แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 505


    ครั้งที่ ๕๐๕


    ข้อความต่อไป

    สังคารวพราหมณ์กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บรรดาปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนั้น ปาฏิหาริย์ที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ดังนี้นั้น ผู้ใดแสดงอิทธิปาฏิหาริย์นี้ได้ แสดงฤทธิ์เป็นอันมาก ผู้นั้นย่อมชอบใจปาฏิหาริย์นั้น ปาฏิหาริย์ที่ผู้ใดแสดงได้และเป็นของผู้นั้นนี้ ย่อมปรากฏแก่ข้าพระองค์เหมือนกับรูปลวง

    ปาฏิหาริย์ที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พูดดักใจได้โดยนิมิตประการต่างๆ ฯลฯ ผู้ใดแสดงปาฏิหาริย์นี้ได้ ผู้นั้นย่อมชอบใจปาฏิหาริย์นั้น ปาฏิหาริย์ที่ผู้ใดแสดงได้และเป็นของผู้นั้นนี้ ย่อมปรากฏแก่ข้าพระองค์เหมือนกับรูปลวง

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บรรดาปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ อย่างนี้ ปาฏิหาริย์ที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ว่า จงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนี้ จงมนสิการอย่างนี้ อย่าได้มนสิการอย่างนี้ จงละสิ่งนี้เสีย จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่ ควรแก่ข้าพระองค์ ทั้งดีกว่าและประณีตกว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ที่ท่านพระโคดมตรัสดีแล้ว และข้าพระองค์จะจำไว้ว่า ท่านพระโคดมประกอบด้วยปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ เพราะท่านพระโคดมแสดงฤทธิ์ได้เป็นอันมาก ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เพราะท่านพระโคดมกำหนดรู้ใจของผู้ที่เข้าสมาธิ อันไม่มีวิตกวิจาร ด้วยใจของพระองค์ว่า ท่านผู้นี้ตั้งมโนสังขารไว้ด้วยประการใด จักตรึกวิตกชื่อโน้นในลำดับจิตนี้ด้วยประการนั้น เพราะท่านพระโคดมทรงพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ว่า จงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนี้ จงมนสิการอย่างนี้ อย่ามนสิการอย่างนี้ จงละสิ่งนี้เสีย จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่ ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ ท่านได้กล่าววาจาที่ควรนำไปใกล้เราแน่แท้เทียวแล เออ ก็เราจักพยากรณ์แก่ท่านว่า เพราะเราแสดงฤทธิ์ได้เป็นอันมาก ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ดูกร พราหมณ์ เพราะเรากำหนดรู้ใจของผู้ที่เข้าสมาธิ ฯลฯ จงมนสิการอย่างนี้ อย่ามนสิการอย่างนี้ จงละสิ่งนี้เสีย จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่ ฯ

    สังคารวพราหมณ์กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็แม้ภิกษุอื่นรูปหนึ่งผู้ประกอบด้วยปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ นอกจากท่านพระโคดม มีอยู่หรือ ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ ไม่ใช่มีร้อยเดียว ไม่ใช่สองร้อย ไม่ใช่สามร้อย ไม่ใช่สี่ร้อย ไม่ใช่ห้าร้อย ที่แท้ภิกษุผู้ประกอบด้วยปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ มีอยู่มากมายทีเดียว ฯ

    สังคารวพราหมณ์ทูลถามว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็บัดนี้ภิกษุเหล่านั้นอยู่ไหน ฯ

    อยากจะทราบเป็นรายบุคคลว่า ภิกษุเหล่านั้นอยู่ไหน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ อยู่ในหมู่ภิกษุนี้เองแหละ ฯ

    สังคารวพราหมณ์ทูลถามว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักมองเห็นรูป ฉะนั้น ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดมกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

    จบ พราหมณวรรคที่ ๑

    ท่านผู้ฟังต้องการอะไร อยากจะมีอิทธิปาฏิหาริย์ หรือว่าการขัดเกลากิเลส ที่ควรจะประพฤติปฏิบัติตามเสียวันนี้ เดี๋ยวนี้

    ปาฏิหาริย์นั้นย่อมปรากฏเหมือนกับรูปลวง บางท่านอยากจะเห็นอิทธิปาฏิหาริย์ แต่เห็นแล้วเกิดประโยชน์อะไร ได้ประโยชน์อะไรในขณะที่เห็น เกิดสติปัญญาที่จะระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏ หรือสภาพธรรมที่กำลังรู้ กำลังเห็นในขณะนั้น เป็นอย่างนี้หรือไม่ เวลาที่เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เป็นอิทธิปาฏิหาริย์ ก็ไม่ใช่

    ด้วยเหตุนี้ สังคารวพราหมณ์จึงได้กล่าวว่า ปาฏิหาริย์นั้นย่อมปรากฏแก่ ข้าพระองค์เหมือนรูปลวง ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ไม่ใช่ความจริงที่จะทำให้รู้แจ้ง สัจธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เกิดขึ้นแล้วดับไป ซึ่งการรู้แจ้งอย่างนี้จะทำให้สามารถดับกิเลส ความเห็นผิด การไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ หรือความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้

    เพราะฉะนั้น ท่านสามารถที่จะวินิจฉัยได้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่งามกว่า ประณีตกว่า มีประโยชน์กว่า

    ขอตอบจดหมายของพระคุณเจ้าซึ่งยังตอบค้างอยู่

    คำถามข้อ ๗ ถามว่า ถ้าเราพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก เป็นต้น เรื่อยไปจนจบธาตุ ๔ พิจารณาทีละอย่างๆ จะเป็นสมถะหรือวิปัสสนา และจะได้บรรลุมรรคผลอะไรหรือไม่

    การบรรลุมรรคผล เป็นเรื่องของปัญญา ถ้าได้เข้าใจจริงๆ ว่า ปัญญาที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น คือ ปัญญาที่สามารถประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง จะหมดความสงสัยว่า หนทางอื่น วิธีอื่นจะทำให้บรรลุมรรคผลได้หรือไม่ เพราะว่าไม่มีวิธีอื่นจริงๆ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นของจริง ไม่ใช่ตัวตน เวลาที่ปัญญารู้ชัด จะรู้ชัดทีละลักษณะ ไม่ปะปนสืบต่อกันจนเหมือนกับเป็นโลกที่ประกอบด้วยสี เสียง กลิ่น รส เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลอย่างนี้เลย

    ถ้ารู้ว่าปัญญาที่จะบรรลุมรรคผลนั้น คือ ปัญญาที่รู้อย่างนี้ จะไม่คิดสงสัยว่า อย่างโน้นจะบรรลุมรรคผลได้ไหม อย่างนี้จะบรรลุมรรคผลได้ไหม

    ที่ถามว่า ถ้าเราพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก เป็นต้น เรื่อยไปจนจบธาตุ ๔ พิจารณาทีละอย่างๆ จะเป็นสมถะหรือวิปัสสนา

    พิจารณาอย่างไร นี่เป็นปัญหา ท่องไปเรื่อยๆ เป็นลำดับ เพื่อให้จิตสงบโดยที่ไม่รู้ลักษณะสภาพปรมัตถธรรมที่ปรากฏ แต่ถ้าเป็นวิปัสสนา หมายความว่าสามารถที่จะแยกรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมที่ไม่ใช่รูปธรรมในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และกำลังคิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ

    มีจดหมายของท่านผู้ฟังอีกฉบับหนึ่ง

    วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๑๘

    เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ที่เคารพ ทราบ

    ผมได้ฟังรายการเจริญสติปัฏฐานของท่านอาจารย์มานานพอสมควร แต่มีความข้องใจในคำพูดของอาจารย์อยู่เป็นบางคำ คือ อาจารย์พูดว่า การเจริญสตินั้นไม่มีความหวัง ความต้องการ และความตั้งใจ สิ่งเหล่านี้อาจารย์ถือว่าเป็นตัวตน เป็นตัณหา ไม่สามารถจะบรรลุธรรมเบื้องสูงได้ อาจารย์พูดว่า การเจริญสตินั้นไม่มีการผิดปกติ ไม่ต้องสร้างอะไรขึ้นมา แต่เรื่องของพระจักขุบาลนั้น ท่านตั้งใจจะปฏิบัติอยู่ในอิริยาบถ ๓ เท่านั้น อันนี้ผมเห็นว่า เป็นการผิดปกติใช่ไหม กับเรื่องของพระพาหิยะ ท่านก็มีเจตนา มีความหวัง มีความต้องการ อยากจะฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ท่านก็ไปด้วยความหวังและความต้องการ ครั้นไปถึง ท่านก็ทูลขอให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม แต่พระพุทธเจ้าก็ยังไม่ทรงแสดง ท่านก็ทูลขอเป็นครั้งที่ ๒ พระพุทธเจ้าก็ยังไม่ทรงแสดงธรรม ท่านจึงขอถึง ๓ ครั้ง และอ้างถึงเหตุผลของท่านขึ้นมา พระพุทธองค์จึงทรงแสดงธรรมให้ท่านฟัง ท่านก็ได้สำเร็จมรรคผลด้วยความตั้งใจของท่านใช่ไหม ขอให้อาจารย์อธิบายให้หายข้องใจ ให้แจ่มแจ้ง เพราะยังมีผู้สงสัยอยู่มาก

    อีกเรื่องหนึ่ง ได้ฟังทางวิทยุกระจายเสียง คือ เรื่องของท่านพระจูฬปันถก ได้ฟังพระท่านเทศน์ว่า มีพระพุทธเจ้าท่านนำผ้าขาวไปให้ท่านพระจูฬปันถกพิจารณาลูบคลำ และมีคำบริกรรมอีกด้วย อันนี้จะไม่เป็นการสร้างภาพขึ้นมาหรือ ตามที่เล่ามานี้ ผมได้ฟังจากพระท่านเทศน์เท่านั้น ไม่ได้เรียนจากคัมภีร์หรือตำราเลย

    อีกเรื่องหนึ่ง เรื่องนางวิสาขา ผมได้ฟังว่าสำเร็จพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ แต่มีบุตรถึง ๒๐ คน อันนี้จะเป็นการยินดีในโลกหรือไม่ จะขัดกันกับคำว่า พึงละความยินดียินร้ายในโลกให้พินาศหรือไม่ การบรรลุโสดาบันนั้น ละความยินดียินร้ายในโลกกันแค่ไหนแน่

    การเจริญสติตามสำนัก กับการเจริญสติตามปกตินั้น ผมคิดว่า คงถึงจุดประสงค์ด้วยกันทั้งสองทาง แต่ความเห็นยังไม่ตรงกันนั่นเอง เหมือนกับศีลข้อที่ ๑ ก็มีท่านผู้รู้ค้านว่า แปลไว้ผิด มีผู้ค้านว่า คำว่า ปาณา หมายถึงสัตว์ที่มีลมปาณ (ท่านเขียนปาณแบบนี้) แต่มีผู้แปลไว้ก่อนว่า ห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต สัตว์ที่มีชีวิตกับสัตว์ที่มีลมปาณก็เป็นประเภทเดียวกันใช่ไหม ถ้าแปลว่า ห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์ที่มีลมปาณ ผู้ฟังที่ไม่ได้ศึกษา ฟังไม่รู้เรื่อง ถ้าแปลว่า ห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต ผู้ฟังรู้เรื่องกันทั่วไป แม้คนไม่รู้หนังสือก็ฟังรู้เรื่อง หรือผู้ค้านจะเห็นเป็นอย่างไร จะเว้นอย่างไหนก็สำเร็จเป็นศีลข้อ ๑ ได้เหมือนกัน ขอให้อธิบายให้ละเอียด ผมยินดีรับฟัง

    การพิจารณารูปนั่งนั้น ผมก็ได้ฟังอาจารย์มาหลายครั้งแล้ว ยังมีความสงสัยอยู่ ขอให้อาจารย์อธิบายให้ฟังอีกสักหน่อย คำว่า รูปนั่ง อาจารย์ก็พูดว่าไม่มีในรูป ๒๘ แต่ก็มีรูป ๒๗ อยู่ในท่านั่งนั้น และมีมหาภูตรูปเป็นประธาน การพิจารณารูปนั่งก็คือ การพิจารณากายในกาย แต่มีความเห็นผิดกัน เหมือนกับคำชาวบ้านเราพูดกันว่า ควายขาด ความจริงควายไม่ได้ขาด เป็นแต่เชือกที่ผูกควายนั้นขาดหรือหลุด แต่ผู้ฟังรู้เรื่อง รู้ความหมายในคำพูดนั้น

    การพิจารณารูปนั่งก็คือ การพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมนั้นแหละ สติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็เกิดติดต่อกันเหมือนลูกโซ่ เกี่ยวพันกันไปไม่ขาดสาย ความเย็น รู้อ่อน แข็ง เจ็บ ปวด เมื่อย คัน ก็เกิดที่นั่นเอง เวทนาในเวทนาก็เกิดขึ้นติดต่อกัน แล้วแต่สติจะระลึกทันในสภาวะใดตามความเป็นจริง แต่การพิจารณาสติปัฏฐานทั้ง ๔ ที่เป็นภายในนี้ ยังไม่ได้เกี่ยวกับอารมณ์ภายนอก จะจัดเป็นสติปัฏฐานได้ไหม

    ผมเองก็ปฏิบัติทั้งสองทาง ตามปกติก็ปฏิบัติ ตามสมาธิก็ปฏิบัติ เพราะเห็นว่าสติเกิดทั้งสองทาง แต่ทางนั่งสมาธิ สติเกิดได้มากกว่าตามปกติหลายเท่า ถ้าอยู่ตามปกติ กิเลสภายนอกไหลเข้ามา กิเลสภายในก็ลุกขึ้นรับกันไม่ขาดสาย จึงทำให้สติเกิดได้น้อย เหมือนลมพัดขยะมูลฝอยเข้าใส่กองไฟ ก็ลุกโพลงขึ้น และทวีความร้อนให้มากขึ้นทุกที เพราะฉะนั้น เราต้องให้ห่างออกไปเสียก่อน เพื่อหาเครื่องมือมาดับไฟ ถ้าเรามีแต่มือ ก็ไม่สามารถจะดับไฟได้ เพราะฉะนั้น การไปสำนักเพื่อเจริญสติให้ทันกับอารมณ์ภายใน จนสติคล่องตัว มีกำลังพอสมควรแล้ว ก็อาจจะรู้ทันกับอารมณ์ภายนอกไม่ยากเลย

    การเจริญสติปัฏฐานมีความละเอียดลี้ลับอยู่มาก จึงเข้าใจไม่ตรงกัน เช่น คำว่า หนทางสายนี้เป็นทางสายเอก เป็นที่ไปของบุคคลเฉพาะผู้เดียว ท่านผู้รู้ก็ค้านว่า แปลไว้ผิด ท่านว่าไปได้เฉพาะพระพุทธเจ้า เอาคนอื่นไปด้วยไม่ได้ แต่ผมเห็นว่า มีคำที่คล้ายกันอยู่คำหนึ่งคือว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ วิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตน อันนี้ถ้าพระพุทธเจ้ารู้ได้เฉพาะตน ก็สอนให้คนอื่นรู้ด้วยไม่ได้ เช่นนี้ไหม ท่านผู้ค้านอาจจะไม่รู้ความหมายในข้อนี้ก็เป็นได้ เพราะผู้ที่จะไปได้ต้องปฏิบัติเอง คนไปปฏิบัติให้กันไม่ได้ ถ้าข้อนี้ท่านแปลผิด ข้อที่ว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต ท่านก็คงแปลผิดๆ กระมัง เพราะจิตเป็นนามธรรม ทำไมจึงไม่ว่าจิตในจิตเล่า

    นายปุ่น มนทาศีล

    ตำบลคล้ายดง

    สุ. ตามข้อความในจดหมายที่ว่า อาจารย์พูดว่า การเจริญสตินั้นไม่มีความหวัง ความต้องการ และความตั้งใจ สิ่งเหล่านี้อาจารย์ว่าเป็นตัวตน เป็นตัณหา ไม่สามารถจะบรรลุธรรมเบื้องสูงได้ อาจารย์พูดว่า การเจริญสตินั้นไม่มีการผิดปกติ ไม่ต้องสร้างอะไรขึ้นมา แต่เรื่องของพระจักขุบาลนั้น ท่านตั้งใจจะปฏิบัติอยู่ในอิริยาบถ ๓ เท่านั้น อันนี้ผมเห็นว่า เป็นการผิดปกติใช่ไหม

    พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติธุดงค์ ๑๓ ข้อ ถ้าไม่ใช่พระสัพพัญญุตญาณแล้ว ใครจะบัญญัติได้ว่า ธุดงค์นั้นควรจะเป็น ๑๓ เท่านั้น อาจจะมีถึง ๔๐ – ๕๐ เช่นลัทธิของพวกเดียรถีย์ที่ทรมานตัวต่างๆ แต่ว่าการทรมานไม่เป็นปัจจัยที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะว่าเป็นการทรมานที่ไม่มีประโยชน์ แต่พระผู้มีพระภาคทรงเห็นอัธยาศัยของแต่ละบุคคลที่สะสมมาต่างกันจริงๆ บางท่านมีความเพียรเป็นอันมาก บางท่านมีปัญญาหรือมีสภาพธรรมอื่นที่ได้สะสมมาต่างๆ กันไป

    ท่านเคยนั่งสนทนาธรรมกันตลอดคืนไหม เคย เป็นวิริยะหรือไม่ ผิดปกติไหม หรือว่าขณะนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่จะได้ความรู้จากการสนทนาธรรมที่เป็นประโยชน์ ถ้าท่านเห็นประโยชน์ของการที่จะไม่นอน จะทำให้ท่านเป็นผู้ที่สามารถขวนขวายในการเจริญกุศล และถ้าท่านเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน การตื่นบ่อยๆ เป็นการดี แต่ถ้าท่านไม่เป็นผู้ที่เห็นคุณประโยชน์ของการเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็เห็นว่านอนมากๆ นานๆ ดี

    ตื่นกับหลับนี้ อย่างไหนสติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะตื่นสติย่อมเกิดได้ เพราะฉะนั้น ถ้าตื่นบ่อย ก็ดีกว่านอนหลับมากๆ นานๆ ใช่ไหม

    และอิริยาบถนั่งกับอิริยาบถนอน อย่างไหนจะตื่นบ่อยได้มากกว่ากัน อิริยาบถนั่งย่อมตื่นได้บ่อยมากกว่า แต่ถ้าท่านไม่ได้เป็นผู้ที่สะสมมาที่จะนั่ง ที่จะรักษาธุดงค์ข้อนี้เป็นพิเศษ ท่านก็ไม่รักษาธุดงค์ข้อนี้ เพราะว่าท่านไม่ได้สะสมอัธยาศัยมาที่จะเป็นอย่างนี้

    นี่คือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้แจ้งสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง ทรงแสดง ทรงบัญญัติ ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า อะไรควร อะไรไม่ควร เพราะเหตุใด เพราะฉะนั้น เมื่อปกติของท่านพระจักขุบาลท่านจะรักษาธุดงค์ข้อนั้น ก็เป็นอัธยาศัยของท่าน แต่พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงกะเกณฑ์บุคคลอื่นให้กระทำเช่นท่านพระจักขุบาล แต่แล้วแต่อัธยาศัยว่า ใครจะกระทำอย่างไรซึ่งสมควรจะเป็นผู้ตื่น ในการที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพื่อการขัดเกลาความไม่รู้ เพื่อละคลายความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น สำหรับท่านพระจักขุบาล ไม่ผิดปกติสำหรับท่าน เพราะเหตุว่าท่านมีอัธยาศัยที่จะรักษาธุดงค์ข้อนั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๑ ตอนที่ ๕๐๑ – ๕๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564