พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 140


    ตอนที่ ๑๔๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ ถ้าพระธรรมไม่ได้ทรงแสดงโดยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่มีบุคคลใดที่สามารถจะรู้ว่าขณะนี้ที่กำลังเห็นเกิดขึ้น และดับไป ขณะที่ได้ยินเกิดขึ้น และดับไป เมื่อสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ย่อมสามารถที่จะถึงการที่จะประจักษ์แจ้งได้ ถ้าอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้ ใครจะบังคับให้สติสัมปชัญญะเกิด มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในสิ่งที่ปรากฏ ประจักษ์แจ้งการเกิดดับเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ด้วยความหวัง แต่ด้วยการที่ค่อยๆ เข้าใจทิ้งคำนี้ไม่ได้ ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ รู้ถูก เห็นถูกในสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไรก็คือขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เริ่มที่จะรู้ตรงลักษณะนั้นหรือยัง ก็มีผู้ที่สงสัยมาก ว่าสภาพธรรมเป็นปกติ ไม่ผิดปกติเลย ไม่ว่าจะเป็น เห็น ได้ยิน คิดนึกใดๆ แล้วจะต่างกับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดอย่างไร เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏก็เป็นปกติ และสติสัมปชัญญะก็ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ สิ่งนี้ก็ต้องฟัง เช่น ทางตากำลังเห็นเป็นปกติ ขณะนี้เพียงแต่ที่จะรู้ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง และสิ่งที่มีจริงไม่ใช่มีเฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่มีเสียงปรากฏแล้ว เพราะฉะนั้นขณะที่เพียงรู้ตรงลักษณะสั้นๆ เล็กน้อยแต่ละอย่าง ก็จะทำให้ค่อยๆ ชินกับลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่ใครก็สร้างหรือทำให้เกิดไม่ได้ เพราะเกิดแล้วจึงปรากฏ ก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย พร้อมทั้งเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการฟังพระธรรม เพราะว่าจริงๆ บางคนก็อาจจะว่าฟังแล้ว เรื่องนี้รู้แล้ว เหมือนเป็นสิ่งที่ไม่ยากต่อการที่จะเข้าใจ แต่ยากที่จะถึงการรู้แจ้งสภาพธรรมที่กล่าวถึง เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วก็เป็นสิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน แล้วก็ไม่เคยเข้าใจถูกต้องว่าขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่ถ้าเข้าใจถูกก็เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่าอกุศลเกิดมาก และกว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เราก็ต้องอาศัยการฟังอีกไม่น้อยเลย จะกล่าวว่ามากมายมหาศาลก็แล้วแต่บุคคล

    เพราะฉะนั้น สำหรับการสนทนาธรรม ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงทุกขณะ และจิตก็เป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการที่รู้แจ้งในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขั้นฟังเป็นจิต ใช่ไหม แต่ขณะที่จิตเกิดขึ้นยังไม่ได้เข้าใจว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นกว่าที่จะฟังจนกระทั่งสามารถเข้าใจว่าขณะนี้เป็นธาตุที่ไม่มีรูปร่างลักษณะใดๆ ทั้งสิ้น กำลังเห็น ธาตุนั้นกำลังเห็นไมใช่เรา หรือกำลังได้ยิน ธาตุนั้นก็กำลังเกิดขึ้นได้ยินสิ่งที่ปรากฏ หรือธาตุที่คิดนึกก็กำลังคิดนึก เพราะฉะนั้นก็ฟังแล้วฟังอีกด้วยความไม่ประมาทจริงๆ ว่า ฟังไม่ยากแต่ว่ารู้ยาก แต่ถ้าจะรู้ยากหมายความว่าสภาพธรรมนั้นต้องอบรมด้วยด้วยความเข้าใจถึงการที่เหตุใดจึงรู้ยาก ไม่ใช่เพียงขั้นฟังแล้วก็จะสามารถถึงการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    ผู้ฟัง โดยปกติที่ระลึกจริงๆ สภาพธรรมนั้นสั้น และเล็กนิดเดียวแล้วก็ดับ แต่จริงๆ แล้วเวลาเราระลึกนี้ยาว

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเราไปคิดใช่ไหม ระลึกยาวหมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง หมายถึงว่าเวลาเห็น ก็ไม่ได้เห็นเป็นปรมัตถธรรม อย่างเห็น เราก็มีแต่ความคิดว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่จริงๆ ก็คือดอกไม้

    ท่านอาจารย์ คิดว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นไม่ได้รู้ตรงลักษณะ ถ้ารู้ตรงลักษณะ คือขณะนี้ไม่ได้สนใจอย่างอื่น เพียงฟังว่าไม่สนใจอย่างอื่นเลยนิดหนึ่ง เพียงรู้ตรงลักษณะที่กำลังปรากฏนั่นก็คือการเริ่มต้น ต่อไปก็จะรู้ว่าขณะนั้นไม่ได้ใส่ใจสนใจในรูปร่างสัณฐานขณะนั้น และต่อมาเวลาที่สภาพธรรมอื่นปรากฏก็รู้ได้เลยว่าบังคับบัญชาไม่ได้ และก็รู้ตรงลักษณะของเสียง เช่น เสียงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ หมดแล้วก็เป็นปกติ คือให้ค่อยๆ ชินกับลักษณะ

    ผู้ฟัง แต่ก็ยังสวนทางกับสิ่งที่ได้เคยเรียนรู้มา เหมือนกับว่าเราจะพิจารณาอะไร หรือว่าเราจะใส่ใจ สนใจ เราก็ควรจะพิจารณาใส่ใจในสิ่งนั้นๆ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นเราที่คิด ไม่ใช่เป็นการรู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นเพียงคำว่า “ธรรม” ก็จะต้องรู้จริงๆ ว่าไม่ใช่เรา ขณะนั้นคิดก็เป็นคิด แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่มีสติปัฏฐานเกิดขึ้นก็ยากที่จะเข้าใจ ดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องยาก เพราะเหตุว่าเราสะสมความหลงลืมสติกับการยึดถือสภาพธรรมโดยรูปร่างสัณฐาน และเรื่องราว การที่จะค่อยๆ คลายการยึดถือสภาพที่ปรากฏเป็นเรื่องราว เป็นนิมิตสัณฐานต่างๆ ได้ก็ต้องทีละเล็กทีละน้อยโดยปกติคือไม่ใช่มีเราที่ตั้งใจ แต่เกิดรู้ตรงลักษณะ แสดงให้เห็นว่าขณะนั้นเป็นสัมมาสติ เป็นสภาพที่รู้ตรงลักษณะนั้น มีการค่อยๆ จะชิน ขั้นเริ่มต้นจะชินมากมายไม่ได้ แต่เริ่มรู้ขณะนั้นมีการที่จะชินกับสิ่งนั้นได้ถ้ามีการระลึกบ่อยๆ ก็เป็นการคลายความไม่รู้ และความสงสัยในสิ่งที่เราได้ยินชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิต อเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ขณะที่กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นจิตที่เห็น ไม่ต้องไปนึกว่าเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ แต่ให้เข้าใจว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ต่างกับขณะที่เกิดยินดีพอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งสืบต่อเร็วมากแม้ในขณะนี้ก็แยกไม่ได้ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดเพิ่มขึ้นบ่อยๆ

    ผู้ฟัง เวลาเราพิจารณาทางกาย เช่น แข็งปรากฏตรงกราม ซึ่งก็ไม่ได้กระทบอะไร ก็ปรากฏแข็ง แต่ไม่มีสิ่งกระทบ

    ท่านอาจารย์ เริ่มตั้งแต่ว่าเราพิจารณา ขณะนั้นก็คือคิด เพราะฉะนั้นทางที่จะรู้อารมณ์มี ๖ ทาง ต้องให้รู้ว่าทางไหน เห็นทางตา ได้ยินทางหู ได้กลิ่นทางจมูก รสกำลังปรากฏที่ลิ้มรส กายกำลังกระทบสัมผัสทางกาย ใจกำลังคิดนึก ขณะนี้ก็ปนกัน ทั้งๆ ที่เราก็เรียนเรื่องของการรู้อารมณ์ที่ปรากฏทีละทาง เริ่มตั้งแต่คิด แล้วก็มาถึง "แข็ง" ที่ปรากฏที่กราม ห้ามความคิดไม่ได้ว่ามีกราม เพราะว่าขณะนั้นไม่ได้รู้ตรงแข็ง แต่ถึงแม้ว่าจะมีแข็งปรากฏก็ยังไม่ได้ทิ้งการคิดว่าเป็นกรามซึ่งเกิดสืบต่อ นี่แสดงให้เห็นว่าการเกิดสืบต่อเร็วมาก แม้ว่าเราจะเรียนอย่างละเอียดว่าเป็นทางทวารไหนก็ตาม แต่เวลาที่สภาพธรรมปรากฏก็คือว่าขณะนั้นไม่ใช่คิดเรื่องสภาพธรรมเป็นชื่อก็จริง แต่ก็จะมีความรู้สึกว่ามีกรามอยู่ตรงนั้น และมีแข็ง ถ้าไม่มีกายปสาทซึมซาบอยู่ทั่วตัวแล้ว ลักษณะที่แข็งก็ปรากฏไม่ได้ ที่โต๊ะไม่มีกายปสาท จะให้โต๊ะรู้สึกแข็งที่มากระทบโต๊ะก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่ใดก็ตามที่มีแข็งปรากฏ หมายความว่าขณะนั้นต้องมีกายปสาทรูปซึ่งเป็นรูปที่กระทบกับแข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ขณะที่คุณสุกัญญานั่งอยู่ที่นี่ ทราบไหมว่ามีกายปสาทซึมซาบอยู่ทั่วตัว

    ผู้ฟัง ทราบด้วยการศึกษา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่กำลังนั่งจะรู้ลักษณะของกายปสาทที่ซึมซาบอยู่ทั่วตัวได้ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าการศึกษาคิดว่าได้

    ท่านอาจารย์ เวลาพูดถึงศึกษา คิดแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าขณะนี้มีสภาพที่ปรากฏ เช่น เห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียง กายปสาทก็ไม่ได้ปรากฏอย่างเสียง ไม่ได้ปรากฏอย่างสีสันวัณณะ ไม่ได้ปรากฏอย่างรส เพราะเหตุว่าต้องเป็นขณะที่เป็นสติสัมปชัญญะที่สามารถจะรู้กายปสาททางใจ นี่ก็แสดงให้เห็นความละเอียด ดูเหมือนสิ่งต่างๆ ก็ธรรมดา แต่ความจริงต้องเข้าใจจริงๆ แล้วก็ตรงลักษณะนั้น จึงสามารถที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่คุณสุกัญญาบอกว่ารู้สึกแข็งตรงกราม มีการคิดนึกแทรกคั่นว่ามีกราม แต่ถ้าเป็นการรู้ลักษณะแข็ง คุณสุกัญญาก็บอกว่าไม่เห็นมีกายปสาท ก็จะมีกายปสาทปรากฏได้อย่างไร ใช่ไหม เพราะว่ากายปสาทเป็นรูปที่ไม่ใช่สี ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่ใช้โผฏฐัพพะ ไม่ใช่แข็ง แต่ว่าจะมีการรู้ลักษณะของกายปสาทได้เฉพาะทางใจ และสำหรับใคร ข้อสำคัญที่สุดก็คือสิ่งใดกำลังปรากฏ ควรรู้ควรเข้าใจเพิ่มขึ้นในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่เป็นการคิดนึกซึ่งไม่ใช่เป็นการรู้ตรงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จะคิดนึกว่ามีกราม ก็ให้รู้ว่าขณะนั้นไม่ได้รู้เฉพาะลักษณะที่แข็ง ขณะที่คิดถึงกายปสาท ขณะนั้นก็ไปคิดเรื่องกายปสาท ไม่ใช่เป็นการรู้ตรงแข็ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เคยมี เช่น กรามหรือกายปสาทจะมีไม่ได้ เพราะเหตุว่าขณะนั้นมีแต่เพียงแข็งปรากฏ ตัวคุณสุกัญญาทั้งหมดตั้งแต่ศรีษะจรดเท้าที่เคยเป็นเรา และกรามของเราก็จะไม่เหลืออะไรเลย นอกจากสิ่งที่มีลักษณะที่ปรากฏแล้วก็หมดไป แต่ต้องเป็นปัญญาที่อบรมเจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับได้ เพราะว่าขณะนี้เป็นแต่เพียงความคิดเรื่องกราม แล้วก็กายปสาทอยู่ที่ไหน หรือบางคนอาจจะคิดว่าไหนผัสสะ ไม่เห็นมีผัสสะ ก็เป็นเรื่องของความคิดนึก แต่ว่าปัญญาจะอบรมลักษณะเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏทีละอย่าง

    ผู้ฟัง อย่างนั้นถ้าสภาพแข็งปรากฏ ก็มีเพียงสภาพแข็งอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ กำลังรู้ตรงแข็งนั่นคือสติสัมปชัญญะ

    ผู้ฟัง แต่ว่าสภาพผัสสะก็ต้องเกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ นี่ก็คิดแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ได้มีเฉพาะลักษณะของสภาพธรรม จะมีการคิดนึกด้วยความเป็นเราที่คิด จนกว่าแม้คิดขณะนั้นก็เป็นสภาพที่คิด ไม่ใช่สภาพที่แข็ง

    ผู้ฟัง ถ้าเราไม่ได้ศึกษา หรือไม่ได้ทราบถึงลักษณะปรมัตถธรรมต่างๆ ลักษณะแข็งโดยตัวปรมัตถ์เองจะปรากฏกับสติได้ไหม

    ท่านอาจารย์ จะปรากฏกับกายวิญญาณเป็นปกติ แต่ไม่ได้ปรากฏกับสติปัฏฐานเพราะว่าสติปัฏฐานไม่ได้เกิด ถ้าไม่มีการฟังจนกระทั่งเข้าใจ ไม่มีทางที่สติปัฏฐานจะเกิด แต่จะมีความเป็นเราจงใจจะทำวิธีการต่างๆ ซึ่งไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าไม่ใช่เรา เราทำอะไรไม่ได้ทั้งๆ ที่มีสภาพธรรมปรากฏก็ไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่เป็นเราจะทำต่างๆ นั่นเป็นโลภะหรือไม่ เพราะฉะนั้นโลภะไม่ได้อยู่ในตำรา กำลังคิดถึงเรื่องกรามเป็นโลภะหรือไม่ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่กุศล ไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่โมหะ ขณะนั้นก็ต้องเป็นโลภมูลจิต แล้วรู้ไหม เห็นไหมว่ายากที่จะรู้ เพราะว่าสภาพธรรมแม้มีเป็นปกติอย่างโลภะ ก็เห็นยากเพราะลึกซึ้ง แล้วยังมีอีกมากมายไม่ใช่เพียงเท่านี้ใช่ไหม ที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดที่จงใจอยากจะรู้ และประพฤติปฏิบัติหนทางต่างๆ ซึ่งไม่ใช่การเข้าใจถูกในหนทาง ไม่ใช่ขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดด้วยเหตุปัจจัยซึ่งเป็นอนัตตาไม่ใช่เรา เริ่มเห็นโลภะตอนนี้ใช่ไหม ขณะที่คิดถึงกราม และขณะที่คิดว่ากายปสาทอยู่ที่ไหน ผัสสเจตสิกอยู่ที่ไหน แล้วจะพ้นจากโลภะเมื่อไร มีก็ไม่รู้

    ผู้ฟัง ขณะที่สภาพธรรมที่เป็นอกุศลเกิด เราก็ไม่รู้ ยากตรงนี้ ท่านอาจารย์จะกรุณา

    ท่านอาจารย์ ก็สรรเสริญพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกครั้งที่กล่าวคำว่ายาก ฟังจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของเราเอง ความเข้าใจของคนอื่นก็ไม่สามารถที่จะทำให้สติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐานของเราเกิดรู้ลักษณะหนึ่งลักษณะใด แต่ต้องอาศัยการฟัง และละคลายความไม่รู้ คลายความเห็นผิดที่เคยยึดถือหนทางที่ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม กว่าจะมีกำลังที่จะออกจากโลภะที่เกิดร่วมกับทิฏฐิความเห็นผิด จะเห็นว่าแสนยากสำหรับผู้ที่เคยปฏิบัติหนทางที่ผิดมาก็จะมีการยึดติดโดยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ เพราะบางคนที่ตั้งใจก็คิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์ที่ทำไปก่อน ซึ่งขณะใดก็ตามที่ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมจะเป็นหนทางที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้ นั่นก็เป็นความเข้าใจผิด กว่าจะถอนตัวจากความเห็นผิดซึ่งเหมือนกับฟ้าครอบแผ่นดิน หนทางที่จะออกไปจากโลภะ ไม่ต้องออกไปจนหมดถึงความเป็นพระอรหันต์ เพียงขั้นแรกที่สุดออกไปจากเยื่อใยการยึดถือหนทางที่ผิดก็ยาก เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดสามารถที่จะออกได้ก็เริ่มที่จะเข้าใจหนทางที่ถูก และอบรมหนทางที่ถูกจนกว่าจะสามารถที่จะดับความเห็นผิดเป็นสมุจเฉท ก็เป็นการออกจากโลภะระดับต้นที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด แต่เห็นการสะสมไหมที่ได้สะสมมา ยากแสนยากที่จะทิ้งสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทั้งหมดเป็นปรมัตถธรรม ไม่มีเราสักขณะเดียว สักประเภทเดียว แต่เพราะความไม่รู้จึงยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดว่าเป็นเรา จนกว่าจะคลายด้วยความรู้

    ผู้ฟัง ที่เรากล่าวกันอยู่ว่าวันหนึ่งเราพิจารณาตัวเราเอง แล้วเราก็มีโลภะมาก

    ท่านอาจารย์ เมื่อไร

    ผู้ฟัง เมื่อโลภะเกิด

    ท่านอาจารย์ ต้องขณะที่โลภะเกิด

    ผู้ฟัง แล้วลักษณะนั้นก็ไม่ใช่ลักษณะที่สติระลึกสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพที่คิดเรื่องลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏจากการที่เคยได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้น จากที่เคยได้ยินได้ฟังก็จะเป็นปัจจัยให้คิดนึกเรื่องสภาพธรรม แม้ไม่ใช่สติสัมปชัญญะ แต่เมื่อคิดนึกจนกระทั่งเข้าใจก็รู้ว่าคิดเรื่องไม่ใช่ลักษณะจริงๆ เช่น จะคิดเรื่องแข็งว่าเป็นโผฏฐัพพารมณ์กระทบกับกายปสาทต้องมีผัสสเจตสิก นั่นคือคิดเรื่องแข็ง คิดไปจนกระทั่งรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่การรู้ลักษณะ เพราะฉะนั้นปัญญาก็จะค่อยๆ ละความไม่รู้ และความเห็นผิด

    ผู้ฟัง การที่เราอยากที่จะทำโน่นทำนี่ แล้วเราก็รู้ว่าความอยากนั้นเป็นอกุศลจิต เราก็พยายามที่จะไม่อยาก สิ่งนี้ก็ไม่ถูกทางใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็มีเรา

    ผู้ฟัง ก็มีเราที่จะทำ

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะใดที่อยากเกิด แล้วสติสัมปชัญญะ รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพที่ต้องการ เป็นสภาพที่ติดข้อง หรือเป็นสภาพที่กำลังคิดเรื่องอยาก ทุกอย่างเป็นธรรมที่ละเอียดมาก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แต่จากการที่ค่อยๆ ได้ฟัง ค่อยๆ มีความมั่นคงซึ่งเป็นสัจจญาณว่าธรรมเหล่านี้คือสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน เพราะฉะนั้น ก็เป็นเครื่องที่จะทำให้เรารู้ด้วยตัวเองว่า เรามีความเข้าใจระดับไหน ระดับฟัง ระดับคิด และระดับที่สติรู้ตรงลักษณะนั้นทีละเล็กทีละน้อย ขณะใดที่ระลึกลักษณะนั้นก็ละการที่ไม่รู้ในลักษณะ นิดเดียว เล็กน้อยมาก เพราะว่าทุกคนที่ฟังต้องการอะไร ต้องการรู้ความจริงไม่ใช่ความเท็จ และสิ่งที่มีจริงก็กำลังเผชิญหน้าที่จะให้รู้ แต่รู้หรือไม่รู้เพราะอะไร ไม่ใช่ด้วยความหวัง ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่าเรามีความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะนานมาก พร้อมทั้งการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เพราะฉะนั้น ประการแรกที่สุดก็คือรู้ว่าไม่ใช่เราเป็นสิ่งที่ถูก เพราะเหตุว่าถ้ายังมีเราอยู่ก็จะต้องมีกิเลสมากมายนับไม่ถ้วน แต่ถ้าเริ่มฟังเข้าใจว่าไม่ใช่เรา ขณะนั้นเริ่มมีความรู้ที่ถูกต้อง พอใจไหมที่จะได้รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่ต้องไปไกลถึงขนาดที่ว่าอยากจะหมดกิเลส โลภะมาอีกแล้ว เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ใช่ศึกษา ฟังเพื่อให้โลภะอยากมากๆ เมื่อไรจะถึงเร็วๆ แต่เป็นผู้ที่ปกติรู้เหตุ และผลตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เร็วหรือช้า แต่เป็นเรื่องการเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังในขณะที่กำลังฟังไปเรื่อยๆ ไม่ใช่พอฟังตรงนี้แล้วอยากจะไปเข้าใจตรงอื่น อยากจะทำอย่างอื่น โดยที่ไม่ใช่การเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ถ้าจะเป็นผู้ที่พิจารณาจริงๆ พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงไม่ว่าจะเป็นพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรมใน ๔๕ พรรษา เป็นไปเพื่อละ ไม่มีสักประโยคเดียวที่เป็นไปเพื่อติด หรือเพื่อต้องการ แต่ผู้ที่ไม่เข้าใจก็มีความเป็นตัวตนที่ฟังเพื่ออยากจะได้ เพื่อความเป็นเราที่จะเป็นอย่างที่ผู้ที่ได้สละกิเลสแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ก็จะทำให้เรามีความเข้าใจ และก็มีโลภะ แต่ถ้าเราจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ โลภะก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเหตุว่ารู้ว่าไม่ใช่เป็นการที่จะได้มาด้วยโลภะ แต่เป็นการที่ละโลภะ ขณะใดที่เข้าใจ และต้องการ ขณะนั้นไม่ได้ละโลภะ แต่ขณะใดที่เข้าใจ และก็รู้ว่าเป็นเรื่องของการสะสมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ขณะนั้นละโลภะ ด้วยเหตุนี้จึงต้องเห็นโลภะตามความเป็นจริงว่า ถ้ายังคงมีความต้องการผล ไม่พ้นจากอำนาจของโลภะ ปล่อยให้เรียนไป จะเรียนให้หมดทั้ง ๓ ปิฎก ทั้งอรรถกถา และภาษาบาลี โลภะก็ยังมีอำนาจอยู่เพราะว่าสะสมมานาน ที่จะทำให้ยังอยากจะเป็นอย่างนั้น ยังอยากจะเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น แม้เพียงจะปล่อยไปนิดหนึ่ง ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องก็กลับมาครอบงำอีกได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นผู้ที่ไม่ได้หวังผลอะไรที่จะให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากการฟังธรรม แต่ให้เข้าใจถูกต้อง ขณะที่เข้าใจถูกละความไม่รู้ และละโลภะ ก็เป็นเรื่องที่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการละโลภะ ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจถูกต้องจริงๆ รู้แค่นี้พอไหม ขณะที่เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง และก็ฟังอีก เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง จะทำอะไรนอกจากนี้ นอกจากโลภะทำตลอดเวลา

    ผู้ฟัง ขอถามว่าเหตุการณ์ที่เกิดเป็นการนึกคิดหรือสติระลึก คือ นั่งอยู่ในรถแท๊กซี่ ธรรมดาก็จะเป็นคนปากไวมาก ถ้าคนขับๆ ไปผิดทาง ก็จะว่าเขาทันทีว่า ทำไมเลี้ยวทางนี้ ไม่ไปทางนั้น แต่ในใจก็คิดได้ว่าเรียนธรรมแล้วนี่ จะไปว่าเขาได้อย่างไร ก็เลยไม่ว่า อย่างนี้เป็นความนึกคิดหรือว่าสติระลึก

    ท่านอาจารย์ สติไม่ได้ระลึก

    ผู้ฟัง คิดนึกใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คือจะต้องค่อยๆ เข้าใจ กำลังเล่าเรื่องเป็นสติหรือไม่


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567