พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 135


    ตอนที่ ๑๓๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ เพียงเฉพาะวันนี้ แล้วเราคิดถึงเพียงเมื่อวานนี้ พอที่จะรู้ได้หรือไม่ ว่าอะไรเกิดมาก วิบากเกิดแน่นอนเพราะว่ามีกรรมที่ได้กระทำแล้วที่ทำให้มีการเห็น การได้ยิน ซึ่งเลือกไม่ได้เลย แล้วแต่ว่าเป็นกาลของกรรมใด แต่ว่าหลังจากนั้นแล้วกิเลส และกุศลที่สะสมมาที่เป็นอาสยะแต่ละขณะที่เกิดแล้วดับแล้วเมื่อวานนี้ ไม่ได้ไปไหนเลย อยู่ในจิต สะสมอยู่ในจิต แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ในลักษณะที่ว่าเกิดดับแล้วก็เที่ยง แม้ดับไปแล้วสิ่งที่เกิดแล้วก็สะสมสืบต่อจากเมื่อวานนี้ถึงวันนี้ นี้เพียงเฉพาะเมื่อวานนี้ถึงวันนี้ แล้วก่อนนั้นตั้งแต่เกิดมา ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ประสบทั้งกุศล และอกุศลก็สะสมสืบต่ออยู่ในจิตซึ่งเราก็พอที่จะรู้ทางเดินของเราว่าส่วนใหญ่เราเดินทางไหน เดินทางอกุศลหรือเดินทางกุศล นี้ก็เพียงแต่เตือนให้เรารู้ว่าที่เราศึกษา ก็เพื่อให้ถึงความเข้าใจลักษณะสภาพธรรมด้วยความเข้าใจยิ่งขึ้นในความเป็นอนัตตาว่า ไม่ใช่เรา เมื่อไรจะรู้จริงๆ อย่างนี้ ต้องฟังแล้วก็ไตร่ตรองแล้วก็พิจารณา เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ อกุศลสะสมไว้มาก เพียงเฉพาะเมื่อวานนี้ ไม่ต้องถึงวันก่อนๆ มากเพียงไหน แล้วยังวันนี้ และยังต่อไปอีก เพราะฉะนั้นส่วนของกุศลที่เราสะสมก็ไม่มากเท่ากับฝ่ายอกุศล แต่สะสมต่อไปอีกด้วยความเพียร ด้วยความอดทน ด้วยปัญญาที่เห็นประโยชน์ แม้ในเรื่องของโลภะ ไม่ได้ไกลตัวเลย แต่ไม่เคยรู้ว่าโลภะในวันหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นเป็นโลภะประเภทไหน สำหรับผู้ที่ได้ฟังธรรมแล้วก็มีความเข้าใจในเรื่องอนัตตาคือสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่เรา และก็ไม่ใช่ของเรา แม้ว่าเพียงฟังเข้าใจ แต่ก็รู้ว่าเพียงเท่านี้ไม่พอที่จะดับกิเลสที่ยังคงเป็นไปตามกำลังของการสะสม ต้องอาศัยการฟังเพิ่มขึ้น แม้ในขณะนี้ที่กำลังเห็น จึงมีข้อความที่ได้ทรงพระมหากรุณาแสดงความจริงของธรรมว่าจิตขณะใดเป็นกุศล จิตขณะใดเป็นอกุศล จิตขณะใดเป็นวิบาก จิตขณะใดไม่ใช่ทั้งกุศล และอกุศล

    เพราะฉะนั้น การที่เรากล่าวถึงธรรมเรื่องราว และก็ไม่รู้จักตัวจริงของธรรม ก็จะมีความเข้าใจถูกต้องว่า จะไปฝืนให้รู้จักตัวจริงของธรรมด้วยความไม่รู้ หรือด้วยความเข้าใจเพียงเล็กๆ น้อยๆ นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องอาศัยการสะสม การฟัง และก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นจนถึงกาลที่สามารถจะมีการระลึกคือรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟัง แล้วก็เข้าใจขึ้น เมื่อนั้นจะเห็นตัวจริงของสิ่งที่เราได้ฟัง แม้แต่โลภมูลจิต ๘ ประเภท คือที่เกิดร่วมกับทิฏฐิ ๔ ที่ไม่เกิดร่วมกับทิฏฐิ ๔ ที่เกิดร่วมกับโสมนัส กับที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาอย่างละ ๔ และที่มีกำลังเกิดเองโดยที่ไม่ต้องลังเลไม่ต้องอาศัยการชักจูง หรือการที่จะต้องคิดแล้วคิดอีกก็เกิดขึ้นมาได้ ขณะนั้นก็เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพราะผู้ที่อบรมเจริญปัญญาถ้ายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ก็เป็นเพียงเรื่องราว แต่ยังไม่สามารถที่จะละการเห็นว่าโลภะที่เกิดก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มีลักษณะอย่างนั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นก็จะรู้ด้วยตัวเองว่ายังมีการที่จะต้องอบรมความรู้ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมต่อไป แต่ก็ต้องอาศัยการที่ได้ยินได้ฟัง และค่อยๆ ก็เข้าใจขึ้น

    เรื่องโลภะนี้น่าสนใจหรือไม่ เพราะเหตุว่าเกิดร่วมกับความเห็นผิดก็มี และที่ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิดก็มี แล้วก็ยังมีที่เกิดร่วมกับความสำคัญตนด้วย นี้ก็เป็นลักษณะของโลภะ เป็นสภาพธรรมที่ต่างกันไปว่า ขณะไหนที่ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ไม่มีมานะเกิดร่วมด้วย แต่ก็ยังเป็นโลภะ บุคคลอื่นบอกเราได้หรือไม่ ว่าเรามีโลภะประเภทไหนบ้าง ต้องเป็นปัญญาของเราเองซึ่งจะรู้ได้จริงๆ เมื่ออบรม เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ถ้าขณะใดที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่รู้ในลักษณะนั้น สิ่งนั้นก็เกิดแล้วดับแล้ว ไม่ต้องไปกังวลถึงสิ่งซึ่งดับแล้ว แต่ขณะนี้กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ และแทนที่จะเป็นโลภะก็เป็นการค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้โดยอาศัยการฟัง น่ากลัวหรือไม่ โลภะ น่ากลัวหรือว่าน่าชอบเหมือนเดิม

    ผู้ฟัง มานะในที่นี้หมายถึงขยันหรือแข่งดี แล้วก็ใคร่ขอแสดงความคิดเห็นว่า มีพระสูตรในพระไตรปิฎกสอนว่า ให้ใช้มานะละมานะ ให้ใช้ตัณหาละตัณหา แต่ในความคิดเห็นว่า ควรจะสอนให้เด็กมีความเข้าใจกุศล และอกุศล และมีตัณหาในการที่จะละอกุศล แล้วก็มีตัณหาในการเจริญกุศล ไม่ทราบมีความคิดเห็นตรงนี้ถูกต้องหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ความจริงก็คือความจริง เพราะฉะนั้นใครจะเข้าใจว่ามานะเป็นสิ่งที่ดี เขาคงจะได้ยินคำว่า “มานะ” ในภาษาไทย และคิดว่าว่าต้องเป็นผู้ที่อดทน และก็บากบั่น ขยันหลายๆ อย่างเพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จ ขณะนั้นก็คือว่ายังไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งในพระพุทธศาสนาพระผู้มีพระภาคทรงใช้คำว่า “มานะ” หมายความถึงสภาพที่สำคัญตน ก็อาจจะมีอาการกิริยาที่แสดงออกมาให้เห็น ความหยิ่ง ความทะนงตน ดีหรือไม่ดี ไม่ดี เมื่อไม่ดีก็ต้องเป็นสิ่งที่ไม่ดีแน่นอน และก็เป็นสิ่งซึ่งพระอรหันต์เท่านั้นที่จะดับได้เป็นสมุทเฉท ก็แสดงให้เห็นว่ารากของมานะก็ลึกเท่าๆ กับอวิชชา และโลภะ ซึ่งแม้แต่ขณะที่เราจะอยู่ที่หนึ่งที่ใดก็ตาม ไม่จำเป็นต้องเลือกสถานที่ เดี๋ยวนี้ขณะนี้ก็มีความสำคัญตนได้ ถ้ามีความรู้สึกที่มีเรา แล้วมีความสำคัญตนด้วย เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ก็เพื่อที่จะให้เห็นโทษของอกุศลแม้เพียงน้อย เมื่อสักครู่นี้เรากล่าวถึงเด็กที่ต้องมีการอบรมสั่งสอน แต่ผู้ที่สั่งสอนๆ ด้วยจิตประเภทไหน ด้วยโลภะ ด้วยมานะ หรือด้วยความเห็นผิดก็แล้วแต่ ถ้าเป็นผู้ที่ความเห็นผิดในเรื่องของสภาพธรรมก็สอนไปในความเห็นผิดนั้นๆ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่มีความเมตตามีความหวังดีจริงๆ ก็จะต้องเป็นผู้ที่รู้จักเด็กคนนั้นพอสมควร แล้วก็รู้ว่าเขาสามารถที่จะค่อยๆ รับ ไม่ใช่รับทันทีอย่างที่เราต้องการ แต่ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น ในความรู้สึกของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ทั้งหลาย เราเป็นเด็กโง่หรือไม่ หรือว่าเราเป็นเด็กฉลาด หรือว่าเราเป็นเด็กดีสอนง่าย สอนอะไรก็เข้าใจเลย ทำได้เลย ปฏิบัติได้เลย มีปัญญาเกิดขึ้นได้เลย หรือไม่ ฉันใด ก็จะเห็นได้ว่าทั้งหมด ความหลากหลายของสภาพของจิตมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ต้องกล่าวถึงจำนวนของบุคคลไม่ว่าในโลกมนุษย์ หรือในอบายภูมิ หรือในสวรรค์ แม้แต่จิตของเราในวันหนึ่ง ก็หลากหลายตามการสะสม ตามการปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นถ้าเราจะช่วยใครจริงๆ ก็ขอให้เรามีความรู้ความเข้าใจจริงๆ และก็จริงๆ ก็คือว่าอย่างน้อยที่สุดก็ยังมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าธรรมใดเป็นกุศล ธรรมใดเป็นอกุศล

    สำหรับเรื่องมานะ ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี และก็ไม่มีใครชอบคนที่หยิ่ง คนที่ทะนง คนที่มีความสำคัญตน คนที่ก้าวร้าว ทุกคนก็มองเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรฉันใด เพราะฉะนั้นก็คือสอนตัวเอง และก็สอนคนอื่นด้วยความอดทนที่จะให้เป็นไปตามที่เรามีความหวังดี และมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ธรรมทั้งหมดถ้าเป็นฝ่ายกุศลต้องอดทน และต้องพร้อมด้วยกุศลอื่นๆ ประกอบกันด้วย เช่นไม่ใช่มีแต่ความหวังดีแต่ต้องมีเมตตาจริงๆ ไม่ใช่หวังดีแต่สอนด้วยโทสะ อย่างนี้ขณะนั้นเขาอาจจะได้ประโยชน์แต่เราเสียประโยชน์เพราะว่าขณะนั้นเกิดโทสะ ก็เป็นเรื่องที่ยากที่จะคิดถึง แต่ถ้าจะคิดถึงพระมหากรุณาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงธรรมโดยละเอียดยิ่ง และไม่มีผิดเลยสักคำเดียว เราก็จะค่อยๆ ไตร่ตรอง และก็แก้ตัวของเรา และก็สามารถที่จะช่วยคนอื่นได้ถ้าเรามีความเห็นที่ถูกต้องขึ้น แต่ต้องพร้อมที่จะรับฟัง เพราะถ้าเราคิดถึง “เรา” กับพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นเด็กเพียงไหน ไม่รู้เพียงไหน โง่หรือฉลาดเพียงไหน เพราะฉะนั้นคนอื่นซึ่งยังไม่เคยฟังธรรมเลย เราก็ต้องพิจารณาว่าเขาจะค่อยๆ เข้าใจธรรมได้อย่างไร นี้จึงจะเป็นการหวังดีจริงๆ ค่อยๆ อดทนที่จะให้เขาเข้าใจถูก

    ผู้ฟัง ขอทราบตัวอย่างสมโลภะ กับ วิสมโลภะ ในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ โลภะในชีวิตประจำวัน คือได้มีการที่จะเพ่งเล็งจนกระทั่งกระทำทุจริตกรรมไม่ได้เป็นอันตรายกับใคร เพราะเหตุว่าเป็นชีวิตประจำวันของทุกชีวิต เช่น ตื่นขึ้นมาได้ยินเสียง หรือการดำเนินชีวิตในประจำวัน ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต สิ่งนี้ต้องรู้ก่อนต้องเป็นผู้ที่ตรง คงจะไม่มีใครบอกว่าเป็นกุศลจิตในขณะที่เดินไปอาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหาร เพราะว่าขณะนั้นก็เป็นความต้องการหรือความติดข้อง ก็เป็นโลภะที่เป็นสมโลภะ เป็นธรรมดา เป็นปกติ แต่ถ้ามีกำลังขึ้น เราก็จะรู้ว่าเริ่มมีอาการผิดปกติ ก็จะมีการต้องการสิ่งซึ่งอาจจะกระทำไปด้วยความทุจริตทางกาย ทางวาจาก็ได้ ขณะนั้นก็จะเห็นความต่างของโลภะซึ่งเป็นปกติกับโลภะที่ไม่ใช่ปกติ

    ผู้ฟัง โลภะนี้เป็นปัจจัยให้เกิดมานะ เรียนถามว่าสมโลภะหรือ วิสมโลภะที่เป็นปัจจัยให้เกิดมานะ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องของคำ แต่เป็นเรื่องที่เราจะเข้าใจธรรมว่า ความเห็นผิดเกิดร่วมกันกับโลภะ ความสำคัญตนเกิดร่วมกับโลภะ แต่ต่างขณะ เพราะถึงแม้ว่าจะดับความเห็นผิดแล้ว ก็ยังมีมานะความสำคัญตนได้ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งอกุศลทั้งหลายเมื่อเกิด ก็เกิดร่วมกันได้ เช่นมานะไม่เกิดกับโทสะ แต่มานะเกิดกับโลภะ เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่าที่โลภะเป็นปัจจัยให้เกิดมานะได้ก็เพราะเหตุว่ามานะต้องเกิดกับโลภะ แต่จะไม่เกิดกับอกุศลจิตประเภทอื่น

    ผู้ฟัง ขอให้ขยายความว่า “ความสำคัญตน” คำว่า “ตน” ในที่นี้หมายถึงสักกายทิฏฐิหรือไม่ เพราะว่าพระโสดาบันก็สามารถละสักกายทิฏฐิได้แล้ว ยังไม่สามารถละมานะได้ แต่คำว่า “ตน” นี้หมายถึงอะไร

    อ.วิชัย ก็ต้องแยกระหว่างความเห็นผิดที่เป็นสักกายทิฏฐิ คือเห็นว่าขณะนั้นเป็นตัวตนของเรา กับคำว่าขณะนั้นเป็นเรา ท่านพระโสดาบันสามารถละความสำคัญตนว่าเรากับบุคคลอื่น ก็ให้เห็นถึงลักษณะของตนที่เป็นเรื่องของความเห็นผิดที่เห็นว่าขันธ์ ๕ หรือความเป็นตัวตนของเรา กับคำว่า “เป็นเรา” ซึ่งเป็นลักษณะของมานะก็มีความต่างกัน เพราะเหตุว่าพระโสดาบันสามารถละมานะความสำคัญตนเห็นที่ไม่ถูกต้อง เช่น ละได้ว่าตัวเรานี้สูงกว่าเขา แต่ก็จะไม่เห็นว่าตัวเราต่ำกว่าเขาหรือเสมอเขา จะมีความสำคัญตนที่ตรงตามความเป็นจริงสำหรับพระอริยบุคคล แต่ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลก็สามารถมีความสำคัญตนที่ต่างออกไปได้ อย่างเช่นมีความสำคัญตนว่าสูงกว่าหรือต่ำกว่าได้ ดังนั้นคำว่า “ตน” นี่หมายถึง “เรา” ที่ไม่ใช่ในลักษณะของสักกายทิฏฐิ

    ผู้ฟัง เรียนขอความกรุณาท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ "มานะ" ถ้าโดยความเป็นตนก็คือเป็นมานะๆ เป็นอื่นไม่ได้ เวลาที่มีความเป็นตนจะรู้ความต่างของเป็นตนด้วยโลภะ (ความติดข้อง) หรือว่าเป็นตนด้วยความเห็นผิดว่ามีเรา หรือว่าเป็นตนด้วยความสำคัญตน ได้แก่สภาพธรรม คือ มานะเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งไม่ใช่โลภะ และไม่ใช่ทิฏฐิ เพราะ ทิฏฐิ คือ มีความเห็นยึดถือว่าสิ่งนั้นเป็นเรา หรือ เป็นตน มีความเห็นผิดในสิ่งที่มีว่าเป็นตัวตนหรือเป็นเรา นั้นคือความเห็น แต่ถึงแม้ว่าจะได้รู้แจ้งในอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคลก็ยังมีโลภะ และยังมีมานะด้วย แต่มานะก็ไม่ใช่โลภะ โลภะก็คือความที่เป็นตนโดยความติดข้อง อย่างเราอย่างนี้ ไม่ใช่คนอื่น เราก็ติดในสิ่งที่เรามี แต่ไม่ใช่ด้วยความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนจริงๆ ซึ่งไม่เกิดดับ เพราะเหตุว่าได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ประจักษ์แจ้งการเกิดดับ แม้สัญญาความจำว่าเป็นอัตตสัญญาก็ไม่มี แต่ยังมีสุขสัญญา กับศุภสัญญา ยังมีความว่าเรางาม หรือ เป็นสุข แต่ไม่ใช่ด้วยความเห็นผิด เพราะเหตุว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้น และก็รู้ความจริงว่าสิ่งนั้นก็เป็นเพียงแต่สภาพธรรมเกิดแล้วก็ดับไป แต่ยังมีความติดข้องในความเป็นเราด้วยความสุข หรือ ด้วยความงาม แต่ขณะนั้นไม่ใช่ด้วยมานะ เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะไม่มีการเห็นผิดยึดถือสภาพธรรมเพราะประจักษ์แจ้งก็จริง แต่กิเลสที่สะสมมานานมากซึ่งยังไม่ได้ดับก็มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น มีความสำคัญในความเป็นเราด้วยมานะ เช่น เป็นพระโสดาบันหรือเป็นผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม หรือมีการรู้ตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่พระสกทาคามี หรือพระสกทาคามีก็ไม่ใช่พระอนาคามี ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่รู้ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น จะเห็นความละเอียดของความสำคัญตนว่า ในอรูปพรหมภูมิเป็นอรูปพรหมบุคคลก็ไม่ได้ดับมานะเป็นสมุทเฉท ถ้ายังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น เวลาที่จะเกิดที่ไหน อย่างไรก็ตาม เกิดมีความสำคัญในความเป็นเรา แต่ไม่ใช่ด้วยความเห็นผิด ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของความสำคัญหรือว่าเราด้วยมานะ พอที่จะเห็นความต่างของเจตสิก ๓ ประเภท โลภะคือ ตัณหาเป็นเราด้วยตัณหา เป็นเราด้วยมานะ เป็นเราด้วยทิฏฐิ ก็เป็นเรื่องละเอียด แต่จริงๆ ก็เป็นอย่างนั้น วันนี้ที่ว่าเป็นเราเป็นอย่างไรบ้าง แข็งแรงดี นี่ไม่ได้เห็นผิด เพียงแต่ว่าแข็งแรงดี และก็มีความสำคัญตนหรือไม่ แข็งแรงดีเท่านั้นในสุขภาพ หรือ เราแข็งแรงกว่าคนอื่นก็ได้ ใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้สึกว่าเราแข็งแรงก็ไม่มีมานะ เป็นแต่เพียงความพอใจในเราที่แข็งแรง ขณะนั้นก็เป็นโลภะ แต่ใครก็ตามที่ยังไม่ได้ดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เมื่อยังไม่ประจักษ์สภาพธรรมว่าเป็นธรรม ในบางกาลก็จะมีการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตน แต่ว่าในวันหนึ่งจริงๆ ลองคิดดูว่าโลภะส่วนใหญ่ของแต่ละคนเป็นไปในอะไร ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ โดยไม่ได้คิดอะไรแต่ก็ติดเสียแล้ว ใช่หรือไม่ ไม่ได้คิดเรื่องเป็นสิ่งที่เที่ยงหรืออะไรเลย แต่พอใจในสิ่งที่ปรากฏ และขณะนั้นถ้าไม่มีความรู้สึกสำคัญตน ขณะนั้นก็คือโลภะที่เป็นปกติในชีวิตประจำวันซึ่งก็มีมาก เพราะฉะนั้นธรรมนี้เป็นสภาพธรรมที่ละเอียด แล้วก็เกิดดับเร็วที่สุด

    ถ้าเราเพียงแต่ศึกษาเราก็จะเป็นเพียงการรู้เรื่องราวของสภาพธรรมซึ่งขณะนี้สภาพธรรมก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ปรากฏก็เป็นแต่เพียงนิมิตเหมือนถูกหลอก เพราะเหตุว่า สภาพธรรมใดที่ปรากฏแล้วขณะนี้ดับแล้วทั้งหมด แต่ก็ปรากฏเสมือนว่ายังมีอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ความจริงว่าอะไรหลอกให้เห็นว่าเหมือนเที่ยง ไม่ได้ดับเลย ก็คือการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของสภาพธรรมนั้นเอง พอที่จะเห็นความต่างหรือไม่

    ผู้ฟัง สงสัยเรื่องโลภมูลจิตที่มีวิริยะเกิดร่วมด้วย เพราะว่าวิริยเจตสิกก็เกิดกับโลภมูลจิตทุกดวงทุกประเภท

    ท่านอาจารย์ นี้คือความละเอียดที่ทรงแสดงจิตว่าจะต้องมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยบ้างจำนวนเท่าไร เช่น ขณะที่เห็นไม่ต้องมีวิริยเจตสิกเลย เพราะว่าเมื่อถึงกาลที่กรรมใดจะให้ผล ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีอะไรปรากฏเลย กำลังเป็นภวังค์ หมายความว่าไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก เพราะเหตุว่าถ้าจะแบ่งจิตออกเป็นประเภทใหญ่ๆ จิตที่เป็นวิถีจิตต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับจิตอีกประเภทหนึ่งไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เช่นขณะที่หลับสนิท เพราะฉะนั้นสำหรับเรื่องของการเห็นที่จะเกิดขึ้นโดยที่ว่าก่อนนั้นไม่เห็น หรือว่าเสียงจะปรากฏ โดยที่ก่อนหน้านั้นเสียงไม่ได้ปรากฏ ขณะนี้เสียงไม่ได้ปรากฏ และเวลาที่เสียงจะปรากฏได้ ก็แสดงให้เห็นว่าจะต้องมีกรรมเป็นปัจจัย แล้วก็มีโสตปสาทเป็นต้น ทั้งโสตปสาท และเสียงมีอายุเพียง ๑๗ ขณะ เร็วมาก แต่กรรมก็สามารถจะเป็นปัจจัยให้วิถีจิตเกิด โดยปัญจทวาราวัชชนจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่าโสตวิญญาณ เพราะเหตุว่าปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ใช่วิบากจิต ไม่ได้เป็นการกระทบกันของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นผลของกรรม แต่ก่อนที่วิบากจิตจะเกิด กรรมจะให้ผลได้ต้องมีจิตประเภทนี้เกิดคั่นระหว่างภวังคจิตกับจิตที่เป็นผลของกรรมที่เป็นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าทรงแสดงจิตโดยละเอียดว่า จิตขณะไหนมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยเพราะเหตุใด เพราะฉะนั้น เมื่อถึงปัญจทวาราวัชชนจิตหรือจิตอื่นๆ ซึ่งถ้ากล่าวโดยประเภทของจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุคือโลภะ โทสะ โมหะ เพราะเหตุว่าเป็นเพียงผลของกรรม และเป็นกิริยาจิต จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุจะไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นไปตามกระแส เป็นไปตามปัจจัย คือกัมมปัจจัย และปัจจัยอื่นๆ แต่เวลาที่จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เปลี่ยนสภาพจากการที่เพียงเห็น เพราะฉะนั้นจากการที่เพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏ จะเห็นได้ว่าเมื่อสิ่งนั้นดับไปแล้ว ถ้ากล่าวโดยนัยของพระสูตร ไม่กล่าวละเอียดถึงจิตประเภทใดบ้างซึ่งเกิดสืบต่อ เพราะเหตุว่าเท่าที่แต่ละคนสามารถจะเข้าใจได้ คือ เมื่อเห็นแล้วไม่ว่าจะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็จะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต แล้วอกุศลจิตก็แล้วแต่ว่าจะเป็น โลภมูลจิตคือจิตที่ติดข้องพอใจในสิ่งที่ปรากฏ หรือว่าเป็นโทสมูลจิตหรือว่าไม่ชอบสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นความต่างของจิต ๒ ประเภทก็จะเห็นได้ว่าสำหรับจิตเห็นไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    26 ม.ค. 2567