พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 175


    ตอนที่ ๑๗๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ ที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ แม้ฟังอย่างนี้ก็ยังไม่ได้ประจักษ์ เพราะถ้าประจักษ์จริงๆ คือความเข้าใจความเป็นอายตนะ ซึ่งทรงแสดงไว้โดยละเอียดสำหรับบุคคลที่ได้สะสมมาที่จะฟัง และเข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ด้วยสติที่กำลังรู้ลักษณะนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่เริ่มฟังก็เป็นปัญญาของตัวเองที่จะรู้ว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริงที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างที่มีจริงขณะที่กำลังปรากฏ เพราะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แม้ว่ายังไม่รู้อย่างนี้ ยังไม่ประจักษ์อย่างนี้ แต่เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ก็ค่อยๆ เข้าใจ เพราะเหตุว่าขณะนี้ส่วนใหญ่เห็นเป็นคน เห็นเป็นสิ่งของ เห็นเป็นวัตถุ แต่มีเห็นแล้วก็เป็น เพราะฉะนั้นเวลาที่เพียงเห็นยังไม่ได้เป็นอะไรเลย เริ่มที่จะแยกว่าขณะนี้ต้องมีสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏแล้วจึงคิดเพราะจำ จึงได้รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร แม้ว่าจะเป็นไปอย่างรวดเร็วมานานแสนนาน แต่ค่อยๆ เริ่มที่จะเข้าใจถูก ค่อยๆ เริ่มที่แม้จะเพียงรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แค่นี้เราจะติดอะไรมากมายกับสิ่งที่สามารถเพียงปรากฏทางตา เหมือนเสียงที่ปรากฏทางหู เหมือนกลิ่นปรากฏทางจมูก และก็ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนเลย ดับหมดทุกอย่าง แต่เพราะความไม่รู้ที่หนาแน่นมากก็ยังไม่ได้แยกเลยว่า เมื่อเราได้ฟังคำว่ารูปารมณ์ และจิตเห็นแค่นี้เรามีความรู้ในสองคำนี้แค่ไหน ถ้ามีความรู้ก็ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ และก็สติเกิด และค่อยๆ น้อมไปสู่ลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็นซึ่งไม่มีรูปร่างเลยแต่กำลังเห็นเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถเห็น และขณะนั้นโลกนั้นไม่มีอะไรปรากฏเจือปนเลยทั้งสิ้น นอกจากมีเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นเราอยู่ที่ไหน ความหมายของอนัตตาก็คือว่าสามารถที่จะรู้ความจริงว่าขณะนั้นไม่มีอะไรเลย นอกจากธาตุรู้กับสิ่งที่กำลังถูกรู้เท่านั้น ไม่มีเราเลย และสิ่งนั้นเกิด และก็ดับด้วย การที่จะละความเป็นตัวตนได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย และที่จะเกิดในสังสารวัฏได้อย่างมากอีกเพียง ๗ ชาติ ก็ลองคิดดูว่าต้องเป็นปัญญาที่สามารถประจักษ์ความจริงจนกระทั่งถอนความเป็นเรา คือสักกายทิฏฐิซึ่งเป็นอนุสัยไม่มีอีกเลยหลังจากที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล

    แต่เราก็จะต้องรู้ตัวเองตามความเป็นจริงว่าขณะที่กำลังฟังก็ฟังเรื่องสิ่งที่กำลังมีกำลังปรากฏ ค่อยๆ น้อมไปทีละนิดทีละหน่อยโดยสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งจากการฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่ใช่ว่ามีเรากำลังพยายามน้อมหรือว่ากำลังพยายามทำอะไรทั้งสิ้น ให้รู้ว่าขณะนี้เป็นนามธรรม และเป็นรูปธรรมซึ่งเกิดแล้วทั้งหมด ไม่ว่าอะไรที่กำลังปรากฏในขณะนี้เกิดแล้วจึงได้ปรากฏ ก็จะไม่มีความเป็นเราที่อยากจะไปทำอะไรขึ้นมาให้ปรากฏ จะไปทำสติก็ไม่ได้ จะไปทำวิริยะก็ไม่ได้ จะไปทำปัญญาก็ไม่ได้ สิ่งใดที่ไม่ได้เกิดยังไม่ได้เกิดเพราะปัจจัยยังไม่ได้ปรุงแต่งให้เกิด แต่สิ่งใดซึ่งเกิดแล้วเป็นสังขตธรรม ปัจจัยปรุงแต่งแล้วจึงเกิด และก็ดับ นี่ก็คือการฟังแล้วฟังอีก ฟังไปเรื่อยๆ ทุกวันทางวิทยุ สนทนาธรรมกัน หรือมาสนทนาร่วมกันที่มูลนิธิเพื่อที่จะได้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะที่สิ่งนั้นก็กำลังปรากฏนั่นเอง

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏหมายถึงลักษณะของรูปธรรม และนามธรรม เป็นความเข้าใจถูกต้องหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เป็นความเข้าใจถูกขั้นฟัง

    ผู้ฟัง และเมื่อสติจะระลึก จะระลึกลักษณะของรูปธรรม และนามธรรมที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดไม่ได้มีแต่เฉพาะสติเจตสิกอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเกือบจะไม่ต้องเอ่ยชื่อว่าสติระลึกหรือสัมมาสังกัปปะกำลังจรดในอารมณ์ หรือวิริยะเกิดในขณะนั้นร่วมด้วย แต่ว่าขณะใดก็ตามที่กำลังรู้ตรงลักษณะ นี่แสดงว่าขณะนี้มีลักษณะ ยังไม่ได้คิดอะไรเลย ลักษณะนี้กำลังเผชิญหน้า และไม่ได้คิดอะไรเลย กำลังค่อยๆ เข้าใจในความเป็นธรรมของลักษณะนั้นว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งโดยที่ไม่ต้องพูดอะไรด้วย และไม่ต้องไปเรียกชื่ออะไร แต่ว่าความคุ้นเคยกับการนึกถึงคำ ก็อดไม่ได้เลย ซึ่งก็เป็นธรรมดา ให้รู้ว่าขณะนั้นที่คิดไม่ว่าจะคิดอะไรทั้งสิ้น ซึ่งความคิดของเราแต่ละขณะจะไม่เกิดขึ้นเพราะความต้องการของเราที่จะไปทำให้เกิดขึ้น แต่เมื่อมีปัจจัยที่จะคิดอย่างไร จิตก็คิดอย่างนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่ากว่าจะรู้ทั่วว่าแม้คิดซึ่งเกิดต่อติดตามมาอย่างรวดเร็ว และมากมายตลอดวัน ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่เห็น ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ แต่เป็นสภาพคิด ทั้งหมดก็คือเป็นธรรมแต่ละลักษณะ ขณะนี้ทุกคนมีสภาพแข็งปรากฏ ตรงแข็ง ขณะที่กำลังมีแข็งปรากฏ นึกถึงชื่อหรือยัง กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง นึกถึงชื่อหรือยัง ก็ยัง นี่ก็แสดงให้เห็นว่ามีการที่จะรู้ลักษณะนั้นได้ แต่ต้องด้วยความที่ค่อยๆ เข้าใจในลักษณะนั้นด้วย ไม่ใช่เพียงแต่รู้อย่างกายวิญญาณเท่านั้น

    ผู้ฟัง มีความสงสัยว่า อกุศลกรรมกับอกุศลกรรมบถต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อกุศลกรรมบถก็คือทางของอกุศลกรรมที่จะทำให้ได้รับผลต่างๆ ไปสู่คติต่างๆ ถ้าเป็นอกุศลกรรมก็นำไปสู่นรก หรือ เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ถ้ากล่าวถึงอกุศลกรรมก็แล้วแต่ว่าหมายถึงตัวเจตนาที่เป็นอกุศล หรือว่ากล่าวถึงการกระทำที่เป็นอกุศลกรรม แต่ไม่ถึงความสมบูรณ์ของอกุศลกรรมบถ คือภาษาเป็นเรื่องที่ใช้กัน โดยที่แล้วแต่ว่าบุคคลที่ฟังจะมีความเข้าใจร่วมกันถูกต้องกับความหมายของผู้พูด หรือเข้าใจคนละนัย ถ้ากล่าวถึงอกุศลจิต เราเข้าใจใช่หรือไม่ แล้วถ้ากล่าวถึงอกุศลกรรม ถ้าไม่ได้ศึกษา เราก็จะเข้าใจอย่างหนึ่ง ถ้าเข้าใจว่ากรรมได้แก่เจตนาเจตสิก อกุศลกรรมก็คือเจตนาที่เป็นอกุศล อกุศลกรรมบถก็มีการกระทำที่ครบองค์หรือไม่ครบองค์ก็แล้วแต่ แต่ก็มีการกระทำเจตนานั้น ความเข้าใจเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าเพราะว่าบางทีเราอาจจะพูดสั้นหรือบางทีเราอาจจะพูดละไว้ในที่เข้าใจก็ได้ แต่ต้องเข้าใจสภาพธรรมให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง กรุณาอธิบายความละเอียดของคำว่า “สิ่งที่กำลังปรากฏ”

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ได้ฟังขณะนี้ก็มีสิ่งหรืออะไรก็ได้ จะเรียกอะไรก็ตามแต่แต่จะใช้ภาษาบาลีก็ได้ว่ารูปารมณ์กำลังปรากฏ จริงหรือไม่ อะไรที่กำลังปรากฏขณะนี้ทางตามีจริงๆ หรือเปล่า แล้วสิ่งนั้นเกิดสืบต่ออย่างเร็วมากสลับกับความคิดความจำด้วยก็ทำให้แยกไม่ออก ว่าขณะนี้เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทแล้วปรากฏได้ แต่เพราะความรวดเร็วของความจำ ทันทีที่เห็นก็รู้เลยว่าเห็นอะไร นี่ก็แสดงให้เห็นว่าปัญญาไม่พอ ไม่พร้อมที่จะเข้าใจลักษณะจริงๆ ของรูปารมณ์สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็ต้องอาศัยการฟัง และเวลาที่จะค่อยๆ เข้าใจ ไม่ได้ผิดปกติเลย แม้ในขณะนี้เองก็กำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ได้คิดอะไรด้วย ขณะนี้มีสิ่งเฉพาะที่กำลังเผชิญหน้า และก็ค่อยๆ ชินกับลักษณะของสภาพธรรมนี้ว่าลักษณะจริงๆ ก็คือลักษณะนี้ซึ่งไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ แต่ราไม่ชินใช่ไหม เมื่อเห็น แล้วหลงลืมสติ ก็จำได้เลยว่าเป็นอะไร แต่ถึงแม้อย่างนั้น ขณะนี้ก็ยังมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่กำลังค่อยๆ เข้าใจความจริงว่า จริงๆ แล้วเมื่อมีสิ่งนี้เฉพาะหน้าจริงๆ รู้ตรงนี้จริงๆ ขณะนั้นก็คือลักษณะอย่างหนึ่งของสภาพธรรมจนกว่าจะชิน

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน เราก็ไม่ได้ระลึกถึง สติปัญญาก็จะไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ฟังบ่อยๆ ก็จะค่อยๆ ชิน และมีปัจจัยที่จะทำให้มีการค่อยๆ เข้าใจ แม้ในขณะนี้เอง เพราะฉะนั้นก็ฟังจนกว่าจะค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เข้าใจ อดทน ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรที่จะอดทนเท่ากับการที่จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง เข้าใจแต่ก็ยังเข้าไม่ถึง

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ ทีละนิด ทีละหน่อย ไปเรื่อยๆ คุณสุกิจบอกว่าแม้จะได้ฟังว่ากำลังเห็น มีธรรมที่กำลังปรากฏทางตา แต่ก็ไม่ได้รู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น เพราะเหตุว่าจำได้ทันทีว่าเห็นอะไร นี่ก็แสดงถึงความรวดเร็วซึ่งไม่ได้หมายความว่าให้ไปไม่รู้ นั่นผิด แต่ไม่ว่าสภาพธรรมจะเกิดรวดเร็วอย่างไรก็ตาม แต่ก็มีขณะที่มีการค่อยๆ เข้าใจถูกในธรรมที่กำลังปรากฏว่าธรรมที่ปรากฏเท่านั้นก็เป็นอย่างนี้เท่านั้น จะเป็นอื่นไปไม่ได้ถ้าไม่มีการคิด แต่ว่าอวิชชาหรือโมหเจตสิก มืดมน ไม่สามารถที่จะเห็นความจริงว่า ขณะนี้รูปารมณ์หรือธรรมที่กำลังปรากฏทางตาเป็นเพียงธรรมอย่างหนึ่งจริงๆ ไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร เพราะฉะนั้นความมืดมนนี่มากมายใช่ไหม แล้วเวลาที่สภาพธรรมเกิดก็ต้องอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น จะมีแต่เฉพาะโมหเจตสิกเกิดลำพังไม่ได้เลย แต่ถ้ามีคำกล่าวว่าจิตนี้มีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย เราคงไม่ลืมถึง ๒ คำที่เราได้เข้าใจแล้ว จิตใดก็ตามหรือเจตสิกใดก็ตามที่เกิดร่วมกัน และไม่มีเจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย จิตนั้นเป็นอเหตุกจิต

    เพราะฉะนั้นสำหรับโมหมูลจิตเป็นจิตที่เป็นอเหตุกจิตหรือไม่ มี ๒ อย่าง อเหตุกจิต เป็นจิตที่ไม่เหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย สเหตุกจิต เป็นจิตที่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย สำหรับโมหมูลจิตเป็นจิตประเภทไหน เป็นอเหตุกจิต หรือ เป็นสเหตุกจิต เป็นสเหตุกเพราะเหตุว่ามีโมหมูลคือโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้ว่าเพียงมูลเดียวหรือว่าเหตุเดียวแต่ก็เป็นสเหตุกะ สำหรับทางฝ่ายกุศลจะมีเหตุเกิดร่วมด้วยได้ถึง ๓ เหตุ คือมีอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ซึ่งได้แก่ปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ทางฝ่ายอกุศลจะไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๒ เหตุ เพราะฉะนั้นก็จะมีเพียง ๑ เหตุ หรือ ๒ เหตุ สำหรับโมหมูลจิตไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นโมหมูลจิตเป็นสเหตุกจิตแต่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเพียงเหตุเดียวคือเอกเหตุ สำหรับโลภมูลจิตมีเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเป็นสเหตุกจิต แต่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ๒ เหตุคือโมหเหตุกับโลภเหตุจึงเป็นทวิเหตุ สำหรับโทสมูลจิตก็เช่นเดียวกัน คือมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นก็มีเหตุเกิดร่วมด้วย ๒ เหตุ ดังนั้น ทางฝ่ายอกุศลมีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย ๑ เหตุ หรือ ๒ เหตุ แต่ทางฝ่ายกุศลไม่มี ๑ เหตุเลย จะมี ๒ เหตุ หรือ ๓ เหตุเกิดร่วมด้วย นี่ก็เป็นความต่างกัน

    ผู้ฟัง ที่ศึกษามาก็ทราบว่าโมหมูลจิตมี ๒ ประเภท ก็พยายามเข้าใจลักษณะตรงที่ว่าไม่มีถีนมิทธะเกิดร่วมด้วยเพราะเหตุใด หมายถึงว่าไม่มีสสังขาริก อสังขาริก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจว่าทำไมเป็นเช่นนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าโมหมูลจิตเกิดมีใครชักชวนหรือไม่ ชักชวนให้โมหะเกิดดีหรือไม่ เป็นไปไม่ได้เลยที่ชักชวนให้โมหมูลจิตเกิด แต่มีปัจจัยก็เกิด ก็ไม่ใช่สสังขาริก

    ผู้ฟัง แล้วเวลาที่โมหะมีกำลังมากๆ

    ท่านอาจารย์ เหมือนกัน เกิดเพราะเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง ไม่ใช่กำลังน้อย จึงเป็นสสังขาริกหรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ สสังขาริกคืออาศัยการชักจูงโดยตนเองหรือว่าบุคคลอื่นก็ได้ แต่สำหรับโมหะนี่ไม่มีการที่จะถูกชักจูงเลย

    อ.กุลวิไล ก็น่าพิจารณาว่า เหตุใด อกุศลจิตที่เป็นโลภมูลจิต และโทสมูลจิตประกอบด้วยอสังขาริกก็มี หรือสสังขาริกก็มี แต่โมหมูลจิต ๒ ประเภทนี้ ไม่ได้ต่างกันโดยสังขาร

    ผู้ฟัง สสังขาริกที่อาศัยการชักจูงโดยตนเองหรือโดยคนอื่นหมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตที่มีกำลังอ่อน และก็เกิดเพราะการชักจูง อยากจะทำอะไรบ้างหรือไม่ บางครั้งมีคนอื่นมาชวนถึงได้อยากใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตที่ต่างกันหรือไม่ ถ้าอยากเองกับอาศัยคนอื่นชักจูง

    ผู้ฟัง ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นจิตที่เป็น ๒ ประเภท ประเภทหนึ่งเป็นอสังขาริก อีกประเภทหนึ่งเป็นสสังขาริก หรือแม้ไม่มีคนอื่นชักจูงเลย แต่ความที่จิตนั้นมีกำลังอ่อนก็อาศัยการที่จะชักจูงตัวเองคือคิดไปคิดมา ดีหรือไม่ดี ทำหรือไม่ทำ คิดอยู่อย่างนั้น ก็เป็นจิตประเภทที่เป็นสสังขาริก จริงๆ แล้วไม่ใช่ให้เรารู้เพียงชื่อหรือเพียงความหมาย แต่จริงๆ แล้วจะรู้อย่างนี้ได้เมื่อไร เห็นหรือไม่ ต้องเข้าถึงการที่เข้าใจว่าเราศึกษาปริยัติ ศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ขณะใดเราสามารถจะรู้อย่างนี้ได้ มีหรือไม่

    ผู้ฟัง ขณะที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แล้วจะรู้ได้อย่างไร

    ผู้ฟัง จะรู้ได้เมื่อสติระลึก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็จะต้องรู้ว่าปัญญาของเราสามารถระดับไหน ขณะนี้ได้ยินคำว่า “ธรรม” ทุกอย่างเป็นธรรม แต่สิ่งที่กำลังปรากฏก็ไม่ได้เป็นธรรม นี่ก็แสดงว่าปัญญาของเรายังไม่ได้เข้าถึงความหมายของธรรมโดยขั้นเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมหรือโดยการประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น ขณะนี้ได้ฟังว่าธรรมมี ๒ อย่าง กว้างๆ ประเภทใหญ่ๆ ก็คือนามธรรมกับรูปธรรม เราเข้าถึงความหมายของธรรมที่เป็นนามธรรมจริงๆ ไม่ใช่เพียงคำเท่านั้นหรือยัง เช่นเห็นในขณะนี้ ยัง เพราะฉะนั้นเราจะไปรู้สสังขาริก อสังขาริกได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เป็นเพียงแต่การไตร่ตรองพิจารณาให้เข้าใจความต่างของสภาพที่เป็นธรรมต่างๆ เพื่อที่จะได้ละความเป็นเรา ไม่ว่าเราจะศึกษานานมากน้อยกี่ชาติก็ตาม ไม่ว่าเราจะได้ยินได้ฟังได้อ่านพระธรรมด้วยตัวเอง ๒ ปิฎก ๓ ปิฎกก็ตาม ทั้งหมดเพื่อการเข้าใจถูกในความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ก็คงจะไม่หลงทางคือไปแต่เพียงเข้าใจเรื่องราว แต่ต้องรู้ความจริงว่าเรื่องราวทั้งหมดอุปการะเกื้อกูลให้ไตร่ตรองให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จนกว่าจะละการยึดถือว่าเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง สิ่งที่กำลังปรากฏที่ไม่ใช่สภาพธรรมแปลว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ แล้วเป็นอะไรถ้าไม่ใช่สภาพธรรม

    ผู้ฟัง สิ่งที่ถูกเห็นก็เป็นสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องก็ต้องยืนยันคำนี้ สิ่งที่ปรากฏมีจริง กำลังปรากฏ เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง แต่ขณะนี้เป็นหรือไม่ สำหรับแต่ละบุคคล ลักษณะของนามธรรมปรากฏหรือเไม่ว่าไม่ใช่คุณวิจิตรที่เห็น แต่เป็นธรรมที่สามารถเห็น เป็นธาตุชนิดหนึ่ง รู้ลักษณะนั้นหรือยัง ขณะนี้คุณวิจิตรเห็นใคร เห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ธรรมที่ปรากฏทางตากับความคิดนึกไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นแม้จะได้ฟังว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่เป็นผู้ตรงว่าขณะนี้ถ้าถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือธรรมที่ปรากฏทางตา กำลังกล่าวถึงเฉพาะธรรมนั้น ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า รูปารามณหรือรูปารมณ์ ธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนี้มีความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่เพียงปรากฏได้ทางตาเท่านั้น ไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น ขณะนี้ปัญญารู้อย่างนั้นหรือยัง

    ผู้ฟัง รู้แล้ว

    ท่านอาจารย์ รู้แล้วว่าทุกอย่างเป็นธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเลย โดยอย่างไร

    ผู้ฟัง โดยการเห็น

    ท่านอาจารย์ การเห็นทุกคนก็เห็น แต่เห็นแล้วไม่รู้ว่าเป็นธรรมก็มากมาย เห็นคนเห็นสัตว์ แต่ไม่ได้รู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏได้ทางตาเท่านั้น เพราะฉะนั้นแต่ละคนต้องเป็นผู้ตรงว่าแม้แต่จะได้ยินว่าทุกอย่างเป็นธรรม แล้วเสียงขณะนี้เป็นธรรมหรือยัง ได้ยินขณะนี้เป็นธรรมหรือเป็นเรา เห็นขณะนี้เป็นธรรมหรือยัง หรือว่าเป็นเราเห็น ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง แม้ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นธรรม แต่ปัญญาเห็นถูกต้องอย่างนั้นหรือยัง หรือยังไม่ได้เกิดขึ้น ต้องค่อยๆ อบรม

    ผู้ฟัง คงยังไม่มีปัญญา

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่มีปัญญาก็ยังไม่รู้ว่าเป็นธรรม ยังไม่รู้ว่าเป็นธรรม ทั้งๆ ที่เป็นธรรม ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม นี่โมหะหรือไม่

    ผู้ฟัง คงประกอบด้วย

    ท่านอาจารย์ ชัดเจน ในขณะที่ไม่รู้ มืดมนไม่สามารถที่จะเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของธรรมที่ปรากฏ แม้ว่าเป็นสีสันวัณณะที่สว่างเสมอปรากฏ หรืออาจจะมืดในห้องมืดก็ตามแต่ แต่ตราบใดที่เป็นอวิชชา ไม่สามารถที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกว่าลักษณะนั้นเป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดแล้วดับ และก็ต้องกระทบกับจักขุปสาทจึงได้ปรากฏ

    ผู้ฟัง คำว่า “ธรรม” ที่อาจารย์กล่าวหมายความว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริง ทรงสภาพความจริงนั้น เปลี่ยนไม่ได้ โลภะมีจริงหรือไม่ เป็นธรรมหรือไม่ เปลี่ยนลักษณะของโลภะให้เป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ มีลักษณะอย่างไร จริงอย่างไร ก็จริงอย่างนั้น โทสะจริงหรือไม่ ถ้าลักษณะของโทสะมีจริง โทสะจริงอย่างไร จะไปเปลี่ยนโทสะให้ไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้

    ผู้ฟัง ที่ท่านจำแนกออกมาว่าปรมัตถสัจจะ กับสมมติสัจจะ นั้น ธรรมคือสัจจะทั้ง ๒ หรือ เฉพาะปรมัตถสัจจะ

    อ.วิชัย ความจริงคือสัจจะมี ๒ คือโดยความเป็นสมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ เช่น ถ้าเรากล่าวว่ามีบุคคลนี้จริงหรือไม่ ก็จริง แต่ว่าจริงโดยสมมติ เช่น ถ้าเราจะกลับบ้าน บ้านมีจริงหรือไม่ ก็มีจริงแต่ว่าจริงโดยสมมตินั้น แต่ว่าถ้าโดยปรมัตถ์แล้ว ถ้าไปจับต้องก็มีสภาพแข็งที่ปรากฏ หรือว่ามีเสียงดังที่ปรากฏ อย่างนี้ก็เป็นปรมัตถสัจจะ

    ผู้ฟัง ธรรมที่ท่านอาจารย์กล่าวเป็นสัจจะอะไร

    อ.วิชัย เห็นเป็นสิ่งที่มีจริงหรือไม่ มีจริง ขณะนี้ก็กำลังปรากฏ แม้ไม่เรียกชื่อต่างๆ เลยก็ต้องเป็นปรมัตถสัจจะแน่นอนเพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ

    อ.สมพร ปรมัตถสัจจะหมายความว่าเป็นปรมัตถ์เป็นของจริงอย่างแท้จริง ไม่เปลี่ยนแปลง จิตหนึ่ง เจตสิกหนึ่ง รูปหนึ่ง นิพพานหนึ่ง เป็นปรมัตถสัจจะ นอกจาก ๔ อย่างนี้แล้วเป็นสมมติสัจจะ

    ผู้ฟัง สงสัยว่าธรรมคืออะไร

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องถามถึงขณะนี้ว่าคุณวิจิตรเห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นรูป

    ท่านอาจารย์ รูปอะไร

    ผู้ฟัง รูปคน รูปดอกไม้

    ท่านอาจารย์ ขณะที่พูดถึงคนเป็นธรรรมหรือไม่ เพราะครั้งแรกคุณวิจิตรบอกเห็นธรรม เพราะฉะนั้นก็จะรู้ได้อะไรจริง อะไรไม่จริงใช่หรือไม่ ขอเพิ่มเติมเรื่องสมมติสัจจะ ปรมัตถสัจจะ เพื่อให้เข้าใจขึ้น ถ้าจะบอกคุณวิจิตรว่าขอธรรมหน่อย คุณวิจิตรจะรู้หรือไม่ว่าขออะไร

    ผู้ฟัง ไม่รู้ว่าขออะไรอยู่

    ท่านอาจารย์ ใช่ แต่ถ้าบอกว่าขอเสื้อ ขอน้ำปลา ขอข้าว คุณวิจิตรเข้าใจใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีชื่อสำหรับเรียกให้เข้าใจ มิฉะนั้นก็ไม่สามารถจะเข้าใจได้เลยว่าหมายความถึงสิ่งใด ถูกต้องหรือไม่ แต่แยกได้ว่าถ้าเป็นคำสมมติเรียกให้เข้าใจกัน เป็นที่เข้าใจกัน นั่นคือสมมติสัจจะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567