แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 529


    ครั้งที่ ๕๒๙


    ครั้งนั้น นางปริพาชิกาชื่อสูจิมุขี เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า

    ดูกร สมณะ ท่านก้มหน้าฉันหรือ

    ท่านพระสารีบุตรตอบว่า

    ดูกร น้องหญิง เรามิได้ก้มหน้าฉัน

    นี่เป็นเรื่องมารยาทต่างๆ ของการบริโภคอาหาร ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่า การบริโภคอย่างเรียบร้อย อาการภายนอกที่ปรากฏจะแสดงว่า เป็นผู้ที่หมดจดจากกิเลส

    สูจิมุขีถามว่า

    ถ้าอย่างนั้น ท่านแหงนหน้าฉันหรือ สมณะ

    ท่านพระสารีบุตรตอบว่า

    เรามิได้แหงนหน้าฉันหรอก น้องหญิง

    สูจิมุขีถามว่า

    ถ้าอย่างนั้น ท่านมองดูทิศใหญ่ฉันหรือ สมณะ

    ท่านพระสารีบุตรตอบว่า

    เรามิได้มองดูทิศใหญ่ฉันหรอก น้องหญิง

    สูจิมุขีถามว่า

    ถ้าอย่างนั้น ท่านมองดูทิศน้อยฉันหรือ สมณะ

    ท่านพระสารีบุตรตอบว่า

    เรามิได้มองดูทิศน้อยฉันหรอก น้องหญิง

    สูจิมุขีกล่าวว่า

    ดิฉันถามว่า ดูกร สมณะ ท่านก้มหน้าฉันหรือ ท่านก็ตอบว่า เรามิได้ก้มหน้าฉันหรอก น้องหญิง ดิฉันถามว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านแหงนหน้าฉันหรือ สมณะ ท่านก็ตอบว่า เรามิได้แหงนหน้าฉันหรอก น้องหญิง ดิฉันถามว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านมองดูทิศใหญ่ฉันหรือ สมณะ ท่านก็ตอบว่า เรามิได้มองดูทิศใหญ่ฉันหรอก น้องหญิง ดิฉันถามว่า ถ้าอย่างนั้นท่านมองดูทิศน้อยฉันหรือ สมณะ ท่านก็ตอบว่า เรามิได้มองดูทิศน้อยฉันหรอก น้องหญิง ก็บัดนี้ ท่านฉันอย่างไรเล่า สมณะ

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    ดูกร น้องหญิง ก็สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ เหตุดิรัจฉานวิชา คือ วิชาดูพื้นที่ สมณพราหมณ์เหล่านี้เรียกว่า ก้มหน้าฉัน

    ดูกร น้องหญิง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ เหตุดิรัจฉานวิชา คือ วิชาดูดาวนักษัตร สมณพราหมณ์เหล่านี้เรียกว่า แหงนหน้าฉัน

    ดูกร น้องหญิง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ เหตุประกอบการรับส่งข่าวสาส์น สมณพราหมณ์เหล่านี้เรียกว่า มองดูทิศใหญ่ฉัน

    ดูกร น้องหญิง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ เหตุดิรัจฉานวิชา คือ วิชาทายองค์อวัยวะ สมณพราหมณ์เหล่านี้เรียกว่า มองดูทิศน้อยฉัน

    ดูกร น้องหญิง ส่วนเรานั้น มิได้เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ เหตุดิรัจฉานวิชา คือ วิชาตรวจพื้นที่ มิได้เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ เหตุดิรัจฉานวิชา คือ วิชาดูดาวนักษัตร มิได้เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ เหตุประกอบการรับส่งข่าวสาส์น มิได้เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ เหตุดิรัจฉานวิชา คือ วิชาทายองค์อวัยวะ (แต่) เราแสวงหาภิกษาโดยชอบธรรม ครั้นแล้วจึงฉัน

    ครั้งนั้น นางสูจิมุขีปริพาชิกาเข้าไปในนครราชคฤห์ จากถนนหนึ่ง ไปอีกถนนหนึ่ง จากตรอกหนึ่ง ไปอีกตรอกหนึ่ง แล้วประกาศอย่างนี้ว่า

    ท่านสมณศากยบุตรทั้งหลาย ย่อมฉันอาหารอันประกอบด้วยธรรม สมณศากยบุตรทั้งหลาย ย่อมฉันอาหารอันหาโทษมิได้ ขอเชิญท่านทั้งหลายถวายบิณฑบาตแก่สมณศากยบุตรทั้งหลายเถิด.

    จบ สูตรที่ ๑๐

    เป็นการแสวงหาอาหารโดยชอบธรรมของบรรพชิต เป็นผู้ที่บริโภคอาหารที่ได้จากการบิณฑบาต ไม่ใช่ด้วยการแสวงหาตามความพอใจของตนเอง

    จาก สูจิมุขีสูตร ท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ไม่ติดในรส ย่อมบริสุทธิ์ในการเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือบรรพชิต การที่ยังติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ย่อมเป็นเหตุให้กระทำมิจฉาชีพ เลี้ยงชีพในทางทุจริต และกระทำอกุศลธรรมต่างๆ ทุจริตกรรมต่างๆ ตามกำลังของกิเลส

    ผู้ฟัง เมื่อคราวก่อน กระผมได้แสดงความคิดเห็นในศัพท์ คำว่า ปุเรภตฺตํ และ ปจฺฉาภตฺตํ ซึ่งกระผมได้แสดงความคิดเห็นว่า ปุเรภตฺตํ หมายความถึง อาหารมื้อแรก ปจฺฉาภตฺตํ หมายความถึง อาหารมื้อหลัง การแสดงความคิดเห็นของผมที่กล่าวเช่นนั้น เป็นการผิดอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่ากระผมไปพบใน อันธกาลวรรค ภิกขุนีวิภังค์ พระวินัยปิฎก ท่านให้คำนิยาม หรือคำจำกัดความของ ปุเรภตฺตํ ว่า ชื่อว่า ปุเรภตฺตํ คือ ตั้งแต่อรุณขึ้นแล้วจนถึงเที่ยงวัน

    วิกาลภตฺตํ คือ ตั้งแต่เที่ยงแล้วจนถึงพระอาทิตย์อัสดง

    วิกาโล คือ ตั้งแต่พระอาทิตย์อัสดงแล้วจนถึงอรุณขึ้น

    นี่เป็นคำจำกัดความที่ท่านอธิบายไว้อย่างนั้น ความเข้าใจผิดของกระผมเป็นความโง่ของกระผมเองที่ไม่ได้ตรวจดูให้ถ่องแท้เสียก่อน ก็แสดงความคิดเห็นออกไป ต้องสารภาพผิดต่อท่านผู้ฟังด้วย

    สำหรับ ปุเรภตฺตํ ตั้งแต่อรุณขึ้นแล้วจนถึงเที่ยงวันนี้ ปัญหาคงไม่มี เป็นเวลาที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ฉันได้

    ปจฺฉาภตฺตํ ที่ท่านให้คำจำกัดความไว้ว่า ตั้งแต่เที่ยงแล้วจนถึงพระอาทิตย์อัสดง ตรงนี้ยังมีศัพท์อีกหลายทีเดียว ในพระสูตรต่างๆ จะมีศัพท์ว่า กลับจากบิณฑบาตแล้ว ภายหลังภัต ในเวลาภายหลังภัต บางทีก็ทับศัพท์ว่า ในเวลาปัจฉาภัต

    ในเวลาภายหลังภัต ถ้าเราจำกัดความตามที่ท่านอธิบายไว้ในพระวินัยปิฎก อันธกาลวรรคนี้ ต้องหมายความถึงเที่ยงล่วงไปแล้ว จึงจะไปสนทนาธรรม หรือไปเยี่ยมใครต่อใครที่ไหนก็ได้สุดแต่สะดวก

    คำว่า วิกาโล ในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ท่านก็ว่า ตั้งแต่เที่ยงแล้วไปถึง รุ่งอรุณ ก็อยู่ในเวลาห้ามฉันเหมือนกัน

    สุ. ขอบพระคุณค่ะ ขออนุโมทนาท่านผู้ฟังที่พยายามศึกษาค้นคว้าจนได้ความแน่ใจในพระธรรม และได้นำมาให้ท่านผู้อื่นได้ทราบ ตามที่ท่านได้ศึกษาตรวจสอบมาแล้ว

    คามิกะ วิกาล ที่ว่านี้ คือ กาลของพระมี ๒ อย่าง เรื่องอาหารนั้น ปุเรภัต ที่ว่าเมื่อสักครู่นี้ เช้าถึงเที่ยงถูกต้องแล้ว ปัจฉาภัต ตั้งแต่เที่ยงไปแล้ว ไม่ใช่แค่ค่ำ แต่ถึงรุ่งอรุณ วิกาลในพระวินัยท่านมีอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือ พระจะเข้าบ้าน กลางวัน เช้าๆ เย็นๆ ไม่ต้องลาเจ้าอาวาส หรือพระภิกษุที่อยู่ในวัด แต่ถ้าจะเข้าบ้านในเวลาค่ำคืน เรียกว่า วิกาล

    วิกาล หมายความว่า กาล คือ เวลา วิ ปฏิเสธว่า ไม่ใช่ ในพระพุทธศาสนาแบ่งเป็น ๒ อย่าง วิกาลของเรื่องพระเข้าบ้าน ค่ำมืดแล้วต้องลา ถ้ากลางวันไม่ต้องลา มีกิจธุระไปแล้วกลับได้ ส่วนวิกาลในเรื่องของอาหาร ก็อย่างที่กล่าวกันเมื่อสักครู่

    สุ. ขอบพระคุณค่ะ

    เพื่อประกอบความเข้าใจข้อนี้ ขอกล่าวถึง พระวินัยปิฎก ปริวาร มหาวิภังค์ ๑๖ มหาวาร โภชนวรรคที่ ๔ ข้อ ๓๒๓ ซึ่งมีข้อความว่า

    ภิกษุฉันโภชนะทีหลัง ต้องอาบัติ ๒ คือ รับด้วยตั้งใจว่าจักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ๑ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน ๑

    บางท่านอาจจะไม่ทราบว่า โภชนะทีหลัง ความหมายถึงอะไร ซึ่งในคำถามและคำตอบโภชนวรรคที่ ๔ ฉบับภาษาไทย มีคำอธิบายว่า

    โภชนะทีหลัง ก็คือ รับนิมนต์ไว้ในที่แห่งหนึ่ง แล้วฉันในที่อื่น ชื่อว่า โภชนะทีหลัง

    เป็นเรื่องคำต่างๆ ที่เป็นคำที่ใช้ในพระวินัยปิฎก ซึ่งควรจะได้ทราบความหมาย เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย

    ข้อ ๓๒๕

    ภิกษุฉันเสร็จ ห้ามภัตเสียแล้ว ฉันของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี อันมิใช่เดน ต้องอาบัติ ๒ คือ รับด้วยตั้งใจว่าจักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ๑ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน ๑

    ของที่ไม่ใช่เดน คือ ของที่ไม่เป็นกัปปิยะ

    ข้อ ๓๒๗

    ภิกษุฉันของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดีในเวลาวิกาล ต้องอาบัติ ๒ คือ รับด้วยตั้งใจว่าจักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ๑ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน ๑

    เป็นเรื่องที่พอจะประมวลได้ว่า ความหมายของการบริโภคที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้มีประการใดบ้าง

    เพื่อความเข้าใจในเรื่องอาหารที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต และไม่ทรงอนุญาตในกาลต่างๆ ขอกล่าวถึงโครส ๕ เภสัช ๕ เพื่อท่านผู้ฟังจะได้ทราบความแตกต่างของโครส ๕ และเภสัช ๕ นี้

    สำหรับเรื่องโครส ๕ ใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค เภสัชชขันธกะ ข้อ ๘๕ มีเนื้อความว่า เมื่อเมณฑกคหบดีได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคและพระภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จไปยังชนบทอังคุตตราปะ ท่านเมณฑกคหบดีก็ได้ตามไปพบพระผู้มีพระภาค ณ ระหว่างทางกันดาร และได้กราบทูลอาราธนาขอให้พระผู้มีพระภาคและพระภิกษุสงฆ์รับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น ซึ่งท่านก็ได้อังคาสพระภิกษุสงฆ์มีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุขด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต และด้วยน้ำนมสดอันรีดใหม่ด้วยมือของตน ซึ่งพระภิกษุทั้งหลายนั้นก็รังเกียจ ไม่ยอมรับประเคนน้ำนมสด แต่พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสอนุญาตให้รับประเคนฉันได้

    ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคก็ได้รับสั่งอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตโครส ๕ คือ นมสด นมส้ม เปรียง เนยข้น เนยใส

    ซึ่งจากโครส ๕ นี้ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า นมสด นมส้ม เปรียง ไม่ใช่เภสัช ที่เป็นเภสัชนั้น เฉพาะเนยข้น เนยใส ซึ่งใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค เภสัชชขันธกะ ข้อ ๒๕ ได้กล่าวถึงมูลเหตุที่พระผู้มีพระภาคจะทรงอนุญาตเภสัช มีข้อความว่า

    โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายอันอาพาธซึ่งเกิดชุมในฤดูสารทถูกต้องแล้ว ยาคูที่ดื่มเข้าไปก็พุ่งออก แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็พุ่งออก เพราะอาพาธนั้น พวกเธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น

    พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้น ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น ครั้นแล้วจึงตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งถามว่า

    ดูกร อานนท์ ทำไมหนอ เดี๋ยวนี้ภิกษุทั้งหลายจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น

    ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า

    พระพุทธเจ้าข้า เดี๋ยวนี้ภิกษุทั้งหลายอันอาพาธซึ่งเกิดชุมในฤดูสารทถูกต้องแล้ว ยาคูที่ดื่มเข้าไปก็พุ่งออก แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็พุ่งออกเพราะอาพาธนั้น พวกเธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น

    พระพุทธานุญาตเภสัช ๕ ในกาล

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับในที่สงัดทรงหลีกเร้นอยู่ ได้มีพระปริวิตกแห่งพระทัยเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า

    เดี๋ยวนี้ภิกษุทั้งหลายอันอาพาธซึ่งเกิดชุมในฤดูสารทถูกต้องแล้ว ยาคูที่ดื่มเข้าไปก็พุ่งออก แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็พุ่งออกเพราะอาพาธนั้น พวกเธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวพรรณเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น เราจะพึงอนุญาตอะไรหนอเป็นเภสัชแก่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็นเภสัชอยู่ในตัว และเขาสมมติว่าเป็นเภสัช ทั้งจะพึงสำเร็จประโยชน์ในอาหารกิจแก่สัตวโลก และจะไม่พึงปรากฏเป็นอาหารหยาบ

    ทีนั้นพระองค์ได้มีพระปริวิตกสืบต่อไปว่า เภสัช ๕ นี้แล คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นเภสัชอยู่ในตัว และเขาสมมติว่าเป็นเภสัช ทั้งสำเร็จประโยชน์ในอาหารกิจแก่สัตวโลก และไม่ปรากฏเป็นอาหารหยาบ ผิฉะนั้น เราพึงอนุญาตเภสัช ๕ นี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ให้รับประเคนในกาล แล้วบริโภคในกาล

    ในครั้งแรกทีเดียว พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตเภสัช ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เฉพาะในกาล คือ ก่อนเที่ยง แต่ภายหลังพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตเภสัช ๕ นอกกาล ซึ่งมีข้อความว่า

    พระพุทธานุญาตเภสัช ๕ นอกกาล

    ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายรับประเคนเภสัช ๕ นั้นในกาล แล้วบริโภคในกาล โภชนาหารของพวกเธอชนิดธรรมดา ชนิดเลว ไม่ย่อย ไม่จำต้องกล่าวถึงโภชนาหารที่ดี พวกเธออันอาพาธซึ่งเกิดชุมในฤดูสารทนั้น และอันความเบื่อภัตตาหารนี้ถูกต้องแล้ว เพราะเหตุ ๒ ประการนั้น ยิ่งเป็นผู้ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็นมากขึ้น พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้น ก็ได้ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งถาม ...

    ซึ่งท่านพระอานนท์ก็ได้กราบทูลให้ทรงทราบ

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนเภสัช ๕ นั้น แล้วบริโภคได้ ทั้งในกาล ทั้งนอกกาล

    นี่เป็นเรื่องของเภสัช ๕ ซึ่งไม่มีนมสด ไม่มีนมส้ม ไม่มีเปรียง มีเฉพาะเนยข้น เนยใส ซึ่งเกิดแต่นมสด และน้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย

    โครส ๕ คือ นมสด นมส้ม เปรียง เนยข้น เนยใส

    นี่เป็นโครส ๕ เพราะฉะนั้น เปรียงเกิดจากนม เนยใส เนยข้นเกิดจากนมทั้งสิ้น จึงเป็นโครส ที่พระผู้มีพระภาคให้พระภิกษุรับประเคนฉันได้ ๕ อย่าง คือ นมสด นมส้ม เปรียง เนยข้น เนยใส แต่ที่เป็นเภสัช ๕ นั้น คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๕๒๑ – ๕๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564