แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 482


    ครั้งที่ ๔๘๒


    สุ. บุคคลผู้ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ลักษณะเป็นอย่างไร จิตใจที่ฟุ้งซ่าน กระสับกระส่าย แสดงออกทางวาจาได้ไหม จะพูดเรื่องอะไร ก็จากจิตใจที่ฟุ้งซ่านในเรื่องนั้น ถือตัว โลเล ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตไม่แน่นอน ไม่สำรวมอินทรีย์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่พึงประมาณได้โดยง่ายจากคำพูดของบุคคลนั้นว่า เป็นผู้ที่หลงลืมสติ

    สำหรับผู้ที่สำรวมอินทรีย์ มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ จะสังเกตได้จากคำพูดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ขณะใดที่ท่านหลงลืมสติ ท่านก็พอจะทราบว่า ท่านพูดเรื่องอะไรในขณะที่หลงลืมสตินั้น บางทีคำพูดประโยคเดียว ไม่มากเลย แต่ขณะนั้นก็แสดงถึงความหลงลืมสติแล้ว คือ เป็นคำพูดที่ถือตน หรือว่าโลเล หรือว่า ยกตนข่มบุคคลอื่น เป็นเรื่องธรรมที่มีอยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน สามารถที่จะรู้ชัดถึงกิเลสของตนเอง ถึงความชั่วของตนเอง ถึงความเลวของตนเอง จึงจะละกิเลส ละความชั่วของตนเองได้ แต่ถ้าไม่รู้ ก็ยังคงสะสมความหลงลืมสติ การพูดพร่ำเพรื่อ โลเล และเป็นผู้ที่ปากกล้า ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่สำรวมอินทรีย์ต่อไป

    สำหรับ อัปปเมยยบุคคล คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันตขีณาสพ นี้เรียกว่าอัปปเมยยบุคคล ผู้พึงประมาณไม่ได้

    อุโบสถศีลองค์ที่ ๔ นี้ ได้กล่าวถึงมากแล้วตอนสนทนาในเรื่องของศีล ๕ และข้อความในพระไตรปิฎกก็เกื้อกูลให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงได้ละเอียดขึ้น ลึกซึ้งขึ้น เข้าใจในอรรถยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการขัดเกลากิเลส การเจริญสติ และอบรมเจริญปัญญาทั้งสิ้น

    ขอกล่าวถึงอีกสูตรหนึ่ง เพื่อท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

    ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อาฬวกสูตรที่ ๑๒ มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับในที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ เขตเมืองอาฬวี ฯ

    ครั้งนั้นแล อาฬวกยักษ์เข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า

    ท่านจงออกมา สมณะ ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดีแล้วผู้มีอายุ แล้วก็เสด็จออกมา ฯ

    ยักษ์กล่าวว่า

    ท่านจงเข้าไป สมณะ ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดีแล้วผู้มีอายุ แล้วก็เสด็จเข้าไป ฯ

    แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ

    ครั้นครั้งที่ ๔ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวว่า

    ท่านจงออกมา สมณะ ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ผู้มีอายุ เราจักไม่ออกไปละ ท่านจะทำอะไรก็จงทำเถิด ฯ

    ยักษ์กล่าวว่า

    สมณะ เราจักถามปัญหากะท่าน ถ้าท่านพยากรณ์แก่เราไม่ได้ เราจักทำจิตของท่านให้ฟุ้งซ่าน หรือฉีกหัวใจของท่าน หรือจักจับที่เท้าแล้วเหวี่ยงไปยังแม่น้ำคงคาฝั่งโน้น ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อาวุโส เราไม่เห็นใครเลยในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะพึงทำจิตของเราให้ฟุ้งซ่านได้ หรือขยี้หัวใจของเรา หรือจับเราที่เท้าแล้วเหวี่ยงไปยังแม่น้ำคงคาฝั่งโน้น เอาเถิด อาวุโส เชิญถามปัญหาตามที่ท่านจำนงเถิด ฯ

    ปัญหาธรรมเป็นเรื่องที่น่าถาม ถ้าท่านผู้ฟังมีปัญหาที่คิดใคร่ครวญ ไม่ทราบว่า ความจริงเป็นประการใด

    อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า

    อะไรหนอเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรหนอที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ อะไรหนอเป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่อย่างไรว่าประเสริฐสุด ฯ

    เป็นเรื่องของทุกท่าน ที่ชีวิตยังเป็นอยู่ในขณะนี้ แม้อาฬวกยักษ์ก็ยังอยากที่จะทราบว่า นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่อย่างไรว่าประเสริฐสุด จะมีชีวิต เป็นอยู่กันต่อไปอย่างไรจึงจะประเสริฐสุด อะไรเป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย อะไรที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ และอะไรเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐของคนในโลกนี้ ซึ่งความเห็นของท่านจะตรงกับธรรมที่พระองค์จะทรงแสดงหรือไม่

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    ศรัทธาเป็นทรัพย์อันประเสริฐของคนในโลกนี้ ธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ ความสัตย์แล เป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่าประเสริฐสุด ฯ

    จริงไหม ศรัทธาเป็นทรัพย์อันประเสริฐของคนในโลกนี้ ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีศรัทธามั่นคงในการอบรมเจริญกุศล ท่านก็เป็นผู้ที่มั่งมีด้วยศรัทธา ไม่ใช่เป็นผู้ที่ยากจนเลย ท่านอาจจะเป็นผู้ที่มีทรัพย์น้อย มีโภคสมบัติน้อย แต่เป็นผู้ที่มั่นคงในศรัทธา ศรัทธาของท่านไม่คลอนแคลนเลยในการที่จะอบรมเจริญกุศล ไม่หวั่นไหว และกล้าที่จะเจริญกุศลด้วย เพราะว่าบางท่านเมื่อจะเจริญกุศลก็หวั่นไหวเสียแล้วว่า ท่านมีโภคสมบัติน้อย บางทีโภคสมบัติของท่านอาจจะหมดไปเพราะการเจริญกุศลก็ได้ หรือว่ามีความเป็นห่วงเป็นใยต่างๆ นานาเกิดขึ้น แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่มั่นคงในศรัทธาแล้ว ท่านเป็นผู้ที่มั่งมี ไม่รู้สึกว่า การกระทำกุศลใดๆ เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากเลย และจะไม่มีอุปสรรคในการที่จะอบรมเจริญกุศลด้วย

    นอกจากมีศรัทธาแล้ว ธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้ คือ นอกจากจะมีศรัทธาแล้ว ยังจะต้องประพฤติธรรมด้วย เพราะว่าบางท่านอาจจะมีศรัทธาจริง แต่ประพฤติหรือเปล่า นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อมีศรัทธาเกิดขึ้นแล้ว ต้องประคองศรัทธานั้น จนถึงเป็นผู้ที่ประพฤติธรรมด้วย ไม่ใช่เพียงแต่มีความตั้งใจ มีเจตนา หรือมีศรัทธาเท่านั้น

    ความสัตย์เป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย

    บางท่านเวลาที่มีความกังวลใจ มีความทุกข์ มีความห่วงใย ท่านอาจจะระลึกถึงข้อความที่สอนจิตใจของท่านได้ เป็นเครื่องปลอบใจให้คลายความทุกข์ ให้คลายความกังวล แต่ที่เป็นรสอันเลิศกว่ารสทั้งหลายนั้น ต้องเป็นธรรมที่เป็นความจริง

    ถ้าท่านสามารถที่จะประจักษ์สัจธรรมของธรรมที่ท่านได้ศึกษาและเข้าใจแล้ว จนกระทั่งถึงการประจักษ์โดยถ่องแท้ ท่านจะเห็นว่า เป็นเรื่องการระงับ บรรเทา ขัดเกลาทุกข์ทั้งหลายได้เป็นสมุจเฉท ไม่ใช่เพียงแต่ปลอบใจด้วยการปลง น้อมใจไปสู่ธรรม และสบายใจขึ้นเพียงนิดหน่อย แต่เมื่อไม่ได้ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ความทุกข์ ความกังวล ความห่วงใยต่างๆ ก็ย่อมมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นอีกได้ในภายหลัง เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับสัจจะที่ท่านประจักษ์ว่า เป็นสัจจะขั้นใด

    ข้อความต่อไป

    อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า

    คนข้ามโอฆะได้อย่างไรหนอ ข้ามอรรณพได้อย่างไร ล่วงทุกข์ได้อย่างไร บริสุทธิ์ได้อย่างไร

    เป็นเรื่องที่แสนยากจริงๆ ในการที่จะข้ามโอฆะที่กว้างใหญ่ เต็มไปด้วยความไม่รู้ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    คนข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ฯ

    เป็นเรื่องของสติปัฏฐานทั้งหมด ตั้งแต่ คนข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ท่านฟังเรื่องของสติปัฏฐาน และมีศรัทธาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ ไหม เพราะว่าเป็นหนทางเดียวจริงๆ ที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้ ถึงแม้ว่าจะฟังมาก แต่ไม่มีศรัทธาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ย่อมข้ามโอฆะ ความไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไม่ได้

    นอกจากนั้น ยังต้อง ด้วยความไม่ประมาท ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร และบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา

    ต้องเพียรจริงๆ เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่จะต้องเพียร โดยที่ว่า ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ มีศรัทธาที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงที่ปรากฏ ที่เป็นความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแล้วหรือยัง

    ไม่ใช่ความรู้ของคนอื่น ความรู้ของท่านเอง เวลานี้ทางตา พิสูจน์ได้ว่ามีความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตาหรือเปล่า ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัส พิสูจน์ได้ด้วยตัวของท่านตามความเป็นจริงว่า มีปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏที่กายหรือเปล่า

    ถ้ายังไม่มี อดทนอย่างไร เพียรอย่างไร สามารถที่จะเกิดศรัทธาระลึกได้ และศึกษา สังเกต สำเหนียกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    อย่างทางตาในขณะนี้ หลายท่านกล่าวว่ายากในการที่จะระลึกรู้ เพราะฉะนั้น ฟังบ่อยๆ ฟังอีก อดทนในขณะนี้ เพียรในขณะนี้ ที่จะฟังให้เข้าใจว่า การที่จะสามารถแยกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมด้วยการระลึกรู้ และสังเกต สำเหนียกอย่างไร ต้องเข้าใจตรงนี้จริงๆ

    หลายท่านถามว่า จะตั้งต้นอย่างไร จะตั้งต้นที่ไหน

    ก็ตั้งตนที่สติที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ในขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ แล้วแต่สติจะระลึกรู้ที่สภาพธรรมใดที่กำลังปรากฏ นี่คือจุดตั้งต้น

    เมื่อสติระลึกแล้ว ยังไม่รู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ก็จะต้องปรารภ คือ ตั้งต้น ด้วยการสังเกต สำเหนียก ตรงลักษณะที่สติกำลังระลึกรู้นั่นเอง

    ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดระลึกรู้ลักษณะแข็งที่กำลังปรากฏตรงส่วนหนึ่งส่วนใด ไม่จำกัด ไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ว่า ตรงไหน จะเป็นแขน หรือเป็นเท้า หรือเป็นอะไร แต่มีสภาพแข็งกำลังปรากฏ และสติระลึกตรงลักษณะที่แข็ง เมื่อยังไม่รู้ว่าลักษณะของนามเป็นอย่างไร ลักษณะของรูปเป็นอย่างไร ก็จะต้องตั้งต้นด้วยการเริ่มสังเกต สำเหนียกที่จะรู้ว่า ส่วนที่แข็ง ลักษณะที่แข็ง อาการที่แข็ง เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นของจริง กำลังรู้สึกแข็ง เป็นของจริง เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่ปรากฏ มีจริง ปรากฏจริง

    แต่อาการแข็ง ลักษณะแข็ง จะปรากฏไม่ได้เลย ถ้าขณะนั้นไม่มีลักษณะรู้แข็งที่กำลังรู้ในลักษณะที่แข็ง ต้องมีสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ต้องสังเกต สำเหนียก ตั้งต้นจากขณะใดที่สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ก็สังเกต สำเหนียก จนเป็นความรู้ขึ้น สามารถที่จะแยกได้ว่า ลักษณะของรูปธรรมปรากฏ เป็นแข็ง เป็นสี เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส แต่ว่าสภาพที่รู้แข็งมี สภาพที่รู้ลักษณะแข็ง สภาพที่รู้สี สภาพที่รู้เสียง เป็นเพียงอาการรู้เท่านั้น แต่ต้องอาศัยธรรมอื่นเป็นปัจจัย

    ท่านฟังอย่างนี้ ดูเหมือนเป็นปริยัติ แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะอะไร เพราะปัจจัยที่จะให้เกิดการรู้สี ก็กำลังมีในขณะนี้ ปัจจัยที่จะให้รู้เสียง ก็กำลังมีในขณะนี้ด้วย เพราะฉะนั้น ธาตุรู้ ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลยถ้าปราศจากปัจจัยสำหรับให้รู้ ในสิ่งที่ปรากฏนั้นๆ หรือเสียงปรากฏแล้ว สติระลึกรู้ในเสียง ไม่ปนกับลักษณะของแข็ง ไม่ปนกับลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะว่าเสียงมีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง

    บางท่านถามว่า เสียงมีลักษณะอย่างไร ลักษณะของเสียง คือ เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางหู จะใช้คำว่าทางหูก็ได้ ไม่ใช้คำว่าทางหูก็ได้ แต่ว่าขณะที่เสียงปรากฏ ต้องมีธาตุรู้ หรืออาการรู้เสียงในขณะนั้น เสียงจึงปรากฏได้ เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะทราบว่า ข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา

    ข้อความต่อไป

    อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า

    คนได้ปัญญาอย่างไรหนอ ทำอย่างไรจึงจะหาทรัพย์ได้ คนได้ชื่อเสียงอย่างไรหนอ ทำอย่างไรจึงจะผูกมิตรไว้ได้ คนละโลกนี้ไปสู่โลกหน้า ทำอย่างไรจึงจะไม่เศร้าโศก ฯ

    เป็นเรื่องปกติทั่วไปในชีวิตประจำวัน เป็นชีวิตจริงๆ เพราะว่าการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือว่าการที่จะละโลกนี้ไป ซึ่งจะเป็นชั่วคราว หรือว่าเป็นสมุจเฉท คือ ไม่ต้องมีการเกิดขึ้นอีกเลย ก็จะต้องเป็นเรื่องจริง เป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันนี้เอง เพราะฉะนั้น ธรรมะไม่ใช่ในขณะอื่น แต่ในทุกๆ ขณะที่กำลังปรากฏ เป็นชีวิตจริงทุกๆ ขณะ เป็นสภาพธรรมที่จะต้องอบรมปัญญาให้รู้สภาพธรรมนั้นๆ

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    บุคคลเชื่อธรรมของพระอรหันต์ เพื่อบรรลุนิพพาน ฟังอยู่ด้วยดี ย่อมได้ปัญญา เป็นผู้ไม่ประมาท มีวิจาร คนทำเหมาะเจาะ ไม่ทอดธุระ เป็นผู้หมั่น ย่อมหาทรัพย์ได้ คนย่อมได้ชื่อเสียงเพราะความสัตย์ ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ บุคคลใดผู้อยู่ครองเรือนประกอบด้วยศรัทธา มีธรรม ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ธรรมะ ธิติ จาคะ บุคคลนั้นแล ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก เชิญท่านถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากเหล่าอื่นดูซิว่า ในโลกนี้มีอะไรยิ่งไปกว่าสัจจะ ทมะ จาคะ และขันติ ฯ

    อาฬวกยักษ์กราบทูลว่า

    ทำไมหนอ ข้าพเจ้าจึงจะต้องถามสมณพราหมณ์เป็นอันมาก ในบัดนี้ วันนี้ข้าพเจ้ารู้ชัดถึงสัมปรายิกประโยชน์ พระพุทธเจ้าเสด็จมาอยู่เมืองอาฬวี เพื่อประโยชน์แก่ข้าพเจ้าโดยแท้ วันนี้ข้าพเจ้ารู้ชัดถึงทานที่บุคคลให้ในที่ใดมีผลมาก ข้าพเจ้าจักเที่ยวจากบ้านไปสู่บ้าน จากบุรีไปสู่บุรี พลางนมัสการพระสัมพุทธเจ้าและพระธรรมซึ่งเป็นธรรมที่ดี ฯ

    จบ ยักขสังยุตบริบูรณ์

    ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาธรรม จะเห็นประโยชน์จากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และเห็นชัดว่าเป็นความจริงที่ว่า บุคคลเชื่อธรรมของพระอรหันต์ เพื่อบรรลุนิพพาน ฟังอยู่ด้วยดี ย่อมได้ปัญญา

    ฟังอยู่ด้วยดี เป็นขั้นต้นของการที่จะอบรมเจริญปัญญาจริงๆ แม้แต่การที่จะเข้าใจว่า การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏคืออย่างไร และการที่จะสำเหนียก สังเกต ศึกษา เพื่อที่จะได้รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมที่ไม่ใช่รูปธรรม ในลักษณะของรูปธรรมที่ไม่ใช่นามธรรมคืออย่างไร เพราะว่าวิปัสสนาญาณทั้งหมด ไม่พ้นไปจากการตั้งต้นจากการสังเกต สำเหนียก เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่สติกำลังระลึกรู้ จนเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้น ชินขึ้น ละคลายมากขึ้น จึงประจักษ์สภาพธรรมละเอียดขึ้น พร้อมทั้งประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่สติกำลังระลึกอยู่ จนสามารถที่จะดับกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ แต่ต้องมาจากสภาพธรรมตามปกติธรรมดาที่สติกำลังเริ่มระลึก

    แต่เมื่อปัญญายังไม่รู้ ก็ฟังด้วยดีที่จะให้เกิดความรู้ว่า จะอบรมเจริญปัญญาอย่างไรปัญญาจึงจะเพิ่มขึ้น ซึ่งก็คือ ในขณะที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ต้องพร้อมกัน คือ ในขณะที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ การเพิ่มปัญญาต้องเพิ่มในขณะนั้น ค่อยๆ สังเกต สำเหนียก ละความไม่รู้ทีละเล็กทีละน้อย และความรู้ก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจริงๆ

    และเวลาที่รู้ ถ้าสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม ประจักษ์ว่า นามธรรมเป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้ ย่อมเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นทางตาก็เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้ ที่กำลังรู้ ทางหู ก็เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้ที่กำลังรู้ เป็นแต่เพียงลักษณะอาการรู้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๙ ตอนที่ ๔๘๑ – ๔๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564