แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 538


    ครั้งที่ ๕๓๘


    ถ. พราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ ผมเดาว่าพราหมณ์คนนี้คงจะไม่ได้บรรลุคุณธรรมอันใดอันหนึ่ง และที่พราหมณ์ทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระสมณโคดมติดในรสอาหาร ผมเข้าใจว่า ขณะนั้นจิตของพราหมณ์คงจะเป็นความตระหนี่ คือ ทุกวันนี้มีบุคคลแบบนี้ ศรัทธาของคนมีจำกัด ไปวันแรกก็ถวายอย่างนอบน้อม อย่างเต็มใจ ไปวันที่ ๒ ชักจะมาบ่อยๆ เสียแล้ว ชักจะไม่ค่อยชอบหน้า เหตุการณ์อย่างนี้ปรากฏกับครอบครัวของผมเอง

    ก่อนเข้าพรรษา หน้าบ้านผมมีพระ บางทีก็รูปหนึ่ง บางทีก็ ๒ รูป ผมมักจะให้แม่ใส่บาตรด้วยนม ใกล้เข้าพรรษา พระก็มาก บางวันมา ๕ – ๖ รูป พอพระเดินมา ผมก็บอกแม่ว่า พระมาแล้ว ท่านก็ใส่ สัก ๒ – ๓ วัน ท่านบอกว่า เอ พระนี่รู้ว่าที่นี่มีการใส่บาตร เลยมาบ่อยๆ ผมคิดจะแนะนำท่านก็บอกว่า มาบ่อย มามากก็ดีแล้ว แม่ก็บอกว่า รู้ว่าเราใส่ก็มาเรื่อยๆ ถ้าเช่นนั้นก็ต้องใส่ไปเรื่อยๆ ผมก็ว่า มาเรื่อยๆ ก็ดี ผมอยากจะใส่มากกว่านั้นอีก อยากจะใส่วันละ ๙ รูป แต่ก็มาไม่ครบ จะเสียดายไปทำไม ในลักษณะนี้ผมคิดว่า ศรัทธาของคนมีจำกัด ที่พราหมณ์พูดว่า พระผู้มีพระภาคมาบ่อยๆ พอวันที่ ๓ ศรัทธาของท่านอาจจะหมดแล้ว

    สุ. เป็นความจริง ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ตรงต่อตัวเอง จะทราบได้ว่า จิตใจของแต่ละคน แม้แต่ของท่านเอง ในแต่ละวันก็วิจิตรไปต่างๆ บางครั้งก็มีศรัทธา แต่พอเห็นมากๆ ศรัทธาถอย หรือว่าจะเสื่อมศรัทธาไปเสียแล้ว

    เพราะฉะนั้น พระสูตรนี้จึงเกื้อกูลให้เห็นประโยชน์ของการเจริญกุศลว่า ผู้ที่ให้บ่อยๆ ย่อมเข้าถึงสวรรค์บ่อยๆ

    ให้วันหนึ่ง จะถึงสวรรค์กี่ครั้งไม่ทราบ ให้อีกวันหนึ่ง จะเข้าถึงสวรรค์กี่ครั้งก็ไม่ทราบ พอแล้วหรือ หรืออยากจะถอยกลับไปภูมิอื่นบ้าง เพราะฉะนั้น มีโอกาสเจริญกุศลขณะใด ก็ควรจะรีบ หรือว่าเกิดปีติโสมนัสที่จะได้เจริญกุศลในขณะที่ท่านสามารถที่จะเจริญกุศลได้ เพราะชีวิตไม่แน่ว่า ท่านจะมีโอกาสได้เจริญกุศลต่อไปหรือไม่ อาจจะหมดโอกาสด้วยประการหนึ่งประการใดก็ได้

    ท่านผู้ฟังเขียนมาว่า

    ผมขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ ดังนี้

    ข้อ. ๑ เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมได้ทราบทางวิทยุว่า รายการนี้ท่านอาจารย์มุ่งหมายให้เป็นประโยชน์ในการเจริญวิปัสสนาโดยเฉพาะ ถ้าจะมีการเรียนถามและกล่าวถึงการทำบุญกุศลที่คิดว่าสำคัญในเรื่องต่างๆ ท่านอาจารย์จะอนุญาตหรือไม่

    สุ. การเจริญวิปัสสนาเป็นการอบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน การเจริญกุศลก็เป็นชีวิตประจำวันด้วย แต่ว่าขณะนี้ กำลังพูดถึงเรื่องอุโบสถศีลองค์ที่ ๖ เพราะฉะนั้น ก็ใคร่ที่จะให้ท่านผู้ฟังได้ความแจ่มแจ้งในเรื่องของอุโบสถศีลทั้ง ๘ องค์นี้ตามลำดับ แต่ถ้ามีปัญหาอะไรที่เกี่ยวกับการเจริญวิปัสสนา ก็ขอเชิญ เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นจุดประสงค์ของการบรรยาย

    ข้อ. ๒ มีวิธีอย่างไร จึงจะยังให้ธรรม คือ การข่มใจ หรือการข่มมานะให้เจริญขึ้นได้

    สุ. เป็นอนัตตาใช่ไหม บังคับยาก เวลาใดที่เกิดบังคับได้ ก็ไม่ใช่ตัวตน ขณะใดที่อยากจะบังคับ บางครั้งก็บังคับไม่ได้เลย ข่มใจไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น หนทางที่ดีที่สุด คือ ระลึกรู้ลักษณะสภาพของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    มานะ สภาพที่สำคัญตน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าไม่เกิดปรากฏเลย คนนั้นจะรู้ได้ไหมว่า ยังมีกิเลส คือ มานะ ก็ย่อมไม่รู้ เพราะฉะนั้น การที่มานะมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นให้สติระลึกรู้ในลักษณะของสภาพมานะที่เป็นอกุศลธรรม ย่อมให้ความจริงว่า บุคคลนั้นยังมีมานะอยู่ แล้วแต่ว่ามานะที่เกิดปรากฏในขณะนั้น จะเป็นมานะที่แรงกล้าเพียงใด ก็เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงที่สติสามารถจะระลึกรู้ เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ก็เป็นเพียงสภาพอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น

    โดยวิธีนี้ จะทำให้ปัญญารู้ชัดในมานะนั้นว่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ย่อมมีประโยชน์ทั้งในขณะที่ข่มใจได้ และข่มใจไม่ได้ ทั้ง ๒ ประการ

    ข้อ. ๓ เมื่อวานนี้ผมได้ฟังนิยายอิงธรรมเรื่อง ธรรมธารา จึงได้ทราบชัดว่า แท้จริงแล้วความสุขก็เกิดเพราะอาศัยการดับทุกข์ หรือการที่ทุกข์ผ่อนคลายลง หรือสุขก็เพราะสมอยาก ไม่สมอยากก็เป็นทุกข์ ผมไม่ทราบว่า จะยังมีสุขอื่นใดหรือไม่ที่ไม่อิงอาศัยความทุกข์เกิดขึ้น

    สุ. ความสุขเกิดขึ้นเพราะอาศัยการดับทุกข์ชั่วคราว ขณะที่ทุกข์ดับไป สุขเวทนาก็เกิดได้ หรือการที่ทุกข์ผ่อนคลาย ขณะนั้นทุกข์ก็น้อยลง หรือสุขก็เพราะสม อยาก ไม่สมอยากก็เป็นทุกข์ นี่แล้วแต่เหตุปัจจัยทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ละคลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน ย่อมทำให้ถึงการดับกิเลสได้หมดสิ้น ซึ่งจะเป็นความสุขที่แท้จริง

    ข้อ. ๔ ศรัทธาในอินทรีย์ ๕ นั้น เกิดได้เพราะอะไรบ้าง

    สุ. ฟังธรรม พิจารณาธรรมให้เข้าใจในเหตุผล ย่อมเกิดศรัทธาในธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลยิ่งขึ้น และศรัทธาก็มีหลายขั้นด้วย ศรัทธาในขั้นของการฟัง ย่อมทำให้เกิดศรัทธาของการประพฤติปฏิบัติตาม แต่ถ้าศรัทธาในขั้นการฟังไม่มี ก็จะไม่ประพฤติปฏิบัติตามด้วย

    ข้อ. ๕ ที่ว่าปัญญาเกิดจากภาวนา ภาวนานี้มีลักษณะอย่างไร ต่างกับการบริกรรม หรือท่องบ่นเวลาเจริญสมาธิอย่างไร จะเป็นอย่างนี้หรือไม่ คือ เป็นลักษณะที่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ เกิดดับสืบต่อกันมากขณะขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเห็นสามัญลักษณะ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของรูปนามชัดเจนอย่างนี้หรือ

    สุ. ที่ว่าปัญญาเกิดจากภาวนา ภาวนา หมายถึง การอบรม การอบรมให้สภาพธรรมที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ เจริญขึ้นกระทำกิจ คือ การปฏิบัติกิจของมรรคมีองค์ ๘ นั้น คือ กิจรู้ และละกิเลส ที่ใช้คำว่าปฏิบัติ ไม่ใช่มีตัวตนที่จะปฏิบัติ มรรคมีองค์ ๘ คือ เจตสิก ๘ ดวง เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะเกิดขึ้นบ่อย จึงเป็นการอบรมให้เจริญขึ้น กระทำกิจของมรรคมีองค์ ๘ นั้นเพิ่มขึ้น

    การปฏิบัติ ไม่มีตัวตนไปปฏิบัติ แต่สภาพธรรม คือ เจตสิก ๘ ดวงนั้นกระทำกิจ คือ ปฏิบัติหน้าที่ของตน เช่น สติ ทำกิจไม่หลงลืม ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ นี่คือลักษณะของสติ ขณะที่ระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ใช่มีเราที่ตั้งอกตั้งใจจะปฏิบัติ หรือไปทำอะไรขึ้นมาผิดปกติจากชีวิตประจำวัน ไม่ใช่อย่างนั้น แต่หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ เจตสิก ๘ ดวงนั้น เกิดขึ้นกระทำกิจของตน คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกระทั่งเป็นปัญญาที่รู้ชัดในสภาพธรรมนั้น ๆ เจตสิกอื่นซึ่งเป็นมรรคองค์อื่นก็กระทำกิจของตนร่วมกันด้วย

    เพราะฉะนั้น ภาวนาไม่ได้หมายความว่า ไปท่องบ่น หรือว่าไปทำ ไปรอคอย ไปหวังที่จะรู้สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นปรากฏ แต่ภาวนา หมายถึงอบรมการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริง จนกว่าจะเป็นความรู้ชัด

    และที่ถามว่า จะเป็นอย่างนี้หรือไม่ คือ เป็นลักษณะที่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ เกิดดับสืบต่อกันมากขณะขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเห็นสามัญลักษณะ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของรูปนามชัดเจนอย่างนี้หรือ

    นี่ย่อมาก จากขณะเดียวไปสู่อุทยัพพยญาณ จากชั่วขณะที่สติเกิดบ้างไม่เกิดบ้าง ขณะนี้ทางตา มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังเห็นหรือเปล่า มีการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ที่เคยยึดถือว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน วัตถุสิ่งต่างๆ นั้น เป็นความทรงจำจากทวารอื่นมารวมกัน ทำให้เกิดความเข้าใจว่า สิ่งที่เห็นเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางอื่นเลย สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าไม่ระลึก หรือระลึกนิดหนึ่ง และก็หลงลืมไปนาน หรือถึงแม้ว่าระลึก ปัญญาก็ยังไม่สามารถที่จะแยกรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ กับรูปธรรมซึ่งเป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ทางตา ถ้ายังไม่รู้อย่างนี้ และจะย่อการเจริญวิปัสสนาให้ชั่วขณะที่ระลึกก็ไปประจักษ์การเกิดดับเป็นอุทยัพพยญาณ โดยไม่มีความรู้ที่จะเจริญขึ้น ที่จะรู้ทั่วในลักษณะของนามธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามความเป็นจริง แต่มุ่งหวังที่จะให้ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ เกิดดับสืบต่อกันมากขณะขึ้น เรื่อยๆ จนกระทั่งเห็นสามัญลักษณะ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของรูปนามชัดเจน ซึ่งหมายถึงอุทยัพพยญาณ วิปัสสนาญาณที่ ๔ ที่เป็นพลววิปัสสนา แต่ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อปัญญาไม่เกิด จะไปหวังให้สติ วิริยะ สมาธิเกิดดับสืบต่อกัน ประจักษ์แจ้งความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของรูปนาม เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญวิปัสสนา คือ การอบรมเจริญปัญญา เป็นปัญญาจริงๆ ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้ายังไม่รู้ ก็ต้องอบรม คือ ระลึกรู้เนืองๆ บ่อยๆ ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่รู้โผฏฐัพพะ ในขณะที่มีความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ ในขณะที่มีความยินดี ยินร้าย ริษยา มัจฉริยะต่างๆ สภาพธรรมทั้งหมดเป็นของจริง ไม่ใช่ว่า จะให้วิริยะ สติ สมาธิ ศรัทธาเกิดติดต่อกัน ประจักษ์การเกิดดับของนามรูปได้ โดยไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านผู้ฟังได้ทราบชัดถึงอรรถของปรมัตถธรรมที่เป็นปัญญาเจตสิก ซึ่งสามารถที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่เกิดดับในขณะนี้ตามความเป็นจริงได้ แต่ปัญญานี้จะยังไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่ค่อยๆ อบรมความรู้ให้เพิ่มขึ้นตามลำดับขั้นและที่จะเป็นปัญญาสูงขึ้น ก็จะต้องมาจากปัญญาแต่ละขณะที่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เสียก่อน จึงจะเป็นปัญญาที่คมกล้าขึ้น

    แต่ถ้ายังไม่ได้อบรมเลย ปัญญาขั้นโลกุตตรปัญญาก็เป็นแต่เพียงชื่อ ปัญญาของวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ก็คงเป็นแต่เพียงชื่อ เพราะว่าไม่มีเหตุสมควรที่จะให้ปัญญาขั้นนั้นๆ เกิดขึ้นได้ ปัญญาขั้นนั้นๆ ก็ย่อมเกิดไม่ได้ เมื่อเกิดไม่ได้ บุคคลนั้นก็ไม่รู้ชัดในลักษณะของปัญญาขั้นนั้นๆ ว่า มีลักษณะแตกต่างกับปัญญาที่กำลังอบรมพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขั้นต้นๆ อย่างไร

    ข้อ. ๖ การเห็นรูปนามเป็นภัย ต่างกับการเห็นว่าเป็นโทษอย่างไร

    สุ. รูปเป็นอย่างไร นามเป็นอย่างไร รู้หรือยัง ขณะที่กำลังเห็น สภาพที่เป็นนามธรรมต่างกับรูปธรรมอย่างไร ขณะที่กำลังได้ยิน สภาพที่เป็นนามธรรมต่างกับรูปธรรมอย่างไร ขณะที่กำลังได้กลิ่น ขณะที่กำลังลิ้มรส ขณะที่กำลังรู้โผฏฐัพพะ คิดนึกต่างๆ สภาพของนามธรรมและรูปธรรมต่างกันอย่างไร ถ้ายังไม่เห็นความจริงอย่างนี้ จะเอื้อมไปถึงการเห็นเป็นภัย เป็นโทษต่างๆ ย่อมไม่มีประโยชน์เลย เพราะว่าไม่ใช่ความรู้ที่เกิดจากการอบรม จนเป็นปัญญาที่ประจักษ์ในโทษและภัยของนามธรรมและรูปธรรมนั้นๆ ได้

    ข้อ.๗ เป็นเรื่องเกี่ยวกับกรรม คือ เจตนาในการทำบุญกุศล ๓ วาระ ได้แก่ เจตนาก่อนทำ ขณะทำ และหลังทำ

    ผมเป็นคนหนึ่งที่ถูกโรคภัยเบียดเบียนมาก ชีวิตที่ผ่านมานานกว่า ๑๐ ปี ในระหว่างนั้นผมไม่เคยรักษาแม้ศีล ๕ และได้เบียดเบียนชีวิตสัตว์บก สัตว์น้ำไปมาก เพราะความที่เป็นเด็ก ด้อยในการที่ได้รับการอบรมในเรื่องศีลธรรม การที่เป็นผู้มีโรคภัยเบียดเบียนมาก ทำให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินชีวิต และอาจขัดขวางการเจริญกุศลที่ปรารถนาได้ นับว่าท่านที่มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติศีลธรรม มีปัญญาเห็นชอบในเรื่องกรรม ตั้งแต่วัยเด็กเรื่อยไปจนกระทั่งสิ้นชีวิต เป็นผู้ที่ทำบุญกุศลมาดีแล้วในอดีตชาติ ซึ่งเหตุผลประการหนึ่ง อาจเป็นเพราะท่านเหล่านั้น เมื่อทำบุญกุศล ก็เป็นผู้มีใจเป็นกุศลทั้ง ๓ กาล คือ ตั้งใจจะทำ แล้วก็ทำ และยินดีเมื่อระลึกถึง ทำให้ในปัจจุบันชาติเป็นผู้มีความเห็นชอบตั้งแต่วัยเด็ก

    ผมคิดว่า เจตนาในการทำบุญกุศล เช่น การให้ธรรม หรือช่วยบำบัดโรคภัยของผู้อื่น จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยผ่อนคลาย หรือลิดรอนทุกข์ภัยในปัจจุบัน หรือในอนาคตชาติ สำหรับบุคคลที่รู้ตัวว่าได้เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่นมาก หรือขาดการได้รับการอบรมศีลธรรมในวัยเด็กในชาตินี้ จนต้องถูกกิเลสนำให้กระทำความชั่วทั้งหนักและเบามาเป็นอันมาก

    ท่านอาจารย์เห็นว่า การแก้ไขวิธีนี้พอจะใช้ได้หรือไม่ หรือมีทางแก้ไขอย่างอื่นอีก

    ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงยิ่ง

    สุ. เรื่องที่ผ่านไปแล้ว เรียกร้องกลับคืนมาไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ที่จะไประลึกถึงเลย มีสติเฉพาะหน้า ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นกุศลที่สูงที่สุด และถ้าสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระโสดาบันในปัจจุบันชาตินี้ ก็ไม่ต้องห่วงถึงกรรมที่ได้กระทำแล้วที่เป็นอกุศล เพราะว่าการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน จะไม่ทำให้ไปเกิดในอบายภูมิ

    ถ. ผมกลัวว่า ถ้าเกิดต่อไปในชาติหน้า และไม่ได้รับการอบรมศีลธรรมตั้งแต่ในวัยเด็ก จะทำให้ต้องกระทำความชั่วมาก และอาศัยเจตนา ๓ ในการทำบุญกุศล ก็อาจจะทำให้เป็นผู้มีปัญญาเห็นชอบในเรื่องกรรม และมีโอกาสได้ประพฤติศีลธรรมตั้งแต่ในวัยเด็ก

    สุ. ถ้าระลึกถึงเหตุผล คือ กรรมดีกรรมชั่วแล้ว ถ้าเกิดความกลัวที่เป็นความวิตก ก็เป็นอกุศลจิต แต่ถ้าเกิดหิริ ความรังเกียจในอกุศลกรรม และเกิดโอตตัปปะ การเห็นภัย เห็นโทษของอกุศลกรรม ก็จะเป็นปัจจัยให้เจริญกุศลยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติจะทำให้รู้ว่า ในขณะที่ระลึกถึงอกุศลกรรมในอดีตนี้ จิตเศร้าหมองเป็นทุกข์ วิตกกังวลเป็นอกุศล หรือว่าเกิดหิริโอตตัปปะระลึกได้ว่า จะไม่ทำอกุศลกรรมอย่างนั้นอีก เมื่อมีความเข้าใจในเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้ว สติย่อมสามารถเกิดได้

    การที่ระลึกถึงอดีตขณะนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมที่คิด ทุกคนเคยทำอกุศลกรรมมาแล้ว แต่คนที่ไม่เคยเจริญสติปัฏฐานเลย ระลึกถึงอดีตอกุศลกรรมด้วยอกุศลจิต หรือด้วยกุศลจิตรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำก็ได้ แต่ไม่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเลย

    แต่ละบุคคลไม่สามารถจะแลกเปลี่ยนความคิดนึกกันได้ เพราะว่าแม้การคิดนึกก็เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นจากการที่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยได้กลิ่น เคยลิ้มรส เคยกระทบสัมผัส เคยมีความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ในสภาพเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้น และสัญญา ความทรงจำ เป็นปัจจัยทำให้เกิดการคิดนึกถึงอดีต การกระทำที่ผ่านมาแล้ว เพราะฉะนั้น แม้การคิดนึก ถ้าสติเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ก็จะทำให้ไม่ยึดถือการคิดนึกนั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๔ ตอนที่ ๕๓๑ – ๕๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564