แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 511


    ครั้งที่ ๕๑๑


    ผู้ฟัง พุทธภาษิตที่มีในโอวาทปาติโมกข์ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน ตอนท้ายมีว่า อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ

    มัตตัญญุตา จ ภัตตัสมิง แปลว่า ควรจะรู้จักพอดีในอาหาร หมอเสนอพูด นานแล้วเรื่องอาหาร กินจุบกินจิบ ลำไส้ไม่ดี คนแก่ๆ กินมากก็เกิดโรคมาก กินข้าวมากไป เบาหวานกำเริบ นี่เป็นเรื่องทางการแพทย์ แต่พระผู้มีพระภาคท่านตรัสเรื่อง ความรู้จักพอดีในอาหารในปาติโมกข์ทีเดียว ถ้าหากว่ากินอาหารจุบจิบ กินไม่เป็นเวลา พระไม่ใช่หากินเอง ชาวบ้านต้องหาไปถวาย

    สุ. สำหรับฆราวาส พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงห้าม จะบริโภคกี่เวลาก็ไม่จำกัด เป็นเรื่องของฆราวาส แต่ว่าผู้ที่มีศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติ ขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่า ความควรไม่ควรมีประการใด จึงได้ทรงบัญญัติสิกขาบทสำหรับบรรพชิต ซึ่งพระภิกษุทั้งหลายก็เห็นชอบด้วยในการบัญญัติสิกขาบทเช่นนั้น

    ผู้ฟัง นี่ข้อเท็จจริง เมื่อผมบวชอยู่ จะสึกก็ไปลาสมเด็จพระสังฆราช เวลานั้นเป็นปิฎกโกศลวัดสระเกศ เพราะว่าผมหิวข้าว ถ้าเลื่อนเป็นบ่ายสองโมง บางทีไม่สึก ท่านบอกว่า แค่เที่ยงก็ยังสึกกัน ไม่ค่อยอยู่ ถ้าขืนกินมาก ราคะเกิดจัด ท่านว่าอย่างนั้น ก็น่าคิดเหมือนกัน

    สุ. เป็นเรื่องของการติดทั้งรูป ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทั้งโผฏฐัพพะ

    ผู้ฟัง ศีลข้อวิกาลโภชนานี้ เป็นข้อปฏิบัติที่ทันสมัยที่สุด ทันสมัยอย่างไร ก็แม้แต่หลักการแพทย์สมัยใหม่ยอมรับว่า อาหารมื้อที่ ๑ มื้อที่ ๒ นั้นเป็นอาหารที่สำคัญและจำเป็นที่สุด อาหารมื้อที่ ๓ นั้น ไม่จำเป็นอะไรเลยสำหรับร่างกายมนุษย์ ที่ว่าจำเป็น จำเป็นอย่างไร อาหารมื้อแรก อาหารมื้อเช้า เมื่อรับประทานแล้ว ในช่วงเช้าถึงเพล ร่างกายได้ออกกำลัง หรือจะใช้ในด้านสมอง อาหารเหล่านี้ก็ได้เอาไปใช้ ส่วนตอนเที่ยงเมื่อรับประทานอาหาร ก็เอาไปใช้ถึงตอนเย็น จะใช้ทางร่างกายหรือว่าทางกำลังสติปัญญาก็แล้วแต่ แต่มื้อเย็นไม่จำเป็นเลย ทางการแพทย์ได้พิสูจน์แล้วว่า มื้อเย็นนี้ถ้ารับประทานมากไป อาหารเหล่านี้ไม่ได้เอาไปใช้งาน แต่จะสะสมเป็นไขมัน หรือว่าเป็นน้ำตาล ซึ่งจะทำให้เกิดโทษ

    ในประเทศที่เจริญแล้ว มีการโฆษณาให้ทานอาหารเช้าเป็นอาหารหนัก เพราะส่วนใหญ่เข้าใจกันว่า อาหารมื้อเช้านิดหน่อยก็ได้ กาแฟเพียงแก้วเดียวก็ได้ ซึ่งผิดหลักอนามัยอย่างมาก

    สุ. จะเห็นได้ว่า แม้แต่ความรู้ทางโลกก็ยังสอดคล้องกับการที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทในเรื่องของอาหารที่เป็นประโยชน์ และเวลาที่จะบริโภคอาหาร ถ้าทำได้ ค่อยๆ หัดไป ท่านก็จะเป็นผู้ที่ลดปริมาณในการบริโภคที่ไม่จำเป็น พร้อมกันนั้นก็จะทำให้ท่านละคลายการติดในรส เป็นผู้ที่มีอย่างไรก็บริโภคอย่างนั้นได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งกับร่างกายและเศรษฐกิจด้วย เพราะว่าจะไม่ทำให้ท่านต้องใช้จ่ายเงินในการบริโภคสิ่งที่ไม่จำเป็น และมากเกินไปด้วย

    สำหรับการขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตาม พระวินัยบัญญัตินั้น จุดประสงค์เพื่อให้บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่เพียงบรรลุถึงคุณธรรมขั้นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีเท่านั้น เพราะว่าแม้ฆราวาส ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ก็ได้ แต่เมื่อบรรลุความเป็นพระอรหันต์แล้ว จะไม่มีชีวิตของการครองเรือนอย่างฆราวาสอีกต่อไป ซึ่งการที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์นั้น ก็ไม่ใช่โดยง่าย เพราะว่ากิเลสที่มีทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ตามปกติตามความเป็นจริง จะต้องดับหมดสิ้นไม่เกิดอีกเลย

    ชีวิตประจำวันของท่านที่ท่านบอกว่า สติเกิดไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า ความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมมีอยู่เต็ม เพราะว่าไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น และกิเลสใดๆ ก็ตามที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ก็เพราะมีการสะสมมา จึงได้เกิดขึ้นปรากฏ ซึ่งท่านจะเห็นได้ว่า ก่อนที่จะได้เป็นพระอริยเจ้า สติจะต้องเกิดระลึกและปัญญาจะต้องรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล โดยทั่วจริงๆ จนชิน จนเป็นปกติเสียก่อน ปัญญาจึงจะสมบูรณ์ขึ้นถึงขั้นที่จะละและดับกิเลสที่เคยยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ ซึ่งเพียงเท่านี้ คือ ปัญญาของพระโสดาบันบุคคล

    เพราะฉะนั้น การที่จะถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็จะต้องยิ่งยากขึ้น ละเอียดขึ้น จนดับกิเลสทั้งหมดที่มีปรากฏในชีวิตประจำวันตามปกติได้ จึงจะเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงขั้นความเป็นพระอรหันต์ และการที่ฆราวาสรักษาอุโบสถศีล ก็เพื่อที่จะสะสมอบรมอุปนิสัยปัจจัยให้ถึงการบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ในวันหนึ่ง

    ข้อความใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สังขิตตสูตร มีว่า

    พระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้บริโภคอาหารครั้งเดียว งดบริโภคอาหารในกลางคืน เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาลอยู่ตลอดชีวิต ในวันนี้ แม้เราก็บริโภคอาหารครั้งเดียว งดการบริโภคอาหารในกลางคืน เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายแม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถชื่อว่าจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๖ นี้ ฯ

    ถ้าท่านพิจารณาข้อความใน สังขิตตสูตร จะเห็นได้ว่า พระอรหันต์เป็นผู้บริโภคอาหารครั้งเดียว งดบริโภคอาหารในกลางคืน เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาลอยู่ตลอดชีวิต สำหรับท่านอาจจะได้วันหนึ่ง ในวันอุโบสถ ในวันพระ หรืออาจจะได้ทุกๆ วันอุโบสถ ถ้าท่านมีศรัทธาที่จะรักษาอุโบสถศีล หรือว่าอาจจะได้มากกว่านั้น ซึ่งแล้วแต่กำลังศรัทธาของท่าน แต่ถ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ไม่ใช่ตลอดชีวิต

    บางวัน ท่านคงจะบริโภคอาหารมากกว่านั้น แต่ว่าสำหรับพระอรหันต์แล้ว เป็นผู้ที่เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาลอยู่ตลอดชีวิต เป็นคุณธรรม เป็นอัธยาศัย เป็นอุปนิสัยจริงๆ ของท่าน เพราะว่าได้ดับกิเลสเป็นขั้นๆ จนกระทั่งหมดสิ้น ไม่มีเชื้อของกิเลสใดๆ ที่จะเป็นปัจจัยให้มีความพอใจหรือไม่พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในนามธรรมและรูปธรรมใดๆ

    สำหรับคำอธิบายเรื่องการบริโภคอาหารครั้งเดียว ใน มโนรถปุรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๒ อุโบสถสูตรที่ ๑๐ มีคำอธิบายเรื่องการบริโภคภัตหนเดียว ซึ่งมีข้อความว่า

    คำว่า เอกภตฺติกา ได้แก่ ภัตมี ๒ อย่าง คือ ภัตในเวลาเช้าอย่างหนึ่ง ภัตในเวลาเย็นอย่างหนึ่ง

    ในบรรดาภัตทั้ง ๒ อย่างนั้น ภัตในเวลาเช้า ท่านกำหนดโดยกาลภายในเวลาเที่ยง ส่วนภัตในเวลาเย็น ท่านกำหนดโดยกาลภายในอรุณ หลังจากเที่ยงวันไป เพราะฉะนั้น ชนทั้งหลายแม้บริโภคอยู่สัก ๑๐ ครั้งภายในเวลาเที่ยง ก็ยังชื่อว่า ผู้บริโภคภัตหนเดียวเท่านั้น

    การบริโภคในเวลาเที่ยงล่วงไปแล้ว จนถึงพระอาทิตย์ตก ชื่อว่า การบริโภคในเวลาวิกาล

    พระอรหันต์ทั้งหลาย เว้นแล้วจากโภชนะในเวลาวิกาล เพราะเว้นจากการบริโภคในวิกาลนั้น

    . ผมอยากจะทราบว่า อรรถกถาจารย์ท่านเอาตัวเลขมาจากไหน ในเมื่อพระอรหันต์ทั้งหลายท่านบริโภคภัตหนเดียว หนเดียวก็เป็นหนเดียว จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ท่านอรรถกถาจารย์บอกว่า ระหว่างอรุณถึงเที่ยงนี้บริโภค ๑๐ ครั้ง ก็ถือว่าเป็นครั้งเดียว ท่านเอาที่ไหนมาพูด

    สุ. อรรถกถานี้เรียบเรียงโดยผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยทั้ง ๓ ปิฎก ถ้าท่านผู้ฟังศึกษาพระไตรปิฎก จะเห็นได้ว่า ข้อความนี้สอดคล้องกับอรรถกถา ในเรื่องคำอธิบายพระธรรมและพระวินัย แต่ถ้าท่านผู้ฟังยังไม่ได้ศึกษาพระไตรปิฎกโดยละเอียด อ่านข้อความบางประการในอรรถกถา อาจจะสงสัยว่า พระอรรถกถาจารย์ ท่านเอาข้อความต่างๆ เหล่านี้มาจากไหน แต่ถ้าศึกษาพระไตรปิฎกโดยตลอด ข้อความที่พระอรรถกถาจารย์ท่านประมวลมานี้ ท่านประมวลมาจากข้อความในพระไตรปิฎกในที่ต่างๆ ในพระไตรปิฎกนั่นเอง

    สำหรับในเรื่องนี้ ขอกล่าวถึงข้อความที่จะทำให้ท่านเข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการบริโภคในเวลาเช้าเป็นภัตหนเช้า โดยที่ไม่ได้หมายความถึง การบริโภคครั้งเดียวอย่างที่บุคคลในยุคนี้อาจจะเข้าใจว่า เมื่อกล่าวว่าภัตหนเดียว ก็ต้องหมายความถึงบริโภคครั้งเดียว แต่สำหรับเหตุการณ์ที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก และที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้บริโภคนั้น ไม่ได้หมายความว่า ให้บริโภคภัตหนเดียว คือ ครั้งเดียว แต่ภัตหนเดียวนั้น ได้แก่ ภัตในเวลาเช้า เพราะว่าบางท่านก็กล่าวว่า ภัต คงจะหมายความถึงข้าวสวย และอาหารอื่นก็ไม่ใช่ข้าวสวยซึ่งเป็นอาหารหลัก แต่นั่นก็เป็นเรื่องของพยัญชนะที่ว่า ภัตได้แก่อะไร

    ใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค เภสัชชขันธกะ เรื่องพราหมณ์ถวายยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวาน มีข้อความว่า

    ข้อ ๖๑

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครพาราณสี ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินมุ่งไปทางอันธกวินทชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป คราวนั้นประชาชนชาวชนบทบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของควรเคี้ยวบ้าง เป็นอันมากมาในเกวียน เดินติดตามภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมาข้างหลังๆ ด้วยตั้งใจว่า ได้โอกาสเมื่อใดจักทำภัตตาหารถวายเมื่อนั้น อนึ่ง คนกินเดนประมาณ ๕๐๐ คน ก็พลอยเดินติดตามไปด้วย ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ เสด็จถึงอันธกวินท-ชนบท

    ขณะนั้นพราหมณ์คนหนึ่ง ยังหาโอกาสไม่ได้ จึงดำริในใจว่า เราเดินติดตามภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมากว่า ๒ เดือนแล้ว ด้วยหมายใจว่า ได้โอกาสเมื่อใดจักทำภัตตาหารถวายเมื่อนั้น แต่ก็หาโอกาสไม่ได้ อนึ่ง เราตัวคนเดียวและยังเสียประโยชน์ทางฆราวาสไปมาก ไฉนหนอ เราพึงตรวจดูโรงอาหาร สิ่งใดไม่มีในโรงอาหาร เราพึงตกแต่งสิ่งนั้นถวาย แล้วจึงตรวจดูโรงอาหาร มิได้เห็นมีของ ๒ สิ่ง คือ ยาคู ๑ ขนมปรุงด้วยน้ำหวาน ๑ จึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงสำนัก ครั้นแล้วได้กราบเรียนคำนี้แด่ท่านอานนท์ว่า

    ข้าแต่พระคุณเจ้าอานนท์ ข้าพเจ้าหาโอกาสในที่นี้ไม่ได้ จึงได้ดำริในใจว่า ตนเดินติดตามภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมากว่า ๒ เดือนแล้ว ด้วยหมายใจว่าได้โอกาสเมื่อใดจักทำภัตตาหารถวายเมื่อนั้น แต่ก็หาโอกาสไม่ได้ อนึ่ง ตนตัวคนเดียวและยังเสียประโยชน์ทางฆราวาสของตนไปมาก ไฉนหนอ ตนพึงตรวจดูโรงอาหาร สิ่งใดไม่มีในโรงอาหาร พึงตกแต่งสิ่งนั้นถวาย ดังนี้

    ข้าแต่พระคุณเจ้าอานนท์ ข้าพเจ้านั้นตรวจดูโรงอาหาร มิได้เห็นมีของ ๒ สิ่ง คือ ยาคู ๑ ขนมปรุงด้วยน้ำหวาน ๑ ถ้าข้าพเจ้าตกแต่งยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวานถวาย ท่านพระโคดมจะพึงรับของข้าพเจ้าไหม เจ้าข้า

    ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

    ดูกร พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นฉันจักทูลถามพระผู้มีพระภาค

    ดังนี้แล้ว กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคทันที

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ ถ้าเช่นนั้นพราหมณ์จงตกแต่งถวายเถิด

    ท่านพระอานนท์บอกพราหมณ์ว่า

    ดูกร พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านตกแต่งถวายได้ละ

    จึงพราหมณ์นั้นตกแต่งยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวานมากมาย โดยผ่านราตรีนั้น แล้วน้อมเข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า

    ขอท่านพระโคดมโปรดกรุณารับยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวานของข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นเธอจงถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย

    ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ ไม่รับ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด

    จึงพราหมณ์นั้นอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวานมากมายด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสร็จ ล้างพระหัตถ์แล้ว ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตร ให้ห้ามภัตแล้ว จึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ข้าวยาคูมีคุณ ๑๐ อย่าง

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้กะพราหมณ์นั้น ผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า

    ดูกร พราหมณ์ ข้าวยาคูมีคุณ ๑๐ อย่างนี้ ๑๐ อย่างเป็นไฉน คือ ผู้ให้ข้าวยาคู ชื่อว่าให้อายุ ๑ ให้วรรณะ ๑ ให้สุข ๑ ให้กำลัง ๑ ให้ปฏิภาณ ๑ ข้าวยาคูที่ดื่มแล้วกำจัดความหิว ๑ บรรเทาความกระหาย ๑ ทำลมให้เดินคล่อง ๑ ล้างลำไส้ ๑ ย่อยอาหารใหม่ที่เหลืออยู่ ๑ ดูกร พราหมณ์ ข้าวยาคูมีคุณ ๑๐ อย่างนี้แล

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณพจน์นี้ ครั้นแล้วพระสุคตผู้พระศาสดาจึงได้ตรัสคาถาอนุโมทนานี้ต่อไปในภายหลัง ว่าดังนี้

    ข้อ ๖๒

    คาถาอนุโมทนา

    ทายกใดถวายข้าวยาคูโดยเคารพตามกาล แก่ปฏิคาหกผู้สำรวมแล้ว บริโภคโภชนะอันผู้อื่นถวาย ทายกนั้น ชื่อว่าตามเพิ่มให้ซึ่งสถานะ ๑๐ อย่างแก่ปฏิคาหกนั้น อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ ย่อมเกิดแก่ปฏิคาหกนั้น แต่นั้นยาคูย่อมกำจัดความหิว ความกระหาย ทำลมให้เดินคล่อง ล้างลำไส้ และย่อยอาหาร ยาคูนั้น พระสุคตตรัสสรรเสริญว่าเป็นเภสัช เพราะเหตุนั้นแล มนุษยชนที่ต้องการสุขยั่งยืน ปรารถนาสุขที่เลิศ หรืออยากได้ความงามอันเพริศพริ้งในมนุษย์ จึงควรแท้เพื่อถวายข้าวยาคู



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๕๑๑ – ๕๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564