พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 144


    ตอนที่ ๑๔๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้ว่าทุกอย่างที่ได้ศึกษามีจริงๆ เช่น พูดเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีใครที่รู้ตรงลักษณะนั้น ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ยังปรากฏอยู่เรื่อยๆ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าต้องเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้ได้ว่าขณะนั้นที่สติเกิด ไม่ได้หลงลืมที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏต่อจากทางปัญจทวาร เร็วอย่างนั้น ธรรมดาอย่างนั้น ปกติอย่างนั้น ไม่มีเราที่จะไปทำอะไรได้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็เป็นทีละขณะ

    ท่านอาจารย์ แต่ต่อไปมีการรู้ตรงลักษณะนั้นได้ นั่นคือสติสัมปชัญญะเกิด เพราะฉะนั้นผู้นั้นจะรู้ความต่างของขณะที่สติเกิดกับหลงลืมสติ

    ผู้ฟัง ลักษณะของเห็น เห็นด้วยโลภะ แต่เป็นลักษณะของปรมัตถ์ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ เห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏเป็นปรมัตถ์หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น แล้วด้วยโลภะ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ด้วยโทสะก็ได้ โลภะก็ได้ โมหะก็ได้ กุศลก็ได้ เพราะต้องมีชวนจิตต่อจากเห็น เร็วมากยับยั้งไม่ได้เลย ถ้ามีเสียงใดปรากฏ ยังไม่รู้ว่าเสียงอะไร แต่ก็มีความติดข้อง พอใจหรือไม่พอใจในเสียงนั้นได้ หรือจะเป็นกุศล รู้ลักษณะของเสียงก็ได้

    ผู้ฟัง ลักษณะของปรมัตถธรรมที่เห็น ที่เราคิดว่าเราเห็นปรมัตถธรรม ก็ไม่ใช่กุศลหรือสติปัฏฐานระลึกสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจปรมัตถธรรม ปรมัตถธรรมทั้งนั้น จิตเป็นปรมัตถธรรม เจตสิกเป็นปรมัตถธรรม รูปเป็นปรมัตถธรรม แล้วรู้ว่าเป็นปรมัตถธรรมหรือไม่ ทั้งๆ ที่เป็นปรมัตถธรรม แต่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรมหรือไม่ สิ่งที่ปรากฏทางตาจะเปลี่ยนให้เป็นอื่นไม่ได้ ใครไปเปลี่ยนได้ หรือเสียงก็ไปเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่รู้ไหมว่านั่นเป็นธรรม หรือเป็นปรมัตถธรรม ลักษณะที่มีจริงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วก็ดับไปไม่มีใครที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นได้ รู้ไหมว่าเป็นอย่างนั้น หรือว่าเป็นเรื่องเป็นราวทั้งหมด พอเห็นก็เป็นเรื่องทั้งวัน เป็นรูปภาพทั้งวัน ทรงจำไว้เป็นเรื่องราวต่างๆ ทั้งวัน ไม่รู้ว่าปรมัตถธรรมขณะไหน แม้แต่คิด จำ ก็เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมด

    นี่ก็คือประโยชน์ของการที่จะศึกษาว่าไม่มีเรา แต่มีธรรมอะไรบ้าง และก็ค่อยเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้รู้ให้เข้าใจ แต่ถ้าไม่เข้าใจสภาพธรรมนั้นก็ดับหมดแล้ว ไม่รู้ต่อไปอีก เดี๋ยวนี้เห็น อะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เป็นปรมัตถธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นปรัมตถธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะเห็น ปรมัตถธรรมปรากฏกับจักขุวิญญาณ จักขุทวารวิถี

    ผู้ฟัง แล้วก็ชอบในสิ่งนั้น

    ท่านอาจารย์ ชอบอะไร ถ้าไม่ชอบสีหรือสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางหูคือเสียง

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเรื่องราวแล้ว ที่เราพูดรวม แต่ลักษณะของเสียง เสียงดังมากๆ เสียงปืน เสียงระเบิด ไม่ต้องเรียกว่าอะไร เวลาที่เสียงนั้นปรากฏเป็นอย่างไร โลภะหรือโทสะ

    ผู้ฟัง โทสะ

    ท่านอาจารย์ บังคับได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ นั่นคือทั้งหมดเป็นปรัมตถธรรม แต่ไม่มีใครรู้ว่าจากเรื่องราวในชีวิตประจำวันทั้งหมด สิ่งที่จริงก็คือปรมัตถธรรมทั้งนั้น

    ผู้ฟัง สติที่ระลึกรู้ก็ไม่ได้ระลึกเพียงแค่ปรมัตถธรรมที่ปรากฏ แต่ยังระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ใช้คำว่า “ระลึกปรมัตถธรรมที่ปรากฏ” ถ้าไม่มีลักษณะของปรมัตถธรรมนั้น สติระลึกอะไร เพราะถ้าเป็นปรมัตถธรรมแล้วต้องมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างจึงเป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่ปรมัตถธรรมไม่มีลักษณะอะไร

    ผู้ฟัง แล้วก็ต้องทีละขณะ ทีละขณะด้วย

    ท่านอาจารย์ ทีละทาง

    พระอภิธรรมไม่ได้จำกัดเลยเพราะเหตุว่าพระอภิธรรมมีอยู่ทุกขณะ เพราะฉะนั้นการฟังพระอภิธรรมไม่มีการจำกัดว่าเราจะฟังเรื่องนั้นหรือฟังเรื่องนี้ แต่สิ่งที่ฟังก็คือสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ที่ทำให้เราเข้าใจขึ้นถูกต้องตามความเป็นจริงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง มิฉะนั้นเราก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอะไร ธรรมที่ทรงแสดงคืออะไร และเมื่อไร แต่ถ้าได้เข้าใจแล้วก็รู้ว่าพระอภิธรรมมีอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องมีพื้นฐานคือความเข้าใจที่มั่นคง เพราะถ้าเราอ่านเพียงตัวหนังสือโดยที่ไม่รู้ว่าคำที่เราอ่าน หรือคำที่เราได้ยินนั้นก็คือลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แต่ไม่สามารถที่จะรู้ได้เองถ้าไม่ได้มีการฟัง ไม่ได้มีการศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้นการศึกษาพระธรรมทั้งหมดเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่มีที่กำลังปรากฏ และละคลายความติดข้องการยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา หรือว่ามีตัวตนที่เป็นเรา นี่เป็นขั้นแรก ส่วนการที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็มาก ลึกซึ้งกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสที่สะสมมาได้ทั้งหมดถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่ไม่ได้หมายความว่าทันทีที่เราได้ฟังเรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏ เราสามารถที่จะเข้าใจทั่วถึงโดยตลอดโดยประการทั้งปวงที่ทรงแสดง แต่เป็นเครื่องวัดความเข้าใจจริงๆ ของเราว่าทุกคำที่เราได้ยิน เราเข้าใจในคำที่เราได้ยินมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะลักษณะหรือสภาวะที่ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมนั้นๆ เช่น “ธรรม” เพียงได้ยินคำนี้ ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะพูดถึงธรรมอะไร เมื่อใด ที่ไหน กาลใด ในคัมภีร์ใด ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ถึงสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนั้น ในขณะที่กำลังอ่านนั้น แต่ว่าความเข้าใจของเราในสิ่งนั้นมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นธรรม ทุกคนตอบได้ใช่ไหม เราเข้าใจธรรมแค่ไหน ไม่ใช่หนังสือใช่ไหม แต่สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ที่กำลังเห็น ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เราเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแค่ไหน

    เพราะฉะนั้น ทุกคนก็เป็นคนตรงที่จะรู้ว่าการฟังทำให้ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่เป็นจุดประสงค์สูงสุดของภาวนาคือการอบรมเจริญปัญญาที่จะค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ค่อยๆ รู้จริงๆ จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ เพราะฉะนั้นไม่มีกาลเวลาหรือว่าไม่มีตัวเราที่อยากจงใจต้องการที่จะรู้จนทั่วหรือว่าจนสามารถที่จะรู้แจ้งได้โดยที่ไม่มีการที่จะเริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยตามลำดับขั้น แล้วเมื่อมีความเข้าใจเกิดขึ้นแล้ว ความเข้าใจนั้นก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยการที่ว่าไม่มีใครที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้เป็นอย่างอื่น แต่ปัญญาเริ่มเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏนั้น

    เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจความต่างกันของขณะที่สภาพธรรมก็กำลังปรากฏ ไม่เคยได้ฟัง ก็ได้ฟัง ไม่เคยรู้ ก็ค่อยๆ รู้ แต่แม้กระนั้นก็ไม่ใช่การที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เป็นแต่เพียงการรู้เรื่องราว ซึ่งความเป็นผู้ตรงก็จะทำให้ผู้นั้นยอมรับตามความเป็นจริงว่าขณะที่ฟังไม่ใช่ขณะที่สติสัมปชัญญะกำลังรู้ลักษณะตามปกติในขณะนี้เอง ไม่เปลี่ยนแปลงเลย เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าแม้สิ่งที่ปรากฏก็ปรากฏอย่างนี้ไม่เปลี่ยน แต่ปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับขั้น และเมื่อไรที่สติสัมปชัญญะเกิด เมื่อนั้นผู้นั้นก็จะรู้ว่านี่คือจุดประสงค์ของการฟังธรรม เพื่อที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้นได้ว่าไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง เมื่อกล่าวถึงรูปกายก็ทำให้คิดถึงตั้งแต่ศรีษะจรดเท้า

    ท่านอาจารย์ มีรูปใดบ้างที่ไม่ประชุมรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก เป็นที่ประชุม เพราะว่ารูปจะเกิดขึ้นเพียงลำพังรูปเดียวไม่ได้เลย นี่คือความลึกซึ้ง แม้ว่าเราจะได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ธาตุดิน ลักษณะที่เข้มแข็ง ธาตุน้ำ ลักษณะที่เกาะกุมซึมซาบเอิบอาบ ลักษณะของธาตุไฟ เย็นหรือร้อน ลักษณะของธาตุลม ตึงหรือไหว เราได้ยินอย่างนี้ แต่เคยคิดไหมว่าทั้ง ๔ ธาตุแยกกันไม่ได้ แล้วปรากฏหรือไม่ ข้อสำคัญที่สุด ปรากฏเมื่อไร พูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ ก็ต้องเข้าใจลักษณะนั้นเมื่อสิ่งนั้นกำลังมี แต่ถ้าสิ่งนั้นยังไม่มี เราจะพยายามไปเข้าใจลักษณะของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นแม้จะมีข้อความที่แสดงว่าธาตุทั้ง ๔ แยกกันไม่ได้ แต่เมื่อไรที่จะรู้ความจริงว่าขณะนั้นเป็นธาตุ ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งสิ้น อย่างแข็งมี จึงเป็นธาตุเป็นภาวะที่มีจริงๆ ใครเปลี่ยนลักษณะนั้นไม่ได้ แต่ขณะที่แข็งปรากฏ ขณะนั้นต้องมีธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุน้ำ รวมอยู่ด้วย นี่คือสิ่งที่เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นความรู้ของเราจากการฟังก็จะรู้ได้ว่ารูปที่เกิด แม้ประชุมรวมกัน แต่การที่จะรู้ลักษณะ ต้องรู้ลักษณะแต่ละรูป และแต่ละทางด้วย เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา สีสัน วัณณะต่างๆ ถ้าไม่มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สีจะมีได้อย่างไร จะอยู่ตรงไหน ที่ไหน แต่เวลาที่สีสันวัณณะกำลังปรากฏ จะมีเฉพาะลักษณะนั้นเท่านั้นที่ปรากฏ ลักษณะอื่นไม่ปรากฏ เสียงกำลังปรากฏ ถ้าไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เสียงมีไม่ได้ แต่เวลาที่เสียงปรากฏ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ได้ปรากฏ นี่คือความลึกซึ้งของสภาพธรรมซึ่งจะเห็นได้ว่าถ้าเราสามารถเข้าใจถูกในลักษณะของรูปแต่ละรูป แม้ว่าจะประชุมรวมกัน และมีการยึดถือว่าเป็นอะไรก็ตามแต่ เช่น ถ้าประชุมรวมกันที่กายซึ่งทุกคนยึดถือว่าเป็นกายตั้งแต่ศรีษะจรดเท้า เวลาที่เกิดที่อื่นที่ไม่ใช่ที่กาย ก็เป็นการประชุมรวมกันของรูปเช่นเดียวกัน ไม่มีความต่างกัน เพียงแต่ว่าลักษณะนั้นเมื่อปรากฏแล้ว ปัญญาสามารถที่จะรู้ความจริงของลักษณะนั้นว่าเป็นธาตุซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่มีเจ้าของ

    ผู้ฟัง นามกาย คือ..

    ท่านอาจารย์ นามกายไม่ใช่รูปใดๆ เลยทั้งสิ้น เป็นธาตุเป็นสิ่งที่มีจริง แต่เป็นธาตุรู้ ทันทีที่ธาตุรู้เกิดขึ้น ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะเกิดขึ้นเป็นธาตุรู้โดยที่ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้รู้หรือว่าไม่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ เช่น ขณะนี้นามกายคือจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ดับพร้อมกัน และถ้าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็เกิดที่รูปเดียวกันด้วย เพราะในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นามธรรมทั้งหมดต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใด จะไม่อาศัยรูปเกิดไม่ได้ เพราะฉนั้นสำหรับนามกายก็คือจิต และเจตสิก

    ผู้ฟัง เป็นสภาพนาม ซึ่งแตกต่างจากรูป

    ท่านอาจารย์ เมื่อได้ยินคำว่า “กาย” เราเคยคิดว่าเป็นรูป พอได้ยินคำว่า “นามกาย” ก็เอาความคิดนั้นติดตามมา เพราะว่านามก็คงมีกายแบบรูปที่เป็นรูปกาย แต่ไม่ใช่ นี่คือการที่จะต้องเข้าใจความหมายของคำในภาษาบาลี เพราะเหตุว่า “กาย” หมายถึงประชุมหรือที่ประชุม เพราะฉะนั้นในขณะนั้นจะมีสภาพธรรมเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าอย่างเดียวแล้วจะไปประชุมอะไรที่ไหน เพราะฉะนั้น นามกายก็คือจิต และเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกัน ประชุมที่นี่ก็คือว่าแยกกันไม่ได้ เกิดพร้อมกัน และก็ดับพร้อมกัน และก็เป็นสภาพที่รู้อารมณ์เดียวกันเพราะว่าเกิดพร้อมกัน และเป็นสภาพรู้ด้วย ต่อไปนี้ก็คงจะไม่งงกับคำว่า “กาย” ถ้าเข้าใจความหมายว่า “ประชุม” “หรือ ที่ประชุม”

    ผู้ฟัง อยากทราบว่าเทวดามีรูปกายไหม เขาบอกว่ามีกายละเอียด กายหยาบ

    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวถึงสภาพธรรมจะต้องมีลักษณะที่ต่างกัน ๒ อย่าง นามธรรมกับรูปธรรม เพราะฉะนั้นบางภูมิที่เกิดของสัตว์ก็จะมีทั้งนามกาย และรูปกาย บางภูมิก็มีแต่รูปกาย ไม่มีนามกายซึ่งมีอยู่ภูมิเดียวคืออสัญญสัตตาพรหมซึ่งมีแต่รูป ไม่มีนาม และในอรูปพรหมภูมิก็มีแต่นามธรรมไม่มีรูปธรรม เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช่ภูมิ ๕ ภูมิ คือ ไม่ใช่อสัญญาสัตตาพรหมภูมิ ไม่ใช่อรูปพรหมภูมิ ๔ ภูมิที่เหลือทั้งหมดก็เป็นภูมิที่มีทั้งนาม และรูป ซึ่งขณะใดที่นามธรรมเกิดต้องอาศัยรูป และความวิจิตรของรูปก็ต่างกันไปตามภพภูมิด้วย ภูมิมนุษย์ก็เป็นอย่างนี้ ภูมิสวรรค์ก็ต่างกันไป และอบายภูมิก็ต่างกันไป เพราะฉะนั้น เราจะค่อยๆ ศึกษาให้เข้าใจจริงๆ และเราก็จะรู้ความหมายของคำที่เราใช้ด้วยอย่างขณะนี้ที่เห็น ต้องเป็นอายตนะที่มีการประชุมรวมกันจึงเกิดเห็น ถามว่าโต๊ะ เก้าอี้จะมีอายตนะ หรือเป็นอายตนะไหม

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีการรู้สิ่งนั้น ไม่มีการกระทบกับกายปสาทก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นจึงเข้าใจได้ว่าขณะใดที่มีการรู้ สภาพรู้เกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นอายตนะที่จะทำให้รู้สิ่งที่กระทบซึ่งก็เป็นอายตนะด้วย เพราะฉะนั้นค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจไปในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมก็จะเข้าใจขึ้น แต่ว่าเพียงเรื่องราวจนกว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมก่อน แล้วจึงจะรู้ถึงความเป็นอายตนะของสภาพธรรมนั้นๆ

    ผู้ฟัง อย่างนี้เทวดาก็มีร่างกายเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ มีกี่ภูมิที่มีเฉพาะรูปอย่างเดียว และนามอย่างเดียว อสัญญสัตตาพรหมมีแต่รูป อรูปพรหมภูมิมีแต่นาม ที่เหลือต้องมีทั้งนามธรรม และรูปธรรม

    ผู้ฟัง คำว่า “รูปธรรม” ของเทวดาเป็นเหมือนกายละเอียดหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เรามองไม่เห็น

    ผู้ฟัง แล้วเป็นกายไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็น เพราะประชุมรวมกัน

    ผู้ฟัง แล้วจะมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เหมือนกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ แน่นอน รูปทั้งหมดมี ๒๘ ประเภทที่ทรงแสดงไว้ รูปปรมัตถ์ที่มีจริงๆ ๒๘ แต่รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ถ้ากล่าวว่าเป็นรูปที่เป็นประธานจะปราศจากรูปที่เป็นประธานไม่ได้ รูปอื่นทั้งหมดอีก ๒๔ จะต้องเกิดหรือเป็นอาการของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ซึ่งเป็นประธานนั่นเอง

    ผู้ฟัง แสดงว่าเทวดาก็มี “กลาป”

    ท่านอาจารย์ ต้องมี คือการฟังธรรม ต้องไม่ลืมตั้งแต่ต้น ต้องสอดคล้องตั้งแต่คำแรก เช่น รูปธรรม นามธรรม ภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ มีทั้งรูปธรรม และนามธรรม ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นามธรรมที่เกิดต้องอาศัยรูปเหมือนกันหมดเลย คำนี้เปลี่ยนไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเทวดาก็เป็นนามธรรม รูปธรรม อาศัยนามธรรมที่เกิดก็ต้องอาศัยรูปด้วย และจะไปอาศัยรูปอื่นที่ไม่ใช่รูปที่ประชุมรวมกันที่เป็นกายของเทวดาก็ไม่ได้ ถามว่าถ้าไม่มีสิ่งที่กระทบตา จิตเห็นเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดจิตเห็นโดยเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง อาจารย์ช่วยกรุณาแนะนำว่าเราควรจะรู้อะไรก่อน ถ้าเผื่อเราไปจงใจรู้ก่อนก็ค้านกับคำว่า “อนัตตา” อีก

    ท่านอาจารย์ ในพระไตรปิฎกทรงแสดงธรรมที่มีจริงกับผู้ที่กำลังฟัง มิฉะนั้นผู้ฟังก็ไม่สามารถที่จะไตร่ตรอง ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าตรัสเรื่องอะไร ไม่ว่าใครจะไปที่ไหนก็ตาม จะอยู่ที่ไหนก็ตาม จะพ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ต้องไปคำนึงถึงเลยว่าปริเฉทไหน เล่มไหน เป็นอย่างไร แต่ในขณะที่กำลังฟังไม่ว่าจะฟังสิ่งใด ประโยชน์จริงๆ ของการฟังทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นธรรมหรือไม่ใช่ธรรมก็ตาม ขณะนั้นก็คือเข้าใจสิ่งที่กำลังฟังจึงชื่อว่าฟัง ไม่ใช่ไปคิดเรื่องอื่น ไม่ใช่ไปเข้าใจเรื่องอื่น แต่ทุกคำที่ได้ยิน ฟัง ไตร่ตรอง พิจารณา แล้วก็จะรู้ว่ามีความเข้าใจในสิ่งที่ฟังแค่ไหน เช่นคำว่า “ธรรม” ได้ยินบ่อย ใครจะว่าอย่างไรจะพูดอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ความเข้าใจของเราจากการฟังคำนี้ เข้าใจไหมว่าหมายความถึงอะไร เป็นพื้นฐานที่กว้างก็คือว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ และไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่มีภาวะลักษณะเฉพาะของตนๆ มีการเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับไป ฟังแค่นี้ แล้วต่อไปจะฟังอีกสักเท่าไรก็ตาม เข้าใจอย่างนี้ไหม

    กล่าวถึงปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่มีจริงๆ ก็จะมี ๔ อย่าง คือ จิตเป็นธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แค่นี้ เราสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของจิตเดี๋ยวนี้ได้ไหม ว่าไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่ความโกรธ ไม่ใช่ความเฉยๆ หรือไม่ใช่ความสุข หรือไม่ใช่ความเมตตา แต่เป็นลักษณะที่กำลังรู้แจ้งคือสามารถที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง บางคนก็อาจจะสงสัยว่าแล้วแจ้งแค่ไหน ก็ไปคิดอีก ทำไมไปคิดในสิ่งที่ไม่ได้ฟัง ขณะนี้กำลังฟังว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แล้วคำว่ารู้แจ้งก็คือสามารถที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏอย่างนี้ คือแจ้งอย่างนี้ตามที่ปรากฏกับจิตที่กำลังเห็น นี่คือลักษณะของจิต จิต ทำอย่างอื่นไม่ได้ จิตจะไปรู้อย่างอื่นที่เป็นหน้าที่ของสภาพธรรมอื่นไม่ได้ จะไปเป็นเจตสิกแต่ละชนิดไม่ได้ จิตเกิดขึ้นเมื่อไร ขณะไหน เป็นสภาพที่รู้แจ้งในสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนี้รู้แล้วใช่ไหมว่าจิตเป็นอะไร อยู่ที่ไหนในขณะที่กำลังเห็นก็คือภาวะลักษณะที่กำลังเห็นแจ้ง จะใช้คำว่ารู้ก็ได้ เพราะเป็นสภาพรู้คือเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ขณะที่เสียงปรากฏ รู้ลักษณะของจิตแล้วใช่ไหม จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งเสียง เรารู้เลยว่าเสียงมีลักษณะอย่างนี้ๆ แต่เดิมเป็นเรารู้ แต่ความจริงก็คือจิตกำลังรู้แจ้งได้ยิน เสียงอะไรก็เสียงนั้นแต่ละเสียง เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งเสียงที่กำลังปรากฏ ถ้ามีความเข้าใจในขณะที่กำลังได้ฟัง พอไหมที่จะเข้าใจจริงๆ ไม่ลืม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567