พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 166


    ตอนที่ ๑๖๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘


    อ.วิชัย สำหรับโทสะ ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงถึงการละโดยสมุทเฉจ ก็คือขั้นอนาคามีมรรค กว่าจะถึงอนาคามีมรรค ก็คือค่อยๆ รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เจริญปัญญาให้ยิ่งๆ ขึ้น ฉะนั้นเมื่อโทสะเกิด พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงเรื่องของการบรรเทาโทสะ ด้วยการพิจารณาให้เห็นโทษของโทสะ ว่าเมื่อเกิดความโกรธย่อมฆ่าบุคคลอื่นได้บ้าง ย่อมประหัตประหารทำลายบุคคลอื่น และเป็นเหตุให้เกิดในอบาย และพระองค์ก็ทรงแสดงถึงการอบรมเจริญเมตตาเพื่อเป็นการบรรเทาละคลายโทสะ และการอบรมเจริญปัญญา ก็คือการค่อยๆ รู้ ว่าธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เมื่อโทสะเกิด เราก็ยังมีความสำคัญว่าเราโกรธ แต่เมื่อปัญญาเกิดขึ้นก็รู้ว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อได้ปัจจัยก็เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง หมายความว่า ถ้าปัญญามีการค่อยๆ เจริญพัฒนามาเรื่อยๆ ปัญญาต้องรู้ความแตกต่างของรูปนาม นามธรรมใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ รู้ขึ้น รู้ทีเดียวก็ต้องเป็นปัญญาที่ได้อบรมแล้ว

    ผู้ฟัง ก็หมายถึงเป็นวิปัสสนาญาณใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เจริญสมบูรณ์จนถึงวิปัสสนาญาณ

    ผู้ฟัง ตรงนี้เข้าใจ แต่หมายความว่าในชีวิตประจำวันที่เป็นอยู่ ปัญญาไม่ได้รู้อะไรเลย

    ท่านอาจารย์ เหมือนอย่างนั้น เพราะฉะนั้นต้องรู้ขณะที่สติเกิด สิ่งนี้สำคัญมาก กับขณะที่สติไม่เกิด "สติที่นี่หมายความถึงสติปัฏฐาน" ในเมื่อมีลักษณะธรรมดาอย่างนี้ สติคือค่อยๆ เข้าใจ จะเข้าใจอะไร แข็ง ก็รู้ลักษณะนั้น กำลังรู้ในลักษณะนั้น ขณะนั้นจะไม่มีเรื่องราว และก็ไม่มีอย่างอื่น แต่เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก การรู้ตรงลักษณะนั้นก็เล็กน้อย แต่ว่าถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่าสติปัฏฐานเริ่มเกิดโดยรู้อะไรบ้าง ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ตลอดทั่วถึง เช่น ขณะนี้ที่กำลังเห็น จะไปบีบคั้นยังไงให้รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมให้ปรากฏ ให้รู้ว่าเป็นธาตุรู้ ก็เป็นไปไม่ได้ แต่จากการฟังก็รู้ความต่างว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาก็กำลังปรากฏ แต่ถ้าไม่มีสภาพที่สามารถเห็นสิ่งนี้จะปรากฏได้หรือไม่ อาศัยการฟังบ่อยๆ เหมือนสภาพคิดเพราะเหตุว่า ใครก็ห้ามจิตไม่ให้คิด ไม่ได้ แต่ว่าเวลาที่มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ หวังว่ารู้เลย อย่างโกรธเกิด ให้รู้ลักษณะของโกรธเลย ให้ประจักษ์แจ้งว่าโกรธไม่ใช่เรา เกิดขึ้นแล้วดับไป นี่คือหวัง แต่ต้องมีเหตุจากการเริ่มต้น คือเริ่มต้นจากการฟังว่าทุกอย่างไม่ว่าอะไรทั้งนั้นที่กำลังปรากฏ จริงๆ แล้วคนที่โกรธ แล้วสติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานไม่เกิดเลยนี่มีมาก ก่อนที่จะได้ฟังธรรมก็โกรธไปเลย แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด มีโอกาสจะเกิด มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด ขณะนั้นคือ ระลึก จะใช้คำว่า “ระลึกได้” ก็ได้ คือตรงนั้นกำลังรู้ลักษณะ มีลักษณะของโทสะปรากฏ เหมือนกับขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้รู้ ให้ระลึก เพราะฉะนั้น เวลาที่โทสะเกิด โทสะก็เป็นสิ่งที่มีจริงขณะนั้น ซึ่งถ้ามีปัจจัย สติก็ระลึกคือรู้ลักษณะ และลักษณะนี้ก็แสดงให้เห็นว่า “ไม่ใช่เรา” โทสะก็ลักษณะหนึ่ง แข็งก็ลักษณะหนึ่ง เสียงก็ลักษณะหนึ่ง แต่ไม่คุ้นกับลักษณะ ได้ยินแต่ชื่อบ่อยๆ ได้ฟังแต่ชื่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้ว่าขณะใดที่กำลังรู้ตรงนั้น แม้สั้นหรือเล็กน้อย ขณะนั้นก็ไม่มีการที่จะคิดถึงเรื่องอื่นเลย ขณะนี้มีแข็งกำลังปรากฏ ถ้ารู้ตรงแข็ง แข็งก็ต้องปรากฏ ไม่ใช่อย่างอื่นปรากฏ ไม่ใช่คิดด้วย นั่นคือขณะนั้น ถ้ามีเหตุปัจจัยที่ไม่ใช่เราที่จงใจ แต่มีปัจจัยก็เกิด และรู้ตรงนั้น

    เพราะฉะนั้น เราก็จะเห็นความต่างว่าเวลาที่มีความเป็นตัวตน มีความจงใจ อยากจะให้สติเกิด ขณะที่กำลังจงใจจดจ้อง ขณะนั้นจะไม่ใช่สติ แต่ขณะใดก็ตามที่เกิดระลึกลักษณะหนึ่งลักษณะใด ไม่ลืมคำว่าลักษณะ เพราะสภาวธรรมทั้งหมดมีลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมนั้น ที่เรามักจะติดคำว่า “ลักขณาทิจตุกะ” ใช้กันบ่อย สภาพธรรมอย่างหนึ่งจะมีทั้งลักษณะ มีทั้งกิจหน้าที่ มีอาการที่ปรากฏ และมีเหตุใกล้ให้เกิด รวม ๔ แต่ใช้คำว่า อาทิเป็นต้น กล่าวถึง ๔ อย่างโดยเริ่ม หรือว่าโดยกล่าวถึงลักขณะเป็นต้น จึงใช้คำว่า “ลักขณาทิจตุกะ” แต่ว่าตามความจริง เรารู้ถึง ๔ อย่างหรือเปล่า เพราะแม้เพียงลักษณะเดี๋ยวนี้ ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็มีลักษณะซึ่งถึงแม้จะไม่ใช้คำพูดเรียกในภาษาใดเลย สิ่งนี้เป็นอย่างนี้ กำลังปรากฏทางตาอย่างนี้ นี่คือลักษณะหนึ่ง เสียงเป็นอีกลักษณะหนึ่ง ไม่ต้องใช้คำอะไรเลย หรือจะใช้คำไหนก็ได้ในภาษาไหนก็ได้ แต่ให้เข้าใจว่าหมายความถึงอีกลักษณะหนึ่ง คือให้รู้ว่าลักขณาทิจตุกะทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน และเราไม่ต้องไปท่องถึง ๔ เพราะว่าเพียงแค่ลักษณะที่มีก็ยังไม่รู้ แต่ให้รู้ว่าทุกอย่างมีลักษณะเฉพาะอย่างๆ การฟังบ่อยๆ ก็จะทำให้มีปัจจัยที่รู้ตรงลักษณะ ขณะนั้น คือสติกำลังระลึกแล้วรู้ตรงนั้น ขณะที่รู้ตรงนั้นก็คือไม่มีอย่างอื่น เช่น เสียง กำลังรู้ตรงเสียงตามธรรมดา แต่ส่วนใหญ่บางคนก็จะเล่าให้ฟัง มักจะไปพยายามจดจ้องหรือพยายามหา แต่ขณะนั้นผู้นั้นก็รู้ตามความเป็นจริงว่าลักษณะนั้นเป็นลักษณะของตัวตน คือมีความเป็นเราที่ต้องการ

    เพราะฉะนั้น ก็จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจริง ถ้าไม่รู้ ก็รู้ว่าขณะนั้นก็คือสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งรู้ไม่ได้ เข้าใจไม่ได้เพราะเป็น "อวิชชา" ก็แสดงให้เห็นว่าเราเริ่มเข้าใจสิ่งที่มีจริง โดยการที่สังขารขันธ์ปรุงแต่งให้เกิดความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย แต่ว่าเป็นการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้น จะไม่ถึงวันหรือไม่ถึงกาลที่เมื่อมีสภาพธรรมปรากฏแล้วสติ มีปัจจัยเกิดแล้ว ก็รู้ตรงนั้นเป็นปกติธรรมดา แต่อย่าหวังต่อไปว่าจะรู้จนกระทั่งประจักษ์การเกิดดับ เพราะว่าโลภะจะแทรกเข้ามาตลอด ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ตรงสามารถที่จะเริ่มเข้าใจถูกว่าลักษณะไหนเป็นธรรมอะไร ไม่ใช่เพียงแต่รู้จักชื่อกับเรื่อง

    ผู้ฟัง ในแต่ละบุคคล ก็จะต้องมีความแตกต่างไปตามอัธยาศัย เพราะฉะนั้นขอเรียนถามว่า สภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วสติสามารถที่จะระลึกได้ในแต่ละบุคคล จำเป็นต้องเป็นไปในวิถีทางเดียวกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ตาของทุกคนเหมือนกันไหม ไม่ได้หมายความถึงรูปร่างของตา แต่หมายความถึงสภาวธรรมที่สามารถกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา กระทบแข็งไม่ได้ กระทบเสียงไม่ได้ เพราะฉะนั้นสีสันวัณณะแม้มีจริง ก็จะปรากฏเฉพาะกับผู้ที่มีจักขุปสาท เหมือนกันหรือไม่ หรือของคนนี้เป็นอีกอย่าง ของอีกคนเป็นอีกอย่าง

    ผู้ฟัง จริงๆ ถ้าจะพูดว่าเหมือนกันก็เหมือน แต่ถ้าจะต่างก็ต่าง

    ท่านอาจารย์ ความหลากหลาย ความวิจิตร

    ผู้ฟัง เพราะว่ามีกรรมเป็นเหตุ ก็ต้องมีความแตกต่างกันด้วย

    ท่านอาจารย์ แต่ความจริงสภาพธรรมเกิดดับเร็วมากเลย กว่าใครจะรู้อย่างที่ได้ฟัง ได้ฟังเรื่องไว้มากมายเลย การเกิดดับโดยสภาพที่เป็นขันธ์ เป็นธาตุ เป็นอายตนะ มีเท่าไร อย่างไร นั่นคือเรื่องราว แต่ที่จะรู้จริงๆ เริ่มจากการรู้ว่าเป็นธรรมที่มีลักษณะแต่ละอย่าง ก็ต้องอาศัยขณะที่สภาพธรรมนั้นมีแล้วก็การที่ระลึกได้ คือสติเกิด แล้วรู้ตรงลักษณะ ถึงจะรู้ลักษณะนั้นจริงๆ เช่น แข็ง เรากล่าวว่าโผฏฐัพพะหรือโผฏฐัพพารมณ์ เป็นภาษาบาลี เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ก็ตรงขณะที่สติสัมปชัญญะรู้ตรงนั้น จะระลึกสิ่งใดสิ่งนั้นก็เกิดปรากฏจึงระลึกได้ ถ้าสิ่งนั้นยังไม่ได้เกิด ไม่ได้ปรากฏจะระลึกได้ยังไง แต่สิ่งที่กำลังมีปรากฏในขณะนี้ ไม่ต้องไปคิดวุ่นวายกับเกิดแล้วดับแล้ว เกิดสืบต่อนานแสนนาน ไม่ต้องเป็นอย่างนั้นเลย กำลังมีสิ่งใดปรากฏก็รู้ระลึกนั่นเองตรงลักษณะนั้นเท่านั้น

    ผู้ฟัง การระลึกก็จะมีอยู่ ๒ อย่างแน่นอน คือระลึกด้วยความเป็นตัวตนที่จะระลึก กับระลึกด้วยสติสัมปชัญญะเกิดจริงๆ แล้วระลึก

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้ความต่างใช่หรือไม่ใน ๒ อย่าง ปัญญาก็จะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจว่าหนทางไหน เป็นหนทางที่ถูกต้อง ยังมีความเป็นตัวตนแอบแฝงอยู่ที่ไหน เพราะว่าจะต้องดับความยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตนหมดเป็นพระโสดาบัน ต้องรู้แจ้งอริยสัจจธรรม กว่าจะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่ระลึกรู้ลักษณะนั้น จะประจักษ์ได้อย่างไร ก็ไม่มีทางเลย และเมื่อค่อยๆ ระลึก ค่อยๆ รู้ ก็จะค่อยๆ คลายการยึดถือ เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าเริ่มเข้าใจว่าลักษณะอย่างนี้ ธรรมดาอย่างนี้เอง ไม่ได้ต่างจากนี้เลย แล้วก็เข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่คน แต่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แล้วความจริงเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น ถ้าระลึกถึงลักษณะนี้แม้แต่เพียงนิดเดียว ก็แสดงให้เห็นว่ากว่าเราจะชินกับการที่จะรู้ว่าขณะที่คิดถึงสัตว์ บุคคล ไม่ใช่เห็น และไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ ก็เริ่มเข้าใจแล้ว ที่เราฟังมาตั้งนานว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และจิตเห็น ก็แค่เห็น คิดนึกไม่ได้เลย แต่เมื่อเห็นแล้วก็จะมีการคิดนึกซึ่งยับยั้งไม่ได้ เราก็เริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจความต่างกัน แล้วค่อยๆ ชินกับลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ พอนึกได้ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง ลักษณะของธรรมอย่างหนึ่ง กว่าจะชิน กว่าจะคุ้นเคย ต้องบ่อยๆ

    ผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์ อธิบายความต่างของหลงลืมสติกับมีสติ เป็นขั้นสติปัฏฐาน หรือเป็นสติปัญญาแค่ขั้นระดับต่ำลงมา

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่ที่พูดหมายความถึงสติปัฏฐานเพราะว่าเป็นการรู้ลักษณะ แต่ตามที่คุณฟองจันทร์พูด หมายความถึงอยากจะรู้ หรือเข้าใจลักษณะของสติทุกระดับ สติไม่เกิดกับอกุศลเลย เป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณฝ่ายดีงาม จะไม่เกิดกับอกุศล วันหนึ่งๆ วันนี้ กุศลจิตเกิดบ้างแล้วหรือยัง เกิดมากหรือไม่ เกิดบ่อยไหม ขณะไหนเป็นกุศล พอตื่นขึ้นมาเป็นกุศลหรือยัง ถ้ามีการฟังพระธรรม ขณะนั้นก็มีศรัทธาที่จะได้ยินได้ฟังสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่สามารถจะทำให้เข้าใจชีวิต หรือเข้าใจสิ่งที่มีในชีวิตทุกขณะนี้ได้ตามความเป็นจริง ขณะนั้นมีศรัทธา ไม่ใช่สติ แต่เป็นโสภณเจตสิก ขณะนั้นเป็นกุศล เมื่อมีศรัทธาเกิด สติเกิดร่วมด้วย แต่ว่าลักษณะใดจะปรากฏ จิต ๑ ขณะจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท ถ้าเป็นอกุศลก็มีมากกว่า ๗ ถ้าเป็นโสภณฝ่ายดีงาม ก็มากกว่าขณะที่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าแม้มีศรัทธา แม้มีหิริโอตตัปปะ สติ อโทสะ อโลภะ ลักษณะเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏ แต่สติเกิดกับโสภณจิต คือจิตที่ดีงามทุกประเภท นี่เป็นเหตุที่ว่าการฟัง เราเข้าใจเรื่องสภาพธรรม แต่ไม่รู้จักตัวธรรมเลย ถ้าสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐานไม่เกิด

    เพราะฉะนั้น ก็มีกุศลหลายระดับ ขั้นทาน การที่เราสละสิ่งที่เรามีเพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่นโดยไม่หวังสิ่งใด ทานก็มีหลายอย่าง แต่ก็คงจะได้กล่าวกันไปบ้างแล้ว หรือฟังกันไปบ้างแล้ว แต่ให้ทราบว่าขณะใดที่มีการให้ ขณะนั้นก็เป็นทานคือให้บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นสติด้วย เพราะว่าต้องมีสติในขณะนั้น ขณะที่วิรัติทุจริตก็ต้องมีสติเกิดร่วมด้วยกับโสภณเจตสิกอื่นๆ ขณะที่จิตสงบเพราะเกิดระลึกได้ พอโกรธเกิดระลึกได้ว่าไม่มีประโยชน์เลย ประโยชน์อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใครเวลาที่โกรธเกิด อยู่ที่เขาก็ไม่ใช่ อยู่ที่เราก็ไม่ใช่ แล้วโกรธ โกรธทำไม ในเมื่อโกรธก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าเกิดระลึกได้อย่างนี้ ก็เป็นสติอีกระดับหนึ่ง ขั้นสงบจากอกุศล จะใช้คำว่า “สมถะ” ก็ได้ เพราะว่ากุศลทุกประเภทสงบ แต่ก็ไม่รู้ลักษณะขณะนั้นว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้น เวลาที่จะเป็นสติอีกระดับหนึ่งซึ่งไม่ใช่ขั้นทาน ขั้นศีล ก็จะเป็นขั้นที่เห็นโทษของอกุศล แล้วก็อบรมเจริญกุศลที่เป็นการภาวนา คือให้มีบ่อยๆ เพราะว่าวันหนึ่งๆ กุศลก็เกิดน้อย โอกาสที่จะให้ทานก็น้อย โอกาสที่จะวิรัติทุจริตก็น้อย แต่จิตใจก็เกิดดับเป็นอกุศลอยู่ตลอด เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้เป็นกุศลประเภทอื่นที่ไม่ใช่ทาน ศีล ก็จะต้องเป็นระดับความสงบของจิต เช่น เมตตา จริงๆ แล้วถ้าเราไม่รู้ลักษณะของเมตตา เราก็อบรมเจริญเมตตาไม่ได้เลย เช่น บางคนก็เหมือนกับมีเมตตา แต่พอใครกระทบ ไม่ชอบคนที่มากระทบเลย นั่นก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่เข้าใจเมตตาจริงๆ จะไปท่องหรือจะไปคอยโอกาสที่คิดว่าจะเจริญ หรือการที่นึกถึงบ่อยๆ ก็ไม่ใช่เมตตาจริงๆ เมตตาจริงๆ คือไม่ว่าจะพบใคร สิ่งที่มีชีวิต แล้วก็ไม่เกิดโทสะ ไม่เกิดมานะ แล้วก็ไม่เกิดอกุศลประเภทใดๆ เลยทั้งสิ้น และขณะนั้นก็มีความเป็นเพื่อน มีความหวังดีพร้อมจะเกื้อกูล ขณะนั้นก็เป็นระดับความสงบของจิต แต่ดับกิเลสไม่ได้เป็นสมุทเฉจ แต่ก็มีสติระดับหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น สติที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นหนทางที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ นี่เป็นเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ทุกระดับ ตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูงสุด

    ผู้ฟัง มีคำถามจากผู้สนทนา ๒ ข้อ คือ ข้อแรก ดิฉันมักคิดถึงเรื่องกามคุณอารมณ์อยู่เสมอ รู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี แต่ก็ไม่สามารถห้ามความคิดได้ตามความต้องการ ควรจะพิจารณาน้อมจิตอย่างไร เพื่อให้ความคิดในกามคุณอารมณ์น้อยลง

    ท่านอาจารย์ บังคับไม่ได้ สะสมมาอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แต่สะสมใหม่ได้ คือสะสมความเข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง คำถามข้อที่ ๒ ดิฉันมีเหตุจำเป็นต้องอยู่ร่วม กับคนที่มีโทสะรุนแรง และเกิดได้ง่าย บางครั้งดิฉันต้องถูกเขาทำร้ายร่างกาย ขณะที่ดิฉันเจ็บตัวดิฉันก็คิดว่าต้องเอาเรื่องให้ตำรวจดำเนินคดีให้ถึงที่สุด แต่เมื่อเวลาผ่านไปดิฉันก็คิดถึงธรรม ว่าคงเป็นวิบากกรรมของเราเอง อยากจะบวชชีหนีสภาพที่เป็นอยู่ แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะดิฉันยังไม่เข้าใจธรรม และนำไปปฏิบัติได้ ดิฉันต้องทน เพื่อที่จะได้ฟังธรรมของท่านอาจารย์สุจินต์ จนกว่าจิตใจของดิฉันจะเข้มแข็งกว่านี้ ดิฉันคิดถูกหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ คุณธิดารัตน์ ท่านผู้ถามคิดถูกหรือเปล่า

    อ.ธิดารัตน์ ท่านผู้ถาม ถามว่าฟังธรรมของท่านอาจารย์ไปก่อนดีหรือไม่ เพราะยังไม่เข้าใจธรรม ตรงนี้ก็เป็นความคิดที่ถูกต้อง การฟังธรรมบ่อยๆ เนืองๆ จะทำให้ความเข้าใจค่อยๆ สะสม และก็มั่นคงเพิ่มขึ้น เรื่องกรรม และผลของกรรม ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ แล้วพระธรรมก็เป็นที่พึ่งอย่างดีที่สุดจริงๆ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วก็อยากให้ท่านผู้ที่ถามคิดเอง คือคนอื่นจะตอบอย่างไร จะบอกอย่างไร จะเพียงเชื่อ หรือจะพิจารณาว่าก่อนที่เราได้ฟังธรรม เรามีความเข้าใจอะไรบ้างหรือเปล่า แล้วเวลาที่ฟังแล้วก็เป็นปัญญาของเราเองที่เมื่อฟังแล้วก็พิจารณาไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของเราเอง อย่างนี้เราก็จะยืนยันได้ การที่เราเข้าใจธรรมถูกไหม มีธรรมล้อมรอบตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วก็ไม่เคยเข้าใจเลย เมื่อเกิดเข้าใจขึ้น ถูกหรือไม่ ก็จะไปเข้าใจอย่างอื่น จะถูกหรือเปล่า ถ้าไม่กำลังเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือว่าเข้าใจธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน ขอย้ำบ่อยๆ พระมหากรุณาที่ทรงแสดงพระธรรม เพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจสิ่งที่พระองค์ทรงแสดง จนกระทั่งเป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูกของบุคคลนั้น เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดง ก็แสดงเรื่องของสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น ผู้ฟังทุกท่านก็พิจารณาได้ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นความจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นความจริง เข้าใจถูก หรือเข้าใจผิดในสิ่งที่เป็นจริงอย่างนั้น ถ้าเป็นความเห็นตรงตามลักษณะนั้นก็เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง

    อ.อรรณพ ถ้าเราค่อยๆ เข้าใจ ทุกอย่างดับไป ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ที่เกิดขึ้นก็ดับไป เพียงแต่ความจำที่เราจำว่าคนๆ นี้ว่าเราว่าอย่างนี้ นั่นก็คือสภาพธรรมอย่างหนึ่งคือความจำ แล้วเราก็มีการตรึกนึกถึงเรื่องที่เราไม่สบายใจสะสมเข้าไป ทำให้เราเกิดความขัดข้องใจ พยายามหาทางออก แต่ทางออกที่ดีที่สุด ก็คือการฟังธรรม ตราบใดที่เรายังไม่เป็นพระอรหันต์ที่ดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ยังมีร่างกายอยู่ก็ยังต้องได้รับผลของกรรม และผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอนาคามีก็ยังมีโทสะ มีความขุ่นข้องใจ เพราฉะนั้นก็เป็นปกติที่เป็นอย่างนั้น จะหลีกจะหนีไปด้วยความเป็นตัวตนไม่ได้เลย อาจจะมีความเข้าใจผิดว่าเราหลีกหนีกรรมอะไรได้ นั่นคือในช่วงนั้นกุศลกรรมอาจจะให้ผลชั่วคราว แต่ว่าเราสำคัญผิดไปเอง จริงๆ แล้วต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วเราก็จะสบายใจขึ้น เพราะว่าต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือต้องเป็นเราที่ได้รับกรรมอย่างนั้น

    อ.วิชัย ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม เราก็จะมักคิดถึงคนที่กระทำต่อเรา ประทุษร้ายเราให้รับทุกข์ทางกายต่างๆ เมื่อศึกษาแล้ว เราก็จะพิจารณาถึงเหตุในอดีตที่เรากระทำเหตุไว้แล้ว ถึงกาลที่ผลจะเกิด บุคคลในครั้งโน้นท่านเป็นผู้ที่ยากจน ก็คิดว่าการที่เราเป็นผู้ที่ยากจน เพราะว่าไม่ได้กระทำทานไว้ในอดีต ท่านก็คิดที่จะให้ทาน ถ้าเราพิจารณาว่าทุกข์โทษ ที่ได้รับทุกข์ทางกายเพราะว่าเคยเบียดเบียนคนอื่นไว้ในอดีต ฉะนั้นการตั้งเจตนาที่จะไม่เบียดเบียน ก็เป็นการสร้างเหตุที่จะไม่ให้รับทุกข์ต่อไปในอนาคต

    เรียนถามท่านอาจารย์เรื่องของปัจจัย เรื่องของความโกรธ ก็มีผู้หญิงที่เป็นผู้ที่ไม่โกรธ และสาวใช้ก็ลองใจ ลองหลายครั้ง ภายหลังนายจ้างก็เกิดความโกรธขึ้นมา พิจารณาถึงชีวิตประจำวันว่า บางคราวบางกาลเรื่องเหตุการณ์เดียวกันก็รู้สึกเฉยๆ แต่บางคราวคล้ายๆ ว่ารู้สึกหงุดหงิด เจอเหตุการณ์นี้แล้วก็เกิดความโกรธ ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะโกรธ

    ท่านอาจารย์ ลืมคำว่า “อนัตตา” บังคับไม่ได้เลยว่าจะให้เกิดอะไรเมื่อไร จะให้โกรธในสถานการณ์ซึ่งควรจะโกรธ แต่ไม่โกรธก็ได้ใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นจริงๆ ว่าทั้งหมดไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แล้วแต่อะไรจะเกิดจริงๆ ข้อสำคัญก็คือสิ่งที่เกิดแล้วดับไปโดยไม่รู้สิ่งนี้ ก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่ว่าสิ่งใดก็ตามที่แม้เกิดดับสืบต่อ แต่ยังรู้ความจริงคือรู้ลักษณะนั้น ก็จะทำให้สมความปรารถนาคือเมื่อไร จะไม่โกรธหรือไม่โกรธอีกเลย คือดับกิเลสได้จริงๆ แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็จะโกรธบ้าง ไม่โกรธบ้าง น้อยบ้าง มากบ้าง โดยความไม่รู้ว่ามาอย่างไร แล้วก็ไปอย่างไร เช่น รื่องของวิบากอย่างที่กล่าวถึงเมื่อสักครู่นี้ ไม่คิดเลยถึงกรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้ว คิดถึงแต่ว่าคนนั้นคนนี้ทำ ก็แสดงให้เห็นว่าคิดถึงแต่ปัจจุบัน แล้วก็ขณะที่ตัวเองเกิดโกรธขึ้น อาจจะกระทำกรรมใดๆ ก็ไม่รู้อีกว่าข้างหน้าเราก็จะได้รับผลของกรรมอย่างนี้ นี่คือเรื่องของความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ถ้าค่อยๆ รู้ตามความเป็นจริงก็ไม่ใช่เราที่จะไปบังคับเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใด เมื่อสิ่งใดเกิด เป็นความจริงที่ว่าสิ่งนั้นมีปัจจัยทำให้เกิด

    ผู้ฟัง ที่เรามาศึกษาธรรมก็เพื่อจะประกอบกรรมใหม่ เพื่อที่จะให้ผลที่จะเกิดในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ถ้าเรามีอดีตซึ่งเราจะต้องได้รับผลของอกุศลวิบาก แต่ว่าปัจจุบันเราประกอบเหตุมีความประสงค์ที่จะได้เป็นกุศลวิบาก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567