พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 138


    ตอนที่ ๑๓๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกว่าจะมีความรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่เราก็จะต้องมีการฟัง และมีการอบรม แล้วจะรู้ว่ายากแค่ไหนเพราะว่าเคยเป็นเรา แม้จะไม่พูดว่าเรา ก็เป็นเรา หรือแม้จะพูดว่าเรา หรือจะพูดว่าไม่ใช่เรา ก็ยังคงเป็นเราที่พูด ยังคงเป็นเราที่คิด จนกว่าจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้น จนหมดความสงสัย การศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจถูก ให้เห็นถูกตามความเป็นจริง เป็นปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง เรื่องของการที่จะเกิดโกรธ การที่จะเกิดชอบ ค่อนข้างที่จะเกิดขึ้น และลดลงไปได้รวดเร็ว ถ้าสมมติกำลังของจิตที่เป็นกุศลเกิด ขณะนั้นจิตที่เป็นอกุศลไม่เกิดเพราะว่ากุศลเกิดต่อเนื่องกันมากกว่าอกุศลเกิด ตรงนี้เราจะกล่าวอย่างนี้ได้ไหม ถ้ากล่าวถึงกำลังของอกุศลที่เล็กๆ น้อยๆ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังฟังธรรม แม้ขณะนี้อกุศลเกิดบ้างหรือไม่

    ผู้ฟัง มีครับ มีตลอด

    ท่านอาจารย์ กำลังของใครมาก

    ผู้ฟัง กำลังของอกุศลมาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง การดับกิเลสสามารถที่จะดับได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรง แล้วก็รู้ว่าขณะที่ฟังธรรมก็คือการอบรมความรู้ความเข้าใจซึ่งจะเป็นปัจจัยให้มีการรู้ตรงลักษณะ ซึ่งขณะนี้ก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างปรากฏจริงๆ ทางตา มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฎ ทางหูก็มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ เพราะฉะนั้นมีสภาพธรรมปรากฏโดยไม่รู้ลักษณะนั้นว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นทั้งหมดที่เราฟังแต่ละภพแต่ละชาติ เพราะว่าเราก็ไม่ทราบว่าเราจะมีอายุอีกนานเท่าไร เพราะฉะนั้นช่วงเวลาที่ยังมีอยู่ที่มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมก็คือการสะสมความมั่นคงในการที่จะเข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม เป็นอนัตตา ส่วนกำลังของปัญญาที่จะเพิ่มขึ้นในแต่ละภพแต่ละชาติจนสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็แล้วแต่ว่ามีการสะสมความเข้าใจถูกมากน้อยแค่ไหน ระดับไหน แต่ต้องมีพื้นฐานที่มั่นคงคือสัจจญาณ เพราะว่าสิ่งใดๆ ก็ตามที่เราได้ฟังเป็นเรื่องราว เป็นชื่อต่างๆ ของโลภะในพระไตรปิฎก พอเราจากโลกนี้ไปแล้ว เราก็ลืม ชาติก่อนเราต้องเคยฟังพระธรรม ในภาษาอะไรเราบอกไม่ได้ แต่ว่าถ้าเราเคยพูดภาษาบาลี เคยฟังธรรมภาษาบาลี ถ้าเราเกิดมา เรายังคงพูดภาษาบาลีได้หรือไม่ ถ้าไม่เรียน นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเรื่องของภาษาเป็นเพียงบัญญัติสมมติซึ่งมีการทรงจำช่วงขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในการใช้ภาษานั้นๆ แต่ว่าสภาพธรรมที่สามารถจะเข้าใจถูก เวลาที่ได้ฟังรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรม เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่มีจริงแล้วก็ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ด้วย และสิ่งที่มีปรากฏต้องเกิดขึ้น เพียงแค่นี้ความเข้าใจของเราก็จะมั่นคงว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่ปรากฏต้องเกิด

    เมื่อวานนี้ก็มีการสนทนากับผู้ที่ไปสำนักปฏิบัติแห่งหนึ่ง ท่านก็มีความเข้าใจว่าต้องให้สงบจากกิจการงานหน้าที่ต่างๆ แล้วก็สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้ ก็เรียนถามท่านว่าก่อนจะประจักษ์การดับต้องรู้การเกิดใช่ไหม เพราะถ้าไม่มีสภาพธรรมเกิด อะไรดับ ต้องสภาพธรรมที่เกิดนั้นที่ดับ ไม่ใช่สภาพธรรมอื่น เพราะฉะนั้นขณะนี้สภาพธรรมปรากฏ มีปัญญารู้ถึงการเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่มีปัญญารู้ถึงการเกิดขึ้น จะประจักษ์การเกิดดับไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงแต่ต้องการแล้วคิดว่าสงบ ไม่มีเรื่องวุ่นวายแล้วก็จะไปรู้ลักษณะของอะไรอย่างหนึ่งสองอย่างแล้วจะไปประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมนั้น ซึ่งขณะนั้นมีการเกิดดับ แต่เป็นความคิดเรื่องการเกิดดับ ไม่ใช่เป็นปัญญาที่สามารถที่จะเห็นว่าธรรมเป็นธรรมไม่ใช่เราโดยนามรูปปริจเฉทญาณ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีปัญญาขั้นต้นที่ประจักษ์ในความเป็นธาตุของสภาพธรรมที่ต่างกันคือรูปธาตุไม่ใช่นามธาตุ และลักษณะของธาตุรู้ในขณะนั้นก็จะเป็นสภาพที่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยที่ไม่มีสิ่งใดร่วมด้วยหรือเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นโลกซึ่งเต็มไปด้วยสัตว์บุคคลสิ่งต่างๆ ดอกไม้ต้นไม้เพราะเกิดดับสืบต่อกันทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เวลาเป็นโลกที่ประจักษ์ด้วยปัญญาก็จะตรงกันข้ามกับที่เคยปรากฏ เพราะว่าต้องเป็นโลกที่มืดสนิททางมโนทวาร และก็มีลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทั้งนามธรรม และรูปธรรม ถ้าเป็นรูปธรรมก็หมายความว่าปรากฏเหมือนสายฟ้าแลบ เพราะเหตุว่าแต่ละทวารก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่มีปัญจทวาร รูปก็ปรากฏไม่ได้ แต่การเกิดสืบต่ออย่างเร็วที่แยกไม่ได้ของทางปัญจทวาร และมโนทวาร มโนทวารก็รู้รูปนั้นต่อจากทางปัญจทวารด้วยปัญญาที่สามารถที่จะประจักษ์ความจริงของลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เข้าใจอะไร และก็อยากหมดกิเลส แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรงว่าในแต่ละชาติอย่ามุ่งหวังที่จะถึงความเป็นพระโสดาบัน หรือว่าจะรู้แจ้งสภาพธรรมที่เป็นวิปัสสนาญาณ เพราะนั่นเป็นเครื่องกั้น ตรัสเท่าไร บอกเท่าไรว่าเป็นเครื่องกั้น ผู้ที่มีโลภะกับความเห็นผิดในหนทางปฏิบัติก็ยังคงพอใจที่จะปฏิบัติในทางที่ไม่มีปัญญา แต่อยากจะไปรู้แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จะเข้าถึงอรรถที่ทรงแสดงจริงๆ โดยละเอียดว่าข้ามไม่ได้ ประมาทไม่ได้ คิดเองไม่ได้เพราะเหตุว่าเป็นไปด้วยความเห็นผิด ถ้ามีความต้องการที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมโดยไม่มีพื้นฐานหรือไม่มีความเข้าใจตามลำดับขั้น

    ผู้ฟัง เวลาที่เรามาฟังธรรมก็เหมือนกับการอบรมเจริญกุศลฝ่ายดี อาจจะประกอบด้วยปัญญาบ้างๆ เล็กๆ น้อย จนกระทั่งค่อยๆ มั่นคงขึ้น จนถึงขั้นสามารถจะมีสติระลึกรู้สภาพธรรมได้ เวลาที่อกุศลจิตเกิดแล้วมีสติ สามารถที่จะระลึกรู้สภาพธรรม ขณะนั้นอาจจะเป็นลักษณะโกรธบ้าง โลภะบ้าง รู้ตัวมีสติระลึกอย่างนี้ กุศลนั้นก็หยุดไป จะเรียกว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทำไมต้องเรียก จะเรียกอยู่เรื่อย จริงๆ แล้วมีคำที่เราได้ยินบ่อย ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวท ใช่ไหม ก็เข้าใจกันว่าปริยัติคือการเรียน จะเรียนบาลี จะเรียนพระธรรมหรืออะไรก็ตาม หรือแม้เรียนภาษาบาลีก็ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อที่จะเข้าใจข้อความที่ทรงแสดงธรรมเป็นภาษาบาลีให้ถูกต้อง ต้องรู้จุดประสงค์ของการเรียนด้วย แต่ถ้าเข้าใจคำแปล แต่ไม่เข้าถึงความเข้าใจอรรถคือลักษณะของสภาพธรรมจะถึงการปฏิปัตติได้ไหม จะชื่อว่าปริยัติได้ไหม เพราะว่าถ้าเป็นปริยัติก็คือความเข้าใจธรรมตามที่ทรงแสดงจะนำไปสู่ปฏิปัตติ และปฏิปัตตินั้นก็จะนำไปสู่ปฏิเวท นี่จึงจะเป็นปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวท เพราะฉะนั้นถ้าเราฟังแต่เราไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ตามที่เมื่อวานนี้ที่สนทนากัน ท่านผู้นั้นก็บอกว่า ปฏิบัติกับปริยัติอะไรจะดีกว่ากัน ท่านก็เข้าใจว่าปฏิบัติต้องดีกว่าปริยัติ ใช่ไหม แต่ถ้าไม่รู้ว่าปฏิบัติคืออะไร และไม่เข้าใจว่าหนทางการปฏิบัติที่ถูกต้องคืออะไร จะปฏิบัติได้ไหม ก็เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ได้ข้อความตอนหนึ่งตอนใด แล้วก็คิด แล้วก็ยึดถือข้อความนั้น แต่ต้องเข้าใจโดยตลอดโดยถ่องแท้แล้วก็ประกอบกันซึ่งจะไม่ขัดแย้งกันด้วย เพราะฉะนั้นปริยัติจริงๆ ไม่ใช่เป็นการที่เรารู้จำนวน รู้คำ แต่ต้องเป็นการฟัง และปริยัติเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ และปริยัติก็แสดงไว้ว่าสิ่งที่มีจริง มี ๒ อย่าง คือ นามธรรม และรูปธรรม ไม่ใช่ขณะอื่นแต่เป็นในขณะนี้ สภาพที่มีเกิดขึ้นปรากฏ แต่ไม่ใช่สภาพรู้เป็นรูปธรรมเพราะไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แต่ถ้ามีแต่เฉพาะรูปธรรมเท่านั้น ไม่มีนามธรรม ก็ไม่มีการเดือดร้อนใดๆ ทั้งสิ้น แต่ใครจะไปยับยั้งนามธาตุไม่ให้เกิด เพราะเหตุว่าเมื่อเป็นธาตุเช่นเดียวกับรูปธาตุจะไปบังคับที่จะให้เกิดหรือไม่ให้เกิด ที่จะดับหรือไม่ให้ดับไม่ได้ แต่ธาตุนั้นๆ ก็มีลักษณะอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราอาจจะเข้าใจเพียงรูปธาตุโดยที่ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วก็มีธาตุอีกชนิดหนึ่งคือนามธาตุซึ่งต่างกับรูปธาตุ ถ้าขณะนี้มีสภาพธรรมอย่างนั้นแล้ว ก็ค่อยๆ เข้าใจ นั่นคือปริยัติซึ่งจะนำไปสู่ปฏิปัตติ คือไม่ใช่รู้เพียงแค่ขั้นฟัง แต่สามารถที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ตามที่ได้ฟังว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับจนกระทั่งถึงสภาวธรรมที่เป็นนิพพานธาตุก็สามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้เมื่ออบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับ แล้วก็คลายความติดข้องในสังขารนิมิตทั้งหลาย ในสังขารธรรมทั้งหลาย เมื่อไรปัญญาสมบูรณ์ในวิปัสสนาญาณก็ถึงกาลที่จะเห็นนิพพานช้คำว่า “เห็น” หรือใช้คำว่า “ประจักษ์แจ้ง” ก็ได้ เพราะเหตุว่าขณะนี้ไม่ได้มีลักษณะของนิพพานให้เห็น แต่ต้องเป็นปัญญาที่อบรมแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจความหมายของ “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวท” ความหมายของอนุสัยกิเลส ปริยุฏฐานกิเลส วีติกกมกิเลส เพราะว่าได้ดับอนุสัยกิเลสด้วยความรู้ ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของนิพพานได้

    ดังนั้น ถ้าได้ยินคำอะไร อย่าเพิ่งคิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็คือเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะว่าธรรมมีจริง พระธรรมก็คือธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง เพื่อที่จะให้บุคคลอื่นได้เข้าถึงอรรถ และลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง ถ้ากล่าวว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล” ก็พูดง่าย แต่ผู้นั้นต้องเป็นผู้ตรง รู้แค่ไหน หรือจำมา หรือพูดตาม

    ผู้ฟัง โลภะเป็นสภพาที่จูงได้อย่างไร นึกว่าสิ่งนี้ทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย สิ่งนี้มานะเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่จริงๆ แล้วโลภเจตสิกเป็นตัวสำคัญ

    ท่านอาจารย์ อวิชชาเป็นสภาพที่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นอวิชชาก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศลเจตสิก ไม่ใช่จิต แต่เป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้ ไม่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นขณะนั้นจึงมีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ ขณะนี้รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏหรือไม่ ถ้าไม่รู้ เราเกือบจะไม่รู้ว่าขณะนั้นที่เห็นแล้วก็มีความติดข้องในสิ่งที่เห็น ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่ความขุ่นเคืองใจ เพราะเหตุว่าอารมณ์ ถ้าเป็นรูปก็เป็นที่น่าพอใจประเภทหนึ่ง และก็เป็นประเภทที่ไม่น่าพอใจอีกประเภทหนึ่ง รูปมี ๒ อย่าง รูปที่น่าพอใจก็มี รูปที่ไม่น่าพอใจก็มี ถ้าเป็นรูปที่ไม่น่าพอใจปรากฏจะให้โลภะเกิดไม่ได้ ถ้าเป็นรูปที่น่าพอใจเกิดขึ้น ก็จะให้โทสะเกิดไม่ได้ แต่มีอวิชชาความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอารมณ์ที่ติดข้องก็จะทำให้มีความยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา เพราะเหตุว่าไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรม หรือว่าในขณะที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ แล้วมีความติดข้องว่าเป็นเราก็อาจจะมีความรู้สึกว่ามีความต้องการสิ่งนั้น และถ้าไม่ได้สิ่งนั้นก็เกิดโทสะ คือ เรื่องของสภาพธรรมแต่ละประเภทก็อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น และปัจจัยที่สำคัญก็คืออวิชชา ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น แต่ขณะจิตจะเกิดขึ้นเป็นโลภะโดยไม่มีทิฏฐิหรือว่าเป็นโลภะที่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย หรือเป็นโลภะที่มีความสำคัญเกิดร่วมด้วย หรือจะเป็นโทสะก็ต้องแล้วแต่ว่าขณะนั้นมีการสะสมมาที่อะไรจะเกิดขึ้นในขณะนั้น

    ผู้ฟัง สมมติว่ามีความโลภ ความโกรธ ความหลงเกิดขึ้นบ้าง จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดดวงใหม่เป็นสัตว์อื่นที่ไม่ใช่มนุษย์หรือไม่

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่กรรมนั้นจะให้ผลปฏิสนธิในอบายภูมิ หรือให้ผลปฏิสนธิในสุคติภูมิ ถ้าเป็นผลของอกุศลก็จะทำให้เกิดในอบายภูมิ ๔ คือเป็นเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือเกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสูรกาย ถ้าเป็นผลของกุศล ความประณีตก็ตามลำดับ เกิดเป็นมนุษย์ หรือเกิดเป็นเทพในสวรรค์ แต่ถ้าเป็นผลของกุศลที่ประณีตจนถึงระดับขั้นของฌาณก็จะทำให้เกิดเป็นพรหมบุคคลได้ แต่ก็สะสมสืบต่อ คุณวิจิตรเคยเลี้ยงสัตว์ไหม

    ผู้ฟัง เมื่อก่อนเคยเลี้ยงนก แต่ตอนนี้ไม่ได้เลี้ยงแล้ว เป็นเพียงแต่นกพเนจร ก็ให้อาหารบ้าง เคยเลี้ยงสุนัข บางครั้งก็เอาเศษอาหารจากที่ทำงานไปแจกจ่ายให้สุนัขในซอย

    ท่านอาจารย์ แล้วสุนัขที่กินอาหารนิสัยเหมือนกันไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ ทำไมไม่เหมือนกัน

    ผู้ฟัง ก็คนละตัว

    ท่านอาจารย์ ก็คนละตัว เพราะฉะนั้นคนเราก็เหมือนกันใช่ไหม เกิดเป็นคนก็ไม่เหมือนกัน เป็นคนละคนตามการสะสม จะไปเกิดที่ไหนอย่างไรก็มีการสะสมซึ่งเกิดสืบต่อติดตามไปได้

    ผู้ฟัง ตอนที่เขามีชีวิตอยู่ เขาทำกุศลมากเหมือนกัน แต่ก่อนจะตาย เขามีอกุศลจิตเกิดขึ้น ทีนี้จะถึงขนาดที่ทำให้เขาไปปฏิสนธิเกิดในอบายหรือไม่

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ถึงแม้ว่าจะได้กระทำบุญมาแล้วมาก แต่ว่าถ้าขณะจิตที่เกิดก่อนจุติคือขณะตายเป็นอกุศลๆ นั้นก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิด้วยอกุศลวิบากซึ่งเป็นผลของอกุศลในอบายภูมิ

    ผู้ฟัง จะไม่มีการตกหล่นหายไปบ้างหรือ

    ท่านอาจารย์ หายไปได้อย่างไร ในเมื่อจิตเป็นสภาพที่เป็นนามธรรม แล้วก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ใช่สถานที่ๆ จะไปเก็บอะไรไว้ แต่เป็นนามธาตุซึ่งเกิดร่วมกัน เพราะฉะนั้นเวลาที่จิต เจตสิกดับไปแล้วก็จริงก็เป็นอนันตรปัจจัยทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อตามการสะสมเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ที่ผมบอกว่าหายไปหมายถึงลืมไป

    ท่านอาจารย์ ลืมก็ลืม แต่ไม่หาย ถ้าคิดว่าเป็นสถานที่อาจจะคิดว่าหลุดไป กระเด็นไป หายไป แต่จิตไม่ใช่สถานที่ ไม่มีรูปใดๆ แต่เป็นนามธาตุซึ่งมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ในภพหนึ่ง เรามีสิ่งที่สะสมมาในอดีตมาให้ผล ก็ทำให้เรามีโทสะ มีโลภ มีหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง แต่พอเราจากภพนี้ไป เปลี่ยนเป็นภพใหม่ เราก็มีต่อๆ ไปเรื่อยอย่างนี้หรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่อย่างนั้นปัญญาของพระโพธิสัตว์จะสะสมถึงขั้นของการตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ ใช่ไหม นั่นทางฝ่ายกุศล เพราะฉะนั้นทางฝ่ายอกุศลก็เหมือนกัน ไม่ได้หายไปไหน จิตเป็นนามธรรม ไม่มีใครมองเห็น แต่มีเกิดขึ้นทำกิจการงานต่างๆ เป็นธาตุที่รู้ ที่เห็น ที่คิด ที่นึก ที่จำ นั่นเป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกันกับจิต ไม่มีจิตสักขณะเดียวที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเจตสิกก็จะไปเกิดกับสภาพอื่นไม่ได้นอกจากจิต และเมื่อจิต เจตสิกเกิดแล้วดับไป ถ้าเป็นประเภทที่เป็นกุศล อกุศล ดับไปแล้วก็จริงแต่ก็สะสมสืบต่อนอนเนื่องอยู่ในจิตขณะต่อๆ ไป จนกว่าโลกุตตรจิตเกิดเมื่อไรก็สามารถที่จะดับอนุสัยประเภทนั้นๆ ตามควรแก่โลกุตตรจิต เช่นโสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้นก็ดับทิฏฐานุสัยกับวิจิกิจฉานุสัย ความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม ความที่ยึดถือสภาพธรรมด้วยความเห็นผิดต่างๆ ก็ดับหมด เพราะฉะนั้นอนุสัยสามารถที่จะดับได้ แต่ต้องด้วยโลกุตตรปัญญา เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจจริงๆ ว่าไม่มีเรา โดยรู้ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างก็ยังคงเป็นเราอยู่ อาจจะเป็นคนที่พยายามทำเพื่อที่จะให้รู้สภาพธรรมนั้นๆ แต่ด้วยความไม่รู้ว่าพยายามได้อย่างไรที่จะทำอะไร ในเมื่อมีสภาพธรรมเกิดแล้วปรากฏแล้วทุกขณะ เพราะฉะนั้นก็อบรมเจริญความเห็นถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏในขั้นการฟัง และก็พิจารณาเห็นว่าถูกต้องตามสิ่งที่ได้ฟังกับความเป็นจริงของสภาพธรรมไหม ถ้าถูกต้องก็เป็นความเห็นถูกที่สะสมความรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่าไม่ใช่เรา จนกว่าจะถึงกาลที่ปัญญาสมบูรณ์ประจักษ์แจ้งอริยสัจ ๔ เมื่อนั้นก็จะดับกิเลสได้เป็นลำดับ

    ผู้ฟัง ในชีวิตเราก็จมอยู่ในกองกิเลสตลอด

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีการฟังธรรมให้เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง แม้เราฟัง ปัจจุบันก็ไม่สามารถที่จะช่วยตัวเองได้ ก็จมอยู่ในกองกิเลส

    ท่านอาจารย์ เวลาที่เข้าใจถูก จมอยู่ในกองกิเลสไหน

    ผู้ฟัง ขณะที่กิเลสเกิดคือจิตเราเป็นโลภะ โทสะ เราก็รู้ว่าสิ่งนี้เป็นลักษณะสภาพธรรมของโลภะหรือโทสะ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นนึก

    ผู้ฟัง ใช่ แล้วก็คิด

    ท่านอาจารย์ ต้องมีปัญญาอีกระดับหนึ่งซึ่งกำลังเข้าใจถูกในลักษณะนั้น เพราะขณะนี้เป็นสภาพธรรมทั้งหมด สิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นความจริงซึ่งวันหนึ่งผู้ที่ได้ยินได้ฟังก็จะประจักษ์ว่าจริงทุกคำ เช่นขณะนี้สภาพธรรมปรากฏ ได้ยินอย่างนี้ แต่ว่าถ้าไม่ได้ฟังขณะไหนก็เป็นเรา เป็นเขา เป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังมีความเข้าใจถูกในขั้นฟังเป็นขณะที่เล็กน้อยมาก ถ้าเทียบกับขณะที่ไม่ได้ฟัง ไม่ได้คิด และไม่เข้าใจตามที่ได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้นก็เปรียบเทียบได้ว่าขณะที่ฟังเริ่มที่จะมีความเห็นถูก แต่ว่ายังไม่ได้ประจักษ์แจ้งจนกระทั่งสภาพธรรมนั้นปรากฏตามความเป็นจริงตามลักษณะของสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่าเกิดขึ้นแล้วดับไป นี่ก็ยังไม่ได้ปรากฏ เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่าการฟังก็เพื่อที่จะเพิ่มความเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ที่สามารถจะนำไปสู่การประจักษ์ความจริงได้แต่ต้องด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ด้วยความเป็นเราที่ฟังด้วยความเป็นเราฟัง สิ่งนั้นไม่ถูกต้อง ฟังเพี่อให้เข้าใจเพิ่มขึ้นว่าขณะนี้เป็นธรรม

    ผู้ฟัง สมมติว่าขณะที่เรามีความรู้สึกขุ่มมัว โกรธ และเร่าร้อนอยู่ในจิต ยังไม่ได้ล่วงออกมาทางกาย และวาจา เราต้องแปลไหมว่าสิ่งที่เกิดมันคือปริยุฏฐานกิเลส

    ท่านอาจารย์ เราคิดถึงชื่อ หรือเราเข้าใจว่านั่นเป็นลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เพราะว่าเราได้ยินว่าทุกอย่างเป็นธรรม คำนี้ก็ลืมไม่ได้ คือทุกคำที่ได้ฟังก็จะถึงกาลที่เข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้นเวลาเกิดโกรธขึ้น ทำไมไปนึกถึงว่าเป็นปริยุฏฐาน ทำไมไม่รู้ว่าลักษณะที่โกรธก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ต่างกับเห็น เพราะขณะที่โกรธ ถ้าไม่หลับตาก็เห็นด้วยในสิ่งที่กำลังโกรธ เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ต่างกัน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567