แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 507


    ครั้งที่ ๕๐๗


    สุ. หลายท่านอาจจะบอกว่า ระลึกไม่ถูก ระลึกแล้วก็ยังรู้ไม่ได้ เป็นความจริงไหม ระลึกนิดเดียว จะให้รู้ชัดได้อย่างไร ในเมื่อความไม่รู้นี้สะสมมามากมายเหลือเกินในอดีตอนันตชาติ ทั้งในปัจจุบันชาติก่อนที่จะได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานด้วย และเพียงการระลึกนิดเดียว จะให้เป็นความรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ถึงกับจะละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคลในทันที หรือว่าให้เป็นไปรวดเร็วดังใจ จะเป็นไปได้อย่างไร

    ท่านอยากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า หรือว่าท่านอยากจะเป็น พระอริยเจ้าโดยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนี้สภาพธรรมเป็นของจริงกำลังปรากฏ จะรู้หรือว่าจะไม่รู้ หรือเข้าใจว่าต้องไปที่อื่นจึงจะรู้ ถ้าไปที่อื่นและสติไม่สามารถจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ การไปที่อื่นนั้นจะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อถึงไปแล้วเป็นเวลานาน ก็ไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ การไปนั้นจะมีประโยชน์อะไร

    ขณะนี้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นของจริง ผู้ใดอบรมเจริญเหตุมาพร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ เพราะเป็นอริยสัจจะ เป็นสัจธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป เมื่อผู้ใดประจักษ์ ผู้นั้นหมดความสงสัยในความไม่เที่ยง ในความเป็นทุกข์ ในความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องการเข้าใจผิดโดยพยัญชนะหรือโดยคำ แต่เป็นเรื่องที่ว่า ท่านไตร่ตรอง สอบสวน พิจารณา เทียบเคียงแล้วหรือยังว่า การที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้นหมายถึงอะไร ปัญญารู้อะไร และอบรมเจริญอย่างไร ปัญญาจึงสามารถที่จะรู้อย่างนั้นได้ คือ ปัญญาต้องรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และละคลาย หมดสิ้นความสงสัยในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จึงสามารถที่จะดับกิเลสเป็นพระอริยเจ้าได้

    ข้อความต่อไป ในจดหมายที่ท่านถามมาว่า

    การพิจารณารูปนั่งนั้น ผมก็ได้ฟังอาจารย์มาหลายครั้งแล้ว ยังมีความสงสัยอยู่ ขอให้อาจารย์อธิบายให้ฟังอีกสักหน่อย คำว่า รูปนั่ง อาจารย์ก็พูดว่าไม่มีในรูป ๒๘ แต่ก็มีรูป ๒๗ อยู่ในท่านั่งนั้น และมีมหาภูตรูปเป็นประธาน การพิจารณารูปนั่งก็คือ การพิจารณากายในกาย แต่มีความเห็นผิดกัน เหมือนกับคำชาวบ้านเราพูดกันว่า ควายขาด ความจริงควายไม่ได้ขาด เป็นแต่เชือกที่ผูกควายนั้นขาดหรือหลุด แต่ผู้ฟังรู้เรื่อง รู้ความหมายในคำพูดนั้น การพิจารณารูปนั่งก็คือ การพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมนั้นแหละ สติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็เกิดติดต่อกันเหมือนลูกโซ่ เกี่ยวพันกันไปไม่ขาดสาย ความเย็น รู้อ่อน แข็ง เจ็บ ปวด เมื่อย คัน ก็เกิดที่นั่นเอง เวทนาในเวทนาก็เกิดขึ้นติดต่อกัน แล้วแต่สติจะระลึกทันในสภาวะใดตามความเป็นจริง แต่การพิจารณาสติปัฏฐานทั้ง ๔ ที่เป็นภายในนี้ ยังไม่ได้เกี่ยวกับอารมณ์ภายนอก จะจัดเป็นสติปัฏฐานได้ไหม

    ที่กล่าวว่า การพิจารณารูปนั่ง ผู้ฟังเข้าใจ รู้ว่าหมายถึงการพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม นี่เป็นความเข้าใจของท่านผู้เขียนจดหมายนี้เอง สำหรับท่านผู้อื่น ท่านเข้าใจว่า มีรูปนั่ง เป็นท่าทางจริงๆ ต่างหากจากรูปที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งสำหรับทางกายนี้ที่กระทบ เย็นปรากฏ ร้อนปรากฏ อ่อนปรากฏ แข็งปรากฏ

    ท่านที่เข้าใจว่า มีรูปนั่งต่างหาก ท่านกล่าวว่า รูปนั่งที่เป็นท่าทางนั้น ไม่ใช่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวที่ปรากฏที่กาย เพราะฉะนั้น นี่เป็นความเข้าใจผิดของผู้ที่เข้าใจว่ามีรูปนั่งเป็นท่าทาง เมื่อเป็นอย่างนี้จะเป็นการสมควรไหมที่จะไม่ใช้คำว่า รูปนั่งเสียเลย เพื่อที่จะไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าใจว่า ท่านจะต้องไปพิจารณารูปนั่งเป็นท่าทาง และประจักษ์ว่าเกิดขึ้นดับไป ไม่ใช่รูป เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวที่ปรากฏที่กาย ในขณะที่นั่ง

    เพราะฉะนั้น แล้วแต่ท่านผู้ฟัง ที่จะสอบถามท่านอื่นที่มีความเชื่อในเรื่องรูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน เป็นท่าทางนั่ง ท่าทางนอน ท่าทางยืน ท่าทางเดินว่า ท่านเหล่านั้นประจักษ์ความเกิดดับของท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน หรือว่าท่านเหล่านั้นพิจารณาเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวที่ปรากฏที่กาย ไม่ว่าจะเป็นในขณะที่นั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดิน

    ธรรมะเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องตรง เป็นเรื่องที่ประกอบด้วยเหตุผล ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่สอบทาน ไตร่ตรองพิจารณา เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

    และที่ท่านถามว่า แต่การพิจารณาสติปัฏฐานทั้ง ๔ ที่เป็นภายในนี้ ยังไม่ได้เกี่ยวกับอารมณ์ภายนอก จะจัดเป็นสติปัฏฐานได้ไหมครับ

    นี่ก็แสดงถึงการที่ยังไม่เข้าใจในสติปัฏฐานทั้ง ๔ โดยตลอด เพราะถ้าเข้าใจในสติปัฏฐานทั้ง ๔ โดยตลอด จะทั่วไปหมดเสมอกัน ทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ตาม

    คำถามต่อไปที่ท่านถามว่า

    ผมเองก็ปฏิบัติทั้งสองทาง ตามปกติก็ปฏิบัติ ตามสมาธิก็ปฏิบัติ เพราะเห็นว่าสติเกิดทั้งสองทาง แต่ทางนั่งสมาธิ สติเกิดได้มากกว่าตามปกติหลายเท่า ถ้าอยู่ตามปกติ กิเลสภายนอกไหลเข้ามา กิเลสภายในก็ลุกขึ้นรับกันไม่ขาดสาย จึงทำให้สติเกิดได้น้อย เหมือนลมพัดขยะมูลฝอยเข้าใส่กองไฟ ก็ลุกโพลงขึ้น และทวีความร้อนให้มากขึ้นทุกที เพราะฉะนั้น เราต้องให้ห่างออกไปเสียก่อน เพื่อหาเครื่องมือมาดับไฟ ถ้าเรามีแต่มือ ก็ไม่สามารถจะดับไฟได้ เพราะฉะนั้น การไปสำนักเพื่อเจริญสติให้ทันกับอารมณ์ภายในนั้น จนสติคล่องตัว มีกำลังพอสมควรแล้ว ก็อาจจะรู้ทันกับอารมณ์ภายนอก ไม่ยากเลย

    ถ้าท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญสมาธิ ท่านย่อมมีความชำนาญในการที่จะให้จิตเป็นสมาธิ เพราะว่ามีปัจจัยที่จะให้สมาธิเกิดได้ง่าย เกิดได้เร็ว เกิดได้บ่อย แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะว่าไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของอกุศลจิต หรืออกุศลธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นว่าไม่ใช่ตัวตน และไม่สามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติได้ เพราะว่าจุดประสงค์คนละอย่าง

    ท่านที่หวังว่าจะเจริญสมาธิให้จิตสงบเสียก่อน เพื่อที่จะได้เป็นวิปัสสนาง่ายขึ้น ท่านสะสมเหตุสำหรับสมาธิ แต่ไม่ได้สะสมเหตุสำหรับปัญญาที่จะรู้แล้วละการไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ผลก็คือ เมื่อเหตุได้สะสมที่จะให้เป็นสมาธิ ท่านก็ยอมรับว่า สมาธิของท่านมีมากกว่า และเกิดได้ง่ายกว่า แต่ท่านไม่กล่าวถึงปัญญาที่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ และท่านยังกล่าวว่า รู้ไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้สะสมเหตุปัจจัยพอสำหรับปัญญาที่จะรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามปกติ ตามความเป็นจริง

    ถ้าท่านเข้าใจข้อปฏิบัติถูก รู้ลักษณะของสติ และรู้ว่าปัญญาที่จะดับกิเลสได้ จะต้องรู้อะไร สติจะเกิดในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ก็ได้ ในขณะที่กำลังได้ยินก็ได้ ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ สถานที่ใด สติเกิดได้ เพราะว่าท่านมีความเข้าใจถูกเป็นปัจจัยให้สติเกิด เมื่อสติเกิดได้ ท่านก็รู้ว่า สติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมต่างหากที่จะเป็นปัจจัยให้ปัญญาคมกล้าสามารถที่จะแทงตลอด ละคลายความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ว่าจิตจะเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิก็ตาม ปัญญาที่ได้อบรมจนคมกล้าแล้วนั้น สามารถแทงตลอดในความไม่เที่ยง ในความเกิดดับ ในการที่ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมทั้งหลายได้

    โดยมากท่านใช้คำอุปมาตามความเข้าใจของท่าน ที่ท่านกล่าวว่า ผมเองก็ปฏิบัติทั้งสอง ตามปกติก็ปฏิบัติ ตามสมาธิก็ปฏิบัติ เพราะเห็นว่าสติเกิดทั้งสองทาง แต่ทางนั่งสมาธิ สติเกิดได้มากกว่าตามปกติหลายเท่า เพราะอยู่ตามปกติ กิเลสภายนอกไหลเข้ามา กิเลสภายในก็ลุกขึ้นรับกันไม่ขาดสาย จึงทำให้สติเกิดได้น้อย เหมือนลมพัดขยะมูลฝอยเข้าใส่กองไฟ ก็ลุกโพลงขึ้น และทวีความร้อนให้มากขึ้นทุกที เพราะฉะนั้น เราต้องให้ห่างออกไปเสียก่อน เพื่อหาเครื่องมือมาดับไฟ ถ้าเรามีแต่มือ เราก็ไม่สามารถจะดับไฟได้ เพราะฉะนั้น การไปสำนักเพื่อเจริญสติให้ทันกับอารมณ์ภายใน จนสติคล่องตัว มีกำลังพอสมควรแล้ว ก็อาจจะรู้ทันกับอารมณ์ภายนอกไม่ยากเลย

    นี่คือคำอุปมาของท่านที่ว่า ถ้าเรามีแต่มือ เราก็ไม่สามารถจะดับไฟได้ เพราะฉะนั้น ต้องให้ห่างออกไปเสียก่อน โดยไปสำนักปฏิบัติเพื่อหาเครื่องมือมาดับไฟ ขอให้พิจารณาว่า ต้องอาศัยเครื่องมือจริง แต่เครื่องมือที่จะดับไฟกิเลสนั้นคืออะไร สมาธิหรือว่าปัญญา

    ถ้าเป็นสมาธิ ผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาในครั้งก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องดับกิเลสได้ก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าท่านเหล่านั้นอบรมเจริญสมาธิกันมาก แต่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งผู้ใดที่ได้อบรมมาแล้วในอดีต ได้ฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง หรือพระสาวกของพระผู้มีพระภาคแสดง เมื่อเหตุพร้อมที่จะให้เกิดผล การรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็เกิดขึ้น แต่เหตุที่เป็นเครื่องมือนี้คืออะไร ถ้าไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นภพๆ เป็นชาติๆ เป็นอนันตชาตินับไม่ถ้วน ถ้าศึกษาประวัติของพระสาวกทั้งหลายจะเห็นได้ว่า ท่านไม่ใช่เพียงแต่อบรมในชาตินี้ แต่ว่าอดีตชาติท่านก็ได้เคยสะสมอบรมมามากมาย

    และก็เป็นความจริงที่ท่านเจ้าของจดหมายกล่าวว่า เพราะอยู่ตามปกติกิเลสภายนอกไหลเข้ามา กิเลสภายในก็ลุกขึ้นรับกันไม่ขาดสาย จึงทำให้สติเกิดได้น้อย เหมือนลมพัดขยะมูลฝอยเข้าใส่กองไฟ ก็ลุกโพลงขึ้น และทวีความร้อนให้มากขึ้นทุกที

    จริงหรือไม่จริงข้อนี้ จริง ก็ต้องยอมรับว่าจริง สภาพธรรมตามความเป็นจริง ปรากฏให้รู้ว่า แต่ละท่านนั้นมีกิเลสมากเพียงไร เพราะฉะนั้น ก็ควรจะรู้ใช่ไหม อย่าไปคิดว่า กิเลสของท่านน้อยๆ เพียงเป็นสมาธิก็จะละกิเลสได้ นั่นผิด แต่ว่าอุปมาที่ท่านยกตัวอย่างไม่ผิด ถูก เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่จะให้รู้ด้วยว่า ท่านที่อยู่ตามปกติมีกิเลสมากแค่ไหน เมื่อรู้ตามความเป็นจริงจะได้เพียรอบรมที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพื่อให้ปัญญาเป็นเครื่องมือที่จะดับไฟคือกิเลสได้

    ตามปกติท่านรู้ว่ามีกิเลสมาก นั่นถูกแล้ว และการดับกิเลสก็จะต้องดับกิเลสที่ท่านมีมากๆ นี้จนกว่าจะหมด

    ชีวิตของแต่ละท่านที่อบรมเจริญสติปัฏฐานตามปกติตามความเป็นจริง แม้ พระสาวกในอดีต ถ้าท่านศึกษาชีวิตของพระสาวกเหล่านั้น จะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานตามปกตินี้ ต้องมีความเพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วแต่ว่า วิถีชีวิตของภพหนึ่งชาติหนึ่ง ท่านจะประสบพบเห็นอะไร ดำเนินไปอย่างไร ท่านก็จะต้องอบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในชีวิตของท่านนั่นเอง และกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็หลายๆ อสงไขยกัป ตามความเป็นจริงต้องเป็นอย่างนี้

    ถ้าอดีตชาติเป็นสิ่งที่ท่านระลึกไม่ได้ ดูตามความเป็นจริงในปัจจุบันชาติก็ได้ ท่านมีความเข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ความเพียรเกิดขึ้นพร้อมสติโดยการระลึก และก็ศึกษา สังเกต สำเหนียกที่จะรู้ว่า สภาพรู้เป็นอย่างไร สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่ใช่สภาพรู้อย่างไร ทีละเล็กทีละน้อย เกิดขึ้นในวันหนึ่งตามเหตุตามปัจจัย คล้ายกับท่านอยู่ในกระแสของกิเลส ในห้วงน้ำใหญ่ของกิเลส ท่านว่ายเพื่อที่จะถึงฝั่ง แต่ในขณะเดียวกัน คลื่นลูกใหญ่บ้าง ลูกน้อยบ้าง ก็ซัดท่านห่างออกไป และท่านก็เพียรอีกนิดหนึ่งที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ว่าคลื่นก็ยังคงมีมาอยู่เรื่อยๆ บางครั้งก็เป็นคลื่นลูกเล็ก บางครั้งเป็นคลื่นลูกใหญ่ แล้วแต่ว่าจะซัดท่านถอยกลับมามากเท่าไร และท่านก็มีความเพียรที่จะว่ายต่อไปอีกเท่าไรในห้วงน้ำของกิเลส จนกว่าท่านจะถึงฝั่ง

    คือ ทุกๆ ขณะที่กิเลสมากๆ ที่ปรากฏ เป็นความจริงให้ท่านรู้ว่า ท่านยังมีกิเลสมากเหลือเกินที่จะต้องขัดเกลา ที่จะต้องรู้ ที่จะต้องละ และความเพียรนี้จะเพียรที่ไหน จะเพียรเมื่อไร ขณะนี้ถ้าสติระลึกเป็นความเพียรไหม ก็เป็นแล้ว เมื่อสติเกิด ก็เพียรศึกษา สังเกต สำเหนียกที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ จนกว่าจะเป็นปัญญาที่ได้สะสมและคมกล้าที่จะรู้แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าชีวิตของท่านจะเป็นอย่างไร เมื่อเหตุสมควรแก่ผล ผลก็สามารถที่จะเกิดขึ้นรู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาตินั้นได้

    อย่างชีวิตของท่านวิสาขามิคารมารดา ชีวิตของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ชีวิตของท่านพระยสกุลบุตร ชีวิตของท่านพระสารีบุตร ชีวิตของท่านพระอานนท์ แต่ละชีวิตก็วิจิตรต่างกันไปตามกรรม แต่เพราะท่านได้สะสมเหตุที่สมควรจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาตินั้นได้ เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะคอยเฝ้ากังวลถึงนามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ อุทยัพพยญาณ หรือญาณใดๆ เลย

    ไม่ควรแม้แต่จะกังวลว่า ขณะนี้กำลังปฏิบัติ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ปกติ ไม่ใช่การรู้สภาพธรรมทั่วจนเป็นปกติ ที่จะละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ถ้าท่านรู้ว่า ทุกครั้งที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จุดประสงค์ คือ การเพียรศึกษา สังเกต สำเหนียกที่จะให้ปัญญารู้ว่า เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม นี่คือเหตุที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมในวันหนึ่ง

    ไม่ต้องกังวลว่า กำลังปฏิบัติหรือว่ากำลังไม่ปฏิบัติ เมื่อสติเกิด ก็สังเกต สำเหนียกที่จะให้เป็นปัญญาที่รู้ในลักษณะของนามธรรม ในลักษณะของรูปธรรมที่ต่างกันแต่ละลักษณะ นี่คือเหตุที่จะให้ถึงนามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ อุทยัพพยญาณ และวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ในเมื่อมีการสะสมเหตุแล้ว ผลย่อมเกิด แต่ให้เป็นปกติ อย่าให้เกิดความคิดว่า ขณะนี้กำลังปฏิบัติ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ตัวตนจะพยายามทำอย่างนั้นอย่างนี้อีกมากมายหลายอย่าง โดยที่ไม่ใช่ปัญญาที่เกิดเพราะสังเกต สำเหนียกรู้ว่า แม้ขณะนั้นๆ ก็เป็นเพียงนามธรรมที่คิดอย่างนั้น ปรุงแต่งอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น ไม่ใช่ตัวตน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๑ ตอนที่ ๕๐๑ – ๕๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564