พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 174


    ตอนที่ ๑๗๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ ที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ คุณศุภักษรแต่ก่อนไม่หลีก เป็นธรรมหรือไม่ และกำลังหลีกเดี๋ยวนี้เป็นธรรมหรือไม่ คือต้องเข้าใจว่าก่อนฟังธรรมไม่หลีก แต่ที่หลีกตอนนี้เพราะได้ฟังธรรมก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้มีการหลีก หรือได้ฟังธรรมแล้วรู้ว่ากาย วาจา อย่างไรจะเกิดขึ้นก็เพราะการปรุงแต่งของสังขารขันธ์จากการที่ได้ฟัง โดยที่เราไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ ไม่มีใครจะไปทำอะไรได้เลย แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง ความทุกข์ที่เกิดจากการเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่นเราเป็นโรคร้ายแรง แล้วบางคนที่เป็นโรคแบบนี้ก็จะมีความทุกข์ เราจะมีวิธีการอย่างไรที่จะดับทุกข์ หรือวิธีคิดอย่างไรที่จะช่วยบรรเทาให้ความทุกข์หรือความเศร้าโศกลดน้อยลง

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าไม่ใช่ทุกข์กาย แล้วทุกข์อื่น มีวิธีการใดๆ อีกหรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดเป็นทุกข์ใจก็จะพยายามคิดแก้ปัญหาตรงนั้น หรือทำใจ และหาวิธีการแก้ปัญหาให้ดีที่สุด

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ขณะนี้สงสัยเฉพาะทุกข์กาย ก็ต้องทราบว่าถ้ามีกายแล้วจะไม่มีทุกข์เป็นไปได้หรือไม่ นี่คือความเห็นถูก เพราะว่าเราจะไปบังคับจิตให้ไม่ทุกข์เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าถ้าขณะใดที่เป็นทุกข์ไม่ว่าเมื่อไรทั้งสิ้นที่หนักที่เป็นทุกข์ ให้ทราบว่าขณะนั้นเป็นอกุศล เป็นกิเลส ซึ่งเราไม่รู้เลยแต่เป็นแล้วเพราะมีความเป็นเรา เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วต้องทราบว่ากิเลสทำให้เป็นทุกข์ ทำให้หนัก ทำให้กังวล ห่วงใย แต่ถ้าเป็นปัญญาความเห็นถูกจะตรงกันข้าม เพราะเริ่มเข้าใจถูกว่าเมื่อมีกาย ต้องมีทุกข์เป็นของธรรมดา จะผิดธรรมดาไม่ได้ เพียงแต่ว่าทุกข์นั้นจะมากหรือจะน้อย จะเกิดขึ้นช้า ยังไม่เกิดขณะนี้ แต่ต่อไปก็เกิดได้ โดยที่ว่าไม่มีใครสามารถที่จะรู้ว่าทุกข์ระดับใดจะเกิดเมื่อไร แล้วจริงๆ ทุกข์กายก็อย่างหนึ่ง บังคับบัญชาไม่ได้ แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คงได้รับผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว พระองค์มีพระวรกายก็ต้องเจ็บป่วยด้วยเมื่ออกุศลกรรมให้ผล แต่ว่าเราสามารถที่จะรู้ว่าเพียงทุกข์กายแล้วไม่เดือดร้อน กับทุกข์กายแล้วเดือดร้อนเพิ่มทุกข์อีกแล้ว เป็น ๒ ประการ คือ อย่างเดิมอย่างแรกคือทุกข์กายซึ่งใครก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความกังว ความห่วงใยนั่นเป็นทุกข์ใจ เพราะเหตุว่าใครจะทำอะไรได้กับสิ่งที่เกิดแล้ว และมีปัจจัยให้เกิด ถ้ารู้ว่าทั้งหมดที่เป็นวิบาก คือ ผลของกรรม เราก็จะเข้าใจถูก ไม่ว่าจะเป็นเห็น ยังไม่เป็นทุกข์ทางกาย ได้ยินก็ไม่ใช่ทุกทางกาย ได้กลิ่น ลิ้มรสก็ไม่ใช่ทุกข์ทางกาย แต่ก็รู้ว่าเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นสำหรับกายก็เป็นผลที่แน่นอน ถ้าเราได้ทำกุศลกรรมมามากทุกข์กายก็น้อย ถ้าทำอกุศลกรรมเบียดเบียนคนอื่นด้วยเจตนาที่เคยตั้งใจจะให้เขาตาบอดบ้าง พิการบ้าง หรืออะไรบ้างก็แล้วแต่ เจตนาที่เกิดแล้วดับไปก็จะทำให้เกิดผลคือจิตประเภทวิบากของตนเอง ไม่ใช่ของคนอื่นเกิดขึ้น

    ถ้าเทียบผู้ที่มีปัญญากับผู้ที่ไม่มีปัญญา เช่น พระอรหันต์ทั้งหลายท่านมีแต่ทุกข์กาย ส่วนทุกข์ใจไม่มีเลย สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล เมื่อมีทุกข์กายก็มีทุกข์ใจด้วยตามลำดับของความเข้าใจ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจจริงๆ ว่าถ้าเราเป็นโรคร้ายแรงชื่อว่าโรคร้ายแรง แต่ความเจ็บความปวดเกิดแล้วหรือยัง อาจจะยังไม่เกิดเลย เพียงแต่ไปตรวจพบแล้วก็บอกว่าเป็นโรคร้ายแรง ความกังวลใจทุกข์ใจก็เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ทุกข์กายไม่ได้เกิดเลย ถ้าเป็นที่เข้าใจจริงๆ ทุกขณะจิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คนที่ป่วยหนักแต่หลับสนิท ทุกข์หรือไม่ แล้วเราก็ไปเดือดร้อน เขาป่วยมาก เขาเจ็บมาก แต่ความจริงขณะนั้นเขาไม่รู้สึกตัวเลย กำลังหลับสนิท ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก

    เมื่อไม่นานมานี้ มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งซึ่งมารดาของท่านป่วยเป็นมะเร็ง ระยะที่ท่านใกล้จะสิ้นชีวิต ท่านก็ห่วงใย เป็นทุกข์ว่ามารดาของท่านจะเจ็บปวดมาก จะทำอย่างไรจิตใจถึงจะไม่กระวนกระวาย แต่ว่าตามความเป็นจริงถ้าเราเข้าใจธรรมแล้วจะรู้ว่าทุกอย่างต้องเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัยเท่านั้น ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยก็ไม่เกิด คนที่เป็นมะเร็ง ไม่ได้สิ้นชีวิตเพราะมะเร็งก็มีใช่หรือไม่ ไม่ได้สิ้นชีวิตเพราะความเจ็บปวดก็มี อาจจะหลับแล้วก็จากโลกนี้ไปเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นใครจะรู้ โดยเฉพาะถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าความตายไม่ได้น่ากลัวเลยเพราะทุกคนไม่รู้ตัว ขณะที่กำลังรู้ตัวขณะนั้นไม่ได้ตายเลย จะกลัว หรือจะเป็นกุศล หรือจะเป็นอกุศล ขณะนั้นไม่ตาย แต่ถ้าตาย ไม่ว่าใครทั้งหมดคือขณะนั้นจุติจิตเกิดเร็วมาก และก็ปฏิสนธิเกิดสืบต่อไม่รู้ตัวเลย

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็จะแยกความทุกข์กายกับความทุกข์ใจได้ ว่าถ้าเรามีความมั่นคงว่าทุกอย่างแล้วแต่กรรมที่ได้กระทำมาแล้ว ชื่อโรคอาจจะน่ากลัว แต่ขณะใดที่ไม่ปวดไม่เจ็บ ชื่อก็เหมือนกันหมด หกล้มไม่ได้เป็นมะเร็ง แต่ก็เจ็บ ทุกขกายวิญญาณก็เป็นลักษณะอย่างนั้นแหละ เพราะฉะนั้นก็จะทำให้เราไม่คิดกังวลถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และก็มีความมั่นคงว่าไม่ว่าอะไรจะเกิด แม้แต่การคิดก็ต้องเกิดตามการสะสม แต่ก่อนเราไม่เคยคิดอย่างนี้เลยว่าทุกอย่างเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่เมื่อได้ฟังบ่อยๆ ก็มีการคิดเกิดขึ้น และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็หวั่นไหวน้อยลง แต่ตราบใดที่ยังไม่ใช่บุคคลที่ดับกิเลสก็มีมีปัจจัยที่กิเลสจะเกิด แต่ปัญญาก็สามารถที่จะมีปัจจัยเกิดเป็นกุศลในขณะนั้นด้วย ไม่ต้องกลัวชื่อโรค เป็นชื่อ แต่ลักษณะของการที่จะรู้อารมณ์มีเพียง ๖ ทาง ไม่ใช่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และทุกอย่างก็สั้นมาก แม้แต่ทางกายก็เกิดดับ

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวันของเราที่พบโลภะก็ดี โทสะก็ดี โดยเฉพาะโทสะ ถ้าจะพิจารณาธรรมในหลักของสติปัฏฐานจะพิจารณาในลักษณะให้หลีกไปหรือค่อยๆ ศึกษาคือรู้จักให้ดีขึ้นว่านั่นเป็นแค่สภาพธรรมเท่านั้น ซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ อย่างนี้ จะช่วยให้เราดีขึ้นกว่าหลบหลีกเฉยๆ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คุณเด่นพงศ์กล่าวถึงโดยนัยของสติปัฏฐาน ถ้าโดยนัยของสติปัฏฐานสิ่งที่ลืมไม่ได้คือมีสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ เราไม่ได้คิดถึงข้างหน้าเลย ถ้าไม่ใช่โดยนัยของสติปัฏฐาน เราควรจะทำอย่างไร ก็มีการข้ามการที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นจะเห็นความต่างกันของขณะที่เป็นสติปัฏฐาน กับขณะที่เป็นกุศลระดับที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ถ้าเป็นสติปัฏฐานจะไม่มีข้างหน้าที่ยังไม่เกิดขึ้น และสิ่งที่ผ่านไปแล้วก็ไม่คำนึงถึง ขณะนี้กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ และกำลังฟังเรื่องลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏให้รู้ความจริงว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อกล่าวคำว่า “ธรรม” คือไม่เป็นของใคร บังคับให้เกิดไม่ได้ เปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้ ลักษณะที่กำลังปรากฏทางตาก็เป็นธรรมที่เกิดแล้วกำลังปรากฏ ไม่ต้องไปคิดเรื่องการเกิดดับหรืออะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องคิดถึงคำว่า “สติ” หรือคำว่า “ปัฏฐาน” แต่ขณะที่ไม่ได้คิดเป็นเรื่องราว ไม่ได้คิดล่วงหน้า หรือถอยหลังไป กำลังมีลักษณะ และกำลังรู้ตรงลักษณะนั้น ซึ่งขณะนี้ก็มีการรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏด้วยจักขุวิญญาณ แต่ไม่ใช่ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นจักขุวิญญาณก็เห็น เห็นแล้ว เกิดแล้ว ดับแล้ว สติเกิดค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ปรากฏสืบต่อกันว่าเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความอดทนมากที่จะรู้ว่าลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาแม้ว่าจะปรากฏอยู่เสมอ แม้ว่าในขณะนี้ก็กำลังปรากฏเสมือนว่าไม่ได้ดับเลย แต่ที่สติจะค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่ยังไม่ได้คิด แต่กำลังมีลักษณะนี้ที่กำลังปรากฏ ตรงนี้ ตรงลักษณะจริงๆ ที่ยังไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น แต่ว่าปกติธรรมดาหลังจากที่เห็นแล้วก็จะมีการคิดนึก มีสัญญาความจำซึ่งไม่ไปบังคับ ไม่ไปพยายามทำให้เป็นอย่างนั้นเพราะว่าเป็นปกติ แม้ว่าจะเห็นเหมือนเดิมแต่ก็มีการที่เริ่มค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏแม้เพียงเล็กน้อย ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นจิรกาลภาวนา เพราะเหตุว่าใครสามารถจะรู้ได้จริงๆ ว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏชั่วขณะที่กำลังปรากฏแล้วก็ดับไป ถ้ามีปัญญาเพิ่มขึ้น นี่เป็นเพียงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ล้วนมีลักษณะของสภาพธรรมเกิดแล้วดับแต่ก็ปรากฏเหมือนไม่ดับเลยสืบต่อกัน

    เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะก็จะค่อยๆ เริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่างทีละเล็กทีละน้อยด้วยความเบาใจ ไม่หนักใจ ถ้าหนักใจคือมีความต้องการมีความเป็นเราซึ่งถ้าเกิดขึ้น ปัญญาก็สามารถจะรู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่เพราะความรู้ไม่ทั่ว ขณะนั้นจึงเป็นเราที่มีความจงใจหรือมีความต้องการ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นภาระของผู้ที่เป็นปุถุชน เป็นงานเป็นกิจที่จะต้องพึงกระทำจนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์คือหมดกิจ ทำกิจเสร็จแล้ว แต่ผู้ที่ยังไม่ได้ทำกิจเสร็จก็จะต้องรู้ว่ากิจของผู้ที่เป็นปุถุชนก็คือไม่ใช่ไปทำอย่างอื่นเลย แต่เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเมื่อใด เป็นสติ และปัญญา ซึ่งเป็นสติปัฏฐานในขณะนั้น โดยไม่ต้องเรียกชื่อ แต่ไม่ใช่สติขั้นฟังแน่นอนเพราะเหตุว่ามีการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ยิ่งอดทนยิ่งร้อน ตัวเองก็เลยกล่าวช่างเถอะ ให้เฉยๆ ไม่ทราบวิธีอย่างไรจะถูก จะเป็นสติปัฏฐานหรือไม่เป็นสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ประการหนึ่งที่ไม่ลืมก็คือว่ายังเป็นผู้หนา คือปุถุชน ที่หนาด้วยความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะเกิดความคิดแล้วก็ลืม ว่าแม้ที่คิดอย่างนั้นก็เป็นสภาพที่เกิดขึ้นเพราะการปรุงแต่งจากการเคยได้ฟัง ทำให้มีการคิดถึงว่าขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมเป็นกระดาษที่เกิดเสียงดังกร๊อบแกร๊บ ซึ่งปกติธรรมดาอาจจะไม่ได้คิดอย่างนี้ แต่เริ่มปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นการปรุงแต่งจะนานสักเพียงไหน เราไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่าเราได้เคยปรุงแต่งมาแล้วเท่าไร แล้วที่ขณะปรุงแต่ง เพิ่มเจริญขึ้นจากการปรุงแต่งเป็นความคิดด้วยความเป็นเรา หรือว่าค่อยๆ รู้ตรงลักษณะซึ่งเกิดแล้วก็หมดไป

    แต่ผู้ที่ฟังเป็นผู้ที่ฉลาด เป็นผู้ที่เข้าใจมีสัจญาณในอริยสัจจ์ ๔ จะมี ๓ รอบๆ ที่ ๑ คือสัจญาณ รอบที่ ๒ คือกิจญาณ รอบที่ ๓ คือกตญาณ แสดงให้เห็นว่าถ้าไม่รู้อย่างนี้จะถึงอริยสัจจ์ไม่ได้เลยเพราะไม่มีสัจญาณ แต่สัจญาณก็คือความมั่นคงที่จะเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นลักษณะที่ปรากฏแล้ว ขณะนั้นไม่มีตัวคุณเด่นพงศ์ ไม่มีอะไรเลย ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็คือว่าขณะนั้นมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โลกคือจิตเกิดดับสืบต่อ ขณะนั้นเสียงกระทบกับโสตปสาทแล้ว จิตได้ยินเกิดแล้ว จิตคิดนึกเกิดต่อ เพียงแต่ว่าจิตคิดนึกซึ่งเกิดต่อจะปรุงแต่งด้วยสังขารขันธ์ระดับไหน จะปรุงแต่งด้วยสังขารขันธ์ที่นึกถึงว่านี่เป็นสภาพธรรม หรือว่าปรุงแต่งจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ลักษณะนั้นแล้วละ ไม่ได้ง่ายๆ ที่ว่าจะทันทีเลย เมื่อรู้แล้วยังต้องละ มิฉะนั้นก็จะมีความเป็นเราที่ต้องการรู้ แต่อาศัยความรู้ที่อบรมจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจถูกได้ว่าการที่สภาพธรรมจะปรากฏตามความเป็นจริงจนประจักษ์แจ้งแต่ละขั้นได้เพราะละ ถ้ายังคงมีการติดคือเรา อยู่ตรงนั้นนิดหน่อยก็มีใช่หรือไม่ แล้วก็ยังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่นที่ปรากฏทางทวารอื่นด้วย เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เฉพาะทวารเดียว แต่ทุกทวารที่ปัญญาต้องเจริญจนกว่าจะละ และอาการละก็คือว่าแล้วแต่สภาพธรรมนั้นเกิดเป็นอย่างไร หมดไปก็หมดไป แล้วก็มีสภาพธรรมอื่นปรากฏ ต้องมีความอดทนกล้าหาญ อาจหาญที่จะรู้ว่าไม่มีเราเลย ทั้งหมดเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง นี่คือจิรกาลภาวนา ขันติบารมีจนกว่าจะถึงวันที่สามารถจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกตญาณได้

    ผู้ฟัง ถ้าหากตัวเองจะระลึกว่านี่เป็นแค่สภาพธรรม ตัวเองไม่อดทนหรอก อาจจะทำให้เบาบางลง ไม่ทราบว่าถูกหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วลักษณะของสภาพธรรมไม่มีชื่อเลย แต่อาศัยคำที่ทรงบัญญัติเป็นชื่อต่างๆ ทำให้เราสามารถเข้าใจได้ แต่เวลาที่สภาพธรรมปรากฏ ชื่อต้องไม่มีว่าเราจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้นก็จะเห็นความต่างกันได้ว่าเวลาที่เราคิดถึงคำ ขณะนั้นเป็นเรื่องราวของสภาพธรรม แล้วเมื่อหยุดคิดมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ แต่เมื่อหยุดคิดนี่ไม่ค่อยจะรู้ว่าไม่ได้คิดแต่กำลังเห็นเพราะว่าเร็วมาก และก็เกิดดับสืบต่อกัน จนกว่าความเข้าใจของเราจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วเวลาที่กุศลจิตเกิดไม่ต้องคิดเลยว่านี่คืออดทน หรือนี่คือหิริเกิดแล้วพร้อมโอตตัปปะ ไม่ต้องคิดเลย เพราะกุศลจิตเกิดแล้วดับ แต่ขณะนั้นก็จะประกอบด้วยโสภณธรรมแล้วแต่ว่าจะเป็นระดับไหน จะเป็นวิริยะ (ความเพียร) ปรากฏให้รู้ว่าเป็นลักษณะของวิริยะหรือจะเป็นความอดทนไม่โกรธ และก็มีความเมตตา ในขณะที่เมตตาก็มีความอดทนด้วย ขณะนั้นก็ไม่ต้องมาคิดถึงว่ามีลักษณะของอะไร เป็นเมตตาหรือเป็นอดทน หรือเป็นวิริยะ ไม่ต้องคิดเลยแต่ให้เข้าใจว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรม เพราะจริงๆ แล้วกว่าปัญญาของเราจะถึงระดับที่จะทำให้ละความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ ก็จะมีการปรุงแต่งของความคิดนึกซึ่งเป็นจินตามยปัญญาก่อนอย่างมากทีเดียว

    ผู้ฟัง สภาพจิตของตัวเองเหมือนกับหนังสติ๊ก เมื่อสิบปีก่อน ห้าปีก่อน มันก็เหมือนหนังสติ๊กยืดไปแล้วก็กลับมา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง คือดีขึ้นวันหนึ่ง แล้วก็กิดขึ้นอีก นึกถึงว่าจะอดทน หรือจะทำสติอย่างไร หรือจะหลีกอย่างไร ก็กลับมาอีก จะต้องทำอย่างไรดี

    ท่านอาจารย์ กำลังที่ยืดยังไม่พอใช่หรือไม่ ยืดได้นิดเดียวกลับมาเร็วมาก แต่ถ้ามีกำลังพอก็ยืดได้มากกว่านั้น และกลับมาช้าหน่อยจนกระทั่งยืดแล้วไม่กลับมาอีกเป็นกัปป์ๆ ก็ได้ ไม่ต้องไปคิดถึงกาลเวลาเลย เพราะเมื่อกล่าวถึงกัปป์ คุณเด่นพงศ์อาจจะเคยพูดว่ารอไม่ไหว แต่ ณ บัดนี้อาจจะเปลี่ยนใจแล้วก็ได้ใช่หรือไม่ เพราะเหตุว่าไหวหรือไม่ไหวก็ต้องรอ อย่างไรก็ต้องรอ อยู่ตรงนี้แล้วจะไปถึงอีกฝั่งหนึ่งก็รออยู่อย่างนั้น หรือจะรอแล้วก็อบรมความรู้ความเข้าใจไปด้วย ถ้าฟังต่อไปจะทำให้คลายโลภะเพราะว่าทั้งหมดเป็นไปด้วยกำลังของโลภะทั้งหมด จะอยากทำอย่างนั้น อยากจะรู้อย่างนี้ อยากจะเป็นอย่างโน้น ทั้งๆ ที่สะสมอกุศลมามาก เพราะฉะนั้นโอกาสของกุศลที่เกิดก็ควรจะรู้ว่ามีกำลังเพิ่มขึ้นแม้ทีละเล็กทีละน้อยก็ยังดีกว่าไม่เกิด

    ผู้ฟัง ความปรารถนาของผู้เป็นศัตรู ผู้ไม่หวังดี เช่น ขอให้อยู่เป็นทุกข์ อย่าอยู่เป็นสุขเลย ขอไม่ให้มีโภคทรัพย์เลย เป็นต้น อันผู้มักโกรธได้ทำแล้วแก่ตนเอง เท่ากับทำตนให้เป็นศัตรูของตน เป็นศัตรูที่เกิดขึ้นภายในตนแล้วทำลายตนเอง ขณะที่เกิดอารมณ์นี้ก็เกิดสะใจ เหตุใดจึงกล่าวว่าทำลายตนเอง

    อ.วิชัย ขณะนั้นก็อาจจะมีฉันทะ (ความพอใจ) ในความโกรธนั้นๆ แต่ก็มีทุกข์โทษที่เกิดจากโทสะเป็นอกุศลธรรม ทรงแสดงอกุศลกรรมบถ ๑๐ ยกตัวอย่าง เช่น โทสะ ปาณาติบาตก็มีมูลคือมีโทสมูล และก็โมหมูล ฉะนั้นความเป็นมูลรากก็เพราะว่าเป็นเหตุให้กระทำปาณาติบาต หรือว่าโดยความเป็นอุปปนิสยปัจจัย ก็คือเมื่อโกรธแล้วย่อมฆ่าสัตว์บ้าง ฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงขณะนั้นเมื่อมีความโกรธ อาจจะพูดถึงความสะใจต่างๆ แต่ทุกข์โทษที่เกิดจากโทสะมี ถ้าเกิดโทสะเจริญมากขึ้นแล้วก็ไปล่วงอกุศลกรรม เมื่ออกุศลกรรมให้ผลก็เป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ แต่เมื่อพิจารณาจริงๆ ขณะที่โกรธเป็นสุขหรือไม่ ขณะนั้นก็มีความเดือดร้อนใจกระวนกระวายใจ และเวทนาก็เป็นโทมนัสเวทนาด้วยก็เป็นความทุกข์ใจ

    ผู้ฟัง มีคำถามว่า ขณะนี้ พบว่า มีแมวสาธารณะมากมาย ถ้าจะทำหมันแมวจะบาปหรือไม่

    ท่านอาจารย์ จิตใคร ต้องรู้ ขณะนั้นเป็นจิตอะไร จิตของใครก็ของคนนั้น จะไปบอกว่าจิตของคนนี้เป็นอกุศล คนนี่กำลังเป็นเมตตาก็คงไม่ได้ใช่หรือไม่ หมอรักษาโรคทำให้คนอื่นเจ็บหรือไม่ ถ้าจะต้องมีการผ่าตัด จิตของหมอเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลก็เป็นจิตของหมอ ใครจะไปบอกได้ รับประทานอาหารด้วยกันจะรู้หรือไม่ว่าจิตของใครเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรม รู้ลักษณะที่กำลังอร่อยด้วยจะรู้หรือไม่ว่าจิตของใครเป็นอกุศลขณะใด เป็นกุศลขณะใด

    ผู้ฟัง คงไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้จึงทรงแสดงพระธรรมให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตัวเอง เป็นประการสำคัญที่สุด ต้องเป็นปัญญาที่เข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนก่อน จะละเอียดไปถึงกับว่าขณะนี้เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นอกุศล โดยที่ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นนามธรรมไม่ใช่เราก่อน ไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวถึงนัยของสติปัฏฐาน ว่าไม่ได้นึกถึงเหตุการณ์ข้างหน้า และก็ไม่ได้นึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว จะต้องมีความเข้าใจเลยว่าขณะนี้มีอะไรปรากฏ นอกเหนือจากนี้ไม่ใช่สติปัฏฐานหรือ

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าสติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับ ที่จะเป็นอริยสัจจธรรมได้ จะต้องเป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นทุกข์เพราะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง ขอความกรุณาอธิบายธรรมที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ทางตา มีอะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตาแต่ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ แต่ผู้รู้ทรงแสดงว่าสภาพธรรมต้องเกิด และต้องกระทบกับจักขุปสาทรูปด้วย กระทบอย่างอื่นก็ไม่ได้ และเมื่อเกิดก็กระทบจักขุปสาทรูป ทั้งรูปที่กำลังปรากฏทางตา และจักขุปสาทรูปยังไม่ดับทำให้มีจิตเห็นเกิดขึ้นเห็น เพราะฉะนั้นขณะนี้ให้คิดถึงความลึกซึ้งของธรรม ซึ่งถ้าไม่รู้ก็เหมือนธรรมดา แต่ถ้าไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น มีแต่ธาตุคือเป็นรูปธาตุ ได้แก่จักขุปสาทรูป และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา รูปธาตุ ๒ อย่างนี้มีแน่นอน และก็มีจิต คือธาตุชนิดหนึ่งซึ่งกำลังเห็น เพียงเท่านี้ ก็เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไปแล้วทั้งหมด นี่คือความลึกซึ้งของธรรมซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมีจึงสามารถที่จะทรงตรัสรู้ความจริงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้นผู้ฟังก็ค่อยๆ พิจารณาว่าสิ่งนี้มี จริงหรือไม่ที่ว่าต้องเกิดจึงได้ปรากฏ ถ้าไม่เกิดจะปรากฏได้อย่างไร ไม่ว่าอะไรทั้งหมด แข็งหรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือแม้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าไม่เกิดขึ้นเลยจะปรากฏไม่ได้เลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าความไม่รู้ของเราระดับไหน มากแค่ไหน แม้ฟังอย่างนี้ก็ยังไม่ได้ประจักษ์ เพราะถ้าประจักษ์จริงๆ คือความเข้าใจความเป็นอายตนะ ซึ่งทรงแสดงไว้โดยละเอียดสำหรับบุคคลที่ได้สะสมมาที่จะฟัง และเข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ด้วยสติที่กำลังรู้ลักษณะนั้นจริงๆ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567