พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 164


    ตอนที่ ๑๖๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ แต่เราจะมาเจาะจงรู้ว่า แล้วขณะนี้เป็น"ปฏิฆะ" หรือโทสะ หรือเป็น"พยาปาท" ใครสามารถที่จะบอกได้ในเมื่อลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น แล้วความหมายของพยาปาทก็ต่างระดับด้วย แม้ว่าจะใช้พยาปาท สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระโสดาบัน หรือพยาปาทสำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ลักษณะของพยาปาท ก็คือโทสะ แต่ก็ต่างขั้น ต่างระดับ

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์บอกไม่ต้องใช้ชื่อ ศึกษาอย่างไร ถึงจะถึงตัวจริงของธรรมเพื่อไม่ต้องใช้ชื่อ

    ท่านอาจารย์ คือสภาวธรรมมี โดยที่ว่ามีชื่อต่างๆ ก็จริง แต่เราไม่ควรคิดถึงชื่อในขณะที่สภาวธรรมนั้นปรากฏ ขณะนี้ มีเห็น แล้วก็จะไปคิดถึงชื่อ "จักขุวิญญาณ" ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจในสภาวธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ จึงเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าชื่อไม่สำคัญ แต่ต้องทราบว่าในครั้งอดีต ผู้ที่เข้าใจธรรม จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ ความรู้ของท่านจะกว้างขวางมากมายสักแค่ไหน และยิ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่บุคคลอื่นเปรียบไม่ได้เลย อย่างที่ได้กล่าวถึงโคสิงคสาลวัน แค่ปัญหาที่ชาวบ้านอาจจะคิดว่า ต้องไปทูลถามหรือ แต่ความที่ท่านเหล่านั้นรู้ปัญญาของท่านเอง แม้เพียงคำเดียว พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทรงแสดงธรรมประการอื่นอีกที่จะทำให้ชัดเจนกว่านี้กว่าที่ปัญญาของท่านเหล่านั้นคิดหรือไม่ เป็นเหตุที่ทำให้ท่านไปกราบทูลถามฉันใด เวลาที่เราศึกษาพระสูตรหรือพระอภิธรรมก็จะเห็นความหลากหลาย พระปัญญาคุณซึ่งเปรียบเหมือนท้องฟ้ากว้างใหญ่ไพศาล แล้วเรารู้ได้แค่ไหน เข้าใจแค่ไหน

    เพราะฉะนั้น เราก็จะรู้จักลักษณะของสภาพธรรม โดยที่ว่าเราได้ยินชื่อต่างๆ มามาก แต่จะให้บอกว่าขณะนั้นที่กำลังโกรธ จะน้อยจะมากอย่างไรก็ตามเป็นโทสะหรือว่าเป็นพยาปาท นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเราจะต้องคิดถึงระดับของพระโสดาบันหรือเปล่า ที่ท่านก็มีโทสะ และใช้คำว่าพยาปาทด้วย เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องความคิดตลอด แต่ถ้าเราเข้าใจว่าไม่ว่าชื่อไหนๆ ก็คือสภาวธรรมนี้แหละ และเวลาที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ ระดับนั้นกำลังปรากฏให้เห็นว่าไม่ใช่ระดับอื่น โดยที่ว่าไม่มีชื่อเข้ามาเกี่ยวข้องเลย หรือว่ายังอยากที่จะรู้ชื่อว่าแล้วท่านเรียกว่าอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ว่าแล้วแต่ปัญญาของเรา ต้องศึกษาให้รอบรู้จนทั่ว ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ควรศึกษา แต่ควรที่จะเข้าถึงอย่างละเอียดรอบคอบ และก็กว้างขวางลึกซึ้งด้วย แต่ปัญญาของเราจะถึงระดับไหน

    ผู้ฟัง อาจารย์กล่าวถึงโทสะกับพยาปาท ท่านจะอุปมาเหมือนกับเรากรีดของมีคมกับกระแสน้ำซึ่งครู่เดียวก็หายไปได้ แต่ถ้าเรากรีดของมีคมกับหินก็มีรอยอยู่บ้าง และก็รอยนั้นก็นานกว่าจะหาย ลักษณะนั้นน่าจะเป็นความผูกโกรธใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นชื่อ โกรธเมื่อไร ก็คือโทสะ ลักษณะนั้นเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ว่าจะมากจะน้อย สิ่งที่เคยผ่านไปแล้วในอดีต คิดขึ้นมาอีกจิตขุ่นขณะใด ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แทนที่จะไปนึกถึงชื่อ

    ผู้ฟัง ความผูกโกรธ ก็คงจะต้องอาศัยเวลากว่าจะลบเลือนหายไป

    ท่านอาจารย์ เป็นพระอนาคามีบุคคล และที่ใช้คำว่า “ผูกโกรธ” ก็คือว่าโกรธแล้วไม่ลืมใช่ไหม ความที่ไม่ลืม และคิดถึง ก็แสดงให้เห็นว่าขณะนั้นไม่ใช่โกรธใหม่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่าที่ไม่ลืม ขณะนั้นก็ใช้คำว่าผูกโกรธ คือยังโกรธอยู่ แล้วแต่ว่าความผูกโกรธแต่ละคนจะหนา จะมาก จะคั่งแค้นถึงระดับไหน แต่ว่าเพียงแค่คิดไม่ลืมก็คือผูกโกรธ ยังโกรธอยู่ ยังนึกถึงอยู่ และอีกระดับหนึ่งก็คือว่าแม้จะนึกถึง จิตที่คิดก็ไม่ได้โกรธ ใครจะรู้นอกจากผู้โกรธหรือผู้ที่กำลังมีสภาวธรรมนั้นๆ เกิดเท่านั้น คนอื่นก็บอกไม่ได้ถึงความต่าง หรือว่าขณะที่คิด ความโกรธ ลักษณะนั้นยังจำได้ว่าโกรธระดับไหนแค่ไหน แทนที่จะคิดถึงเรื่องก็ไปคิดถึงลักษณะความโกรธ นี่ก็อีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ความหลากหลายของธรรมมีมากมายเหลือเกิน แม้ว่าจิตโดยประมวลไว้ก็คือ ๘๙ และเจตสิก ๕๒

    ผู้ฟัง ถ้าเราจะไม่ให้เกิดการสะสม เราก็พยายามเลี่ยงเหตุการณ์ลักษณะนั้นออกไป คือไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนั้นเกิดขึ้นอีก น่าจะทำให้ความผูกโกรธหายไปได้ ลดลงไปได้

    ท่านอาจารย์ แล้วเลี่ยงมาแล้วกี่ชาติ แล้วความผูกโกรธ ความโกรธในชาติก่อนๆ แล้วเราก็มีนโยบายมีความคิดต่างๆ ที่จะโกรธมากโกรธน้อยมาแล้วกี่ชาติ ทำไมเราไม่อบรมสิ่งนี้ เพราะยังไงๆ ก็ต้องโกรธ ตราบใดที่ยังมี "ปฏิฆานุสัย"

    ผู้ฟัง ไม่ได้นับเป็นวิธีหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ เป็นวิธีแน่นอน แต่ไม่สามารถที่จะดับความโกรธได้เป็นสมุทเฉจ และเราก็หาวิธีนั้นอยู่ตลอด ยังคงเป็นเพียงวิธี และถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงตรัสรู้ ไม่ทรงแสดง พระศาสนาใกล้ที่จะอันตรธาน ทางที่จะอบรมปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุทเฉจ ไม่มีเหลือเลย แล้วเราจะเสียดายโอกาสไหมที่เรามัวแต่หลีกเลี่ยงหลบ และก็ไม่อบรมปัญญาที่สามารถจะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้จริงๆ ว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะ

    ผู้ฟัง จะประพฤติปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้ความผูกโกรธนั้นค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ แสดงไว้ทุกระดับ พระศาสนาพร้อมสมบูรณ์ทั้งในขั้นต้น ท่ามกลาง ที่สุด ตั้งแต่ว่าถ้าโกรธเกิดขึ้น ขณะนั้นสามารถที่จะบรรเทาความโกรธได้เพราะอะไร เพราะตรึกอย่างไร แต่ก็ไม่สามารถที่จะดับได้เป็นสมุทเฉจ แล้วคุณวิจิตรต้องการอย่างไร เวลาที่มีความโกรธเกิดขึ้น เป็นตัวเราที่อยากจะไม่โกรธ พยายามหาทางที่จะให้ความโกรธนั้นลดน้อยลง หรือว่าเข้าใจลักษณะนั้นเพื่อที่ว่าวันหนึ่งความโกรธนั้นจะได้ดับเป็นสมุทเฉจ นี่คือขณะนี้ที่เราจะรู้ว่าโกรธมีจริงๆ กำลังปรากฏด้วย และใจขณะนั้นต้องการอะไร หรือแม้แต่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้มีจริงๆ ต้องการที่จะทำ เพื่อที่จะให้ประจักษ์การเกิดดับ หรือว่าต้องการสะสมความรู้ซึ่งค่อยๆ เข้าใจลักษณะนี้จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง เพราะว่าการที่สภาพธรรมที่เกิดดับจะปรากฏได้กับปัญญาที่ได้อบรมถึงกาลความสมบูรณ์ที่เป็นวิปัสสนาญาณระดับนั้น แต่ต้องเป็นความรู้ตั้งแต่ต้นทีละเล็กทีละน้อย แม้แต่ในขณะนี้ที่กำลังเห็น เราจะผลัดเวลาไปอีกไม่ได้ ว่าตอนนี้ยัง นั่นก็คือเป็นตัวตนที่ผลัด แต่ถ้ามีความเข้าใจในเหตุปัจจัยว่าสภาวธรรมที่เป็นสติ ไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็ฟังจนกว่าจะเข้าใจ และเวลาที่มีสติเกิดระลึกเป็นปกติแม้นิดเดียว เพราะว่าระหว่างที่กำลังเห็นก็มีสิ่งที่ปรากฏ และก็หลายวาระเหลือเกิน ไม่ต้องไปเจาะจงที่จะให้ไม่เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ไม่ให้ปรากฎเป็นรูปร่างสัณฐานนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะยังไงๆ ก็ต้องเห็นเป็นรูปร่างสัณฐานเพราะว่าเกิดสืบต่ออย่างเร็ว แต่ก่อนนั้นก็ยังมีกาลซึ่งเริ่มเข้าใจทีละน้อยโดยไม่ต้องกังวลว่าวาระไหน ทางทวารไหนหรืออะไรทั้งสิ้น แต่ในขณะที่สิ่งนี้กำลังปรากฏ เริ่มค่อยๆ เข้าใจ

    เพราะว่าเราสะสมความไม่รู้กับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน นานจนประมาณไม่ได้ เกินแสนโกฏิกัปป์ และการที่เราค่อยๆ เข้าใจทีละน้อย ลองคิดดู กว่าความเข้าใจของเราจะเพิ่มขึ้น มั่นคงขึ้นว่าหนทางเดียวที่จะเป็นวิปัสสนาญาณได้ ก็ต้องมาจากความรู้ความเข้าใจลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยรู้ว่าขณะไหนหลงลืมสติ ขณะไหนสติเกิด ซึ่งแม้จะน้อยมาก อย่างที่ท่านผู้ฟังท่านก็กล่าวว่าบางครั้งก็เป็นลักษณะของความจงใจ ท่านก็รู้ ความจริงปฏิเสธไม่ได้เลย บางกาลแม้ไม่จงใจ สติก็รู้ตรงลักษณะนั้นจนกว่าจะรู้ว่าแม้ความจงใจที่เกิดนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง หมายความว่าทุกอย่างที่เราศึกษาเป็นสภาพธรรมที่ปัญญาสามารถที่จะอบรม จนกระทั่งละคลายขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ ไม่มีเหลือแม้แต่ความสงสัยหรือความไม่รู้ในความเป็นนามธรรม และรูปธรรม จึงจะถึงกาลที่วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นจะสมบูรณ์รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ต้องเป็นปัญญา ต้องเป็นความเข้าใจที่ผู้นั้นก็รู้ว่าเริ่มจากไหน แต่ไม่ใช่เริ่มจากไม่รู้อะไรเลย แล้วก็ไปนั่งทำพากเพียรที่จะให้เกิดประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามที่ได้ยินได้ฟัง เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นเรื่องของปัญญา เพราะฉะนั้นในขณะนี้ที่คุณวิจิตรกำลังพูดถึงเรื่องของโทสะความโกรธ และมีวิธีไหม วิธีมีแน่ ตรึกยังไง คิดยังไง คิดถึงความดีของบุคคลนั้นหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าคุณวิจิตรต้องการอย่างนั้น หรือจะมีสติเกิดรู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง สิ่งที่ผมประพฤติปฏิบัติอยู่ก็คือให้เป็นโยนิโสมนสิการ

    ท่านอาจารย์ ให้เป็นโยนิโสมนสิการ หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง คือคิดโดยแยบคาย

    ท่านอาจารย์ คิดโดยแยบคาย แล้วเหตุใดจะต้องใช้คำนี้ด้วย หรือว่าถ้าไม่ใช้คำว่าโยนิโสมนสิการแล้วไม่แยบคาย

    ผู้ฟัง คือมีศัพท์เฉพาะอยู่ คือเจอเหตุการณ์นี้แล้ว คิดว่าเป็นกรรมของเราที่ทำไว้แล้วในอดีต ชาตินี้ก็ต้องมารับกรรม

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นบรรเทาความโกรธ ทำให้ความโกรธไม่เกิด แต่ต่อไปก็เกิดอีกในสังสารวัฏ ที่จะไม่เกิดอีกนั้นไม่มี มีหนทางเดียว พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงหนทางนี้ และเรามีโอกาสได้ยินได้ฟังหรือไม่ ถ้ามีโอกาสได้ยินได้ฟังก็จะเป็นปัจจัยให้สัมมาสติระลึกได้ แทนที่จะไปคิดว่าจะให้ความโกรธลดน้อยลงได้ยังไง แม้แต่ความคิดก็หลากหลาย เราจะไปบังคับความคิดของใครก็ไม่ได้ ถ้าเกิดคิดอยากจะไม่ให้โกรธ ก็มีพระธรรมข้ออื่นระดับอื่นที่ทรงแสดงไว้ แต่ว่าหนทางเดียวที่จะดับความโกรธไม่ให้เกิดอีกเลยในสังสารวัฏ ก็ต่อเมื่อรู้ลักษณะของความโกรธขณะที่ความโกรธนั้นปรากฏ ไม่มีเยื่อใยความเป็นเราต้องการที่จะไม่โกรธ เห็นหรือไม่ แม้ขณะนั้นก็ไม่รู้ว่าสักกายทิฏฐินี้เมื่อไหร่จะหมดไป

    ผู้ฟัง เป็นเรื่องยาก

    ท่านอาจารย์ ยาก ก็คือยาก อบรมได้ ไม่ได้หมายความว่ายากแล้ว ไม่มีใครรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้เลย ยาก แต่ว่ามีผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาในทุกกาลสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ถ้ายังไม่อบรม มัวแต่มุ่งว่าทำยังไงจะไม่โกรธ ก็จะมีการเสพคุ้นกับการคิดว่าจะทำยังไงไม่ให้โกรธอยู่เรื่อยๆ และก็คิดได้เพียงแค่นั้น แต่ว่าห้ามไม่ได้ แล้วแต่ว่าเราสะสมอะไรมา เกิดปัจจัยที่จะคิดขณะนั้นก็รู้ จนกว่าทั้งหมดก็เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าหากสะสมความไม่โกรธก็น่าจะดีเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ แต่ดับหมดเป็นสมุทเฉจหรือเปล่า หรือเพียงไม่โกรธตามกาลสมัย

    ผู้ฟัง ค่อยๆ ลดลง

    ท่านอาจารย์ ลดลงแล้วก็ยังเกิดอีก ไม่ใช่ลดลงแล้วหมด เพราะว่ายากที่จะมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ฟังอื่นฟังได้ คิดอื่นก็คิดได้ แต่ที่จะฟังจนกระทั่งเป็นสัญญาความจำที่มั่นคงเป็นสัจจญาณที่จะเป็นปัจจัยให้สติเกิด และก็ระลึกได้ในขณะนั้นที่จะรู้ ค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้น แทนที่มีความเป็นตัวเราที่ไม่อยากจะมีความโกรธ

    อ.วิชัย ถ้ากล่าวถึงโทสะเมื่อเกิดแล้ว เมื่อดับแล้วก็สะสมสืบต่อโดยความเป็นอนุสัย เมื่อได้ปัจจัยก็เป็นปัจจัยให้ "ปริยุตตฐาน" นั้นเกิดขึ้น แต่ถ้าโดย "ปกตูปนิสสยปัจจัย" ที่ทรงแสดงกล่าวถึงว่าแม้บุคคล แม้บัญญัติ ก็สามารถเป็น "อุปนิสสยปัจจัย" ให้โทสะเกิดได้

    ท่านอาจารย์ ให้โทสะเกิดได้ และให้ปัญญาเกิดได้ด้วยใช่ไหม

    อ.วิชัย เกิดด้วย คือลักษณะของความเป็นปัจจัยกับการสั่งสมโดยนามธรรม คือถ้าคิดถึงว่าโดยความเป็นนามธรรมก็น่าจะสั่งสมได้ แต่ถ้าโดยความเป็นเพียงแค่อารมณ์ เช่น เราเห็นรูปนี้ หรือว่าฟังชื่อนี้แล้วเรารู้สึกไม่ชอบ เราเคยสั่งสมที่จะไม่ชอบชื่อนี้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าชื่อนี้ไม่ใช่คนที่เรารู้จัก ชื่อเดียวกัน ได้ใช่ไหม ยกตัวอย่างๆ ชื่อวิชัย ถ้าวิชัยนี้นับถือชอบ ในคุณธรรม ในความรู้ ในความเข้าใจธรรม แต่อีกวิชัยหนึ่งตรงกันข้ามเลย ทุจริต คดโกง เพราะฉะนั้น วิชัยไหน แค่ชื่อ เพียงชื่อ กับการที่เราได้รู้ว่าชื่อนั้นหมายถึงบุคคลไหน จะเป็นปัจจัยให้เกิดโลภะ หรือโทสะ หรือกุศล

    อ.วิชัย คือสงสัยโดยความเป็นลักษณะที่เป็นปัจจัย ตัวโทสะนั้นมีอารมณ์นี้ เกิดขึ้นเพราะมีอารมณ์นี้ แต่เมื่อภายหลังเมื่อดับแล้ว ได้อารมณ์นี้อีกแล้วเกิดความโกรธที่เกิดโกรธภายหลัง เนื่องจากอารมณ์นั้นเป็นปัจจัย หรือเนื่องจากโทสะที่เกิดตอนนั้นเป็นปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ถ้าโกรธคนชื่อวิชัย พอคิดถึงวิชัยนี้โกรธ แต่ถ้าชอบคนชื่อวิชัย แล้วคิดถึงวิชัยนั้น ไม่โกรธ เพราะฉะนั้นชื่อหรืออะไร

    อ.วิชัย ก็ไม่น่าใช่ชื่อ

    ท่านอาจารย์ ชื่อเดียวมีคนตั้งหลายคน และแต่ละคนก็ต่างกันไป แล้วถ้าเพียงแต่นึกถึงเพียงชื่อจะเป็นปัจจัยให้เราโกรธ หรือเป็นปัจจัยให้เราพอใจ เพราะชื่อนั้นมีทั้งคนที่เราโกรธ และเราพอใจ

    อ.วิชัย หมายถึงถ้ามีความโกรธเกิดขึ้นมา ความไม่พอใจในความไม่ดีของเขา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงวิชัยนี้ รู้จักคนนี้ อีกคนหนึ่งรู้จักวิชัยอีกคนหนึ่ง แต่ว่าทั้งสองคนก็เพียงแค่คิดชื่อว่าวิชัย

    อ.วิชัย ก็ยังเฉยๆ อยู่

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าถ้าเคยโกรธคนชื่อวิชัย เคยโกรธวิชัยนี้ แค่คิดคำว่า วิชัย นึกถึงคนนี้ ไม่ได้นึกถึงคนอื่น เพราะฉะนั้น ชื่อก็เป็นสมมติบัญญัติของสภาวธรรมทั้งฝ่ายดี และฝ่ายไม่ดี แม้แต่ชื่อเดียวกัน

    อ.วิชัย ความโกรธที่เคยเกิดขึ้นในความไม่ดีของบุคคลที่ชื่อนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าวิชัย ๑๐ คน แต่เรารู้จักวิชัย ๑ เวลาที่จิตเรานึกถึงวิชัย ๑ จิตเรานึกถึงวิชัยนี้ที่เราโกรธ เราไม่ได้นึกถึงวิชัย ๙ ใช่ไหม ก็แสดงว่าแม้ชื่อนี้ก็ต้องมีที่เราเคยโกรธ มีเรื่องราวที่ทำให้เมื่อชื่อนี้เกิดขึ้น เราไม่ได้นึกถึงวิชัยอื่น แต่นึกถึงเรื่องราวของวิชัยนี้ ซึ่งเคยโกรธ พอชื่อนี้เกิดนึกขึ้นมาก็พร้อมกับเรื่องราวที่ทรงจำเกี่ยวกับชื่อนี้ด้วยใช่ไหม นี่จะส่องไปถึงคำของสัญญาที่มีที่ประกอบไปด้วยอะไรหลายอย่าง

    อ.วิชัย คือลักษณะจะคล้ายๆ ปนๆ กัน หมายถึงว่าลักษณะของความเป็นปัจจัย เคยคิดไม่ดีของบุคคลนี้ ภายหลังเมื่อได้ยินชื่อของบุคคลนี้ ก็อาศัยสัญญาความจำมีเรื่องก็ปรุงแต่งให้เกิดความโกรธ

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจะรู้เลยว่ามีจิตคิดถึงแค่ชื่อ ขณะนั้นก็เป็นเพียงเรื่อง บัญญัติ เพียงแค่คำ แม้ความโกรธหรือเรื่องราวก็ไม่ได้ติดตามมา หรือว่าเวลาที่คิดถึงชื่อนี้แล้ว ความจำทั้งหมดที่เกี่ยวกับชื่อนี้มา เพราะว่าเวลาที่เราคิด เราคิดยาว เราไม่ได้คิดสั้นๆ เ ช่น จะคิดถึงอะไรสักอย่างก็หลายวาระเลย จะคิดถึงขนมสักชื่อหนึ่ง ขนมเปียกปูน เกิดนึกขึ้นมาเฉยๆ ก็แค่นั้น แต่ถ้าจะคิดถึงรสอร่อย หรือว่าเจ้านี้ ตรงนี้ ร้านนี้อร่อยกว่าร้านนั้น เรายังสามารถที่จะแยกได้ แม้แต่คำว่าเปียกปูน ก็มีถึง ๒ ที่ ใช่ไหม เปียกปูนที่นี่เป็นอย่างนี้ เปียกปูนที่นั่นเป็นอย่างนั้น แต่ก็คือคำว่าเปียกปูน

    อ.วิชัย โดยการสั่งสม ก็คือเป็นการสั่งสมของจิตที่เคยพอใจหรือไม่พอใจในสิ่งนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงการสั่งสมของสัญญา สัญญาจำชื่อ อันนี้ตอนหนึ่งใช่ไหม แต่ว่าสัญญาไม่ได้เพียงจำชื่อ จำเรื่องด้วย จำมากมายหลายอย่าง เพราะฉะนั้น เวลานึกถึงคำว่าเปียกปูนขึ้นมา ถ้าสัญญาไม่ได้จำคำนี้ ชื่อนี้ก็ไม่มี ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดการตรึกหรือนึกถึงชื่อนี้ขึ้น แต่เพราะสัญญาจำชื่อนี้ หรือบางครั้งอาหารรสอร่อย ไม่รู้เรียกอะไร ชื่ออะไรก็ไม่ทราบ อาจจะเป็นชื่อยากๆ เราก็เรียกไม่ถูก เราไม่ได้จำชื่อ แต่เราจำรส เราสามารถที่จะจำว่าร้านไหน รายละเอียดปลีกย่อยก็ติดตามมาได้

    ผู้ฟัง คำว่ากิเลส คืออะไร "อุปกิเลส" เหมือนกับกิเลสหรือไม่ ตัวสภาพธรรม ๒ ตัวนี้เหมือนกันหรือไม่

    อ.วิชัย กิเลส ก็เป็นเครื่องเศร้าหมอง ก็มี “อุป” หมายถึงกิเลสที่มีกำลัง หรือที่เกิดบ่อยๆ "ภวังคจิต" โดยสภาพเป็น "ประภัสสร" แต่ว่าเศร้าหมองเมื่อ "อุปกิเลส" ที่จรมา เพราะเหตุว่าโดยปกติแล้ว ตัวสภาพของภวังคจิตไม่เศร้าหมอง แต่ภายหลังขณะที่เป็นชวนะเป็นอกุศล กล่าวว่า ภวังคจิตนั้นเศร้าหมองด้วย เมื่อสภาพที่เป็นโทสะ เมื่อเกิดดับไปแล้วก็สั่งสมเป็นปฏิฆานุสัย และโลภะความติดข้องพอใจ เมื่อเกิดดับแล้วสั่งสมเป็นกามาราคานุสัย ก็สั่งสมในจิตไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดก็ตาม

    อ.ธีรพันธ์ อุปกิเลส ๑๖ ข้อแรก "อภิชฌาวิสมโลภะ" ความโลภ ก็คือโลภเจตสิก อันนี้เป็นข้อแรก ข้อที่ ๒ "พยาปาท" ก็คือโทสเจตสิก แต่ในระดับเป็นความพยาบาท ไม่ใช่โกรธขั้นเล็กๆ น้อยๆ แต่ว่าเป็นขั้นที่มีพยาปาทเกิดขึ้น ที่ ๓ "โกธะ" ก็คือความโกรธ โทสเจตสิกเหมือนกัน ที่๔ "อุปนาหะ" ความผูกโกรธ ข้อที่ ๕ "มักขะ" หลบหลู่คุณท่าน "ปลาสะ" ตีเสมอ ไม่มีคุณธรรมที่เทียบเทียมท่านหรือไม่มีคุณธรรมเลย แต่ว่าไปตีเสมอท่าน “อิสสา” ในภาษาไทยก็ใช้คำว่าอิจฉา แต่ว่าอิจฉาในภาษาบาลีคือความอยากได้ ไม่ยินดีที่ผู้อื่นได้สิ่งที่ได้มา ก็คืออิจฉา ต่างกับมัจฉริยะก็คือไม่อยากให้สมบัติของตัวเองสาธารณแก่ผู้อื่น อันนี้เป็นมัจฉริยะ ความตระหนี่ “มายา” ความเสแสร้ง ไม่จริง “สาเถยยะ” โอ้อวด ไม่มีคุณธรรมแต่ว่าก็โอ้อวดให้ผู้อื่นเห็นว่ามี “ถัมภะ” หัวดื้อ ไม่รับคำสอนโดยเคารพ คนอื่นว่ากล่าว เพื่อนสหพรหมจรรย์ว่ากล่าวตักเตือนก็หัวดื้อไม่ยอมรับฟัง “สารัมภะ” แข่งดี ฟังดูเหมือนจะเป็นการดี แต่การแข่งดีนี้เป็นอกุศล แข่งดีเห็นคนอื่นเก่งกว่าในทางศีล หรือว่ามีคุณธรรม ก็คิดที่จะแข่งดี แต่ขณะที่จะคิดแข่งดี ขณะนั้นไม่ใช่กุศล เป็นความคิดที่จะแข่ง เป็นอกุศล “มานะ” ก็คือความสำคัญตน "อติมานะ" ก็ยิ่งกว่านั้นอีก คือดูหมิ่นท่าน เพิ่มคำว่า”อติ” เข้ามาอีก “มทะ” คือความมัวเมา ประมาท ก็คือความประมาท ที่เราได้ยินได้ฟังกัน อันนี้ก็เป็นอุปกิเลส ๑๖ ข้อที่กล่าวไว้พอคร่าวๆ

    อ.อรรณพ นั่นก็คืออุปกิเลสโดยนัยที่มี ๑๖ ประการ ซึ่งจริงๆ แล้วอกุศลเจตสิกที่เป็นกิเลสมี ๑๐ แต่ว่าด้วยความหลากหลาย ท่านจึงแสดงมาเป็น ๑๖ ขอท่านอาจารย์ได้ช่วยอธิบายความเข้าใจในเรื่องของกิเลสกับอุปกิเลส

    ท่านอาจารย์ ถ้าจำแนกอกุศลเจตสิก ๑๔ ก็มีหลายประการ เช่น บางประเภทก็เป็นโอฆะ บางประเภทก็เป็นอาสวะ และที่เป็นกิเลสที่เศร้าหมองก็มี ๑๐ แต่สำหรับอุปกิเลส ๑๖ ถ้าเป็นปกติธรรมดา เช่น โลภะที่เรากำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วพอใจ จะรู้ไหม ว่าเป็นโลภะ บางคนบอกไม่มี เขาไม่มีโลภะ เขาไม่ได้อยากได้ของใคร นั่นก็แสดงให้เห็นว่าไม่รู้จริงๆ ว่าโลภะก็มีหลายระดับ โลภะทั่วๆ ไป ธรรมดาเป็นปกติ ไม่ได้มีอาการที่จะทำให้เห็นความเป็นโลภะ จนกว่าจะถึงโลภะที่ผิดปกติ "วิสมโลภะ" ก็จะมีความอยากได้ มีความต้องการ มีกิริยาต่างๆ ที่แสดงแม้ตัวเองไม่รู้ คนอื่นก็รู้ได้ว่าคนนี้โลภมาก หรือว่าเป็นคนโลภ แต่ว่าความจริงก็คือลักษณะของความติดข้อง คือโลภะนั่นเอง แต่ว่าแสดงอาการให้เห็น ในขณะที่ถ้าเป็นแต่เพียงเล็กๆ น้อยๆ ธรรมดา ปกติทั่วๆ ไป จะมีใครรู้บ้างว่าเป็นโลภะแล้ว เวลารับประทานอาหารๆ ยังไม่ได้เข้าปากเลย เดินไปเป็นโลภะประเภทไหน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567