่งที่มีจริงก็จะต้องมีลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้นๆ

    ผู้ฟัง ธาตุในที่นี้เป็นปฐพีธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นธาตุ โลภเป็นธาตุได้หรือไม่

    ผู้ฟัง โลภะก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ โทสะเป็นธาตุได้หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิกใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ โลภะ โทสะเป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง ผู้ที่จะรู้แจ้งจริงต้องตรง "ตรง" ในที่นี้ขอท่านอาจารย์ช่วยบรรยายความละเอียด

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ถ้าจะรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง จะรู้อะไร

    ผู้ฟัง รู้สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นเพียงแต่ธาตุ

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นคือตรง มีสิ่งที่กำลังปรากฏ และเมื่อปัญญารู้ ก็ต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ จะไปรู้สิ่งอื่นได้อย่างไร ถ้ารู้สิ่งอื่นก็ไม่ตรง

    อ.วิชัย ขอทบทวนสำหรับมนสิการ ๓ อย่าง ได้แก่ "อารัมมณปฏิปาทกมนสิการ" หมายถึงมนสิการเจตสิก เมื่อมนสิการเจตสิกเกิดขึ้นก็ต้องเป็นปัจจัยแก่จิตที่เกิดพร้อมกันรวมถึงเจตสิกด้วย โดยเป็นปัจจัยในการเกิดพร้อมกัน ฉะนั้นโดยลักษณะของมนสิการคือมุ่งตรงต่ออารมณ์ คือใส่ใจสนใจต่ออารมณ์ที่ปรากฏขณะนั้น ส่วน"วิถีปฏิปาทกมนสิการ" ก็หมายถึงปัญจทวาราวัชชนจิตๆ เป็นวิถีจิตแรกทางปัญจทวาร เช่น วิถีจิตทางตา ก่อนที่จักขุวิญญาณจะเกิด ต้องมีวิถีปฏิปาทกมนสิการก่อน เพราะถ้าไม่มีจิตประเภทนี้ วิถีจิตทางตาก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ จักขุวิญญาณจะเกิดขึ้นต่อจากภวังคจิตไม่ได้ ต้องมีวิถีจิตแรกที่จะเป็นทางให้วิถีจิตหลังๆ เกิดขึ้นก็คือปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นวิถีจิตทางตา ก็จะเรียกตามทวาร คือ จักขุทวาราวัชชนจิต ส่วน "ชวนปฏิปาทกมนสิการ" หมายถึงเป็นจิตประเภทหนึ่งที่เป็นทางให้ชวนจิตเกิด คือเกิดก่อนชวนจิตจะเกิดขึ้น ได้แก่มโนทวาราวัชนนจิต ถ้ามโนทวาราวัชนนจิตเกิดทางปัญจทวารจะทำโวฏฐัพพนกิจ แต่ถ้าเกิดทางมโนทวารจะทำอาวัชชนกิจ ฉะนั้นการเกิดขึ้นของมโนทวาราวัชชนะแล้วแต่ว่าจะเกิดขึ้นทางทวารใด เพราะเหตุว่ามโนทวาราวัชนนจิตเป็นวิถีจิตต้องอาศัยทางหรือทวารจึงเกิดขึ้นได้

    วิถีมุตตจิต คือ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตมี ๓ ประเภทคือ ปฏิสนธิจิต ๑ ภวังคจิต ๑ และจุติจิต ๑ ฉะนั้น จิตที่เหลือทั้งหมดเป็นวิถีจิต คือ ต้องอาศัยทวารเป็นทาง วิถีจิตจึงจะเกิดขึ้นได้ มโนทวาราวัชชนจิตก็เช่นเดียวกันเป็นวิถีจิต ถ้าเกิดขึ้นทางปัญจทวารก็ทำโวฏฐัพพนกิจ ถ้าเกิดทางมโนทวารก็ทำอาวัชชนกิจ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นปัจจัยให้ชวนจิตเกิดขึ้น ก็แล้วแต่ว่าชวนจิตเมื่อเกิดขึ้นแล้วเป็นกุศลจิต อกุศลจิต หรือกิริยาจิต

    อ.ธีรพันธ์ มนสิการเจตสิกมี ๓ ประการ ที่ ๑ คือ อารัมมณปฏิปาทกมนสิการ ก็คือมนสิการเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภท จิตทุกชนิดจะต้องมีมนสิการเจตสิกเกิดขึ้นร่วมด้วยทำกิจการงานใส่ใจในอารมณ์นั้น มุ่งตรงต่ออารมณ์นั้น ประการที่ ๒ วิถีปฏิปาทกมนสิการก็คือมนสิการที่เกิดกับจิตที่รำพึงถึงอารมณ์ทางปัญจทวารไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย คือรู้ว่ามีอารมณ์มากระทบ หลังจากนั้นทวิปัญจวิญญาณเกิดขึ้นสืบต่อคือนึกถึงอารมณ์นั้นนั่นเอง ประการที่ ๓ ชวนปฏิปาทกมนสิการ กระทำทางให้กุศล หรืออกุศล หรือกิริยาจิตของพระอรหันต์เกิดขึ้น กระทำทางก็คือเป็นบาท เป็นปาท "ปาทก" ก็คือเป็นบาทเป็นทางเท่านั้นเอง ไม่ได้มีผลอะไรเลยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    อ.ธิดารัตน์ ในธัมมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ ท่านได้แสดงปัจจัยที่สำคัญ ไว้ ๔ ประการ เช่น การเห็นก็จะต้องอาศัยจักขุปสาท อาศัยรูปมาสู่คลองจักษุ อาศัยแสงสว่าง และที่ขาดไม่ได้เลย คือ อาศัยมนสิการเป็นเหตุ และท่านก็อธิบายคำว่า “มนสิการเป็นเหตุ” ว่าเป็นปัญจทวาราวัชชนะ ได้แก่ จักขุทวาราวัชชนะนั่นเอง เพราะฉะนั้นไม่ว่าการเห็น การได้ยิน ท่านก็แสดงว่าจะต้องมีมนสิการเป็นเหตุให้เกิดการเห็นโดยการเป็นอนันตรปัจจัยให้แก่จักขุวิญญาณนั่นเอง ทางมโนทวารท่านก็แสดงว่าเป็นมโนทวาราวัชชนะ

    ผู้ฟัง ผู้ที่จะมีโยนิโสมนสิการหรือไม่มีโยนิโสมนสิการมาจากเหตุอะไร

    อ.กุลวิไล เหตุนี้ก็ขึ้นอยู่กับการสั่งสมมา ถ้าผู้นั้นไม่มีการฟังพระธรรมหรือว่าไม่มีการใส่ใจในกุศลธรรมที่เคยทำมาก่อนแล้ว ก็ไม่มีปัจจัยให้กุศลจิตเกิดได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าท่านแสดงถึงบาทที่จะให้ชวนจิตเกิดขึ้น ซึ่งก่อนที่ชวนจิตจะเกิดขึ้น จะมีโวฏฐัพพนจิตเกิดก่อน ฉะนั้นโวฏฐัพพนจิตจึงแล้วแต่การสั่งสมที่จะเป็นปัจจัยให้ชวนจิตที่เกิดต่อเป็นชาติกุศลหรือชาติอกุศล

    คุณอุไรวรรณ เรื่องความเห็นผิดเป็นเรื่องใหญ่ และก็เรื่องสำคัญมาก และก็เป็นเรื่องที่อันตรายมาก คือ ถ้าหากว่าประกอบด้วยความเห็นผิดเมื่อใด ทุกอย่างก็จะผิดไปหมดเลย

    อ.วิชัย สำหรับเหตุให้เกิดทิฏฐิ ก็มีเหตุที่เป็นไปในภายนอก เช่น การฟังอสัทธรรม การคบปาปมิตรหรืออสัตบุรุษต่างๆ ก็เป็นเหตุให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ หรือ เหตุภายในก็คืออโยนิโสมนสิการ ก็เป็นการสั่งสมที่บุคคลนั้นจะมีทิฏฐิเกิดขึ้น

    ขอเรียนถามท่านอาจารย์ ในทิฏฐิ ๖๒ ที่แสดงในพรหมชาลสูตร บุคคลแม้ที่เคยได้ฌาณที่ตามมฤคขันธ์แม้ในส่วนอดีต ภายหลังก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดความเห็นผิดได้ ซึ่งก็น่าคิด เพราะเหตุว่าบุคคลที่สามารถเจริญได้กระทั่งฌาณย่อมเป็นผู้ที่มีความเห็นถูกในขั้นหนึ่ง แล้วอะไรจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความเห็นผิด

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ยังมีทิฏฐานุสัยคือการไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งทำให้เกิดความเห็นผิดธรรมดาๆ ก็คือเห็นว่าสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าตราบใดที่ยังมีความเห็นผิดอยู่ แม้ว่าจะได้มีปัญญาถึงขนาดที่สามารถจะบรรลุฌาณจิตได้ แต่เมื่อไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงก็ย่อมมีความคิดซึ่งสะสมที่จะทำให้คิดไปต่างๆ ซึ่งไม่ตรงกับลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นก็ประมาทไม่ได้เลยว่าเราอาจจะเคยได้กระทำฌาณ ได้ฌาณมาแล้วก็จริง แต่ว่าตราบใดที่ยังไม่สามารถดับทิฏฐานุสัยเป็นสมุทเฉทได้ก็สามารถที่จะมีความเห็นผิดได้

    ผู้ฟัง ถ้ากล่าวว่าทางสายกลางนั้นให้ไป จะกล่าวได้หรือไม่ว่าเป็นสีลัพพตปรมาส ได้หรือไม่ ขอให้อาจารย์ช่วยกล่าวข้อคิดในเรื่องพวกนักตรึกด้วยที่ทำให้เห็นผิด

    ท่านอาจารย์ คำว่า “วิตก” และ “ตรึก” ภาษาธรรมดาก็คือ “คิด” ทุกคนคิดแล้วแต่ว่าสั่งสมมาในแสนโฏฏิกัปป์จะคิดอย่างไร และสำหรับเรื่องของผู้ที่ได้ฌาณก็ไม่เว้น เราอาจจะเคยได้ฌาณมาแล้วหรือไม่เคยได้ ใครรู้ ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลย อาจจะได้ถึงเนวสัญญา นาสัญญายตนฌาณ แต่ก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก ไม่ว่าจะเป็นถึงอรูปฌาณ รูปฌาณก็ตาม ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องความคิดที่ไม่จำกัด เราเคยได้ฌาณมาแล้วแต่ปัจจุบันชาตินี้ไม่ได้ แต่เราก็มีความคิดที่เราสะสมมา เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่ช่างคิดก็จะคิดหลายอย่าง ผู้ที่คิดมากมีหรือไม่ บางท่านเขาก็กล่าวว่าเขาไม่ค่อยคิดเลย คิดน้อยกว่าท่านอื่นได้หรือไม่ ได้หรือไม่ได้ ก็มีบุคคลหลายจำพวกใช่หรือไม่ พวกที่ไม่คิดอะไร ถามอะไรเขาก็บอกว่าเขาไม่คิด เขาไม่สนใจ เขาไม่รู้ก็ได้ แต่บางคนเรื่องเดียวก็คิดนาน คิดไม่ออกก็คิดอีก พยายามคิดอย่างโน้นคิดอย่างนี้ที่จะให้คิดให้ได้ก็มี เพราะฉะนั้นจึงมีพวกที่ช่างคิดคือ “นักตรึก” ก็จะคิดไปตามการคิดของเขา เช่น พวกที่เคยได้อสัญญสัตตาพรหมอาจจะจุติแล้วมาเป็นมนุษย์ เขาก็อาจจะเกิดความคิดเหมือนกับว่าโลกนี้เกิดขึ้นมาลอยๆ จากการที่ไม่มีอะไรเลยก็มี คนที่คิดว่าทุกอย่างเกิดขึ้นมาลอยๆ ไม่มีเหตุไม่มีอะไรเลยก็ได้ หรือบางพวกก็อาจจะคิดว่าต้องมีผู้สร้างสิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงจะเกิดขึ้นมาได้ นี้ก็พวกนักคิด ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าเรื่องของความคิดของแต่ละบุคคล เราไม่สามารถที่จะหยั่งรู้ได้ ถึงการสะสมก่อนๆ ว่าจะเกิดความคิดอย่างไร และก็จะเห็นตามความเป็นจริงอย่างชีวิตในพระไตรปิฎก เช่น ท่านพระเทวทัต คิดที่จะบวชแต่ก็คิดอาฆาต และก็คิดแม้แต่พระผู้มีพระภาคเป็นปกติของพระองค์ ก็ไปบอกว่า “พระองค์ไม่เคยมองดูท่านตรงๆ เลย” ก็ไปคิดอะไรอย่างนั้นใช่หรือไม่ ก็สามารถที่จะคิดที่เป็นอกุศลนาๆ ประการก็ได้ เพราะฉะนั้นความคิดเป็นสิ่งที่เมื่อเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ผู้นั้นก็จะรู้ว่าตามการสะสม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567