แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 530


    ครั้งที่ ๕๓๐


    สำหรับน้ำมันที่เป็นเภสัชมี ๕ คือ น้ำมันงา ๑ น้ำมันเมล็ดพันธุ์ผักกาด ๑ น้ำมันมะซาง ๑ น้ำมันละหุ่ง ๑ น้ำมันเปลวสัตว์ ๑

    ใน พระวินัยปิฎก ปริวาร หมวด ๕ เอกุตตริกะ ว่าด้วยอาบัติเป็นต้น

    สำหรับ น้ำมันเปลวสัตว์มี ๕ คือ น้ำมันเปลวหมี ๑ น้ำมันเปลวปลา ๑ น้ำมันเปลวปลาฉลาม ๑ น้ำมันเปลวหมู ๑ น้ำมันเปลวลา ๑

    ที่จะเป็นเภสัชก็ได้แก่ น้ำมัน ๕ และสำหรับน้ำมันเปลวสัตว์นั้น ก็มี ๕

    ความละเอียดในเรื่องของเนยใส เนยข้นเหล่านี้ ท่านผู้ฟังจะค้นได้ใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๓ ซึ่งจะให้ท่านผู้ฟังได้ทราบลักษณะของเนยใส

    เนยใสทำจากเนยข้นก็มี เนยใสทำด้วยนมสดก็มี ทำด้วยนมส้มก็มี

    นั่นเป็นลักษณะของเนยใส หมายความว่า ในบรรดาโครส ๕ เนยใสเป็นยอดของโครส แต่ข้อที่ทรงอนุญาตไว้ ที่จะเก็บไว้ได้ ๗ วันโดยเป็นเภสัช ที่บริโภคได้จะต้องปราศจากอามิส คือ ไม่เจือด้วยอาหารใดๆ จึงจะฉันได้ในเวลาวิกาล แม้เนยข้นก็เช่นเดียวกัน ซึ่งมีข้อความว่า

    เนยข้น พอยกขึ้นจากเปรียงเท่านั้น ภิกษุทั้งหลายขบฉันได้

    นี่เป็นกรรมวิธีในการที่จะทำนมสดให้เป็นนมส้ม เป็นเปรียง เป็นเนยข้น เป็นเนยใส นมสดถ้าทิ้งไว้จะเป็นนมส้ม และถ้าต้องการจะให้เป็นเนยข้น ก็คงจะต้องเป็นเปรียง เพราะมีข้อความว่า เนยข้น พอยกขึ้นจากเปรียงเท่านั้น ภิกษุทั้งหลายขบฉันได้ เพราะฉะนั้น จากนมสดก็เป็นนมส้ม เป็นเปรียง และก็เป็นเนยข้น

    ภิกษุจะฉันเนยข้น พึงชำระ คือ ตักเอานมส้ม เปรียง แมลงวัน และมดแดงเป็นต้นออก แล้วฉันเถิด

    ที่จะเป็นเนยข้นจริงๆ ต้องเอานมส้มออก ต้องเอาเปรียงออกด้วย เหลือแต่ที่เป็นเนยข้น คือ เป็นก้อนของเนยข้นจริงๆ เวลาหุงต้มแล้วเป็นเปรียง เท่าที่ได้ตรวจสอบดูใน ทุติยสมันตปาสาทิกา

    นมสดทิ้งไว้เป็นนมส้ม หุงต้มเป็นเปรียง แล้วก็เป็นเนยข้น จากเนยข้น เป็นเนยใส เพราะเหตุว่ามีข้อความต่อไปว่า

    ภิกษุใคร่จะเจียวเนยข้นให้เป็นเนยใสฉัน จะเจียวแม้เนยข้นที่ยังไม่ฟอก คือ ยังไม่ชำระก็ควร แล้วเนยใสนั้น ภิกษุทำให้สุกด้วยแสงแดดแล้วกรองไว้ นั่นเป็นเนยใส

    ข้อความใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๓ มีว่า

    ภายหลังพวกอันเตวาสิกถามท่านหนักขึ้นว่า

    ท่านขอรับ ก้อนนมส้มก็ดี หยดเปรียงก็ดี มีอยู่ในเนยข้น เนยข้นนั่นควรไหม

    พระเถระตอบว่า

    ผู้มีอายุ แม้เนยข้นนั่นก็ไม่ควร

    แสดงให้เห็นว่า ถ้าจะเป็นเนยข้นจริงๆ ที่จะเป็นยา จะต้องไม่เจือด้วยแม้นมส้ม หรือหยดเปรียง จึงจะเป็นเนยข้นที่เป็นยา เป็นเภสัชได้

    เพราะฉะนั้น แม้เภสัชที่ทรงอนุญาตไว้ ก็ควรที่จะได้ทราบความละเอียดด้วยว่า ไม่ได้หมายความถึงโครสทั้งหมด แต่เฉพาะที่เป็นเนยข้น เนยใส และเนยข้นนั้น ก็ไม่เจือด้วยนมส้ม หรือแม้แต่หยดเปรียงด้วย

    ในเรื่องของการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะของเพศบรรพชิตซึ่งจะเป็นสัมมาอาชีวะ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เป็นการขัดเกลากิเลสการติดในรส ตามพระวินัยบัญญัติที่เหมาะสมควรแก่เพศบรรพชิต

    สำหรับฆราวาสเองนั้น ถึงแม้ว่าท่านยังไม่ได้รักษาอุโบสถศีล และยังไม่ได้วิรัติการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล แต่ท่านสามารถจะเป็นผู้ที่รู้ประมาณในโภชนะ และเป็นผู้ที่ไม่ติดในรส

    การรู้ประมาณในโภชนะนั้น คือ บริโภคพอสมควร ข้อนี้พอที่จะทราบด้วยตนเองไหมว่า ท่านเป็นผู้บริโภคอย่างนี้หรือเปล่า ซึ่งทุกท่านควรที่จะได้สังเกต ควรที่จะได้พิจารณาเพื่อการขัดเกลากิเลส คือ การติดในรส ในขณะที่บริโภคนั้น บริโภคพอสมควร หรือว่าเกินสมควร หมายความว่า อิ่มแล้ว แต่ยังอร่อย เพราะฉะนั้น ก็รับประทานต่อไปอีก นั่นคือ เกินประมาณ เกินสมควร

    แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่พิจารณาอยู่เสมอ รู้ว่าอิ่มแล้ว พอดีแล้ว พอประมาณแล้ว ท่านก็ไม่รับประทานต่อไป แสดงว่าท่านเป็นผู้ที่คลายการติดในรส สามารถที่จะไม่รับประทานต่อไปได้

    รับประทานพอประมาณ คือ รับประทานพอสมควร แต่ถ้าคราวใดรับประทานอิ่มแล้ว แต่ยังรับประทานต่อไปอีก สติก็ควรที่จะเกิดระลึกรู้ว่า ท่านรับประทานต่อไปเพราะความติดในรส

    เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่รับประทาน และสติเกิดรู้ว่า พอประมาณ พอสมควรและสามารถที่จะหยุด ไม่บริโภคต่อ ถ้าเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ก็จะทำให้ละคลายการติดในรส เมื่อละคลายการติดในรสแล้ว ท่านจะบริโภคพอสมควร คือ พอประมาณจริงๆ โดยที่จะไม่บริโภคอาหารที่เกินจำเป็น และในเวลาที่ไม่จำเป็นด้วย ซึ่งการบริโภคของท่านก็จะน้อยลง จนกระทั่งท่านสามารถจะรักษาอุโบสถศีลองค์ที่ ๖ ได้อย่างสบายๆ แต่ว่าจะเป็นเมื่อไรนั้น ก็ต้องแล้วแต่การสะสมอบรมเป็นปัจจัย

    การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น แม้แต่ในการบริโภคอาหาร ก็ต้องเป็นชีวิตปกติ เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ซึ่งเกิดขึ้นตามการสะสม

    ท่านผู้ฟังจะทราบได้ว่า การบริโภคอาหารของท่านจะเป็นไปในลักษณะอย่างไร เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตประการใด จะมีสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมอย่างไรนั้น ก็แล้วแต่การสะสมมาตามความเป็นจริง แต่จะต้องอบรมเจริญปัญญาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมต่อไป เพื่อที่จะละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตน

    ขออ่านจดหมายของท่านผู้ฟัง จากบ้านเลขที่ ๘๑ หมู่ ๑๑ ต. คลองตุ่ม อ. บางกะปิ ถ.รามอินทรา

    วันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๘

    กราบเรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ ที่เคารพอย่างสูง

    ดิฉันได้ติดตามรับฟังการบรรยายแนวทางเจริญวิปัสสนาของท่านอาจารย์มาตั้งแต่ต้น จนปัจจุบันก็ยังรับฟังอยู่ ทั้งภาคเช้าและภาคค่ำมิได้ขาด นอกจากมีกิจจำเป็นเท่านั้น ได้ประโยชน์จากการรับฟังบ้างพอสมควร

    ดิฉันเริ่มสนใจในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ จนกระทั่งทุกวันนี้ เคยปฏิบัติตามแนวอื่นมาบ้าง ดิฉันพอใจและศรัทธาในการปฏิบัติแนวเดิมว่าถูกต้องเสมอมา เพราะผลที่ได้ คือ ความสงบใจจากอกุศลธรรมทั้งปวง แม้บางครั้งจะมีอารมณ์มากระทบ สติก็จะทันเหตุการณ์เสมอมา จิตใจไม่ได้ติดในอารมณ์นั้น ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า ถูกต้องแน่นอน แต่ก็ไม่ได้ละเลยในการรับฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์ เก็บมาพิจารณาเทียบเคียงอยู่เสมอ และพยายามฝึกเจริญสติตาม แต่ก็ไม่ค่อยจะได้ผล เพราะยังไม่ค่อยจะเข้าใจอะไรมากนัก คงจะเป็นเพราะติดอยู่ในการปฏิบัติแบบเดิม บางครั้งมีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรมที่กำลังเกิดอยู่ ก็พอจะเข้าใจบ้าง เห็นรูปธรรมนามธรรมที่เกิดอยู่แต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน เช่น ความเย็นกำลังปรากฏ ก็รู้เฉพาะความเย็นที่กำลังปรากฏ มีแต่สภาพเย็นเท่านั้น สภาพร้อนปรากฏ สติก็รู้เพียงสภาพร้อนเท่านั้น ความรู้สภาพร้อน สภาพเย็นก็ดับไป

    เวลารับประทานอาหาร รู้สึกว่ายากเหลือเกิน พอเห็นอาหารที่ชอบ ก็เกิดความอยากเสียแล้ว คงจะเป็นเพราะหลงลืมสติ กว่าจะระลึกได้ อาหารเข้าปากไปเสียแล้ว ต่อมาลิ้นกระทบกับรส กลับติดใจในรสเสียแล้ว กว่าสติจะระลึกได้ว่า เป็นเพียงสภาพของรสเท่านั้น ทานอาหารไปเสียหลายคำ แต่ก็พยายามเจริญสติ ระลึกรู้ในสภาพของรูปธรรมนามธรรมแต่ละอย่างแต่ละชนิด ปัจจุบันนี้ไม่เป็นการยากนัก ระลึกได้พอสมควร

    บางครั้งดิฉันจะเก็บเอาการปฏิบัติแนวเดิมมาพิจารณาเทียบเคียงกันกับของท่านอาจารย์ เห็นความแตกต่างกันในความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นขณะนั้น แบบเดิมการกำหนดรูปนามนั้น ถ้าไม่ได้พิจารณาแล้ว ก็จะไม่เห็นว่ามีเราเป็นผู้ทำ เป็นผู้กำหนดอยู่ สมัยที่ดิฉันปฏิบัติอยู่ ก็ยังมองไม่เห็นความต่างกัน แต่เมื่อได้ปฏิบัติตามแนวทางของท่านอาจารย์ จึงได้ความรู้ความเห็นต่างกัน การปฏิบัติแบบเดิมนั้น ไม่สามารถจะทำลายความเห็นผิดในตัวตนได้ กำหนดครั้งใด ก็มีตัวตนเป็นผู้รู้ผู้ทำอยู่เสมอ จึงไม่สามารถจะละอัตตาได้

    ดิฉันได้เคยประสบปัญหานี้ด้วยตนเอง เมื่อประมาณ ๕ – ๖ ปีที่แล้วมานี้ มีเหตุดิฉันประสบมรสุมชีวิตใหญ่อย่างหนัก เกิดอกุศลจิต จิตขณะนั้นมีแต่ความเศร้าหมอง โลภะ โทสะ โมหะ พยาบาทเข้าครอบงำจิตใจ ใจที่เคยสงบ กลับฟุ้งซ่าน หาความสงบมิได้ จะนั่ง นอน ยืน เดิน มีแต่ความทุกข์ เหมือนมีไฟทั้งกองสุมอยู่ในอก สติปัญญาที่เคยอบรมไว้ นำมาพิจารณา ก็ไม่สามารถจะปล่อยวางจากอารมณ์ มืดมัว หาทางออกไม่ได้

    วันหนึ่ง ตอน ๓ ทุ่ม ดิฉันเปิดวิทยุฟังรายการบรรยายของท่านอาจารย์ตามปกติ เคยรับฟังอยู่ทุกวัน มีตอนหนึ่งท่านอาจารย์บรรยายไปตรงกับใจของดิฉัน ในขณะนั้น อกุศลจิตกำลังเกิดอยู่ ดิฉันก็ตั้งใจระลึก ตามระลึก รู้รูปธรรมนามธรรมที่กำลังเกิดอยู่ ได้รู้ได้เห็นรูปธรรมนามธรรมที่เป็นอกุศลแต่ละอย่าง แต่ละชนิด ทยอยกันเกิดอยู่ไม่ขาดสาย ขณะนั้นเกิดความกลัวภัยในวัฏฏะขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก ดิฉันก็ระลึกรู้ในนามธรรมที่เกิดใหม่ต่อไป ความรู้ความเข้าใจได้เกิดขึ้นขณะนั้นเอง เห็นเป็นลักษณะหนึ่งของสภาพนามธรรมที่เกิดขึ้น และเปลี่ยนไปในที่สุด ในสภาพนามธรรม ไม่ใช่เรา ไม่มีเราโกรธ เรารัก เราชัง มีเพียงลักษณะของนามธรรมเท่านั้นที่กำลังปรากฏอยู่ ความรู้สึกขณะนั้นเริ่มรู้สึกว่า ไม่มีอะไรน่ายึดถือ เมื่อความรู้เกิดขึ้น อกุศลจิตดับหายไป ขณะนั้นเกิดความเบาใจ เบากาย เหมือนแบกของหนักมาแล้วโยนทิ้งไป ใจก็สบายขึ้น สติก็ระลึกตามเรื่อยไปในสภาพของจิตขณะนั้น

    หลังจากนั้นต่อมา ดิฉันย้อนกลับไปพิจารณาว่า การปฏิบัติที่แล้วมานั้น มิได้ประกอบกับความเห็นที่ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริงของสภาพของรูปธรรมนามธรรม จึงไม่สามารถจะละคลายได้ ดิฉันจึงทิ้งแนวเดิมมาปฏิบัติตามแนวทางของท่านอาจารย์ จนถึงปัจจุบันนี้ พร้อมกันนั้นอดเสียมิได้ ที่จะระลึกถึงพระคุณของท่านอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างสูง ไม่อาจจะพรรณนาความรู้สึกที่มีต่อท่านอาจารย์ได้

    ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์มา ณ ที่นี้ด้วย

    ดวงอาทิตย์ให้ความสว่างแก่โลกฉันใด ท่านอาจารย์ก็เป็นฉันนั้น ท่านได้ให้ธรรมเป็นทานแก่ปุถุชนผู้มืดอยู่ด้วยอวิชชาให้ได้รับแสงสว่างแห่งธรรม ให้เกิดมีในบุคคลทั่วไป

    ดิฉันขอความเมตตาท่านอาจารย์ โปรดพิจารณาว่า การปฏิบัติของดิฉันผิดถูกประการใด กรุณาชี้แจงด้วย จะเป็นพระคุณอย่างสูง

    ขออำนาจแห่งบุญที่ท่านอาจารย์ได้ให้ธรรมเป็นทาน จงเป็นปัจจัยส่งผลให้ท่านอาจารย์ได้บรรลุมรรคผลนิพพานในอนาคตอันใกล้นี้ด้วยเทอญ

    ขออภัยท่านอาจารย์ ดิฉันไม่ค่อยสันทัดในการเขียนจดหมาย เพราะความรู้ดิฉันน้อย มีอะไรบกพร่อง กรุณาให้อภัยดิฉันด้วย

    สุดท้ายนี้ ดิฉันกราบขอความเมตตาจากท่านอาจารย์ ขอหนังสือ แนวทางเจริญวิปัสสนา ของท่านอาจารย์ ๑ เล่ม เพื่อเอาไว้เป็นคู่มือการปฏิบัติ ดิฉันขอกราบขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้ด้วย ดิฉันสอดเงินค่าส่งหนังสือมา ๒๐ บาท พร้อมทั้งที่อยู่ด้วย เหลือจากนั้นกรุณาเก็บไว้เป็นค่าส่งหนังสือให้บุคคลอื่นต่อไป

    ด้วยความเคารพอย่างสูง

    สุ. ขออนุโมทนาท่านเจ้าของจดหมาย ที่ท่านมีความเข้าใจความแตกต่างของการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพื่อที่จะอบรมเจริญปัญญาให้รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งต่างกับการที่เคยปฏิบัติมา ซึ่งท่านผู้ฟังเอง ท่านจะเคยปฏิบัติแบบใดมาก่อน หรือว่าไม่เคยปฏิบัติแบบใดมาก่อนก็ตาม แต่ท่านจะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดในการพิจารณาการเจริญอบรมสติปัญญาของท่านว่า สติที่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมถูกต้อง ตรงตามลักษณะของสภาพธรรม นั้นๆ หรือเปล่า

    แม้แต่คำว่า นามธรรม ซึ่งหมายถึงสภาพรู้ หรือธาตุรู้ โดยการศึกษา ไม่สงสัยเลยใช่ไหมว่า ต้องมีแน่ๆ สภาพรู้ หรือธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่จักขุปสาทด้วย เพราะว่าจักขุปสาทเป็นรูปซึ่งมีลักษณะที่สามารถรับกระทบสีสันวัณณะที่ปรากฏทางตา แต่สภาพรู้ ธาตุรู้นี้ เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เป็นแต่เพียงอาการรู้ หรือสภาพรู้ หรือธาตุรู้เท่านั้น และธาตุรู้ หรือสภาพรู้ อาการรู้ ก็มีลักษณะต่างกันตามเหตุตามปัจจัย

    สภาพรู้เสียง เป็นธาตุรู้เสียง เป็นสิ่งที่มีจริง กำลังรู้เสียงที่กำลังปรากฏ ทุกครั้งที่ธาตุรู้เสียงเกิดขึ้น จะรู้อย่างอื่นไม่ได้เลย ธาตุรู้เสียงจะรู้ได้เฉพาะเสียงเท่านั้น เช่นในขณะนี้เสียงปรากฏ ธาตุรู้เสียงจะเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ ธาตุรู้เสียงเกิดขึ้นแล้ว ก็จะรู้เสียงเท่านั้นเอง นี่เป็นลักษณะของธาตุรู้ลักษณะต่างๆ กัน

    เพราะฉะนั้น โดยการศึกษา เข้าใจโดยไม่สงสัยว่า ธาตุรู้ต้องมีแน่นอน นามธรรมซึ่งเป็นสภาพเห็น ธาตุเห็น หรือว่าเป็นธาตุรู้เสียง สภาพรู้เสียง ธาตุรู้กลิ่น สภาพรู้กลิ่น ต้องมีแน่ แต่ทำอย่างไรจึงจะประจักษ์ในลักษณะซึ่งเป็นเพียงธาตุรู้ สภาพรู้ได้ ก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้บ้าง หรือว่าเป็นรูปที่ปรากฏทางตาบ้าง เป็นธาตุรู้ทางหูบ้าง หรือว่าเป็นรูปที่ปรากฏทางหูบ้าง ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ บ่อยๆ เนืองๆ จนเป็นความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น

    ท่านต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง และเป็นผู้ที่ละเอียดด้วย ถ้าเกิดมีความรู้สึกว่า เป็นตัวตนที่กำลังดู ที่กำลังรู้ นั่นผิดอีกแล้ว เพราะฉะนั้น สติจะต้องระลึกรู้ในขณะนั้นว่า ขณะนั้นเป็นตัวตน เป็นลักษณะของความเห็นผิดที่ยึดถือนามรูปว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เพื่อที่ปัญญาจะได้รู้ละเอียดขึ้น และละคลายมากขึ้น

    นี่คือ การอบรมเจริญปัญญา จนกว่าจะประจักษ์ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นการคิดนึก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเป็นสุข ความรู้สึกเป็นทุกข์ ความตั้งใจ ความโกรธ ความตระหนี่ ความริษยา ความมานะ สภาพธรรมทั้งหมดที่มีจริง สติสามารถที่จะระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดา อาศัยการฟังและความเข้าใจ เป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะเป็นความรู้ชัด ไม่ว่า ณ สถานที่ใด หรือขณะไหน สติสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๕๒๑ – ๕๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564