แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 489


    ครั้งที่ ๔๘๙


    ถ. คือ มีวิธีฝึก ถ้าจะฝึกตามตำรา ก็ซื้อสติปัฏฐานแปลไปอ่าน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ว่า จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน เธอต้องเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการก้าวไปข้างหน้าและถอยไปข้างหลัง เธอจงเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการมองข้างหน้าและเหลียวข้างซ้าย ข้างขวา เธอจงเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการคู้อวัยวะเข้าและเหยียดอวัยวะออก เธอจงเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการครองผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร เธอจงเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการกิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม เธอจงเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ เธอจงเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และนิ่ง นิ่งก็ต้องมีสติ

    สตินี้ ถ้าใครฟังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วไปทำเอง ถ้าใครทำได้ ตนเองเคยบวชมา พระที่บวชท่านสอน ท่านฝึกของท่านอยู่เสมอ จะห่มผ้า จะฉันอาหาร ท่านฝึกของท่านอยู่เสมอจนรู้ จะนั่ง จะพูด จะคิด จะพูดออกไป จนรู้ว่าเขาไม่ชอบใจ หยุดได้ นี่แหละเป็นตำราของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ต้องการให้พวกเราฝึก

    สุ. พอใจในข้อปฏิบัตินี้แล้วหรือยัง พอใจแล้ว เพิ่มความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมขึ้นเรื่อยๆ หรือเปล่า หมายความว่า สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมในขณะที่กำลังเห็น รู้ลักษณะของรูปธรรมในขณะที่กำลังเห็น หรืออย่างไร

    ถ. สตินี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ให้ตื่นตลอด ตลอดจนกระทั่งเราจะยืน จะนั่ง จะพูด จะคิดอะไรนี่ ถ้ามีสติควบคุมอยู่ คนนั้นเห็นจะผิดได้ยาก

    สุ. อบรมเจริญสติสัมปชัญญะเพื่อรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมใช่ไหม เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ คือ ปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ได้อบรมเจริญสติจนกระทั่งปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทางหรือเปล่า

    ถ. ท่านอาจารย์ถาม ก็ต้องอธิบาย ที่ผมพูดนั้น เป็นลักษณะของ สัมปชัญญะบรรพ ต่อไปเป็นปฏิกูลบรรพ เธอย่อมพิจารณากายเบื้องบน จากพื้นเท้าเบื้องต่ำ จากปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดโดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน นี่ก็อยู่ในสติปัฏฐาน แต่ว่าเป็นปฏิกูลบรรพ อันนี้พิจารณาถึงรูปถึงนาม

    สุ. สติปัฏฐานทุกบรรพ เพื่อให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็อบรมเจริญสติ อบรมปัญญาให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทาง ซึ่งท่านผู้ฟังก็รับรองว่าใช่ ก็ไม่น่าจะต้องสงสัย เพราะว่าก่อนที่จะถึงการประจักษ์ลักษณะเกิดดับ จะต้องรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเสียก่อน ปัญญาต้องเป็นไปตามลำดับขั้น เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะ ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรม ของรูปธรรม จะต้องมีปัญญาที่รู้ในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม รูปธรรมเสียก่อน เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งไปประจักษ์ความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมโดยรวดเร็ว โดยที่ยังไม่รู้ว่า นามธรรมทางตาเป็นอย่างไร ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเป็นอย่างไร รูปธรรมทางตาเป็นอย่างไร ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเป็นอย่างไร ถ้ายังไม่รู้อย่างนี้ อย่าเพิ่งไปประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งนั่นเป็นแต่เพียงการคิดถึงความไม่เที่ยง ยังไม่ใช่การประจักษ์ ไม่ใช่การรู้ชัด แยกได้ไหมระหว่างการคิดถึงความไม่เที่ยง กับการประจักษ์ในลักษณะด้วยความรู้ชัดจริงๆ

    ถ. ถ้าพูดถึงความไม่เที่ยง ผมก็ต้องแยกปฏิกูลบรรพ ธาตุบรรพ และนวสีบรรพ บรรพนี้ท่านพูดถึงคนตาย พูดถึงเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้เข้าใจว่า ตายไปแล้ว ๑ วัน ๒ วัน ๓ วัน อันพองขึ้น มีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำเหลืองไหล น้อมเข้ามาสู่ถึงร่างกายนี้เล่า ก็มีอย่างนี้ คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ น้อมเข้ามาสู่ใจเราว่า เราต้องตายเหมือนกัน ถ้าหากเราเห็นเขาตาย แต่เราไม่ตาย อย่างนี้ไม่ใช่ เราก็ต้องตาย

    สุ. ท่านผู้ฟังมีเครื่องสอบว่า เป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้อย่างไร ตอนไหนที่จะเป็นปัญญา ที่ประจักษ์ชัดตอนไหน

    ถ. ปัญญาที่ชัด คือ การตาย อย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถาม พระอานนท์ว่า เธอคิดถึงความตายวันละกี่ครั้ง พระอานนท์บอกว่าวันละ ๗ ครั้ง ยังน้อยไป ตถาคตคิดถึงทุกลมหายใจเข้าออก

    สุ. สำหรับตัวท่านเอง

    ถ. ธรรมนี้ เป็นธรรมที่บังเกิดขึ้นกับจิตใจของคนทุกๆ คน ถ้าหากพูดออกไป ผมขาดทุน ถ้าผมพูดว่าถึง ก็จะตั้งให้ว่า ผมเป็นผู้สำเร็จมรรคผล ถ้าผมพูดว่าไม่ถึง ก็ว่าผมพูดเท็จ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้เป็นส่วนกลาง เป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมที่ทุกๆ คนนำไปปฏิบัติได้ ฟังได้ ถ้าใครทำได้มาก ละเอียดมาก คนนั้นรู้ตัวว่า เรานี่บริสุทธิ์ สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ บริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ รู้ด้วยความชำนาญเอง ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ถ้าไม่รู้ เราพูดอย่างไรเขาก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ขอไม่ตอบ

    สุ. ท่านผู้ฟังคงจะไม่เข้าใจคำถาม ไม่ได้ถามว่า ท่านเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้วหรือยัง ไม่ได้ถามว่า ท่านรู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้วหรือยัง และก็จะไม่ถามใคร เพราะไม่ต้องถาม ไม่ใช่เรื่องที่จะถาม แต่ถามเพื่อความเข้าใจว่า การที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้น รู้ได้ในขณะไหน

    . สำหรับตัวเอง ตัวเองรู้ เพราะฝึกมา รู้ในขณะนี้

    สุ. สำหรับคำตอบที่ว่า สามารถที่จะประจักษ์สภาพธรรมได้ในขณะนี้ ขอถามว่า ขณะนี้จะประจักษ์ธรรมอะไร ทางไหน

    ถ. ขออ้างอานิสงส์สักนิดหนึ่ง แต่ก่อนผมสูบบุหรี่ พอศึกษาธรรมแล้ว ไม่สูบบุหรี่ แต่ก่อนนี้ดื่มสุรา เดี๋ยวนี้งดดื่มสุรา ตัวเองดีเฉพาะส่วนนี้ แต่ส่วนลึกซึ้งนั้นก็เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ว่าผมเข้าใจในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ได้ถามเรื่องอานิสงส์ ถามว่าที่รู้ธรรมในขณะนี้ รู้ธรรมอะไร ทางไหน แยกออกมาเป็นทางๆ

    ถ. รู้ธรรมในขณะนี้ ถ้าจะให้พูดในทางสติปัฏฐานก็ได้ ในทางวิปัสสนาก็ได้ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ก็ได้ ท่านอาจารย์จะให้เอาทางไหน

    สุ. เป็นลำดับ

    ถ. ถ้าสติปัฏฐาน ก็ต้องแปลสติปัฏฐานออกมา

    สุ. ไม่ใช่เรื่องแปล เป็นเรื่องรู้ ท่านผู้ฟังกล่าวถึงการรู้หลายระดับ ขอความรู้เป็นลำดับ

    ถ. ก็ต้องแปลเป็นบทเสียก่อน คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านสอนเรายึดหมด พูดกันให้รู้ แล้วขยายออกไปเป็นอรรถ เป็นพยัญชนะ ตอนทำวัตรเช้า บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ คือ ความบริสุทธิ์ต้องมี พยัญชนะต้องถูก อรรถต้องตรง แต่อรรถผมยังไม่รับรอง บางทีอาจจะพลาดได้

    สุ. ไม่ได้หมายความอย่างนี้เลย หมายความว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งท่านผู้ฟังก็ยอมรับแล้วว่า ทางตา มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทางหู มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ความรู้ชัดที่จะรู้ชัดตามลำดับคืออย่างไร ที่ว่าสามารถที่จะรู้ได้ในขณะนี้นั้น รู้สภาพธรรมอะไร ทางไหน ตามลำดับอย่างไร

    ถ. ตาเห็นรูป ไม่ปรุงแต่ง หูได้ยินเสียง ไม่ปรุงแต่ง จมูกดมกลิ่น ไม่ปรุงแต่ง

    สุ. ใคร อะไร กำลังไม่ปรุงแต่งอะไร

    ถ. คือ ไม่ให้ตัณหาเกิดขึ้น

    สุ. ใครไม่ให้ตัณหาเกิดขึ้นได้ ในเมื่อตัณหาเป็นอนัตตา

    ถ. เพราะเรามีธรรม คือ พระไตรลักษณ์คุ้มครอง

    สุ. พระไตรลักษณ์น่ะอะไร ลักษณะของนามอะไรที่กำลังปรากฏดับไป จึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ลักษณะของรูปอะไร รู้ได้ทางไหน ตามความเป็นจริง

    ถ. รูปทุกๆ รูป อยู่ในลักษณะไม่เที่ยง

    สุ. ขั้นต้นก็ไม่ตรงตามความเป็นจริง ที่ว่ารู้แข็งได้ทางตา ก็ไม่ถูกตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น จะไปรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ได้

    ถ. ได้ถามท่านอาจารย์ตั้งแต่แรกว่า ตาเห็นรูป และก็รู้ว่าเห็น มองไปรู้ทันทีว่าคนนี้สวย เรามองรู้เรื่องไปว่า คนนี้ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เข้ากับพระไตรลักษณ์ นั่นไม่ถูกหรือ

    สุ. นี่ไม่ใช่หนทางที่จะประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นแต่เพียงสีสันวัณณะเท่านั้น ไม่ได้เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล และการที่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร ก็เป็นสภาพรู้ ซึ่งไม่ใช่รูปธรรม เป็นนามธรรม

    ถ. ขอเรียนท่านอาจารย์ว่า ไม่ใช่ว่าจะมาไล่เรียง ได้ฟังวิทยุอยู่เสมอ และชมอาจารย์อยู่ในใจว่า ท่านอาจารย์ยังยึดพระไตรปิฎกอยู่ ไม่พลาด การตีความ อรรถเท่านั้นที่ต่างกัน แต่โดยความจริงแล้วเหมือนกัน เอกายโน อยํ มคฺโค ภิกฺขเว ทางเดียว แต่การเดินนี้เราจะเดินอ้อม ท่านอาจารย์ก็อุตส่าห์ศึกษาพระไตรปิฎก ซึ่งทุกคนที่ศึกษารู้ได้ เพราะเราเกิดมาไม่ทันพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็ต้องอาศัยพระไตรปิฎกเป็นหลัก

    อรรถเท่านั้น ที่เราตีความต่างกัน เช่น พุทโธ คำเดียวนี้ ถ้าแปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คนหนึ่งบอกว่า รู้ คนหนึ่งบอกว่า ตื่น คนหนึ่งบอกว่า เบิกบาน อีกคนบอกว่า หักกงวัฏฏะ ถูกทั้ง ๔ คน ท่านอาจารย์ยึดพระไตรปิฎกเป็นหลัก เพราะเราเกิดมาไม่ทันพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ต้องอาศัยพระไตรปิฎก แต่ที่เรามาแยกแยะเท่านั้นที่จะต่างกัน แต่ผลที่สุด ถ้ายึดพระไตรปิฎก ไม่ต่างกัน

    สุ. ท่านผู้ฟังกล่าวคำหนึ่งซึ่งน่าสนใจ คือ ท่านกล่าวว่าตามพระไตรปิฎกด้วยกัน แต่ว่าการเข้าใจอรรถนั้นต่างกัน ขอความรู้ว่า เท่าที่ได้ฟังมาแล้ว กับความคิดความเข้าใจของท่านผู้ฟัง อรรถอะไร ตอนไหน ที่ต่างกัน

    ถ. ที่ถามท่านอาจารย์ว่า พิจารณารูปนามให้ตกพระไตรลักษณ์นี้ ผมถามอาจารย์ว่า ใช่ไหม ตามความเห็นของผมว่า ใช่ ท่านอาจารย์บอกว่า ไม่ใช่ ข้อนี้ ตีอรรถต่างกันอยู่แล้ว

    สุ. ก่อนที่จะถึงความประจักษ์ในลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ที่เป็นไตรลักษณ์ ได้เรียนถามแล้วว่า จะต้องอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเสียก่อนเป็นลำดับแรก ใช่หรือไม่ใช่ คำตอบคือใช่ เพราะฉะนั้นจะต่างกันอย่างไร ก็รับรองว่าใช่ ตอนไหนที่ต่างกัน

    . ที่อาจารย์รับว่าใช่ ก็ไม่ต่าง แต่ที่ท่านอาจารย์ว่าไม่ใช่ ก็ต่าง

    สุ. ต้องมีการรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทางก่อน นี่เป็นเรื่องของข้อปฏิบัติที่จะอบรมกันต่อไป การอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นไปตามลำดับจริงๆ เพราะฉะนั้น ตอนแรกไม่สามารถที่จะประจักษ์ไตรลักษณะอะไรได้เลย ถ้ายังไม่ได้อบรมปัญญาให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะก่อน ซึ่งปรากฏแต่ละทาง

    . ปัญญาก็เรียน ยุบหนอ พองหนอ กับเจ้าคุณเทพสิทธิอีกท่านหนึ่งก็ได้ หรือจะเรียนระเบียบวัดปากน้ำก็ได้ หรือจะเรียนพุทโธ หายใจเข้านี่วัดอโศการาม อาจารย์ลีก็ได้ เวลานี้เราเอาสำนักไหนที่จะเข้าเรียนกัน จะเอายุบหนอ พองหนอ หรือจะเอาสัมมาอรหัง หรือจะเอาลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ได้ทั้งนั้น ผลสุดท้ายได้เหมือนกัน ได้ช้า ได้เร็ว นี่อีกอย่างหนึ่ง สุดแท้แต่ปัญญาใครจะเกิด

    สุ. ไม่ได้ถามเรื่องสำนักไหน แต่สนใจว่า ทำอย่างไรจึงจะอบรมเจริญปัญญาให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทางตามความเป็นจริงเสียก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อที่จะได้ประจักษ์ลักษณะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของนามธรรมและ รูปธรรม

    . อันดับแรกที่จะเข้าเรียน อารมณ์เราสมัครในอะไร อานาปานสติ หรือยุบหนอ พองหนอ ได้ทุกอย่าง ใครชอบอะไรตามใจ ตัวเองชอบอานาปานสติ ที่สำเร็จธรรมมานี่ก็เพราะอานาปานสติ สำเร็จธรรม คือ ปัญญารู้เห็น ได้มรรค ได้ผล สำหรับตัวเอง แต่ถ้าคนอื่นอยากเอาอย่าง อาจจะได้ก็ได้

    สุ. ความรู้ที่ได้รับจากท่านผู้ฟัง ก็เป็นเพียงผลที่กล่าวโดยสั้นๆ ว่า ท่านได้สำเร็จมรรคผลแล้ว แต่ข้อปฏิบัติที่จะให้ผู้อื่นได้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเป็นลำดับตั้งแต่ขั้นแรก ก่อนที่จะถึงการบรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล เจริญอบรมอย่างไร ผลต้องมาจากเหตุ ถ้าเหตุถูก ผลต้องถูก

    ถ. ต้องรู้อะไรก่อนงั้นหรือ ก่อนที่จะเกิดปัญญา บางอารมณ์ก็มาเรียนกับ เจ้าคุณเทพ ยุบหนอ พองหนอ บางคนก็ไปเรียนสำนักวัดปากน้ำ สมฺมา อรหํ บางคนก็ไปเรียนกับวัดอโศการาม อาจารย์ลี

    สุ. ไม่กล่าวถึงสำนักต่างๆ ได้ไหม เจริญอบรมอย่างไร

    ถ. สำหรับผมเองอานาปานสติ มีภาวนาด้วย ไม่ใช่นั่งเฉยๆ อานาปานสติ พุท หายใจเข้า โธ หายใจออก เริ่มต้นหายใจออกก่อน และสังเกตดูว่า หายใจออกยาวหรือสั้น ร้อนหรือเย็น และสติจะไปตั้งอยู่ที่ไหน ตั้งอยู่ที่ริมฝีปาก ก็อยู่ที่นั่น ที่ปลายจมูกก็อยู่ที่นั่น ตั้งที่ไหนก็อยู่ที่นั่น แล้วก็นับไป หายใจออกก็ ๑ หายใจเข้า ๒ ออก ๓ เข้าอีก ๔ นับไปถึง ๑๐ ถ้ายังไม่เกิดอะไรขึ้น ก็ย้อนกลับ

    สุ. ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ตามปกติ ตามธรรมดา ทางตากำลังเห็น ทางหูกำลังได้ยิน ยังไม่ได้พุท ยังไม่ได้โธ ทำอย่างไรจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ เพราะเหตุว่าเกิดปรากฏแล้วเพราะมีเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ไปทำอื่นมารู้ แต่รู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งมีปัจจัยก็ต้องเกิด อย่างเช่น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ จะไม่ให้เห็นเดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ มีปัจจัยที่จะให้เห็นแล้ว ทำอย่างไรจึงจะรู้ในความเป็นปัจจัย ในสภาพธรรมที่ปรากฏแล้ว ในสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนในขณะนี้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ เป็นของจริง เกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย

    ถ. ที่เกิดขึ้น ทำอย่างไร มันถึงเกิดขึ้น

    สุ. เมื่อไม่รู้ ไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๙ ตอนที่ ๔๘๑ – ๔๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564