พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 160


    ตอนที่ ๑๖๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ และความรู้สึกขณะนั้นก็ไม่สบายใจ และก็มีโทสะเกิดร่วมด้วยคือปฏิฆะตรงกันข้ามกับโลภะ เพราะฉะนั้นมัจฉริยะก็เกิดกับโทสมูลจิต ขณะที่กำลังพอใจในสิ่งที่มี ยังไม่มีคนอื่นมาเกี่ยวข้อง ขณะนั้นหวงหรือเพียงพอใจ กำลังพอใจในสิ่งที่มี

    ผู้ฟัง พอใจ แล้วก็หวงด้วย ที่เอาไปซ่อน

    ท่านอาจารย์ ที่เอาไปซ่อนนั่นคือว่ามีคนอื่นเข้ามาแล้ว ต้องมีซ่อนใครใช่ไหม กลัวคนอื่นเห็น แต่เวลาที่เรากำลังติดข้องเท่านั้นจริงๆ เช่น ดอกไม้สวย เราไม่ได้เอาไปซ่อนใครที่ไหน ใช่ไหม เพราะว่าขณะนั้นเป็นความพอใจติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ถ้าเกิดคิดไม่อยากให้สิ่งของนี้เป็นของบุคคลอื่นร่วมใช้ด้วย ขณะนั้นก็เป็นความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง เริ่มไม่สบายใจแล้ว หาทางแล้วจะทำอย่างไรกับสิ่งนั้น จะไปซ่อนหรืออะไรก็แล้วแต่ ขณะนั้นก็คือลักษณะของความตระหนี่คือมัจฉริยะซึ่งเกิดกับโทสมูลจิต วันนี้มีโลภะแล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีมัจฉริยะหรือยัง

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แน่ใจหรือ

    ผู้ฟัง ก็มีเป็นช่วงๆ อย่างเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น เรามีของรับประทานอยู่ชิ้นหนึ่ง เราก็ยังแบ่งปันคนอื่นไม่ได้ เรามีความพอใจ และหวงแหนที่จะรีบๆ ทานให้หมด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องรู้ ทุกคนศึกษาธรรมจะเห็นธรรม และก็รู้จักธรรม แม้แต่โลภะที่เราพูด เราพูดทั้งวันเลยเรื่องโลภมูลจิตเพราะเรารู้ว่ามีโลภะมาก แต่ไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมที่เป็นโลภะ เพียงแต่เอ่ยชื่อ เพราะฉะนั้นเราจะรู้ความต่างกันของปริยัติ การศึกษาเรื่องราวของสิ่งที่มีจริง แต่ว่าตัวจริงๆ ของสิ่งนั้นตราบใดที่เรายังไม่รู้ ก็เป็นเพียงแต่ความคิดว่าโลภะเป็นความติดข้องเกิดร่วมกับอุเบกขาบ้าง หรือว่าเกิดร่วมกับโสมนัสบ้างเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นยังมีอีกมากที่จะต้องรู้ด้วยสติ และปัญญาในขณะที่สภาพนั้นกำลังเกิด ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่าพื้นฐานพระอภิธรรมเป็นไปตลอด เพราะว่าเป็นพื้นฐานที่มั่นคงที่จะทำให้แม้ขณะใดที่โลภะเกิด ก็ยังสามารถที่จะรู้ได้ เข้าใจได้ว่าขณะนั้นมีเพราะว่าลักษณะนั้นมี

    ผู้ฟัง สภาพธรรมของโทสะ ไม่ว่าจะเป็นความตระหนี่หรืออะไรก็แล้วแต่ เวลาเกิดขึ้นแล้วเรารู้สึกว่าตัวเราไม่ดี แต่เมื่อโลภะเกิด ทำไมจึงเป็นความพอใจ และเราก็ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเราไม่ดี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องอาศัยคำสอนของผู้ที่ทรงตรัสรู้ จะคิดเองนี้ไม่เห็นโทษของโลภะแน่นอน มีโลภะก็รู้สึกว่าอยากจะได้ ต้องการ ขวนขวาย ได้มาก็พอใจ เก็บรักษาอย่างดี ไม่ยอมที่จะจากไปเลย คิดถึงเรื่องการจากดูเหมือนเป็นเรื่องที่ทุกข์ทรมานที่จะต้องเสียสิ่งนั้นไป แต่ความจริงมีอะไรเหลือ เพราะว่าทุกอย่างเกิดปรากฏแล้วดับไปทั้งนั้น ไม่มีอะไรเหลือ แต่ด้วยความไม่รู้ก็ยังคงมีความพอใจติดข้อง เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ถูกเห็นถูกจริงๆ จึงสามารถที่จะละโลภะได้ เพราะไม่มีอะไรจะละโลภะได้เลยนอกจากปัญญา ปัญญาของพระโสดาบันละโลภะที่เกิดร่วมกับการเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่ยังมีโลภะอีกมาก กว่าจะเป็นพระสกทาคามี สามารถจะละความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างหยาบ ไม่ได้ละไปหมดเลย ค่อยๆ เห็นโทษละเอียดขึ้น เมื่อถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคลจึงละโลภะที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ก็ยังมีโลภะซึ่งจะละด้วยอรหัตตมรรค นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการละโลภะเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องที่ละเอียด แต่เป็นเรื่องจริงที่สามารถจะอบรมเจริญปัญญาที่จะละได้ แต่ต้องอดทน รู้ความจริงไม่คลาดเคลื่อน

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นคนที่รักจะไม่ค่อยตระหนี่ แต่กับคนที่ไม่รักนี่ไม่ให้เลย ขอให้อาจารย์ช่วยขยายตรงนี้ด้วย

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมเป็นความจริง ประโยชน์ก็คือว่าเราสามารถรู้จักตัวเองว่าขณะไหนเป็นอย่างไร เพราะว่ากับคนที่รักเราให้ได้มาก อาจจะมากกว่าตัวเองอีก แต่เวลาที่เป็นโทสะ ไม่มีทางให้เลย ใช่ไหม ขณะนั้นจะไม่ให้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าบุคคลก็สำคัญด้วย เพราะเหตุว่าการที่มัจฉริยะเกิดก็จะไม่ให้ผู้ซึ่งไม่เป็นที่รัก เพราะฉะนั้นถ้าเกิดหวง เทียบได้ว่าความรู้สึกต่อบุคคลนั้นเป็นอย่างไร รักหรือไม่ รักแค่ไหน น้อยหรือมาก ก็เป็นเครื่องวัดตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง กว่าที่จะค่อยๆ รู้ตัว กว่าที่จะค่อยๆ เรียนรู้ ปัญญาที่ค่อยๆ เรียนรู้ว่านี้เป็นสภาพธรรม รู้สึกว่าลำบากมาก

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเหตุที่เราต้องฟังพระธรรม และเราฟังพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวพอไหม

    ผู้ฟัง ไม่พอ

    ท่านอาจารย์ ไม่พอเลย ต้องฟังหลายพระองค์ กว่าที่จะรู้ และอบรมเจริญปัญญาตามความเป็นจริง ไม่ใช่จะให้ท้อถอย แต่เป็นเรื่องรู้ตามความเป็นจริงว่าความจริงเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ให้มาเดือดร้อนด้วยความเป็นเราว่าทำไมมีกิเลสมาก มีความไม่รู้มาก แล้วเมื่อไรจะหมดสิ้น นั่นก็คือแสดงให้เห็นสักกายทิฏฐิ การยึดสภาพธรรมว่ายังเป็นเราอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าฟังแล้วเข้าใจธรรม ก็จะมีกุศลจิตที่ปลอดโปร่ง รู้ตามความเป็นจริงว่าตราบใดที่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ยังไม่ได้ปรากฏกับปัญญาด้วยความเป็นธรรม เราก็ต้องอบรมเจริญต่อไป เพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ต้องไปห่วงว่าจะเป็นพระโสดาบันเมื่อไร หรือว่าไม่ต้องไปห่วงว่าวิปัสสนาญาณจะเกิดเมื่อไร แต่ความรู้มีหรือไม่ ถ้าไม่รู้ก็ฟังพิจารณาไตร่ตรอง เข้าใจขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่สติเกิด ก็จะรู้ว่าเป็นเรื่องของความอดทนที่ว่าเป็นไปกับการไม่ติดข้องด้วย มิฉะนั้นก็จะมีตัวตนที่ไปทำอย่างอื่นซึ่งเห็นผิดไป

    ผู้ฟัง เห็นจริงอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าว หมายถึงว่าปัญญาค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ สังเกตไป มีความโล่งใจจริงๆ ถึงแม้จะยังมีความร้อนรุ่มที่ว่าเมื่อไรจะรู้เร็วๆ เมื่อไรจะได้รู้แจ้งสัจจธรรมก็ยังมีอยู่

    ท่านอาจารย์ แล้วลองคิดตามความเป็นจริงว่า ถ้าไม่เกิดความคิดว่าเมื่อไรจะรู้ จะเร็วกว่าไหม เพราะขณะนั้นขึ้นมาขัดขวางการรู้แล้ว มีความเป็นเราที่ต้องการ แต่ห้ามไม่ได้ ห้ามไม่ได้เลย กิเลสทุกอย่างเกิดขึ้นตามการสะสม แสดงความเป็นธรรมจริงๆ ตัวจริง อาจจะไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็ไม่ปรากฏ เหมือนซ่อนเร้นอยู่ แต่เวลาที่มีสิ่งใดที่ปรากฏ อย่างที่กล่าวว่าเป็นโลภะรุนแรงมากๆ เขาก็มีกำลังที่จะปรากฏว่าลักษณะนี้เป็นอย่างนี้ ใครก็ห้ามไม่ได้ เมื่อเกิดแล้วเมื่อไรก็รู้ว่าลักษณะนั้นมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น นี่คือการค่อยๆ คลาย ค่อยๆ ถอย ค่อยๆ ถอนจากความเป็นเราด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ถ้าเข้าใจผิดโดยพยายามข่ม พยายามทำ พยายามที่จะเป็นตัวเราซ้ำเติมเข้าไปอีก แทนที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่าทั้งหมดเป็นธรรมที่เกิดแล้วใครก็เปลี่ยนแปลงบังคับบัญชาไม่ได้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นสรุปแล้วไม่ว่าจะเป็นลักษณะสภาพธรรมอะไรที่เกิดขึ้นกับเราก็ตาม ก็ต้องเกิดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้ว ถึงได้ปรากฏ เพราะฉะนั้นเกิดแล้วให้รู้ แต่ก็ไม่รู้

    ผู้ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ ตามรู้ไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ และการที่จะค่อยๆ เข้าใจ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาว่าเมื่อไรจะค่อยๆ เข้าใจ การที่ค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อยจะเพิ่มขึ้นเมื่อไรก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาอีก ก็เป็นเรื่องของการเข้าใจถูก เห็นถูก พื้นฐานจึงต้องมั่นคงที่จะเข้าใจความเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง มัจฉริยะต้องมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ใช่ไหม เช่นในกรณีที่ไม่มีบุคคลที่สาม แต่ว่าเป็นสิ่งของแล้วเราเกิดความเสียดาย เราก็เก็บใส่ตู้เย็นไว้ ตัวเองก็ยังมีความรู้สึกว่าจุดนี้ก็คืออารมณ์ของมัจฉริยะคือตระหนี่ที่จะเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น

    ท่านอาจารย์ พอจะเอื้อเฟื้อแก่คนอื่น มีคนอื่นไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ กับการที่เราเก็บไว้เพราะเรายังพอใจในสิ่งนั้น คราวที่แล้วเราก็ได้พูดถึงคนที่รักของ และก็เก็บของที่รักอย่างดีเพราะไม่ต้องการให้เสียหาย ก็ด้วยความพอใจ แต่ยังไม่ใช่มัจฉริยะ เพราะฉะนั้นโลภะก็จะทำให้เราติดข้อง ทะนุถนอม หวงแหน รักษาอย่างดี แต่ว่าจะมีมัจฉริยะก็เมื่อไม่ต้องการให้สิ่งนั้นสาธารณะทั่วไปกับบุคคลอื่น ต่างขณะ

    ผู้ฟัง แล้วก็ต้องมีบุคคลหรือบุคคลที่สาม เช่นคราวที่แล้วพูดถึงเมตตาก็ต้องมีสัตว์ มีบุคคลเป็นอารมณ์ สิ่งนี้ก็เหมือนกันหรือ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเรามีเสื้อสวยๆ ซักเอง ทะนุถนอม เราก็ไม่ได้คิดถึงว่าเราจะต้องไปหวงแหนอะไร แต่ว่าเราอยากจะให้สิ่งนั้นคงทนอยู่นานๆ

    ผู้ฟัง สิ่งนั้นก็ตระหนี่เหมือนกันหรือ

    ท่านอาจารย์ โลภะติดข้อง เพราะฉะนั้นก็เห็นโลภะว่าเราติดแค่ไหนตามความเป็นจริง ถ้าใครมาเช้าก็จะเห็นคุณหมอศรีพธูฉีดน้ำดอกไม้ ตระหนี่หรือว่าอย่างไร หรือว่าเป็นกุศล พอใจที่จะให้สิ่งนั้นคงอยู่ในสภาพนั้น ทะนุถนอม และด้วยการบูชา ด้วยกุศลจิตก็ได้ เพราะฉะนั้นไม่มีใครสามารถจะไปรู้จิตของใครได้ว่าแม้แต่จิตของแต่ละคนก็เกิดดับสลับกันเร็วมากเหมือนเห็นพร้อมกับได้ยิน พร้อมกับคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ทั้งๆ ที่กำลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ก็ยังเห็นอยู่ ก็แสดงให้เห็นว่าจิตเกิดดับรวดเร็วมาก

    ผู้ฟัง แต่เนื่องจากเราศึกษาธรรม และเราก็มีความคิดนึก ก็อดไม่ได้อย่างเรื่องความเสียดาย เราก็มีความสงสัยว่าสิ่งนี้อยู่ในตระกูลของกิเลสของโลภะ หรือโทสะ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องของความคิดนึกซึ่งห้ามไม่ได้ แต่ว่ากิเลสไม่ได้หมดสิ้นไปด้วยความคิดนึก คิดเท่าไรกิเลสก็หมดไม่ได้ ขณะที่เห็นตลอดเวลา คิดหรือไม่ว่าจิตเห็น

    ผู้ฟัง ไม่ได้คิด

    ท่านอาจารย์ เห็นไหมว่าไม่ต้องมีชื่อ ไม่ต้องมีจักขุวิญญาณ ไม่ต้องคิดถึงเจตสิก ๗ ดวง แต่เวลาที่คิดถึงธรรม ถ้าไม่เคยฟังมาก่อนก็ไม่คิด เราจะคิดเรื่องอื่นไปเรื่อยๆ เลย เพราะฉะนั้นแม้แต่ความคิดขณะนั้นเกิดก็เพราะเหตุปัจจัย แต่ขณะนั้นจะรู้ไหมว่าเป็นโลภะหรือไม่ เพราะฉะนั้นก่อนอื่นไม่ใช่ไปรู้ลักษณะที่เรารู้ไม่ได้ แต่รู้ลักษณะนั้นว่าเป็นธรรมซึ่งเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม นี่คือการตั้งต้นที่ถูกต้อง ต่อให้เราจะพากเพียรคิดอย่างไรสักเท่าไรก็ตาม ถ้าขณะนั้นสติสัมปชัญญะไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรม ขณะนั้นก็ยังเป็นเรา เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงต้องละเอียด เรื่องธรรมก็เป็นเรื่องที่ควรจะไตร่ตรองเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน แต่ไม่ใช่อยู่เพียงระดับนั้น แม้ว่าจะมีความเข้าใจในพยัญชนะ ในคำ ในอรรถ ในความหมาย ในเรื่องราว แต่ตราบใดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้จริงๆ ในสิ่งที่เรากำลังคิดไตร่ตรองได้

    ผู้ฟัง อ่านหนังสือของท่านอาจารย์สุจินต์ เห็นผู้อื่นกำลังโกรธ โกรธอะไร โกรธเรา โกรธคนนั้น โกรธคนนี้ก็พิจารณาว่าเขากำลังไม่สบาย แต่ตนเองโกรธตนเอง จะทำอย่างไร

    อ.อรรณพ ที่เราคิดว่าเราโกรธตนเอง ทำไมเราถึงทำอย่างนี้ ทำไมเราไม่ทำอย่างนี้ ทำให้เราไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการ ใช่ไหม นั่นคือที่เรากล่าวว่าโกรธตนเอง จริงๆ ที่ว่าเราโกรธตนเองก็คือเราไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการ หรือเราทำสิ่งใดแล้วไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ ก็ด้วยความเป็นเรา ด้วยความติดข้องในสิ่งที่เราอยากได้นั่นเอง

    ผู้ฟัง เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ที่เราโกรธตนเอง

    อ.อรรณพ คนละขณะ เพราะขณะที่โทสะเกิดขึ้น ขณะนั้นจะไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เพราะความเห็นผิดจะเกิดกับโลภมูลจิตเท่านั้นเอง แต่ว่าบุคคลที่แม้ว่าจะมีความเห็นผิดหรือไม่มีความเห็นผิด แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยโทสะก็เกิดได้ แต่ผู้ที่มีความเห็นผิด โทสะสามารถที่จะเกิดได้หลังจากความเห็นผิดเกิดขึ้นแล้ว และอาจจะเป็นโทสะที่เกิดกับบุคคลที่ไม่ควรหรือบุคคลที่มีคุณอันประเสริฐก็ได้ เพราะว่าความเห็นผิดนั้นไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นเกิดลบหลู่ เกิดโทสะ เกิดวาจา เกิดกายที่ไม่เหมาะสมกับบุคคลที่มีคุณอันประเสริฐได้

    ท่านอาจารย์ ก็ขอกล่าวถึงเรื่องนี้นิดหนึ่งเพราะว่าคุณสุรพงษ์กล่าวถึงหนังสือที่อ่าน ความจริงเวลาที่วันหนึ่งๆ เราโกรธคนอื่นมาก หรือว่าเราไม่ได้โกรธตัวเอง แต่ไม่พอใจในสิ่งที่เป็นเหมือนกับว่าของเรา เช่น วันนี้ผมของเราเป็นอย่างไร พอตื่นขึ้นมา ฟันของเราสะอาดไหม หรือว่าต้องไปทำอะไร เพราะฉะนั้นความรู้สึกไม่พอใจ ไม่เหมือนกับความรู้สึกที่ไปโกรธคนอื่น แต่ให้รู้ว่าขณะใดก็ตามที่ความรู้สึกขุ่นเคืองไม่พอใจเกิดขึ้นในอะไรทั้งหมด ขณะนั้นไม่ใช่ลักษณะของอกุศลจิตประเภทโลภะหรือโมหมูลจิต เพราะเหตุว่าขณะนั้นมีความขุ่นเคืองใจ มีความไม่สบายใจเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ตั้งแต่ตื่นมา เราคิดถึงคนอื่นทันทีหรือว่าเราคิดถึงตัวเองทันที รองเท้าเป็นอย่างไร สะอาดไหม มันหรือไม่ เล็บเป็นอย่างไร ผมเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่ตัวเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าโกรธตัวเอง แต่หมายความว่าไม่พอใจในวันหนึ่งๆ จะมีอยู่ในที่ไหนมาก และอีกประการหนึ่ง เวลาที่เกิดความขุ่นเคืองใจ และก็ถามว่าเมื่อไรจะไม่โกรธ เพราะว่ายังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดความความเป็นจริง และจะให้ไม่โกรธเป็นไปได้ไหม เพราะฉะนั้นต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริงของสิ่งนั้นจะดับกิเลสอะไรๆ ไม่ได้ จะให้ไม่มีอย่างนั้น จะไม่มีอย่างนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นแม้ความโกรธที่เกิดก็จริง ควรรู้หรือว่าควรไม่ให้มีเพราะว่าเกิดแล้วปรากฏแล้ว และความจริงก็ดับแล้วด้วย แต่ความเป็นเราหวังที่จะไม่ให้มีความโกรธ แต่ไม่ใช่การที่จะรู้ว่าขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นหนทางไม่ใช่ไปทำอย่างอื่นเลย ขณะที่กำลังฟังอย่างนี้เป็นหนทางหรือไม่ที่จะทำให้ไม่มีความโกรธอีก ถ้ามีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมยิ่งขึ้น หรือว่าแม้เพียงทีละเล็กทีละน้อยจากพระสูตรที่ได้ฟัง จากคำของท่านพระอรหันต์ทั้งหลายที่ท่านกล่าว ข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎกที่ได้ยินได้ฟังก็เก็บสะสม ทำให้เห็นว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควรจนกระทั่งสามารถถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าขณะนี้จะไม่มีประโยชน์ ทั้งๆ ที่กำลังฟังอย่างนี้ก็อาจจะโกรธอะไรก็ได้ ยังมีอยู่ แต่อาศัยการฟังเข้าใจนี่คือหนทาง แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจแล้วจะไม่มีหนทางเลย ใครจะบอกวิธีไหนอย่างไรก็ตามแต่ก็ใช่ว่าจะดับโกรธได้ เพราะเหตุว่าโกรธเกิดแล้วดับไปแล้วตามสภาพของความโกรธที่จะไม่ให้โกรธเกิดอีก ต้องเป็นเรื่องของปัญญาที่เจริญขึ้น เพราะฉะนั้นหนทางอื่นไม่มี แต่ต้องรู้ว่าแม้ขณะนี้ก็เป็นหนทาง เพราะจะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง มีความเจ็บปวดทางกายมาก ปวดขามากๆ เลย จะทำอย่างไรที่จะให้จิตเราปล่อยวางความปวดนี้โดยที่ไม่ไปสนใจได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าทำได้คงไม่ต้องไปโรงพยาบาล ใช่ไหม ทำกันเลย แต่ว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่อัตตา ธรรมไม่ใช่อัตตา แต่ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ต้องรู้ความจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชวรหรือไม่ แล้วทำอย่างไร จะไม่ให้ประชวรหรืออย่างไร หรือว่ามีเหตุที่จะให้เจ็บก็เจ็บ ถ้าไม่มีเหตุจะเจ็บไม่ได้ ทั้งหมดทุกขณะจิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมด เพราะฉะนั้นเลิกคิดที่ว่าจะไปทำอะไรโดยที่ว่าไม่รู้ พระธรรมที่ทรงแสดงเกิดจากการตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างไรก็ทรงแสดงอย่างนั้นให้เข้าใจถูกต้อง แต่ไม่ใช่เป็นอัตตาที่จะให้ไปทำอะไร แต่เรื่องของความเจ็บป่วยต้องมีทางที่จะรักษา เพราะเหตุว่ามีหมอ มีโรงพยาบาล ก็ต้องรักษา ไม่ใช่ว่าทำอย่างไรถึงจะไม่เจ็บไม่ป่วย ก็เป็นเรื่องที่ว่าห้ามไม่ได้ เพราะเหตุว่า ถ้ามีกายตั้งแต่ศรีษะจรดเท้าก็จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้มีทุกข์กายเกิดขึ้น ตอนแรกเจ็บใช่ไหม

    ผู้ฟัง ตอนแรกเจ็บ แต่ก็มีผู้สอนบอกว่าให้เอาจิตวาง

    ท่านอาจารย์ ให้เอาจิตวาง คนฟังเข้าใจอย่างไร

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าจิตนี้จะไม่ไปจับที่เจ็บ จะเอาจิตเป็นกลางๆ แต่ดิฉันทำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ใครทำได้

    ผู้ฟัง สิ่งนี้เอามาจากในหนังสือ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะอ่าน จะฟัง ได้ยินอะไรก็ตาม ประโยชน์สูงสุดคือความเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังมีในขณะนั้นจึงจะเป็นความถูกต้อง ไม่ใช่ว่าเมื่อใครว่าอะไรแล้วเราคิดว่าจะต้องเป็นอย่างที่เขาว่า แต่ต้องพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เอาจิตไปวางหมายความว่าไม่รู้ว่าจิตคืออะไร มีลักษณะอย่างไร

    ผู้ฟัง คือให้จิตยอมรับว่าเราเจ็บ แต่ว่าไม่สนใจ

    ท่านอาจารย์ ให้จิตยอมรับ พูดอย่างนี้ก็หมายความว่าไม่รู้ลักษณะของจิต

    ผู้ฟัง ให้เราไม่เอาจิตไปจับ

    ท่านอาจารย์ ให้เราไม่เอาจิตไปจับ แล้วเราสามารถไม่เอาจิตไปจับ ถูกหรือผิด เพราะเรายังไม่รู้ว่าจิตคืออะไร มีลักษณะอย่างไร ใครจะไปทำอะไรจิตได้ เสียงกำลังปรากฏใครจะไปทำอะไรเสียงได้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ใครจะไปทำอะไรสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ เมื่อจิตเกิดขึ้นเห็น ใครจะไปทำอะไรกับจิตที่เห็นได้ ปัญญาสามารถที่จะเข้าใจถูกว่าไม่ใช่เรา แต่ไม่ใช่มีการเป็นเราที่จะทำอะไร อย่างนั้นไม่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ไม่ให้เอาจิตไปเกี่ยวข้อง

    ท่านอาจารย์ ไม่ให้เอาจิตไปเกี่ยวข้อง ใครทำได้

    ผู้ฟัง แต่ว่ามีอยู่ในหนังสือ

    ท่านอาจารย์ หนังสืออะไร

    ผู้ฟัง หนังสือธรรม

    ท่านอาจารย์ ธรรมอะไร ถ้าธรรมก็คือรู้ว่าจิตขณะนี้คืออะไร ขณะนี้กำลังเป็นจิตประเภทไหน นี่คือความรู้เรื่องจิต จิตเกิดแล้วดับไหม

    ผู้ฟัง ยังไม่มีระดับ

    ท่านอาจารย์ มิได้ ลักษณะของจิตซึ่งใช้คำว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หมายความถึงสภาพธรรมทั้งหมดที่เกิดไม่เที่ยง เพราะว่าเกิดแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นจิตเกิดดับ แล้วจะเอาจิตไปวางตรงไหนได้อย่างไร ใครพูดอย่างไรก็แล้วแต่ แต่เราฟังแล้วก็ต้องพิจารณาให้เข้าใจ ถ้าเข้าใจก็คือสิ่งนั้นไม่ถูกต้องหรือว่าเราไม่เข้าใจในสิ่งนั้น

    ผู้ฟัง การที่เราศึกษาธรรม เราจะมีความคิดอะไรปรุงมากๆ แต่บางทีก็น่ารำคาญที่จะคิด

    ท่านอาจารย์ คิดอะไรมากที่น่ารำคาญ

    ผู้ฟัง คิดเรื่องไม่เป็นเรื่อง

    ท่านอาจารย์ เพิ่งจะรู้ใช่ไหมว่าน่ารำคาญ และก็เรื่องไม่เป็นเรื่อง แต่ตอนที่คิดรู้อย่างนั้นไหม คือไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าเรียนเรื่องจิต ต้องรู้ว่าขณะนี้เป็นจิตหรือไม่ที่กำลังเห็น เป็นจิตหรือไม่ที่คิด ที่ได้ยิน เกิดเพราะเหตุปัจจัย เราไม่สามารถที่จะรู้ล่วงหน้าได้ว่าจิตขณะต่อไปจะเป็นอะไร ต่อเมื่อใดเกิดแล้วจึงรู้ว่ามีปัจจัยที่จิตนั้นจะเกิดขึ้น แสดงถึงความเป็นอนัตตาว่าไม่ใช่เรา บังคับบัญชาไม่ได้ สภาพธรรมทุกอย่างเป็นธรรมจริงๆ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567