พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 151


    ตอนที่ ๑๕๑

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ หรือขณะที่กำลังเกิดจาริตศีลคือความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่สมควรจะกระทำ ขณะนั้นก็แสดงให้เห็นว่ามีหิริโอตตัปปะที่ถ้าไม่ทำเราก็รู้สึกว่าไม่สมควร จึงกระทำสิ่งที่สมควรต่อผู้ที่สมควรได้ เช่น การช่วยเหลือ การแสดงความนอบน้อม วาจาที่น่าฟัง ขณะใดเกิดขึ้นก็คือหิริโอตตัปปะมีในขณะนั้น แต่วันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่านอกจากนั้นแล้ว ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่ได้มีหิริโอตตัปปะในการที่จิตขณะนั้นเป็นอกุศล แล้วยังมีฉันทะพอใจด้วยที่จะเป็นอกุศลนั้นๆ นี่เป็นเหตุให้ยิ่งศึกษาธรรมเราจะเป็นผู้ที่ละเอียดขึ้น และก็เห็นว่าธรรมใดเป็นอกุศล ความเข้าใจถูก จะทำให้ค่อยๆ ละเว้น ค่อยๆ คลายไปจนกว่าจะถึงการที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท แต่กว่าจะถึงขณะนั้นก็ลองคิดดู ชีวิตประจำวัน ทั้งวัน ทั้งชาติ ทุกชาติ เป็นอย่างนี้ และการที่ปัญญาสามารถที่จะถึงการดับกิเลสที่สะสมมาทั้งหมดเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกก็จะ ต้องเป็นการอบรมด้วยความเห็นถูก ความเข้าใจถูกจริงๆ ฟังธรรมไม่ใช่เพื่อจะได้เป็นพระโสดาบัน แต่ฟังเพื่อที่จะได้รู้ได้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏโดยที่ไม่ได้เคยมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งนั้นเลย

    อ.กุลวิไล จะเห็นได้ว่าโทสะมีทั้งโกรธที่ถึงขั้นพยาบาท และขุ่นเคืองใจด้วย ซึ่งก็เป็นสภาพธรรมที่ทำร้าย ประทุษร้ายจิตใจ สำหรับผู้ที่โกรธก็จะกระสับกระส่าย ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือสภาพธรรมที่เกิดกับเราในชีวิตประจำวันนั่นเอง

    อ.ธิดารัตน์ กล่าวถึงลักษณะของโทสะ ขณะที่มีอิสสาเกิดขึ้นร่วมด้วยกับโทสะ ลักษณะของอิสสากับมัจฉริยะจะมีความต่างกัน ถ้าเป็นอิสสาจะเป็นลักษณะที่ริษยา เป็นลักษณะ ไม่ยินดีในสมบัติของผู้อื่น เช่น เห็นผู้อื่นได้ลาภ ยศ สรรเสริญต่างๆ ก็เกิดความไม่พอใจ ก็เกิดร่วมกับโทสะด้วย ส่วนมัจฉริยะจะมีความต่างกันอยู่ มัจฉริยะจะเป็นการปกปิดสมบัติของตน เป็นลักษณะ เช่น ของที่เรามีอยู่ แล้วหวงแหน และไม่อยากให้ของนั้นกับผู้อื่น ก็เป็นลักษณะของมัจฉริยะ การตระหนี่ท่านก็จะแยกออกเป็นลักษณะที่ว่า ตระหนี่ที่อยู่ ที่นั่ง ที่นอนต่างๆ ถ้าใครมาใช้ เราก็จะเกิดความไม่พอใจ ไม่ต้องการให้เขามาใช้ โต๊ะ เก้าอี้ ที่นั่ง ที่นอน อะไรต่างๆ สิ่งนี้จะเป็นการตระหนี่ที่อยู่ ตระหนี่ตระกูลก็คือไม่ต้องการให้บุคคลอื่นมาสนิทสนมกับตระกูล เช่น ถ้าเป็นพระภิกษุก็จะหมายถึงตระกูลที่อุปฐากท่านอยู่ ท่านก็ไม่ต้องการให้ไปอุปฐากผู้อื่น หรือถ้าเป็นคฤหัสถ์ ญาติพี่น้องของเรา หรือเพื่อนสนิทของเรา ก็ไม่อยากให้คนอื่นมาสนิทด้วย เรียกว่าหวงเพื่อน หวงญาติ สิ่งนี้ก็เป็นตระหนี่ตระกูล อีกอย่างหนึ่งก็คือการตระหนี่ลาภ ลาภนี้ก็หมายถึงว่าไม่ต้องการให้ผู้อื่นได้ลาภเหมือนอย่างที่เราได้ เช่นเราได้อะไร ก็ไม่อยากให้ผู้อื่นได้ ก็เป็นการตระหนี่ในลาภ

    ผู้ฟัง อะไรที่ไม่ได้เกิดกับเรา ก็คิดยาก

    ท่านอาจารย์ เคยมีบางคนเขาบอกว่าเขาไม่อยากให้เพื่อนที่เขาสนิทสนมคุ้นเคยไปสนิทสนมคุ้นเคยกับคนอื่น นี่สำหรับคฤหัสถ์ แต่ว่าถ้าเป็นบรรพชิต บรรพชิตไม่มีญาติพี่น้อง แต่มีตระกูลอุปฐาก เพราะฉะนั้นเวลาที่ไม่ต้องการให้ตะกูลอุปฐากไปอุปฐากภิกษุอื่นก็เป็นการตระหนี่ตระกูล คือ กุลมัจฉริยะ ต้องการให้เป็นของตนผู้เดียว ไม่ต้องการให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมด้วย

    อ.ธิดารัตน์ อีกประการหนึ่ง คือวรรณมัจฉริยะ ตระหนี่ผิวพรรณ ตระหนี่คำสรรเสริญต่างๆ คือเป็นบุคคลที่คือพูดชมคนอื่นไม่ได้ เช่น คนอื่นเขามีรูปร่างสวย น่าดู น่าชม มีกิริยามารยาทเรียบร้อยต่างๆ ก็กล่าวชมเขาไม่ได้ ตรงนี้คือตระหนี่คำชม และมีตระหนี่ธรรมอีกประการหนึ่ง คือ ธัมมมัจฉริยะหมายถึงปริยัติธรรม เรียนปริยัติต่างๆ เมื่อจะอธิบายก็พูดนิดๆ หน่อยๆ ไม่พูดทั้งหมดกลัวเขาจะเข้าใจได้มากกว่าตัวหรือเท่าตน ก็เป็นการตระหนี่ธรรม ซึ่งตระหนี่ประการนี้จะไม่เกิดกับพระอริยบุคคล เพราะพระอริยบุคคลท่านจะไม่มีการตระหนี่ในธรรม

    ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามว่าอาการที่โทสะมีมัจฉริยะเกิดร่วมด้วย หรือมีอุทธัจจะเกิดร่วมด้วย กับมีกุกกุจจะเกิดร่วมด้วย กำลังน่าจะมากกว่าขณะที่โทสะเกิดเพียงอย่างเดียวใช่ไหม ถ้าเกิดมีเจตสิกทั้ง ๒ ประเภทแล้วกำลังน่าจะมากกว่า

    อ.ธิดารัตน์ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะลักษณะของโทสะอย่างเดียวโดยไม่มีอิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ โกรธมากๆ ก็มีกำลังมาก กับโกรธนิดเดียว เพราะฉะนั้นความต่างกันของลักษณะของความโกรธก็มี มีโดยลักษณะของเขา มีทั้งกำลังกล้า และกำลังอ่อนอยู่แล้ว แม้ที่ประกอบกับอิสสาก็มีทั้งกำลังกล้า และกำลังอ่อน ประกอบกับมัจฉริยะก็มีทั้งกำลังกล้า และกำลังอ่อน หรือแม้กระทั่งกุกกุจจะ ความเดือดร้อนใจ ไม่สบายใจในอกุศลที่ได้กระทำแล้ว หรือความประพฤติที่ไม่ดีไม่งามต่างๆ ที่เราเก็บไปไม่สบายใจ ก็มีทั้งลักษณะที่มีกำลังนิดเดียว และก็มีกำลังมาก

    ผู้ฟัง มัจฉริยะ สำหรับบางคนมีทรัพย์สินเงินทองพอที่จะใช้จ่าย โดยซื้อเสือผ้าดีๆ อาหารที่มีคุณภาพดีมารับประทาน บางคนถึงแม้จะมีเงินแต่ไม่ยอมใช้ จะเอาของที่เก็บจนใกล้จะเสียมารับประทานเสียก่อน สิ่งนี้นับเป็นมัจฉริยะหรือไม่ ถึงเขาจะมีเงินก็ไม่ได้มีโอกาสได้ใช้ของดีหรือได้รับประทานของดี

    อ.อรรณพ คนที่เขามีสมบัติข้าวของมากมายแต่เขาไม่น้อมไปที่จะใช้สมบัติของเขา เป็นความตระหนี่เป็นอย่างยิ่ง ตระหนี่แม้กระทั่งตัวเองที่จะไม่ใช้สอย ไม่ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่มี ก็เป็นความตระหนี่ที่มากมาย ในขณะที่เขาได้รับวิบากที่ดีก็เป็นผลของกุศลกรรม แต่ในขณะที่แม้ว่าจะมีสิ่งที่เอื้อให้เขาพร้อมที่จะได้รับวิบากที่ดี แต่ด้วยการสะสมของกิเลสของเขาให้เขาน้อมไปที่จะไม่ใช้สิ่งที่พร้อมที่จะให้เขาได้รับวิบากที่ดีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่เขาไม่น้อมไปที่จะได้สิ่งนั้น ดังนั้นเขาจึงไม่ได้รับวิบากที่ดี

    ผู้ฟัง กรณีนี้จะนับเป็นโลภะด้วยหรือไม่

    อ.อรรณพ สลับกัน ความติดข้องนี่ต้องมี ถ้าไม่มีความติดข้องเป็นพื้นฐาน มัจฉริยะก็ไม่มี แต่ว่ามัจฉริยะนั้นไม่ได้เกิดร่วมกับโลภะ แต่เกิดร่วมกับโทสะ แต่เพราะว่ามีความติดข้องเป็นพื้นอยู่จึงมีความตระหนี่ในสิ่งที่ตัวเองติดข้อง

    อ.วิชัย เรียนถามท่านอาจารย์ ที่ท่านอรรถกถาได้กล่าวลักษณะของมัจฉริยะ และไม่ใช่มัจฉริยะ อย่างเช่น ท่านอรรถกถากล่าวว่า บุคคลที่ทุศีลไม่ให้เข้ามาอยู่ในอาวาสต่างๆ สิ่งนี้ก็ชื่อว่าไม่มัจฉริยะ อย่างนี้จะพิจารณาอย่างไร อย่างเช่น สมมติบ้านเรา เรารู้ว่าบุคคลนี้ไม่ดี ถ้าเข้ามาจะทำความเดือดร้อน แต่การเข้ามาก็ทำให้เราไม่พอใจ สิ่งนี้จะเป็นลักษณะของมัจฉริยะ และไม่มัจฉริยะคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องราวทั้งหมด เวลาที่สภาพธรรมเกิดขึ้นเราไม่รู้ เพราะว่าเราอาจจะคิดถึงชื่อว่า อย่างนี้เป็นอะไร จะเป็นลาภมัจฉริยะ หรือกุลมัจฉริยะหรืออะไรต่างๆ แต่ว่าตามความเป็นจริงสภาพธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยคำใด เรื่องราวใด แต่ก็ต้องรู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้นในขณะนั้นด้วย เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่าเรื่องของอกุศลที่เป็นโทสมูลจิตก็เป็นขณะที่แม้มีอาจจะวันหนึ่งบ่อย ก็ไม่ได้สังเกตเลย นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงเจตสิกอื่นซึ่งจะเกิดกับโทสมูลจิตได้ แต่ให้ทราบว่าอกุศลปกติมีมากเป็นประจำ ไม่รู้ เช่น โลภะเกิดกับความรู้สึกเฉยๆ จะรู้ได้อย่างไรในเมื่อตื่นขึ้นมาก็เป็นโลภะไปเรื่อย ตั้งแต่เริ่มตื่นนอนจนกระทั่งรับประทานอาหาร แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะมีลักษณะของโสมนัสเวทนาหรือลักษณะของอุเบกขาเวทนา แต่ถ้าเป็นอกุศลอีกประเภทหนึ่งซึ่งต่างกับโลภะ จะประกอบด้วยเวทนาที่พอจะรู้สึกได้ คือเปลี่ยนจากปกติซึ่งเคยไม่รู้ด้วยความเฉยๆ หรือว่าด้วยความโสมนัสพอสมควรที่เป็นชีวิตประจำวัน แต่มากลับกลายเป็นลักษณะของสภาพความรู้สึกอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นความไม่พอใจหรือเป็นความไม่สบายใจ วันหนึ่งๆ เราไม่ได้สังเกตเลย ถ้าความไม่สบายใจนั้นเล็กน้อยมากจากการแปรสภาพของความรู้สึกเฉยๆ มาเป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจแม้เพียงเล็กน้อย อย่างแม้ในขณะนี้มีความไม่สบายใจบ้างไหม แม้เพียงนิดเดียว ชั่วขณะเพียงเล็กน้อยอาจจะไม่ได้สังเกต เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นความทุกข์ใจอย่างใหญ่หลวงหรือความโทมนัส แต่ก็เพียงนิดเดียว มีบ้างไหมที่จะทำให้เกิดความรู้สึกขุ่นใจหรือว่าไม่สบายใจ แต่ก็ไม่ได้สังเกตถ้าลักษณะนั้นไม่มากพอก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของมัจฉริยะซึ่งเป็นอกุศลเจตสิกซึ่งเกิดกับโทสะ ไม่ได้เกิดกับโลภะ

    นี่เป็นสิ่งที่เราจะค่อยๆ เข้าใจเวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิด แต่ถ้าสภาพธรรมนั้นเกิดแล้วไม่รู้ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นอะไร ก็มีแต่เพียงชื่อที่กำลังค้นคว้าว่าขณะนั้นเป็นอะไร แต่ให้ทราบว่าถ้าเป็นเรื่องของมัจฉริยะก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น เป็นความตระหนี่ ความหวงแหน เพราะเหตุว่าทุกคนมีโลภะ แน่นอน มีความพอใจในสิ่งของๆ ตน แล้วแต่ว่าจะพอใจมาก ทะนุถนอมไม่ค่อยใช้หรือว่าจะใช้บ่อยๆ หรือว่าแม้แต่ใช้ก็ใช้ด้วยความระมัดระวังด้วยการะทะนุถนอมมากมาย นั่นก็เป็นเรื่องของความติดข้อง แต่ก็ยังไม่เกี่ยวกับมัจฉริยะเพราะเหตุว่ายังไม่มีบุคคลอื่น เพราะฉะนั้นเวลาที่รู้สึกหวง ในภาษาไทยธรรมดาถ้าจะเข้าใจความหมายของมัจฉริยะก็คือหวง หวงนี่รู้ใช่ไหม แต่พอพูดถึงมัจฉริยะก็เป็นคำอีกคำหนึ่งซึ่งลักษณะเป็นอย่างไร เกิดโทสมูลจิตเป็นเรื่องราวต่างๆ แต่วันหนึ่งๆ เราหวงอะไรบ้างหรือไม่หรือไม่หวงเลย อาหารอร่อย หวงไหม ให้ใครรับประทาน เรารับประทานด้วยโลภะ ลูกหลานมาก่อนแล้ว ก็แล้วแต่ว่าคนในบ้านระดับไหน นี่เป็นความหวงหรือไม่ แต่ว่าจริงๆ แล้วสำหรับผู้ที่เป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมมีความสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นก็จะเป็นผู้ที่ไม่มีอคติในการที่จะให้หรือไม่ให้ เช่น คำถามของคุณวิชัย ก็แสดงให้เห็นว่าก็มีความรู้สึกที่เป็นอกุศลมากมายหลายระดับโดยที่ไม่รู้เลยถ้าคิดถึงชื่อ แต่ถ้าคิดถึงความจริงว่าวันนี้หวงอะไรบ้างหรือไม่ ใครมาแตะมาต้องอะไรของเราบางสิ่งบางอย่างได้หรือไม่ หรือว่าบางอย่างก็จับได้ ใช้ได้ แต่บางอย่างก็หวง อย่างนี้ไม่ให้ใช้ตรงนี้ ต้องใช้ตรงนั้น ใช้บนบ้าน ใช้ในครัวไม่ได้ ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา แล้วแต่ว่าจะเป็นการที่มีความติดข้องด้วยความติดข้องหรือว่าด้วยความตระหนี่ ถ้าเวลาที่เกิดความตระหนี่ขึ้นให้ทราบว่าขณะนั้นต้องเป็นความรู้สึกไม่สบายใจ แต่ถ้าไม่เป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจ เป็นแต่เพียงความติดข้อง ขณะนั้นก็ยังไม่ใช่ตระหนี่ เป็นแต่การรักของ การทะนุถนอมของด้วยความติดที่อยากจะให้สิ่งนั้นไม่เสียหาย

    เพราะฉะนั้นถ้ามีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เราก็จะเข้าใจลักษณะของความหวงหรือความตระหนี่ เพราะว่าจะตระหนี่กับผู้ไม่เป็นที่รักเท่านั้น ถ้าผู้เป็นที่รักจะตระหนี่บ้างไหม มีอะไรก็ให้หมด ถึงแม้ว่าจะเป็นของที่รักมากก็ให้ได้ นี่คือขณะนั้น กับบุคคลซึ่งเป็นที่รักจะไม่เป็นปัจจัยให้เกิดความตระหนี่ แต่ถ้าเกิดความหวงบุคคลใดก็ควรจะได้พิจารณาว่าขณะนั้นมีเมตตาในบุคคลนั้นหรือไม่หรือว่าเพื่อประโยชน์ เช่น คำถามของคุณวิชัยที่ว่า บ้านเรือนถ้าเขามาอยู่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่างๆ กับคนในบ้าน หรือความเดือดร้อนต่างๆ กับคนในบ้าน เราคิดเพื่อป้องกันเพื่อไม่ให้อกุศลจิตเกิดด้วยความถูกต้องหรือว่าเราก็ได้ยินคำนี้ก็เลยกลัว เดี๋ยวจะกลายเป็นตระหนี่ก็ยอมๆ ไปหมดไม่ว่าใคร อย่างนั้นก็ไม่ได้ ต้องเป็นความถูกต้อง ต้องเป็นคนที่มีเหตุผล และเข้าใจลักษณะของสภาพจิตในขณะนั้นด้วย ว่าสภาพจิตในขณะนั้นเป็นอะไร

    อ.ธิดารัตน์ หมายความว่า ที่ท่านแสดงว่า อย่างนี้เป็นมัจฉริยะ หรือถ้าไม่ใช่มัจฉริยะ หมายถึงว่าเป็นการพิจารณาโดยความถูกต้อง รู้เหตุ รู้ผล

    ท่านอาจารย์ ใครจะอยากให้มีความทุกข์เกิดขึ้น ก็แสดงว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่ไม่มีปัญญา ไม่รู้จักว่าการที่จะไม่ให้ทุกข์นั้นเกิดขึ้นคืออย่างไร เพราะว่าพระพุทธศานาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ทั้งหมดเพื่อประโยชน์ เพื่อความรู้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามความรู้ ถ้าไม่มีความรู้แม้แต่เราคิดว่าสิ่งนั้นดี แต่เราก็ยังไม่เข้าใจว่าดีอย่างไร เช่น ศีล บางคนก็บอกว่าดี แต่ว่าดีอย่างไร ก่อนที่จะได้ฟังธรรมหลายคนก็คงจะฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อย ตบยุง บางคนก็อาจจะทำหลายๆ อย่าง แต่ถ้าจะคิดว่าเราจะงดเว้นไม่ทำโดยความไม่รู้ จะมั่นคงไหม จะสำเร็จตลอดไปหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับระดับของความรู้ ถ้าเราไม่รู้อะไรเลย แต่เขาบอกให้รักษาศีล เราก็ไม่ฆ่าก็ดี ก็ยอมที่จะคิดอย่างนั้น หรือพูดอย่างนั้น ตามอย่างนั้น แต่ว่าสามารถที่จะระงับเวลาที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเผชิญหน้าหรือไม่ นี่ก็แสดงว่าทั้งหมดต้องด้วยปัญญาหรือความเห็นที่ถูกต้อง แต่ถ้าได้ฟังธรรมแล้วคนที่เคยตบยุงฆ่าสัตว์ก็มีการละเว้นจากการฟัง และก็มีความเข้าใจถูกว่าทุกคนทุกชีวิต ทุกสัตว์ก็รักชีวิต ไม่มีใครต้องการแม้เพียงเจ็บ ไม่ต้องถึงตาย เพียงแค่เจ็บก็ไม่อยากจะเจ็บแล้ว แต่ถ้าจะถึงกับสิ้นชีวิต สิ่งนี้ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเป็นการกระทำใดๆ ที่จะทำให้บุคคลถึงกับสิ้นชีวิต ความรู้สึกของคนนั้นจะเป็นอย่างไร ของวงศาคณาญาติ เพื่องฝูงจะเป็นอย่างไร ก็จะทำให้เขามีความมั่นคง ถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติถือเอา ที่ภาษาบาลีใช้คำว่า “สมาทาน” เพื่อที่จะได้ประพฤติตามด้วยความเข้าใจ ด้วยศรัทธา ด้วยโสภณธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปด้วยการปรุงแต่งจากความเข้าใจในขณะนั้นๆ ก็เป็นศีลมยญาณคือศีลซึ่งสำเร็จเพราะปัญญา เพราะความเห็นถูก เพราะความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้นทุกอย่างไม่ใช่เพียงแต่ฟังเรื่องราว หรือฟังชื่อ แต่ว่าไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรมาอย่างไร และมีความหมายว่าอย่างไร

    อ.ธิดารัตน์ อย่างที่ท่านยกตัวอย่างมา กิริยาอาการหรือว่าการกระทำภายนอกอาจจะเหมือนกัน แต่สภาพจิตต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ใช่

    อ.ธิดารัตน์ เพราะฉะนั้นอย่างที่ว่าท่านอาจจะบอกว่าการที่ไม่ให้คนอื่นที่ไม่เหมาะสมเข้ามาร่วมตระกูล หรือเข้ามาอยู่ในบ้านเรา ก็หมายถึงว่าไม่ใช่ลักษณะของโทสะซึ่งประกอบด้วยมัจฉริยะ ขณะนั้นพิจารณาว่าเป็นประโยชน์ เป็นโทษอย่างไร ก็คือเป็นสภาพจิตอีกประเภทหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ หรือแม้แต่ในธรรม ผู้ที่จะรักษาธรรมก็ต้องรู้บุคคลที่จะรักษาธรรมด้วยว่าคนนั้นเป็นพาลหรือเป็นบัณฑิต เพื่ออะไร เพื่อประโยชน์ตน หรือเพื่อจะให้บุคคลอื่นได้เข้าใจความจริงของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก็ไม่ใช่ตระหนี่ ตามที่คุณธิดารัตน์พูดว่าเขาเป็นคนไม่ดี เราก็ไม่อยากจะให้มาอยู่ในตระกูลเราก็ด้วยเหตุด้วยผล

    อ.ธิดารัตน์ ถูกต้อง เพราะตัวอย่างนี้ท่านแสดงว่าคล้ายกันกับการตระหนี่ตระกูล แต่ถ้าพิจารณาอย่างถูกต้องอย่างเช่นคนไม่ดี ถึงแม้จะมีอาการเหมือนกันแต่ไม่ใช่กุลมัจฉริยะ

    ผู้ฟัง นั้นก็เป็นเรื่องสามัญธรรมดา แต่ถ้าคนไม่ดี จะมาขอลูกสาว ใครจะให้ ก็ไม่ให้ แต่ถ้าเขาเป็นคนดี แต่ไม่ดีเท่าที่เขาวางเพดานไว้ อย่างนั้นตระหนี่ชัดเจน

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องของขณะจิต ถึงเป็นคนดีแต่ไม่ชอบก็มีอีก ก็เป็นเรื่องซับซ้อน แต่ก็เป็นความจริงที่ขณะนั้นเป็นจิตประเภทใด เป็นอกุศลจิตหรือเป็นกุศลจิต แล้วว่าเป็นอกุศลจิต ถ้าเป็นโทสะ ขณะนั้นก็สามารถที่จะมีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วยคืออิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ

    ผู้ฟัง ต้องกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่เมื่อสักครู่นี้ให้รู้ว่า ความติดข้องกับหวง เพราะว่าเรามีโลภะ เราจึงมีโทสะ เมื่อมีความติดข้องจึงตระหนี่ ถ้าเราไม่ติดข้อง ไม่เป็นที่รัก เราก็ไม่หวง เราก็ไม่มีตระหนี่

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ลึกไปถึงว่าหวงเพราะยังมีความเป็นเรา ด้วยเหตุนี้พระอริยบุคคล พระโสดาบันไม่มีมัจฉริยเจตสิก

    ผู้ถามในขณะซึ่งเราหวง เราติดข้อง สักกายทิฏฐิก็ประกอบด้วยพร้อมกันไปหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเหตุที่เราต้องเรียนลักษณะของจิตทีละหนึ่งประเภท ปะปนกันไม่ได้เลย สิ่งนี้ก็ตอบได้แล้วใช่ไหมเมื่อกล่าวถึงหนึ่งขณะจิต

    อ.ธิดารัตน์ ข้อความที่อธิบายมัจฉริยะจะมีอธิบายว่าเป็นผู้หวงแหนด้วย บุคคลชื่อว่า วิจิโฉ แปลว่าผู้หวงแหน อรรถว่าปรารถนาสมบัติทั้งหมดของตนไม่ให้เสื่อมสูญไป ด้วยความคิดว่าสมบัติทั้งปวงจงมีแก่เราเท่านั้น อย่ามีแก่คนอื่นดังนี้ชื่อว่าภาวะของผู้หวงแหน และท่านก็แสดงว่าหวงแหนอย่างนี้เป็นความตระหนี่อย่างอ่อน ไม่ต้องการให้เป็นของคนอื่น และไม่ต้องการให้เสื่อมสูญไป เสียไป ก็อาจจะเหมือนกับแม้กระทั่งของๆ เราๆ ก็ไม่อยากใช้

    ท่านอาจารย์ ถ้าหวงโดยมาก เราก็จะใช้กับคนอื่น ที่นี่ก็มีคำว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะอ่านพระไตรปิฎกอย่าติดที่พยัญชนะ ต้องแปลให้ชัดเจน ถ้าข้อความที่ปรากฏที่แปลแล้วยังไม่ชัดเจนก็ขอให้ผู้ที่มีความรู้ภาษาบาลีแปลอีกให้เป็นความชัดเจน เพื่อที่จะได้รู้ว่าโลภะเป็นความติดข้อง ไม่ต้องการให้สูญไปเพราะใคร ลูกหลานให้ได้ไหม แต่บางคนก็อาจจะลูกหลานยังไม่ให้ ก็หวงมาก เพราะมีโลภะติดข้องในสิ่งนั้นมาก แต่ว่ามีโลภะติดข้องเราใช้ภาษาอะไร ภาษาไทยเราจะให้คำนี้ว่า “หวง” แต่ว่าความจริงเป็นลักษณะของโลภะหรือไม่ เพราะเหตุว่าของที่เรามี เราไม่ค่อยใช้เพราะว่าเราติดสิ่งนั้น ไม่อยากให้สิ่งนั้นเสียไป เสื่อมไปได้ แต่เวลาที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นจะมีเจตสิกอีกประเภทหนึ่งเกิดขึ้นซึ่งต่างออกไป ไม่ต้องการให้สิ่งนั้นเป็นสาธารณะหรือร่วมเป็นของบุคคลอื่นด้วย เรามีสมบัติยังไม่ให้ใคร หวงหรือไม่ หรือเป็นโลภะที่ติดข้องในสมบัตินั้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567