แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 427


    ครั้งที่ ๔๒๗


    สำหรับเรื่องของวาจาควรจะเป็นวจีสุจริตเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ไม่ควรจะให้เป็นวจีทุจริตเลย และตัวอย่างของบุคคลที่เป็นพระอริยเจ้า ท่านก็ไม่มีวจีทุจริต ท่านมีแต่คำที่ชื่นชมอนุโมทนากัน แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยเจ้า ยังไม่ได้ละวจีทุจริต ก็แล้วแต่ว่ากิเลสที่สะสมมามีกำลังประกอบด้วยปัจจัยเหตุการณ์ขณะใด ก็ทำให้วาจาในขณะนั้น เป็นทุจริตไปในลักษณะนั้นๆ

    ขณะใดที่ฟังวาจาบุคคลนั้น สถานการณ์อย่างนั้น เหตุการณ์อย่างนั้น มี ลักษณะของความถือตนไหม มีความแข่งดีแก่งแย่งบ้างไหม สะท้อนให้เห็นถึงสภาพของจิตที่เป็นปัจจัยให้กล่าววาจานั้นได้ แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าแล้ว ท่านก็ชื่นชมอนุโมทนาในคุณความดีของกันและกัน ซึ่งเป็นวจีสุจริต

    ขอกล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ภิกขุสังยุต ฆฏสูตรที่ ๓ มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะอยู่ในวิหารเดียวกัน ในพระเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ครั้งนั้นแล เวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่เร้น เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว ได้สนทนาปราศรัยกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

    ครั้นท่านพระสารีบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า

    อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก ผิวหน้าของท่านบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ชะรอยวันนี้ ท่านมหาโมคคัลลานะ จะอยู่ด้วยวิหารธรรมอันละเอียด ฯ

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า

    อาวุโส วันนี้ผมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันหยาบ อนึ่ง ผมได้มีธรรมีกถา ฯ

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    ท่านมหาโมคคัลลานะ ได้มีธรรมีกถากับใคร ฯ

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า

    ผมได้มีธรรมีกถากับพระผู้มีพระภาค ฯ

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    เดี๋ยวนี้พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ไกลนัก ท่านมหาโมคคัลลานะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วยฤทธิ์หรือ หรือว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จมาหาท่านมหาโมคคัลลานะด้วยฤทธิ์ ฯ

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า

    ผมไม่ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วยฤทธิ์ แม้พระผู้มีพระภาคก็ไม่ได้เสด็จมาหาผมด้วยฤทธิ์ แต่ผมมีทิพยจักษุและทิพยโสตธาตุอันหมดจดเท่าพระผู้มีพระภาค แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีทิพยจักษุและทิพยโสตธาตุอันหมดจดเท่าผม ฯ

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    ท่านมหาโมคคัลลานะ ได้มีธรรมีกถากับพระผู้มีพระภาคอย่างไร ฯ

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า

    ผมได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคในที่นี้ ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าผู้ปรารภความเพียรๆ ดังนี้ ก็บุคคลจะชื่อว่าเป็นผู้ปรารภความเพียรด้วยเหตุประมาณเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า อาวุโส เมื่อผมกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะผมดังนี้ว่า โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้ปรารภความเพียรด้วยตั้งสัตยาธิษฐานว่า จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที เลือดและเนื้อในร่างกายจงเหือดแห้งไปเถิด ผลอันใดที่จะพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ ยังไม่บรรลุผลนั้นแล้ว จะหยุดความเพียรเสียเป็นอันไม่มี โมคคัลลานะ ภิกษุย่อมเป็นผู้ปรารภความเพียรอย่างนี้แล

    อาวุโส ผมได้มีธรรมีกถากับพระผู้มีพระภาคอย่างนี้แล ฯ

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    อาวุโส เปรียบเหมือนก้อนหินเล็กๆ ที่บุคคลเอาไปวางเปรียบเทียบกับขุนเขาหิมพานต์ ฉันใด เราเมื่อเปรียบเทียบเคียงกับท่านมหาโมคคัลลานะก็ฉันนั้นเหมือนกัน แท้จริง ท่านมหาโมคคัลลานะเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เมื่อจำนงอยู่ พึงตั้งอยู่ได้ตลอดกัปแล ฯ

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า

    อาวุโส ก้อนเกลือเล็กๆ ที่บุคคลหยิบเอาไปวางเปรียบเทียบกับหม้อเกลือใหญ่ ฉันใด ผมเมื่อเปรียบเทียบท่านสารีบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน แท้จริง ท่านพระสารีบุตรเป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชม ทรงสรรเสริญ ทรงยกย่องแล้วโดยปริยายมิใช่น้อย มีอาทิว่า ภิกษุผู้ถึงซึ่งฝั่งคือพระนิพพาน เป็นผู้เยี่ยมด้วยปัญญา ด้วยศีล และ อุปสมะ คือ พระสารีบุตร ดังนี้ ฯ

    ท่านมหานาคทั้งสองนั้น เพลิดเพลินคำสนทนาที่เป็นสุภาษิตของกันและกัน ด้วยประการดังนี้แล ฯ

    จบ ฆฏสูตรที่ ๓

    นี่เป็นเหตุการณ์ระหว่างท่านพระสาวกทั้งสองท่าน ซึ่งท่านเห็นคุณของกันและกัน และเห็นว่า ผู้ที่มีคุณเช่นท่านพระสารีบุตร กับท่านผู้มีคุณเช่นท่านพระมหาโมคคัลลานะนั้น ควรจะเป็นที่สรรเสริญ และวาจาที่กล่าวในขณะนั้นก็เป็นวาจาสุภาษิต ไม่ใช่ทุภาษิต

    ชีวิตประจำวันของท่านผู้ฟังเคยพูดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์บ้างไหม ต้องเคยแน่ พูดเพราะอะไร ขณะนั้นจิตเป็นอย่างไรจึงได้พูด บางท่านมีเรื่องราวของคนอื่นมากเหลือเกิน อาจจะพูดเรื่องของบุคคลอื่นลับหลัง ขอให้ทราบว่า เมื่อรู้เรื่องนั้นๆ แล้วประกอบกับกิเลสที่มีอยู่ภายในจิตใจที่สะสมไว้ เป็นปัจจัยทำให้พูดถึงเรื่องของบุคคลอื่นนั่นเอง โดยที่ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย และวันหนึ่งๆ ที่จะไม่พูดถึงเรื่องของบุคคลอื่นที่ไม่เป็นประโยชน์ มีบ้างไหม

    หรือว่า เป็นเรื่องของบุคคลอื่นก็จริง แต่พูดด้วยกุศลจิตก็ได้ เป็นการแสดงสภาพธรรมให้เห็นเป็นธรรมได้เมื่อเป็นประโยชน์ เมื่อเป็นกาลที่สมควร ก็กล่าวได้ด้วยจิตที่เป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น เรื่องของคำพูดมีมากเหลือเกินในวันหนึ่งๆ ซึ่งควรที่จะได้พิจารณาว่า สำหรับตัวท่านเองวจีทุจริตอย่างไหนที่ยังคงมีอยู่มากหรือน้อย ถ้าสติเกิดขึ้นก็จะได้วิรัติวจีทุจริตนั้นๆ ให้เบาบางลง

    เรื่องของคำพูดก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ในสถานการณ์อย่างเดียวกัน ในสภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวกัน บุคคลใดจะพูดอย่างไร ก็ต้องแล้วแต่สภาพของจิตใจของบุคคลนั้น ซึ่งใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สักกปัญจกะที่ ๓ ทุพรรณิยสูตรที่ ๒ ข้อ ๙๔๖ จะแสดงถึงคำพูดที่ประกอบด้วยความโกรธ และคำพูดที่ไม่ประกอบด้วยความโกรธ และแสดงถึงผลว่า คำพูดอย่างไหนที่จะมีประโยชน์มากกว่ากัน

    ข้อความมีว่า

    สาวัตถีนิทาน ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ยักษ์ตนหนึ่งมีผิวพรรณทราม ต่ำเตี้ย พุงพลุ้ย นั่งอยู่บนอาสนะแห่งท้าวสักกะจอมเทพ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ในที่นั้นพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์พากันยกโทษตำหนิติเตียนว่า ดูกร ท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์หนอ ดูกร ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ไม่เคยมีมาแล้วหนอ ยักษ์นี้มีผิวพรรณทราม ต่ำเตี้ย พุงพลุ้ย นั่งอยู่บนอาสนะแห่งท้าวสักกะจอมเทพ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ยกโทษตำหนิติเตียนด้วยประการใดๆ ยักษ์นั้นยิ่งเป็นผู้มีรูปงาม ทั้งน่าดูน่าชม และน่าเลื่อมใสยิ่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยประการนั้นๆ ฯ

    ลองคิดดู ท่านจะพูดอย่างไร จะพูดอย่างนี้หรือไม่ ถ้าปรากฏว่ามียักษ์ผิวพรรณทราม ต่ำเตี้ย พุงพลุ้ย นั่งอยู่บนอาสนะแห่งท้าวสักกะจอมเทพ ถ้าท่านเป็นเทพอยู่บนสวรรค์ ถ้าเห็นภาพอย่างนี้ ท่านจะพูดอย่างไร จะเฉย หรือจะตำหนิติเตียน จะยกโทษขึ้นมากล่าวด้วยประการต่างๆ ไหม ก็แล้วแต่การสะสมทั้งสิ้น แต่ขอให้ดูผล ที่ว่า พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ยกโทษตำหนิติเตียนด้วยประการใดๆ ยักษ์นั้นยิ่งเป็นผู้มีรูปงาม ทั้งน่าดูน่าชม และน่าเลื่อมใสยิ่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยประการนั้นๆ

    วาจาสำคัญใช่ไหม วาจาทุจริตเกิดกับบุคคลใด ถึงแม้ว่าจะเป็นเทวดาก็ตาม ที่พูดอย่างนั้น ที่ตำหนิ ที่กล่าวอย่างนั้นด้วยจิตอย่างไร ถ้าท่านเคยกล่าว ท่านก็ทราบว่า ขณะนั้นจิตเป็นอย่างไร ต้องประกอบด้วยความไม่แช่มชื่น

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์พากันเข้าไปเฝ้า ท้าวสักกะจอมเทพถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอประทานโอกาสต่อพระองค์ ยักษ์ตนหนึ่งมีผิวพรรณทราม ต่ำเตี้ย พุงพลุ้ย นั่งอยู่บนอาสนะของพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้ทราบว่า ณ ที่นั้น พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์พากันยกโทษตำหนิติเตียนว่า ดูกร ท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์หนอ ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ไม่เคยมีมาหนอ ยักษ์นี้มีผิวพรรณทราม ต่ำเตี้ย พุงพลุ้ย นั่งอยู่บนอาสนะของท้าวสักกะจอมเทพ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ตำหนิติเตียนด้วยประการใดๆ ยักษ์นั้นยิ่งเป็นผู้มีรูปงาม ทั้งน่าดูน่าชม และน่าเลื่อมใสยิ่งกว่าเดิม ด้วยประการนั้นๆ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ยักษ์นั้นจักเป็นผู้มีความโกรธเป็นอาหารเป็นแน่เทียว ขอเดชะ ฯ

    บางคนชอบเห็นคนอื่นโกรธ ดีใจนักที่ได้เห็นคนอื่นโกรธ สมใจที่อยากจะให้เขาโกรธ พอเขาโกรธได้ ตัวเองก็ดีใจ ยิ่งเทวดาตำหนิติเตียนด้วยประการใด ยักษ์นั้นยิ่งเป็นผู้มีรูปงาม ทั้งน่าดูน่าชม และน่าเลื่อมใสยิ่งกว่าเดิม ด้วยประการนั้นๆ ชะรอยยักษ์นั้นจะเป็นผู้มีความโกรธเป็นอาหารเป็นแน่ทีเดียว

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพเสด็จเข้าไปหายักษ์ผู้มีความโกรธเป็นอาหารนั้นจนถึงที่อยู่

    จะพูดเหมือนกันกับเทวดาไหม นี่แสดงให้เห็นการสะสมที่ต่างกัน

    ครั้นแล้วทรงห่มผ้าเฉวียงพระอังสาข้างหนึ่ง ทรงคุกพระชานุมณฑลเบื้องขวาลง ณ พื้นดิน ทรงประนมอัญชลีไปทางที่ยักษ์ตนนั้นอยู่ แล้วประกาศพระนาม ๓ ครั้งว่า ดูกร ท่านผู้นิรทุกข์ เราคือท้าวสักกะจอมเทพ ... ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ เราคือท้าวสักกะจอมเทพ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพทรงประกาศพระนามด้วยประการใดๆ ยักษ์ตนนั้นยิ่งมีผิวพรรณทรามและต่ำเตี้ย พุงพลุ้ยยิ่งกว่าเดิม ยักษ์นั้นเป็นผู้มีผิวพรรณทรามและต่ำเตี้ย พุงพลุ้ยยิ่งกว่าเดิมแล้ว ได้หายไป ณ ที่นั้นนั่นเอง ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพประทับนั่งบนอาสนะของพระองค์แล้ว เมื่อจะทรงยังพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ให้ยินดี จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ไว้ในเวลานั้นว่า เราเป็นผู้มีจิตอันโทสะไม่กระทบกระทั่ง เป็นผู้อันความหมุน (มาร) นำไปไม่ได้ง่าย เราไม่โกรธมานานแล ความโกรธย่อมไม่ตั้งอยู่ในเรา ถึงเราโกรธก็ไม่กล่าวคำหยาบ และไม่กล่าวคำไม่ชอบธรรม เราเห็นประโยชน์ของตนจึงข่มตนไว้ ฯ

    จบ ทุพรรณิยสูตรที่ ๒

    เป็นไปได้ไหมที่จะมีคำพูดและการกระทำที่ต่างกันตามการสะสม และท้าวสักกะ คือ พระอินทร์นั้น ท่านก็เป็นพระอริยเจ้าขั้นพระโสดาบันบุคคล เพราะฉะนั้นกว่าจะบรรลุคุณธรรม มีวาจาที่ไม่เดือดร้อนกับบุคคลอื่นนี้ สติก็จะต้องระลึกรู้สภาพธรรม ขัดเกลากิเลส ทำให้มีวาจาที่ต่างกับบุคคลที่ยังไม่ได้ขัดเกลากิเลส

    ในพระไตรปิฎกได้ทรงแสดงการระงับความโกรธไว้หลายนัย แล้วแต่บุคคล แล้วแต่เหตุการณ์ แล้วแต่สติที่จะเกิดขึ้นในขณะนั้นหรือไม่เกิด แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรที่จะทำลายตัวของท่านเอง บุคคลอื่นอาจจะต้องการให้ท่านเกิดกิเลสประการ นั้นๆ ซึ่งถ้าท่านเกิดกิเลสอย่างนั้นๆ ก็ไม่เป็นประโยชน์สำหรับตัวท่านเลยจริงๆ

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า วาจาของพระอินทร์ กับวาจาของเทวดาชั้นดาวดึงส์นั้นต่างกัน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในโลกนี้ สะสมกายกรรม วจีกรรมต่างๆ กัน เวลาที่ไปเกิดในภพภูมิอื่น เช่น บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จิตที่สะสมวิจิตรต่างกันนั้น ก็เป็นเหตุให้กล่าววาจาที่มีลักษณะต่างกันด้วย แม้ว่าพระอินทร์จะเป็นจอมเทพของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่วาจาที่กล่าวกับยักษ์นั้น ไม่ได้แสดงถึงความยิ่งใหญ่ ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะพิจารณาได้ว่า คำพูดอย่างไหนจะมีประโยชน์กว่ากัน ถ้าเป็นคำพูดที่แสดงความยิ่งใหญ่ ก็ไม่ทราบว่า ท่านผู้ฟังจะมีความชื่นชมยินดีในความยิ่งใหญ่นั้นหรือไม่

    . อะไรเป็นเหตุให้รูปร่างของยักษ์เปลี่ยนแปลงไป

    สุ. ยักษ์นั้นคงจะมีความโกรธเป็นอาหาร อาจจะเป็นผู้ที่พอใจในการที่จะให้บุคคลอื่นโกรธ เป็นอกุศล เมื่อมีผู้โกรธเป็นอกุศลสมใจก็ดีใจ เวลาที่ได้อะไรสมใจ รู้สึกดีใจใช่ไหม ร่าเริง ผ่องใส แต่เวลาที่ไม่ได้อะไรสมความต้องการ ก็โทมนัสเศร้าหมอง และก็หายไปจากที่นั้น

    พระอินทร์เป็นผู้ที่ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าแล้ว และก่อนที่จะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า สติก็ต้องเกิดเป็นปกติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่กระทบสัมผัสในขณะที่คิดนึก หรือแม้ขณะที่กล่าววาจา เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นประโยชน์จริงๆ ที่จะทำให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้แม้ในคำที่กล่าวว่า เป็นคำที่สมควร หรือว่าเป็นคำที่ไม่สมควร

    ถ้าท่านผู้ฟังจะพิจารณาถึงวาจาของแต่ละบุคคล รวมทั้งวาจาของท่านเองด้วย จะเห็นได้ว่า แสดงถึงกิเลสที่สะสมอยู่ในใจว่ามากน้อยแค่ไหน คำพูดซึ่งเป็นที่น่าชื่นใจ กับคำพูดที่หยาบคาย แสดงถึงจิตใจที่ต่างกัน คำพูดที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ต่างๆ ส่องให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของกิเลสที่สะสมอยู่ในใจนั่นเอง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาธรรม และมีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน นอกจากจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับตน ท่านยังสามารถที่จะพิจารณาระลึกรู้แม้วาจาของบุคคลอื่น ซึ่งเกิดจากจิตใจที่เป็นกุศลหรืออกุศลด้วย

    ขณะใดที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นไม่เป็นผรุสวาจา ซึ่งคำพูดนั้นจะเป็นคำพูดที่เป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจ และมีประโยชน์มากกว่าคำผรุสวาจามาก แม้แต่ในการขอ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ท่านผู้ฟังก็จะเห็นวาจาที่ต่างกัน

    ขอกล่าวถึง ขุททกนิกาย ชาดก จตุกกนิบาตชาดก มังสชาดก เรื่องวาทศิลป์ของคนขอ มีข้อความว่า

    วาจาของท่านหยาบคายจริงหนอ ท่านเป็นผู้ขอเนื้อ วาจาของท่านเช่นกับพังผืด ดูกร สหาย เราจะให้พังผืดแก่ท่าน

    แม้แต่จะขอ ผู้ที่สะสมวาจาอันไม่เป็นที่รัก ก็ใช้วาจาที่ไม่น่าฟัง เพราะฉะนั้น ประโยชน์ย่อมไม่มี หรือมีน้อยกว่าคำพูดซึ่งเป็นที่รัก เมื่อผู้นั้นใช้วาจาเช่นกับพังพืด ผู้ให้ก็ให้พังพืดแก่ผู้นั้น

    คำว่า พี่ชาย น้องชาย หรือพี่สาว น้องสาวนี้ เป็นอวัยวะของมนุษย์ทั้งหลาย อันเขากล่าวกันอยู่ในโลก วาจาของท่านเช่นกับอวัยวะ ดูกร สหาย เราจะให้เนื้ออวัยวะแก่ท่าน

    นี่ก็ดีขึ้นอีก คือ ใช้คำซึ่งเป็นวาจาที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง เมื่อชาวเมืองนิยมที่จะเรียกพี่บ้าง น้องบ้าง คำว่า พี่ชาย น้องชาย หรือพี่สาว น้องสาวนี้ เป็นอวัยวะของมนุษย์ทั้งหลาย อันเขากล่าวกันอยู่ในโลก วาจาของท่านเช่นกับอวัยวะ ดูกร สหาย เราจะให้เนื้ออวัยวะแก่ท่าน

    ข้อความต่อไป

    บุตรเรียกบิดาว่า พ่อ ย่อมทำให้หัวใจของพ่อหวั่นไหว วาจาของท่านเช่นกับหัวใจ เราจะให้เนื้อหัวใจแก่ท่าน

    ในบ้านของผู้ใดไม่มีเพื่อน บ้านของผู้นั้นก็เป็นเหมือนกับป่า วาจาของท่านเช่นกับสมบัติทั้งมวล ดูกร สหาย เราจะให้เนื้อทั้งหมดแก่ท่าน

    จบ มังสชาดกที่ ๕



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๔๒๑ – ๔๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564