พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 133


    ตอนที่ ๑๓๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ผู้ฟัง ถ้าหากว่าเราไม่เชื่อ คือไม่อยากให้มีโลภะเกิดขึ้น ก็น่าจะทำให้คนเข้าใจความจริง เข้าใจธรรมมากๆ ขึ้น

    ท่านอาจารย์ แล้วจิตที่กำลังคิดเรื่องนี้เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ สิ่งนี้คือประโยชน์จากการศึกษาธรรม เราเรียนเรื่องทิฏฐิต่างๆ ขณะนี้เรากำลังมีความเห็นถูก มีการเห็นประโยชน์ในการศึกษาธรรม เพราะฉะนั้นความเห็นผิดอื่นนอกจากสักกายทิฏฐิก็เป็นเรื่องที่ไกลตัว เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ที่เราสามารถที่จะรู้จักสิ่งที่เราได้เรียนแล้วคือเมื่อไหร่ เพราะว่าขณะใดก็ตามที่มีโลภะเกิดขึ้น แล้วก็ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยแต่ก็ยังมีโลภะ อย่างเวลาที่คุณวิจิตรกำลังพูดเรื่องนี้ ไม่ได้มีความเห็นผิดเรื่องโลก เรื่องธรรม เรื่องอะไรเลย แต่ขณะจิตที่กำลังกล่าวนั้นก็เป็นเรื่องของโลภะ ความติดข้องในเรื่องนั้น เพราะฉะนั้นก็จะได้ทราบในชีวิตประจำวันของเราสามารถที่จะเห็นโลภะที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย และก็ไม่มีมานะเกิดร่วมด้วย ขณะใดที่ไม่มีความรู้สึกสำคัญตน หรือมีความไม่สบายเพราะเหตุว่าเกิดมาจากความสำคัญตน เพราะฉะนั้นชีวิตวันหนึ่งๆ ถ้าสามารถจะรู้ได้ก็ควรจะสังเกตว่าโลภะที่เกิดขึ้นเป็นโลภะที่มีกำลังหรือไม่มีกำลัง คนอื่นกล่าวให้เราทราบได้หรือไม่ ไม่ได้ นอกจากเราเอง

    ถ้าจะรับประทานอาหาร ไปร้านอาหาร เราอาจจะสั่งอาหาร ขณะนั้นเป็นอสังขาริกหรือสสังขาริก มีกำลังหรือไม่มีกำลัง อสังขาริก เราสั่ง แต่บางทีก็ไม่รู้จะรับประทานอะไร แต่พอคนอื่นเขาสั่งอาหารอย่างหนึ่งเราก็รู้สึกว่าก็คงจะอร่อยดี ขณะนั้นก็จะเห็นได้ว่าขณะนั้นก็ไม่มีกำลัง เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ เราก็จะเห็นชีวิตตามความเป็นจริงว่าขาดโลภะไม่ได้ แต่ว่าเป็นโลภะที่มีกำลังหรือว่าไม่มีกำลัง

    มีภาพยนตร์หลายเรื่องใช่หรือไม่ที่น่าดู ก็ไม่ได้ไปดูสักครั้ง มีกำลังหรือไม่ ไม่มี แต่ไม่ดูไม่ได้ ต้องดูด้วยวันนี้ เดี๋ยวนี้หรืออะไรอย่างนั้นก็แล้วแต่ ขณะนั้นเราก็สามารถที่จะรู้ได้ขณะนั้นเป็นสภาพของโลภะที่มีกำลัง ประโยชน์ก็คือได้เห็นตัวเองตามความเป็นจริงว่าสะสมอะไรมาที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดโลภะประเภทไหน ถ้าสะสมประเภทหนึ่งประเภทใดก็จะเห็นชัดว่าเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดความพอใจเกิดขึ้นทันที ท่านที่เดินในห้างสรรพสินค้า ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะเห็นเสื้อตัวนี้สวย ยังไม่มีใครบอกหรือแนะนำ ขณะนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ เป็นโลภะประเภทที่มีกำลังหรือไม่มีกำลัง เห็น แต่ว่าไม่เห็นว่าสวยเท่าไหร่หรือมีคนชักชวนมากๆ ก็ซื้อ ขณะนั้นก็จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วก็คือชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นเราก็เริ่มจากสภาพธรรมที่สะสมมาที่จะเป็นโลภะ ส่วนใหญ่ที่เป็นอกุศล ขณะใดที่ไม่เป็นโทสะ ความไม่แช่มชื่น ความไม่สบายใจเกิดขึ้น ส่วนใหญ่แม้แต่เรื่องที่คุณวิจิตรกล่าวถึง ขณะนั้นก็จะสังเกตรู้ได้จากความรู้สึกว่าความรู้สึกนั้นไม่สบายใจหรือไม่ ถ้าไม่สบายขณะนั้นไม่ใช่โลภะ ต้องเป็นโทสมูลจิต แต่ถ้าขณะนั้นเป็นความรู้สึกอุเบกขา ไม่สุขไม่ทุกข์ อทุกขมสุข หรือ เป็นโสมนัส ขณะนั้นอกุศลประเภทนั้นก็ต้องเป็นโสมนัส แล้วก็มีกำลังหรือไม่มีกำลัง คนอื่นรู้ไม่ได้เลยนอกจากเราเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นการศึกษาก็จะทำให้เห็นธรรม แต่ไม่ใช่เอาเราไปนั่งคิดว่าแล้วตอนนี้เป็นอะไร นั้นคือการไปศึกษาเรื่องตัวเองแล้ว แทนที่จะศึกษาธรรม แต่ถ้าศึกษาธรรมว่าลักษณะของโลภะมี ๒ อย่าง คือสะสมมาที่จะมีความพอใจเกิดขึ้นในสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีกำลัง ไม่อาศัยการชักจูง ไม่มีการลังเล ขณะนั้นก็เป็นประเภทที่มีกำลัง แต่ถ้าเป็นโลภะชอบเหมือนกัน แต่ว่าไม่มีกำลังมาก อาศัยการชักจูงก็กระทำสิ่งนั้นไป ขณะนั้นก็เป็นโลภะที่มีกำลังอ่อน

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ว่าสักกายทิฏฐิ สำคัญตัวเองผิดว่ามีตัวตน

    ท่านอาจารย์ เข้าใจว่าสภาพธรรมที่ประชุมรวมกันเป็นเรา เป็นตัวตน เข้าใจผิดว่าสภาพนั้นเป็นเรา เห็นเป็นเรา คิดนึกเป็นเรา สุขเป็นเรา โลภะเป็นเรา กุศลเป็นเรา ได้ยินคำว่าอะไรก็เข้าใจคำนั้น เช่น ได้ยิน คำว่า "ทิฏฐิ " คือ ความเห็นผิด ก็จะรู้ได้ว่าขณะนั้นมีความเห็นผิดหรือไม่ ถ้าไม่มีก็เป็นโลภะที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย มีมานะความสำคัญตนหรือไม่ ถ้าไม่มีก็คือไม่พ้นจากอกุศลที่ส่วนใหญ่เป็นโลภะ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่กุศล ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งที่เราได้ยินได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้น ความต่างของทิฏฐิ ความต่างของมานะ ความต่างของกำลังของโลภะ ซึ่งเป็นโลภะบางครั้งก็มีกำลัง บางครั้งก็ไม่มีกำลัง

    ก็คงจะเป็นการสนทนาเพื่อที่จะให้เราเข้าใจจริงๆ ว่าสิ่งที่เราได้จากการฟังพระธรรมตลอดชีวิตของเราจะติดตามไปชาติต่อไปได้มากน้อยเพียงไหน เพราะว่าเรื่องของธรรมเป็นเรื่องของกุศล แต่แม้แต่คำว่า “กุศล” ก็ยากที่จะเห็นลักษณะของกุศล เราพูดได้ว่าจิตต่างกันเป็นกุศลจิต และอกุศลจิต ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนรู้ในความหมาย แต่ลักษณะจริงๆ ของจิตในขณะนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลยังรู้ไม่ได้ใช่หรือไม่ แต่ถ้าโดยการฟังเราทราบว่าสภาพของกุศลจิตก็เป็นลักษณะที่เบาสบาย ไม่เดือดร้อน ไม่กระสับกระส่าย ขณะนี้พอจะรู้ได้หรือไม่ว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะว่าเราฟังเรื่องชื่อมาโดยตลอดโดยชาติ โดยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย โดยเหตุ โดยอะไร แต่ขณะนี้เองจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลก็ยากที่จะรู้ เพราะฉะนั้นทั้งหมดที่ฟังก็เพื่อให้เข้าถึงความเป็นอนัตตา อย่างไรๆ ก็ต้องไปถึงความเข้าใจที่ถูกต้องว่าสภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่กว่าจะถึงความเข้าใจที่มั่นคงก็ต้องอาศัยการฟังแล้วฟังอีก ไม่ว่าจะโดยนัยต่างๆ แต่ไม่ใช่เพื่อให้ไปจำชื่อ หรือว่าเพื่อให้ไปพยายามคิดว่าสิ่งนั้นเกิดจากสิ่งนั้นอย่างนั้นอย่างนี้โดยการที่ว่าขณะนั้นเบาสบายหรือไม่ หรือว่ากำลังเดือดร้อน นี้ก็แสดงให้เห็นว่าแม้ขณะที่กำลังฟังธรรมก็จะมีทั้งกุศลจิต และอกุศลจิตเกิดสลับกัน โลภะความติดข้องก็ยากที่จะพรากไปได้ จะแทรกอยู่ทุกอย่าง แม้แต่ในการที่จะศึกษาธรรมหรือฟังธรรม บางคนก็อยากจนกระทั่งขณะนั้นไม่สบายใจเลย เพราะเห็นว่าตัวเองไม่ได้รู้อะไร ยังจำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ แต่ขณะนั้นไม่ใช่การฟังเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้จะโดยละเอียดแต่ให้เป็นความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น

    ตอนหลับสนิทสบายหรือไม่ ต้องคิดแล้วใช่หรือไม่ ไตร่ตรอง ทุกคนก็หลับทุกวัน ตอนหลับสนิทสบายหรือไม่

    ผู้ฟัง ตอนหลับสนิทไม่ทราบว่าสบายหรือไม่สบาย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะไม่มีอะไรปรากฏเลย นี้เป็นความน่าอัศจรรย์ของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ ไม่ให้หลับก็ไม่ได้ ไม่ให้ตื่นก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นชีวิตทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตายก็แสดงความเป็นอนัตตา แต่ถ้าไม่รู้จะไม่สามารถที่จะมีความหนักแน่น มั่นคง ในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม เพราะว่าทุกคนก็หลับแล้วก็ตื่น แล้วก็หลับ แล้วก็ตื่นตลอดชีวิตด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้ก็เริ่มถึงความหมายของคำว่า “อนัตตา” ว่าขณะที่หลับสุขทุกข์ใดๆ ไม่ปรากฏ จะสบายหรือไม่สบายก็ไม่ปรากฏในขณะนั้น แล้วอย่างไรถึงต้องตื่นใช่หรือไม่ นี้คือการทบทวนสิ่งที่ได้ฟังมาแล้วอีกนัยหนึ่ง คือนัยความเข้าใจของผู้ที่ได้ฟังแล้วก็ประมวลความเข้าใจมาว่า แล้วทำไมจึงตื่น หลับแล้วเหตุใดจึงตื่น

    ผู้ฟัง ปกติถ้าเราหลับกลางคืนก็จะไม่ฝัน ตื่นมาเราจะรู้สึกสดชื่น และก็สบาย แล้วจะต่างกับการที่เราหลับไม่สนิท หลับๆ ตื่นๆ แล้วตื่นขึ้นมาก็จะรู้สึกว่าหลับไม่สบายเหมือนกับว่ายังเพลียแล้วก็ทุกข์ แต่เมื่อสักครู่นี้อาจารย์กล่าวว่าตอนเราหลับ เราจะไม่รู้สึกว่าเราสบายหรือไม่สบาย แต่ตามสภาพความเป็นจริง ตอนตื่นเรารู้สึกอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้เรายังไม่พูดถึงว่าตอนตื่นเรารู้สึกอย่างไร เพียงแต่ว่าเราหลับอยู่ แล้วทำไมต้องตื่น เห็นหรือไม่ว่าบังคับได้หรือไม่ และอะไรที่ทำให้ตื่นทำไมต้องตื่น วิบากใช่หรือไม่ หมายความว่าเราไม่สามารถจะรู้ได้เลย เรากล่าวว่ากรรมเป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก กรรมก็คือเจตนาเจตสิกที่เป็นกุศล และอกุศลที่สำเร็จการกระทำที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นได้ เพราะว่าถ้าเป็นเพียงกุศลเล็กๆ น้อยๆ ชอบอาหารหวานๆ จะสงเคราะห์โดยกรรมอะไรที่จะทำให้ปฏิสนธิเป็นอะไรก็ไม่ได้ ก็จะต้องเป็นอกุศลกรรมบถที่สำเร็จแล้ว เมื่อทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดยังไม่พอ ก็จะถึงกาลซึ่งกรรมจะทำให้วิบากเกิดขึ้น บางคนก็ตื่น บางคนก็ไม่ตื่น ขณะที่มีเสียงกระทบกับโสตปสาท เหตุใดคนหนึ่งตื่น เหตุใดอีกคนหนึ่งไม่ตื่น ลองคิดดู เพราะเหตุว่าปสาทรูปมีอายุสั้นมาก ๑๗ ขณะจิต เสียงก็มีอายุสั้นมาก เกิดดับเร็วมากทั้ง ๒ อย่าง เพียงแค่มีอายุ ๑๗ ขณะจิต แต่คนหนึ่งตื่นเพราะเสียง อีกคนหนึ่งไม่ตื่นเพราะเสียง ทั้งๆ ที่มีโสตปสาทด้วยกัน และก็มีเสียงด้วย แต่สำหรับคนที่กรรมถึงกาลที่จะให้ผล เห็นหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย นี้ก็แสดงชีวิตอย่างละเอียดแต่ละขณะซึ่งถ้ารู้ในความเป็นไปของสภาพของกรรม และผลของกรรม และของกิเลสซึ่งก็วนเวียนเป็นกิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ และวิปากวัฏฏ์เราก็จะมีความมั่นคงในความเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ฟังธรรมในชาติต่อๆ ไป ที่ไหนก็ตาม ก็สามารถที่จะฟังด้วยความเข้าใจถูกว่าสภาพธรรมทั้งหมดในขณะนี้ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นเวลาที่มีเสียงกระทบก็แล้วแต่ว่าถ้าถึงกาลที่กรรมของใครทำให้วิบากเกิดก็จะทำให้เมื่อเสียงนั้นกระทบปสาท แล้วก็ภวังค์ไหว ก็จะเป็นปัจจัยให้ภวังค์ขณะต่อไปเป็นภวังคจิตขณะสุดท้ายเป็นภวังคุปัจเฉทะสิ้นสุดกระแสภวังค์ ต่อจากนั้นก็จะมีปัญจทวาราวัชชนะ ถ้าเป็นทางปัญจทวาร ถ้าทางหูจะใช้โสตทวาราวัชชนะก็ได้ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ตอนนี้เป็นกาลที่กรรมให้ผลที่ต้องได้ยินเสียงซึ่งขณะนั้นเกิดแล้วยังไม่ดับทั้งโสตปสาทด้วย แล้วก็เสียงด้วย ไม่มีใครบังคับบัญชาเลย เล็กน้อยมาก สั้นมาก แต่ถึงกาลที่กรรมจะทำให้จิตได้ยินเกิด จิตได้ยินก็เกิด และก็มีผู้สงสัยว่าเสียงดีๆ กับเสียงไม่ดี แล้วถึงเวลาที่กุศลวิบากจะได้ยินเสียงที่ดี วิบากนั้นไปทำให้เสียงที่ดีเกิดหรืออย่างไรจึงทำให้ได้ยินเสียงที่ดี บางคนที่ช่างคิดก็สงสัยอย่างนั้นคล้ายๆ กับว่าเมื่อผลของกรรมที่จะให้ผลเป็นกุศลวิบากคือได้รับสิ่งที่ดี ก็เสมือนกับว่ากุศลวิบากของเราไปทำให้สิ่งที่ดีเกิดขึ้น แต่ความจริงไม่ใช่ มีความที่ละเอียดกว่านั้นว่าถ้าเป็นรูป มีรูปซึ่งเกิดจากกรรม มีรูปซึ่งเกิดจากจิต มีรูปซึ่งเกิดจากอุตุ มีรูปซึ่งเกิดจากอาหาร แต่ว่าแต่ละขณะรูปใดเกิดเพราะกรรม รูปนั้นไม่ได้เกิดเพราะจิต ไม่ได้เกิดเพราะอุตุ ไม่ได้เกิดเพราะอาหาร รูปใดเกิดจากอุตุ รูปนั้นไม่ได้เกิดจากกรรม ไม่ได้เกิดจากจิต ไม่ได้เกิดจากอาหาร เป็นกลาปเล็กๆ ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เราอยู่ที่ไหน นี้คือการที่เราจะฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจที่มั่นคงว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผลของกุศลกรรมซึ่งกุศลวิบากจะเกิด กรรมไม่ได้ทำให้รูปที่ดีเกิด แต่ว่าเวลาที่รูปที่ดีนั้นมีปัจจัยเกิด ถึงกาลที่กรรมจะให้ได้รู้สิ่งที่ดีนั้นก็เป็นเหตุให้เมื่อรูปนั้นกระทบ ภวังค์จึงไหว และก็ภวังคุปัจเฉทะจึงเกิด แต่ถ้าไม่ใช่กาลที่จะได้ยินเสียงที่ดีนั้น คนนั้นก็ไม่มีทาง รูปนั้นก็เกิดดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่ารูปก็เกิดจากสมุฏฐานของรูปไป ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่เมื่อถึงกาลที่กรรมจะทำให้วิบากประเภทใดเกิดก็จะทำให้ภวังค์ไหว และก็เป็นวิถีจิตเกิดขึ้น แล้วก็ได้ยินสิ่งที่น่าพอใจ เพราะเหตุว่าขณะนั้นกุศลกรรมเป็นปัจจัยให้กุศลวิบากเกิดขึ้นได้ยินเสียงที่ดี และก็ดับ เพียงเท่านี้ แต่การสะสมของกิเลสที่มีไม่ได้เคยจะหายไปเลย สะสมสืบต่อ

    เมื่อวานนี้ก็เป็นเรื่องพระสูตรที่ชื่อว่า "ปฐมสมุททสูตร" แสดงถึงความกว้างใหญ่ของมหาสมุทรๆ ไม่ใช่แม้น้ำลำคลอง ใหญ่มาก ถ้าเราเห็นมหาสมุทรน่ากลัวหรือไม่ กว้างสุดสายตา ลึกด้วย และมีอะไรอยู่ข้างในมหาสมุทรนั้นก็ไม่สามารถจะรู้ได้เลย มีภัยอันตรายหลายอย่าง แต่ว่าถ้าในวินัยของพระอริยะ มหาสมุทรที่เห็นด้วยตา ถ้าไม่มีจักขุปสาท จะมีการเห็นหรือไม่ การเห็นสิ่งใดๆ ก็ไม่เกิดขึ้นเลย แต่จักขุปสาทหรือจักขุไม่เคยสิ้นสุดเลย เมื่อมีกรรมที่จะทำให้เกิดก็ต้องเกิดทุกภพทุกชาติ เช่นในขณะนี้กรรมเป็นปัจจัยให้จักขุปสาทรูปเกิดแล้วดับ แต่ก่อนจะดับก็กระทบกับสิ่งซึ่งเป็นสีสันวัณณะ เป็นรูปธาตุซึ่งเกิดจากแล้วแต่ว่าเกิดจากกรรม เกิดจากจิต หรือเกิดจากอุตุ หรือว่าเกิดจากอาหาร ความรู้ของเราจากการได้ฟังธรรม เมื่อเทียบแล้วน้อยนิดกว่าปัญญาที่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด แม้แต่รูปที่กำลังปรากฏ เราก็ไม่รู้ว่าเกิดจากกรรมหรือเกิดจากจิต หรือเกิดจากอุตุ หรือเกิดจากอาหาร วันหนึ่งๆ ก็ผ่านไปด้วยความไม่รู้ มหาสมุทรของความไม่รู้ในสิ่งซึ่งเกิดดับอย่างเร็วมากหรือไม่ และเป็นไปตลอดชีวิต และก็ไม่ใช่ชาติเดียว เมื่อมีการเห็นแล้ว จักขุปสาทนี้ก็มีกรรมเป็นปัจจัยให้เกิด แม้แต่การกระทบรูป และมีการเห็น แล้วก็การเห็นขณะนี้ก็กำลังเกิดดับเร็วมาก แต่ขณะนั้นก็ยังมีปัจจัยทำให้หลังจากที่เห็นแล้วโดยที่เราไม่ต้องกล่าวถึงความละเอียดก็ได้ คือไม่ต้องกล่าวถึงสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ เกินวิสัยที่จะรู้ แต่เมื่อเห็นแล้วที่ทุกคนรู้ ก็คือว่า ชอบหรือไม่ชอบในสิ่งที่เห็น มีกำลังจากการที่เกิดเนืองๆ เมื่อเห็นแล้วนี้ไม่ทราบมาก่อน ถ้าเป็นโลภะก็ติดข้องแล้ว กำลังของโลภะที่สะสมไว้อย่างมากมาย และรวดเร็วโดยไม่ทราบมาก่อนจะมากสักแค่ไหน ลองคิดดู ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงเพื่อให้รู้ความจริง ผู้ที่สนใจที่จะเข้าใจความจริงก็จะเป็นผู้ที่ตรง และสิ่งที่ไม่จริง หรือเรื่องที่ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ ไม่สามารถจะรู้ได้ ก็จะรู้ไปทำไม เพราะฉะนั้นเราก็ฟังในเรื่องของสิ่งที่มีจริงเพื่อที่จะรู้จักสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา แต่ความจริงก็คือนามธรรม และรูปธรรมคือจิต เจตสิก รูปขณะนั้น เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมต้องรู้ ฟังด้วยความเบาสบาย ไม่ต้องไปกังวลว่าเราจะรู้มากรู้น้อยเมื่อไหร่จนถึงเมื่อไหร่สติปัฏฐานจะเกิด ขณะนั้นคือความเป็นเราทั้งหมด แต่ฟังเพราะว่าก่อนจะได้ฟัง เช่น เมื่อเช้านี้ ก็แล้วแต่ว่าใครจะได้ฟังตี ๕ ๖ โมงหรือไม่ได้ฟัง แต่ก็ขณะนี้มีโอกาสได้ฟัง นี้ก็คือความต่างของขณะที่พอจะเทียบได้ว่าถ้าเป็นอกุศลก็เดือดร้อน ไม่รู้ มหาสมุทรของความไม่รู้มากมายเหลือเกิน จนกว่าจะถึงขณะที่มีโอกาสได้ฟังขณะนี้ เพราะฉะนั้นถ้าฟังก็ฟังด้วยความเบาสบายด้วยกุศล ไม่ต้องเดือดร้อนเลยที่จะจำอย่างนั้น ยังจำไม่ได้ หรือว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร แต่ว่าให้รู้ว่าเรากำลังได้เข้าใจในสิ่งที่เราฟังเพื่อเห็นถูกว่าไม่มีเรา และเป็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้นกิเลสมากมายเป็นมหาสมุทร กว่าจะค่อยๆ มีปัญญาสะสมเข้าไปที่จะละความไม่รู้เป็นความรู้ เพราะเหตุว่าความไม่รู้ลองคิดว่าสะสมเพียงไหนที่จะเข้าไปถึงธรรมที่ติดแน่น สะสมทุกวันแน่นทุกวัน และกว่าจะออกไปได้ทีละเล็กทีละน้อยก็จะต้องอาศัยปัญญาที่เกิดจากการฟัง การไตร่ตรอง และเป็นผู้ตรงคือฟังเพื่อเข้าใจธรรม เวลานี้เราก็เริ่มเห็นกำลังของโลภะว่ามาก และโลภะก็มีถึง ๘ ประเภทโดยประมวล ซึ่งความจริงก็หลากหลายมากมาย แต่ก็มีโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด และมีโลภะที่ไม่ได้เกิดร่วมกับความเห็นผิด ไม่ว่าจะเกิดร่วมกับความเห็นผิดหรือไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิดก็ต้องประกอบด้วยเวทนา (ความรู้สึก) ซึ่งก็ไม่ใช่เรา บังคับก็ไม่ได้ จะให้โสมนัสหรือจะให้อุเบกขาไม่ได้เลย แล้วแต่เหตุปัจจัยทั้งสิ้น แต่เราพอที่จะรู้ตัวเองใช่หรือไม่ว่า ขณะหนึ่งขณะใดความรู้สึกเป็นอย่างไร เช่นขณะนี้ ความรู้สึกเป็นอะไร โทมนัสหรือไม่ ไม่โทมนัส โสมนัสหรือไม่ แล้วแต่ ถ้าไม่ใช่โทมนัส โสมนัส ก็เป็นอุเบกขา อทุกขมสุข นี้คือเข้าใจสิ่งที่มีให้ถูกต้อง แม้ว่าชื่อจะเป็นภาษาบาลี แต่เมื่อเข้าใจลักษณะนั้นก็พอที่จะรู้ได้ว่าแม้ลักษณะนั้นก็เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ถึงจะเกิดร่วมกับโลภะก็มีความติดข้องหลากหลาย ความติดข้องขณะที่ไม่มีความเห็นผิดเลยก็ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถ้าจะมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ก็มีความเห็นผิดที่ยึดถือสิ่งนั้นๆ ที่ปรากฏว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นไม่ไกลตัวเลย อยู่ที่ตัวเราตลอด แต่ถ้าไม่รู้ก็ไม่รู้ไปตลอดชาติ ก็ไม่รู้เรื่องภวังคจิต ทำไมต้องเกิดเห็นขึ้นมา ได้ยินขึ้นมา แล้วทำไมต้องมีโลภะมีความติดข้อง แต่ทั้งหมดก็เป็นธรรม ซึ่งเราสามารถที่จะเข้าใจถูกได้ในวันหนึ่งว่าไม่ใช่เรา สำหรับโลภมูลจิตกล่าวโดยย่อก็คือว่าเกิดร่วมกับความเห็นผิด และไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาบ้าง เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาบ้าง แล้วก็มีกำลังกล้าที่อาศัยการสะสมมาที่จะเกิดคิดเห็นผิดไปต่างๆ นาๆ ด้วยตนเอง หรืออาศัยการชักจูงของบุคคลอื่น เพราะว่าการคบหาสมาคมก็เป็นสิ่งที่สำคัญ จริงๆ แล้วไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย คบกับความเห็นหรือคบกับเรื่องราวต่างๆ จากสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง จากบุคคลนั้นบุคคลนี้

    เพราะฉะนั้นรวมสรุปก็คือว่าคงจะไม่ต้องไปใช้ชื่อก็ได้ แต่สามารถที่จะเข้าใจถูกได้ว่าขณะที่มีความติดข้อง กำลังติดข้องในความเห็นผิด หรือว่าไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย แต่จริงๆ แล้วทั้งโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด และไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ขณะนั้นอกุศลใดๆ ไม่สามารถจะรู้ความจริงได้ ต้องเป็นปัญญาจึงสามารถจะรู้ได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    26 ม.ค. 2567