แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 520


    ครั้งที่ ๕๒๐


    สุ. ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น ต้องกำจัดความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏออก จึงชื่อว่าเป็นการอบรมปัญญาที่จะให้ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะปัญญาเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และก็มีหลายขั้น หลายระดับ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง ปัญญาที่เกิดจากการศึกษา ปัญญาที่เกิดจากการพิจารณา ปัญญาที่เกิดพร้อมกับสติที่เพิ่งเริ่มจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบางนามบางรูป ก็ยังไม่เท่ากับปัญญาที่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมหลายๆ อย่าง ละเอียดขึ้นๆ และยังไม่เท่ากับปัญญาที่เมื่อรู้แล้ว ละความไม่รู้ คลายลงไปจนประจักษ์ลักษณะที่แท้จริง คือ ความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น ท่านที่ยังไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็ใช้เพียงชื่อของปัญญา โดยที่ไม่รู้ในลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมของปัญญาเลย เพราะว่าเมื่อยังไม่ได้อบรมปัญญา ปัญญานั้นๆ ก็ย่อมยังไม่เกิดปรากฏกับท่าน

    ท่านจะพูดถึงโลกุตตรปัญญาก็ตาม วิปัสสนาปัญญาก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงคำ เป็นแต่เพียงชื่อ แต่เมื่อยังไม่ได้อบรม ก็ยังไม่ประจักษ์ในสภาพที่เป็นปรมัตถธรรมของปัญญาในระดับขั้นต่างๆ ว่า ปัญญาที่ได้อบรมเพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นจะประจักษ์แจ้งชัดในลักษณะของนามรูปเพิ่มขึ้นแค่ไหน ปัญญาที่ได้อบรมจนกระทั่งถึงความสมบูรณ์ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นปัญญาที่แทงตลอดในอริยสัจธรรมขั้นไหน ก็เป็นสิ่งที่จะต้องอบรมจนกว่าจะเกิด จึงจะรู้

    แม้แต่คำว่า นามธรรม ที่ท่านกล่าวว่า สุขเวทนาเป็นนามธรรม ก็ยังเป็นเพียงชื่อ ถ้านามรูปปริจเฉทญาณยังไม่เกิด ยังไม่ประจักษ์ชัดถ่องแท้ในลักษณะของธาตุรู้ ซึ่งเป็นแต่เพียงสภาพรู้เท่านั้น ไม่ปะปนกับสีสันวัณณะ เสียง กลิ่นต่างๆ ใดๆ เลย แต่ว่าปัญญาที่จะถึงความสมบูรณ์ขั้นนั้นได้ ต้องเกิดจากการระลึกรู้ สามารถที่จะรู้ว่า ที่สีกำลังปรากฏทางตา ก็เพราะเหตุว่า มีสภาพรู้ที่กำลังรู้ในสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นการที่จะน้อมไปสู่การรู้ในสภาพรู้ซึ่งมีจริงๆ และไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย จนกว่าจะเป็นความรู้ที่ชัดแจ้งในลักษณะของธาตุรู้นั้น ซึ่งเป็นวิปัสสนาปัญญา เป็นวิปัสสนาญาณ

    เพราะฉะนั้น ก็ระลึกรู้ไปเรื่อยๆ อย่ากลัวว่า นามนั้นรู้ไม่ได้ รูปนี้รู้ไม่ได้ แล้วแต่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะว่าขณะนั้นเป็นของจริง และไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังอีกท่านหนึ่ง

    ๓๘๑ สุดตรอกวัดโมฬีโลกยาราม

    ตำบลวัดอรุณ สุดถนนอรุณอัมรินทร์

    อำเภอบางกอกใหญ่ ธนบุรี

    วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘

    เรียน อาจารย์ที่เคารพนับถือยิ่ง

    เนื่องด้วยมีท่านผู้ใหญ่และเพื่อนร่วมงานบางท่านที่ติดในการทำวิปัสสนา ด้วยการบังคับสติในสำนักปฏิบัติมาช้านาน มีความเห็นว่า การที่คนเราจะรับอารมณ์ทางทวาร ๖ ทวารใดทวารหนึ่ง พูดให้เข้าใจง่าย คือว่า กำลังทำกิจธุระอะไรๆ ก็ตาม ถ้าไม่มีตัวสมาธิเสียแล้ว ย่อมไม่อาจจะยังประโยชน์ให้สำเร็จกิจต่างๆ ได้เลย แม้จะอยู่เฉยๆ ถ้าไม่มีตัวสมาธิ ก็ไม่อาจเห็นได้ ได้ยินได้ ได้กลิ่นได้ ลิ้มรสได้ กระทบสัมผัสได้ ซึ่งเรื่องนี้ตัวกระผมเองยังไม่ขอเชื่อ ทั้งนี้เพราะเท่าที่ได้ศึกษาเรื่องของเจตสิกดูแล้ว ไม่เห็นมีสมาธิเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตด้วยเลยนี่ครับ เห็นมีเจตสิกอยู่ ๓ ดวงที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสมาธิมาก เจตสิก ๓ ดวงนั้น คือ เจตนาเจตสิก ๑ มนสิการเจตสิก ๑ และเอกัคคตาเจตสิกอีก ๑

    เจตสิกทั้ง ๓ ดวงนี้กระมังที่ทำให้ท่านมีความคิดเห็นคลาดเคลื่อน เข้าใจผิดคิดว่าเป็นสมาธิ ซึ่งเขาคิดว่าเป็นตัวแกนสำคัญยิ่งในชีวิตประจำวัน กล่าวคือ ถ้าไม่มีตัวสมาธิในการเดินจงกรม ในการทำอานาปานสติ ปัญญาก็เกิดไม่ได้ ในที่สุดก็ละคลายกิเลสไม่ได้ คือ บรรลุไม่ได้ ทั้งๆ ที่มีธรรม คือ รูปและนามทางทวาร ๖ ทยอยกันเกิดทยอยกันดับ แต่เขาเหล่านั้นก็ไม่ทราบถึงสภาวะ ธรรมชาติตามความเป็นจริงที่จะนำมาเป็นเครื่องน้อมระลึกให้สติพิจารณาในสภาพการเกิด สภาพไม่เที่ยง ประจักษ์ในสภาพการดับเนืองๆ บ่อยๆ จนกระทั่งในที่สุดเกิดความเบื่อหน่ายได้เองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปพยายามทำวิปัสสนาเพื่อละคลายแต่ประการใดเลย นั่นเป็นการทำเพื่อหวังผล เป็นการทำสิ่งผิดปกติให้เกิดขึ้นมาในสภาพของตัวตนโดยแท้ ไม่ใช่เป็นสติตามที่รู้

    ขอความกรุณาอาจารย์ โปรดได้ช่วยตอบข้อสงสัยขั้นต้นให้กระจ่างด้วย ในที่สุดนี้ ขอให้อาจารย์จงประสบความสุข ความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ตลอดชั่วกาลนาน

    ด้วยความเคารพนับถือยิ่ง

    สุ. ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ต้องอาศัยการฟังให้เข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา สติจึงจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้ายังไม่มีความเข้าใจ ก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ โดยเฉพาะถ้ามีความเห็นว่า ระลึกไม่ได้ จะเกิดการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้อย่างไร ในเมื่อมีความเชื่อมั่นว่า อย่างไรๆ ก็ระลึกไม่ได้ ซึ่งนั่นเป็นความเห็นที่ไม่ถูก

    ตามที่ท่านกล่าวว่า ท่านที่ติดในการทำวิปัสสนาด้วยการบังคับสติในสำนักปฏิบัติมาช้านานมีความเห็นว่า การที่คนเราจะรับอารมณ์ทางทวาร ๖ ทวารใดทวารหนึ่ง พูดให้เข้าใจง่าย คือ กำลังทำกิจธุระอะไรๆ ก็ตาม ถ้าไม่มีตัวสมาธิเสียแล้ว ย่อมไม่อาจจะยังประโยชน์ให้สำเร็จกิจต่างๆ ได้เลย แม้จะอยู่เฉยๆ ถ้าไม่มีตัวสมาธิ ก็ไม่อาจเห็น ได้ยิน ได้กลิ่นได้ ซึ่งเรื่องนี้ท่านเจ้าของจดหมายไม่ขอเชื่อ เพราะท่านเห็นว่า ตามที่ท่านได้ศึกษามา มีเจตสิกอยู่ ๓ ดวงที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสมาธิมาก เจตสิก ๓ ดวงนั้น คือ เจตนาเจตสิก ๑ มนสิการเจตสิก ๑ และเอกัคคตาเจตสิกอีก ๑

    ท่านผู้เขียนเข้าใจว่า เจตสิกทั้ง ๓ ดวงนี้กระมังที่ทำให้ท่านผู้มีความคิดเห็นคลาดเคลื่อนเข้าใจผิด คิดว่าเป็นสมาธิ ซึ่งเขาคิดว่าเป็นตัวแกนสำคัญยิ่งในชีวิตประจำวัน กล่าวคือ ถ้าไม่มีตัวสมาธิในการเดินจงกรม ในการทำอานาปานสติ ปัญญาก็เกิดไม่ได้

    ถ้าจะพูดถึงลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกก็ดี มนสิการเจตสิกก็ดี เจตนาเจตสิกก็ดี เจตสิกทั้ง ๓ นี้ เกิดกับจิตทุกดวง เป็นปกติ เป็นธรรมดา จะไม่มีจิตสักดวงหนึ่งซึ่งขาดเจตนาเจตสิก มนสิการเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก แต่มีจิตมากมายหลายขณะที่ปราศจากปัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้น ควรจะอบรมอะไร ก็ต้องควรอบรมปัญญาให้เกิดขึ้น ในเมื่อเอกัคคตาก็มีเป็นปกติ เจตนาก็มีเป็นปกติ มนสิการก็มีเป็นปกติ แต่ปัญญาต่างหากซึ่งไม่มี เพราะฉะนั้น เดิน ก็เดินกันทุกวัน นั่ง ก็นั่งกันทุกวันเหมือนกัน แต่ว่าปัญญาไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ทั้งๆ ที่เดินไป นั่งไป เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรปัญญาจึงจะเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้

    ถ้าเห็นว่าปัญญาเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะเป็นความรู้ชัด ไม่ต้องห่วงกังวลถึงเอกัคคตาเจตสิก เจตนาเจตสิก มนสิการเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง แต่ปัญญาไม่ได้เกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น จึงควรอบรมให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ถ้าจะเจริญวิปัสสนาภาวนา จะพ้นจากสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะนี้สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ สติระลึกรู้ นั่นคือ การอบรมเจริญปัญญา เป็นการอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา ไม่ควรเห็นสิ่งอื่นสำคัญกว่าปัญญา ซึ่งจะต้องอบรมให้เกิดขึ้น เพื่อรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    สำหรับจดหมายของท่านผู้นี้ ขอตอบเพียงเท่านี้

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงให้พระภิกษุละการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ก็มีพระภิกษุที่ไม่เห็นประโยชน์ ไม่เห็นว่าที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติให้ละนั้นจะมีคุณอย่างไร แต่เมื่อท่านได้พิจารณาแล้ว ท่านก็เห็นว่าเป็นประโยชน์และเป็นคุณ

    ขอกล่าวถึง มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภัททาลิสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

    ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า

    พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว เมื่อเราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว ย่อมรู้สึกคุณ คือ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายจงมา จงฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวเถิด ด้วยว่า เมื่อเธอทั้งหลายฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จักรู้สึกคุณ คือ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระภัททาลิได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถจะฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวได้ เพราะเมื่อข้าพระองค์ฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จะพึงมีความรำคาญ ความเดือดร้อน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภัททาลิ ถ้าอย่างนั้นเธอรับนิมนต์ ณ ที่ใดแล้ว พึงฉัน ณ ที่นั้นเสียส่วนหนึ่ง แล้วนำส่วนหนึ่งมาฉันอีกก็ได้ เมื่อเธอฉันได้แม้อย่างนี้ ก็จักยังชีวิตให้เป็นไปได้

    ท่านพระภัททาลิกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถจะฉันแม้ด้วยอาการอย่างนั้นได้ เพราะเมื่อข้าพระองค์ฉันแม้ด้วยอาการอย่างนั้น จะพึงมีความรำคาญ ความเดือดร้อน

    ครั้งนั้นแล ท่านพระภัททาลิประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังจะทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา

    ครั้งนั้น ท่านพระภัททาลิไม่ได้ให้ตนประสบพระพักตร์พระผู้มีพระภาคตลอดไตรมาสนั้นทั้งหมด เหมือนภิกษุอื่นผู้ไม่ทำความบริบูรณ์ในสิกขาในพระศาสนาของพระศาสดาฉะนั้น

    ก็สมัยนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกันช่วยกันทำจีวรกรรมสำหรับพระผู้มีพระภาคด้วยตั้งใจว่า พระผู้มีพระภาคมีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จเที่ยวจาริกไปโดยล่วงไตรมาส ครั้งนั้น ท่านพระภัททาลิเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับภิกษุเหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวว่า

    ดูกร ภัททาลิผู้มีอายุ จีวรกรรมนี้แล ภิกษุทั้งหลายช่วยกันทำสำหรับพระผู้มีพระภาค ด้วยตั้งใจว่า พระผู้มีพระภาคมีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จเที่ยวจาริกไปโดยล่วงไตรมาส ดูกร ภัททาลิผู้มีอายุ เราขอเตือน ท่านจงมนสิการความผิดนี้ให้ดีเถิด ความกระทำที่ยากกว่าอย่าได้มีแก่ท่านในภายหลังเลย

    ท่านพระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ท่านก็เกื้อกูลท่านพระภัททาลิให้รู้สึกถึงความผิด ถ้าเป็นความผิดและรีบแก้ไขเสีย ก็ยังดีกว่าจะปล่อยไปจนกระทั่งแก้ยากในภายหลัง เพราะว่าถ้ายิ่งทอดทิ้งไปไม่แก้ไขให้ถูกต้องขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งแก้ยากขึ้นเท่านั้น

    ท่านพระภัททาลิก็รับคำของภิกษุเหล่านั้น แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ขอพระผู้มีพระภาคจงรับโทษของข้าพระองค์นั้นโดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากำลังจะบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา

    ดูกร ภัททาลิ แม้เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้พระผู้มีพระภาคจักทรงทราบเราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิ ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว

    พระผู้มีพระภาคทรงเตือนให้ท่านพระภัททาลิได้ระลึกถึงความไม่ละอายของท่าน ซึ่งไม่หวั่นเกรงเลยว่า แม้พระผู้มีพระภาคจะประทับอยู่ที่พระนครสาวัตถี และทรงทราบด้วยว่า ท่านพระภัททาลิไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระองค์ แต่ถึงกระนั้น ท่านพระภัททาลิก็ไม่ได้มีความละอายทั้งๆ ที่รู้ว่า พระผู้มีพระภาคประทับ และทรงทราบว่า ท่านไม่ได้กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขา

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภัททาลิ เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า ภิกษุมากรูปด้วยกันเข้าจำพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้ภิกษุเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิ ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว

    พระผู้มีพระภาคทรงเตือนท่านพระภัททาลิ ให้ระลึกถึงความไม่ละอายของท่านพระภัททาลิ ซึ่งไม่ละอายในการที่พระภิกษุทั้งหลายก็รู้ว่า ท่านไม่ได้ประพฤติบริบูรณ์ในสิกขา ในศาสนาของพระผู้มีพระภาค

    เพราะฉะนั้น เรื่องของอหิริกะ ความไม่ละอาย เกิดกับอกุศลจิตทุกขณะ ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทราบได้จริงๆ ว่า ขณะที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นเพราะไม่ละอาย ไม่ว่าจะเป็นอกุศลขั้นใดทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังเป็นปุถุชนไม่ได้รู้เลยว่า ขณะที่เป็นอกุศลจิตมีอหิริกะ ความไม่ละอาย เป็นสภาพปรมัตถธรรม เป็นเจตสิกประเภทหนึ่งที่เกิดพร้อมกับอกุศลจิต จิตนั้นจึงเป็นอกุศล

    ถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะเห็นอหิริกะเป็นขั้นๆ ทีเดียว ซึ่งแล้วแต่สภาพของอกุศลจิตที่เกิดปรากฏในขณะนั้น ถ้าเป็นอกุศลธรรมที่หยาบ ผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานก็ระลึกรู้ได้ในขณะนั้นว่า มีอหิริกะประเภทหยาบจริงๆ จึงเป็นอกุศลจิตที่หยาบในขณะนั้นได้

    เพราะฉะนั้น ความไม่ละอายเป็นสภาพธรรมที่เป็นเจตสิก เกิดพร้อมกับอกุศลจิตทุกดวง เพราะความไม่ละอายในอกุศลธรรมระดับนั้น ขั้นนั้น ยังมี จิตจึงเกิดเป็นอกุศลในขั้นนั้น ปัญญาที่รู้ความจริงอย่างนี้บ่อยๆ เนืองๆ จะขัดเกลา ละอหิริกะในอกุศลธรรมเท่าที่ระดับขั้นของปัญญาจะเป็นไปได้ แล้วแต่ว่าปัญญาขั้นใดจะเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมขั้นใด ก็ขัดเกลา ละคลายอกุศลธรรมระดับนั้นๆ

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภัททาลิ เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า ภิกษุณีมากด้วยกันเข้าจำพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้ภิกษุณีเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิ ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว

    พวกที่ควรละอายอย่างเช่นภิกษุณีก็มี ที่ท่านพระภัททาลิควรจะระลึกได้ ควรที่จะเกิดความละอาย แต่แม้กระนั้น ท่านก็มิได้แทงตลอดแล้ว คือ มิได้รู้ว่า เป็นสิ่งที่ควรละอายจริงๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๕๑๑ – ๕๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564