แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 501


    ครั้งที่ ๕๐๑


    ถ. ผมเป็นลูกศิษย์อาจารย์มา ๕ – ๖ ปีแล้ว ไม่เคยเห็นตัวจริงเลย ได้ยินแต่เสียง วันนี้เผอิญมาทำบุญ เป็นโอกาสเหมาะที่ได้มา ผมปฏิบัติธรรมมา ๒๐ กว่าปี สิ่งที่ปรากฏ ที่เห็น ที่รู้อะไรมา เทียบเคียงดูกับอาจารย์แล้ว ไม่ถูกต้อง คือ การปฏิบัติของผมนี้ เริ่มต้นผมบวชเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นการบวชตามประเพณี พ่อแม่ให้บวชก็บวช แต่ศรัทธาโดยตรงยังไม่ฝังใจ ซึ่งในขณะนั้นมีเรียนปริยัติธรรมกัน ผมก็ได้ศึกษานักธรรมตรี อะไรพวกนี้ ก็เรียนกับเขา มาติดใจเรื่องหิริโอตตัปปะ ท่านสอนว่า มนุษย์และเทวดาทั้งหลายจะต้องมีเครื่องอาศัย มีธรรมเป็นที่อยู่ที่อาศัย คือ หิริโอตตัปปะเป็นเครื่องอยู่เครื่องอาศัยของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผมพิจารณาดูว่า จะเป็นเครื่องอาศัยได้อย่างไร จึงรู้ว่า คนเราถ้าขาดความละอาย และเกรงกลัวต่อบาปกรรมทั้งหลายแล้ว จะอยู่เป็นมนุษย์หรือเทวดาทั้งหลายไม่ได้ ตามหลักธรรมเขาแสดงไว้อย่างนั้น ผมก็เข้าใจว่าอย่างนั้น

    และขณะที่ยังบวชอยู่ก็สอบได้นักธรรมตรี ก็เรียนนักธรรมโทต่อ ได้เรียนเรื่องพุทธประวัติ สาวกประวัติ ไปพบเรื่องพระติสสะเถระที่ท่านได้รับทุกขเวทนา พระติสสะเถระนี้ ท่านพระสารีบุตรบวชให้ และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ในคำบรรยายสรุปว่า เพราะเหตุว่าท่านได้เคยเจริญสมถวิปัสสนา ด้วยอานิสงส์นั้นแม้ชั่วช้างกระดิกหู ทำให้ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ ผมก็เลิกเรียนมาปฏิบัติธรรม เขาให้ไปหาอาจารย์ บางคนบอกว่าต้องเอาดอกไม้ธูปเทียนและของอื่นๆ ไปด้วย บางคนก็บอกว่าต้องเอาเงินไปด้วย แต่จากที่ศึกษามาไม่พบว่าพระพุทธเจ้าให้นำดอกไม้ ธูปเทียน หรือเงินไปให้ผู้เป็นอาจารย์ ก็เลยไม่เชื่อ

    ครั้งหนึ่งไปอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่งที่กาญจนบุรี ได้ศึกษาจากหนังสือวิสุทธิมรรค เห็นว่าการตีความหมายบางอย่างผิดพลาด ทำให้การปฏิบัติไม่ได้ผล เป็นต้นว่า ท่านให้เจริญกสิณ ผมก็เจริญกสิณ ทีแรกก็ได้ผล คือ นั่งได้นาน นั่งได้ตลอดคืน เมื่อกรวดน้ำได้ยินเสียงอะไรแปลกๆ ซึ่งธรรมดาไม่เคยได้ยิน แต่ไม่เคยเห็น ได้ยินแต่เสียงเช่น เสียงประโคมมโหรีบ้าง ทั้งๆ ที่อยู่ในป่า

    ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้เชื่อว่าผมจะสำเร็จมรรคผล เพราะว่าเวลาออกมาบิณฑบาต หรือมาเจอบุคคลต่างๆ ก็รู้ว่า จิตใจยังมีความโกรธ ความรัก ความเกลียด และด้วยเวรกรรมของตนเอง เกิดอุปสรรคต่างๆ เคยตั้งใจว่าจะรักษาศีล อย่างน้อยก็ศีล ๕ เพราะในวิสุทธิมรรคเปรียบว่า ต้นไม้จะงอกงามได้ก็ต้องอาศัยราก คือ ศีล ถ้าหากว่าต้นไม้ไม่มีรากแล้ว ต้นไม้จะออกดอกออกผลนั้นย่อมไม่มี ก็ถือหลักนี้ ซึ่งก็ถือได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ไม่ได้ทำกรรมที่หนักหนา

    ได้มาฟังอาจารย์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๑ ทีแรกไม่ค่อยจะเข้าใจ ก็ฟังไปเรื่อยๆ ขั้นแรกผมเริ่มจากรักษาศีลให้บริสุทธิ์ การรักษาศีลบริสุทธิ์นั้น ถ้าผู้ใดขาดสติ ย่อมบริสุทธิ์ไม่ได้ แม้เดี๋ยวนี้ศีลทั้ง ๕ ข้อก็เห็นจะไม่ได้ อย่างผรุสวาจา การกล่าวคำพูดเพ้อเจ้อ รักษายากเหลือเกิน แม้จะรู้ แต่ก็รักษายาก มรรคผลนั้นยังไม่หวัง หวังเพียงให้มีสติอยู่ ที่มาวันนี้อยากจะมาคารวะอาจารย์ เพราะว่าเคยได้ยินแต่เสียง ก็อยากเห็นอาจารย์ และถ้าเผื่อผมขาดตกบกพร่องอะไร อาจารย์จะได้สอบถามสอบทาน

    สุ. ขออนุโมทนาท่านผู้ฟังที่ได้เล่าถึงประสบการณ์ของท่านในครั้งอดีต จนกระทั่งถึงความสนใจในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งจิตใจของแต่ละคนเป็นเรื่องที่ใจใครก็ใจคนนั้น และที่จะรู้ได้ละเอียดลึกซึ้งก็เพราะสติเกิดขึ้นรู้ว่า ขณะนั้นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นอกุศลหรือกุศลเพียงไร

    สำหรับการอบรมปัญญาที่จะให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องอาศัยการฟัง การพิจารณาไตร่ตรอง ใคร่ครวญ แม้ในหนทางข้อปฏิบัติว่า หนทางอย่างไร อบรมเจริญอย่างไรจึงจะเป็นเหตุให้ความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมค่อยๆ เกิดขึ้นได้จริงๆ แต่ที่จะรู้ชัด แทงตลอดในอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้โดยรวดเร็วนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสติและปัญญาว่า สตินั้นเกิดขึ้นระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมอย่างไร และปัญญาที่ว่ารู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น รู้ในลักษณะของสภาพธรรมไหน เช่น ขณะที่กำลังได้ยิน สภาพธรรมที่ได้ยินเป็นของที่มีจริง เมื่อสติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยิน ก็ต้องให้เป็นการรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยินจริงๆ ไม่ใช่การนึกคิดว่า ได้ยินหนอ

    ถ้าขณะนั้นนึกคิดว่า ได้ยินหนอ จิตก็กำลังรู้ในคำว่า ได้ กำลังรู้ในคำว่า ยิน กำลังรู้ในคำว่า หนอ ซึ่งในขณะนั้นไม่ใช่เป็นการสังเกต สำเหนียก รู้ในลักษณะของสภาพรู้เสียงที่กำลังปรากฏว่า สภาพรู้มีจริงๆ แต่เพราะสติไม่เกิด จึงไม่เคยระลึกได้เลยว่า เป็นแต่เพียงสภาพรู้ชนิดหนึ่งซึ่งอาศัยปัจจัยเกิดขึ้นรู้เสียงแล้วก็ดับไป แต่ถ้า ระลึกรู้ได้อย่างนี้ จะไม่มีคำว่า ได้ยินหนอ มาปิดบังการที่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ในลักษณะของอาการที่ได้ยิน ซึ่งเป็นสภาพรู้ที่กำลังรู้เสียงตามปกติ

    แม้ในพระไตรปิฎก ในมหาสติปัฏฐานสูตรก็ดี หรือในอนัตตลักขณสูตรก็ดี ไม่มีปรากฏเลยว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เวลาที่เห็นก็ให้นึกว่า เห็นหนอ แต่ทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรม คือ การเห็นไม่เที่ยง และการที่จะประจักษ์ว่า การเห็นไม่เที่ยง ต้องตรงในลักษณะของการเห็นจริงๆ ไม่ใช่เป็นการนึกว่า เห็นหนอ ไม่เที่ยง ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องเป็นปัญญาที่ประจักษ์ในการเห็น หรือในขณะที่ได้ยินเสียงก็เช่นเดียวกัน สามารถที่จะรู้ว่า ขณะที่กำลังรู้เสียงนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ต้องนึกว่า ได้ยินหนอ

    ถ้านึกว่า ได้ยินหนอ สติก็ไม่ได้ระลึกตรงลักษณะของโสตวิญญาณที่ดับไปแล้ว คือ การได้ยินนั้นดับไปแล้ว เป็นอาการรู้ เป็นสภาพรู้เสียงที่ดับไป แต่เมื่อนึกว่า ได้ยินหนอ ก็ไม่ใช่เป็นการระลึกรู้ในอาการรู้เสียง ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว

    จะเห็นได้ว่า แม้ในสติปัฏฐานสูตร หรือในสูตรอื่นๆ ก็ตาม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมตรงลักษณะของแต่ละสภาพธรรม เพื่อให้สติระลึกรู้ตรงสภาพธรรมนั้นจริงๆ จึงจะประจักษ์ว่า ลักษณะสภาพธรรมแต่ละลักษณะนั้นเกิดขึ้นและดับไป

    ถ้ายังไม่ตรง ยังปนอยู่ ยังรวมอยู่ ยังไม่ใช่การแยกที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะ แต่ละทวาร จะไม่สามารถจะประจักษ์ได้เลยว่า สภาพธรรมใดเกิดขึ้นและดับไป

    ผู้ฟัง คำว่า หนอ เคยได้ยินมามาก สงสัยว่าเป็นมาอย่างไร มีความหมาย และความสำคัญเพียงไรในพุทธพจน์ ก็พบว่าท่านยกศัพท์อย่างนี้

    อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน … เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัส ซึ่งการเขียนนั้น บาทหนึ่งต้องมี ๘ คำ อนิจฺจา วต สงฺขารา ถ้าไม่ใส่คำว่า วต จะเหลือคำแค่ ๖ คำ ฉะนั้น วต ซึ่งแปลว่า หนอ จึงเป็นนิบาต คือ ใส่เพื่อให้คำครบ ๘ คำเท่านั้น ไม่มีความหมายทางบาลีไวยากรณ์เลย แต่ทำไมจึงมาถือกันว่าสำคัญเหลือเกิน

    สุ. ขอขอบพระคุณท่านผู้ฟัง ที่ให้ความเข้าใจในเรื่องภาษาบาลีและพยัญชนะต่างๆ

    สำหรับเรื่องของหิริโอตตัปปะ จะเห็นได้ว่า การฆ่าสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เมื่อเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เป็นธรรมที่ควรรังเกียจ ควรกลัว ไม่ควรที่จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำเลย ขณะนั้นลักษณะของสภาพธรรม คือ หิริและโอตตัปปะ การรังเกียจในการทำทุจริตกรรมจึงเกิดขึ้น นั่นก็ต้องเป็นสติขั้นหนึ่ง คือ สติขั้นศีลที่ทำให้รู้ว่า การที่จะเบียดเบียนสัตว์อื่นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เป็นอกุศลธรรม

    ถ้าท่านอบรมเจริญสติปัฏฐานเนืองๆ บ่อยๆ ท่านจะเกิดหิริโอตตัปปะที่ละเอียดขึ้น ซึ่งจะทำให้ท่านรักษาศีลได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นตามลำดับขั้นของสติและปัญญาด้วย

    และถ้าท่านเป็นผู้ที่เห็นคุณของสติ เห็นประโยชน์ของปัญญา เพราะว่าท่านได้อบรมเจริญปัญญาและสติ ก็จะเห็นว่า ขณะใดที่เห็นแต่สติไม่เกิดระลึกรู้ ขณะนั้นน่ารังเกียจ สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดและยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคลต่างๆ จะเป็นเหตุให้เกิดทุจริตกรรม เพราะเหตุว่า เมื่อเห็นสภาพธรรมเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ก็จะทำให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะที่มีกำลัง จนถึงขั้นที่กระทำทุจริตกรรมได้ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านอบรมเจริญสติปัฏฐานบ่อยๆ ท่านจะเกิดหิริโอตตัปปะที่ละเอียดขึ้น

    การหลงลืมสติ น่ารังเกียจจริงๆ และความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ก็น่ารังเกียจ ถ้าเห็นโทษแม้เพียงเล็กน้อยในอกุศลธรรมทั้งหลาย จะเป็นปัจจัยที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมยิ่งขึ้น

    ที่พระคุณเจ้าถามว่า ในขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักร หรืออนัตตลักขณสูตรอยู่ ให้ปัญจวัคคีย์ฟัง ถ้าท่านเหล่านี้กำหนดว่า ได้ยินหนอ ได้ยินหนอ ได้ยินหนอ อยากทราบว่าพระปัญจวัคคีย์เหล่านั้น จะได้บรรลุมรรคผลหรือไม่ เพราะเหตุใด

    ที่ท่านปัญจวัคคีย์รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคลนั้น ไม่ใช่ว่า ไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตรงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ นี่เป็นขั้นต้นทีเดียว ต้องเป็นผู้ตรง ตรงแม้แต่การที่ปัญญาจะระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละ ลักษณะ ต้องตรงจริงๆ

    กำลังเห็น ที่ปัญญาจะรู้ว่าเห็นไม่ใช่ตัวตน ก็เพราะสติระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพรู้ไม่ใช่สภาพคิดนึก สภาพที่กำลังเห็นไม่ใช่สภาพคิดนึก นี่คือปัญญาที่รู้ตรงลักษณะของจักขุวิญญาณที่เห็น และเวลาที่เกิดการคิดนึกขึ้น ปัญญาก็จะต้องรู้ตรงลักษณะของสภาพที่กำลังคิดนึกว่า เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่นามธรรมที่เห็น

    นี่คือการตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จึงสามารถที่จะรู้ชัดจนถึงประจักษ์การเกิดดับได้ แต่ถ้าไม่รู้ชัดอย่างนี้ ไม่ว่าใครก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้เลย

    ขอกล่าวถึงหิริโอตตัปปะและองค์ของมรรค ๘ ประกอบการพิจารณาให้เห็นว่า ปัญญาจะต้องระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมอย่างไร จึงจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ถ้าท่านเห็นว่า การหลงลืมสติน่ารังเกียจ และเกิดหิริโอตตัปปะเห็นว่า การยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลนั้นเป็นโทษ เป็นอกุศลธรรม เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เป็นสิ่งที่ควรละ ก็เป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ต้องอาศัยการฟังด้วยดีอย่างแยบคายจริงๆ เพื่อที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นต่างกัน

    แต่ถ้าท่านมีแต่หิริ ความละอาย ความรังเกียจบาป โดยไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่า จะเจริญอบรมอย่างไรจึงจะละอกุศลธรรมที่น่ารังเกียจนั้นได้ ท่านก็ยังดับกิเลสไม่ได้ เพราะว่าหิริและโอตตัปปะ แม้จะเป็นโสภณเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต เกิดร่วมกับสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เป็นสติปัฏฐานก็จริง แต่หิริและโอตตัปปะไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะมีหิริโอตตัปปะสักเท่าไร แต่ปัญญาไม่มี ก็ดับกิเลสไม่ได้

    ขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเป็นสติปัฏฐาน มีปัญญาเจตสิกเป็นมรรคมีองค์ ๘ วิตกเจตสิกเป็นสัมมาสังกัปโป เป็นมรรคมีองค์ ๘ สติเจตสิกเป็นมรรคมีองค์ ๘ เอกัคคตาเจตสิกเป็นมรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาสมาธิ

    และการที่จะให้ปัญญารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ นั้น ต้องอาศัยมรรคเกื้อกูลกันตามควรแก่ขณะนั้นๆ ว่า มรรคจะเกิดประกอบในจิตนั้นได้กี่องค์ เช่น สัมมาสังกัปโป หรือวิตกเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่จรดในอารมณ์ ตรงลักษณะของสภาพธรรมลักษณะหนึ่งๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๑ ตอนที่ ๕๐๑ – ๕๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564