แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 521


    ครั้งที่ ๕๒๑


    ข้อความต่อไปใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภัททาลิสูตร มีว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภัททาลิ เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า อุบาสกมากด้วยกันอาศัยอยู่ใน พระนครสาวัตถี แม้อุบาสกเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิ ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว

    ดูกร ภัททาลิ เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า อุบาสิกามากด้วยกันอาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้อุบาสิกาเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิ ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงเตือนให้ท่านภัททาลิได้ระลึกว่า นอกจากพระผู้มีพระภาค พระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาแล้ว ก็ยังมีบุคคลอื่นที่ท่านพระภัททาลิควรเกิดความละอาย ที่ไม่ประพฤติให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    แม้เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า สมณพราหมณ์ต่างลัทธิมากด้วยกันเข้าอยู่กาลฝนในพระนครสาวัตถี แม้สมณพราหมณ์เหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิสาวกของพระสมณโคดม เป็นพระเถระองค์หนึ่ง ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของ พระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว

    ท่านพระภัททาลิกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ พระผู้มีพระภาคจงทรงรับโทษของข้าพระองค์นั้น โดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด

    น่าอนุโมทนาสำหรับผู้ที่เห็นผิด ประพฤติผิด และรู้ว่าเห็นผิด ประพฤติผิด เมื่อรู้อย่างนี้ ก็สามารถเปลี่ยนจากความเป็นผู้เห็นผิด ประพฤติผิด มาสู่ความเป็นผู้เห็นถูก ประพฤติถูกได้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับท่านพระภัททาลิว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมกระทำตามที่พระผู้มีพระภาครับสั่ง ไม่ว่าจะเป็นพระอริยเจ้าประเภทที่ถึงพร้อมด้วยฌาน หรือว่าไม่ได้ฌานขั้นต่างๆ ก็ย่อมประพฤติตามที่พระผู้มีพระภาครับสั่ง แล้วพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสถามท่านพระภัททาลิว่า

    ดูกร ภัททาลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในสมัยนั้นเธอเป็น พระอริยบุคคล ชื่อว่าอุภโตภาควิมุติ ปัญญาวิมุติ กายสักขี ทิฏฐิปัตตะ สัทธาวิมุติ ธรรมานุสารี หรือสัทธานุสารี บ้างหรือหนอ

    ท่านพระภัททาลิกราบทูลว่า

    มิได้เป็นเลย พระเจ้าข้า

    ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ก็รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่หลอกลวง เมื่อท่านพระภัททาลิท่านเป็นผู้ที่ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูก ท่านก็ย่อมรู้ว่า ในสมัยนั้นท่านยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภัททาลิ ในสมัยนั้น เธอยังเป็นคนว่าง คนเปล่า คนผิดมิใช่หรือ

    ท่านพระภัททาลิกราบทูลรับว่า

    เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากำลังบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กำลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา แต่เพราะเธอเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม เราจึงรับโทษของเธอนั้น ข้อที่บุคคลเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ

    ข้อความต่อไปตอนหนึ่งในพระสูตรนี้ มีว่า

    ท่านพระภัททาลิได้กราบทูลถามว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่เมื่อก่อนได้มีสิกขาบทน้อยนักเทียว แต่ภิกษุดำรงอยู่ในอรหัตตผลเป็นอันมาก และอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่เดี๋ยวนี้ได้มีสิกขาบทเป็นอันมาก แต่ภิกษุดำรงอยู่ในอรหัตตผลน้อยนัก

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภัททาลิ ข้อนี้เป็นจริงอย่างนั้น เมื่อสัตว์ทั้งหลายกำลังเสื่อม พระสัทธรรมกำลังอันตรธาน สิกขาบทมีอยู่มากมาย แต่ภิกษุดำรงอยู่ในอรหัตตผลน้อยนัก พระศาสดายังไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย ตราบเท่าที่อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ในธรรมวินัยนี้ ต่อเมื่อใดอาสวัฏฐานิย-ธรรมบางเหล่าปรากฏขึ้นในสงฆ์ในธรรมวินัยนี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น

    อาสวัฏฐานิยธรรม คือ ธรรมซึ่งเป็นฐานะ เป็นที่ตั้งของกิเลส อาสวะ

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ในธรรมวินัยนี้ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ เมื่อนั้นอาสวัฏฐานิย-ธรรมบางเหล่าจึงจะปรากฏในสงฆ์ในธรรมวินัยนี้ ครั้งนั้นพระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น

    อาสวัฏฐานิยมธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ในธรรมวินัยนี้ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ ... ยังไม่ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ ... ยังไม่ถึงความเป็นพหูสูต ... ยังไม่ถึงความเป็นรัตตัญญู ต่อเมื่อใดสงฆ์เป็นผู้ถึงความเป็นรัตตัญญู เมื่อนั้นอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าจึงปรากฏในสงฆ์ในธรรมวินัยนี้ ครั้งนั้นพระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า กิเลสติดตามไปตลอด เวลาที่เป็นผู้ที่เลิศด้วยลาภ เลิศด้วยยศ เลิศด้วยความเป็นพหูสูต หรือถึงความเป็นรัตตัญญู คือ ผู้ที่บวชนาน กิเลสก็ติดตามไป ทำให้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบท เพื่อกำจัดธรรมซึ่งเป็นที่ตั้ง เป็นฐานให้เกิดกิเลสต่างๆ เหล่านั้น

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภัททาลิ ณ สมัยที่เราแสดงธรรมปริยายเปรียบด้วยอาชาไนยหนุ่ม แก่เธอทั้งหลาย ณ สมัยนั้น เธอทั้งหลายได้มีอยู่น้อย เธอยังระลึกถึงธรรมปริยายนั้นได้อยู่หรือ

    แม้เป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแก่สาวกในครั้งก่อนๆ พระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสถามว่า ยังจำได้ไหมถึงข้อความที่พระองค์ได้ทรงแสดงแล้ว

    ท่านพระภัททาลิกราบทูลว่า

    ข้าพระองค์ระลึกถึงธรรมปริยายข้อนั้นไม่ได้ พระเจ้าข้า

    ฟังแล้วก็ลืม

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภัททาลิ ในการระลึกไม่ได้นั้น เธออาศัยอะไรเป็นเหตุเล่า

    ธรรมทั้งหลายย่อมมีเหตุมีปัจจัย แม้แต่การที่ฟังธรรมแล้วจำไม่ได้ พระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสถามท่านพระภัททาลิว่า เพราะเหตุใดท่านจึงจำไม่ได้

    ท่านพระภัททาลิกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะข้าพระองค์นั้น มิได้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดาเป็นเวลานานเป็นแน่ พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภัททาลิ ความเป็นผู้ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขานี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยหามิได้ แต่เรากำหนดใจด้วยใจ รู้เธอมานานแล้วว่า โมฆบุรุษนี้ เมื่อเราแสดงธรรมอยู่ ไม่ต้องการ ไม่ใส่ใจ ไม่รวบรวมด้วยใจทั้งปวง ไม่เงี่ยโสตลงฟังธรรม แต่เราก็จักแสดงธรรมปริยายเปรียบด้วยม้าอาชาไนยหนุ่มแก่เธอ จงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

    ท่านพระภัททาลิทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า

    อย่างนั้น พระเจ้าข้า

    นี่เป็นพระมหากรุณาอย่างยิ่งของพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรมแล้ว แต่ท่านพระภัททาลิก็ลืม แต่แม้กระนั้น ทั้งๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ที่ท่านพระภัท-ทาลิจำไม่ได้ ก็เพราะว่าเมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่นั้น ท่านพระภัททาลิไม่ต้องการ ไม่ใส่ใจ ไม่รวบรวมด้วยใจทั้งปวง ไม่เงี่ยโสตลงฟังธรรม แต่ด้วยพระมหากรุณา พระผู้มีพระภาคก็ทรงเกื้อกูลอนุเคราะห์โดยทรงแสดงธรรมปริยายเปรียบด้วย ม้าอาชาไนยหนุ่มแก่ท่านพระภัททาลิอีกครั้งหนึ่ง เพื่อประโยชน์ที่จะให้ท่านพระภัททาลิเห็นคุณของการที่จะฝึกหัดอบรมตนด้วยพระวินัยบัญญัติ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภัททาลิ เปรียบเหมือนนายสารถีฝึกม้าคนขยัน ได้ม้าอาชาไนยตัวงามมาแล้ว

    ม้าอาชาไนยตัวงาม หมายถึงผู้ที่มีศรัทธา มีอุปนิสัยในการที่จะละเพศฆราวาสสู่เพศบรรพชิต เจริญกุศลให้ยิ่งขึ้นเพื่อขัดเกลากิเลส

    ครั้งแรกทีเดียว ฝึกให้รู้เหตุในการใส่บังเหียน เมื่อนายสารถีฝึกให้มันรู้เหตุในการใส่บังเหียน ความประพฤติเป็นข้าศึก การพยศ การดิ้นรนบางอย่างบางประการยังมีอยู่ทีเดียว เหมือนของม้าที่นายสารถีฝึกให้รู้เหตุที่ยังไม่เคยฝึกฉะนั้น มันจะสงบลงได้ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลำดับ

    ในการที่ม้าอาชาไนยตัวงามสงบลงได้ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลำดับ นายสารถีฝึกม้า จึงฝึกให้มันรู้เหตุยิ่งขึ้นไป ในการเทียมแอก เมื่อนายสารถีฝึกให้มันรู้เหตุในการเทียมแอก ความประพฤติเป็นข้าศึก การพยศ การดิ้นรนบางอย่างบางประการยังมีอยู่ทีเดียว เหมือนของม้าที่นายสารถีฝึกให้รู้เหตุที่ยังไม่เคยฝึกฉะนั้น มันจะสงบลงได้ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลำดับ

    ในการที่ม้าอาชาไนยตัวงามสงบลงได้ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลำดับ นายสารถีผู้ฝึกม้า จึงฝึกให้มันรู้เหตุยิ่งขึ้นไป ในการก้าวย่าง (ซึ่งมีคำอธิบายว่า หมายความถึงในการยกและวางเท้าทั้ง ๔ ครั้งเดียวกัน) ในการวิ่งเป็นวงกลม (ซึ่งมีคำอธิบายว่า ในการสามารถให้คนนั่งบนหลังและเก็บอาวุธที่ตกที่พื้นได้) ในการจรดกีบ (ซึ่งมีคำอธิบายว่า ในการประสงค์จะให้เดินเบา ไม่ให้ข้าศึกได้ยินเสียงฝีเท้า) ในการวิ่ง ในประโยชน์ต่อเสียงร้อง ในการฝึกไม่ให้ตื่นตกใจเพราะเสียงกึกก้องต่างๆ ในการเป็นม้ามีคุณที่พระราชาพึงรู้ ในวงศ์พระยาม้า ในความว่องไวชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าควรแก่ คำอ่อนหวานชั้นเยี่ยม

    เมื่อนายสารถีฝึกให้มันรู้เหตุในการว่องไวชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าควรแก่คำอ่อนหวานชั้นเยี่ยม ความประพฤติเป็นข้าศึก การพยศ การดิ้นรนบางอย่างบางประการยังมีอยู่ทีเดียว เหมือนของม้าที่นายสารถีฝึกให้รู้เหตุที่ยังไม่เคยฝึกฉะนั้น มันย่อมสงบลงได้ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลำดับ

    ในการที่ม้าอาชาไนยตัวงามสงบลงได้ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลำดับ สารถีผู้ฝึกม้า ย่อมเพิ่มให้ซึ่งเหตุเป็นที่ตั้งแห่งคุณและเหตุเป็นที่ตั้งแห่งพละยิ่งขึ้นไป

    ดูกร ภัททาลิ ม้าอาชาไนยตัวงามประกอบด้วยองค์ ๑๐ ประการนี้แล ย่อมเป็นพาหนะควรแก่พระราชา เป็นพาหนะสำหรับใช้สอยของพระราชา นับได้ว่าเป็นองค์ของพระราชา ฉันใด ดูกร ภัททาลิ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ก็ฉันนั้น ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน

    ดูกร ภัททาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมา-สังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ อันเป็นของพระอเสขะ

    ดูกร ภัททาลิ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรแก่อัญชลีกรรม เป็น นาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า ดังนี้

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว ท่านพระภัททาลิชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

    จบ ภัททาลิสูตร ที่ ๕

    จะเห็นได้ว่า ทั้งพระธรรมและพระวินัยเป็นเรื่องของการฝึกหัดจริงๆ

    ผู้ฟัง ผมเห็นใจพระภิกษุสงฆ์ในพระศาสนามากว่า นอกจากท่านจะต้องรักษาศีลถึง ๒๒๗ ข้อแล้ว ต้องปฏิบัติอย่างอื่นอีกมากมายที่เรียกว่า โลกวัชชะ ซึ่งผมก็ไม่ทราบอะไรมากนัก

    สุ. ท่านผู้ฟังก็ได้ทราบทัศนะความเห็นของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ซึ่งมีความเห็นใจข้อปฏิบัติขัดเกลาของพระภิกษุในเพศบรรพชิตว่า ต้องประพฤติตาม พระวินัยอย่างละเอียดทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องการขัดเกลา เพราะฉะนั้น ถ้าท่านจะมีการพลาดพลั้งบ้าง หรือว่ามีศรัทธาพอประมาณ มีความรักพอประมาณ ก็อุปมาเหมือนกับผู้ที่มีนัยน์ตาข้างเดียว ซึ่งควรที่จะรักษาไว้ ดีกว่าที่จะให้เสื่อมไปทั้ง ๒ ข้าง

    เพราะฉะนั้น การที่จะเกื้อกูลบรรพชิต ก็เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาพระธรรมวินัยโดยละเอียดว่า ในครั้งนั้น พระภิกษุทั้งหลายท่านอนุเคราะห์เกื้อกูลบรรพชิตซึ่งล่วงอาบัติอย่างไร และอุบาสกอุบาสิกานั้น มีส่วนที่จะเกื้อกูลอนุเคราะห์อย่างไรบ้าง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้นำภัททาลิสูตรมาอ่านให้ฟัง ผมก็ไปทบทวนสูตรนี้ดูอีกทีหนึ่งว่า ท่านหมายความว่าอย่างไรที่เกี่ยวกับการบริโภคอาหาร ซึ่งท่านภัททาลินี้ไม่เชื่อฟัง รวมความว่า สูตรๆ นี้เล่าถึงว่า พระพุทธองค์กำลังทรงบัญญัติสิกขาบท ก็มีศัพท์บางศัพท์ มีข้อความบางข้อบางตอนที่ท่านผู้แปล แปลว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว

    ข้อความตอนนี้ ผมก็พยายามทำความเข้าใจว่าท่านหมายถึงอะไร แต่ก็ทำความเข้าใจไม่ได้ ผมเปิดดูในภาษาบาลี ท่านใช้คำว่า เอกาสนโภชนํ ภุญชามิ ท่านผู้รู้ภาษาบาลี ท่านบอกว่า เราบริโภคซึ่งโภชนะที่นั่งเดียว ท่านแปลออกมาอย่างนี้ และถ้อยคำอย่างนี้ ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ถ้อยคำอย่างเดียวกันนี้ก็มีใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ซึ่งท่านแปลว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารที่อาสนะแห่งเดียว มีวงเล็บว่า ฉันหนเดียว ข้อความอื่นๆ ก็เหมือนกันหมด คือ เมื่อเราฉันอาหารที่อาสนะแห่งเดียวอยู่แล รู้สึกว่ามีอาพาธน้อย มีความลำบากกายน้อย มีความเบากาย มีกำลัง และอยู่อย่างผาสุก ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถึงพวกเธอก็จงฉันอาหารที่อาสนะแห่งเดียวเถิด แม้พวกเธอฉันอาหารที่อาสนะแห่งเดียวก็จะรู้สึกว่า มีอาพาธน้อย มีความลำบากกายน้อย มีความเบากาย มีกำลัง และอยู่อย่างผาสุก

    ข้อความก็อย่างเดียวกันนี้ พยัญชนะก็อย่างเดียวกัน แต่คำแปลทำไมเป็นอย่างนั้น ผมจนปัญญาเต็มทีที่ท่านแปลว่า เราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว ก็อยู่ในมัชฌิมนิกายเหมือนกัน แต่ว่าแปลกันคนละอย่าง นี่ประการหนึ่ง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๕๒๑ – ๕๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 41
    28 ธ.ค. 2564