แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 512


    ครั้งที่ ๕๑๒


    ข้อความต่อไปมีว่า

    ข้อ ๖๓

    พระพุทธานุญาตข้าวยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวาน

    ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่พราหมณ์นั้นด้วย ๓ คาถานี้แล้ว เสด็จลุกจากที่ประทับกลับไป

    ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตข้าวยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวาน

    มิได้ทรงจำกัด หรือว่าห้ามบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ ซึ่งท่านผู้ฟังคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงตัดรอนการบริโภคสิ่งที่มีประโยชน์ จำกัดกาลของการบริโภค แต่พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า อาหารใดจะเป็นประโยชน์ และไม่จำกัดว่าจะต้องบริโภคเพียงหนเดียว เมื่อมีผู้ที่มีศรัทธาจะถวายอาหารที่เป็นประโยชน์ คือ ข้าวยาคู ได้แก่ ข้าวต้ม ซึ่งเป็นอาหารอ่อน เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย พระผู้มีพระภาคก็ทรงอนุญาต

    ผู้ฟัง ปัญหาที่อาจารย์นำมากล่าวนี้ ผมบวชเรียนมา มีความรู้ คำว่า เอกภตฺติโก แปลว่า กินหนเดียว แยกศัพท์เป็น เอก+ภตฺต คำว่า ภัต แปลว่า สิ่งที่กิน

    ยาคู ผมเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ บางอาจารย์แปลว่า ข้าวต้ม เป็นประเภทน้ำ ผมจะเรียนให้ทราบ ลองทำดูก็ได้ เคยเห็นเขาทำ คือ ข้าวที่ปลูกในนา พอออกรวงเป็นน้ำนม ยังไม่ทันจะสุกดี ยังเป็นน้ำนม เอามาตำ โขลกทั้งใบ สีออกเขียวๆ ข้าวก็ละลาย ที่เป็นเม็ดก็เป็นน้ำนม ใส่น้ำตาลลงไป

    เอกภัตตโก พระพุทธเจ้าท่านให้ฉันหนเดียว ส่วนอัฏฐปานะ มีถึง ๘ อย่าง ยาคูเป็นเครื่องดื่ม ที่พระพุทธเจ้ารับนั้น ไม่ใช่รับภัต แต่รับยาคู

    อีกอย่างหนึ่ง เอกภัตติโก นี้ แปลว่า หนเดียว พวกข้าวสุกข้าวสารของกิน จริงๆ หนเดียวจริงๆ ของที่เป็นอาหาร ส่วนของกินเล่นๆ อย่างที่เราไปเลี้ยงกันตามภัตตาคาร เขานำเมล็ดแตงโมมาให้เรากินเล่น จะเรียกว่าเป็นอาหารไม่ได้ และคำว่า เอกภัตติโกนี้ แปลว่า ผู้มีภัตหนเดียว ก็อาจจะกินข้าวหนเดียว แต่ยาคูที่อาจารย์พูดถึง นำไปถวายภิกษุ ท่านไม่รับ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้รับ ยาคูไม่ใช่ภัต บาลีเป็นหลักฐาน เครื่องดื่มน้ำๆ เขาเรียกว่า ปิว ใช้คำว่า ดื่ม ส่วนอื่นๆ เรียก ภุญฺชติ โภชน กินจริงๆ ไม่ใช่กินเล่นๆ เคี้ยวเล่นๆ คือ ขาทนีย โภชนีย คือ กินจริงๆ ภาคอีสาน ขาทนีย เชิญเคี้ยวหมาก ถ้ากินหมาก ต้องกลืนเข้าไป

    บาลีแต่เดิม พระพุทธเจ้าตรัสเป็นภาษามคธ พม่าเอาไปแปลเป็นภาษาพม่า มอญเอาไป เขมรเอาไป ของเราภาคเหนือแปล สำนวนภาคเหนือมาถึงภาคกลาง ก็คนละอย่าง ไม่เหมือนกัน บางอย่างก็เรียกเหมือนกัน คล้ายกัน

    เอกภัตติโก แปลว่า กินหนหนึ่ง หรือหนเดียว หรือครั้งเดียว เป็นเรื่องกิน จริงๆ ส่วนกินยาคูอย่างอาจารย์ว่า เอาไปถวายได้

    สุ. เรื่องของยาคู เป็นเรื่องในครั้งอดีต ซึ่งในปัจจุบันนี้ไม่ทราบว่า ท่านผู้ฟังท่านใดจะชำนาญในการปรุงข้าวยาคู หรือจะเข้าใจความหมายของยาคูประการใด แต่ยาคูตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนั้น ก็ควรจะเป็นข้าวต้มอ่อนที่ละเอียด หรือว่าอาหารที่อ่อนมาก

    ใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค เภสัชชขันธกะ เรื่องพระผู้มีพระภาคทรงประชวรโรคลมเกิดในพระอุทร มีข้อความอธิบายเรื่องยาคูว่า

    ประชวรโรคลมเกิดในพระอุทร

    ข้อ ๔๙

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินโดยลำดับ เสด็จถึงพระนคร ราชคฤห์ ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์นั้น คราวนั้นพระองค์ประชวรโรคลมเกิดใน พระอุทร จึงท่านพระอานนท์ดำริว่า แม้เมื่อก่อนพระผู้มีพระภาคประชวรโรคลมเกิดใน พระอุทร ก็ทรงพระสำราญได้ด้วยยาคูปรุงด้วยของ ๓ อย่าง จึงของาบ้าง ข้าวสารบ้าง ถั่วเขียวบ้าง ด้วยตนเอง เก็บไว้ในภายในที่อยู่ ต้มด้วยตนเองในภายในที่อยู่ แล้วน้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า

    ขอพระผู้มีพระภาคโปรดดื่มยาคู ปรุงด้วยของ ๓ อย่าง พระพุทธเจ้าข้า.

    พุทธประเพณี

    พระตถาคตทั้งหลาย ทรงทราบอยู่ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ย่อมไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมตรัสถามสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ในสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ

    พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมสอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ จักทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกทั้งหลายอย่างหนึ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า

    ดูกร อานนท์ ยาคูนี้ได้มาแต่ไหน

    ท่านพระอานนท์กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบทันที

    ทรงตำหนิท่านพระอานนท์

    พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า

    ดูกร อานนท์ การกระทำของเธอนั่นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร มิใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ดูกร อานนท์ ไฉนเธอจึงได้พอใจในความมักมากเช่นนี้เล่า ดูกร อานนท์ อามิสที่เก็บไว้ในภายในที่อยู่ เป็นอกัปปิยะ แม้ที่หุงต้มในภายในที่อยู่ ก็เป็นอกัปปิยะ แม้ที่หุงต้มเอง ก็เป็นอกัปปิยะ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ...

    ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายดังต่อไปนี้

    พระพุทธบัญญัติห้ามอามิสที่เป็นอันโตวุตถะเป็นต้น

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันอามิสที่เก็บไว้ในภายในที่อยู่ ที่หุงต้มในภายในที่อยู่ และที่หุงต้มเอง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ

    ข้อความของพระวินัยยังมีความละเอียดต่อไปอีก ซึ่งเป็นทั้งพระพุทธบัญญัติตอนต้น และที่ทรงอนุญาตเพิ่มเติมในภายหลังตามความเหมาะสมด้วย

    สำหรับยาคูนี้ไม่ใช่ปานะ เป็นประเภทอาหารอ่อนที่บริโภคได้ภายในกาล คือ ภายในเที่ยง ไม่ใช่หลังเที่ยง ซึ่งข้อความต่อไปจะแสดงให้เข้าใจถึงการบริโภคอาหารภายในตอนเช้า ที่นับว่าเป็นภัตหนเดียว ข้อความมีว่า

    เรื่องมหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใส

    ข้อ ๖๔

    ประชาชนทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวานแก่ภิกษุทั้งหลาย จึงตกแต่งยาคูที่แข้นและขนมปรุงด้วยน้ำหวานถวายแต่เช้า ภิกษุทั้งหลายที่ได้รับอังคาสด้วยยาคูที่แข้นและขนมปรุงด้วยน้ำหวานแต่เช้า ฉันภัตตาหารในโรงอาหารไม่ได้ตามที่คาดหมาย คราวนั้นมหาอำมาตย์คนหนึ่งผู้เริ่มเลื่อมใสได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น และได้มีความคิดว่า ถ้ากระไร เราพึงตกแต่งสำรับมังสะ ๑,๒๕๐ ที่ เพื่อภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป น้อมเข้าไปถวายภิกษุรูปละ ๑ สำรับ แล้วสั่งให้ตกแต่งขาทนียโภชนียาหารอันประณีต และสำรับมังสะ ๑,๒๕๐ ที่ โดยผ่านราตรีนั้น แล้วสั่งให้เจ้าพนักงานไปกราบทูล ภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารสำเร็จแล้ว

    ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเสด็จ พระพุทธดำเนินสู่นิเวศน์ของมหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้นแล้ว ประทับนั่งเหนือ พระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย พร้อมด้วยพระสงฆ์ จึงมหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้นอังคาสภิกษุทั้งหลายอยู่ในโรงอาหาร

    ภิกษุทั้งหลายพูดอย่างนี้ว่า

    จงถวายแต่น้อยเถิดท่าน จงถวายแต่น้อยเถิดท่าน

    ท่านมหาอำมาตย์กราบเรียนว่า

    ท่านเจ้าข้า ขอท่านทั้งหลายอย่ารับแต่น้อยๆ ด้วยคิดว่า นี่เป็นมหาอำมาตย์ที่เริ่มเลื่อมใส กระผมตกแต่งขาทนียโภชนียาหารไว้มาก กับสำรับมังสะ ๑,๒๕๐ ที่ จักน้อมเข้าไปถวายภิกษุรูปละ ๑ สำรับ ขอท่านทั้งหลายกรุณารับให้พอแก่ความต้องการเถิดเจ้าข้า

    จากพระธรรมวินัยที่ท่านผู้ฟังได้รับฟัง ถ้าท่านเป็นผู้สังเกต ก็จะได้สิ่งละอันพันละน้อยที่เป็นชีวิตจริงๆ ของพุทธบริษัทในครั้งนั้น เช่น ท่านมหาอำมาตย์ได้กราบเรียนพระภิกษุว่า ท่านเจ้าข้า ขอท่านทั้งหลายอย่ารับแต่น้อยๆ ด้วยคิดว่านี่เป็นมหาอำมาตย์ที่เริ่มเลื่อมใส

    พระภิกษุทั้งหลาย แม้ในการที่จะรับปัจจัยหรือภัตตาหาร ก็จะต้องพิจารณาตามกำลังศรัทธาของผู้ให้ด้วย ถ้าเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสน้อย ก็รับน้อย ถ้าเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสมาก ก็รับมาก ตามควรแก่ศรัทธาของผู้ให้ เพราะฉะนั้น เมื่อพระภิกษุทั้งหลายท่านฉันยาคูที่แข้น คือ ที่แห้ง ที่มีเนื้อข้าว เนื้ออาหารมาก ท่านก็อิ่ม ไม่สามารถที่จะบริโภคต่อได้มาก เพราะฉะนั้น ท่านก็ขอให้มหาอำมาตย์นั้นถวายแต่น้อย แต่ว่ามหาอำมาตย์ไม่ทราบ กลับคิดว่า พระภิกษุเห็นว่า มหาอำมาตย์เป็นผู้ที่เริ่มเลื่อมใส จึงรับแต่น้อย

    ข้อความต่อไป

    ภิกษุทั้งหลายพูดว่า

    ท่าน พวกอาตมภาพรับแต่น้อยๆ มิใช่เพราะเหตุนั้นเลย แต่เพราะพวก อาตมภาพได้รับอังคาสด้วยยาคูที่แข้นและขนมปรุงด้วยน้ำหวานแต่เช้า ฉะนั้น พวก อาตมภาพจึงขอรับแต่น้อยๆ

    เหตุการณ์ต่อไป ก็เป็นชีวิตของพุทธบริษัทในครั้งนั้น แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยให้เกิดกุศลจิตหรืออกุศลจิตประการใด

    ข้อความต่อไป

    ทันใดนั้น มหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้น จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า

    ไฉนพระคุณเจ้าทั้งหลาย อันกระผมนิมนต์แล้วจึงได้ฉันยาคูที่แข้นของผู้อื่นเล่า กระผมไม่สามารถจะถวายให้พอแก่ความต้องการหรือ

    แล้วโกรธไม่พอใจ เพ่งจะหาโทษให้ ได้บรรจุบาตรของภิกษุทั้งหลายเต็ม พลางกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจะฉันก็ได้ นำไปก็ได้ ครั้นแล้วอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสร็จแล้ว นำพระหัตถ์ออกจากบาตรให้ห้ามภัตแล้ว นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงแก่มหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้น ซึ่งนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับไม่ทันนาน มหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้น ได้บังเกิดความรำคาญและความเดือดร้อนว่า มิใช่ลาภของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะเราโกรธ ไม่พอใจ เพ่งจะหาโทษให้ ได้บรรจุบาตรของภิกษุทั้งหลายเต็มพลางกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจะฉันก็ได้ นำไปก็ได้ อะไรหนอแล เราสร้างสมมาก คือ บุญหรือบาป

    ครั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง จึงกราบทูลว่า

    พระพุทธเจ้าข้า เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับไม่ทันนาน ความรำคาญและความเดือดร้อนได้บังเกิดแก่ข้าพระพุทธเจ้า ณ ที่นั้นว่า มิใช่ลาภของข้าพระพุทธเจ้าหนอ ลาภของข้าพระพุทธเจ้าไม่มีหนอ ข้าพระพุทธเจ้าได้ชั่วแล้วหนอ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะข้าพระพุทธเจ้าโกรธ ไม่พอใจ เพ่งจะหาโทษให้ ได้บรรจุบาตรของภิกษุทั้งหลายเต็มพลางกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจะฉันก็ได้ นำไปก็ได้ อะไรหนอแล ข้าพระพุทธเจ้าสร้างสมไว้มาก คือ บุญหรือบาป ดังนี้ อะไรกันแน่ ที่ข้าพระพุทธเจ้าสร้างสมมาก คือ บุญหรือบาป พระพุทธเจ้าข้า

    มหาอำมาตย์ท่านอุตส่าห์จัดสำรับอย่างประณีตถึง ๑,๒๕๐ ที่ แต่กระนั้นก็เกิดโกรธเมื่อได้ฟังพระภิกษุทั้งหลายท่านบอกว่า ให้ถวายแต่น้อย เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเดือดร้อนใจขึ้นอย่างนี้ ท่านก็ได้ไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    อาวุโส ท่านนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเพื่อเจริญบุญกุศลและปีติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยทานอันเลิศใด ท่านชื่อว่าสร้างสมบุญไว้มากเพราะทานอันเลิศนั้น เมล็ดข้าวสุกเมล็ดหนึ่งๆ ของท่าน อันภิกษุรูปหนึ่งๆ ผู้เลิศด้วยคุณสมบัติอันใดรับไปแล้ว ท่านชื่อว่าสร้างสมบุญไว้มาก เพราะภิกษุผู้เลิศด้วยคุณสมบัติอันนั้น สวรรค์เป็นอันท่านปรารภไว้แล้ว.

    ลำดับนั้น มหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้นได้ทราบว่า เป็นลาภของตน ตนได้ดีแล้ว บุญมากอันตนสร้างสมไว้แล้ว สวรรค์อันตนปรารภไว้แล้ว ก็ร่าเริง ดีใจ ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป

    ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุทั้งหลายอันทายกนิมนต์ไว้แห่งอื่น ฉันยาคูที่แข้นของผู้อื่นจริงหรือ

    ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า

    จริง พระพุทธเจ้าข้า

    พระพุทธบัญญัติห้ามฉันยาคูที่แข้น

    พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นอันทายกนิมนต์ไว้แห่งอื่น จึงได้ฉันยาคูที่แข้นของผู้อื่นเล่า การกระทำของพวกโมฆบุรุษนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอันทายกนิมนต์ไว้แห่งอื่น ไม่พึงฉันยาคูที่แข้นของผู้อื่น รูปใดฉัน พึงปรับอาบัติตามธรรม

    ข้อความในพระไตรปิฎกก็ให้ความชัดเจนในเรื่องของภัตหนเดียวว่า หมายความถึง การบริโภคภัตเช้าภายในเวลาเที่ยง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๕๑๑ – ๕๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564