แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 494


    ครั้งที่ ๔๙๔


    ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต สุขุมาลสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความเมา ๓ ประการ คือ ความเมาในความเป็นหนุ่มสาว ๑ ความเมาในความไม่มีโรค ๑ ความเมาในชีวิต ๑

    ซึ่งท่านผู้ฟังจะเปรียบเทียบได้ว่า ความเมา ๓ ประการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนี้เป็นความจริงเพียงไร เช่น บุคคลที่เมาในความเป็นหนุ่มสาว ก็ไม่คิดว่า จะต้องถึงความแก่ความชรา ซึ่งการไปถึงความแก่ความชรานี้ คือ ทุกขณะที่ล่วงไป เพราะฉะนั้น การที่เห็นความชราในตนเอง หรือว่าในบุคคลอื่น จะเป็นอนุสติที่ทำให้เห็นว่า เป็นสภาพธรรมที่เป็นจริง ซึ่งไม่มีใครพ้นไปได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรจะหมกมุ่นเพลิดเพลินมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว จนกระทั่งไม่คิดถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นสาระในชีวิต เพราะถ้าจะรอไปจนกระทั่งถึงแก่เฒ่าจึงจะศึกษาธรรมบ้างหรือปฏิบัติธรรมบ้าง เวลาที่ผ่านไปเหล่านี้จะเพิ่มพูนกิเลสให้ยิ่งขึ้น ทำให้การละคลายขัดเกลากิเลสยากขึ้น

    สำหรับความเมาในความไม่มีโรค ถ้าขณะนี้ท่านผู้ฟังยังไม่มีโรค ลองคิดดูว่า ท่านเป็นผู้ที่ยังมีความเมาในความไม่มีโรคในขณะนี้บ้างไหม เพราะว่าไม่มีใครทราบแน่ว่า โรคทั้งหลายจะเกิดกับท่านเมื่อไร ขณะใด เช่นเดียวกับโรคที่กำลังเกิดกับบุคคลอื่นอยู่ ก่อนหน้านั้น บุคคลนั้นก็ไม่คิดว่าจะต้องเป็นโรคอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะนี้ท่านเป็นผู้ที่ไม่มีโรค ท่านก็ควรจะอบรมเจริญปัญญา เตรียมพร้อมที่จะผจญกับโรค ต่างๆ ที่อาจจะเกิดกับท่านก็ได้ เพราะว่าบางท่านเวลาที่มีโรคเกิดขึ้น ก็คร่ำครวญรำพัน เป็นทุกข์ กระวนกระวาย ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจริง คือ นามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน

    และความเมาในชีวิต ก็เป็นเรื่องที่เป็นปกติ สำหรับท่านที่ไม่ได้ระลึกเลยว่า ความตายใกล้ที่สุด อาจจะเกิดขึ้นขณะหนึ่งขณะใดได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นผู้ที่ประมาทมัวเมาไม่คิดถึงว่าจะต้องเป็นผู้ที่ถึงแก่ความตาย จะเร็วหรือช้าเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ถ้าไม่ระลึกอย่างนี้บ้างเลย วันหนึ่งๆ ก็ผ่านไป โดยที่ท่านไม่ได้อบรมเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการที่จะอยู่ในโลกนี้อย่างมีประโยชน์ มีสาระ เพราะว่าเรื่องของอกุศลมีปัจจัยพร้อมที่จะเกิดอยู่เสมอ แต่เรื่องของกุศลนานๆ ก็จะมีโอกาส มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ความเมาในความเป็นหนุ่มสาวบ้าง ในความไม่มีโรคบ้าง ในชีวิตบ้างนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่สำหรับผู้ที่ไม่ได้อบรมขัดเกลากิเลส แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสให้เบาบางลงไป ท่านก็ย่อมจะอบรมเจริญกุศลทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นทาน จะเป็นศีล จะเป็นความสงบของจิต อบรมเจริญสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ข้อความในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของความประมาท ซึ่งถ้าท่านจะพิจารณาข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็จะเข้าใจเหตุผลว่า ด้วยเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงทรงเตือน และทรงแสดงเรื่องของความประมาทไว้

    ข้อความใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส ตุวฏกสุตตนิทเทสที่ ๑๔ ข้อ ๗๗๒ มีว่า

    คำว่า เมื่อรู้สึกตัว ไม่พึงทำความโอ้อวด

    ต้องขัดเกลาทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ไม่ว่าสภาพธรรมจะเกิดขึ้นวิจิตรอย่างไรก็ตาม สติจะต้องเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง เพื่อขัดเกลา เพื่อให้ถึงการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท สำหรับท่านที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน เวลาที่โอ้อวด รู้สึกตัวบ้างไหม บางท่านอาจจะโอ้อวดจนเป็นนิสัย เพื่อนฝูงก็รู้จักดีว่า ท่านเป็นผู้ที่โอ้อวด แต่ว่าบุคคลผู้โอ้อวดเอง รู้จักตัวเองบ้างไหมในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้รู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ ชัดเจนยิ่งขึ้นในลักษณะของสภาพธรรม ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลที่ได้สะสมมาตามความเป็นจริง พร้อมกันนั้นสติก็จะเกิดขึ้น เพราะว่ามีปัจจัยที่ได้อบรมแล้ว ทำให้ขัดเกลาได้ ทำให้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งแล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นสติขั้นใด บางครั้งก็เป็นสติเพียงขั้นเกิดขึ้นวิรัติ แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะไม่ได้ระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมลักษณะหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน ที่ทำให้กระทำการโอ้อวดไม่ว่าจะด้วยกาย หรือด้วยวาจาก็ตาม

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะเห็นสภาพธรรมละเอียดขึ้น ทั้งสติขั้นที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน และขั้นของสติที่เป็นสติปัฏฐานด้วย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ความว่า ความเป็นผู้โอ้อวดเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้โอ้อวด เป็นผู้อวดอ้าง ความโอ้อวด กิริยาที่โอ้อวด ความเป็นผู้โอ้อวด ความเป็นผู้ฟุ้งเฟ้อ กิริยาที่ฟุ้งเฟ้อ ความเป็นผู้เห่อ กิริยาที่เห่อ ที่มีในบุคคลนั้น ลักษณะนี้เรียกว่า ความเป็นผู้โอ้อวด

    คำว่า เมื่อรู้สึกตัว ไม่พึงทำความโอ้อวด ความว่า เมื่อเป็นผู้รู้สึกตัว ไม่พึงทำความเป็นผู้โอ้อวด ไม่พึงยังความโอ้อวดให้เกิด ไม่ให้เกิดพร้อม ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดเฉพาะ พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีซึ่งความเป็นผู้โอ้อวด เป็นผู้งด เว้น เว้นเฉพาะ ออก สลัดออก พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องความเป็นผู้โอ้อวด พึงเป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อรู้สึกตัว ไม่พึงทำความโอ้อวด

    ยากหรือง่าย เป็นไปตามความตั้งใจหรือความต้องการได้หรือไม่ได้ หรือว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจะเห็นกิเลสและเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ได้สะสมมาอย่างละเอียด และการที่จะละคลายกิเลส ก็เป็นไปอย่างละเอียด ทีละเล็ก ทีละน้อยตามลำดับขั้นของปัญญาจริงๆ

    ท่านผู้ฟังบางท่านที่อ่านพระไตรปิฎกกล่าวว่า คล้ายๆ กับพระผู้มีพระภาคให้กระทำด้วยความเป็นตัวตน บังคับว่า ให้เว้น ให้งด อย่ากระทำอย่างนั้น อย่ากระทำอย่างนี้

    แต่อย่าลืมว่า การอ่านพระธรรมวินัยทั้งหมดต้องประกอบกัน เพราะว่าพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้วว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะทรงแสดงธรรมด้วยประการใดๆ ก็ตาม จะต้องไม่ลืมที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่เป็นตัวตนที่จะเว้น วิรัติ บังคับได้ตามใจชอบ แต่ต้องเป็นธรรมที่เป็นโสภณธรรมเกิดขึ้น ระลึกได้ รู้แล้ว จึงงดเว้น จึงละ จึงบรรเทา ตามขั้นของสภาพธรรมนั้นๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นโสภณธรรม เป็นกุศลธรรมขั้นใด

    ข้อความต่อไป

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทโดยละเอียดถี่ถ้วน เพื่อเกื้อกูลอุปการะแก่จริตอัธยาศัยของทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ข้อ ๗๗๓ มีข้อความว่า

    อนึ่ง ภิกษุไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่น ด้วยความเป็นอยู่ ด้วยปัญญา ด้วยศีล และวัตร ดังนี้ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นอยู่อย่างเศร้าหมอง ย่อมดูหมิ่นภิกษุอื่นที่เป็นอยู่อย่างประณีตว่า ก็ภิกษุนี้ ทำไมจึงมีความเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือย ย่อมได้ฉันพืชทั้งปวง คือ พืชแต่ราก พืชแต่ลำต้น พืชแต่ผล พืชแต่ยอด พืชแต่พืชเป็นที่ ๕ ภิกษุนี้ข้าม (ทุกข์) ไม่ได้แล้ว เพราะความที่ตนมีความเพียรเสมอด้วยฟ้าแลบและพะเนินเหล็ก ภิกษุนั้น ย่อมดูหมิ่นภิกษุอื่นที่เป็นอยู่อย่างประณีตด้วยความเป็นอยู่เศร้าหมอง

    กิเลสไม่ได้ละเว้นเลยตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอริยเจ้า ถึงแม้จะเป็นบรรพชิตที่มีความเป็นอยู่อย่างเศร้าหมอง แต่กิเลสนี้ก็ยังทำให้ภิกษุรูปนั้นดูหมิ่นภิกษุอื่นที่เป็นอยู่อย่างประณีตได้ นี่เป็นเรื่องของบรรพชิต แต่ว่าสำหรับเรื่องของท่านเอง วันหนึ่งๆ เป็นอย่างนี้บ้างไหม นี่คือสภาพชีวิตตามความเป็นจริง เคยดูหมิ่นบุคคลอื่นบ้างหรือเปล่า โดยประการใดๆ ก็ตามแม้สักเล็กน้อย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ เมื่อมีปัจจัยจึงเกิดขึ้นปรากฏให้รู้ แต่ถ้าสติไม่เกิด ไม่รู้ ไม่เคยรู้เลยว่า เป็นสิ่งที่ควรจะ ขัดเกลา ละคลาย บรรเทา และให้ดับเป็นสมุจเฉทจริงๆ

    ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงโอวาททุกประการ เพื่อท่านผู้ใดที่มีอุปนิสัยอัธยาศัยอย่างไร ซึ่งแต่ก่อนนี้อาจจะยังไม่เคยทราบ ไม่เคยระลึกรู้ว่า ตัวท่านเป็นอย่างนี้ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงก็จะช่วยเตือนให้ท่านได้พิจารณาตัวท่านเองว่า เป็นอย่างนี้บ้างไหม

    หรือว่ามีใครบ้างที่ไม่เป็นอย่างนี้เลย เพราะว่าทุกท่านจะต้องมีกิเลสแต่ละชนิด ซึ่งตัวท่านเองเท่านั้นที่จะเป็นผู้รู้ดีว่า ท่านมีกิเลสประเภทใดที่ยังมากมายเหลือเกิน และกิเลสชนิดใดที่ไม่มากมายเท่ากับกิเลสอื่น ซึ่งท่านก็จะได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นอยู่อย่างประณีต ย่อมดูหมิ่นภิกษุอื่นที่เป็นอยู่อย่างเศร้าหมองว่า ภิกษุนี้ ทำไมจึงมีบุญน้อย มีศักดิ์น้อย ไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ภิกษุนั้น ย่อมดูหมิ่นภิกษุอื่นที่เป็นอยู่อย่างเศร้าหมองด้วยความเป็นอยู่อย่างประณีต

    แม้ในความเป็นอยู่ ซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามกรรมที่ได้สะสมมาเฉพาะตนแต่ละท่าน ใครจะได้รับความสุขมาก ใครจะได้รับความสุขน้อย ใครจะเป็นอยู่อย่างเศร้าหมอง ใครจะเป็นอยู่อย่างประณีต ก็แล้วแต่บุญกรรมที่ได้กระทำแล้ว มีโอกาสให้ผลเมื่อไรก็เป็นปัจจัยให้นามธรรมนั้นๆ รูปธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น ไม่ควรที่จะยึดถือด้วยกิเลส และเกิดกิเลสที่ทับถมขึ้นโดยการที่ดูหมิ่นบุคคลอื่น

    แต่ว่ากิเลสที่สะสมมา ก็กระทำให้ดูหมิ่นบุคคลอื่นได้ ถ้าเป็นภิกษุผู้ที่มีความเป็นอยู่อย่างเศร้าหมอง ก็ดูหมิ่นภิกษุผู้ที่มีความเป็นอยู่อย่างสบาย อย่างประณีต และสำหรับภิกษุผู้ที่มีความเป็นอยู่อย่างประณีต ก็ยังมีกิเลสที่ทำให้ดูหมิ่นภิกษุอื่นผู้ที่เป็นอยู่อย่างเศร้าหมอง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ใครถามปัญหาแล้วก็แก้ได้ เธอมีความดำริอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ไม่ถึงพร้อมด้วยปัญญา เธอก็ดูหมิ่นภิกษุอื่นด้วยความถึงพร้อมด้วยปัญญานั้น

    ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่ดับกิเลสได้ตามความเป็นจริง แม้แต่บุคคลที่มีปัญญา ใครถามปัญหาก็แก้ได้ ถ้าขณะนั้นดูหมิ่นบุคคลอื่นว่า มีปัญญาน้อยกว่าไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ ขณะนั้นผู้ที่มีสติหรืออบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ควรจะเห็นกิเลสโดยชัดเจนว่า เพราะยังมีกิเลสอยู่ จึงมีปัจจัยที่จะให้ปรากฏเป็นความดูหมิ่นอย่างนั้นขึ้น แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน สติจะเกิดได้ไหมที่จะระลึกรู้อย่างนั้น ในขณะนั้นทันที ก็ย่อมเกิดไม่ได้ เมื่อสติและปัญญาเกิดไม่ได้ การดับ การละกิเลสที่ปรากฏในขณะนั้น ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น กิเลสทั้งหมดที่มีปัจจัยเกิดขึ้น ที่จะละ หรือว่าจะดับได้เป็นสมุจเฉท ก็ด้วยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ด้วยสติที่เกิดขึ้นระลึกรู้ จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพของนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล สำรวมแล้วด้วยความสำรวมในปาติโมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลาย มีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เธอมีความดำริอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม เธอก็ดูหมิ่นภิกษุอื่นด้วยความถึงพร้อมด้วยศีลนั้น

    เป็นเรื่องของกิเลสที่ปรากฏให้รู้ สำหรับผู้ที่ระลึกได้

    ข้อความต่อไป เป็นเรื่องของภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการอยู่ป่าเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้เป็นบรรพชิต ก็ยังมีกิเลสถึงอย่างนั้น สำหรับตัวท่านเอง ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่มีโอกาสที่จะเห็นกิเลสที่มีมาก และปรากฏในลักษณะต่างๆ กัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงทั้งในเรื่องของกายและวาจาเพื่อที่จะให้ระลึกได้ ในสภาพของกิเลสที่ปรากฏ

    ข้อความต่อไป

    ข้อ ๗๗๘

    ก็ภิกษุรู้ธรรมนั้นแล้วค้นคว้าอยู่ พึงเป็นผู้มีสติ ศึกษาในกาลทุกเมื่อ

    เป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังไม่ควรที่จะข้ามแต่ละพยัญชนะไป เช่น ข้อความที่ว่า ก็ภิกษุรู้ธรรมนั้นแล้วค้นคว้าอยู่ ธรรมนั้น ธรรมอะไร หลายท่านกล่าวว่า เห็นเป็นนามธรรม สีเป็นรูปธรรม ได้ยินเป็นนามธรรม เสียงเป็นรูปธรรม นี่คือธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง ทั้งๆ ที่มีความเข้าใจอย่างนี้ก็จริง คือ มีความเข้าใจว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่นามธรรมกับรูปธรรมเท่านั้นเอง นี่คือชีวิตในวันหนึ่งๆ ตามความเป็นจริง คือ ธรรมนั้นตามความเป็นจริง แต่พอไหมที่จะรู้เพียงเท่านี้ หรือว่าถ้าศึกษาเพิ่มขึ้น มากขึ้น และก็รู้ว่า อะไรเป็นนามธรรม อะไรเป็นรูปธรรม โดยการศึกษา พอไหมเพียงเท่านี้

    นี่คือธรรมนั้นๆ ที่ได้เข้าใจ ที่ได้เรียน ที่ได้ศึกษา แต่ยังไม่พอ เพราะว่ายังไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพนั้นๆ ตามความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้จึงมีข้อความต่อไปว่า พึงเป็นผู้มีสติ ศึกษาในกาลทุกเมื่อ

    ถ้าไม่เข้าใจความหมายของสติ ก็ไม่ทราบว่าสติคืออย่างไร ขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ เพราะฉะนั้น จะต้องเข้าใจลักษณะของสติ นอกจากเป็นผู้ที่มีสติแล้ว ศึกษาในกาลทุกเมื่อ คือ ศึกษาในขณะที่สติกำลังระลึกทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลังรู้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัส

    มีสติ ศึกษาในกาลทุกเมื่อ ศึกษาในลักษณะของนามธรรมที่กำลังรู้สภาพที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สิ่งที่กำลังปรากฏนี้ พร้อมที่จะให้ศึกษาด้วยสติ

    มีสติ ศึกษาในกาลทุกเมื่อ ขณะนี้กำลังเห็น ศึกษาได้แล้วถ้าสติเกิด และต้องศึกษาด้วยสติที่เกิดระลึกรู้ ถ้าสติไม่เกิด ก็ไม่ได้ศึกษาในลักษณะของนามธรรมที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังได้กลิ่น ที่กำลังลิ้มรส ที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยสติเกิด ระลึกรู้ในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกว่าจะเป็นความรู้ที่ประจักษ์แจ้งจริงๆ ในสภาพธรรมนั้นๆ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ภิกษุรู้ความดับว่าเป็นความสงบแล้ว ไม่พึงประมาทในศาสนาของพระโคดม

    พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทเรื่องของความไม่ประมาททั้งหมด



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๐ ตอนที่ ๔๙๑ – ๕๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564