แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 502


    ครั้งที่ ๕๐๒


    สุ. (ต่อ) ขณะที่กำลังเห็น มีสติ คือ ไม่หลงลืม เมื่อสักครู่เห็นแล้วหลงลืมไปนานทีเดียว โดยสติไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เมื่อสติเกิดระลึกในขณะที่กำลังเห็น วิตกเจตสิกซึ่งเป็นสัมมาสังกัปโปนั้น ต้องจรดที่ลักษณะของสภาพรู้ซึ่งเป็นนามธรรม ไม่ใช่นึกขึ้นมาว่า เห็นหนอ

    ถ้านึกว่า เห็นหนอ ในขณะนั้น วิตกเจตสิกซึ่งเป็นสัมมาสังกัปโป ไม่ได้จรดที่ลักษณะของนามธรรมที่กำลังเห็นซึ่งเป็นสภาพรู้ทางตา เมื่อเป็นอย่างนี้ สภาพธรรมก็ปะปนรวมกันเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เพราะว่าสติไม่ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างจริงๆ ให้ตรง จึงจะรู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะ คิดนึกก็อย่างหนึ่ง ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่ใช่รู้โผฏฐัพพะ

    สำหรับมรรคองค์อื่นๆ จะยังไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้

    ข้อ ๓ ท่านถามว่า กาเมสุมิจฉาจารเป็นอย่างไร พระโสดาบันที่เป็นเพศฆราวาสยังมั่วสุมอยู่ตามซ่องโสเภณีไหม เพราะเหตุไร โปรดอธิบายให้เข้าใจ

    ความวิจิตรของจิตของแต่ละบุคคลนี้ละเอียดมาก แม้พระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงประเภทของจิตไว้ว่า ต่างกันโดยประเภทเป็น ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง เจตสิกต่างกันเป็นประเภท ๕๒ ดวง แต่ลักษณะความวิจิตรของนามธรรมเหล่านั้น ละเอียดมากจนกระทั่งแต่ละบุคคลซึ่งสะสมเหตุปัจจัยต่างๆ กันมานั้น ถ้าสติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏกับท่านตรงตามความเป็นจริง จะเห็นว่า เป็นสภาพธรรมที่ลึกล้ำ ละเอียดมาก เฉพาะตัว ยากที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะไปก้าวก่าย หรือรู้ไปถึงสภาพการสะสมของบุคคลอื่นโดยละเอียดได้

    เรื่องของกาเมสุมิจฉาจารเป็นปัญหาที่กว้างมาก ทั้งในเรื่องของสังคม เศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่

    และธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ก็กว้างจริงๆ ถ้าจะกล่าวถึงการประพฤติผิดในกาเมสุมิจฉาจาร พระผู้มีพระภาคไม่ทรงจำกัดเฉพาะการมั่วสุมในสถานที่ที่ใช้คำว่าซ่องโสเภณีเท่านั้น ถ้าเป็นการประพฤติผิดในกาม ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดเฉพาะสถานที่หนึ่งสถานที่ใด แต่เป็นสภาพของอกุศลจิตที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ประพฤติการล่วงศีลอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ทรงจำกัดสถานที่

    ถ้าท่านผู้ฟังใคร่ที่จะทราบว่า จะเป็นการผิดศีลข้อนี้หรือไม่ ก็ควรที่จะศึกษาองค์ของศีลข้อนี้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ และใช้ได้กับทุกกาล ทุกสถานที่ โดยที่ท่านจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงแต่เฉพาะเรื่องของศีลเท่านั้น ยังได้ทรงแสดงเรื่องของธรรมไว้ด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็จะศึกษาธรรมโดยละเอียดยิ่งขึ้น และเว้นทุจริตกรรมยิ่งขึ้นด้วย คือ จะไม่เว้นเฉพาะศีล ๕ เท่านั้น แต่ยังอบรมธรรมฝ่ายกุศล เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองยิ่งขึ้น จนดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความมั่นคงในการที่จะละคลายดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ย่อมเป็นผู้ที่มีปกติศึกษาธรรมที่จะขัดเกลากิเลสของตนเอง ยิ่งกว่าการที่จะเพียงรักษาศีล ๕ ข้อ แต่ต้องมีธรรมประการอื่นประกอบด้วย

    ข้อ ๔ ถามว่า คำว่า สักกายทิฏฐิ คือ เห็นผิดในขันธ์ ๕ นั้น ทราบแล้ว แต่อยากทราบว่า ถ้าใครมาด่า มาว่าตัวเรา หรือพวกพ้องโคตรเหง้าของเรา เป็นต้น เราก็ไม่โกรธใช่ไหม จึงเรียกว่า ละสักกายทิฏฐิได้

    ขอทวนคำถามที่ท่านเจ้าของจดหมายกล่าวว่า สักกายทิฏฐิ คือ เห็นผิดในขันธ์ ๕ นั้น ทราบแล้ว

    เพราะฉะนั้น ถ้าทราบแล้ว ต้องเข้าใจว่า สักกายทิฏฐิที่เป็นไปในขันธ์ ๕ นั้น คืออย่างไร แค่ไหน สักกายทิฏฐิในขันธ์ ๕ คือ ยึดถือรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ว่า เป็นตัวตน และญาติพวกพ้องเหล่านั้น เป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ หรือวิญญาณขันธ์

    ผู้ที่ละสักกายทิฏฐิได้ หมดความสงสัยในสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้ว่าความโกรธจะเกิดขึ้น เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล แต่ผู้ที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงจนละสักกายทิฏฐิได้ ก็ไม่ยึดถือว่าความโกรธนั้นว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล อย่างนี้จึงจะชื่อว่า ละสักกายทิฏฐิ

    เพราะฉะนั้น ที่ว่าทราบแล้ว จะต้องทราบจริงๆ โดยละเอียด และโดยตลอดด้วย เมื่อทราบจริงๆ โดยละเอียด โดยตลอด ก็จะหมดความสงสัยในเรื่องนี้ได้

    ผู้ฟัง สักกายทิฏฐิ แยกเป็น ๓ ศัพท์ คือ ส กาย ทิฏฐิ แปลว่า เห็นว่ากายของเรา คือ ยังเป็นตัวเป็นตน

    สุ. ข้อ ๕ ถามว่า สีลัพพตปรามาส มีอธิบายอย่างไร คนที่ยังละเรื่องเวทมนต์ของขลังไม่ได้ เรียกว่า ยังละสีลัพพตปรามาสไม่ได้ใช่ไหม

    ท่านผู้ฟังคงจะมีความรู้มากกว่าดิฉันในเรื่องเวทมนต์ของขลังต่างๆ เพราะว่า ผู้ที่ศึกษาธรรมเพื่อขัดเกลากิเลส ย่อมจะไม่สนใจเรื่องของเวทมนต์ของขลังใดๆ ทั้งสิ้น ดิฉันมีความรู้น้อยจริงๆ คำจำกัดความ คำนิยาม หรือความหมายของคำว่า เวทมนต์ ของขลัง ในที่นี้หมายความถึงอะไร คงจะไม่ได้หมายความถึง การสวดพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ตามธรรมดาใช่ไหม

    ผู้ฟัง ผมบวชมาหลายปี เรียนมามากเรื่องเวทมนต์คาถา แต่ที่จริงเป็นศัพท์บาลีเท่านั้น อย่างที่อาจารย์เคยกล่าว พระพุทธเจ้าอธิษฐานตอนที่จะตรัสรู้ว่า ถ้าข้าพเจ้าไม่ตรัสรู้พระโพธิญาณ เลือดเนื้อจะหมดไป ... นี่เป็นคาถา เป็นศัพท์บาลีว่า อวสุสฺสตุ เม สรีเร มํสโลหิตํ ตอนเป็นเด็ก เคยมีพระสอนว่า คาถาบทนี้เป็นคาถาคัดเลือด ถ้าถูกมีดฟัน ท่องแล้วเลือดหยุด ก็เอามาเป็นคาถาโดยไม่รู้ความหมาย

    คาถาต่างๆ ถ้าเป็นคนรู้ภาษาบาลี เมื่อแปลแล้วจะเห็นว่า ไม่ใช่เช่นที่เข้าใจกัน

    เวทมนต์คาถาเป็นของพวกพราหมณ์ พระพุทธเจ้าไม่ได้เรียกเวทมนต์ ท่านเรียก พุทธมนต์ มนต์หมายถึงสิ่งที่รำพึง อย่างพุทธมนต์ อย่างที่เมืองเวสาลีเกิดมีโรคระบาด เสด็จไปเอาน้ำมนต์รด เรียกว่า เจริญพุทธมนต์

    สุ. เรื่องของพระพุทธมนต์ คงจะคนละเรื่องกับเวทมนต์ของขลัง เวทมนต์ของขลังกับพุทธมนต์ เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องแยกจากกันให้ชัดเจน มิฉะนั้นแล้ว ท่านก็จะปนธรรมฝ่ายอกุศลกับฝ่ายกุศล เพราะคำว่ามนต์ ก็ใช้คำเดียวกัน ความหมายหนึ่งเป็นเวทมนต์ของขลัง ส่วนอีกความหมายหนึ่งเป็นพุทธมนต์ ก็มนต์เหมือนกัน แต่ว่าการใช้ต่างกัน เกิดจากสภาพของจิตที่ต่างกัน อย่ารวมเป็นเรื่องเดียวกัน มิฉะนั้นแล้วก็จะทำให้เกิดความเข้าใจที่สับสน

    สำหรับเรื่องของการละกิเลสโดยการเป็นผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานตามปกติธรรมดานี้ ส่วนมากท่านผู้ฟังคงไม่คุ้นเคยกับการท่องคาถายาวๆ มากๆ อย่างคาถาแช่งคน คาถาอะไรต่างๆ ซึ่งน้อยคนที่จะรู้คาถาเหล่านั้นและท่องได้โดยตลอด สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน อย่าว่าแต่เฉพาะคาถาสั้นๆ หรือปานกลาง หรือยาว แม้แต่เพียงความคิดนึกที่เกิดขึ้น สติก็ระลึกทันที จึงรู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่คิดเท่านั้น เพื่ออะไร เพื่อละ ไม่ยึดถือว่า เป็นเราที่คิด หรือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลที่คิด นี่คือการอบรมปัญญาที่จะละกิเลส

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่ท่านกล่าวพระพุทธคุณ ถึงแม้ว่าจะเป็นภาษาบาลี อิติปิโส ภควา ขณะนั้นไม่ใช่เวทมนต์ของขลัง เป็นแต่เพียงการระลึกถึงพระพุทธคุณตามที่ได้อบรมมา และเวลาที่จะระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณครั้งใด ก็ระลึกเป็นภาษาบาลีตามที่จำได้ ซึ่งขณะนั้นสติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ว่า แต่ละคำเป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมที่คิด ไม่ใช่ตัวตนที่กำลังสวด ที่กำลังระลึกถึงพระพุทธคุณในขณะนั้น จะกล่าวว่าเป็นคาถาหรือเปล่า ก็คงจะไม่ใช่

    ตามความหมายเดิมของคาถา ก็คือ คำในภาษาบาลี แต่เมื่อนึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ก็กลายเป็นเรื่องของเวทมนต์ของขลัง เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ศึกษาพิจารณาใคร่ครวญว่า คาถาต่างๆ เหล่านี้ เป็นกุศลหรืออกุศลประการใด ต้องแยกกันเสียก่อน

    ถ้าเป็นผู้ที่ทราบว่า จิตใจขณะใดไม่เป็นกุศล ขณะนั้นก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ผู้ที่ทราบอย่างนี้ ก็อบรมเจริญกุศลทุกประการในเรื่องของทานด้วย เรื่องของศีลด้วย เรื่องความสงบของจิตด้วย และขณะที่ระลึกถึงพระพุทธคุณ ควรจะเป็นขณะที่จิตสงบจากอกุศล ด้วยการระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เพียงรีบท่องให้จบ ซึ่งก็ยังดีที่ยังมีสติที่จะระลึกถึง แม้ว่าจะเป็นไปด้วยความรีบร้อนประการใดก็ตาม ก็ยังเป็นชั่วขณะที่ระลึกเป็นไปในกุศล

    แต่ที่จะให้จิตใจสงบได้จริงๆ ก็โดยการที่ไม่เพียงแต่ท่อง แต่ว่าระลึกถึงพระคุณนานาประการตามที่เข้าใจด้วย อย่างเช่น พุทโธ คือ ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ท่านผู้ฟังก็น้อมระลึกถึงพระปัญญาคุณที่ได้สะสมอบรมมาจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะว่า ท่านจะไม่ระลึกถึงบุคคลอื่นด้วยคำว่า พุทโธ เป็นแน่นอน

    เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่ท่านกล่าวคาถาภาษาบาลี เป็นคำที่ระลึกถึง พระพุทธคุณ ก็หมายความถึง ท่านระลึกถึงพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความเคารพในพระคุณของพระองค์ ถ้าเป็นอย่างนี้จิตจะสงบ เป็นการเจริญความสงบของจิต เป็นสมถภาวนา แต่ไม่มีจุดมุ่งที่หมายจะให้เป็นคาถาของขลังเวทมนต์ และก็ต้องทราบด้วยว่า นี่เป็นกุศลจิต

    แต่ถ้าท่านท่องคาถาแช่งคน นั่นก็เป็นเรื่องของอกุศลจิต ไม่ใช่กุศลจิต ซึ่งท่านจะเห็นได้ว่า ความวิจิตรของจิตรวมทั้งวัตถุต่างๆ ก็ย่อมจะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้สภาพของวัตถุนั้นต่างกัน เพราะสภาพของจิตนั้นต่างกัน

    ถ. ขณะที่ห้อยพระ หยิกตัวเองยังเจ็บ ผมไม่เชื่อจริงๆ

    สุ. ขณะที่กำลังระลึกถึงพระพุทธคุณ เป็นกุศลใช่ไหม และถ้าขณะนั้นระลึกถึงพระพุทธคุณจนเกิดศรัทธา เกิดปีติ จิตสงบขึ้น จะเป็นจิตที่มีกำลังมากกว่าขณะที่ระลึกถึงเพียงเล็กน้อยไหม เพราะฉะนั้น บางครั้งท่านผู้ฟังจะเห็นความอัศจรรย์ของบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้น แต่ท่านเองไม่ทราบสาเหตุว่า ความอัศจรรย์นั้นๆ เกิดขึ้นได้เพราะเหตุใด แต่ความจริงทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะต้องมีเหตุที่ควรแก่สิ่งนั้นๆ สิ่งนั้นๆ จึงได้เกิดปรากฏเป็นอย่างนั้นได้ และบางทีท่านจะเห็นกำลังของกุศลจิตว่า สามารถที่จะให้ผลต่างๆ กันได้

    ขอเล่าเรื่องจริงที่ได้รับฟังมาจากบุคคลอื่น แต่ไม่ได้ฟังโดยตรงจากบุคคลนั้น ในคราวที่มีเรือล่ม ตอนที่มีนักศึกษาไปเที่ยวถ้ำละว้า ปรากฏว่ามีนักศึกษาที่ติดอยู่ใต้แพ ไม่สามารถจะออกมาได้ ก็ระลึกถึงพระคุณของมารดา ด้วยประการใดก็ไม่ทราบ ก็ทำให้ออกมาจากแพที่กำลังทับอยู่ได้ ซึ่งก็คงจะมีเหตุการณ์อีกหลายอย่างที่เป็นผลของกุศลจิตที่มีกำลัง

    เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะแน่ใจว่า ควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ก็ควรที่จะศึกษาในเหตุในผล และถึงแม้ว่าจะเข้าใจว่า สภาพของกุศลเป็นสิ่งที่มีกำลัง สามารถที่จะทำให้พ้นภัยอันตรายต่างๆ ได้ แต่ก็ไม่ควรที่จะติดในวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดยึดถือว่าเป็นของขลัง และสำหรับเรื่องงมงาย ไม่ควรเชื่อแน่นอน

    ควรที่จะมั่นคงในเรื่องกรรมของตนเอง และควรที่จะเข้าใจว่า วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะมีความขลังประการใดเพราะเหตุใดหรือไม่ หรือว่าไม่สามารถจะเป็นไปได้ประการใดก็ตาม ก็ไม่ควรที่จะติด แต่ควรที่จะละ และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๑ ตอนที่ ๕๐๑ – ๕๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564