พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 178


    ตอนที่ ๑๗๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ ที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องมาคิดว่าตอนไหน ตรงไหนที่เราละ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป แม้แต่การฟังวันนี้ ขณะนี้ ก็ละความไม่รู้ ค่อยๆ ละ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะหมดเมื่อไร โสตาปฏิมรรคจิตเกิดเมื่อไร ก็ดับเป็นสมุจเฉทไม่เกิดเมื่อนั้น

    ผู้ฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงสักหนึ่งครั้ง

    ท่านอาจารย์ ตามความเป็นจริง เป็นผู้ตรง และไม่ต้องไปหวัง หรือคอยด้วย ยิ่งหวัง ยิ่งคอย ยิ่งช้า แต่ถ้ามีความเข้าใจขึ้น ก็มีการที่มีปัจจัยที่สติสัมปชัญญะจะเกิด เพราะว่าก็เป็นสภาพธรรมตามปกติตามธรรมดา ความไม่รู้บังอยู่ใช่หรือไม่ ไม่สามารถที่จะทำให้เข้าใจลักษณะนั้นได้ อาศัยการฟัง ค่อยๆ ฟังเพิ่มขึ้น เพื่อละความไม่รู้ ไม่ใช่เพื่อได้ความรู้ แต่เพื่อละความไม่รู้ และสภาพที่ละความไม่รู้ นั่นเป็นความรู้ เพราะว่าถ้าเป็นความไม่รู้ ก็ละความไม่รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะใดที่เข้าใจก็คือกำลังละความไม่เข้าใจ ขณะที่เริ่มรู้ก็ค่อยๆ เริ่มละความไม่รู้ แต่ไม่ใช่เรา ต้องรู้อย่างนี้ด้วย และกว่าจะรู้อย่างนี้ได้ นานสักแค่ไหน

    ผู้ฟัง สติระลึกธรรม ตรึกธรรมก็เป็นภาษาไทย อาจจะตรึกผิด ตรึกถูก อาจจะตรึกไปตรึกมาก็ไปอยู่ตรงที่ท่านอาจารย์นิมิตอนุพยัญชนะนั้น

    ท่านอาจารย์ เวลานี้อุปสรรคหนึ่งก็คือฟังเข้าใจว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เข้าใจโดยชื่อ แต่มีเราที่จะทำ แล้วจะทำอย่างไรได้ ฟังแล้วก็ยังมีเราที่จะทำจนกว่าจะรู้ว่าแม้แต่จะคิดอย่างนี้ก็ปรุงแต่งแล้วจากการที่ได้สะสมมาที่จะคิดอย่างนี้ ทุกอย่างทุกขณะเกิดขึ้นเพราะการปรุงแต่งทั้งสิ้น ตราบใดที่ไม่รู้ก็เป็นเราทั้งหมดเลย แล้วเราจะทำอย่างไร แล้วเมื่อไรเราจะรู้ นี่คือการสะสมอวิชชาความไม่รู้ ความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แม้ได้ฟังธรรมแล้ว การสะสมมามากก็จะปรุงแต่งให้เกิดความคิดว่าแล้วจะทำอย่างไร นั่นคือความเป็นเรา จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่าแม้แต่จะคิดขณะนั้นก็ปรุงแต่งจากการที่สะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง สติระลึกอย่างไร ให้เป็นหน้าที่ ทำตามหน้าที่

    ท่านอาจารย์ หน้าที่ของใคร

    ผู้ฟัง หน้าที่ของแต่ละคน แต่ละคน ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ

    ท่านอาจารย์ หน้าที่ของเรา หรือหน้าที่ของโลภะ หน้าที่ของโทสะ หน้าที่ของสติ ถ้าฟังเข้าใจก็คือไม่มีเรา แต่ถ้าฟังแล้วมีเรา หน้าที่ของเราก็จะต้องฟังต่อไปจนรู้ว่าโทสะก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ทุกอย่างเป็นธรรมที่ทำหน้าที่ของธรรมทั้งหมด กว่าจะรู้คือปัญญา ถ้าไม่รู้ก็คือ อวิชชา แต่ก็เป็นหน้าที่ของธรรมทั้งหมด

    อ.วิชัย ถ้ากล่าวถึงโมหมูลจิต ก็ไม่ได้ทรงจำแนกว่าเป็นสสังขาริก อสังขาริก แต่ทรงจำแนกโมหมูลจิตด้วยความเป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ หรือ เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ แต่โดยสภาพของโมหะก็เกิดขึ้นโดยที่ไม่ต้องมีผู้อื่นมาชักจูง เรียนถามท่านอาจารย์ที่ทรงแสดงก็ไม่ทรงจัดหรือแสดงเหมือนอย่างโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิต

    ท่านอาจารย์ แสดงความต่างของอกุศลที่เป็นโลภะ โทสะว่าบางครั้งบางคราวโลภะก็เกิดขึ้น เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่ได้สะสมมาทำให้เกิดขึ้น และบางครั้งบางคราวก็เป็นโลภะที่เกิดขึ้นเพราะมีการชักจูง ชีวิตประจำวันมีใครจะมาฟังธรรมโดยที่ไม่มีการชักจูงหรือไม่ ชักจูงกันมาหมดเลยหรือไม่ ทางฝ่ายกุศล แม้แต่มหากุศลก็มีที่เป็นอสังขาริก และสสังขาริก ทางฝ่ายอกุศล โลภะ และโทสะก็มีทั้งที่เป็นอสังขาริก และสสังขาริก ก่อนที่จะไปถึงโมหะหรืออะไรก็ตามแต่ ต้องทราบความต่างว่าสำหรับโลภมูลจิต จิตที่เกิดความยินดีต้องการติดข้อง บางกาลก็เกิดเพราะปัจจัยที่ได้สะสมมา ปรุงแต่งให้เกิดขึ้นเป็นสภาพธรรมนั้น แต่บางกาลที่โลภะไม่ใช่อย่างนั้น ตอนแรกก็ไม่มีความติดข้องต้องการ แต่ภายหลังที่คบค้าสมาคมหรือว่ามีการชักจูงความคิดหรือความติดข้องก็คล้อยตามไป ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นความต่างของโลภะ โทสะ และกุศล ขอยกตัวอย่าง ของกุศลก่อน ที่มาฟังธรรมมีใครชักจูงหรือมาเอง แสดงว่ามีกำลังที่จะมาเอง บางคน ถ้าคนนี้ไม่มาก็ไม่มา มาไม่ได้คนเดียว ใช่หรือไม่ ขณะนั้นก็เป็นกุศลถ้ามาก็มีกำลังอ่อน ต้องอาศัยการชักจูงของคนอื่น ถ้าคนอื่นไม่มา กุศลนั้นก็ไม่เกิด ถ้ามากุศลที่มาเองกับกุศลที่อาศัยการชักจูงก็คงจะต้องมีกำลังที่ต่างกัน

    ผู้ฟัง เป็นกาล

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ตลอดไปไม่ได้

    ผู้ฟัง ใช่แล้วเวลาวันเดียวกันนั้นเอง จะตัดสินใจที่จะใส่บาตรหรือไม่ใส่บาตรก็แล้วแต่ขณะ

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นการศึกษาจิตซึ่งเกิดดับแต่ละขณะ ซึ่งยากที่จะรู้ไหม แต่พอจะรู้ได้ว่าถ้าเป็นอสังขาริกก็มีกำลังกว่า แม้ว่าจะมีการสะสมมาก็ยังต้องอาศัยการชักจูง รู้แค่นี้พอหรือไม่ หรือว่าอยากจะรู้ให้มากกว่านี้ แต่ว่าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะรู้ชื่อแล้วก็สงสัย และก็คิดว่าขณะไหนเป็นอสังขาริก ขณะไหนเป็นสสังขาริก หรือเพียงรู้ว่าเป็นอย่างนี้ แต่ว่าเราจะรู้อะไรได้ขึ้นอยู่กับกำลังปัญญาของเราว่าสามารถที่จะรู้ได้แค่ไหน แต่ตามความเป็นจริงที่ทรงแสดงไว้ ก็ทรงแสดงให้เห็นกำลังของทางฝ่ายกุศล และทางฝ่ายอกุศล ซึ่งกำลังทางฝ่ายกุศลก็พอจะเห็นได้ ทางฝ่ายอกุศลก็เหมือนกัน โลภะที่มีกำลัง โทสะที่มีกำลัง เกิดเอง โกรธมากๆ ไม่ต้องมีใครมาชักจูงเลยใช่หรือไม่ กับบางครั้งก็อาศัยการชักจูงของบุคคลอื่นหรือตัวเองก็ได้ คิดไปคิดมาก็เกิดโทสะก็ได้หรือโลภะก็ได้

    ผู้ฟัง ตลอดเวลาคิดว่าโมหะดูง่าย เพราะทุกอย่างที่ไม่ทราบก็คือโมหะไปหมด แต่ว่าก็ยังสงสัยตัวเองอยู่เหมือนกันว่าก่อนนี้ถ้าทุกข์มากๆ จะมีความรู้สึกว่ามีความสุขอยู่กับการที่เหม่อลอย

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว จะเห็นความหลากหลายของจิตที่มีการปรุงแต่ง แต่ละขณะจิตจะสะสมสืบต่อไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ หรือทางฝ่ายกุศลก็ตาม และพระธรรมที่ทรงแสดงก็หลากหลายกว้างขวางแม้แต่พยัญชนะแต่ละแห่ง ถ้าใช้คำว่าสังขารกลางๆ ธรรมดาหมายความถึงการปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรมแน่นอน สภาพธรรมใดทั้งหมดที่เกิดขึ้นต้องมีสภาพธรรมปรุงแต่งให้เกิดขึ้น โลกุตตรจิตเป็นสังขารธรรมหรือไม่ ต้องเป็นความเข้าใจ แม้แต่คำว่า “สังขาร” ที่จะเข้าใจในเบื้องต้นก่อนที่จะถึงคำว่าสสังขาริก อสังขาริก หรือว่าอภิสังขารก็ตามแต่ เริ่มต้นจากคำว่า “สังขาร” ก่อนว่าคืออะไร ต้องเป็นสภาพธรรม และสภาพธรรมนั้นต้องเกิด เพราะเหตุว่ามีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิด ถ้าไม่มีปัจจัยปรุงแต่งจะเกิดไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต หรือรูป ก็ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจเบื้องต้น ขั้นต้น ว่าสังขารหมายความถึงปรุงแต่งหรือสภาพที่ปรุงแต่งหรือมีปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิดด้วย ไม่ใช่ปรุงแต่งเฉยๆ ใช่หรือไม่ แล้วแต่ว่าจะปรุงแต่งอย่างไรให้เกิดขึ้นเป็นอะไร เพราะฉะนั้นจิตเกิดเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง ถ้าขณะนั้นปัจจัยนั้นไม่เกิดปรุงแต่งให้จิตประเภทนี้เกิด จิตประเภทนี้ก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น คำถามว่าโลกุตตรจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์เป็นสังขารธรรมหรือไม่ นี่คือการที่เราจะไม่เผิน และก็ละเอียด และบางครั้งจะรู้ได้ว่าเราลืม หรือว่าเรากำลังคิด อย่างเช่น ที่ผู้ถามกล่าวถึงว่า เป็นโมหมูลจิต หรือ เป็นโลภมูลจิต ต้องรู้ด้วยว่าในสถานะนั้นในกาลนั้นเป็นอะไร แต่ไม่ใช่เหมาว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เป็นไปตลอด อย่างนั้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงถามว่าโลกุตตรจิตเป็นสังขารธรรมหรือไม่ ต้องเป็นผู้ที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว ถ้าเป็นความเข้าใจ และความจริงต้องถูกต้องตามความเป็นจริง ใครจะเปลี่ยนความจริงนั้นไม่ได้เลย แม้ว่าจะพิมพ์ผิดจะสะกดชื่อผิดก็ตามแต่ แต่ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมนั้น ใครก็เปลี่ยนสภาพธรรมนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องคิด ถามว่าโลกุตตรจิตเป็นสังขารธรรมหรือไม่ อาจหาญ มั่นคง ไม่หวั่นไหวที่จะตอบ เป็นหรือไม่เป็น?

    ผู้ฟัง ถ้ากล่าวถึงว่าสภาพธรรมเกิดดับก็ต้องเป็น ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เปลี่ยนไม่ได้ ใครจะไปเปลี่ยนได้ ถ้าไม่มีปัจจัยจะเกิดหรือไม่ เกิดไม่ได้ เมื่อเกิดแล้วเพราะมีปัจจัยใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นก็ใช้คำภาษาบาลีว่า “สังขาร” เป็นธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง อะไรเป็นสังขารธรรมของจิต อะไรเป็นสังขารที่ปรุงแต่งจิต ลองคิดดู จิตเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง มั่นคงแล้วใช่หรือไม่ ถ้าไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นอะไรเป็นปัจจัยปรุงแต่งจิตให้เกิด

    ผู้ฟัง เจตสิก

    ท่านอาจารย์ ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และจิตบางจิตก็ต้องมีรูปเป็นปัจจัยด้วย แต่ถ้ากล่าวถึงสภาพธรรมที่ปรุงแต่งให้จิตนั้นเกิดซึ่งแยกกันไม่ได้เลย ไม่ว่าจะภพไหนภูมิไหนทั้งสิ้นก็ต้องเป็นเจตสิกที่ปรุงแต่ง ขณะนี้เข้าใจแล้ว และเมื่อถึงอรหัตตมรรคจิตเป็นสังขารธรรมหรือไม่ อรหัตตมรรคจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ดับกิเลสเป็นสังขารธรรมหรือไม่ เป็น ไม่ลังเลเลย เพราะว่าต้องมีปัจจัยปรุงแต่งเกิด รูปเป็นสังขารธรรมหรือไม่ เป็น แต่ละรูปก็อาศัยกัน และกันเกิด ธาตุดินอาศัยธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเกิด ธาตุน้ำอาศัยธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ถ้าเข้าใจสังขารธรรมในความหมายนี้แล้ว ก็จะมาถึงคำว่าสังขารขันธ์ จำแนกออกมาแล้ว เพิ่มความหมายอีกอย่างหนึ่งคือขันธ์ ซึ่งขันธ์ทั้งหมดมี ๕ ขันธ์ รูปเป็นสังขารขันธ์หรือไม่ ไม่ได้ถามว่ารูปเป็นขันธ์หรือไม่ แต่ถามว่ารูปเป็นสังขารขันธ์หรือไม่ รูปเป็นสังขารธรรม แต่รูปเป็นสังขารขันธ์หรือไม่ ไม่ใช่ นี่คือการที่เราได้ฟังอะไรแล้วด้วยความเข้าใจ และความเข้าใจนั้นเปลี่ยนไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นการเข้าใจตามลักษณะของสภาพธรรม รูปเป็นสังขารธรรมแต่ไม่ใช่สังขารขันธ์ เพราะว่ารูปเป็นรูปขันธ์ ไม่ใช่สภาพรู้ ด้วยเหตุนี้แม้แต่คำว่าสังขารคำเดียว เราก็ไม่เหมารวมไปว่าความหมายเดียว แต่ต้องมีความเข้าใจตามคำที่เพิ่มขึ้นด้วย จนกระทั่งถึงสสังขาริก อสังขาริก ก็ต่างออกไปอีก ไม่ได้หมายเพียงสังขารธรรม

    อ.อรรณพ ในเรื่องความหมายของคำว่าสังขาร ว่ามีความหมายหลากหลายไป กุศลจิต และก็อกุศลจิตซึ่งก็มีทั้งที่เป็นสสังขาริก และอสังขาริก ก็เข้าใจได้ในขั้นการฟัง และการพิจารณา แต่การที่เราจะประจักษ์ในลักษณะของความเป็นอสังขาริก หรือความเป็นสสังขาริกของจิตนั้นก็ยังไม่ใช่ด้วยปัญญาขั้นการฟังหรือขั้นพิจารณา แม้ขั้นสติระลึกรู้แรกเริ่มไม่สามารถที่จะรู้ในความต่างว่าเป็นสสังขาริกมีกำลังไม่ต้องอาศัยการชักจูง หรือว่าไม่มีกำลังต้องอาศัยการชักจูง เราก็เพียงเข้าใจตาม และก็สะสมความเข้าใจไปก่อนในการที่จะประจักษ์จริงๆ ว่าขณะนี้เป็นอสังขาริกหรือเป็นสสังขาริก ก็คงยังไม่ใช่ปัญญาในระดับเริ่มต้น เพราะเราก็คงจะไม่มีปัญญาเหมือนพระอัครสาวก พระมหาสาวกต่างๆ ที่ท่านสามารถจะรู้ได้ละเอียด และทรงจำได้มากได้

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่เข้าใจเท่าไร ว่าเหตุใดเวทนาไม่เป็นสังขารขันธ์

    อ.วิชัย ทรงแสดงขั้นธ์ไว้ ๕ ขันธ์ ทั้ง ๕ ขันธ์เป็นสังขารธรรมทั้งหมด แต่ในส่วนของรูปคือรูปทั้งหมด ทรงแสดงว่าเป็นรูปขันธ์ทั้งหมด ส่วนเวทนาก็แสดงลักษณะของเวทนา คือความรู้สึกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกาลไหนๆ เมื่อเวทนาเกิดขึ้นก็เป็นเวทนาขันธ์ ส่วนสัญญาก็เช่นเดียวกัน ความจำความหมายรู้ต่างๆ ทรงแสดงว่าเป็นสัญญาขันธ์ ส่วนเจตสิกอื่นๆ ที่เหลือนั้นทรงแสดงว่าเป็นสังขารขันธ์ ส่วนจิตประเภทใดก็ตามก็ทรงแสดงว่าเป็นวิญญาณขันธ์ ถ้ากล่าวถึงเวทนาคือทรงแสดงธรรมโดยขันธ์ให้เห็นถึงว่าไม่ว่าจะเป็นเวทนาที่ในอดีต อนาคต ปัจจุบัน หรือว่าหยาบละเอียดอะไรก็ตามก็จัดอยู่ในกองของเวทนา อย่างเช่น ไม่ว่าจะเป็นโทมนัส โสมนัส สุข ทุกข์ ต่างๆ ก็เป็นเวทนาขันธ์ จะเป็นสังขารขันธ์ไม่ได้ จะเป็นผัสสะ หรือเจตนาไม่ได้ ก็ต้องเป็นเวทนาขันธ์ หรือแม้สัญญาเองก็ตาม สัญญาจะเป็นเวทนาขันธ์ก็ไม่ได้ จะเป็นสังขารขันธ์ก็ไม่ได้ ก็ต้องเป็นสัญญาขันธ์ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่เราก็คงจะพูดตามความเคยชิน ตามความคิดนึกของเรา จนกว่าเราจะค่อยๆ เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น โดยมากจะบอกว่าอยู่ที่นั่นหรืออยู่ในนั้น ความจริงก็ไม่ได้อยู่ เช่น เวทนาเหตุใดไม่ใช่สังขารขันธ์ เพราะว่าเวทนาเป็นเวทนา ไม่ใช่เป็นอื่นเลย เป็นความรู้สึก เป็นสภาพของความรู้สึก เป็นที่ติดข้องยึดถืออย่างยิ่ง ทุกภพชาติ เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ ทุกคนที่ปรารถนาก็คือสุขเวทนากับโสมนัสเวทนา แสดงให้เห็นถึงแม้ว่าเวทนาก็เป็นสังขารธรรม เป็นธรรมที่เพียงอาศัยเหตุปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป แต่แม้กระนั้นโดยสภาพที่เป็นความรู้สึกเป็นสุขกับโสมนัส ก็เป็นที่ติดข้องยึดถืออย่างยิ่งแสวงหาทุกภพชาติ ไม่ว่าการที่จะให้พ้นสภาพของกามาวจรไปสู่รูปาวจรก็เพื่อสุขเวทนา ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นที่ตั้งของความยึดถือของความต้องการอย่างมาก แล้วเวทนาเป็นเวทนา จะเป็นผัสสะ จะเป็นปัญญา จะเป็นอะไรไม่ได้เลย หรือแม้แต่รูปทุกรูปที่เป็นรูปขันธ์ก็เพราะเป็นรูป ไม่ใช่ไปอยู่ในกองของรูปขันธ์ คือเราจะต้องมีความเข้าใจด้วย การที่ใช้คำก็แสดงให้เห็นถึงความจริงของสภาพธรรมนั้น แต่ถ้าเรามีความจำในเรื่องคำ เราจะใช้คำตามที่เราคิดว่ารูปอยู่ในรูปขันธ์ เวทนาทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนาหรือโสมนัสเวทนาก็อยู่ในเวทนาขันธ์ ไปเข้าใจว่าอย่างนั้น แต่ตามความจริงรูปเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเป็นรูป เพราะฉะนั้นไม่ว่ารูปที่ดับไปแล้วหรือว่ารูปที่จะเกิดต่อไปก็ยังคงเป็นรูป ก็ต้องเป็นรูปขันธ์ สำหรับเวทนาความรู้สึกก็เช่นเดียวกัน สัญญาเจตสิกก็เช่นเดียวกัน ส่วนสภาพธรรมอื่นๆ ก็ปรุงแต่งให้เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นเรื่องราวต่างๆ บ้าง ก็ดีที่ไม่มากกว่า ๕ ใช่หรือไม่ แต่แยกออกไปทีละหนึ่งคงลำบากถ้าแยกไปทีละหนึ่ง ปัญญาเป็นสังขารขันธ์หรือไม่

    ผู้ฟัง ปัญญาเป็นสังขารขันธ์

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ว่าต้องรวมหมดทุกอย่างแล้วเป็นสังขารขันธ์ ปัญญาก็เป็นสังขารขันธ์ เจตนาเป็นสังขารขันธ์หรือไม่

    ผู้ฟัง เจตนาเป็นสังขารขันธ์

    ท่านอาจารย์ เจตนาก็เป็นสังขารขันธ์ด้วย ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ เราก็เข้าใจในความหมายของสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกแต่ละประเภท

    ผู้ฟัง การเกิดดับของจิตถือว่าเป็นความทุกข์ คำถามคือดับแล้วสุขมีหรือไม่

    อ.อรรณพ แม้สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับ ไม่มีอะไรเที่ยง เป็นทุกขลักษณะ แต่ก็ไม่รู้ เพราะคิดว่าเดี๋ยวความสุขก็มาอีกก็จะเป็นอย่างนี้ไป แต่ความสุขก็จะแปรเปลี่ยนไปประการหนึ่ง และความทุกข์ซึ่งเป็นทุกขเวทนา หรือว่าโทมนัสเวทนาซึ่งเป็นทุกขทุกข ก็มีโอกาสที่จะเกิดได้อีก แม้อยู่ในสวรรค์ อยู่ในพรหมโลก หลังจากนั้นแล้วก็อาจจะได้เกิดในสุขติภูมิ แล้วก็มีโอกาสจะเกิดในอบายภูมิก็มี ที่เกิดในสุคติภูมิก็มีทุกข์กาย ทุกข์ใจได้ วนเวียนไป แต่โดยตรงลักษณะของสภาพธรรมแล้วคือทุกขลักษณะซึ่งเกิดแล้วต้องดับเป็นความทุกข์ เพราะทนตั้งอยู่อย่างนั้นไม่ได้

    อ.วิชัย เรียนท่านอาจารย์ถ้าในชีวิตประจำวัน แม้ขณะนี้ฟังแล้วยังไม่เข้าใจ ขณะนั้นจะมีความไม่รู้ด้วยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ถ้าเป็นอกุศลจิตก็ต้องเกิดร่วมกับอวิชชา (ความไม่รู้) จึงเป็นอกุศล

    อ.วิชัย แต่ถ้าโดยปกติแล้วแม้เป็นกุศลจิตเกิด ไม่มีอวิชชา แต่ว่าถ้าไม่มีปัญญาก็หมายถึงว่าไม่มีการที่จะละคลายอวิชชาหรือไม่

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าขณะนั้นไม่มีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    อ.วิชัย ฉะนั้้นในขั้นของการที่จะค่อยๆ ละคลาย อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น เพียงแค่ความรู้ความเข้าใจขึ้นบ้าง จะเป็นการค่อยๆ ละความไม่รู้ด้วยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ขอเล่าถึงการสนทนาเมื่อวานนี้ ก็ได้สนทนากับท่านผู้หนึ่ง ท่านก็บอกว่าท่านท้อถอย ซึ่งจริงๆ แล้วการฟังธรรมเพื่ออะไร เพื่อท้อถอยหรือว่าเพื่ออะไร ที่เราฟังธรรม ต้องทราบว่าเพราะเรามีความตรงต่อตัวเองว่าเราไม่รู้พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ เราอาจจะรู้เรื่องอื่น เราเป็นคนเก่ง อ่านตำรับตำราอะไรได้มากมาย อาจจะมีปริญญาสัก ๕ มหาวิทยาลัย เป็นดุษฎีบัณฑิตก็ตามแต่ แต่ว่าเราต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าเรารู้พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหรือไม่ ถ้าเป็นคนตรงก็ต้องยอมรับว่าถ้าไม่มีการฟัง และไม่มีการศึกษาเลย ใครจะรู้ เป็นไปไม่ได้เลย วิชาการใดๆ ก็ไม่สามารถจะเทียบกับวิชาหรือความรู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงได้ตรัสรู้ และทรงแสดง เพราะฉะนั้นแม้แต่การเริ่มต้นคือไม่ใช่เริ่มต้นด้วยความติดข้องในตัวเรา ที่อยากจะรู้ให้มากเท่าคนอื่นหรือว่าอยากจะจบเล่มนั้นเล่มนี้ หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ แต่ต้องเป็นผู้ตรงว่าเป็นผู้ไม่รู้ และกำลังฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดยิ่งเพื่อความเข้าใจ แต่ความเข้าใจนี่ยาก เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ความยากของพระธรรมจะมากสักแค่ไหน ทุกคนที่ได้ศึกษาแล้วก็ยอมรับแล้วก็กล่าวตรงกันว่าไม่มีวิชาใดๆ เลยในโลกที่จะยากกว่าพระพุทธศาสนา แต่ถ้าเป็นคนที่คิดว่าหยิบหนังสือธรรมเล่มไหนขึ้นมาอ่านก็เข้าใจ เข้าใจนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็คิดว่ารู้ เป็นผู้รู้ เพราะว่าอ่านแล้วนั้น ก็คือว่าไม่ถูกต้อง ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าพระธรรมที่จะเข้าใจได้นี่ต้องศึกษาตามลำดับด้วยความค่อยๆ เข้าใจถูกขึ้น เพราะฉะนั้นจะไม่มีความท้อถอย เพราะว่าผู้ที่ท้อถอยก็จะบอกว่าไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เช่น รู้สึกว่าใครที่มาฟังนี่รู้มากทั้งนั้นเลย พูดอะไรคนนี้ก็เข้าใจ คนนั้นก็เข้าใจ แต่ท่านผู้นั้นไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ แต่ต้องฟังเพื่อรู้ว่าไม่มีเราทั้งหมด ฟังเพื่อให้เข้าใจว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นตราบใดที่การฟังของเรายังไม่เข้าถึงความเป็นธรรมก็หมายความว่าเราจะต้องฟังต่อไป แล้วก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไปโดยที่ต้องเข้าใจถูกต้องตั้งแต่ต้นว่าเราอยู่คนเดียว จริงหรือไม่ นี่คือไม่มีการต้องไปเปรียบเทียบว่าขณะนี้มีคนหลายคน แล้วคนนั้นก็เข้าใจกว่าเรา พูดอะไรคนนั้นก็เข้าใจ คนนี้ก็เข้าใจ นี่คือความคิดเรื่องคนอื่น แต่ถ้าตามความเป็นจริง จิตนี่เป็นนามธาตุซึ่งน่าอัศจรรย์มาก เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถที่จะไปบังคับให้เกิด และเมื่อเกิดแล้วไม่ให้ดับ เมื่อไม่ให้ดับแล้วก็ไม่มีการเกิดขึ้นสืบต่อ เป็นไปไม่ได้เลย ทั้งหมดนี่คือเราเริ่มที่จะเข้าใจว่าเราคนเดียว เกิดคนเดียว อยู่ในโลกคนเดียวกับความคิด ไม่ว่าเราจะคิดว่าเรานั่งอยู่ที่นี่ นั่นคือคิด แต่สภาพของจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ แล้วก็รู้อารมณ์คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ทีละ ๑ อย่างเท่านั้นเอง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567