แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 487


    ครั้งที่ ๔๘๗


    สุ. ถ้าหลับ จิตเป็นภวังค์ สติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งชีวิตนี้ก็สั้นมาก หลับแล้วไม่ตื่นอีกก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่ควรจะหลับ ก็ไม่ควรหลับ ขณะนี้ยังนั่งอยู่ กำลังนั่งฟัง ทางตามีการเห็น ทางหูมีการได้ยิน เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย สติระลึกทันที นั่นเป็นเรื่องละ

    แต่ถ้าเกิดความต้องการว่า อยากจะเดินเพื่อจะให้ปัญญาเกิด นั่นเป็นเรื่องไม่ละ แต่เป็นเรื่องอยากจะได้ ซึ่งโดยวิธีนั้นจะไม่ทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพราะเกิดแล้ว

    ขอให้ทราบว่า แม้กำลังนั่งอยู่ในขณะนี้ ถ้าสติไม่เกิด ปัญญาไม่สำเหนียกที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้นถูกครอบงำแล้วด้วยอวิชชา ความไม่รู้ในความไม่เที่ยง ในความไม่ใช่ตัวตน ในสภาพที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอยู่ในขณะนี้

    ถ. เรื่องการเดิน ด้วยเหตุที่เป็นโรคอย่างหนึ่งซึ่งนั่งนานๆ ไม่ได้ หมอก็แนะนำว่าให้เดิน ก็ใช้การเดิน และกำหนดการเดินไปด้วย เช่น พอก้าว ก็รู้สึกว่าเหยียบดินที่แข็ง หรือเหยียบที่โคลน อย่างนี้ใช้ได้ไหม

    สุ. ถ้าเป็นสัมมาสติ คือ ไม่มีเจตนาด้วยความเป็นตัวตนที่จะทำอะไร ที่จะรู้อะไร ซึ่งเมื่อสติเกิดก็รู้ว่า ขณะนั้นสติกำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่เป็นความแยบคายในเรื่องของการละ บางทีกำลังรู้แต่เป็นตัวตนที่รู้ ไม่ใช่ความเข้าใจอย่างถูกต้องจริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นสติที่เกิดระลึกรู้ และแม้สติก็ดับไป สติเป็นอนัตตา เพราะว่าหลังจากนั้นก็หลงลืมสติอีก ตอนนี้เป็นจุดแยกที่จะทำให้ละ โดยการไม่ยึดถือว่าเป็นเราที่กำลังรู้แข็ง หรือว่ากำลังรู้อ่อนทางกายที่กำลังปรากฏ

    และที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระโมคคัลลานะว่า อนึ่ง เราหาสรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงไม่ แต่มิใช่ว่าจะไม่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงก็หามิได้ คือ เราไม่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยหมู่ชนทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ก็แต่ว่าเสนาสนะอันใดเงียบเสียง ไม่อื้ออึง ปราศจากการสัญจรของหมู่ชน ควรเป็นที่ประกอบกิจของผู้ต้องการความสงัด ควรเป็นที่หลีกออกเร้น เราสรรเสริญความคลุกคลีด้วยเสนาสนะเห็นปานนั้น ฯ

    . คำว่า คลุกคลี หมายความว่าอย่างไร ที่พระพุทธเจ้าตรัสในสูตรนี้ว่า ไม่สรรเสริญการคลุกคลีด้วยหมู่ชนทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต แต่ในมงคลสูตรพระพุทธเจ้าทรงแนะให้คบกับบัณฑิต บัณฑิตก็คือมนุษย์หรือบรรพชิตนั่นเอง สงสัยว่าสองสูตรนี้ค้านกันหรือไม่

    ผู้ฟัง ศัพท์เดิมว่าอย่างนี้ คเณน วตฺตตีติ ฆนิกา ตามศัพท์ว่า เป็นไปกับด้วยหมู่ คือ หมู่ทำอย่างไร หมู่ไปอย่างไร ฉันก็ไปอย่างนั้น คล้ายๆ กับว่า คลุกเคล้า ปนเปกันไป

    อีกคำหนึ่ง แปลไม่น่าฟัง อย่าง ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา ความจริงควรจะเป็นการคบหาบัณฑิต แต่บางคนบอกว่า เสพบัณฑิต คำว่า เสพ ดูเหมือนเราจะนิยมกันว่าเป็นคำต่ำๆ แต่เสวนะ ว เป็น พ ก็เป็น เสพ ถ้าแปลอย่างไพเราะ ก็คบบัณฑิต

    อีกคำหนึ่ง วินาสน พระเทศน์ว่า ฉิบหายๆ ฟังคล้ายๆ กับด่า คำว่า วินาสน ควรจะแปลทับศัพท์ว่า พินาศ อย่างอาฬารดาบส อุทกดาบส ที่พระพุทธเจ้าไปโปรดไม่ทัน ฉิบหายเสียด้วยคุณธรรม ความจริงคำว่า ฉิบหาย เป็นคำด่าภาษาไทย ควรจะแปลว่า พินาศ ทับศัพท์จะเหมาะกว่า เพราะฉะนั้น การแปลบาลีเป็นไทย บางทีก็เหมาะ บางทีก็ไม่เหมาะ อย่างคลุกคลีนี้เหมาะ แปลว่า เป็นไปด้วยหมู่

    สุ. ความหมายเดิมของศัพท์ก็สมบูรณ์ในอรรถ เป็นไปด้วยหมู่ เป็นไปด้วย หมู่ชน ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่ใช่เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น นี่คือการเป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ปรากฏด้วยความเป็นตัวตน ซึ่งพระผู้มีพระภาคไม่ทรงสรรเสริญ เพราะควรจะเป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    สำหรับการคบกับบัณฑิต ไม่ใช่หมายความว่า ให้คลุกคลีกับบัณฑิต ไม่ใช่เป็นไปด้วยความยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่เพื่อประโยชน์ในธรรม

    สำหรับเรื่องของการหลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว โดยมากท่านจะศึกษาเฉพาะข้อความที่ว่า พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญ แต่ว่าไม่ค่อยจะคิดถึงข้อความในพระไตรปิฎกที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า บุคคลประกอบด้วยธรรมประเภทใด หรือว่าบุคคลชนิดใด ย่อมไม่ควรเพื่อหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งสภาพธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง แม้อัธยาศัยที่ต่างกันของบุคคลทั้งหลายด้วย

    อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อวัปปกาสสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมไม่ควรเพื่อหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ๑ ไม่สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ๑ ไม่สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ ๑ ไม่สันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ ๑ เป็นผู้มากด้วยความดำริในกาม ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมไม่ควรเพื่อหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมควรเพื่อหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ๑ สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ๑ สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ ๑ สันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ ๑ ย่อมเป็นผู้มากด้วยความดำริในการออกจากกาม ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมควรเพื่อหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ฯ

    จบ สูตรที่ ๗

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องของอัธยาศัยตามความเป็นจริง บุคคลใดที่ไม่สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ไม่สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ไม่สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ จะเป็นผู้ที่หลีกเร้นออกจากหมู่อยู่ผู้เดียวตามความเป็นจริงได้ไหม

    ตัวท่านเองซึ่งเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้สภาพธรรมที่ท่านได้สะสมมาตามความเป็นจริง ย่อมรู้อัธยาศัยของท่านจริงๆ ว่า ธรรมที่เกิดขึ้นย่อมมีปัจจัยสะสมมาจึงได้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ท่านเป็นผู้ที่พร้อมจะหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียวตามความเป็นจริงหรือเปล่า ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น ท่านก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ท่านสะสมมาตามความเป็นจริง จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏเพราะได้สะสมมาว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้

    ถ. ภิกษุผู้มีธรรม ๕ ประการ ไม่สมควรหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียว ทำไมพระองค์จึงกล่าวว่าไม่สมควร เพราะใครๆ ก็รู้ว่า การหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียวเป็นการขัดเกลายิ่งขึ้น เข้าใจว่า จุดประสงค์ของพระพุทธเจ้าจะเป็นอย่างนี้ คือ ผู้ที่มีกิเลสอยู่แล้ว ก็ปล่อยให้อยู่ต่อไป ผู้ที่มีกิเลสเบาบางแล้ว ก็ขัดเกลาให้หมดไปเลย คือ ผู้ที่มีกิเลสมากก็แล้วกันไป จะเป็นลักษณะอย่างนี้หรือไม่

    สุ. ไม่ใช่ว่าจะปล่อยหรือไม่ปล่อย แต่ต้องเป็นอัธยาศัยของผู้นั้นจริงๆ อย่างท่านผู้ฟังก็พิจารณาได้ว่า ท่านจะไปหรือเปล่า หรือว่าท่านจะไม่ไป ไปหมายความว่าละชีวิตของฆราวาสสู่เพศของบรรพชิต เพื่อการปฏิบัติขัดเกลากิเลสด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ จนถึงการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    ท่านผู้ฟังพิจารณาได้เดี๋ยวนี้เลยว่า ตัวท่านจะไปหรือไม่ไป ไม่ใช่ไปทั้งๆ ที่ยังผูกพัน ยังมีความดำริในกาม ยังพอใจในสัตว์ ในบุคคล ในโภคสมบัติต่างๆ และคิดว่า ถ้าปฏิบัติแล้วจะต้องไป กับการที่บุคคลในครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม และมีศรัทธาจริงๆ ในการละเพศฆราวาส อย่างท่านรัฐปาละ เป็นต้น ไม่มีใครที่จะยับยั้งท่านได้เลย ท่านจะไปจริงๆ ไปจากเพศฆราวาสสู่เพศบรรพชิต นั่นเป็นอัธยาศัยจริงๆ ของท่าน ส่วนท่านอื่นๆ ซึ่งไม่มีอุปนิสัยก็ไม่ได้ไป แต่ไม่มีใครเข้าใจผิดว่า การอบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นต้องไป และเมื่อไปไม่ได้ ก็เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ได้ เจริญสติปัฏฐานได้ โดยที่ไม่ต้องเป็นเพศบรรพชิต ก็อบรมเจริญปัญญา รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ตามความเป็นจริง

    ข้อสำคัญที่สุด คือ รู้จักตัวเองถูกต้องตรงตามความเป็นจริง และจะมีวิธีไหนที่จะรู้จักตัวเองถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ถ้าสติไม่เกิด กำลังยินดีพอใจใคร่ที่จะได้ สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะละความยินดีพอใจที่ยึดถือในตัวตนในวัตถุสิ่งนั้นได้อย่างไร

    ถ้าขณะนั้นสติไม่เกิดขึ้น กำลังโกรธ กำลังขุ่นเคือง กำลังไม่แช่มชื่น กำลังไม่พอใจ จะละความขุ่นเคืองที่เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ในตัวตน ในสัตว์ ในบุคคลที่กำลังขุ่นใจนั้นได้อย่างไร ถ้าสติในขณะนั้นไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    หรือว่ากำลังมีมานะ ถือตน กำลังริษยา กำลังเป็นมัจฉริยะ จะละกิเลส เหล่านี้ได้อย่างไร ถ้าขณะนั้นสติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ว่า เป็นนามธรรมแต่ละชนิดซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งการที่จะดับกิเลสได้ ต้องเวลาที่กิเลสเกิดปรากฏและรู้ เพราะสติระลึก จึงรู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลในขณะนั้น และรู้จักตัวของท่านเองตามความเป็นจริงที่ได้สะสมมาด้วย เพราะว่าสภาพธรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ก็เพราะมีปัจจัยที่ได้สะสมมา ถ้าไม่มีปัจจัย จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาได้เลย

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านจะรู้จักตัวของทุกท่านดี และก็ค่อยๆ ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ด้วยสติเกิดระลึกรู้ในสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏ ถ้าสติไม่เกิด ก็ไม่มีทางที่จะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    กำลังเห็น จริงไหม จริง ระลึกรู้

    สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา กำลังปรากฏจริงไหม จริง ระลึกเพื่อที่จะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานี้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏได้เฉพาะทางตาเท่านั้น

    เสียงกำลังปรากฏ จริงไหม ได้ยิน มี กำลังรู้เสียง เสียงจึงปรากฏได้ สภาพที่รู้เสียงมี จริงไหม นี่คือสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

    กำลังดีใจ เป็นสุข จริงไหม กำลังโกรธ ลักษณะที่โกรธ จริงหรือไม่จริง ถ้าจริง สติระลึกรู้ ก็เป็นการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    ถ. บางท่านให้ระลึกรู้เมื่อได้ยินเสียง ตามความเป็นจริง คือ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้จะใช่ไหม

    สุ. ท่านผู้ฟังกล่าวว่า บางท่านให้ระลึกรู้ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เวลาที่ได้ยินเสียง ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม พิจารณาให้ตรงลักษณะพระไตรลักษณ์ จริงๆ ถูกต้องไหม เวลาที่ได้ยินก็ให้พิจารณาไตรลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    ถ. ในเรื่องธรรมบท พระจักขุบาล เณรที่จูงมือพระจักขุบาลไปในป่า ได้ยินเสียงสตรีในป่าร้องเพลงขึ้น เพราะไม่ดับเสียงอันนั้น จึงติดในเสียง เณรนั้นจึงสึกไป ผมหมายถึงว่า ได้ยินแล้วก็ไม่ดับ คือ ไม่ดับเหตุอันนั้น

    สุ. แล้วจะดับอย่างไร

    ถ. ท่านอาจารย์สอนว่า เสียงที่ได้ยิน ไม่ว่าเสียงที่ดีหรือเสียงที่ชั่ว เสียงที่ดี เราก็ดับได้ เสียงที่ชั่วเราก็ดับได้ หมายถึงว่า ไม่เกิดการต่อ ไม่ต่อเรื่อง ถ้าใครทำได้อย่างนี้ มีสติระลึกได้อย่างนี้ ก็เห็นจะใช้ได้ ผู้ที่เจริญวิปัสสนาหรือกัมมัฏฐานอาศัยพิจารณากายเป็นที่ตั้ง คือ พิจารณากาย กาย ก็หมายความว่า เกิดขึ้นแล้วแก่ เจ็บ ตายทุกคน นี่เป็นสัจธรรม เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เรียกว่าเป็นสภาวะทุกข์ที่จะต้องรับทุกคน สำหรับปกิณณกทุกข์ หมายถึง โศกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส ความโศก ความร่ำไร รำพัน ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เป็นชั่วครั้งชั่วคราว ทรัพย์สินเสียหาย ญาติพี่น้องตาย อะไรอย่างนี้ เป็นทุกข์จร บางครั้งก็มี บางครั้งก็ไม่มี คนที่มีความสุข แต่เขาหนีสภาวะทุกข์ไม่ได้ เราพิจารณาอย่างนี้จนเข้าใจชัดเจนว่า คนเราเกิดมานี้ เข้าลักษณะที่ว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เข้าไตรลักษณะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ จึงมีความวิราคะ คือ ความเบื่อ ความหน่าย ความคลายความกำหนัด นี่เป็นความเห็นส่วนตัว อาจารย์ท่านสอน

    สุ. อันนี้รู้ทั่วๆ ไป แต่เวลาที่จะรู้ชัดนี่ รู้ตรงไหน รู้อย่างไร ผลคือการรู้ชัดนามธรรม รู้ชัดรูปธรรม แต่อบรมเจริญเหตุอย่างไรจึงจะรู้ชัดในรูปธรรม ในนามธรรม

    ถ. ต้องพิจารณาให้ตกพระไตรลักษณ์

    สุ. พิจารณานามธรรม

    ถ. นามธรรมเรามองไม่เห็น แต่เราพิจารณารูปธรรมไปหานามธรรม

    สุ. การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ มีกี่ทาง

    ถ. ถ้าเห็น มีทางเดียว

    สุ. ทางตา ต้องมีสิ่งที่ควรจะรู้ชัดได้ใช่ไหม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ทางตาจะรู้ชัดในรูปธรรมนามธรรมได้อย่างไร ทางหูจะรู้ชัดในรูปธรรมในนามธรรมได้อย่างไร ทางจมูกจะรู้ชัดในรูปธรรมในนามธรรมได้อย่างไร ทางลิ้นจะรู้ชัดในรูปธรรมในนามธรรมได้อย่างไร ทางกายจะรู้ชัดในรูปธรรมในนามธรรมได้อย่างไร ทางใจจะรู้ชัดในรูปธรรมในนามธรรมได้อย่างไร เพราะว่าทุกคนเห็นด้วยที่จะต้องรู้ชัดในนามธรรมและรูปธรรม ๖ ทางที่ปรากฏตามความเป็นจริง

    ถ. รู้ชัดตามสภาพความเป็นจริง หมายความถึงดูรูป รูปเกิดแล้วต้องเกิด ต้องเจ็บ ต้องตาย เกิดแล้วก็ดับไป ฝ่ายนามธรรมเกิดแล้วต้องดับไป

    สุ. ขณะนี้รูปทางตากำลังปรากฏ จะรู้ชัดในลักษณะของรูปทางตาได้อย่างไร

    ถ. เห็นจะไม่ลำบาก เพียงดูคนคนหนึ่ง ตอนนี้คุณอายุเท่าไรแล้ว ถ้าอายุ ๓๐ ดูชัดๆ เลย ต่อไปอายุ ๗๐ ก็ต้องเหมือนผม

    สุ. ไม่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า การที่จะรู้รูปให้ชัด ต้องรู้ว่าอายุเท่าไร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๙ ตอนที่ ๔๘๑ – ๔๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564