แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 510


    ครั้งที่ ๕๑๐


    สุ. ต้องแยกเป็นขั้นๆ ขั้นศีล ขั้นความรู้ และขั้นอื่นๆ ต่อไปด้วย

    ถ. ผมขอเล่าเรื่องส่วนตัว ผมเคยถูกไฟช็อตจนชัก มีคนมาช่วย จากนั้นก็ไปรักษาที่โรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลเขาถามว่า มีความรู้สึกเป็นอย่างไร ผมก็ว่า ขาดความรู้สึกเลย ต่อมาก็ชักอีก ๔ หนติดๆ กัน ล้มลงไปกับพื้น ศีรษะยังบุบอยู่ ไปให้หมอตรวจ เขาถามว่า ความรู้สึกเป็นอย่างไรบ้างตอนล้ม ก็ตอบว่า ขาดความรู้สึกเลย สิ่งที่แล้วมาผมไม่ยึดถือ ผมปฏิบัติอย่างนี้จะถูกผิดอย่างไร คือ ไม่ยึดถือสิ่งที่ล่วงไปแล้ว

    สุ. ไม่ยึดถือสิ่งที่แล้วไปแล้ว ยังจำได้ แต่ว่าไม่ยึดถือ ฉะนั้น ก็ศึกษา พระธรรมมากขึ้น อบรมเจริญสติปัฏฐานมากขึ้น เพื่อจะได้ไม่ยึดถือจริงๆ ให้จริงถึงขั้นอริยสัจธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ขอกล่าวถึงอุโบสถศีลองค์ต่อไป คือ อุโบสถศีลองค์ที่ ๖ วิกาลโภชนา เวรมณี งดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

    สำหรับอุโบสถศีลข้อนี้ ทุกท่านทราบอยู่แล้ว แต่ควรที่จะได้ทราบถึงจุดประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทที่เป็นอุโบสถศีลข้อนี้ว่า เพื่อประโยชน์อะไร

    อุโบสถศีล เป็นการชำระขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้นเท่าที่พุทธบริษัทสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้ จนกว่าจะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอริยเจ้า เช่น พระอนาคามีและพระอรหันต์ เพราะว่าผู้ที่ยังมีกิเลส เป็นผู้ที่ยังติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมาก มีหนทางใดวิธีใดที่จะอบรมเจริญการขัดเกลากิเลสที่สมควร พระผู้มีพระภาคก็ทรงบัญญัติเป็นศีลประการต่างๆ สำหรับพุทธบริษัททั้งภิกษุและฆราวาส

    สำหรับเรื่องของอาหาร ท่านผู้ฟังพิสูจน์ได้ด้วยตัวของท่านเองว่า เป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตประจำวันเรื่องหนึ่ง เพราะว่าทุกท่านลืมคิดว่า ที่ท่านต้องบริโภคอาหารนั้นเป็นความจำเป็น ลืมที่จะคิดถึงความสำคัญข้อนี้ว่า ชีวิตจะเป็นไปได้ ก็ด้วยการบริโภคอาหาร

    เมื่อไม่ได้คิดถึงความจริงข้อนี้ ก็ทำให้ท่านติดในรสที่ปรากฏทางลิ้น มีท่านผู้ใดไม่ติดบ้าง ไม่มี ติดทุกท่าน แต่ว่าจะมากหรือน้อยเป็นเรื่องที่แต่ละท่านจะทราบได้เอง และที่จะพิสูจน์ว่า ทุกท่านติดในรสอาหาร ขอให้ดูการประกอบอาหาร การทำอาหาร ซึ่งต้องเป็นไปอย่างวิจิตรมากใช่ไหม ในแต่ละมื้อ แต่ละครั้งที่ท่านบริโภคนั้น ต้องทำด้วยความวิจิตรเพียงใด และเวลาที่ทำเสร็จแล้ว การติดในรสของแต่ละท่านยังทำให้ท่านต้องปรุง ต้องเติมรสต่างๆ ตามอัธยาศัยของแต่ละท่านด้วย

    ในการบริโภคอาหารทุกครั้ง ขอให้สังเกตดู แต่ละท่านมีการปรุงรสของอาหารต่างๆ ตามอัธยาศัย เพิ่มเติมจากอาหารที่สำเร็จเรียบร้อยแล้วอีก สำหรับผู้ที่มีหน้าที่ที่จะต้องทำอาหารคงจะเห็นว่า แต่ละวันผ่านไปด้วยความยากลำบากในการที่จะต้องคิดว่า ตอนเช้าจะรับประทานอะไร ตอนกลางวันจะรับประทานอะไร ตอนเย็นจะทำอะไร เป็นเรื่องที่ต้องคิด ถ้าบริโภคทุกวันๆ เรื่อยมา ๑ ปี ๒ ปี ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี บางท่านก็นึกไม่ออกจริงๆ ว่า วันนี้จะรับประทานอะไร วันนี้จะบริโภคอะไร เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องคิด

    ทั้งๆ ที่ได้รับประทานมานานอย่างนี้เป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปีก็ตาม ท่านเบื่อในการบริโภคอาหารบ้างหรือเปล่า โดยมากก็ยังใคร่ที่จะบริโภครสต่างๆ เมื่อถึงกาลถึงเวลาที่จะบริโภค เป็นการแสดงให้เห็นว่า เรื่องของการบริโภคอาหารนั้น ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า การที่ร่างกายจะดำรงอยู่ได้ก็เพราะการบริโภคอาหาร ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุให้มีการติด มีการพอใจในรส ถ้าท่านผู้ใดมีสติระลึกรู้ในขณะที่บริโภค เห็นว่าเป็นความจำเป็นในการบริโภค จะทำให้ท่านละการติดในรส ละเว้นการบริโภคที่ไม่จำเป็น และเห็นประโยชน์ของการที่จะบริโภคน้อยลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ร่างกายมากกว่าการที่จะบริโภคมากจนเกินไป

    ด้วยเหตุนี้ จุดมุ่งหมายของวิกาลโภชนา เวรมณี ก็เพื่อที่จะให้เห็นกิเลสที่ท่านจะต้องขัดเกลาทางลิ้น เพราะว่าท่านมีการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะอยู่เป็นประจำ และสำหรับทางลิ้นนั้น ก็เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งแต่ละท่านติดมากทีเดียว ถ้าได้อบรมเจริญการวิรัติการบริโภคอาหารในกาลที่ไม่จำเป็น เห็นโทษของการบริโภคและการติดในรสอย่างมาก จะทำให้ท่านมีความเป็นอยู่สะดวกสบายขึ้น คือ บริโภคในสิ่งที่มี ไม่ต้องลำบากเดือดร้อนมากนักในการบริโภค ในการที่จะต้องแสวงหาอาหารที่อยู่ไกลๆ ซึ่งต้องเป็นรสที่ท่านพอใจ

    ข้อความใน ปรมัตถโชติกา มีคำอธิบายความหมายของ วิกาลโภชนา ซึ่งมีข้อความว่า

    คำว่า วิกาลโภชนา ได้แก่ การบริโภคเมื่อล่วงเที่ยงวันไปแล้ว ก็เมื่อกาลที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้ผ่านแล้ว ฉะนั้น การบริโภคในกาลนั้น ท่านจึงเรียกว่า วิกาลโภชนํ

    ความหมายที่ว่า เวลาใดจะเป็นเวลาวิกาล ที่ท่านควรจะงดเว้นจากการบริโภค ก็คือ เมื่อล่วงเที่ยงวันไปแล้ว

    ต้นเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติศีลองค์ที่ ๖ นี้ ใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล อรรถกถาพระวินัย ขุททกกัณฑวรรณนา มีข้อความว่า

    วิกาลโภชนสิกขาบทที่ ๗ ในสิกขาบทที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

    แก้อรรถเรื่องภิกษุสัตตรสวัคคีย์ไปดูมหรสพบนยอดเขา

    พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์อุปสมบทแต่ยังเด็กๆ ในเมื่อสิกขาบทยังมิได้ทรงบัญญัติ ภิกษุเหล่านั้นชักชวนกันว่า ผู้มีอายุ พวกเราจักไปดูฟ้อนรำกัน แล้วได้ไปในที่นั้น ครั้งนั้น เหล่าญาติของพวกเธอ มีจิตยินดีว่า พระผู้เป็นเจ้าของพวกเราก็มาด้วย จึงให้อาบน้ำ ลูบไล้ ให้ฉัน แล้วได้ถวายแม้ของอื่น มีขนมและของควรเคี้ยวเป็นต้น ติดมือไปด้วย

    นี่ก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะทรงบัญญัติสิกขาบท ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพชิตนั้น ก็อบรมเจริญหนทางข้อปฏิบัติที่จะดับกิเลสด้วยการเจริญมรรคมีองค์ ๘ แต่พระผู้มีพระภาคก็ยังมิได้ทรงบัญญัติสิกขาบทประการใดๆ ซึ่งเมื่อพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์บริโภคอาหารที่พวกญาติถวาย เช่น ขนมและของควรเคี้ยวอื่นๆ ก็เป็นที่ติเตียนโพนทะนาของพวกชาวบ้านว่า ไม่เหมาะสมแก่เพศสมณะ เพราะฉะนั้น กว่าที่จะทราบว่า ชีวิตของบรรพชิตจริงๆ ควรที่จะแตกต่างกับชีวิตของฆราวาสอย่างไร ก็จะต้องมีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไม่เหมาะสม ไม่ควรแก่เพศบรรพชิต พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงบัญญัติว่า บรรพชิตควรละเว้นการกระทำเช่นฆราวาสประการใดบ้าง

    สำหรับชีวิตของฆราวาสที่จะขัดเกลากิเลสด้วยการอบรมเจริญปัญญา จะต้องเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน

    แม้ชีวิตของบรรพชิต ก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะทรงบัญญัติสิกขาบท ท่านเหล่านั้นก็จะต้องอบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับท่านตามความเป็นจริง เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทแล้ว ผู้ที่มีศรัทธาที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ก็จะต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิตในชีวิตปกติประจำวัน แม้แต่ในเรื่องของการฉันอาหารที่เหมาะสมแก่เพศของบรรพชิต ก็ต้องมีกาลเวลาที่จำกัดด้วย ซึ่งถ้าเป็นเช่นฆราวาสแล้ว ชีวิตของฆราวาสกับบรรพชิตก็จะไม่ต่างกัน

    ใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล อรรถกถาพระวินัย ขุททกกัณฑวรรณนา มีข้อความอธิบายความหมายของคำว่า วิกาล ดังนี้คือ

    บทว่า วิกาเล คือ ในเมื่อกาลผ่านไปแล้ว เวลาฉันของภิกษุทั้งหลาย ท่านประสงค์เอาว่า กาล ก็เวลาฉันนั้น โดยกำหนดอย่างต่ำกว่าเขาทั้งหมด เที่ยงวัน

    อธิบายว่า เวลาเที่ยงวันนั้นล่วงเลยไปแล้ว ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ ในบทภาชนะแห่งบทว่า วิกาเล นั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เมื่อกาลเที่ยงวันล่วงไปแล้ว จนถึงอรุณขึ้น ชื่อว่าวิกาล แม้เวลาเที่ยงตรงก็ถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นกาล จำเดิมแต่เวลาเที่ยงตรงไป ภิกษุไม่อาจเพื่อจะเคี้ยวหรือฉันได้ (แต่) ยังอาจเพื่อจะรีบดื่มได้ ส่วนภิกษุผู้มีความรังเกียจไม่พึงทำ และเพื่อรู้กำหนดเวลา ควรปักเสาเครื่องหมายเวลาไว้ อนึ่ง พึงทำภัตกิจภายในกาล

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงจำกัดเวลาที่แน่นอนสำหรับการบริโภคของบรรพชิต ก็จะทำให้เป็นที่ติเตียน เป็นที่แก่งแย่ง หรือว่าวิวาทกัน ในความไม่เสมอกัน ในการประพฤติปฏิบัติของบรรพชิตก็ได้

    ถ. ตอนต้นๆ อาจารย์กล่าวว่า อาหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคก็ควรจะสนับสนุนให้ภิกษุหรือฆราวาสบริโภคให้มากๆ แต่พระองค์ภาคกลับห้ามว่า วิกาล คือ หลังจากเที่ยงแล้วไม่ให้บริโภคอาหาร เมื่อไม่ให้บริโภคอาหาร จะขัดกับที่ว่า อาหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกายหรือไม่ ในเมื่อรู้ว่ามีประโยชน์แต่กลับไปห้าม จะขัดกันไหม

    สุ. เวลาที่บริโภคอาหาร บริโภคด้วยความจำเป็นเพราะหิว หรือว่าบริโภคมากเกินไป อิ่มแล้วก็ยังบริโภคได้เพราะอร่อย เป็นอย่างนั้นหรือไม่ หรือว่าเมื่ออิ่มแล้วก็หยุดบริโภค เป็นอย่างนี้หรือไม่ หรือว่าบริโภคแต่ละครั้งเพราะอร่อย ไม่ใช่เพราะหิว ก็เป็นได้ทั้งสองอย่าง แต่จริงๆ เป็นอย่างไหน

    ถ. เป็นบางครั้ง

    สุ. บางครั้งบริโภคเพราะหิวจริงๆ แต่บางครั้งก็เพราะอร่อย และบริโภคมาก ทั้งๆ ที่อิ่มแล้ว ก็ยังบริโภคต่อไปได้เพราะอร่อย

    สำหรับอาหารที่จำเป็นแก่ร่างกายจริงๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้ โดยการที่ทรงบัญญัติพระวินัยสำหรับภิกษุนั้น แสดงให้เห็นว่า หลังเที่ยงแล้ว การบริโภคอาหารไม่จำเป็น เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ร่างกายไม่จำเป็นต้องใช้อาหารมากอย่างนั้น อาหารที่บริโภคภายในเที่ยงสามารถที่จะอยู่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายในวันนั้นได้ และท่านที่เคยบริโภคเช้า สาย เที่ยง บ่าย เย็น ค่ำ ดึก ลองสังเกตดูว่า มื้อไหนที่ควรจะตัดออกได้ เพราะว่าไม่จำเป็นเลย มีไหมที่จะตัดออกไปได้ ถ้าท่านอบรมที่จะบริโภคหลายเวลา เวลาที่ขาดมื้อนั้นไป ท่านจะรู้สึกหิว แต่จริงๆ แล้ว ส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นการบริโภคภายในเที่ยง และอาหารนั้นก็จะมีประโยชน์ต่อร่างกายต่อไปภายในวันนั้นด้วย ลองทำอย่างนั้นจริงๆ จะเห็นได้ว่า เป็นไปได้ แต่ถ้าท่านไม่เคย ก็จะต้องค่อยๆ เป็นไป แต่ถ้าท่านเป็นเพศบรรพชิต ท่านจะต้องปฏิบัติตามพระวินัยโดยทันที ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งตามศรัทธาของท่าน

    ถ้าท่านเป็นฆราวาสและเริ่มเห็นโทษของการบริโภคมาก พร้อมกันนั้นก็เห็นว่าเป็นผู้ที่ติดในรสอาหารด้วยจึงได้บริโภคบ่อย แม้อิ่มแล้วก็ยังบริโภคได้โดยไม่จำเป็น ถ้าเห็นโทษอย่างนี้ จะทำให้ท่านลดการติดในอาหาร โดยบริโภคเฉพาะเวลาที่หิว เมื่ออิ่มแล้วก็หยุด ไม่ว่าอาหารจะอร่อยมากสักเท่าไรก็อิ่มได้ พอแล้ว ไม่รับประทานต่อไป พิจารณาดูว่า เป็นอย่างนี้หรือเปล่า หรือว่าเวลาที่บริโภคอิ่มแล้ว ยังมีอาหารอร่อย ก็ยังตามลิ้มหรือตามรส ตามความพอใจของท่านต่อไปอีก ก็เป็นเรื่องที่สังเกตได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่ติดในรสมากน้อยเพียงไร

    ผู้ฟัง พูดถึงติดในรส ทั่วๆ ไปเข้าใจว่า อาหารอร่อยจะรับประทานได้มาก อาหารไม่อร่อยก็รับประทานได้น้อย ถ้าพูดถึงหิวแล้วบริโภค ส่วนมากตอนเย็นๆ มักจะหิว ถึงไม่ติดในรสอาหารก็หิว สังเกตได้จากผู้ที่บวชใหม่ๆ บวชเป็นพระใหม่ๆ สองวันแรกไม่ค่อยหิวเท่าไร ต่อๆ ไปหิวทุกเย็น ตอนเย็นมักจะหิว ไม่ใช่ว่าจะติดในรสอาหาร แต่หิวจริงๆ

    สุ. ทนไม่ไหว ก็เป็นฆราวาสบริโภค ๓ เวลาอย่างเดิม นี่ก็แล้วแต่ ถ้ามีศรัทธาที่จะเป็นบรรพชิต จะต้องรักษาพระวินัยให้ครบถ้วนเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ถ้าศึกษาพระวินัยจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตน้ำปานะ หรือว่าสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร แต่พอที่จะบรรเทาความหิวได้ พร้อมกันนั้น ถ้ามีศรัทธามั่นคงจริงๆ เห็นประโยชน์ของการที่จะบริโภคน้อย และไม่ติดในรสจริงๆ ก็สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยได้โดยตลอดด้วยศรัทธา ในเรื่องของความหิว ก็คงจะพอทนได้

    ถ. ร่างกายจำเป็นต้องการอาหาร เมื่อหิวก็ควรบริโภค แต่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่า เลยเที่ยงไปแล้วห้ามบริโภค หมายความว่า พระผู้มีพระภาคทรงตัดสิ่งที่มีประโยชน์แก่ร่างกายเสียแล้ว ทุกวันนี้หลายคนที่รักษาอุโบสถศีล กลัวว่าจะเป็นโรคกระเพาะ เวลาที่หิวมากๆ แต่ไม่ได้รับประทานอาหาร นี่จะเป็นโทษเพิ่มขึ้นหรือไม่



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๑ ตอนที่ ๕๐๑ – ๕๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564