พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 136


    ตอนที่ ๑๓๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นความต่างของจิต ๒ ประเภท ก็จะเห็นได้ว่าสำหรับจิตเห็นไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ประเภทที่เป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิตรึกุศลจิตต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยตามกิจการงาน ตามประเภทของจิตนั้นๆ โดยที่เราก็เลือกไม่ได้

    ผู้ฟัง แม้จะไม่ปรากฏให้รู้

    ท่านอาจารย์ แม้จะไม่รู้ แต่ผู้รู้มี และได้ทรงแสดงไว้ และก็มีเหตุผลที่ได้ทรงแสดงถึงปัจจัยต่างๆ ของสภาพธรรมที่ทำให้เกิดความต่างของจิตประเภทนั้นๆ ด้วย

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้น ในชีวิตประจำวันที่เราพอจะสังเกตได้ เช่น โลภมูลจิตเกิดขึ้นกับเราๆ มีความต้องการที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งนั้นก็ไม่ใช่สภาพของวิริยเจตสิกใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าโลภะเกิดต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง กุศลจิตประเภทใด อกุศลจิตประเภทใด ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยพร้อมเจตสิกอื่นๆ ซึ่งมากกว่า ๗ ประเภท

    ผู้ฟัง แต่ลักษณะของวิริยะที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิต ก็เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่การที่เราต้องการหรือมีการกระทำออกไปทางกายกรรม หรือ ทางวจีกรรม ก็เป็นอีกชนิดหนึ่งแล้วซึ่งไม่เกี่ยวกับวิริยเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับโลภมูลจิตหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังต้องการจะทำอะไรนั้นเป็นจิตประเภทไหน มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่

    ผู้ฟัง ต้องการจะทำเป็นโลภมูลจิต

    ท่านอาจารย์ มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่

    ผู้ฟัง มี แต่เราทำ

    ท่านอาจารย์ เป็นโลภมูลจิตหรือไม่ที่ทำ

    ผู้ฟัง ก็โลภะเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ แล้วมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม

    ผู้ฟัง แสดงว่าเกิดต่อกันไปเรื่อยจนกว่าเราจะทำเสร็จ

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่าจิตประเภทใดไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย นอกจากนั้นมี ถ้านอกจากนั้นมีก็แสดงว่าเพียงแค่มีความติดข้อง ยังไม่ทันรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ก็มีวิริยเจตสิกเกิดแล้วหรือกำลังทำโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต หรือว่ากุศลจิตก็มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นจะมีสภาพธรรมที่เกิดดับโดยเราไม่รู้ เพียงศึกษาแล้วก็รู้ว่าขณะนี้มีผัสสเจตสิก แล้วใครรู้ลักษณะของผัสสเจตสิก

    ผู้ฟัง จิตประเภทใดที่ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ก็ต้องเป็นวิบากจิตที่เป็นอเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเป็นอเหตุกจิต ๑๖ ดวง อเหตุกจิตทั้งหมดมี ๑๘ ที่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยจะได้แก่มโนทวาราวัชชนจิตกับหสิตุปาทจิตเท่านั้น โดยเหตุผลก็ต้องมีเพราะว่าขณะนั้นต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เช่น เรานอนหลับตื่นขึ้นมาคิด ขณะที่คิดนี่ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ผู้ที่ปรารถนาจะบรรลุนิพพานนี้มีโลภะเกิดร่วมด้วยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ มีความเห็นถูกในนิพพานหรือไม่

    ผู้ฟัง มี อย่างพระโสดาบันปรารถนาจะบรรลุพระอรหันต์อย่างนี้ถือว่ามีโลภะไหม

    ท่านอาจารย์ จะเป็นใครก็ตาม ขณะใดที่จิตติดข้องเกิดขึ้น ขณะนั้นต้องเป็นโลภมูลจิต

    ผู้ฟัง พระโสดาบันปรารถนาจะบรรลุพระอรหันต์ ถือว่าอาศัยโลภะ ละโลภะได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ยังมีโลภะอยู่หรือไม่ แล้วอะไรจะละโลภะได้ ต้องเป็นปัญญา

    อ.ธิดารัตน์ เพราะมีโลภะ มีตัณหาอยู่จึงต้องมาศึกษาธรรม ศึกษาธรรมเพื่อให้เกิดปัญญา และเข้าใจลักษณะของโลภะหรือมานะตามความเป็นจริงก่อนจึงจะไปถึงขั้นที่ละได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะขณะที่เข้าใจว่าต้องศึกษาก่อนนั่นก็คือปัญญา

    อ.ธิดารัตน์ เพราะฉะนั้นท่านอาจารย์จึงกล่าวมุ่งถึงปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาก็คือไม่มีโอกาสที่จะรู้ว่าตัวเองมีกิเลสหรือว่ามีโลภะหรือมานะ

    ท่านอาจารย์ ก็ลองพิจารณาด้วยตัวเอง ท่านที่จะอาศัยโลภะ ละโลภะ ถ้าเข้าใจผิดจะทำอะไร

    อ.ธิดารัตน์ ถ้ามีความเห็นผิดแล้วไม่รู้ก็เป็นไปตามอำนาจโลภะ ก็ยิ่งเพิ่มโลภะอีกระดับหนึ่งขึ้นไปอีก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเพียงพยัญชนะ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่ได้ผ่านข้อความใดๆ ก็ตามในพระไตรปิฎก นิรุตติปฏิสัมภิทา คือ การที่สามารถเข้าถึงอรรถของโวหารนั้น ไม่ใช่โดยรูปพยัญชนะว่าพยัญชนะนี้เป็นประธานอะไรๆ อย่างนั้น นั่นก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ไม่คลาดเคลื่อนที่จะรู้ว่าประโยคนั้นผิดถูกอย่างไร แต่ยิ่งกว่านั้นคืออรรถของโวหารนั้นหมายความว่าอะไร มิฉะนั้นแล้วถ้าเป็นผู้ที่ถือพยัญชนะ ก็ไปคิดว่าจะอาศัยโลภละโลภะนี่เราจะทำอย่างไรดี เราจะมีโลภะมากๆ จะได้ละโลภะหรืออย่างไร นั่นก็แสดงว่าไม่ได้เข้าใจอรรถของโวหารใช่ไหม เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นสภาพธรรมที่ลึกซึ้งมาก เช่น พระวินัยลึกซึ้งโดยกิจ ใครจะรู้ว่ากิจใดสมควรแก่ภิกษุในธรรมวินัย ถ้าไม่ทรงบัญญัติไว้ว่าแม้แต่กิเลสเพียงเล็กน้อยที่จะล่วงออกไปทางกาย ทางวาจา ก็จะนำมาซึ่งโทษมากมาย ไม่สามารถที่จะทำให้ถึงการดับกิเลสได้ แต่กลับจะทำให้กิเลสทั้งหลายเจริญขึ้น เพราะฉะนั้นอย่างคฤหัสถ์นี้ก็อาจจะไม่เข้าใจเพราะคิดว่าน่าจะทำได้สำหรับพระภิกษุที่จะทำกิจนั้นบ้าง กิจนี้บ้าง แต่โดยพระสัพพัญญุตญาณ ก็ทรงทราบว่ากิจใดเหมาะสมต่อการที่จะทรงเพศภิกษุในพระธรรมวินัย นี่คือความลึกซึ้งของพระวินัย ส่วนความลึกซึ้งของพระสูตรจะเห็นได้ว่า ถ้าอ่านโดยที่ไม่มีพื้นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเลยจะเข้าใจผิด เพราะว่าพยัญชนะในพระสูตรแต่ละสูตรก็แสดงถึงผู้ที่อ่านแล้วเข้าใจแล้วก็คือผู้ที่มีความรู้ในเรื่องนั้น ไม่ใช่ว่าคนที่ไม่มีความรู้เลย ก็จะไปถือข้อความในพระสูตรตามใจชอบ นั่นก็แสดงให้เห็นว่าอรรถของพระสูตรลึกซึ้งมาก และสำหรับพระอภิธรรมคือธรรมที่ละเอียดยิ่งที่จะทำให้ผู้ฟังมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก ลึกซึ้งโดยสภาวะ เพราะแม้เราจะกล่าวคำว่า "รูปธรรม นามธรรมไม่ใช่ตัวตน" เราพูดตามได้ ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าไม่ใช่ตัวตนคืออะไร ก็จะต้องมีการเข้าถึงโดยการแทงตลอดในการเรียนด้วย และก็แทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมต่อไป ถ้าไม่มีการแทงตลอดในการเรียนก็ผิดเลย ไม่สามารถที่จะมีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมได้

    จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง ถ้าศึกษาแล้วจะเข้าใจว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่เลิศกว่าบุคคลใดๆ ทั้งในโลกมนุษย์ และในทุกโลก เพราะเหตุว่าทรงมีพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ แม้ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ด้วยความละเอียดของธรรมไม่น้อมพระทัยที่จะทรงแสดง เพราะว่าเป็นเรื่อง"ละ"อย่างละเอียดมาก ต้องมีความรอบคอบ และระมัดระวังจริงๆ ว่าขณะที่เราศึกษาธรรมเพื่อละหรือไม่ หรือว่าเพื่ออะไร ถ้าตั้งตนไว้ผิดหรือว่าความเพียรผิด ไม่ใช่ความเพียรที่ถูกต้อง ก็ไม่สามารถที่จะได้ประโยชน์จากการศึกษาธรรมด้วย

    ผู้ฟัง เด็กสมัยนี้ที่รายได้ต่ำ แต่รสนิยมสูงก็เป็นมานะด้วยหรือไม่

    อ.อรรณพ มานะก็มีหลายระดับตั้งแต่มานะหยาบๆ ไปจนถึงมานะละเอียด มานะหยาบๆ ก็คือความสำคัญตนถึงขณะที่ว่าใครมาเตือนไม่ได้ ใครบอกไม่ได้ ก็ตามการสะสมของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมไม่ได้มีประโยชน์อะไร แต่เพราะยังมีอกุศลธรรมจึงอบรมปัญญา และสติที่จะระลึก และรู้ในลักษณะของอกุศลธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ในขณะที่เราให้ทานหรือบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการใดประการหนึ่งอยู่ เราก็มีจิตอธิษฐานคือพระนิพพานเป็นไปได้ไหม และก็ควรจะมีโยนิโสมนสิการอย่างไร

    ท่านอาจารย์ นิพพานอยู่ที่ไหนที่จะถึง

    ผู้ฟัง นิพพานหมายถึงสภาวะที่ไม่ต้องเวียนว่ายในวัฏฏะใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรมหนึ่งซึ่งไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าปัญญาไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏก่อนจะสามารถรู้นิพพานไม่ได้ ต้องมีความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมว่าไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง แล้วในการอธิษฐานเพื่อพระนิพพานเป็นอย่างไร ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่รู้ว่านิพพานคืออะไร เราสามารถที่จะรู้ไหมว่าสิ่งที่เราต้องการ ที่เราหวัง ที่เราอธิษฐานจะเป็นไปในลักษณะใด

    ผู้ฟัง แล้วความเข้าใจพระนิพพานว่าเป็นสภาวะที่ไม่ต้องเวียนว่ายในวัฏฏสังสารนี้ก็ยังไม่พอ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าจิตรู้แจ้งในลักษณะของนิพพานเมื่อไร สามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุทเฉท กิเลสนั้นๆ จะไม่เกิดอีก เพราะฉะนั้นเคยคิดเรื่องที่เรามีกิเลสมาก แล้วทำอย่างไรกิเลสจะลดลงไปได้หรือไม่ เพราะว่าเรื่องการที่จะถึงนิพพานโดยที่ว่าไม่มีการเกิดอีก ต้องเป็นการดับกิเลสหมด ไม่ใช่ว่าทั้งๆ ที่ยังมีกิเลสหรือความไม่รู้ก็สามารถที่จะรู้แจ้งลักษณะของนิพพานได้ เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่าเรามีกิเลสมาก และหนทางที่จะละกิเลสมีหรือไม่ ถ้าไม่มีหนทางที่จะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ละ ก็ถึงนิพพานไม่ได้ ก็เป็นแต่เพียงความคิด เป็นแต่เพียงความหวังโดยที่ยังไม่เข้าใจจริงๆ ว่านิพพานคืออะไร และเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์ถามว่านิพพานอยู่ที่ไหน ขอให้ความกระจ่างด้วย

    ท่านอาจารย์ สนใจเรื่องอกุศลไหม อยากจะไม่มีหรืออยากจะลดน้อยลงได้ สนใจที่จะลดน้อยลงได้ไหม แต่เราหรือตัวตนไม่สามารถที่จะเป็นอย่างนั้นได้ ต้องเป็นหน้าที่ของปัญญาที่มีความเห็นถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม ค่อยๆ อบรมเจริญขึ้นที่จะรู้ว่าไม่มีเรา หรือว่าไม่มีตัวตน สภาพธรรมแต่ละอย่างก็มีกิจหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ เช่นปัญญาเป็นสภาพที่เห็นถูก เข้าใจถูก ในอะไร ถ้ายังไม่รู้ เราก็ไปหลงใช้คำว่าปัญญา โดยที่ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาเลย เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องศึกษาให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ตื่นเต้นกับคำอะไรที่ได้ยินแล้วไม่รู้ แต่จะต้องค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังก่อน แล้วถึงจะรู้ว่า การจะถึงนิพพาน หรือมีการประจักษ์แจ้งนิพพานนั้นมีประโยชน์อะไร ถ้ายังไม่รู้เลยก็เป็นแต่เพียงความคิดเรื่องสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไรด้วย แล้วก็หวังจะได้หรือว่าหวังจะถึงซึ่งก็ไม่มีวันจะถึงได้ด้วยความไม่รู้

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่ทราบความกระจ่างของนิพพาน ต้องการให้อาจารย์ให้ความกระจ่าง

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่มีจริงๆ จิตมี เจตสิกมี รูปมี นิพพานมี ต้องรู้สิ่งที่มีที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก่อนจึงสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของนิพพานได้ แต่ถ้าด้วยความไม่รู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วจะไปเข้าใจนิพพานนั้นเป็นไปไม่ได้ เป็นแต่เพียงชื่อที่ได้ยินเท่านั้นเอง ทำไมจึงสนใจนิพพาน

    ผู้ฟัง ผมได้ฟังมาว่าในการประกอบบุญกิริยาวัตถุก็สามารถอธิษฐานหรือไปถึงพระนิพพานได้ก็อยากจะทราบว่าจะมีโยนิโสมนสิการอย่างไร แล้วก็ถูกต้องหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีความคิดว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ก็มีความคิดว่านิพพานยังเกินวิสัยในขณะนี้ แต่กุศล อกุศลนี่รู้ได้ ก็ค่อยๆ สะสมไป

    ท่านอาจารย์ นี่คือหนทาง "ละ" ที่จะทำให้ถึงนิพพาน เพราะว่าการที่จะรู้แจ้งนิพพานได้มีหนทางเดียวคือละความติดข้องในความเห็นผิดก่อน แล้วก็ละความติดข้องในอย่างอื่นไปจนกระทั่งถึงความเป็นพระอรหันต์

    อ.กุลวิไล ก็ตรงกับที่เราสนทนามาถึงธรรมที่เป็นเครื่องเนิ่นช้า ตั้งแต่ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่เราสนทนากันมา ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันด้วย เพราะว่าโลภะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และเราก็คงไม่ปฏิเสธว่าโลภมูลจิตอยู่กับเราในชีวิตประจำวัน แต่ขณะใดที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดหรือขณะใดที่มีมานะเกิดร่วมด้วย หรือขณะใดเป็นเพียงโลภมูลจิตที่เกิดในชีวิตประจำวันที่เพียงแต่ติดข้องในอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเท่านั้นเอง นี้ก็คือสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ แต่เราก็ต้องรู้ถึงความต่างกันระหว่างขณะใดที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด หรือขณะใดที่เกิดร่วมกับมานะซึ่งเป็นความสำคัญตน หรือขณะใดก็เป็นเพียงแต่ความติดข้องในอารมณ์ต่างๆ ซึ่งก็คือส่วนที่เราควรจะรู้แล้วก็ศึกษาในขณะนี้

    อ.ธีรพันธ์ นิพพานเป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลส เพราะฉะนั้นการที่จะดับกิเลสได้ก็คือดับความไม่รู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้นี่เอง ถ้าไม่สามารถที่จะดับกิเลสในขณะนี้ได้ที่ไม่รู้ความเป็นจริงก็จะไปรู้พระนิพพานไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษาไป

    อ.วิชัย สภาพของนิพพานก็เป็นการสิ้นไปของตัณหา การเริ่มที่จะเข้าใจในสภาพธรรมที่มีจริง ก็เป็นการที่ค่อยๆ ละความติดข้องความพอใจในความเห็นผิดต่างๆ สิ่งนั้นก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะค่อยๆ ดำเนินถึงการสิ้นไปของอกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะเหตุว่าพระอรหันต์เป็นผู้ที่ดับกิเลสทั้งหมด แต่ว่ายังมีขันธ์เหลืออยู่ ฉะนั้นการดับไปของกิเลสก็เป็นกิเลสนิพพานก็คือการสิ้นไปของกิเลสทั้งหลาย ส่วนการดับรอบทั้งหมดก็คือขันธปรินิพพาน ก็คือหลังจากที่จุติจิตของพระอรหันต์แล้วก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้จิตดวงใดเกิดสืบต่ออีก ก็เป็นขันธปรินิพพาน

    อ.อรรณพ ถ้ามีความหวัง ความต้องการในนิพพาน ให้ทราบว่าเป็นเพียงการหวังชื่อเท่านั้น แล้วเรามีความเข้าใจว่าพระนิพพานจริงๆ คืออะไร ถูกต้องแล้วหรือไม่ เพราะนิพพานก็คือสภาพที่ไม่เกิดไม่ดับ แต่จริงๆ แล้วในขณะที่สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็คือสิ่งที่ควรที่จะรู้ ไม่ว่าจะเป็นมานะ ไม่ว่าจะเป็นโลภะที่กำลังปรากฏ สามารถที่จะรู้ตามความเป็นจริง หรือรูปหนึ่งรูปใด นามหนึ่งนามใดที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นเดินทางเข้าใกล้พระนิพพานไปทีละนิดๆ ไปในตัวแล้ว

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องรอบคอบ เป็นเรื่องพิจารณาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจถูก ความเห็นถูก เพียงได้ยินคำว่า “สัจจญาณ” เข้าใจว่าอย่างไร สัจจญาณในอริยสัจ ๔ ไม่ใช่ในอย่างอื่น สัจจะคือความจริง สัจจญาณคือญาณเป็นปัญญาที่มีความเห็นถูกเข้าใจถูกจริงๆ ในอริยสัจ ๔

    ซึ่งอริยสัจไม่ใช่มีเพียง ๑ แต่มีถึง ๔ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ด้วย ไม่ใช่มุ่งไปเพียงนิพพานเพราะเข้าใจว่านิพพานเป็นอริยสัจ แต่ต้องรู้ว่าขณะใดก็ตามที่เราได้ยินคำว่า “อริยสัจ ๔” แล้วเราสามารถเรียกชื่อได้ เพราะได้ยินมาว่าอริยสัจที่ ๑ คือทุกขอริยสัจจ อริยสัจที่ ๒ คือเหตุของทุกข์ สมุทยอริยสัจจ อริยสัจจที่ ๓ คือธรรมที่ดับทุกข์ นิโรธอริยสัจจ ทุกขนิโรธอริยสัจจ ถ้าจะใช้คำเต็ม แล้วก็ยังต้องมีอริยสัจที่ ๔ ก็คือหนทางที่จะดำเนินไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมด้วย ถ้าไม่มีหนทางเราก็ดับทุกข์ไม่ได้ แต่ว่าเพียง ๔ คำที่เราได้ยิน บอกว่าเป็นสัจจญาณหรือไม่ หรือว่าเรามีสัจจญาณหรือยัง พูดได้ไหมในเมื่อเพียงชื่อ ๔ ชื่อ แล้วจะบอกว่าเป็นสัจจญาณ เพราะฉะนั้นญาณเป็นปัญญาไม่ใช่ของคนอื่น แต่ต้องเป็นปัญญาของผู้ที่ฟัง และไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเห็นถูก เป็นความเข้าใจถูกของเรา ต้องเป็นไปตามลำดับ หรือแม้แต่คำว่า “อธิษฐาน” ภาษาไทยเราใช้อย่างหนึ่ง แต่ความหมายของอธิษฐานจริงๆ คืออะไร ขอ หรือว่าอะไร เห็นไหม เข้าใจว่าอย่างไร เพราะยังไม่ทันรู้ก็อธิษฐานแล้วใช่ไหม และที่บอกว่าขอถึงพระนิพพานก็อธิษฐาน ลองกล่าวดูว่าคิดอย่างไรในขณะนั้น อธิษฐานคืออะไร ความตั้งใจมั่น เพราะฉะนั้นขณะนี้มีความตั้งใจมั่นอะไร

    ผู้ฟัง ในการฟังธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ตั้งใจมั่นที่จะถึงนิพพานหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วนิพพานคืออะไรรู้หรือยัง

    ผู้ฟัง ก็ตามที่ท่านทั้งหลายอธิบายมาก็พอทราบ

    ท่านอาจารย์ ก็น่าถึงใช่ไหม ด้วยโลภะหรือว่าด้วยความเข้าใจถูก

    ผู้ฟัง ถ้าไม่รู้ก็น่าจะเป็นโลภะ แต่เมื่อได้ฟังแล้วก็น่าจะเป็นความเข้าใจถูก

    ท่านอาจารย์ เพียงชื่อกับเรื่อง แต่ลักษณะจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่ต่างกับสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป แล้วจิต เจตสิก รูป ก็ยังไม่รู้จริงๆ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และไม่ประมาท ถ้าได้ยินคำว่า “สัจจญาณ” อย่าคิดว่าเพียงชื่อก็เป็นสัจจญาณ แต่ต้องมีความเข้าใจถูกต้องตามลำดับด้วย ถ้าไม่เข้าใจในเรื่องของทุกข์ ในเรื่องสมุทัย ในเรื่องนิโรธ ในเรื่องมรรค แล้วเราจะเป็นสัจจญาณได้หรือไม่

    ผู้ฟัง แล้วในเมื่อคำว่าอธิษฐานไม่ได้แปลว่าการขอ แล้วในขณะบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุนี้ควรน้อมจิตอย่างไรหรือว่าคิดไปในทางลักษณะใด

    ท่านอาจารย์ จะเข้าใจว่าไม่ใช่เรา หรือว่าจะคิด

    ผู้ฟัง คือให้เข้าใจว่าไม่ใช่เราก็พอใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ไปคิดว่าแล้วเราจะคิดอย่างไรในขณะที่เราทำกุศล ไม่ใช่เรื่องทำตามสั่ง หรือไม่ใช่ตามคำบอก แต่ต้องเป็นความเข้าใจของเราที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นการที่ท่านทั้งหลายทำบุญกิริยาวัตถุ แล้วก็ยกมือประมาณว่าขอสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ขอแล้วจะได้ไหม ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วขอทำไม ก็ได้อยู่แล้ว ใช่ไหม แต่ไม่ตรงจุดประสงค์จึงขอให้ตรง ใช่ไหม ขณะที่กำลังมานั่งฟังธรรม อธิษฐานอะไรหรือไม่ กำลังฟัง ไม่ได้อธิษฐานแล้วฟังทำไม

    ผู้ฟัง ฟังเพื่อความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเพื่อความเข้าใจ ถ้าไม่ฟังแล้วอธิษฐานขอให้เข้าใจได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นการประกอบบุญกิริยาวัตถุเพื่ออะไร

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่าเป็นธรรมที่เป็นกุศล ตรงกันข้ามกับอกุศล

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นก็เพื่อการสั่งสมกุศลเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เพื่อที่จะขัดเกลากิเลส เพื่อที่จะอบรมเจริญ เพราะว่าบุญกิริยาวัตถุมีการฟังธรรมด้วย มีการแสดงธรรมด้วย มีการอบรมเจริญปัญญาที่จะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วย

    มาฟังธรรมแล้ว ต้องอธิษฐานไหม หรือว่ามาแล้ว อธิษฐานว่าพรุ่งนี้ขอมาอีกหรืออย่างไร หรือว่ามีความตั้งใจมั่นว่าพรุ่งนี้ก็มา ก็แสดงว่ามีความมั่นคงที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ความมั่นคงที่เห็นประโยชน์ก็คืออธิษฐานโดยที่ไม่ต้องกล่าวเป็นคำอะไร เพราะฉะนั้นเพียงกล่าวกับทำจริงๆ ก็ต่างกันแล้วใช่ไหม เลื่อนลอยโดยการเพียงขอแต่ว่าไม่รู้อะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567