พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 146


    ตอนที่ ๑๔๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ผู้ฟัง ที่เราศึกษาพระธรรม แล้วเราจะต้องละสัตว์ บุคคล ตัวตน ก็ครอบคลุมหมดทั้ง ๔ ที่กล่าวใช่ไหม คือทิฏฐิ ตัณหา มานะ แต่จริงๆ แล้วโดยชีวิตประจำวัน สภาพธรรมนั้นรวมๆ กันอยู่หรือ

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปสืบต่อเร็วมากแล้วแต่ว่าเป็นประเภทไหน จะมีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยหรือไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย จะมีมานะเกิดร่วมด้วยหรือไม่มีมานะเกิดร่วมด้วย ก็เป็นแต่ละขณะจิต

    ผู้ฟัง ถ้าจะให้ระลึกว่าสิ่งนี้คือลักษณะติดข้องของมานะ ทิฏฐิ ตัณหา ก็แยกไม่ออก

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเราคิดเรื่องราวว่านี่เป็นลักษณะของอะไร แต่จริงๆ แล้วขณะนั้นต้องรู้ในลักษณะที่เป็นธรรมซึ่งเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมเท่านั้น

    ผู้ฟัง อย่างนี้เพียงแค่รูป ๗ รูป กับนามธรรมในชีวิตประจำวันที่จะปรากฏได้

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏถ้ายังไม่รู้ แล้วจะไปรู้สภาพธรรมอื่นเป็นไปไม่ได้

    ผู้ฟัง ลักษณะความเป็นตัวตนหรือลักษณะของอนัตตาก็เป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้ได้

    ท่านอาจารย์ เกิดเมื่อไร สติระลึกเมื่อนั้นแล้วก็ดับ ถ้ายังไม่เกิดจะไปนั่งคิดสักเท่าไรก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้

    ผู้ฟัง คำว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา มีจริง และก็ปรากฏได้ แล้วความที่เป็นอนัตตาหรือไม่มีตัวตนก็จะปรากฏได้เช่นกัน

    ท่านอาจารย์ เข้าใจขึ้นว่าเป็นอนัตตา แต่ต้องลักษณะนั้นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ลักษณะอื่น ลักษณะสภาพธรรมที่สติกำลังระลึก ลักษณะนั้นเป็นอนัตตาจริงๆ เป็นธาตุ แต่ปัญญายังไม่รู้ ยังไม่เข้าถึงความเป็นธาตุ และความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมนั้นจนกว่าจะระลึกบ่อยๆ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ขณะนี้หมายถึงว่ารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แต่สิ่งที่เด่นชัดคือเสียงที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเสียงยังไม่ปรากฏจะเด่นชัดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าเสียงไม่ปรากฏ แล้วอะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง รูป

    ท่านอาจารย์ รูปอะไร

    ผู้ฟัง สีต่างๆ

    ท่านอาจารย์ ปรากฏแล้ว อาจหาญ ร่าเริง ในพระไตรปิฎกมีข้อความนี้ ไม่ใช่หลับตา หลบหลีก

    ผู้ฟัง ก็พยายามที่จะหลีกเลี่ยง

    ท่านอาจารย์ นั่นคือไม่รู้ อย่างไรก็ไม่รู้สิ่งที่ปรากฏแน่ๆ เพราะว่าเลี่ยงอยู่ตลอดเวลา ไหนๆ ก็ต้องเห็น เกิดชาติไหนก็ต้องเห็น

    ผู้ฟัง ที่หลับตาเพื่อให้เสียงปรากฏ

    ท่านอาจารย์ นั่นคือตัวตนกำลังเป็นผู้จัดการ อยากให้สติเกิดมากๆ แต่ตราบใดที่ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่สามารถจะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอริยสัจจธรรมได้เลย หลีกไปไหนก็ไม่พ้น มีแต่ไม่รู้ ไม่รู้จึงหลีกไป แล้วหลีกไปก็ไม่รู้ ฉะนั้นก็หลีกให้ไม่รู้ไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง แล้วลืมตา

    ท่านอาจารย์ ก็มีสิ่งที่ปรากฏ อาจหาญร่าเริงที่จะรู้ความจริงว่าเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งจริงๆ ไม่ใช่เสียง

    ผู้ฟัง สิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งนี้ก็จริงคือบัญญัติ รบกวน รบกวนสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ รบกวนคนอยาก

    ผู้ฟัง ใช่ ทั้งๆ ที่เราจะว่าอยากก็ไม่เชิง

    ท่านอาจารย์ อยาก ถึงได้รบกวน ถ้าไม่อยากจะต้องรบกวนอะไรเพราะเกิดตามเหตุตามปัจจัย ใครไปทำอะไรได้ เพียงแต่ว่าเมื่อไรที่ปัญญาสมบูรณ์จะเข้าใจความหมายของคำว่า “ละ” ก่อนจะละก็ต้องคลาย ไม่มีใครจะละโดยไม่คลายได้ และเวลาที่คลายก็อย่างหนึ่ง เวลาที่มีปัญญาสมบูรณ์ถึงขั้นที่ละก็อย่างหนึ่ง ถ้าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาจะมีเยื่อใย สนใจ ติดใจจะทำอย่างนี้ไหม หรือว่าละทันทีแล้วก็มีสภาพธรรมอื่นให้ละต่อไปอีกด้วยความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ด้วยความไม่รู้ แต่เป็น “เรา” ที่พยายามจัดการทุกอย่าง จัดการอย่างไรก็ไม่รู้ เพราะว่าด้วยความไม่รู้จึงจัดการ และก็จัดการด้วยความไม่รู้ และจัดไปแล้วก็ไม่รู้ด้วย

    ผู้ฟัง ก็เห็นอยู่อย่างนั้น เป็นแต่บัญญัติทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ ฟังจนกระทั่งค่อยๆ ระลึกได้ แม้แต่การคิดถูกก็ยังต้องอาศัยการฟังเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้ระลึกได้ว่าขณะนี้ ถ้าจะคิดว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ห้ามไม่ได้ แต่คิดจนเหนื่อยแล้ว ไม่ต้องคิดก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเหมือนกัน ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็คือค่อยๆ เข้าใจ และไม่ใช่ไปติดอยู่กับสิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อมีเสียงปรากฏ การที่รู้ว่าแม้เสียงก็เป็นสภาพธรรม ซึ่งขณะนั้นไม่มีอภิชฌา และโทมนัส ถ้าอยู่ตรงลักษณะนั้นเฉพาะแต่ละลักษณะทีละลักษณะ

    ผู้ฟัง เรากำลังปริยัติเสียงที่ปรากฏ เราก็อยากจะรู้ว่าหมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เวลาฟัง ไม่ได้เห็น ไม่ได้รู้ ไม่ได้อยาก เมื่อได้ยินก็สะสมมาแล้วที่จะรู้ความหมายของเสียงสูงๆ ต่ำๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเสียงกระทบหูก็เข้าใจความหมาย เหมือนพร้อมกันเลย แต่ต้องรู้ ไม่ใช่ตามความอยากไป ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง โดยปกติแล้วทุกคนก็จะมีอุปนิสัยแตกต่างกัน แล้วก็จะสะสมทั้งสิ่งดี และสิ่งไม่ดีมา ทีนี้พอเราพิจารณาตัวเราเอง เราก็จะมองเห็นว่าตัวเราเองก็มีบางสิ่งบางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่ดีซึ่งเราสะสมมา แต่เราก็บอกกับตัวเองว่าสิ่งไม่ดีที่เราสะสมมา เราก็บังคับบัญชาให้ไม่เกิดก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เหมือนกับเราล่องลอยตามสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาเปลี่ยนแปลงบ้างหรือไม่ หลังจากที่ฟังธรรมเข้าใจแล้ว

    ผู้ฟัง ถ้าพิจารณาโดยรวม และจากที่คนอื่นบอกกล่าวก็มีการเปลี่ยนแปลงบ้าง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีการฟังเลย ก็ล่องลอยไปยิ่งกว่านี้ใช่ไหม ตามการสะสมที่คุณสุกัญญาบอกว่าสะสมอกุศลมามาก เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ฟังแล้ว สังขารขันธ์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวคุณสุกัญญาที่พยายามจะเปลี่ยน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น และเปลี่ยนไปแล้วเพราะการปรุงแต่งของความเข้าใจถูกทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง อย่างโลภะนี่จะเห็นได้ชัดว่าทุกคนจะมี และมีค่อนข้างมาก เมื่อโลภะเกิดขึ้น เราจะบอกกับตัวเองว่าเราอยากอีกแล้วนะ เราต้องการอีกแล้วนะ แล้วเราบังคับบัญชาไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจว่าทำไม่ต้องมานั่งบอก ใครบอกบ่อยๆ บ้างว่าพอโลภะเกิดก็นี่นะโลภะเกิดอีกแล้ว สะสมมามากมายถึงได้เกิดขึ้นอะไรอย่างนี้

    ผู้ฟัง เป็นความคิดจริงๆ

    ท่านอาจารย์ มีใครคิดอย่างนี้บ้าง คุณธิดารัตน์คิดหรือไม่

    อ.ธิดารัตน์ บางทีก็คิด บางทีก็ไม่ได้คิด ก็แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ คุณวิชัยคิดไหม

    อ.วิชัย ไม่ได้คิด

    ท่านอาจารย์ แล้วคุณธีรพันธ์

    อ.ธีรพันธ์ ก็รู้สึกว่าจะคิดไม่ทัน

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วก็คงจะเป็นอัธยาศัย บางคนก็ชอบคิดย้อนย้ำถึงสิ่งที่ฟัง สิ่งที่กำลังมีในขณะนั้น แต่จริงๆ เข้าใจว่าจะน้อยกว่าคนที่ไม่คิด เพราะว่าโลภะเกิดเราก็เพลิน สนุกแล้ว จบไปแล้ว ต่อไปก็เพลินต่อไปอีกก็เรื่องอื่นอีก วันหนึ่งๆ แต่ถ้าสติสัมปชัญะเกิดจะต่างกัน ไม่ใช่มีเราไปนั่งคิดไตร่ตรอง ว่าโลภะตั้งมากมายวันนี้ แล้วยังจะเกิดต่ออีกข้างหน้า ปัญญาก็นิดเดียว ต่อไปโลภะจะมาอีกสักเท่าไร ก็เป็นเรื่องซึ่งไม่จำเป็นเลย เพราะเหตุว่าขณะที่คิดก็เป็นเราด้วย และก็ยังเป็นความพอใจที่จะคิดด้วย แต่ว่าละเอียดกว่า เพราะเหตุว่ากำลังคิดเรื่องของโลภะ ซึ่งมีมากแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ว่าตามความเป็นจริงโลภะที่สะสมมานานจนกระทั่งปรากฏให้เราเห็นว่าต้องมากอย่างนี้ตามความเป็นจริง จะน้อยกว่านี้ได้อย่างไรในเมื่อแสนโกฏิกัปป์นับไม่ถ้วนจนกระทั่งถึงวันนี้ มีแต่ความติดข้องทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มากบ้างน้อยบ้าง ยังไม่ทันจะรู้สึกตัว แค่ได้ยินก็เป็นโลภะแล้ว ลองคิดดูก็แล้วกัน ถ้าเข้าใจจริงๆ และก็หลายวาระด้วยในวันหนึ่งๆ และที่เพิ่มกำลังจนกระทั่งเป็นความติดข้องที่พอใจอย่างมากก็ยังมี ในอาหารอร่อย ในอะไรๆ อีกหลายอย่าง ดอกไม้สวยๆ นับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้นไม่ต้องเป็นกังวลว่าโลภะจะไม่มาอย่างรวดเร็ว แล้วจริงๆ แทบจะหนีไม่พ้น แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือว่าเรามีความเห็นถูก เรามีความเข้าใจถูกในธรรมหรือไม่ ในหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมอย่างมั่นคงหรือไม่ เพราะเหตุว่าการที่จะพ้นไปจากโลภะ เพียงแค่ให้มีความเห็นถูกในเรื่องหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาก็ยาก เพราะว่าไม่ใช่มีแต่เพียงโลภะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในชีวิตประจำวัน ยังติดข้องในความเห็นผิดด้วยความต้องการผล ต้องการปัญญาอีก ต้องการที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม โลภะไม่ได้ปล่อยไปเลย ขณะใดที่ผิดจากหนทางที่ต้องอดทน ที่ต้องเป็นความรู้จริงๆ เข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสิ่งที่มีที่ปรากฏ ขณะนั้นยากเท่าไร จะเห็นได้ว่าโลภะไม่ยอมที่จะให้เป็นอย่างนั้นง่ายๆ ให้ไปทางอื่นอยู่ตลอดเวลา มีทางลัด มีทางอะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ไม่ต้องไปคิดเรื่องโลภะมากมายแค่ไหน เพราะว่ามากนับไม่ถ้วน

    ผู้ฟัง แต่ตรงข้ามกับลักษณะของโทสะ อย่างเราว่ากล่าวเขาไปเสร็จ เราก็เกิดความระลึกได้ หรือความคิดว่า เราไม่สมควรที่จะพูด หรือว่าไปพูดทำไม ก็ไม่ก่อเกิดประโยชน์อะไร แต่เราก็บอกกับตัวเราว่าอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ คือก็เป็นการแก้ตัวของตัวเราเอง โดยที่เรามีความรู้สึกว่าไม่น่าจะใช่แบบนี้

    ท่านอาจารย์ เห็นความต่างไหม อนัตตาไม่ใช่ตัวเราโดยแก้ตัว กับอนัตตาโดยเข้าใจลักษณะที่เกิดในความที่บังคับบัญชาไม่ได้ นี่คือความที่ต่างกัน และที่บอกว่าพอโทสะเกิดก็รู้ได้ ก็ยิ่งเห็นความน่ากลัวของโลภะ เงียบ ไม่รู้อยู่ตลอดเวลา แต่โทสะปรากฏให้เห็นว่านี่เป็นอกุศล สภาพอย่างเงียบหรืออย่างปรากฏตัวจะเห็นได้ง่ายกว่า โลภะต้องเห็นยากกว่า เพราะฉะนั้นกว่าจะเห็นโลภะจริงๆ ก็ต้องเป็นปัญญาที่เห็นโลภะ แต่สำหรับโทสะบางคนก็ไม่ชอบความรู้สึกที่ไม่สบายใจ เมื่อไรจะไม่มี อยากจะไม่มีอย่างเดียวแต่เมื่อเป็นโลภะไม่ว่าเลย ไม่คิดถึงโทษของโลภะ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วอะไรเป็นสิ่งที่มากกว่ากัน ที่เราบอกว่าเราเห็นโทษของโทสะเพราะโทสะปรากฏ แต่โลภะเราไม่ได้เห็นโทษ เพราะโลภะไม่ได้ปรากฏอย่างโทสะ

    ผู้ฟัง เราไม่อยากจะประทุษร้ายเขา แต่เราก็ทำไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ ก็เรา เราทั้งนั้น แม้แต่อนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ ก็เรา ก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นก็คือเราคิด

    ผู้ฟัง แล้วเราก็ระลึกไม่ได้ว่าสิ่งนั้นคือสภาพธรรม แต่จริงๆ ก็คือเป็นเราใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ก็ขณะนั้นยังไม่ได้ดับความเป็นเรา

    ผู้ฟัง แล้วขณะที่ระลึกได้ว่า เราประทุษร้ายเขา ก็ไม่ใช่สติ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นความคิดเรื่องนั้น สติเกิดร่วมกับกุศลจิตถ้าขณะนั้นเป็นกุศล สามารถจะรู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นกุศล จึงจะรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นกุศลไม่ใช่เรา แต่ถ้าไม่สามารถจะรู้ได้ เราอาจจะเพียงคิดว่าคงเป็นกุศลที่คิดออกอย่างนั้น แต่คิดออกอย่างนั้นด้วยความเป็นเรา แก้ตัวก็ได้ เพราะฉะนั้นนั่นคือการคิด แต่บางคนพอว่าเขาแล้วก็อาจจะทำดีหรือขอโทษทันที ต่างกันแล้วใช่ไหม เวลาที่กุศลจิตเกิดหรือเวลาที่เพียงคิดด้วยความเป็นตัวเราว่าเกิดแล้ว ว่าแล้ว เขาจะทุกข์ก็ช่างเขา ช่วยไม่ได้ กับการที่กุศลจิตเราเกิด เราอาจจะมีการขอโทษอย่างจริงใจ อย่างอ่อนน้อม ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่จะให้เขารู้จริงๆ ว่าเราขอโทษจริงๆ จะดีกว่าไหม นั่นคือกุศลจิตถ้าเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าความคิดของแต่ละคนก็ต่างกัน ถ้าสะสมกุศลที่จะรู้สึกผิดจริงๆ เราก็สามารถที่จะทำทุกอย่างที่ดีขึ้น และก็ระลึกได้ที่จะไม่ทำอย่างนั้นอีก แต่ถ้าจะทำอีกเราก็ขอโทษอีกก็ได้ใช่ไหม ก็ดีกว่าปล่อยไป

    ผู้ฟัง สภาพธรรมมีเหตุปัจจัยทำให้เกิด ก็เกิดแล้ว เราก็ประทุษร้ายเขาแล้ว เราก็คิดต่อไปว่าเป็นวิบากของเขาที่เขาจะได้รับสิ่งนั้น วิจิตรมากเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกคนจะต่างกันตามการสะสม ไม่อย่างนั้นจะมีชีวิตของพระเถระ พระเถรีที่ท่านทรงแสดงว่าต่างกันแม้แต่ความคิดในแต่ละกาล แม้แต่กาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ยังคิดต่างๆ กันได้

    ผู้ฟัง ก็มีความสงสัยว่า ที่เราศึกษานี้เราดีขึ้นหรือไม่ เพราะว่าแม้กระทั่งเราไปประทุษร้ายเขา แล้วเขาได้รับวิบากที่เป็นอกุศล ก็คือเราก็ต้องยอมรับให้เขารับวิบากที่เป็นอกุศลไปโดยที่เกิดจากตัวเรา

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นอีกมุมหนึ่ง เราศึกษาธรรม เราดีขึ้นหรือไม่ ก็ยังมีความเป็นเราอย่างมาก แต่ความจริงถ้าเราศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจ และอะไรจะเกิดก็รู้ทันทีในขณะนั้นว่าบังคับไม่ได้ รู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยไม่รำพัน ไม่พูดมาก ไม่คิดมาก เป็นวิบากของเขา หรืออะไรอย่างนั้นใช่ไหม ก็แสดงให้เห็นว่าแล้วแต่ปัจจัยจะปรุงแต่งจริงๆ ถ้าเราจะคิดถึงเรื่องเราทำกุศล เราไม่ได้ทำอกุศล เราจะตกนรกหรืออะไร ก็คือเรื่องของตัวเราทั้งนั้น ใช่ไหม จะคิดอย่างไรก็ไม่พ้นจากตัวเอง แต่ถ้าเป็นกุศลจริงๆ ขณะนั้นเราก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องตัวของเราเองนอกจากจะคิดถึงประโยชน์กับบุคคลอื่น

    ผู้ฟัง ถ้าเราคิดนึกก็คือบัญญัติเรื่องราว แต่ว่ายังไม่ใช่ลักษณะของปรมัตถธรรมในลักษณะของนามธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะว่าสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังทั้งหมดก็เป็นเพียงเรื่องราวของสภาพธรรมโดยที่ว่าตัวจริงๆ ของสภาพธรรมก็เกิด แล้วก็ทำกิจหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ แล้วก็ดับ แต่ว่าจะรู้จริงๆ อย่างที่ได้ศึกษาไม่ใช่ปัญญาเพียงขั้นการฟัง แต่จะต้องมีความค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้นการศึกษาพระอภิธรรมหรือธรรมก็คือชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะให้เข้าถึงแม้แต่คำว่า “ธรรม” เพราะเหตุว่าเราได้ฟังว่าขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด แล้วธรรมก็ต่างกันเป็นนามธรรม และรูปธรรม โดยที่ยังไม่ต้องไปถึงไหนเลย เพียงแต่คำที่กล่าวว่า “ธรรมต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือนามธรรม และรูปธรรม” ผู้ที่ตรงก็จะรู้ว่ารูปธรรมก็ยังพอปรากฏให้รู้ได้ เช่น แข็ง ลักษณะจริงๆ ปรากฏ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา กล่าวเมื่อไรก็จริงเมื่อนั้นเพราะว่ากำลังเห็น แต่ที่จะให้เข้าถึงความเป็นธรรมที่เป็นรูปธรรม ไม่เหมือนที่เคยคิดเคยเข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดมานานแสนนาน แต่ฟังเพื่อให้ถึงการละความไม่รู้แล้วละความติดข้อง ซึ่งจะเห็นได้ว่าการละความติดข้องต้องเนื่องจากความรู้ ถ้าเราได้ยินได้ฟังว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูป ฟังเข้าใจเพราะว่ากำลังปรากฏ แต่ที่จะให้ถึงความเป็นธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องมีความรู้เพิ่มขึ้นถึงขั้นระดับที่ไม่ลืมที่จะแม้ในขณะนี้ที่กำลังเห็น ก็ค่อยๆ เข้าใจว่าสิ่งที่กำลังปรากฏถ้าเราไม่สนใจ เราอาจจะไม่รู้ว่าทันทีที่เห็นความคิดความจำมาพร้อมกันทันทีว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ลืมลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้นซึ่งเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งถ้าสิ่งนั้นไม่ปรากฏจะให้ไปนึกไปคิดถึงสิ่งที่ปรากฏแล้วว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นไปไม่ได้เลย แต่ข้ามจากการที่จะรู้ความจริงว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ลักษณะจริงๆ แค่นี้ ยังไม่ต้องไปถึงความทรงจำใดทั้งสิ้นที่เคยทรงจำไว้ ก็คือสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นการฟังแล้วฟังอีก ก็เพื่อให้ถึงกาลที่เริ่มที่จะเข้าใจในขณะที่เห็น และไม่ข้ามไปโดยการที่รู้ว่าในขณะที่ไม่ข้ามไปคือขณะที่ไม่หลงลืมสติ เพราะว่ากำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรรมนั้น ซึ่งการข้ามไปหรือการสนใจของเราเร็วมาก ทันทีที่เห็นก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เราอาจจะบอกว่าเราไม่ได้สนใจ เราไม่ได้สนใจ แต่ธรรมที่เกิดสนใจแล้ว มนสิการ ใส่ใจแล้ว สนใจแล้ว ในรูปร่างสัณฐานในสิ่งที่ปรากฏ และก็เป็นเรื่องราว เป็นโอฆะ อวิชโชฆะ คือ ความไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นก็มีการไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏทั้งวัน จะกี่วันก็ตาม จนกว่าจะเป็นผู้ที่อดทน และรู้ว่าการฟังธรรมด้วยความเข้าใจถูกต้องว่าไม่ใช่เราที่ฟัง แต่ฟังเพื่อให้เข้าใจขึ้นในลักษณะของสิ่งที่มี จะซ้ำแล้วซ้ำอีก พระไตรปิฎกก็ซ้ำอย่างนี้ ไม่ใช่ให้เราข้ามไปถึงพยัญชนะที่ละเอียดซึ่งเป็นวิสัยของผู้ที่รู้แจ้งจึงสามารถที่จะเข้าใจในความละเอียด ในความเป็นขันธ์ ในความเป็นธาตุ ในความเป็นปฏิจสมุปบาท ซึ่งถ้าผู้ใดจะได้ยินก็เพียงชื่อ ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่เตือนว่าธรรมก็คือไม่ใช่ไปรู้เรื่องราว โดยที่ว่าขณะนี้ยังไม่ได้รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นนามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้นคำถามของคุณสุกัญญาก็เป็นเรื่องของจิรกาล เพราะว่าฟังมาแล้วเรื่องรูปไม่ใช่สภาพรู้ และรูปที่ปรากฏในชีวิตประจำวันจริงๆ ก็ไม่พ้นจากรูปที่ปรากฏทางตาซึ่งยังไม่ถึงลักษณะที่ปรากฏทางตาเพราะว่าเป็นเรื่องราวเป็นสัณฐานไปแล้ว หรือว่าเสียงก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ก็ยังไม่รู้ถึงลักษณะที่เกิดแล้วดับต่างกับสภาพที่กำลังได้ยินเสียง

    เพราะฉะนั้น ธรรมที่มีจริงที่พอจะรู้ได้ก็คือรูป แต่ถ้าคิดถึงความจริงว่าถ้าไม่มีธาตุอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งการฟังเราต้องใส่ใจ ต้องเข้าใจแล้วว่าความเป็นธาตุคือเป็นสิ่งที่มีจริง จะมองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ตาม สิ่งที่มีจริงมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างก็เป็นธาตุแต่ละชนิด ฉะนั้นที่เสียงจะปรากฏได้ หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้จะปรากฏได้ก็เพราะมีธาตุอีกชนิดหนึ่ง ถ้าไม่มีคนในห้องนี้เลย มีแต่โต๊ะ เก้าอี้ ก็ไม่มีอะไรที่จะเห็น แต่เมื่อมีการเห็นขณะใด แสดงว่าต้องเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งสามารถเห็น กำลังเห็น ทำกิจเห็น เกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว นี่คือการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะทำให้คนที่ฟังค่อยๆ พิจารณาจนกระทั่งเข้าถึงความไม่ใช่เรา เป็นเพียงสภาพธรรมที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่กว่าจะประจักษ์ความจริงได้ก็ต้องเป็นผู้ที่รู้ตัวเอง เป็นผู้ตรง การเป็นผู้ตรงจะทำให้ไม่ไขว้เขว และก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงเพื่อละ เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่ละก็คือความรู้ก็ยังไม่พอ ซึ่งก็จริง ถ้ายังไม่รู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏในขณะที่เห็น และลักษณะที่เห็น มีจริง เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ตรงว่าแม้จะได้ยินได้ฟังเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตากับเห็น แต่ยังไม่ได้เข้าถึงธาตุเห็น ซึ่งฟังไปอีกแล้วก็มีการค่อยๆ เข้าใจขึ้น และก็จะมีการที่จะรู้ว่าขณะนั้นที่กำลังค่อยๆ เข้าใจ ไม่ใช่เป็นการคิดเรื่องอื่น วิตกเป็นสภาพที่คิดนึก เป็นเจตสิก เป็นธรรมที่มีจริง มีหน้าที่ตรึก วันหนึ่งๆ คิดแต่เรื่องอื่นหมดเลยใช่ไหม แต่ที่จะแม้ฟังก็กำลังตรึกถึงสิ่งที่ได้ฟัง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567