พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 149


    ตอนที่ ๑๔๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังคิดอย่างนั้น ยังไม่ต้องถึงรถชน แต่ในกายของคุณวิจิตรเองก็อาจจะมีวิบากอะไรที่ทำให้สิ้นชีวิตก็ได้ หายใจไม่ออกขึ้นมาเฉยๆ ก็ได้ ขณะนั้นก็มีกาย มีกายปสาท มีวิบากซึ่งเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ว่าเราจะไปนึกว่าเราจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ให้วิบากเกิด แต่ความจริงตราบใดที่ยังมีรูป พ้นวิบากไม่ได้เลย แม้แต่ในขณะที่กำลังนั่งอยู่ในขณะนี้ วิบากทางกายก็มีเพราะว่ามีกายปสาท เพราะฉะนั้นเรื่องคิดเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องสิ่งที่จะเกิดกระทบกับกายปสาทเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

    ผู้ฟัง กรณีเศษของกรรมจะมีส่วนเกี่ยวข้องอะไรหรือไม่

    ท่านอาจารย์ กรรมที่ยังให้ผลไม่หมดก็ทำให้แม้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว ผลของอกุศลกรรมก็ทำให้ได้รับทุกข์ทางกายได้

    ผู้ฟัง แล้วความประมาท

    ท่านอาจารย์ ความประมาทขณะนั้นไม่ใช่วิบาก เป็นเรื่องอกุศลจิต

    ผู้ฟัง ความประมาทเป็นเรื่องของอกุศลจิต แล้วความไม่ประมาท

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็มี ๒ อย่างสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล ถ้าไม่ใช่ชาติที่เป็นวิบากก็เป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็มีวิบากกับกิริยา ถ้าคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็มีทั้งกุศล อกุศล และวิบาก และกิริยาด้วยแต่ไม่ใช่โสภณกิริยา

    ผู้ฟัง สรุปแล้วเวลาที่เราดำเนินชีวิตไปแต่ละวัน สิ่งที่ควรจะระลึกอยู่ตลอดเวลาก็คือให้มีความไม่ประมาทเป็นเนืองนิจ

    ท่านอาจารย์ บังคับคิดไม่ได้ แล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่เข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ถ้าเข้าใจก็ต้องเข้าใจโดยตลอดจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต ใครก็สร้าง ใครก็ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้ ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง ปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้ากล่าวว่าให้มีความไม่ประมาท

    ท่านอาจารย์ แล้วคุณวิจิตรประมาทหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็คงมีบ้างบางขณะจิต

    ท่านอาจารย์ ก็แสดงให้เห็นว่าบังคับไม่ได้

    ผู้ฟัง ลักษณะของโทสะ ๔ ประเภทคือมีโทสะ มีมัจฉริยะ มีกุกกุจจะ และมีอิสสา ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างจะแยกขาดออกจากกัน หรือสามารถเกิดร่วมกันได้

    ท่านอาจารย์ อิสสาเป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง มัจฉริยะเป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง กุกกุจจะก็เป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ชื่อเป็นภาษาบาลี แต่เวลาที่เรารู้สึกอิจฉาในภาษาไทย เวลาที่คนอื่นเขาได้สิ่งที่ดีแล้วเราก็ไม่ยินดีด้วย ขณะนั้นภาษาบาลีเป็น “อิสสา” แต่ว่าภาษาไทยใช้คำว่า “อิจฉา” ซึ่งความจริงคำว่าอิจฉาในภาษาบาลีไม่ใช่อิสสาเลย แต่เป็นโลภะ เพราะฉะนั้นต้องแยกว่าถ้าพูดภาษาไทยใช้คำว่า “อิจฉา” หรือถ้าจะให้ตรงอีกคำหนึ่งก็ใช้คำว่า “ริษยา” ถ้าริษยานี่ตรง ไม่มีใครไปคิดว่าอิจฉา แต่ว่าลักษณะจริงๆ ก็คือสภาพธรรมที่ไม่ยินดีด้วย ในขณะนั้นเป็นอกุศล เมื่อเห็นบุคคลอื่นได้สิ่งที่ดี เคยมีไหม นี่คือชีวิตจริงๆ ถ้ายังไม่ใช่พระโสดาบัน ยังไม่ได้ดับอิสสา มัจฉริยะคือความตระหนี่ และกุกกุจจะคือความรำคาญใจยังคงมีอยู่ เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เกิดขึ้นนิดเดียวหมดแล้ว แต่ถ้าเกิดดับสืบต่อหลายๆ ขณะก็ปรากฏ คนที่มีกุกกุจจะจะรู้สึกไม่สบายใจ คิดถึงกุศลที่ไม่ได้กระทำที่ควรจะกระทำ แต่ไม่ได้กระทำ และคิดถึงอกุศลที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นอกุศลทั้งหมดเป็นสิ่งที่เดือดร้อน ในขณะที่เกิดก็เดือดร้อน เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่สงบเลย เต็มไปด้วยความเศร้าหมองหรือความขุ่นหมองในจิตใจ ไม่ด้วยโลภะ ก็โทสะหรือว่าด้วยโมหะ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าแม้ว่าอกุศลนั้นดับไปแล้ว แต่ทั้งๆ ที่ดับไปแล้วก็เกิดระลึกถึง และก็เกิดความรำคาญใจในอกุศลที่ได้กระทำแล้ว ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ให้รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่าแม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพลักษณะของธรรมชนิดหนึ่งซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้เลย เกิดแล้วปรากฏ เพราะฉะนั้นเกิดแล้วปรากฏไม่ใช่ให้ยึดถือว่าเป็นเรา เกิดแล้วปรากฏ ไม่ใช่ให้มีความขุ่นเคืองนั้นต่อไปอีก รำคาญใจต่อไปอีก แต่เกิดแล้วถ้าสะสมมาที่ปัญญาสามารถที่จะเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้นว่าเป็นธรรมที่มีจริงๆ เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เมื่อเป็นธรรมชนิดหนึ่งก็ไม่ใช่เราแน่นอน มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นพระธรรมจะช่วยทำให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง และขณะนั้นก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น เราก็ทราบว่าอกุศลเจตสิกทั้งหมดมี ๑๔ ประเภท และประเภทใดเกิดกับจิตที่เป็นโลภมูลจิต ประเภทใดเกิดกับจิตที่เป็นโทสมูลจิต

    ผู้ฟัง ลักษณะของความรำคาญใจหรือกุกกุจจะ ขณะที่เกิด และมีสภาพธรรมรากฏ สติสามารถระลึกได้ ขณะนั้นมีเจตสิกที่เป็นโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เวลาที่สภาพธรรมเกิดจะเกิดตามลำพังไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ก็ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกัน เพราะฉะนั้นก็จะรู้ว่าสภาพธรรมประเภทใดเป็นปัจจัย หรือว่าจะเกิดร่วมกับสภาพธรรมประเภทใดได้บ้าง เช่นโทสเจตสิกจะเกิดกับโลภเจตสิกไม่ได้ แต่โทสเจตสิกเกิดกับโมหเจตสิกได้ และโลภเจตสิกก็เกิดกับโมหเจตสิกได้ เพราะฉะนั้นโมหเจตสิกเกิดมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ และมีอกุศลเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วยได้ทั้งหมด และเวลาที่โทสมูลจิตเกิด มีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็แล้วแต่ว่าเป็นประเภทที่จะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมกับจิตที่เป็นโทสะได้ อกุศลทั้งหมดเกิดร่วมกับอวิชชา

    ผู้ฟัง อิสสากับมัจฉริยะ ไม่ได้เกิด..

    ท่านอาจารย์ เกิดพร้อมกันไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่ว่าอิสสาก็มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วมัจฉริยะก็มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ส่วนกุกกุจจะก็มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แล้วอิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ๓ ชนิดนี้เกิดร่วมกันไม่ได้เพราะว่าเป็นคนละประเภท

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ถ้าเราได้พิจารณาตัวเราเองว่าทำในสิ่งที่ไม่ดีกับผู้มีพระคุณบ้าง กับเพื่อนฝูงบ้าง แต่มันเป็นอนัตตา แล้วก็ทำไปแล้ว แต่จะเก็บเอามาคิดอีก จะเรียนถามว่าเรายังติดกุกกุจจะอยู่ ยังไม่ยอมห่าง ยังเก็บเอามาคิดอีก

    ท่านอาจารย์ เราไม่ยอมไม่ได้

    ผู้ฟัง นั้นเป็นตัวเรา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ไม่มีเรา ศึกษาธรรมเพื่อที่จะให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเกิดขึ้นในขณะนั้น ปรากฏแล้วเพราะเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย ขอถามหรือขอสนทนากับคุณสุรีย์ว่า เวลาที่กุกกุจจะเกิดขึ้น ความรู้สึกเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง โทมนัส

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม โทมนัสเวทนา นี่เราเริ่มที่จะรู้ตรงว่าเหตุผลเป็นอย่างไร ว่าเวลาที่กุกกุจจะเกิด จะเกิดกับโทมนัสเวทนา ขณะนั้นจะไม่รู้สึกสบายใจเลย ขณะใดที่ความรู้สึกเป็นอย่างนั้นก็คือโทมนัสเวทนา เกิดกับกุกกุจจะ และ ขณะนั้นก็ต้องมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นต้องมีโทสะเป็นมูล ทำให้จิตประเภทนั้นเกิดขึ้น ที่จะรู้ได้ว่าขณะนั้นไม่ใช่โลภมูลจิตก็เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่ไม่ได้เพลิดเพลินยินดี พอใจในสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง บางครั้งแทบแยกไม่ออกถ้าไม่ได้ศึกษาหรือพิจารณาจริงๆ ว่า เราคิดว่าเป็นโทสะ แต่จริงๆ เราคิด ไม่ใช่ว่าสติระลึกได้ เมื่อพิจารณาย้อนหลังกลับไป ก็น่าจะเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ เหมือนเห็นกับได้ยินใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าจะมีความสงสัยในเรื่องสภาพธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว แยกยาก เพราะเหตุว่าจิต เจตสิกเกิดดับเร็วมาก เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วจึงเสมือนพร้อมกัน เช่น เห็นกับได้ยิน เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องคิดถึงเรื่องอื่น อย่างอื่นก็เช่นเดียวกัน เหมือนกับมีโลภะ โทสะเกิดร่วมกันได้ แต่ความจริงไม่ได้ หรือว่าจะคิดว่าเวลาที่มีความสำคัญตนเกิดขึ้น ขณะนั้นความรู้สึกไม่สบาย ใช่ไหม แต่ว่าคนละขณะแล้ว ขณะที่ไม่สบายนั้นเป็นโทสะ แต่ขณะที่มีความสำคัญตน ขณะนั้นไม่รู้เลยว่ามีโลภะความติดข้องในความเป็นเราที่ขณะนั้นมานะเกิดร่วมด้วย นี่เป็นสิ่งที่ต้องศึกษา มีความเข้าใจในพระธรรมที่ทรงแสดงไว้อย่างละเอียด ซึ่งสภาพธรรมที่จะปรากฏ แม้กำลังปรากฏในขณะนี้ก็รวดเร็วสืบต่อเหมือนพร้อมกันจนกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิด แล้วก็จะรู้ตรงลักษณะเพียงลักษณะเดียว เช่น เมื่อสักครู่นี้คุณสุรีย์บอกว่าลักษณะของกุกกุจจะปรากฏ โทสะไม่ได้ปรากฏเลย ลักษณะใดที่ปรากฏ ลักษณะนั้นก็ปรากฏตามความเป็นจริง เราจะไปเปลี่ยนแปลงธรรมไม่ได้เลย แต่สามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้น

    ผู้ฟัง แต่จากการศึกษาไม่ทราบว่าจะพอมีประโยชน์ไหมถ้าเราคิดย้อนกลับไป

    ท่านอาจารย์ ในครั้งพุทธกาลไม่มีใครสักคนที่ไปกราบทูลถามว่านี่เป็นโลภะหรือไม่ นี่เป็นโทสะหรือไม่ นั่นเป็นอย่างไร นี่เป็นอย่างไร แต่ทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้คนฟังเกิดปัญญาของตนเอง แต่ไม่ใช่ไปทูลถามเพื่อให้ตรัสบอกโดยที่ว่าไม่ทำให้คนๆ นั้นเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง จะไม่มีประโยชน์เลยถ้าใครเพียงจะตอบ แล้วเราก็ไปตามแนวความคิดของคนอื่น แต่ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เริ่มพิจารณาทุกคำในความหมายที่เป็นความจริงหรือไม่ ถ้าเป็นความจริงแล้วเรามีความเข้าใจในความจริง ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา เป็นความเห็นถูกตามความเป็นจริง ขณะนั้นก็เป็นปัญญา เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตซึ่งจะติดตามไปได้ที่มีประโยชน์สูงสุดคือปัญญา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เพราะตั้งแต่เกิดมาอาจจะมีทรัพย์สมบัติ มีรูปสมบัติ มียศ มีบริวาร มีทุกอย่าง แต่ไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้นทรัพย์สมบัติตามไปได้ไหม ไม่ได้ รูปสมบัติก็ตามไปไม่ได้ บริวารสมบัติ ทุกอย่างตามไปไม่ได้ แต่ปัญญาสามารถที่จะสะสมสืบต่อในจิตที่จะทำให้มีโอกาสได้ยินได้ฟัง และเกิดความเห็นถูกยิ่งขึ้นได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่การที่เราจะพยายามรับฟังว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ หรือว่าเป็นอะไร แต่ว่าที่ได้ฟัง ได้พิจารณาว่าถูกต้องไหม เช่น สภาพธรรมซึ่งเราอาจจะคิดว่าเกิดดับด้วยกันได้ เช่นโลภะกับโทสะ หรือว่ามานะกับโทสะ แต่ความจริงเป็นไปไม่ได้ เหมือนเห็นกับได้ยินขณะนี้ ถ้าไม่รู้ก็จะบอกว่าพร้อมกัน แต่ถ้ารู้ก็จะบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดพร้อมกัน

    อ.กุลวิไล สำหรับโทสมูลจิต ก็มีลักษณะคือมีความดุร้ายเป็นลักษณะ สิ่งนี้เราจะเห็นในชีวิตประจำวัน ถ้าหากเป็นความโกรธเมื่อไร ดุมากเลย เพราะว่าความเมตตาไม่มีแล้ว เราไม่พอใจในอารมณ์นั้น เราอาจจะไม่มีกระจกส่อง แต่ผู้อื่นเห็นเรา เขาจะกล่าวได้ว่าทำไมดุจัง แต่ก็ความที่เห็นได้ง่ายก็คือลักษณะที่เป็นโทสมูลจิตนั่นเอง เพราะว่าเป็นโทมนัสเวทนา ซึ่งจะแตกต่างจากที่มีความยินดีติดข้องหรือเฉยๆ ซึ่งก็เป็นสภาพธรรมที่มีในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ มีใครเห็นว่าใครที่มีโทสะแล้วน่ารักบ้างไหม คุณกุลวิไลก็แสดงชัดเจนเลยว่าสำหรับคนอื่นเห็นได้ว่าเขากำลังไม่น่ารักทั้งกิริยา ท่าทาง ทั้งอาการ ทั้งคำพูด แต่ว่าตัวเองไม่ได้รู้สึก ยากที่จะรู้ตัวว่าขณะนั้นมีคำพูดหรือมีเสียง หรือมีการกระทำแม้ว่าเพียงเล็กน้อยซึ่งเกิดจากโทสะแล้ว ซึ่งไม่น่ารัก แต่ว่าไม่รู้สึกตัว วางของแรงๆ ดีไหม จิตประเภทไหน ก็บางคนเขาอาจจะไม่รู้ อาจจะคิดว่าเป็นอุปนิสัยสะสมมาก็ได้ แต่สภาพของจิตเป็นสภาพที่ละเอียดมาก ขณะนั้นต้องเป็นอกุศลแน่นอน ถ้าเป็นของที่เรารัก ทะนุถนอม เราจะกระแทกวางแรงๆ หรือไม่ ใช่ไหม เราก็ไม่ได้สังเกตเลย แต่ว่าถ้าเป็นของที่ขว้างปาแรงๆ หรือว่าอะไร จิตขณะนั้นอาจจะไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด ซึ่งถ้าขณะนั้นลักษณะของโลภะไม่มี ลักษณะที่เป็นโมหมูลจิตก็ไม่มี ขณะนั้นจิตเป็นอย่างไร ความรู้สึกแม้เพียงเล็กน้อยนิดหน่อย แต่ก็แปรไป เพราะเหตุว่าความรู้สึกปกติจะเป็นเฉยๆ อุเบกขาคือไม่สุขไม่ทุกข์ บอกไม่ได้ขณะนี้คือสุขหรือไม่ ทุกข์หรือไม่ แต่ขณะที่มีความรู้สึกผันแปรไป จากนั้นเป็นอื่นก็เริ่มที่จะสังเกตได้ว่าขณะนั้นเป็นความยินดี เพลิดเพลิน พอใจ สนุกสนาน ต้องการ เท่าไรก็ไม่พอ หรือว่าขณะนั้นมีความขุ่นเคืองแม้เพียงเล็กน้อย ลักษณะของความไม่พอใจก็มีตั้งแต่อย่างเล็กน้อยมากจนกระทั่งถึงขั้นที่รุนแรง หน้าตาท่าทางอะไรก็ไม่น่ารักทั้งนั้น จนถึงขั้นประทุษร้าย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเวลาที่อกุศลเกิดบุคคลนั้นไม่รู้เลย ถ้าใครกำลังเล่าเรื่องหนึ่งเรื่องใดด้วยความโกรธ คนฟังรู้ไหมว่าคนนั้นโกรธระดับไหน นี่ก็คือคนที่กำลังเล่าเรื่องที่เขาโกรธมากๆ เขาจะไม่รู้ตัวว่าขณะนั้นกายเป็นอย่างไร วาจาเป็นอย่างไร สีหน้าเป็นอย่างไร ดุแค่ไหน แต่ว่าคนฟังดูก็รู้ตลอดว่าความโกรธ ของเขาถึงระดับไหน นี่ก็เป็นเรื่องสภาพธรรม เราอาจจะคิดสิ่งที่ปรากฏภายนอก แต่ก็เป็นเรื่องราว เป็นตัวตน ไม่ใช่รู้ลักษณะจริงๆ ของธรรม ถ้ารู้ลักษณะจริงๆ ของธรรม ธรรมเป็นธรรม เป็นอื่นไม่ได้ และขณะนั้นก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่สติระลึกด้วยจึงสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้

    ผู้ฟัง เรียนถามเรื่องโทสะที่ถูกชักจูงกับไม่ถูกชักจูง เช่น ในชีวิตประจำวันอย่างนี้ สมมติว่ามีคนโกรธเรา แล้วเราโกรธตอบ ประทะไป ประทะมา สิ่งนี้เป็นการชักจูงหรือไม่ เพราะปกติเรายังไม่ได้โกรธ แต่ว่ามีลักษณะของโทสะผู้อื่นมา

    ท่านอาจารย์ คือจริงๆ เราพยายามรู้สิ่งที่เรารู้ได้หรือไม่ นี่เป็นข้อที่สำคัญ แล้วสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง เราสามารถที่จะเข้าใจได้แค่ไหน แต่ความเข้าใจจริงๆ ต้องเป็นขณะที่สภาพธรรมปรากฏ แม้สภาพธรรมนั้นปรากฏก็ขึ้นอยู่กับปัญญาว่าขณะนั้นสามารถที่จะเข้าถึงลักษณะนั้นเพียงใด เพราะฉะนั้นจึงมีปัญญาหลายระดับ และต่างระดับ โดยขั้นการศึกษาเราทราบ กำลังศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง พระปัญญาของพระองค์รู้จริงทั่วทั้งหมด แต่คนที่เริ่มฟัง เริ่มค่อยๆ เข้าใจจะรู้จักตัวเอง อย่างคุณสุกัญญาก็รู้จักตัวเองเลย ไม่สามารถรู้ขณะที่เป็นอสังขาริกมีกำลังกล้าที่จะเกิดด้วยตนเองโดยที่ไม่ใช่เป็นจิตที่มีกำลังอ่อน เพราะฉะนั้นเพียงแ ค่๒ อย่าง เราจะรู้ได้เมื่อไร อย่างไร ถ้าขณะนั้นเรากำลังรู้สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม จะรู้ถึงไหมว่าขณะนั้นเป็นอะไรที่เป็นอสังขาริก สสังขาริก หรือเพียงเริ่มที่จะเข้าใจว่าลักษณะนั้นเป็นธรรม และมีจริงๆ และความจริงก็คือว่าไม่มีเรา และสิ่งนั้นก็เกิดแล้วปรากฏแล้ว ให้สติสัมปชัญญะที่มีปัจจัยเกิดค่อยๆ รู้ตรงลักษณะนั้นแม้เพียงสั้นๆ เล็กน้อย แต่ก็มีความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดเป็นสติปัฏฐาน กับขณะที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้นความรู้จริงๆ ตามลำดับจะต่างกับความรู้ที่เราฟังได้ยิน แต่ก็งง ก็ไม่รู้ว่าขณะไหนเป็นอะไร อย่างมากก็เพียงแต่จำเรื่องราวที่เป็นตัวอย่าง หรือเป็นชื่อ แต่แน่นอนว่าสภาพของจิตนี้ต่างกัน โลภะบางขณะก็มีกำลังกล้าไม่ต้องอาศัยการชักจูง บางขณะก็มีกำลังอ่อน ถ้าเป็นสิ่งที่เราพอจะสังเกตได้ เราก็รู้ เช่นเราอยากจะไปที่ไหนสักแห่งหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีใครไปด้วย เราก็ไม่ไป ไปไม่ได้ หรือตอนแรกก็ไม่คิดอยากจะไป แต่เมื่อมีคนชวนก็ไป นั่นก็เป็นลักษณะที่เราพอจะเข้าใจได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโลภะ หรือเรื่องของโทสะ แต่ธรรมทั้งหมดที่ได้ฟัง ควรจะเป็นการพิจารณาไตร่ตรอง ศึกษาค้นคว้า เช่น ในพระไตรปิฎกก็มีเรื่องราวมากมาย แต่เป็นเรื่องปัจจัตตัง ในพระสูตรก็จะไม่มีคำว่าอสังขาริก และสสังขาริก เช่น เวลาที่มีคนไปเฝ้า และกราบทูลถามเรื่องของธรรม พระองค์ก็ไม่ได้ทรงแสดงสสังขาริก อสังขาริกแก่บุคคลนั้นๆ แต่เมื่อสภาพธรรมเป็นอย่างนั้น ก็ทรงแสดงสำหรับที่จะให้ผู้ที่พิจารณาเข้าใจละเอียดขึ้นว่าเป็นธรรม และก็ต่างกันด้วย และก็เป็นจริงอย่างนั้นด้วย คุณธิดารัตน์จะช่วยให้คุณสุกัญญาเข้าใจเรื่องโทสะสสังขาริก และอสังขาริกตามที่ได้ทรงแสดงไว้

    อ.ธิดารัตน์ โทสะที่มีกำลังกล้าก็หมายความว่าเกิดขึ้นเอง เช่น คนที่สะสมอะไรนิดอะไรหน่อยก็โกรธได้ง่ายๆ เราก็จะเห็นได้ง่าย กับคนที่ไม่ค่อยโกรธเท่าไร ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่พิจารณาได้ยากแต่ละบุคคล เพราะว่าจริงๆ แล้วสสังขาริก และอสังขาริกก็สามารที่จะเกิดสลับกันได้ เพราะฉะนั้นการที่จะแยกจริงๆ ก็ต้องเป็นปัญญาที่มีกำลัง

    อ.วิชัย ตามที่เราศึกษากันว่าอกุศลที่เกิดก็มีปัจจัยคือ ๑ คือการสะสมของบุคคลนั้นเอง ก็คืออย่างที่ทราบว่าอกุศลก็มีหลากหลายอย่างเช่นโทสะก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเศร้าโศกเสียใจ กิริยาอาการหยาบกระด้างต่างๆ หรือแม้ความกลัวก็เป็นลักษณะของโทสะ ดังนั้นที่ทรงประมวลไม่ว่าจะเป็นการจำแนกโดยสสังขาริกหรือ อสังขาริก ก็แสดงถึงกำลังของโทสะว่าบางขณะบางคราว โทสะก็เกิดโดยมีกำลังขึ้น โดยมีปัจจัยภายนอก เช่น การกระทบถูกต้องอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาต่างๆ รวมถึงอุปนิสัยที่สะสมมาด้วย ก็เป็นปัจจัยให้โทสะมีกำลัง หรือบางคราวก็ต้องอาศัยสิ่งต่างๆ ที่ให้โทสะมีกำลังอ่อนก็มี นี่ก็แสดงตามความเป็นจริงว่าเป็นอย่างนี้ว่าโทสะบางคราวก็มีกำลังโดยที่ว่าไม่มีเหตุอื่นที่มาชักจูงให้มีกำลังบ่อยๆ หรือบางคราวก็สั่งสมที่จะมีอโทสะ ก็ไม่ค่อยโกรธ แต่ว่าถ้าได้ยินได้ฟังบ่อยๆ หรือเห็นบ่อยๆ ก็มีกำลังมากขึ้น เช่น ถ้าเราเห็นสิ่งอะไรที่ไม่ชอบ บางครั้งก็โกรธทันที แต่บางครั้งก็ขุ่นเคืองเล็กๆ น้อยๆ แต่พอเห็นบ่อยๆ ความโกรธก็มีกำลังมากขึ้น

    อ.กุลวิไล กรณีที่เป็นสสังขาริกจะมีเจตสิกที่เป็นถีทุกะเกิดร่วมด้วยก็คือถีน (ถีนะ) เจตสิก และก็มิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งท่านกล่าวว่าความท้อแท้ชื่อว่า “ถีน” (ถีนะ) ความเศร้าซึมชื่อว่า “มิทธะ” (บาลี-มิทฺธ) สำหรับถีน ท่านกล่าวว่าถีนเป็นไฉน ความว่าจิตไม่ข้อง ไม่ควรแก่การงานชื่อว่าถีน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567