แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 486


    ครั้งที่ ๔๘๖


    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร โมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงศึกษาอย่างนี้อีกว่า เราจักไม่ ชูงวง (ถือตัว) เข้าไปสู่ตระกูล

    ดูกร โมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ถ้าภิกษุชูงวงเข้าไปสู่ตระกูล และในตระกูลมีกรณียกิจหลายอย่าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้มนุษย์ไม่ใส่ใจถึงภิกษุผู้มาแล้ว เพราะเหตุนั้น ภิกษุย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เดี๋ยวนี้ใครหนอยุยงให้เราแตกในสกุลนี้ เดี๋ยวนี้ดูมนุษย์พวกนี้มีอาการอิดหนาระอาใจในเรา เพราะไม่ได้อะไร เธอจึงเป็นผู้ เก้อเขิน เมื่อเก้อเขิน ย่อมคิดฟุ้งซ่าน เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ ฯ

    นี่คือชีวิตตามแบบของบรรพชิต ท่านสละอาคารบ้านเรือน สละชีวิตของฆราวาส แต่เมื่อกิเลสยังมีอยู่ จะหมดความปรารถนาในวัตถุปัจจัยได้ไหม และจะมีความคิดฟุ้งซ่าน กระสับกระส่าย เป็นเหตุให้สติไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามลักษณะในชีวิตของบรรพชิต ซึ่งชีวิตก็ต่างกับฆราวาสอยู่แล้ว แต่แม้กระนั้นก็ยังมีปัจจัยที่จะให้ฟุ้งซ่าน ที่จะให้คิดไปต่างๆ นานา แม้ว่าการคิดนั้นจะไม่ใช่การคิดตามเรื่องของฆราวาสก็จริง แต่ก็ยังมีกิเลสปัจจัยที่จะให้คิดฟุ้งซ่านตามแบบของบรรพชิตได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้ว่าจะเป็นพระภิกษุอริยสาวก แต่กิเลสก็ยังครอบงำได้มากตามความเป็นจริง

    สมมติว่า มีพระภิกษุอริยะเข้าไปสู่บ้านท่าน ท่านจะเป็นอย่างไร ดีใจมาก แต่อย่าลืมว่า กรณียกิจของฆราวาสมีมาก จะดีใจมากอยู่ได้นานไหม ประเดี๋ยวก็จะต้องไปทำธุรกิจของฆราวาส เพราะฉะนั้น ถ้าภิกษุชูงวงเข้าไปสู่ตระกูล และในตระกูลมีกรณียกิจหลายอย่าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้มนุษย์ไม่ใส่ใจถึงภิกษุผู้มาแล้ว เพราะเหตุนั้นภิกษุย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เดี๋ยวนี้ใครหนอยุยงให้เราแตกในสกุลนี้ เดี๋ยวนี้ดูมนุษย์พวกนี้มีอาการอิดหนาระอาใจในเรา เพราะไม่ได้อะไร เธอจึงเป็นผู้เก้อเขิน เมื่อ เก้อเขิน ย่อมคิดฟุ้งซ่าน เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ ฯ

    ไม่สงบแล้ว ก็เป็นเรื่องของกิเลสที่ยังมี ซึ่งจะหมดสิ้นไปได้จริงๆ ก็เมื่อขัดเกลามากมายหลายประการ ทุกด้าน ทั้งธรรม ทั้งวินัย พร้อมการเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้แจ้งแทงตลอด และดับกิเลสได้หมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เพราะฉะนั้นแหละ โมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักไม่พูดถ้อยคำซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน

    ดูกร โมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล เมื่อมีถ้อยคำซึ่งจะเป็นเหตุให้ ทุ่มเถียงกัน ก็จำต้องหวังการพูดมาก เมื่อมีการพูดมาก ย่อมคิดฟุ้งซ่าน เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ ฯ

    ทรงโอวาทท่านพระโมคคัลลานะหลายประการ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ สำหรับการที่จะขัดเกลาทั้งกายทั้งวาจาแม้บรรพชิต เพื่อที่จะได้เกื้อกูลแก่การที่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ให้อกุศลธรรมครอบงำได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าบรรพชิต ไม่ว่าฆราวาส พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วทั้งหมด ย่อมเกื้อกูลให้ท่านพิจารณา น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสของท่านได้

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร โมคคัลลานะ อนึ่ง เราหาสรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงไม่ แต่มิใช่ว่าจะไม่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงก็หามิได้ คือ เราไม่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยหมู่ชนทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ก็แต่ว่าเสนาสนะอันใดเงียบเสียง ไม่อื้ออึง ปราศจากการสัญจรของหมู่ชน ควรเป็นที่ประกอบกิจของผู้ต้องการความสงัด ควรเป็นที่หลีกออกเร้น เราสรรเสริญความคลุกคลีด้วยเสนาสนะเห็นปานนี้ ฯ

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทท่านพระโมคคัลลานะทุกเรื่อง ไม่เฉพาะแต่เรื่องสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งถึงแม้ว่าจะทรงพร่ำสอนเพื่อที่จะให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่สติก็ไม่มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ ได้ ถ้าไม่ขัดเกลากิเลสทั้งในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องของความสงบของจิต ในเรื่องของการที่จะเห็นคุณและโทษของธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง และก็อบรมสะสมกุศล

    ข้อความต่อไป

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงไรหนอ ภิกษุจึงเป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน มีธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น ครั้นได้สดับดังนั้นแล้ว เธอย่อมรู้ชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง ครั้นรู้ชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว ได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในเวทนาเหล่านั้น พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืน เมื่อเธอพิจารณาเห็นอย่างนั้นๆ อยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมปรินิพพานเฉพาะตัวทีเดียว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

    ดูกร โมคคัลลานะ โดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงเป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน เป็นผู้เกษมจากโยคะล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ

    จบ สูตรที่ ๘

    แม้ในขณะนี้ ก็ควรที่จะให้พระธรรมที่ได้ฟังเกื้อกูลให้สติระลึกถึงเวทนา คือ ความรู้สึกในขณะนี้บ้าง

    ถ. การนอนอย่างสีหไสยามีประโยชน์อย่างไร และมีวิธีอะไรที่จะทำให้นอนอย่างนั้นได้นานๆ

    สุ. เป็นอาการของผู้ที่มีราคะหรือโลภะเบาบาง การนอนของคนสังเกตได้ แต่ละท่านคงจะนอนไม่เหมือนกัน บางท่านก็นอนเรียบร้อย และลักษณะของการนอนที่เรียบร้อย คือ สีหไสยา นอนตะแคงข้างขวา ในอาการที่เรียบร้อย เป็นลักษณะการนอนของผู้ที่ปราศจากโลภะหรือผู้ที่มีโลภะเบาบาง ซึ่งถ้าอบรมบ่อยๆ ก็เป็นอย่างนั้นได้

    เวลาที่เป็นเด็ก ก็นอนตามประสาเด็ก แต่ถ้าจะหัดเด็กให้นอนสวย ให้นอนเรียบร้อย ก็ต้องหัดตั้งแต่เด็กเหมือนกัน เด็กที่หัดแล้วกับเด็กที่ไม่หัด นอนผิดกัน เด็กบางคนพอมีแขกไปเยี่ยมจะต้องนอนด้วยกัน ก็นอนไม่กระดุกกระดิกเรียบร้อยได้ นั่นก็เป็นสิ่งที่สามารถจะขัดเกลา หัดได้ อบรมได้ ในเรื่องของการนอน ก็ควรที่จะให้อยู่ในลักษณะที่เรียบร้อย และถ้าอยากจะให้อยู่ในลักษณะนั้นนานๆ ก็ฝึกหัดให้เป็นอุปนิสัย เป็นปัจจัยที่จะนอนเมื่อไรก็เป็นอย่างนั้นทุกที

    อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต อาปัตติภยวรรค ข้อ ๒๔๖ ว่าด้วยการนอน ๔ อย่าง

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไสยา (การนอน) ๔ อย่างนี้ ๔ อย่างเป็นไฉน คือ เปตไสยา (นอนอย่างคนตาย) ๑ กามโภคีไสยา (นอนอย่างคนบริโภคกาม) ๑ สีหไสยา (นอนอย่างราชสีห์) ๑ ตถาคตไสยา (นอนอย่างตถาคต) ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เปตไสยาเป็นไฉน คนตายโดยมากนอนหงาย นี้เราเรียกว่าเปตไสยา ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็กามโภคีไสยาเป็นไฉน คนบริโภคกามโดยมากนอนตะแคงข้างซ้าย นี้เราเรียกว่ากามโภคีไสยา ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สีหไสยาเป็นไฉน สีหมฤคราชย่อมสำเร็จการนอนข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเลื่อมเท้า สอดหางเข้าในระหว่างโคนขา มันตื่นขึ้นแล้วยืดกายเบื้องหน้าแล้ว เหลียวดูกายเบื้องหลัง ถ้ามันเห็นความผิดแปลกหรือความละปกติแห่งกาย มันย่อมเสียใจด้วยเหตุนั้น ถ้ามันไม่เห็นอะไรผิดปกติ มันย่อมดีใจด้วยเหตุนั้น นี้เราเรียกว่าสีหไสยา ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ตถาคตไสยาเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน นี้เราเรียกว่าตถาคตไสยา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ไสยา (การนอน) ๔ อย่างนี้แล ฯ

    . สงสัยคำว่า ชูงวง ขอให้อาจารย์อธิบายว่าคืออย่างไร

    สุ. คำอธิบายมีในพระไตรปิฎก ในวงเล็บที่ว่า เราจะไม่ชูงวง (ถือตัว) เป็นการใช้คำที่ในยุคนั้นสมัยนั้นเข้าใจได้ว่า หมายความถึงการถือตน การถือตัว การสำคัญในตน เวลาที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้สำคัญ และคนอื่นไม่เอาใจใส่ ก็อาจจะทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน การคิดไปต่างๆ นานาได้

    และพยัญชนะตอนหนึ่งที่ว่า ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก คงจะทำให้ท่านผู้ฟังอยากจะทราบว่า จงกรมคืออย่างไร กล่าวคือ ถ้าอยู่ในอิริยาบถใดนานๆ ย่อมทำให้เมื่อยล้า และไม่เหมาะแก่สุขภาพ ถ้านั่งนานไป นอนนานไป ร่างกายก็อาจจะอ่อนแอ เพราะเหตุว่าไม่ได้ออกกำลัง ไม่ได้ประกอบกิจการงานต่างๆ เพราะฉะนั้น สำหรับบางท่านซึ่งไม่ค่อยจะมีกิจการงาน ท่านก็อาจจะนั่งมากไป นอนมากไป ไม่เป็นประโยชน์ ซึ่งข้อความใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ จังกมสูตร ข้อ ๒๙ มีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการจงกรม ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้เดินจงกรมย่อมเป็นผู้อดทนต่อการเดินทางไกล ๑ ย่อมเป็นผู้อดทนต่อการบำเพ็ญเพียร ๑ ย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย ๑ อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อมย่อยไปโดยดี ๑ สมาธิที่ได้เพราะการเดินจงกรมย่อมตั้งอยู่ได้นาน ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการเดินจงกรม ๕ ประการนี้แล ฯ

    จบ สูตรที่ ๙

    ผู้ฟัง ผมจะอธิบายศัพท์ จงกรม คืออะไร ผู้เรียนไวยากรณ์บาลีจะรู้ จงฺกมติ หรือจงกรม คือ เดินกลับไปกลับมา ส่วนเดินข้ามไปฝั่งอื่น เขาเรียก คจฺฉติ เดินไป ส่วนเดินจงกรม คือ เดินธรรมดา แต่เดินกลับไปกลับมา

    สุ. ขอขอบพระคุณท่านผู้ฟัง ที่ให้ความชัดเจนในเรื่องของพยัญชนะ จังกม หมายความถึงการเดิน แต่สำหรับผู้ที่เกิดอาการโงกง่วงขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก

    นี่สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่ได้หมายความว่า มีแบบของการเดินพิเศษ เป็นการเดินธรรมดา เป็นการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถตามปกติธรรมดา และสำหรับอานิสงส์ของการเดินจงกรมใน จังกมสูตร ท่านผู้ฟังก็จะยิ่งเห็นความชัดเจนของประโยชน์ของการเดินนั่นเอง ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการจงกรม ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้เดินจงกรมย่อมเป็นผู้อดทนต่อการเดินทางไกล ๑

    จริงใช่ไหม ท่านที่ไม่ค่อยเดิน เดินไหวไหม กับท่านที่เดินบ่อยๆ เดินอยู่เสมอๆ ใครจะเดินได้ไกลกว่ากัน ก็ต้องเป็นท่านที่เดินบ่อยๆ

    ย่อมเป็นผู้อดทนต่อการเดินทางไกล ๑ ย่อมเป็นผู้อดทนต่อการบำเพ็ญเพียร ๑

    ไม่ว่าจะต้องใช้ความเพียรด้วยการเดินสักเท่าไร ท่านก็สามารถที่จะเดินได้

    ย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย ๑ อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อมย่อยไปโดยดี ๑

    นี่ก็เป็นประโยชน์ของการเดิน เพราะว่ามีการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ให้มีการนั่ง หรือนอนอย่างหนึ่งอย่างใดเท่านั้น

    ประการสุดท้าย

    สมาธิที่ได้เพราะการเดินจงกรมย่อมตั้งอยู่ได้นาน

    หมายความถึง ไม่ง่วง ไม่ซึม ไม่หลับ

    ปกติโดยมาก ถ้านั่งๆ อยู่ก็ง่วง ถ้านอนๆ อยู่ก็ง่วง แต่ว่าถ้าเดิน ขณะนั้นจะรู้สึกว่าไม่ง่วง ไม่ซึม หรือว่าไม่หลับ

    เพราะฉะนั้น คำว่า สมาธิ ในที่นี้ ไม่ได้จำกัดว่า จะเป็นการเจริญสมถภาวนาหรืออย่างไร เพียงแต่ว่าสำหรับบุคคลที่เดินในขณะนั้นย่อมไม่ง่วง ไม่ซึม ไม่หลับ เพราะเหตุว่ามิจฉาสมาธิก็มี สัมมาสมาธิก็มี สมาธิที่เป็นสมถภาวนาก็มี สมาธิที่เป็นการเจริญสติปัฏฐานก็มี แต่ว่าผู้ใดก็ตามที่เดิน ในขณะนั้นย่อมทำให้ไม่ง่วง ไม่ซึม ไม่หลับ ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงกับท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงประโยชน์ของการเดินจงกรม ซึ่งมีข้อความว่า ถ้ายังละไม่ได้ คือ ยังละความโงกง่วงไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงอธิษฐานจงกรม นี่ก็คือเพื่อประโยชน์แก่การที่จะไม่โงก ไม่ง่วง ไม่ซึม ไม่หลับ

    . พระผู้มีพระภาคตรัสถึงอานิสงส์ของการเดินจงกรมประการสุดท้าย คือ สมาธิย่อมตั้งอยู่ได้นาน เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะทำฌานจิตให้เกิดด้วยวิธีเดินจงกรม จะดีกว่าการนั่งไหม

    สุ. ถ้าง่วงก็เดิน ถ้าไม่ง่วง นั่งแล้วจิตเป็นสมาธิได้มั่นคง ก็นั่ง

    ผู้ฟัง สมาธิ แปลว่าอะไร ธิ แปลว่าทรง สมา หรือ สม แปลว่าสงบ การเดินทำให้ทรงความสงบ ไม่ให้หลับ ทรงความสงบ สงบแล้วก็ทรงเข้าไว้ คล้ายๆ กับรักษาความสงบไว้ให้อยู่ สมาธิ แปลว่าทรงความสงบ นี่แปลตามศัพท์

    สุ. สำหรับจุดประสงค์ของสมาธิก็เพื่อที่จะให้จิตสงบ ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่จะไม่ทำให้จิตรับรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นั่นเป็นจุดประสงค์ของสมถภาวนา เพราะฉะนั้น ถ้าใครอบรมเจริญ สมถภาวนา นั่งแล้วง่วง ก็ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถโดยการเดิน เพื่อที่จะได้ไม่ง่วง และก็กลับไปนั่ง เพื่อให้จิตจดจ่ออยู่ที่อารมณ์ที่จะทำให้ไม่รับรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั่นเป็นเรื่องของสมถภาวนา แต่เรื่องของสติปัฏฐานเป็นเรื่องละ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๙ ตอนที่ ๔๘๑ – ๔๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564