แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 509


    ครั้งที่ ๕๐๙


    ถ. ลักษณะอ่อน ผู้ที่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ กระทบรู้ว่าอ่อน เขาไม่จำเป็นที่จะต้องคิดว่า อ่อนนี้เป็นรูปธรรม หรือว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล อย่างนี้มีสติหรือเปล่า

    สุ. ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เมื่อยังไม่รู้ มีแต่อ่อนปรากฏ ทีแรกไม่รู้ว่าเป็นอะไร ก็จะสำเหนียก สังเกต แยกที่จะรู้ว่า อ่อนนั้นไม่ใช่ลักษณะที่รู้อ่อน ส่วน รู้อ่อนก็เป็นแต่เพียงสภาพที่รู้อ่อนเท่านั้น และระลึกอีกจนกว่าจะเป็นความรู้ชัด สติที่ระลึกอย่างนั้นก็ดับแล้ว แต่ก็เกิดอีกได้ ระลึกที่อ่อนนั้นต่อไปอีกก็ได้ และก็สังเกต สำเหนียกอย่างสั้นๆ จนกว่าจะเป็นความรู้จริงๆ ไม่ระลึกที่อ่อน ก็ระลึกที่อื่นต่อไปได้

    ถ. กระทบทันทีเขาก็รู้ว่าอ่อน เพราะมีปกติเจริญสติ รู้ว่าสิ่งนี้อ่อน แต่ว่าความรู้อย่างนี้ ขอเรียนถามว่า เขารู้รวบไปถึงว่า สิ่งนี้เป็นแค่รูปธรรม สิ่งนี้ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล รู้รวบไปอย่างนี้ หรือว่าไม่รวบ

    สุ. ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ทันที ความสงสัยต้องมี จนกว่าจะเป็นการระลึกทั่วและชัดขึ้น จนกระทั่งชิน

    ถ. รู้อ่อน คือ กระทบทันทีอ่อนปรากฏ เอามือออก ดับไปแล้ว และระลึกถึงอ่อนนี้อีก แต่ตอนนี้ของจริงไม่มีแล้ว

    สุ. อะไรจริงๆ ไม่มี

    ถ. อ่อนดับไปแล้ว

    สุ. รู้หรือที่ดับ

    ถ. ก็ปรากฏว่าไม่มีแล้ว

    สุ. แต่ไม่ได้รู้ว่าดับ

    ถ. จำไว้ต่างหาก

    สุ. เพราะว่าขณะนั้นก็เป็นตัวเราเต็มที่ จนกว่าจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมต่างกันไปเรื่อยๆ

    ถ. นี่แหละที่สงสัยมาก ขั้นตอนของระดับนี้ สงสัยกันมากว่า ทำไมฉันไม่มีสติสักที อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ก็เรียนมาหมดแล้ว

    สุ. ก็สติของฉันยังไม่พอ ยังไม่ทั่ว เพราะว่าระลึกแล้ว ก็สงสัยอีก ฉันไม่มีสติ ตัวฉันก็ยังเต็มอยู่ ไม่ใช่การรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมหลายๆ ลักษณะ จนชิน จนทั่ว

    ถ. หมายความว่า อ่อนฉันก็รู้ ไม่ใช่ว่าฉันไม่รู้ แต่สติอยู่ตรงไหน

    สุ. แสดงว่า ที่ว่าฉันรู้นั้นยังไม่พอ ต้องอบรมไปอีกเรื่อยๆ

    มีจดหมายของท่านผู้ฟังอีกฉบับหนึ่ง มาจากบ้านเลขที่ ๗๗๑๘ ต. จระเข้ใหญ่ อ. บางปลาม้า จ. สุพรรณบุรี

    ๑๖ มกราคม ๒๕๑๘

    กราบเรียน อาจารย์สุจินต์ที่เคารพ

    ดิฉันฟังรายการอาจารย์มาเป็นเวลาประมาณ ๖ ปีกว่าเห็นจะได้ ในระหว่าง ๒ – ๓ ปีก่อนนั้น ไม่ใคร่เข้าใจนัก เพราะฟังหลายอาจารย์ บางอาจารย์บรรยายว่า รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดินมี แต่อาจารย์สุจินต์บรรยายว่า รูปนั่ง นอน ยืน เดิน ไม่มี เป็นเพียงอาการ ดิฉันก็สงสัยว่า จะเอาอย่างไหนกันแน่ อีกอาจารย์หนึ่งว่าอย่างนั้น เมื่อฟังคำบรรยายของอาจารย์ต่อๆ มา ก็เข้าใจแน่ชัดว่า จริงอย่างอาจารย์สุจินต์แน่ เพราะขณะนั้นที่นอน ยืน เดิน เห็นก็มี ได้ยินก็มี เย็นร้อน อ่อนแข็งก็มี อิริยาบถ ๔ เป็นอาการ ไม่ใช่รูป ต่อๆ มาก็ฟังอาจารย์บรรยายเรื่อยๆ บรรยายแนวทางเจริญสติปัฏฐานเข้าใจดี เช่น ๑. รู้สีทางตาแล้ว ใจรู้สีต่อทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เช่นเดียวกัน ๒. ลักษณะที่ปรากฏทางตา ต่างจากลักษณะที่ปรากฏทางหู หรือเสียงก็ปรากฏทางหู เป็นสภาพที่ไม่รู้ สภาพที่ไม่รู้เป็นรูป ได้ยินเป็นสภาพรู้ สภาพรู้เป็นนาม หรือเสียงไม่ใช่สภาพที่รู้เสียง หูเห็นสีไม่ได้ ตาได้ยินเสียงไม่ได้ หมายถึงว่า แต่ละอย่าง แต่ละทวาร รับปะปนกันไม่ได้

    ดังนั้น ดิฉันมีปัญหาที่จะถามอาจารย์ ๓ ข้อ ดังนี้ คือ

    ๑. ดิฉันเจริญสติเป็นปกติอยู่เรื่อยๆ บางครั้งก็มีการหลงลืมสติไปบ้าง แต่ก็รู้ ต่อๆ มา ขณะที่กำลังได้ยิน เสียงปรากฏ ก็รู้ รู้นั้นก็หมดไป บางครั้งขณะที่กำลังเห็น จิตอกุศลเกิด ก็รู้ รู้นั้นก็หมดไป ต่างกัน

    ๒. ดิฉันเจริญสติเป็นปกติ ขณะที่กำลังคิด สติเกิดระลึกรู้ ลักษณะความรู้สึกที่คิดนั้นแตกกระจัดกระจายหมดไป เมื่อหมดไปก็รู้ และรู้ขึ้นมาใหม่อีกว่า ที่คิดเมื่อตะกี้นี้ หลงลืมสติไป สติจึงได้เกิดระลึกรู้ลักษณะนามและรูปขึ้น ที่รู้อย่างนี้ถูกไหม รู้ ๒ ลักษณะนี้ หมายถึง ข้อ ๑ ต่างกับข้อ ๒ อย่างไร ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบาย

    ๓. ที่อาจารย์กล่าวว่า ลักษณะปรากฏเกิดขึ้นแล้ว ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ไม่ว่าทางใดในจำนวน ๖ ทาง สติระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงธาตุรู้ อาการรู้ หรือสภาพรู้เท่านั้น ที่รู้เช่นนี้ เป็นผลจากการเจริญสติใช่ไหม

    ดิฉันขอถามเท่านี้

    กราบขอบพระคุณ

    ด้วยความเคารพ

    สุ. ข้อสงสัยไม่หมด จนกว่าจะเป็นปัญญาที่รู้ชัดจริงๆ ประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเมื่อไร ขณะนั้นก็ละคลายจนกระทั่งดับความสงสัยได้หมดสิ้น ข้อสงสัยของท่านข้อ ๒ ที่ว่า ดิฉันเจริญสติเป็นปกติ ขณะที่กำลังคิด สติเกิดระลึกรู้ ลักษณะความรู้สึกที่คิดนั้นแตกกระจัดกระจายหมดไป

    เป็นอย่างไรที่ว่า ความคิดแตกกระจัดกระจายไป สภาพรู้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป หารอยต่อไม่ได้เลย สนิทมาก เพราะเหตุว่าเป็นนามธรรม ตั้งแต่เช้ามาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ความรู้สึกมีกี่อย่าง สุขเท่านั้น หรือว่าทุกข์เท่านั้น หรือว่าโสมนัสเท่านั้น หรือว่าโทมนัส หรือว่าอุเบกขา และอันไหนดับไปเมื่อไร รู้สึกบ้างไหม หรือว่าแตกกระจัดกระจาย ขณะนี้เมื่อครู่นี้ความรู้สึกอย่างไร เดี๋ยวนี้ความรู้สึกอย่างไร บางครั้งในชั่วขณะจิตเกิดดับ สับสนจนกระทั่งแยกความรู้สึกไม่ออก โสมนัส อุเบกขา สลับกันกับโทมนัส ความไม่พอใจนิดๆ หน่อยๆ โน่นนิด นี่หน่อย ปนกัน

    ถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็แยกไม่ได้ บางครั้งท่านผู้ฟังอาจจะเกิดปีติล้นเหลือ แต่แทรกด้วยโทมนัสบ้างหรือเปล่า อย่างบางท่านเห็นพระพุทธรูปปางปรินิพพานแล้วน้ำตาไหล ร้องไห้ บอกได้ไหม บอกถูกไหมว่า ความรู้สึกขณะนั้นเป็นอะไร เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เป็นปีติหรือว่าเป็นโทสมูลจิต หรือว่าเป็นอะไร สภาพธรรมเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว

    ด้วยเหตุนี้ จึงมีจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แล้วแต่ว่าขณะนั้นปัญญารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมใด ถ้าระลึกรู้ว่า สภาพธรรมคือนามธรรม สภาพของจิตที่ปั่นป่วน สับสน ก็เป็นลักษณะของจิตประเภทนั้น ไม่ใช่ตัวตน สติอาจจะระลึกตรงลักษณะของธรรม คือ เวทนาแต่ละลักษณะก็ได้ นี่ก็เป็นเรื่องของการที่กว่าจะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ปัญญาจะต้องรู้ชัดจนคมกล้า และละคลายจริงๆ จนประจักษ์ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยปัญญาที่รู้ชัดจริงๆ ตามลำดับขั้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของสติที่จะอบรมเจริญต่อไป เพื่อที่จะให้ปัญญารู้ชัด

    คำถามข้อ ๓ ท่านเขียนว่า ที่อาจารย์กล่าวว่า ลักษณะปรากฏเกิดขึ้นแล้วขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ไม่ว่าทางใดในจำนวน ๖ ทาง สติระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงธาตุรู้ อาการรู้ หรือสภาพรู้เท่านั้น ที่รู้เช่นนี้เป็นผลจากการเจริญสติใช่ไหม

    ใครจะรู้ได้ นอกจากผู้ที่เจริญสตินั้นเอง และที่ท่านเขียนว่า รู้เช่นนี้ คำว่า รู้เช่นนี้นั้น ท่านรู้แค่ไหน แค่ฟัง แค่เข้าใจ แค่จำได้ แค่คิด หรือแค่สังเกต สำเหนียก ตรงลักษณะของสภาพธรรม หรือว่าขั้นประจักษ์ลักษณะสภาพธรรมโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลจริงๆ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดและตรงต่อสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งขณะที่เป็นผู้ที่ละเอียดและตรงก็จะรู้ได้ว่า ความรู้นั้นเพิ่มขึ้นหรือเปล่า หรือว่ายังคงเป็นความสงสัยมากอยู่ ยังไม่ใช่ความรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    . พูดถึงจิตเป็นกุศลหรืออกุศลนี้ เคยมีพระเล่าว่า ท่านฝันเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็นึกถึงที่อาจารย์เคยกล่าวว่า ความฝันนี้เป็นกิเลส ปัจจุบันธรรมมาถึงก็ปล่อยไปทันที มาเร็ว มาทีละหนึ่งอารมณ์ คิดไปข้างหน้าก็เป็นกิเลส คิดถอยหลังก็เป็นกิเลส ฝันไปก็เป็นกิเลส คนในบ้านก็บอกว่า ไปว่าพระท่านทำไม ไปเถียงพระท่านทำไม ก็บอกว่า หลักความจริงอย่างนี้ เราก็อยากจะปรึกษากับพระท่าน พระท่านก็ยอมรับว่าจริง ก็อยากปรึกษาอาจารย์ว่า เป็นความจริงไหม

    สุ. ผู้ที่หมดกิเลสแล้วจะไม่ฝัน แต่ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ความมีเยื่อใย ความผูกพันในสิ่งที่ได้ประสบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ยังสามารถที่จะเกิดขึ้นทางมโนทวาร ผสมผสานกันในรูปที่เป็นความฝันได้

    นี่เป็นทัศนะหนึ่งของพุทธบริษัท เวลาที่พูดถึงธรรมะ บางท่านเข้าใจว่า เป็นเรื่องถกเถียง หรือเป็นเรื่องโต้เถียง โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นบรรพชิต แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องการความแจ่มแจ้งแล้ว สามารถที่จะกระทำได้ด้วยความเคารพนอบน้อมในเพศของบรรพชิตด้วย

    . ผมมาฟังอาจารย์สุจินต์วันนี้เป็นวันแรก อยากจะเรียนความในใจที่ได้รับจากอาจารย์สุจินต์ ซึ่งได้บรรยายธรรมให้ฟังในวันนี้ว่า มีความรู้สึกอย่างไร

    ผมรู้สึกว่า ผมกระจ่างในธรรมขึ้นมากทีเดียว ตั้งแต่ครั้งที่ผมไม่เคยมีความสนใจในเรื่องนี้เลย ต่อมาก็ได้รับฟังสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตัวเอง ทำให้นึกว่า ครั้งหนึ่งเคยคิดว่า ถ้าใครถามว่านับถือศาสนาอะไร ก็จะตอบว่าศาสนาพุทธ แต่ในใจไม่เคยรู้สึกเลยว่าน่านับถืออย่างไร และทำไมเราต้องนับถือศาสนานี้

    ผมเคยมีข้อแม้ หรือความขัดแย้งในใจว่า ศาสนานี้บางอย่างก็ไม่น่าเชื่อ เป็นความรู้สึกของผม เวลาอ่านหนังสือพุทธประวัติ พระพุทธองค์เวลาประสูติทรงดำเนินไป ๗ ก้าว น่าเชื่อหรือไม่ และทำไมต้องเชื่อด้วย มีเหตุผลบ้างไหมที่จะต้องเชื่ออย่างนั้น เหมือนพระที่ท่านเสกอะไรต่ออะไร เหาะเหินอะไรได้ เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันในใจอยู่ตลอดเวลา

    เมื่อได้มาฟังการบรรยายธรรมของอาจารย์สุจินต์ในวันนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่เราน่าจะศึกษาและเข้าใจเสียก่อนที่จะยอมรับว่า ตัวเองนั้นเป็นพุทธศาสนิกชนหรือพุทธบริษัทที่แท้จริง

    ผมขอเรียนถามอาจารย์ว่า การที่เรายอมรับว่า ตัวเราเป็นพุทธ แต่เราไม่ได้ปฏิบัติธรรมเลย และไม่ได้คิดเรื่องศาสนาเลย กับคนที่เขาบอกว่า เขาไม่ใช่พุทธ แต่เขาปฏิบัติและยึดถือในสิ่งที่ว่า ทำกรรมดีได้ดี ทำกรรมชั่วได้ชั่ว และที่เกี่ยวกับศีล เขาก็ไม่ได้นับถือว่านั่นเป็นศีล แต่เขายึดถือว่า นั่นเป็นสิ่งที่ควรทำ อาจารย์ว่าสิ่งไหนจะดีกว่ากัน

    สุ. ก่อนอื่น ขออนุโมทนาที่ได้กล่าวความจริงใจให้บุคคลอื่นได้รับทราบ ซึ่งจะได้เป็นตัวอย่างและเป็นข้อคิดสำหรับเยาวชนท่านอื่นๆ ด้วย ที่เห็นว่าเรื่องของศาสนานั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของชีวิต ในเรื่องของตัวเอง ในเรื่องของโลกได้ จากพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงตรัสรู้ และได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ซึ่งขึ้นอยู่กับความเข้าใจของผู้ที่เป็น พุทธศาสนิกที่ว่า เข้าใจพุทธศาสนามากน้อยเพียงไร ถ้ายิ่งศึกษามาก เข้าใจมาก ก็จะเกิดศรัทธาปสาทะเลื่อมใสในพระคุณของพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์มากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าศึกษาน้อย ความเข้าใจน้อย ความเลื่อมใสก็น้อย การที่จะประพฤติปฏิบัติตามก็น้อยด้วย

    สำหรับปัญหาที่ถามนี้ ดีอย่างไหนก็อย่างนั้น คนละทาง คนละอย่าง สำหรับผู้ที่มีความเลื่อมใส ปฏิญาณตนว่าเป็นพุทธศาสนิกชน ก็คงจะมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาตามระดับความเข้าใจของบุคคลนั้นพอสมควรที่จะปฏิญาณ หรือที่จะกล่าวว่านับถือพุทธ เป็นพุทธศาสนิกชน และมีความเข้าใจถูกว่า สิ่งใดควรที่จะศึกษา ฟัง และประพฤติปฏิบัติตาม โดยพิจารณาว่า เป็นศาสนาที่มีเหตุมีผล สามารถที่จะพิสูจน์ได้ ศึกษาให้หายความข้องใจได้แล้วจึงเลือก และกล่าวว่า ตนเองเป็นพุทธศาสนิกชน นั่นก็เป็นความดีส่วนหนึ่ง เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่การงมงาย แต่เป็นพระธรรมคำสอนที่พระองค์ทรงแสดงไว้ให้ศึกษาได้ ให้เข้าใจตามได้ ให้ประพฤติปฏิบัติตามได้ ก็เป็นความดีส่วนหนึ่งของผู้นั้น

    ส่วนอีกผู้หนึ่งซึ่งไม่ยอมรับว่า นับถือพระพุทธศาสนา แต่มีความประพฤติดี นั่นก็เป็นความดีในด้านการประพฤติ ต้องแยกกัน ดีอย่างไหนก็อย่างนั้น เพราะฉะนั้นตามความเป็นจริง ธรรมใดที่เป็นกุศลควรแก่การอนุโมทนา ก็อนุโมทนา ธรรมใดที่เป็นอกุศลไม่ควรแก่การอนุโมทนา ก็ไม่อนุโมทนา ถ้าใครทำดีก็อนุโมทนาในการทำดีของบุคคลนั้น ถ้าเป็นพุทธศาสนิกชนทำไม่ดี ก็ไม่อนุโมทนาในการกระทำไม่ดีของพุทธศาสนิกชนนั้น

    การอนุโมทนานี้ก็จะต้องเป็นเฉพาะกาล ชั่วขณะ ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมนั้น ในขณะนั้นจริงๆ จะประมวลรวมสรุปไปง่ายๆ ไม่ได้ ต้องแยกกันเป็นแต่ละขณะ แต่ละกาลด้วย

    ผู้ฟัง ปัญหานี้อาจารย์เคยบรรยายแล้วในพระสูตรหนึ่งว่า มีบุคคล ๔ ประเภท ผู้ที่มีกิเลส รู้ว่ามีกิเลส เป็นผู้ประเสริฐ ผู้ที่มีกิเลส ไม่รู้ว่ามีกิเลส เป็นผู้เลวทราม ผู้ที่ไม่มีกิเลส ไม่รู้ว่าไม่มีกิเลส เป็นผู้เลวทราม และผู้ที่ไม่มีกิเลส รู้ว่าไม่มีกิเลส เป็นผู้ประเสริฐ

    พระสูตรนี้คงแก้ปัญหาของท่านผู้ฟังได้ คือ ศาสนาอื่นๆ เขาไม่ได้เจริญสติ ไม่ได้ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ขณะที่เขาวิรัติทุจริตกรรม ขณะนั้นเป็นศีล ต้องเรียกว่าคนนั้นมีศีล ผมยอมรับว่า ศีลของผมยังสู้เพื่อนของผมบางคนซึ่งไม่เคยศึกษาธรรมเลยไม่ได้ ผมยังนึกชมในใจว่า ศีลของเขาวิเศษมาก เขาเคยเล่าว่า สมัยก่อนเขาเคยเป็นลูกจ้างร้านขายยา นายจ้างบอกว่าชั่งยาไม่ควรชั่งให้ครบ แต่เขาทำไม่ได้ ตอนหลังเขาไปตั้งร้านของเขาเอง ยาของเขาจะต้องขายในราคาที่แพงกว่า จะซื้อก็ซื้อ ไม่ซื้อเขาก็ไม่ว่า บางครั้งเจ้าหนี้มาเก็บเงิน สมมติว่าเงินค้างพันกว่าบาท แต่มาเก็บเหลือเจ็ดร้อยกว่า เขาก็ชี้แจงว่าพันกว่าไม่ใช่ ๗๐๐ กว่า แสดงว่าเขาเป็นผู้มีศีล แต่เขาไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนา ขณะที่เขามีศีล เขาก็ไม่รู้ว่าเขามีศีล ต่างกันตรงนี้

    . พุทธศาสนิกชนเป็นผู้มีศีล มีทาน มีปัญญา รู้จักตัวเอง ผู้ที่อยู่นอกพุทธศาสนา มีศีลก็จริง มีทานก็จริง แต่ไม่รู้จักตัวเอง ประโยชน์ต่างกันตรงนี้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๑ ตอนที่ ๕๐๑ – ๕๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564