พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 143


    ตอนที่ ๑๔๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ ตอนกลางคืนนอนแล้วก็คิดใช่ไหม ไม่ได้ดูโทรทัศน์ ไม่ได้อะไรๆ ก็ยังคิด ขณะที่คิดไม่ได้รู้ว่าจิตนั้นไม่ใช่จิตเห็น จิตได้ยิน และไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นจะชื่อว่ารู้จักมโนทวารไม่ได้ เพราะว่ายังคงเป็นเราที่คิด เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าเราศึกษาธรรมโดยชื่อ แต่สภาพธรรมจริงๆ ไม่ได้ต่างจากปกติ แต่ไม่รู้ เหมือนเห็นขณะนี้ไม่ต่างกับปกติแต่ไม่รู้ จนกว่าจะได้ฟัง จะได้อบรม จนกว่าจะสามารถเข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อยเพื่อละความต้องการ เพราะว่าถ้ามีความเป็นเราที่จะทำให้ได้มากๆ ไม่มีทางจะพ้นจากสังสารวัฏฏ์ เพราะขณะนั้นโลภะต่างหากที่กำลังต้องการ ที่กำลังจะทำให้หนทางนั้นไม่ใช่หนทางละ แต่เป็นหนทางที่เพื่อเรา ก็ยังมีความเป็นตัวตนอยู่ ด้วยเหตุนี้ มรรคสัจจ หนทางนี้จึงเป็นหนทางที่เห็นยากว่าเป็นหนทางจริงๆ ไม่มีหนทางอื่น เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เป็นปกติด้วยความเข้าใจถูกว่าไม่ใช่เราที่จะทำ เพราะขณะนั้นสติเกิดจึงมีความรู้ตรงในลักษณะของสภาพธรรม ต่างกับขณะที่หลงลืมสติ

    ผู้ฟัง ในขั้นที่เราได้ศึกษาธรรมมาโดยตลอด สิ่งที่ควรจะพิจารณาก็คือทางปัญจทวารใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ไปแนะนำ แต่เป็นความเข้าใจธรรม เวลาฟังอย่าคิดเรื่องอื่น บางคนอาจจะฟังสูตรนี้คิดเรื่องสูตรโน้น หรือว่าฟังข้อความนี้แต่คิดถึงข้อความอื่น แต่ถ้าฟังด้วยความเข้าใจว่ากำลังฟังเรื่องอะไร กำลังฟังเรื่องธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้นขณะนั้นเราจะไม่คิดถึงสถานการณ์เรื่องราวน้ำท่วมที่โน่น หรือวันนั้นรถเสียไปเข้าสถานีบริการน้ำมัน จะไม่มีเรื่องอย่างนั้น เพราะว่านั่นคือขณะที่เราไม่ได้ฟังธรรม แต่ขณะที่เราฟังธรรมๆ ล้วนๆ ซึ่งมีจริงๆ แล้วไม่เคยรู้ เพราะฉะนั้นขณะที่ฟังธรรมจริงๆ ผู้นั้นจะไม่คิดเรื่องอื่น ไม่คิดว่าเรากำลังฟัง คนนั้นไม่ได้ฟัง หรือว่าคนนี้เป็นอิสสา วันนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่ นั่นคือไม่ได้ฟังธรรม แต่ขณะที่ฟังธรรมคือกำลังฟังสิ่งที่มีจริงๆ กำลังปรากฏให้เข้าใจสิ่งนั้นขึ้น ให้รู้ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าทางมโนทวารเกิดมากกว่าทางปัญจทวารเพราะว่าปัญจทวาร ๑ วิถีก็จะมีมโนทวารเกิดสืบต่อหลายวิถีเลยใช่ไหม ถึงได้กล่าวว่ามากกว่า

    ท่านอาจารย์ วาระหนึ่ง คุณสุกัญญาเคยเห็นฟ้าแลบไหม

    ผู้ฟัง เคยเห็น

    ท่านอาจารย์ นั่นคือการเกิดดับอย่างเร็วมากของทางปัญจทวาร ปรากฏแค่นั้นเอง ต่อจากนั้นก็คือทางมโนทวารเกิดสืบต่อ

    ผู้ฟัง สิ่งนี้คือสิ่งที่เป็นความจริงแต่ว่าเราไม่สามารถจะรู้ได้

    ท่านอาจารย์ อวิชชา รู้ไม่ได้ ไม่มีทางที่อวิชชาจะรู้ได้

    ผู้ฟัง แต่ในขณะที่เราศึกษาธรรม สิ่งที่เราจะรู้ได้ก็คือสิ่งที่ปรากฏแล้วพอจะระลึกได้เท่านั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ศึกษาเพื่อเข้าใจถูกตั้งแต่ขั้นต้นว่าสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ พร้อมกันนั้นก็ได้รู้ว่าปัญญาของเราระดับไหน ซึ่งจะต้องอบรมเจริญจนกว่าจะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมเพราะว่าหนทางมี ไม่ใช่ไม่มีที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรง และรู้ตัวเองว่ามีความเข้าใจระดับไหน และค่อยๆ เข้าใจขึ้นโดยไม่ใช่มีเราอยากที่จะรู้ อยากที่จะเข้าใจ ถ้าศึกษาอย่างนั้นคือไม่เข้าใจคำที่กล่าวว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีอะไรเลยที่จะเป็นอัตตา แม้แต่จะคิดอย่างนั้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง แล้วความจริงที่เราสามารถจะเข้าใจได้ รู้ได้ในขั้นต้นก็คือลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ แน่นอน สิ่งที่ไม่เกิดจะไปรู้ได้ไหม สิ่งที่ดับไปแล้วจะปรากฏได้ไหม เพราะฉะนั้นสิ่งใดปรากฏหมายความว่าสิ่งนั้นเกิดจึงปรากฏ และก็ดับด้วย เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับ

    ผู้ฟัง ตามที่พิจารณาว่า สักกายทิฏฐิเกิดได้ทัั้ง ๖ ทวาร

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าไม่ได้รู้บัญญัติ มีปรมัตถ์ และก็ยึดถือปรมัตถ์นั้นว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง เราสามารถรู้ได้แค่นี้หรือ

    ท่านอาจารย์ แข็งที่ตัวคุณเริงชัยมีใช่ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นคุณเริงชัยหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ นั่นคือยึดถือแข็งที่ปรากฏทางปัญจทวารโดยไม่ต้องใช้ชื่อ โดยไม่ต้องมีคำอะไรเลย ไม่ต้องมีคำว่า “สักกายทิฏฐิ” แต่ขณะนั้นเป็นเรา มีการยึดถือในแข็งว่าเป็นเรา นั่นก็คือความเห็นผิด แต่ไม่ใช่เป็นการรู้เรื่องราวบัญญัติ เพราะมีลักษณะของปรมัตถ์ แล้วยึดถือในปรมัตถ์นั้น

    ผู้ฟัง แล้วโดยพยัญชนะอื่น เห็นเป็นสัตว์บุคคลได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นสัตว์ บุคคล ต้องเป็นทางมโนทวาร

    ผู้ฟัง ทางมโนทวารเห็นเป็นสัตว์ บุคคล ทางปัญจทวารเห็นเป็นปรมัตถ์ อย่างดอกไม้สวย ที่อาจารย์บอกว่าทางมโนทวารก็ดีใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นดอกไม้ก็ต้องทางมโนทวาร ถ้าเห็นสีเป็นสิ่งที่สะสมมาที่จะพอใจในสีที่ปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิตทางปัญจทวาร ถ้าเป็นสีสันวัณณะก็เกิดต่อจากจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โลภะก็ติดข้องในสีนั้น ก่อนที่จะรู้ว่าเป็นอะไร

    อ.วิชัย ขอเรียนถามว่า ถ้าโดยนัยที่ว่า เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณในความเป็นตนที่เป็นทิฏฐิ สิ่งนี้ก็พอเข้าใจ ถ้าพูดถึงเป็นเรื่องราวต่างๆ จะยึดถือด้วยสักกายทิฏฐิได้ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นความคิดนึกต่อจากปรมัตถธรรม

    อ.วิชัย ก็คือแน่นอนต้องมีปรมัตถธรรมจึงจะคิดเป็นเรื่อง

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะที่กำลังคิดเป็นคำ ขณะนั้นต้องเป็นทางมโนทวาร

    อ.วิชัย ในกรณีที่สักกายทิฏฐิที่ยึดถือบัญญัติ จะเป็นลักษณะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คิดว่ามีความคิดเรื่องราวเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ คิดว่ามีผู้สร้างอย่างนี้ หรือว่าคิดว่าโลกนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แม้ว่าขณะนั้นเป็นปรมัตถธรรมทางหนึ่งทางใดที่ดับไปแล้ว ก็ยังเกิดความคิดเป็นเรื่องราวว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

    ผู้ฟัง รู้ไม่รู้เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ แต่การที่คุณเริงชัยจะรู้ลักษณะของเห็นต้องรู้ทางมโนทวาร

    ผู้ฟัง สิ่งนั้นเป็นขั้นวิปัสสนา อาจารย์เคยตอบ

    ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ตามแต่วิปัสสนาคือการรู้จริง เพราะฉะนั้นจะรู้ผิดจากความจริงไม่ได้ การที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมไม่ว่าประเภทใดทั้งสิ้นต้องรู้ทางมโนทวาร

    ผู้ฟัง ธาตุรู้ที่เกิดได้ทางปัญจทวาร และธาตุรู้ที่เกิดได้ทางมโนทวาร เป็นธาตุรู้อย่างเดียวกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นต้องตอบเป็นขั้นๆ ก็ต้องถามอีกว่าครั้งว่า ตัวคุณเริงชัยมีอะไรอีก

    ผู้ฟัง ผมก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ไม่รู้อย่างนี้ก็คือว่าเราไม่ได้ศึกษาธรรม ต้องเป็นคนที่ตรง เคยยึดถืออะไรว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา ขณะนี้ที่ตัวมีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง มียึด ไม่รู้เขาก็ยึด

    ท่านอาจารย์ ที่กายของคุณเริงชัยขณะนี้ทราบไหมว่ามีอะไรบ้างที่ปรากฏที่กายได้ตั้งแต่ศรีษะจรดเท้าลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏคืออะไร ตามการศึกษาต้องพิจารณาว่าถูกต้อง และจริงหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเมื่อศึกษาว่าอย่างนี้แล้วเราก็ไม่เข้าใจ ไม่ได้ แต่ต้องเป็นความเข้าใจของเราเองว่าที่ได้ฟังมา เมื่อพิจารณาไตร่ตรองแล้วเป็นความจริงอย่างนั้นหรือไม่

    ผู้ฟัง ขอตอบว่ามีแข็ง

    ท่านอาจารย์ มีแข็ง คุณสุกัญญาพูดว่าแข็ง แน่นอนใช่ไหม ทุกคนก็รู้อย่างเดียวกัน แต่เราก็ได้ศึกษาตามความเป็นจริงว่าเวลาที่แข็งปรากฏจะมีอย่างอื่นปรากฏไม่ได้ ถูกต้องไหม จะมีสภาพรู้ที่กำลังรู้แข็งสิ่งนี้แน่นอนที่สุด เพราะว่าจิตเกิดขั้นทีละหนึ่งขณะ และมีการรู้อารมณ์ที่ละลักษณะ ทีละอย่าง เพราะฉะนั้นขณะนั้นจริงๆ มีจิตที่กำลังรู้แข็ง นี่คือความจริงสัจจธรรม ไม่มีอื่น เพราะฉะนั้นในขณะนั้นถ้าเป็นความรู้จริง อะไรก็ปรากฏไม่ได้เลยทั้งสิ้น แต่แข็งที่จิตกำลังรู้นั้นเป็นเราหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เป็น เป็นวิปัสสนาญาณอะไรที่จะว่าไม่เป็น

    ผู้ฟัง ก็เป็นสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนี้แข็ง แล้วเราก็ยึดถือแข็งที่กายว่าเป็นกาย และก็เป็นเราด้วย แต่ว่ายังมีอย่างอื่นปะปนมากมายแต่ถ้าเราจะรู้ความจริงว่าขณะนั้นไม่มีอะไรนอกจากแข็งกับสภาพธรรมที่รู้แข็ง เมื่อไม่มีอะไรแล้วแต่มีแข็ง แข็งนั้นเป็นเราหรือไม่นอกจากสภาพรู้กับแข็ง

    ผู้ฟัง ก็ไม่เป็นเรา

    ท่านอาจารย์ เดี่ยวนี้มีตัวคุณสุกัญญา และก็แตกย่อยออกไปละเอียดยิบ นอกจากที่จะมีแข็ง ก็มีเห็น มีได้ยิน มีคิดนึก มีสุข มีทุกข์ มีปวด มีเมื่อย มากมาย แต่เวลาที่สภาพธรรมคือจิตเกิดขึ้น เวลานี้ยังไม่มีปัญญาระดับนั้นแต่กำลังพูดถึงความจริงว่า เวลาที่สภาพรู้เกิดขึ้นรู้แข็งตามความเป็นจริงต้องไม่มีอะไร แต่เพราะเหตุว่ามีอะไรหลายอย่างเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว จึงไม่ได้รู้ความจริงว่าขณะนั้นที่เป็นร่างกายคุณสุกัญญา ก็เคยจำไว้ว่านี่เราที่แข็งนี่เป็นเรา เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีอะไรเลยก็ยังคงมีความจำว่าแข็งเป็นเรา นั่นคือสักกายทิฏฐิ ซึ่งแม้ไม่มีคำใดๆ เลยทั้งสิ้น ยังไม่เป็นเรื่องราวที่จะคิดนึกว่าเป็นคำ แต่ไม่ว่าสภาพธรรมใดปรากฏที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวเรา ความรู้สึกนี้จะหายไปไม่ได้ ปัญญายังไม่รู้ชัดจะหายไปได้อย่างไร เพียงแต่ว่าเมื่อสภาพนั้นปรากฏก็ทำให้สามารถเข้าใจถูกได้ว่าที่ยึดถือรูปว่าเป็นเรา ก็คืออย่างนี้เหมือนธรรมดา แต่เพราะว่าการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว แม้รูปที่ปรากฏที่กายก็ดับไปแล้ว ก็ไม่มีการที่จะไปรู้ชัดว่าขณะนั้นการยึดถือว่าเป็นเรายึดถืออะไรบ้าง แต่จริงๆ แล้วก็ยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดที่เป็นปรมัตถธรรมนั้นแหละว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นถ้ามีการรู้จริงๆ มีสติสัมปชัญญะ และขณะนั้นก็มีธาตุรู้ที่กำลังรู้แข็ง ขณะนั้นก็จะมีการยึดถือแข็งนั้นว่าเป็นเราจนกว่าปัญญาจะรู้ชัด และก็ดับหมด ค่อยๆ คลายความเป็นเราจากสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นเวลาที่บอกว่ายึดถือขันธ์ ๕ ไม่ได้ออกมาสักขันธ์เดียวเพราะว่าเกิดดับสลับเร็วมาก และรวมเป็นเราไปหมด นี่คือความคิด นี่คือการฟัง แต่เวลาที่มีสติสัมปชัญญะเกิด และก็รู้ตรงนั้นจริงๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นวิปัสสนาญาณเป็นขั้นๆ ความเป็นเราก็ยังไม่หมด เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้ว่าปัญญาแค่นั้นไม่พอ จะต้องมีการรู้ลักษณะนั้นจริงๆ อย่างนั้นอีกเพิ่มขึ้นจนกว่าจะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ เป็นสมุทเฉทไม่เกิดอีกเลยเมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ผู้ฟัง สมมติว่าเรามีแผลที่ข้อศอก แล้วเวลาเราไปกระทบแผลเราก็รู้สึกเจ็บ สิ่งนี้ก็เป็นความรู้สึกเจ็บที่เกิดขึ้นจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เจ็บนั้นก็เราอีก เพราะฉะนั้นเวลาที่จะยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา แล้วใช้คำรวมว่าขันธ์ ๕ ทีละขันธ์ ถ้าเป็นความรู้ที่ค่อยๆ รู้ตรง และถูกต้องขึ้น ก็จะเข้าใจความหมายของคำว่าสักกายทิฏฐิ ไม่ใช่ชื่อ แต่ใช้คำนี้แสดงถึงความติดข้องยึดถือว่าเป็นเราจึงมีคำว่า “สักกายทิฏฐิ” ไม่ใช่ว่ามีสักกายทิฏฐิแล้วไปหาว่าอยู่ไหน แต่ลักษณะที่มีจะต้องใช้คำสำหรับให้รู้ความหมายว่าลักษณะนั้นคือลักษณะที่เป็นการยึดถือว่าเป็นเราจึงใช้คำว่า “สักกายทิฏฐิ” ในสิ่งที่เป็นปรมัตถธรรมด้วย ไม่ใช่เป็นแต่เพียงการคิดเรื่องราวเท่านั้น

    ผู้ฟัง แต่ถ้าไม่ได้ใช้คำว่า “สักกายทิฏฐิ”

    ท่านอาจารย์ ลักษณะนั้นก็คือการติดข้อง เป็นเราอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเวลานั้นไม่มีคำใดๆ เลย แต่เป็นเรา สิ่งนั้นเป็นเรา แข็งนั้นก็เป็นเรา ถ้าเป็นไข้ตัวร้อน ลักษณะที่ร้อนปรากฏ เราร้อนหรือเปล่า ปกติธรรมดา ก็เราร้อน แต่เมื่อมีความรู้ในลักษณะนั้นที่กำลังร้อน ความเป็นเราไม่ได้หายไปไหน ร้อนนั้นก็เป็นเรา จึงเข้าใจความหมายของสักกายทิฏฐิว่าถ้าไม่รู้ลักษณะของสักกายทิฏฐิ ละสักกายทิฏฐิไม่ได้ ถ้าไม่รู้ลักษณะของนามธรรม รูปธรรม ก็ละการยึดถือนามธรรม และรูปธรรมว่าเป็นเราไม่ได้ แล้ววันหนึ่งๆ ก็มีนามธรรม และรูปธรรมมากมายหลายอย่างผ่านไปรวดเร็วด้วยความไม่รู้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นเวลาเริ่มรู้ก็ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ อบรม ค่อยๆ เจริญ แล้วก็จะรู้ว่าสักกายทิฏฐิที่มีจริงๆ มีในขณะไหน และลักษณะของสักกายทิฏฐิคือขณะนั้นอย่างนั้น ซึ่งเมื่อปัญญารู้ขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนาม และรูป การคลายการยึดถือสักกายทิฏฐิจากสิ่งนั้นที่ปรากฏก็ค่อยๆ มี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะหายไปได้ทันทีทันใด เพราะต้องเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น

    ผู้ฟัง แต่จำเป็นไหมว่าจะต้องสำคัญที่จะรู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมฟังเพื่อให้เข้าใจว่าใครเป็นผู้แสดง เราหรือ เราอ่านตามยังไม่รู้เลย ต้องมานั่งคิดใช่ไหม สักกายทิฏฐิ ๒๐ แต่ผู้แสดงต้องรู้ ไม่ใช่ไปนั่งคิดแล้วมาบอกเรา ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็จะเห็นความต่างกันของปัญญาของผู้รู้ ตั้งแต่พระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหนือผู้อื่นใด เพราะแม้พระอรหันต์ก็ยังต้องฟังธรรม พระอรหันต์จะไม่มีความรู้เท่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ใช่ไหม ต้องฟัง และผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ พระอริยขั้นต้น พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระโสดาบันไม่สามารถที่จะรู้จิตที่เป็นโลกุตตระที่สูงกว่านั้นได้ และปุถุชนที่สดับ และไม่ได้สดับที่ได้ฟัง และพิจารณาไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความรู้ถูก ความเข้าใจถูกของตัวเองที่มั่นคง กับผู้ที่ฟังเพียงชื่อ และก็ติดเพียงชื่อ สงสัยเรื่องชื่อ และอยากเข้าใจเพียงชื่อ ไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ และไม่มีทางที่จะเข้าถึงอรรถของคำนั้นได้เลย เพียงชื่อ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่มีจริงต่างหากที่มีลักษณะอย่างนั้น ที่ผู้นั้นค่อยๆ รู้จักโดยสติสัมปชัญญะเริ่มเกิด และก็ระลึก และก็ค่อยๆ รู้ ซึ่งค่อยๆ รู้ก็รู้ได้ด้วยตัวเองว่านานแค่ไหน แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ตัวตนหรือโลภจะพยายามหันเหให้ไปทางอื่นซึ่งไม่ใช่หนทางเลย เพราะฉะนั้นก็เป็นลาภอันประเสริฐ ราคานุตริยที่มีศรัทธาที่ได้ยินได้ฟังอย่างถูกต้องที่จะเจริญต่อไปด้วยความมั่นคง

    ผู้ฟัง ลักษณะแข็งที่ปรากฏที่ตัวเรา แต่ยังเป็นลักษณะที่เราบอกว่าเราแข็งอยู่ สิ่งนี้ก็ยังไม่ใช่สติระลึกสภาพธรรมที่ปรากฏใช่ไหม จนกว่าจะระลึกได้ว่าสภาพแข็งนั้นเป็นปรมัตถธรรมจริงๆ และไม่ใช่ตัวเราอย่างนี้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เวลาที่แข็งปรากฏแล้ว จิตที่เกิดต่อในวาระที่แข็งยังไม่ดับไปคือชวนจิต เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด ถึงแม้เป็นโลภะที่ไม่มีทิฏฐิความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่ก็ดับแล้วเร็วมาก ยังไม่ทันจะรู้ว่าขณะนั้นมีการยึดในสิ่งนั้นด้วยความเป็นเรา เพราะว่าลักษณะนั้นไม่ได้เกิด เพราะฉะนั้นการแสดงธรรมตามความเป็นจริงทุกอย่าง แล้วจะรู้ความจริงก็ต่อเมื่อสติสัมปชัญญะรู้ตรงลักษณะนั้นซึ่งสั้นมาก เพียงอาศัยระลึก คิดดู เร็วแค่ไหน ดับแล้ว แต่เพียงอาศัยระลึกบ่อยๆ การที่ค่อยๆ ชินกับลักษณะของสภาพธรรมซึ่งต่างกันที่ทรงแสดงไว้โดยชาติ จิตเห็นเป็นชาติวิบาก นี่คือคำที่ได้ยิน แต่ลักษณะเห็นต่างกับลักษณะที่พอใจเป็นความติดข้องหรือลักษณะของโทสะซึ่งเป็นความขุ่นใจหรือลักษณะของกุศล เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดซึ่งใครก็ปรุงแต่งไม่ได้ นอกจากการสะสมซึ่งมีปัจจัยที่จะเกิดเป็นอย่างนั้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

    เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกครั้งที่มีการเห็น ก็จะมีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา แต่จะรู้ได้ตามความเป็นจริงว่าขณะนั้นเป็นอะไร แต่สำคัญที่สุดก่อนอื่นทั้งหมดคือรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม เพราะว่าดับแล้วเร็วมากเพียงอาศัยระลึกเท่านั้น

    ผู้ฟัง ถ้าสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ท่านอาจารย์บอกว่ามีลักษณะสั้นแสนสั้น แล้วก็เหมือนกับฟ้าแลบ

    ท่านอาจารย์ นั่นคือความจริงแต่ยังไม่ประจักษ์ใช่ไหม ถ้าประจักษ์แล้วก็จะต้องเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ยังมีสักกายทิฏฐิอยู่ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เมื่อไรที่มีความเห็นถูก ขณะนั้นต่างขณะที่มีการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา แต่ไม่ได้หมายความว่ามีความเห็นถูกขั้นฟัง หรือขั้นที่สติเกิดบ้างจะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ ต้องถึงโลกุตตรจิตเกิดจึงสามารถที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ใช้คำว่า “ดับ” คือเป็นสมุทเฉจไม่เกิดอีก ไม่มีเชื้อหรือปัจจัยที่จะให้เห็นผิดได้อีกเลย แม้แต่ผัสสะไม่ประกอบด้วยความเข้าใจผิด ความเห็นผิดในสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง สติปัฏฐาน ๔ หมายถึงว่า

    ท่านอาจารย์ ทีละหนึ่ง

    ผู้ฟัง ระลึกแล้วรู้สภาพธรรมนั้นที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ขณะนั้นมีสักกายทิฏฐิไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ แล้วมีสักกายทิฏฐิไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ แต่ความรวดเร็ว อย่าลืม เห็น ทำไมเหมือนได้ยินด้วย ก็จะทำให้มีความคิดว่าขณะนั้นมีสักกายทิฏฐิด้วย แต่ความจริงต้องแยก กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล แต่เกิดสลับกันเร็วมาก

    อ.นิภัทร สักกายทิฏฐิมี ๒๐ ท่านแจกไปตามขันธ์ ๕ ขันธ์ละ ๔ ห้าขันธ์ก็ ๒๐ ความเห็นว่ากายนั้นคือเห็นชัดเจนว่าทั้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่าเป็นของตน เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเห็นกายอย่างเดียว จะเวทนาก็ได้ สัญญาก็ได้ สังขารก็ได้ วิญญาณก็ได้

    ท่านอาจารย์ คุณนิภัทรจะให้ความหมายเพิ่มเติมของนามกาย และรูปกาย เพราะว่ากายจะหมายความว่าอะไรถึงมีทั้งนามกาย และรูปกาย

    อ.นิภัทร นามกายก็หมายถึงนามธรรม ถ้าขันธ์ ๕ ก็เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง ๔ เป็นนามกาย และรูปก็รูปกายตรงตัว กายคือที่ประชุมที่รวมเป็นหมวดเป็นหมู่ เช่นหมู่ช้าง หมู่ม้า หมู่ลาอะไรก็แล้วแต่ คือรวมกันอยู่หลายๆ อย่าง เช่น รูปก็ไม่ใช่สิ่งเดียว มีอยู่ตั้งหลายรูป เวทนาก็เหมือนกัน มีสุข มีทุกข์ มีอุเบกขา สัญญาก็จำได้หลายอย่าง รวมๆ กันอยู่ ถึงจะเรียกว่ากาย

    ผู้ฟัง ถ้าหลงลืมสติๆ ไม่ระลึกตรงที่แข็งที่กำลังปรากฏ ก็ยึดติดว่าแข็งที่กำลังเจ็บนี้คือสุกัญญากำลังเจ็บตรงแผล ตรงแข็ง นี่คือลักษณะของสักกายทิฏฐิหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ทิฏฐิเป็นความเห็นที่ยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นเรา ขณะนี้เรากล่าวเรื่องทิฏฐิ เรากล่าวเรื่องจิตที่เกิดร่วมกับทิฏฐิ แต่ขณะนี้จะมีทิฏฐิเกิดหรือไม่เกิดก็ไม่สามารถรู้ได้นอกจากสติสัมปชัญญะเกิด ทุกอย่างที่กล่าวถึงไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทต่างๆ จะรู้ไม่ได้จนกว่าสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไร มีลักษณะนั้นกำลังปรากฏให้รู้ ไม่ใช่เป็นชื่อ แต่เป็นลักษณะของสิ่งที่เราศึกษา เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้ว่าทุกอย่างที่ได้ศึกษามีจริงๆ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567