พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 148


    ตอนที่ ๑๔๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสติไม่ต้องคิดเลยว่ามีลักษณะที่กำลังรู้ตรงลักษณะสิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นเป็นความคิด แต่ทันทีที่มีสิ่งที่ปรากฏ และรู้ตรงนั้นยังไม่ได้ไปตรงอื่น นั่นคือลักษณะของสติสัมปชัญญะ แต่ความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นน้อยมาก ในขั้นต้นก็จะรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏ รู้ลักษณะที่กำลังรู้ตรงลักษณะนั้นซึ่งความจริงก็คือสตินั่นเอง ไม่ต้องใช้ชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ก็จะรู้ความต่างกันว่า ปกติวันหนึ่งๆ แม้เห็นก็ไม่เคยรู้ตรงนั้น แม้สั้นนิดเดียวก็รู้ตรงนั้น ตรงสิ่งที่ปรากฏ ถ้าเพียงตรงสิ่งที่กำลังปรากฏบ่อยๆ ก็จะรู้ว่าความไม่ใส่ใจในนิมิตอนุพยัญชนะนั้นคืออย่างไร ก็คือขณะที่กำลังรู้ตรงสั้นๆ นั่นก็คือขณะที่ยังไม่ได้ใส่ใจในนิมิตอนุพยัญชนะ แต่ทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟังจะให้เกิดกับเราทันทีอย่างที่ต้องการเป็นไปไม่ได้ ฟังค่อยๆ เข้าใจ และสังขารขันธ์คือความเข้าใจในขั้นต้น ก็จะอบรมเจริญขึ้นไม่มากเลยสำหรับในขั้นต้นจนกว่าจะถึงความเป็นผู้ที่ชำนาญ ก็ยังไม่มากจนกว่าจะเป็นการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมซึ่งได้ผ่านปัญญาที่รู้ชัดที่เป็นวิปัสสนาญาณตามลำดับขั้นจริงๆ ต้องฟังด้วยความละเอียด ด้วยความแยบคาย ด้วยการละ ไม่ใช่ฟังแล้วอยากจะให้เป็นอย่างนั้น นั่นคือปิดกั้นทันที โลภะไม่ทิ้ง ทันที มาได้หมดเป็นอาสวะ แล้วแต่ว่าจะเป็นอวิชชาสวะ กามาสวะ ทิฏฐาสวะ จะไหลไปได้ตลอด เพราะฉะนั้นผู้นั้นเป็นผู้ที่รู้ด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่เรามักจะพอใจที่จะได้ยินได้ฟังคำบอกเล่า แต่จริงๆ ปัญญาที่เกิดจากการฟังคำบอกเล่า ไม่เหมือนกับการไตร่ตรองของเราเอง ถ้าถามว่าขณะนี้อะไรจริง เราตอบเอง ใช่ไหม นั่นคือปัญญาของเรา ถ้ามีคนบอก ก็ยังคงเป็นปัญญาของคนที่พูดอยู่ ยังคิดตามเรื่องราวอยู่ แล้วถ้าไม่รู้ ไม่รู้อะไร ต่อไปนี้คงไม่มีใครต้องมาบอก ก็ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงนั้น ไม่ต้องไปหาอวิชชาที่ไหน

    ผู้ฟัง ขณะเราคิดนึก ก็เป็นลักษณะที่คิดนึก ไม่ใช่ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ คือลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม จากความเข้าใจสิ่งที่เราฟังมาก็ทำให้เราคิดนึก เพราะฉะนั้นเราคงเลี่ยงการคิดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครให้เลี่ยง ทุกอย่างให้รู้ตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ส่วนใหญ่จะมีตัวตนที่ไม่อยากให้คิดบ้าง อยากทำอย่างโน้นบ้าง อยากทำอย่างนี้บ้าง ไม่เห็นโลภะ ๘ ประเภทที่เรากล่าวถึงเลย ทั้งๆ ที่เราก็กล่าวมาตั้งนาน เป็นความติดข้องประกอบด้วยความเป็นผิด ไม่ใช่หนทางก็เข้าใจว่านั่นเป็นหนทาง

    ผู้ฟัง จากการศึกษาธรรม ถ้าเราจะศึกษาให้รู้เร็วๆ หรือเข้าใจเร็วๆ คงเป็นไปไม่ได้ ถ้าหากเรามีความมั่นคงในการศึกษาก็รู้ว่านี่เป็นหนทางที่ถูก การศึกษาเพื่อที่จะละแล้ว รู้สึกจะสบายกว่า

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นจะไม่รู้ว่าพ้นจากโลภะมาระดับหนึ่ง คือไม่ใช่ให้เราต้องไปทำสิ่งซึ่งไม่ใช่หนทางแล้วก็เดือดร้อนใจด้วย แล้วก็เป็นทุกข์ด้วย เพราะว่าอย่างไรก็ไม่สมหวังแน่ โลภะจะทำให้เกิดปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเป็นไปไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าจากการฟังแล้ว ทำให้เราเข้าใจว่าถ้าเราฟังแล้วเรามีความมุ่งหวังที่จะรู้อะไรเร็วๆ เป็นไปไม่ได้ และเป็นเรื่องยาก

    ท่านอาจารย์ เป็นเครื่องกั้นทันที

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นการฟังเหมือนจับด้ามมีดจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ตรงตามที่ทรงแสดงทุกอย่าง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าจะให้รู้เร็วๆ คงเป็นไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นไปได้ทุกคนก็รู้เร็วหมดใช่ไหม ใครจะอยากรู้ช้า

    ผู้ฟัง จากการตอบคำถามตรงนี้ก็ทราบได้ว่าความเข้าใจหรือสภาพรู้ เป็นธาตุรู้อย่างเดียวกัน เพียงแต่ว่าความเข้าใจนั้นเป็นเรื่องของความเข้าใจเรื่องที่รู้ การเจริญของปัญญาคือความเข้าใจนั้น

    ท่านอาจารย์ ความเข้าใจไม่ใช่ความไม่เข้าใจ ความรู้ไม่ใช่ความไม่รู้ ทั้งหมดเป็นนามธรรมต่างชนิด

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นก็เป็นนามธรรมทั้งสิ้น

    ท่านอาจารย์ เป็นธาตุรู้ สภาพรู้ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่า “สภาพรู้” กว้างๆ หมายความว่าสามารถจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ แต่ความรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏให้รู้หลากหลาย เช่น กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาคือเห็น ธาตุรู้นี้สามารถเห็น และกำลังเห็น นั่นก็เป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่งซึ่งเห็น ธาตุรู้อีกชนิดหนึ่งเห็นไม่ได้ ไม่เห็นอะไร แต่สามารถได้ยินเสียง ที่ใช้คำว่า “ได้ยิน” คือสามารถรู้ลักษณะของเสียง ได้ยินลักษณะของเสียงซึ่งหลากหลาย แล้วแต่ว่าเสียงนั้นจะเป็นอย่างไร สภาพรู้ก็สามารถที่จะรู้แจ่มแจ้งชัดเจนในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏให้รู้นั่นคือสภาพรู้ โดยศัพท์จะใช้คำว่า “จิตตะ” หรือ “จิตตัง” ก็แล้วแต่ ในภาษาบาลีหมายความถึงเป็นธาตุรู้ สภาพรู้ ซึ่งรวมถึงคำอื่นด้วย เช่นวิญญาณ ก็เป็นสภาพรู้ด้วย แต่ถ้าเป็นสภาพที่เข้าใจถูก เห็นถูก เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่รูป รูปนั้นเห็นถูกไม่ได้ เข้าใจถูกไม่ได้ แต่สภาพรู้หรือธาตุรู้นั้นไม่ใช่ธาตุเห็น ไม่ใช่ธาตุได้ยิน แต่เป็นปัญญา สภาพที่สามารถเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นขั้นแรกที่สุดก็คือรู้ความต่างของสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้อย่างหนึ่ง และสภาพที่เป็นสภาพรู้อีกอย่างหนึ่ง จึงจะรู้ว่าไม่มีเราเลย และสภาพรู้นี่ก็หลากหลายมาก

    ผู้ฟัง ความต่างของการรู้ที่รู้รูปธรรมกับนามธรรม ใครเป็นคนบอกให้เจ้าตัวคนนั้นที่เกิดสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าไม่สามารถจะรู้ได้ ต้องมีใครบอกหรืออย่างไร

    ผู้ฟัง มีสภาพธรรมมาบอก คือไม่ต้องเป็นคนเป็นอะไรก็แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็น ไม่ต้องมีใครบอก เพราะว่าลักษณะของสภาพเห็น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ มีสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งทุกคนฟังพิจารณาคล้อยตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ได้ว่ากำลังเห็น แม้เราเองก็ไม่ได้บอก คนอื่นจะบอกก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพนี้เกิดขึ้นเห็นแล้ว เปลี่ยนไม่ได้ ขณะที่เห็นแล้วจะเปลี่ยนให้เป็นอื่นไม่ได้ จะเปลี่ยนให้เป็นบอกก็ไม่ได้ เห็นคือเห็น กำลังเห็นแล้วด้วย แต่ตามความเป็นจริงพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงไว้ว่าสภาพที่เห็นเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นความรู้มีหลายขั้น ขั้นที่จะรู้ว่ากำลังเห็นไม่ต้องมีใครบอกเลย บอกก็ไม่ได้ บอกตัวเองก็ไม่ได้ คนอื่นบอกก็ไม่ได้เพราะธาตุนี้กำลังเห็น จะไปบอกอะไร ใช่ไหม กำลังเห็น

    ผู้ฟัง คิดนึกบอก

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้คิด จะไปคิดนึกทำไมในเมื่อเห็นกำลังเห็นขณะนี้ บอกไม่ได้ด้วยกำลังเห็นจะบอกไม่ได้ ถ้าเป็นกำลังเห็นจริงๆ บอกไม่ได้ เพราะกำลังเห็นใช่ไหม แต่เมื่อเห็นแล้วดับแล้วคิดนึกได้เพราะว่าเห็นดับไปแล้ว แต่ขณะที่ยังเห็นอยู่ และกำลังเห็นบอกไม่ได้ เพราะว่ากำลังเห็น

    ผู้ฟัง ขณะที่กำลังเห็นเร็วเหลือเกิน ก็เลยอยากจะให้มีใครมาบอก ความคิดของผมแรกๆ เป็นอย่างนั้น และไม่ใช่หมายความอย่างนั้น ความเข้าใจถึงขั้นที่จะทราบได้ว่าในช่วงความเร็วขณะนั้น ความเข้าใจจะบอกได้ว่านี่นามนะ นี่รูปนะ นั้นต้องเป็นระดับไหนจึงจะบอกได้

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าปกติเราคิดเสมอ พอเห็นแล้วก็คิด ได้ยินแล้วก็คิด อะไรผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กายก็คิด ไม่มีอะไรผ่านมาเลยก็ยังคิด เพราะฉะนั้นคิดตลอดเวลา ถ้าจะกล่าวอย่างหยาบๆ ว่า คิดเสมอ เพราะฉะนั้นเวลาที่กำลังฟังก็มีเห็น และก็มีได้ยิน และก็มีคิด แต่ละขณะเป็นสภาพธรรมที่จะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นี่คือปรมัตถธรรม กำลังเห็น ชั่วขณะที่กำลังเห็นคิดไม่ได้ กำลังได้ยินมีเสียงปรากฏ กำลังได้ยินอยู่คิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีเห็น ไม่มีได้ยินแล้ว ไม่มีอะไรแล้วทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็คิด ห้ามไม่ให้คิดก็ไม่ได้ และก็ไม่เคยรู้เลยว่าคิด คิดระดับไหน ไม่ได้คิดเป็นคำก็คิดแล้ว ยังไม่เป็นเรื่อง แต่ก็คิดแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าความคิดมีหลายระดับ

    ผู้ฟัง คือความเข้าใจตรงนี้เห็นได้ชัดว่าเราต้องเรียนอภิธรรม ก็คือเรื่องของสภาพที่เห็น เมื่อสภาพที่เห็นเกิดก็จะมีสภาพรู้อื่นอีก

    ท่านอาจารย์ นั่นก็ไม่ใช่เพียงชื่อ นั่นก็ต้องเข้าใจอย่างที่ถามด้วย คือขณะที่กำลังเห็นไม่ใช่ขณะที่กำลังคิด ไม่ใช่ขณะที่กำลังได้ยิน

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจได้ว่าขณะที่กำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รสต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น ก็ไม่มีโอกาสที่จะทราบได้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม นอกจากว่าสภาพจิตอื่นที่เกิดขึ้นหลังจากสภาพเห็นนั้น หรือสภาพได้ยิน หรือรู้นั้นดับไป

    ท่านอาจารย์ แต่ยังปรากฏเพราะการสืบต่อ

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน สภาพรู้เรารู้ไม่ได้แน่นอน

    ท่านอาจารย์ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่รู้ตรงลักษณะนั้น ไม่สามารถจะรู้ได้เพราะสิ่งนั้นเกิดแล้วดับหมดไปแล้ว

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน เช่นความคิดนึก เราก็สามารถจะรู้ได้ว่าขณะนี้ก็เป็นความคิดนึก

    ท่านอาจารย์ ความคิดนึกต้องเป็นสภาพหรือธาตุที่คิด ไม่ใช่ชื่อว่าเป็นความคิดนึก เพราะทั้งหมดเป็นชื่อหมดที่เราชิน เราชินกับชื่อแต่ไม่ชินกับลักษณะแต่ละลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ ในชีวิตประจำวันเราพอที่จะสังเกตทราบได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เข้าใจสิ่งที่มีที่ปรากฏให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ขณะนี้เห็น

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจขั้นฟัง จนกว่าสติสัมปชัญญะเกิด เพราะฉะนั้นสติสัมปชัญญะ ถ้าใครไม่เข้าใจเกิดไม่ได้ ไม่ใช่สติสัมปชัญญะแน่นอน

    ผู้ฟัง สิ่งที่จิตรู้ก็จะต้องมีทั้งรูปธรรม และนามธรรม

    ท่านอาจารย์ จิตรู้ได้ทุกอย่าง

    ผู้ฟัง แต่ในขั้นต้น ถ้าเป็นความรู้โดยตามลำดับก็คือต้องรู้รูป

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้โดยลักษณะของสติต่างกับขณะที่หลงลืมสติ นี่คือขั้นที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม มิฉะนั้นก็เป็นเรื่องราวกับความคิดนึกเรื่องสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ขณะที่สติเกิดก็มีหลายขั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นสติสัมปชัญญะมีลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏไม่ต่างกับปกติเลย เพราะทางมโนทวารนี่ตามทันที

    ผู้ฟัง สติสัมปชัญญะเกิด และระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏต้องเป็นปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าเกิดดับถ้าไม่ใช่ปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง ถ้ารู้อื่นก็ไม่ใช่สติสัมปชัญญะใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เช่น รู้อะไร

    ผู้ฟัง เช่นรู้ความคิดนึกที่เป็นเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ รู้ความคิดนึก อย่างนั้นก็คือเรื่องความคิดนึก แต่ถ้าสติสัมปชัญญะต้องมีลักษณะปรมัตถธรรม ลักษณะจริงๆ อย่างธาตุรู้จะต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้นในสภาพที่ไม่มีอะไรเจือปนเลยทั้งสิ้น มืดสนิท

    ผู้ฟัง แล้วที่อาจารย์กล่าวว่าสติเกิดกับหลงลืมสติ ตัวสติที่เกิดจะต้องเป็นสติสัมปชัญญะเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ กล่าวถึงสติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน เวลาที่เราพูดถึงเรื่องการที่จะรู้สภาพธรรม เราจะไม่พูดเรื่องสติขั้นทาน สติขั้นศีล สติขั้นสมถะ

    ผู้ฟัง แต่ในสติที่เราพูดๆ กันในชีวิตประจำวันนี่ก็คือลักษณะของวิตกเจตสิก

    ท่านอาจารย์ สติเจตสิก ไม่ใช่วิตกเจตสิก เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท วิตกเจตสิกจะเป็นสติเจตสิกไม่ได้ หรือวิตกเจตสิกจะเป็นปัญญาเจตสิกก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง สติกับสติสัมปชัญญะต่างกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ต่างกันตรงที่ว่าสติเป็นโสภณเจตสิก เป็นเจตสิกฝ่ายดีเกิดกับโสภณจิตทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นกุศล เป็นวิบาก เป็นกิริยา ทุกภูมิไม่ว่าจะเป็นในกามาวจรภูมิ โลกาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิหรือโลกุตตรภูมิ สติเป็นโสภณเจตสิกที่เกิดกับโสภณจิตทุกประเภท แต่เวลาที่วันหนึ่งๆ กุศลจิตเกิดเป็นไปในทานต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๑๙ ประเภท แต่ขณะนั้นไม่ใช่การรู้ตรงลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่การรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่สติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นก็แยกระดับของสติ เวลากล่าวถึงคำว่า “มีสติ” กับ “หลงลืมสติ” ในสติปัฏฐานก็คือหมายความถึงสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ในขณะที่คิดนึกเรื่องสภาพธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นสมมติบัญญัติด้วยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ก็คิดเรื่องราวของจิต เจตสิก รูป

    ผู้ฟัง สรุปแล้วคิดเรื่องราวก็เป็นสมมติบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ เรื่องราวเป็นสมมติบัญญัติทั้งหมด จิตเป็นสภาพคิด เป็นปรมัตถ์ ขณะใดก็ตามที่เป็นเรื่องราว ขณะนั้นเพราะจิตคิด ถ้าจิตไม่คิดเรื่องนั้นๆ ไม่มี

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็จะต้องมีจิตที่คิดถึงเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เมื่อจิตที่คิดถึงเรื่องราวนั้นดับไปแล้ว สภาพธรรมใหม่เกิดขึ้นก็รู้ถึงเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่จะคิดยาวแค่ไหน

    ผู้ฟัง แต่เป็นได้ไหมว่าถ้าจิตคิดๆ นั้นดับแล้ว แทนที่จะคิดถึงเรื่องราวที่เป็นสมมติบัญญัติ ก็คิดถึงเรื่องซึ่งเป็นปรมัตถธรรมที่กำลังคิด

    ท่านอาจารย์ คิดทุกอย่างแต่ก็ยังคงเป็นคิด เป็นไปได้ไหมว่าแม้กำลังได้ยินก็คิดเรื่องอื่น แทนที่จะคิดเรื่องที่กำลังได้ยิน

    ผุ้ถาม เป็นไปได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแทนที่ได้ยินแล้วจะคิดถึงเรื่องอื่น ก็รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เหมือนกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ถ้าไม่ค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่กำลังเห็นก็เป็นเรื่องราวทั้งวัน ทุกทวาร ถ้าเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานก็จะรู้ว่าขณะใดที่ไม่รู้ตรงลักษณะ ขณะนั้นก็หลงลืมสติ

    ผู้ฟัง แล้วถ้าหากว่าสติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานเกิดขึ้น ก็จะเป็นอาการอย่างที่ท่านอาจารย์ว่าคือใส่ใจในลักษณะของรูปธรรม และนามธรรมที่กำลังปรากฏก่อนที่จะคิด

    ท่านอาจารย์ เป็นปกติ แต่รู้ตรงลักษณะที่เป็นปรมัตถ์

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็ขอทำความเข้าใจเรื่องสติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานว่ามีลักษณะอย่างไร เพื่อจะได้เข้าใจลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อสติปัฏฐานเกิด ก็จะได้รู้ว่า สิ่งนี้เองซึ่งเป็นลักษณะของสติปัฏฐานที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ คือรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ

    ผู้ฟัง ถ้ายังไม่มีความเข้าใจในระดับนี้หรือยังไม่มีความเข้าใจลักษณะของสติปัฏฐานที่กำลังเกิดกำลังปรากฏ ก็จะไม่มีโอกาสทราบเลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีความเข้าใจ ก็ไม่มีทางที่สติปัฏฐานจะเกิด

    ผู้ฟัง กระผมต้องรู้ตัวเองว่าในขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิดเพราะไม่มีความเข้าใจในเรื่องของสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่มีปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิด แต่สติปัฏฐานเกิดเมื่อไรก็รู้ ถ้าไม่มีปัจจัย ไม่มีความเข้าใจ สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่าแม้กระทั่งเด็กๆ ก็รู้กำลังโกรธ กำลังโลภ กำลังหลง

    ท่านอาจารย์ กำลังเสียใจ กำลังคิดนึก

    ผู้ฟัง แต่จะต่างกับในขณะที่สติรู้ลักษณะของความโกรธ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ทั้งนั้น หลงลืมสติต่างกับขณะที่สติเกิด

    ผู้ถามท่านอาจารย์บรรยาย ฟังดูแล้วเหมือนผมจะเข้าใจเพราะว่าพูดภาษาไทย ผมก็รู้ความหมายก็คิดว่าตัวเองเข้าใจ แท้ที่จริงก็ยังไม่เข้าใจลักษณะของสติปัฏฐานหรือสติสัมปชัญญะ

    ท่านอาจารย์ ละเอียดขึ้น เมื่อเกิดแล้วก็ละ ไม่ใช่อยากจะให้มีมากๆ นั่นก็คือโลภะก็เข้ามาอีกเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง เวลาสภาพของอกุศลจิตเกิด ส่วนใหญ่ก็จะเป็นความคิดนึก เราจะต้องคิดนึกหรือจำแนกลักษณะของอกุศลไหมว่าเป็นประเภทไหน

    ท่านอาจารย์ ไม่มีกฏเกณฑ์ แล้วแต่ความคิด จะคิดอย่างไรก็บังคับบัญชาไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่ก็ให้ระลึกว่าสิ่งนั้นก็เป็นสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ว่าจะเข้าใจสภาพธรรมนั้นระดับไหน

    ผู้ฟัง แต่ก็ไม่ใช่ลักษณะของสติที่ระลึกรู้สภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะที่เป็นสติปัฏฐาน สติปัฏฐานจึงจะเกิดได้

    ผู้ฟัง ถ้าสติระลึกรู้สภาพธรรมของโทสะ ก็ต้องรู้ลักษณะของโทสะ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้าใช้คำว่า “โทสะ” โทสะ ก็ต้องเป็นโทสะโดยลักษณะเป็นโทสะ ไม่ใช่ไปคิดนึกว่าเป็นโทสะ

    ผู้ฟัง และก็ไม่ใช่ไปคิดนึกเป็นเรื่องราวของความโกรธ

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของโทสะ

    อ.วิชัย ถ้ามีเสื้อผ้าที่เราชอบ เราอาจจะยินดีพอใจ แล้วถ้าเสื้อผ้านั้นมีส่วนที่เป็นตำหนิขึ้นมา เราก็ไม่ยินดีพอใจในส่วนที่เป็นตำหนินั้น ตอนแรกที่ยังไม่เห็นรอยตำหนิ ก็จะเห็นแต่ความยินดีพอใจในเสื้อนั้น แต่เมื่อมีตำหนิขึ้นมา ก็เห็นถึงความรู้สึกไม่พอใจ ก็เป็นลักษณะที่ต่างกันกับขณะที่ยินดีพอใจติดข้องในเสื้อตัวนั้น แต่เมื่อเจอตำหนิก็ขุ่นเคืองใจ คือไม่ชอบใจในส่วนที่เป็นตำหนินั้น สิ่งนี้คือเห็นความต่างกันระหว่างความพอใจกับส่วนที่ไม่พอใจ

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจว่าข้อไหนของศีลจึงทำให้คลายความหวาดกลัว

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณบุษบงรำไพไม่ได้ทำผิด จะกลัวไหมว่าคนอื่นจะจับคุณบุษบงรำไพไปลงโทษ ถ้าทำก็คืออดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    ผู้ฟัง เพราะไม่ได้ทำผิด ไม่มีความผิดก็จะไม่มีความหวาดกลัว

    ท่านอาจารย์ ไม่หวั่นไหว ไม่ตกใจ ไม่กลัวเพราะไม่ได้ทำความผิด

    ผู้ฟัง ถ้าในกรณีที่หวาดกลัวตึกทับลงมา นั้นไม่ใช่ว่าทำผิดอะไร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ว่าศีลระดับไหนในขณะนั้น ถ้าเป็นสติสัมปชัญญะ เป็นอินทริยสังวรศีล ขณะนั้นไม่มีแม้แต่เรื่องราวของภัยพิบัติที่เราได้ยินได้ฟังแล้วก็เกิดโทมนัส เกิดโทสะขึ้น แต่ขณะนั้นถ้าสติสัมปชัญญะเกิด ไม่มีเลย เพราะว่ามีเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็รู้ว่าสิ่งที่เป็นเพียงความคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ที่ทำให้เกิดทุกข์ต่างๆ เพราะไม่มีในขณะนั้น

    ผู้ฟัง เข้าใจค่ะ ตรงนี้ก็ต้องมาลงถึงตรงที่เป็นสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ระดับขั้น

    ผู้ฟัง สิ่งนี้จะนับว่าเป็นเศษของกรรมอีกได้ไหม คือว่าถ้าเผื่อเราหลบรถแล้วรถไม่ชนคือมีความไม่ประมาท หลบรถได้ก็แสดงว่ากรรมหมดไปแล้ว ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คุณวิจิตรต้องแยกเรื่องคิดซึ่งเป็นกุศลจิต และอกุศลจิต กับวิบากซึ่งเป็นผลของกรรม ปนกันไม่ได้ คุณวิจิตรจะคิดอย่างไรก็ตามขณะนั้นไม่ใช่วิบากจิต แต่เป็นจิตที่คิดตามการสะสม ถ้าเกิดจะคิดว่าเป็นวิบากก็ไม่ต้องหนี ก็ไปเปลี่ยนแปลงความคิดไม่ได้เพราะว่าเกิดคิดอย่างนั้น แต่ในขณะที่กำลังคิด คุณวิจิตรจะมีวิบากทางกายได้ไหม กระทบลมบ้าง หรือรองเท้าขณะนั้นกระทบพื้นบ้าง ขณะนั้นเป็นวิบาก เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปพูดถึงวิบากซึ่งเราคาดคะเนหรือคิดว่าจะเกิด สิ่งใดก็ตาม เกิดแล้ว ลักษณะนั้นใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ จะไม่ให้เกิด เช่น ขณะที่กำลังคิดอย่างนั้น ยังไม่ต้องถึงรถชน แต่ในกายของคุณวิจิตรเองก็อาจจะมีวิบากอะไรที่ทำให้สิ้นชีวิตก็ได้ หายใจไม่ออกขึ้นมาเฉยๆ ก็ได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567