แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 491


    ครั้งที่ ๔๙๑


    สุ. ท่านผู้ฟังปรารถนาที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า ซึ่งคุณธรรมของพระอริยเจ้าท่านงดเว้นการดื่มสุราเมรัย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เริ่มอบรมที่จะงดเว้น ทำอย่างไรจึงจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า

    สำหรับเรื่องการงดเว้นเป็นสมุจเฉทนั้น เป็นเรื่องยาก เพราะว่าต้องประกอบด้วยปัญญาที่รู้แจ้งในอริยสัจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล ซึ่งเป็นการยากที่จะอบรมปัญญาอย่างนั้นให้เกิดขึ้นได้ ส่วนการที่จะสะสมอุปนิสัยปัจจัยให้บรรลุถึงคุณธรรมเช่นนั้น ก็ต้องอาศัยการขัดเกลามากทีเดียว แม้ในเรื่องของการเสพสุราเมรัย ก็ควรฝึกอบรมให้มีการงดเว้น ละเว้น เพื่อเกื้อกูลแก่สติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมบ้างรูปธรรมบ้างก็จริง แต่ถ้าเทียบกับอกุศลจิตในวันหนึ่งๆ แล้ว เทียบจำนวนกันไม่ได้เลย จำนวนของสติที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรมรูปธรรมบ้างในวันหนึ่งๆ เทียบกับขณะที่ถูกอกุศลธรรมครอบงำจนหลงลืมสติ ไม่รู้ในสภาพที่ไม่ใช่เป็นตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ตลอดชีวิตในภพหนึ่งชาติหนึ่ง การอบรมเจริญสติปัฏฐานก็จะเป็นไปในลักษณะนี้นั่นเอง ซึ่งกว่าปัญญาจะคมกล้า สามารถที่จะละการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ จะต้องมีอกุศลธรรมซึ่งเกิดทับถมในแต่ละวันมากขึ้น เพิ่มขึ้น และบางครั้งก็เกิดมากจนกระทั่งครอบงำ ทำให้สติขณะนั้นไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่การที่ไม่ละเลยโอกาส คือ ความเพียรในขณะนั้นเกิดพร้อมสติที่จะสังเกต สำเหนียก ไปเรื่อยๆ ในภพหนึ่งชาติหนึ่ง เพื่อเป็นปัญญาที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็จะเป็น อุปนิสัยปัจจัยสะสมไว้ เมื่อถึงกาลที่แก่กล้าที่จะแทงตลอดในสภาพธรรม อกุศลธรรม ก็ไม่สามารถที่จะครอบงำได้ และจะมีการประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมเป็น ขั้นๆ ตามลำดับ จนถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    แต่ก็เพราะสติที่อบรม จึงทำให้รู้ว่า วันหนึ่งๆ ความหลงลืมสติมากแค่ไหน เทียบจำนวนของอกุศลจิตกับกุศลจิต ก็เป็นจำนวนที่เทียบกันไม่ได้เลย เพราะว่าทางฝ่ายอกุศลจิตย่อมมากกว่า

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนคิดว่าท่านไม่มีกิเลสมากเท่าไร เพราะท่านไม่ได้ทำอกุศลกรรมอะไร แต่เดี๋ยวนี้เมื่อได้ฟังเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนา และเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานบ้างแล้ว แม้แต่นั่งเฉยๆ ก็เห็นอกุศลจิตมากมายเหลือเกิน เกิดได้ ตรึกไป คิดไปในทางที่เป็นอกุศลกับบุคคลนั้น บุคคลนี้ เป็นชีวิตประจำวัน ใช่ไหม สำหรับทุกท่าน ซึ่งถ้าไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่ทราบเลยว่า แม้ขณะที่นั่งเฉยๆ เท่านั้น อกุศลจิตก็มากมาย แต่เมื่อเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน สติจึงเกิดระลึก และรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลจิตอย่างมากมาย

    นี่คือคุณ นี่คือประโยชน์ของสติที่ทำให้รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง แม้ขณะที่นั่งเฉยๆ ซึ่งแต่ก่อนนี้นั่งเฉยๆ ก็เฉยๆ จริงๆ คือไม่รู้อะไร แต่เวลาที่นั่ง เฉยๆ และสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็รู้ว่า เป็นอกุศลธรรมมากมายเหลือเกิน เป็นความจริงสำหรับทุกท่านหรือเปล่า

    สำหรับพระอริยเจ้าผู้มั่นคงในศีล ๕ ผู้งดเว้นการดื่มสุราเมรัย และเสพของ มึนเมา ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต คิหิสูตร ข้อ ๑๗๙ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระสารีบุตร ปรารภท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและพระอริยสาวกทั้งหลาย เมื่อเวลาที่ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีแวดล้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในศีลสิกขาบท ๕ ประการนี้

    และพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    บัณฑิตเห็นภัยในนรกแล้ว พึงเว้นบาปเสีย สมาทานอริยธรรมแล้ว พึงเว้นบาปเสีย ไม่พึงเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ในเมื่อความพยายามมีอยู่ ไม่พึงกล่าวคำเท็จทั้งที่รู้ ไม่พึงแตะต้องของที่เจ้าของไม่ให้ ยินดีด้วยภริยาของตน ไม่พึงยินดีภริยาผู้อื่น และไม่พึงดื่มสุราเมรัยเครื่องยังจิตให้หลงใหล พึงระลึกถึงพระสัมพุทธเจ้าเสมอ และพึงตรึกถึงพระธรรมเสมอ พึงอบรมจิตให้ปราศจากพยาบาท อันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เทวโลก ทักษิณาทานที่ผู้ต้องการบุญ แสวงหาบุญให้แล้ว ในสัตบุรุษก่อน ในเมื่อไทยธรรมเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นทักษิณามีผลไพบูลย์

    ดูกร สารีบุตร เราจักบอกสัตบุรุษให้ จงฟังคำของเรา ในบรรดาโคดำ ขาว แดง หมอก พร้อย หม่น หรือแดงอ่อน ชนิดใดชนิดหนึ่ง โคที่ฝึกแล้วย่อมเกิดเป็นโคหัวหน้าหมู่ใด หัวหน้าหมู่ตัวนั้น เป็นโคที่นำธุระไปได้ สมบูรณ์ด้วยกำลัง เดินได้เรียบร้อยและเร็ว คนทั้งหลายย่อมเทียมโคตัวนั้นในการขนภาระ ไม่คำนึงถึงสีของมัน ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

    ในชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล และปุกกุสะ บรรดามนุษย์เหล่านั้นทุกๆ ชาติ คนผู้ที่ฝึกแล้ว ย่อมเกิดเป็นผู้มีวัตรดี ตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล กล่าวคำสัตย์ มีใจประกอบด้วยหิริ ละชาติ และมรณะได้แล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ ปลงภาระลงแล้ว ไม่ประกอบด้วยกิเลส ได้ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ดับแล้วเพราะไม่ถือมั่น ก็ทักษิณาที่บำเพ็ญในผู้นั้น ผู้ปราศจากความกำหนัด เป็นบุญเขต ย่อมมีผลไพบูลย์ ส่วนคนพาลผู้ไม่รู้แจ้ง มีปัญญาทราม ไม่ได้สดับ ย่อมให้ทานในภายนอก ไม่คบหาสัตบุรุษ ส่วนชนเหล่าใด ย่อมคบหาสัตบุรุษผู้มีปัญญาดี ได้รับยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์ ชนเหล่านั้นตั้งศรัทธาไว้ในพระสุคตเป็นเค้ามูลแล้ว ย่อมไปสู่เทวโลก หรือพึงเกิดในตระกูลสูงในโลกนี้ ชนเหล่านั้นเป็นบัณฑิต ย่อมบรรลุนิพพานโดยลำดับ ฯ

    จบ สูตรที่ ๙

    จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม แม้แก่ท่านพระสารีบุตร ทรงแสดงธรรมหลายประการเกี่ยวเนื่องกันไป เพราะว่าเป็นชีวิตปกติประจำวัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะต้องเกี่ยวเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา มีการสะสมปรุงแต่งของสภาพธรรมที่เป็นอุปนิสัย พร้อมทั้งการประสบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะในปัจจุบันอยู่เรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรม เมื่อได้ฟังแล้ว ตรึกตรอง พิจารณาถึงคุณค่าของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยประการทั้งปวง เพื่อเกื้อกูลแก่การขัดเกลา เพื่อที่จะให้กุศลธรรมทั้งหลายเจริญขึ้น ละคลายอกุศลธรรมทั้งหลายลง เป็นการเกื้อกูลแก่สติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และละการยึดมั่นในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งแล้วแต่ว่าจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏด้วยปัญญาขั้นใด ถ้ายังไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์ในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ การระลึกรู้ และละคลาย ก็เป็นการเกื้อกูลให้กุศลจิตเพิ่มขึ้นเนืองๆ บ่อยๆ แต่พร้อมกันนั้น สติก็จะต้องระลึก สำเหนียก ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นการเพิ่มพูนปัญญาที่จะให้รู้จริง ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงด้วย แต่อย่าพอใจเพียงขั้นระลึก ขัดเกลา และละคลายไปนิดหน่อย โดยไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าโดยลักษณะนั้น ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้

    สำหรับเรื่องของข้อประพฤติปฏิบัติ ซึ่งเป็นปฏิปทาของคฤหัสถ์ผู้ประพฤติธรรม ที่ควรเว้นการเสพสุราและสิ่งมึนเมาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่ธรรมิกอุบาสก พร้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐ ผู้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ พระวิหารเชตวันนั้น ใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ธรรมิกสูตรที่ ๑๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ... สาวกผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่พึงดื่มน้ำเมา พึงชอบใจธรรมนี้ ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นดื่ม ไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นดื่ม เพราะทราบชัดการดื่มน้ำเมานั้นว่า มีความบ้าเป็นที่สุด คนพาลทั้งหลายย่อมกระทำบาปเอง และใช้คนอื่นผู้ประมาทแล้วให้กระทำบาป เพราะความเมานั่นเอง สาวกพึงเว้นความเป็นบ้า ความหลงที่คนพาลใคร่แล้ว อันเป็นบ่อเกิดแห่งบาปนี้ ...

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษขั้นที่เป็นอันตรายที่สุด คือ การดื่มน้ำเมานั้น มีความบ้าเป็นที่สุด เพราะฉะนั้น ที่จะเว้นความเป็นบ้าหรือความหลงได้ ก็ควรที่จะสะสมอุปนิสัยการงดเว้นการดื่มสุราเมรัยและของมึนเมา ท่านผู้ฟังที่สะสมอุปนิสัยนี้ แล้ว จะสังเกตได้ว่า ท่านงดเว้นได้ไม่ยาก แต่สำหรับท่านที่ยังไม่ได้สะสมจนเป็นอุปนิสัยที่มีกำลัง จะเห็นได้ว่า ละยากจริงๆ ต้องค่อยๆ สะสมการงดเว้น การละเว้นต่อไปอีก เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สาวกผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่พึงดื่มน้ำเมา พึงชอบใจธรรมนี้ ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นดื่ม ไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นดื่ม เพราะทราบชัดการดื่มน้ำเมานั้นว่า มีความบ้าเป็นที่สุด คนพาลทั้งหลายย่อมกระทำบาปเอง และใช้คนอื่นผู้ประมาทแล้วให้กระทำบาป เพราะความเมานั่นเอง สาวกพึงเว้นความเป็นบ้า ความหลงที่คนพาลใคร่แล้ว อันเป็นบ่อเกิดแห่งบาปนี้ ...

    สำหรับท่านที่ยังเว้นไม่ได้ในปัจจุบันชาตินี้ ก็ควรที่จะเพียรสะสมโดยการรักษาอุโบสถศีลด้วย เพื่อที่จะได้เกื้อกูลให้สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงความเป็น พระอริยะที่งดเว้นการเสพสุราของมึนเมาเป็นสมุจเฉทได้

    ถ. การเจริญสติปัฏฐาน ๔ เราควรเจริญพร้อมๆ กัน หรือควรจะเจริญทีละอย่าง

    สุ. ข้อสำคัญ คือ เจริญอย่างไร พูดได้ ว่าเจริญสติปัฏฐาน แต่คำถามก็น่าสงสัยที่ถามว่า จะเจริญทีละอย่างหรือว่าพร้อมๆ กันไป ซึ่งถ้าเข้าใจวิธีเจริญจริงๆ พร้อมๆ กันไปนั้น ทำอย่างไร

    เรื่องของสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ฟัง ศึกษา และเข้าใจว่า สติเป็นอนัตตา เป็นสภาพธรรมที่อาศัยการฟังในเรื่องของอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือในเรื่องของสติปัฏฐาน จนกระทั่งมีความเข้าใจดี เป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นได้ และเวลาที่สติเกิดขึ้น คือ ไม่ว่ากำลังอยู่ ณ สถานที่ใดก็ตาม ในขณะนี้กำลังเห็น สติจะเกิดก็ได้ กำลังกระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใด สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็ได้ นี่คือการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ถ. ความเข้าใจของผมยังไม่สามารถอธิบายออกมาได้ หมายความว่าเกิดขึ้นในชั่วขณะนั้น และพยายามหาทางที่จะทำให้แจ้งในขณะนั้นเท่านั้นเอง ไม่สามารถจะอธิบายออกมาได้ เพราะไม่มีความชำนาญ

    สุ. เพราะฉะนั้น ก็ไม่น่าสงสัยว่า จะพร้อมหรือไม่พร้อมอย่างไร แล้วแต่สติที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด แต่อย่ามีตัวตนที่ไปเฝ้าสงสัยต่อไปว่า จะทำอย่างไรให้แจ่มแจ้ง ไม่ใช่เรื่องของความเป็นตัวตนที่จะรู้ธรรมแจ่มแจ้ง แต่เป็นเรื่องของการอบรมปัญญา โดยสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนกว่าจะแจ่มแจ้ง

    ไม่ใช่สติระลึกนิดเดียว ทำอย่างไรจึงจะแจ่มแจ้ง กลายเป็นมีตัวตนที่จะรีบทำความแจ่มแจ้งให้เกิดขึ้น ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องเป็นปัญญาที่เกิดพร้อมสติที่สังเกต สำเหนียก แยก รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะเป็นปัญญาที่สมบูรณ์และแจ่มแจ้งจริงๆ แต่ไม่ใช่สติเกิดนิดเดียว ก็มีตัวตนที่ไปพยายามจะทำให้แจ่มแจ้งในขณะนั้นทันที

    ถ. ผมมีความข้องใจว่า ให้มีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คำว่าสภาพของธรรมนี้หมายความว่าอย่างไร

    สุ. สภาพธรรม คือ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้จริงๆ อย่างทางตาที่กำลังปรากฏเห็น เป็นของจริง กำลังเห็นจริงๆ ในขณะนี้ เป็นสภาพธรรมที่สติควรระลึกรู้ กำลังได้ยินเป็นของจริง เป็นสภาพธรรมที่สติควรระลึกรู้ เพราะเหตุว่ามีลักษณะปรากฏจริงๆ ให้รู้ได้

    ถ. ชีวิตประจำวันของคนเรานี้ ที่เรามีการเห็น หรือมีการสนทนาปราศรัยกัน เราก็อาศัยหูเป็นเครื่องรับฟัง และที่เรารู้เรื่องรู้ราวกันนี้ ก็หมายถึงว่า เรามีสติอยู่แล้วใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่สติ มีการเห็น จริง แต่ไม่รู้ว่าที่กำลังเห็นนี้ไม่ใช่ตัวตน กำลังพูด กำลังคุยกันจริง รู้เรื่อง เข้าใจเรื่องที่กำลังพูดคุยกันจริง แต่ไม่รู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นสภาพรู้เรื่อง เป็นสภาพได้ยินเสียง เป็นสภาพเห็นสีสันวัณณะต่างๆ เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรมต่างชนิดกัน ซึ่งเกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงเห็นธรรมดาก็จะเป็นสติปัฏฐาน ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องมีการอบรมอะไร ถ้าเป็นสติปัฏฐานอยู่แล้ว

    ถ. ถ้าอย่างนั้น เราต้องมีการกำหนดลงไปในใจว่า ขณะที่เห็นนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล อย่างนั้นใช่ไหม หรือว่าจะให้ทำอย่างไร ไม่อย่างนั้นแล้วก็คงไม่หนีไปจากชีวิตประจำวัน สิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน ก็คงเป็นอยู่อย่างนั้น

    คำว่า สติ ถ้าเราพูดคุยกันโดยไม่อาศัยสติ ผมคิดว่า ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าใครกำลังพูดอะไรกับเรา และเราก็ไม่รู้ว่าจะพูดอะไรกับใคร ก็เราไม่มีสติ การพูดของเรา การกระทำของเรา อาจจะไปเบียดเบียนคนอื่น ก้าวร้าวคนอื่นก็ได้ แต่ที่เราไม่ทำอย่างนั้นก็ด้วยอาศัยสติ อย่างนี้เรียกว่า สติ หรือเปล่า

    สุ. พูดคุยรู้เรื่อง ไม่ใช่กุศลก็ได้ คุยกันเรื่องอะไรก็ได้ กำลังดูหนังเพลินๆ อย่างนี้ เป็นเรื่องสนุกสนาน ก็รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในหนังเรื่องนั้นบ้าง แต่ไม่ใช่สติ เพราะว่าสติจะต้องเป็นโสภณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดีงาม เป็นกุศลธรรมที่เกิดขึ้น และระลึกรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    สำหรับผู้ที่สติไม่เกิด ตื่นมาก็ทำกิจวัตรประจำวันเหมือนเดิม แต่ว่าสำหรับผู้ที่สติเกิด ปกติประจำวันอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น แต่สติเกิดระลึกขึ้นได้ ที่จะรู้ ที่จะสังเกต ที่จะสำเหนียกว่า ที่กำลังเห็นนี้ เห็นอะไร อะไรเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง ลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แม้แต่ตัวที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น และที่กำลังรู้ในสีสันวัณณะ ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา สภาพรู้ไม่ใช่ลักษณะเดียวกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่มีสภาพรู้ที่กำลังเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็ปรากฏไม่ได้ ซ้ำไปซ้ำมาอย่างนี้ ให้รู้ความจริงจนได้ ถ้าไม่รู้ลักษณะของนามธรรม ก็ให้ระลึกรู้ว่า มีสภาพที่กำลังรู้ในสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจึงปรากฏได้ ถ้าไม่มีสภาพรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาแล้ว สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้จะปรากฏไม่ได้

    นี่คือการระลึก และภายหลังจะไม่ใช่เพียงการคิด เพราะว่ามีลักษณะที่กำลังเห็น กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ และก็มีสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตาจริงๆ ด้วย ซึ่งลักษณะของสภาพธรรมทั้ง ๒ อย่างนี้ ไม่ใช่อย่างเดียวกัน นี่คือ การอบรมด้วยการระลึกได้ สติ หมายความถึงขณะที่ระลึกรู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๐ ตอนที่ ๔๙๑ – ๕๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564