แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 439


    ครั้งที่ ๔๓๙


    ถ. ผมขอพูดเรื่องการปฏิบัติที่ผ่านๆ มา รู้สึกว่า เข้าใจผิดมาหลายครั้ง หลายตอน เมื่อเข้าใจผิด ถามท่านอาจารย์ทีก็แก้ไปที ก็คิดว่า ทีนี้ถูกแน่แล้ว ตรงแน่แล้ว ก็ปฏิบัติตามที่เข้าใจนั้นไปเรื่อยๆ ถึง ๒ ปี ขณะที่เห็น ก็อย่างที่ผมเคยเล่าแล้วว่า ก็ตรึกในใจว่า การเห็นนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา บางครั้งก็ตรึกไปว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เข้าใจว่าในขณะนั้นไม่เป็นตัวตนแล้ว และมาถามอาจารย์อีกอาจารย์ก็แก้ให้ แล้วก็ย้อนถามอีก เราก็หวนระลึกถึงว่า ขณะที่เราตรึกว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานั้น ขณะนั้นยังเป็นตัวตนอยู่ตามเคย แต่ทำให้เราเข้าใจผิด หลงมาตั้ง ๒ – ๓ ปี ขณะนั้นผมเข้าใจว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเมื่อมาหวนระลึกและทวนคิดไปว่า จิตขณะที่พิจารณา คิดๆ ไป ขณะนั้นก็ยังเป็นตัวตนอยู่เต็มตัวเลย

    เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐาน ถ้าไม่ถามอย่างใกล้ชิด ไม่พยายามสังเกต สำเหนียก และพิจารณาตัวเองด้วยจิตก็ดี กายก็ดี เวทนาก็ดี หรือด้วยอะไรต่างๆ ก็ดี ทำให้เข้าใจผิดได้จริงๆ

    สุ. ขออนุโมทนาท่านผู้ฟังที่เห็นตัวตนมากๆ เพราะว่าเป็นความจริง

    มีคำถามว่า จิตคนบ้าและจิตคนดีต่างกันอย่างไร

    ต่างกันโดยสภาพของจิต จิตมีสภาพต่างๆ กัน ทั้งๆ ที่เป็นคนดีๆ ไม่ใช่คนบ้า บางครั้งก็เป็นอกุศล บางครั้งก็เป็นกุศล แล้วแต่ว่าจะเป็นอกุศลมากเท่าไร ถ้าเป็นอกุศลมาก ก็ไม่ต่างอะไรกับความบ้านานาชนิดเหมือนกัน ซึ่งแล้วแต่ว่าจะบ้าในเรื่องอะไร ในเรื่องโลภะ ในเรื่องโทสะอย่างไรก็ตาม จนถึงขีดที่บัญญัติเรียกว่า เป็นคนบ้าจริงๆ ที่เป็นลักษณะสภาพอาการของจิตซึ่งพอกพูนหนาแน่นด้วยอกุศล จนกระทั่งปรากฏสภาพอาการอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น โดยปรมัตถธรรม คือ สภาพของอกุศลจิต แล้วแต่ว่าจะอยู่ในขั้นใด ถ้าเป็นขั้นธรรมดา คนดีๆ ที่ไม่ใช่คนบ้า ก็มีกุศล อกุศลสลับกันไป มากบ้าง น้อยบ้าง หนักบ้าง เบาบ้าง ทางนั้นบ้าง ทางนี้บ้าง แต่ถ้าเข้าขีดของการที่ใช้คำว่า คนบ้า ก็เป็นสภาพของอกุศลจิตมาก ซึ่งทำให้ทุกคนเห็นชัดว่า อยู่ในลักษณะของความไม่ปกติของจิต ซึ่งอกุศลจิตนี้ก็มีมาก และก็มีหลายขั้นด้วย

    ขอกล่าวถึงเรื่องของสัมผัปปลาปวาจา

    ใน สาเลยยกสูตร มีข้อความที่แสดงว่า การเป็นคนพูดเพ้อเจ้อประการหนึ่งนั้นคือ พูดในเวลาไม่ควรพูด

    เรื่องของคำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์ คือ บุคคลเป็นผู้กล่าวคำเพ้อเจ้อในขณะที่พูด ในเวลาไม่ควรพูด เพราะเหตุใด เพราะว่าขณะนั้นไม่มีประโยชน์เลย ไม่ใช่เวลา ไม่ใช่กาลที่ควรจะพูด ถึงแม้ว่าจะพูดก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ด้วยเหตุนั้น ถ้าพูดในขณะนั้นก็เป็นการกล่าวคำเพ้อเจ้อ ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาส ซึ่งยังไม่ได้ดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท ก็ย่อมจะมีการปรากฏของขณะที่หลงลืมสติ และมีการพูดในเวลาที่ไม่ควรพูดได้

    ขอกล่าวถึง อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต จิตตหัตถิสารีปุตตสูตร ข้อ ๓๓๑ ซึ่งมีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ก็สมัยนั้น ภิกษุผู้เถระหลายรูปกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต นั่งประชุมสนทนาอภิธรรมกถากันอยู่ที่โรงกลม ได้ทราบว่า ในที่ประชุมนั้น ท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตร เมื่อพวกภิกษุผู้เถระกำลังสนทนาอภิธรรมกถากันอยู่ พูดสอดขึ้นในระหว่าง ลำดับนั้น ท่านพระมหาโกฏฐิตะได้กล่าวกะท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตรว่า ท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตร เมื่อภิกษุผู้เถระกล่าวสนทนาอภิธรรมกถากันอยู่ พูดสอดขึ้นในระหว่าง ขอท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตร จงรอคอยจนกว่าภิกษุผู้เถระสนทนากันให้จบเสียก่อน ฯ

    แสดงให้เห็นว่า ท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตรยังขัดเกลากิเลสไม่พอ กิเลสยังไม่หมด จึงมีการพูดสอดขึ้นในระหว่างที่ท่านพระเถระทั้งหลายกล่าวสนทนาอภิธรรมกถากันอยู่

    เมื่อท่านพระมหาโกฏฐิตะกล่าวอย่างนี้แล พวกภิกษุผู้เป็นสหายของท่าน พระจิตตหัตถิสารีบุตรได้กล่าวกับท่านมหาโกฏฐิตะว่า

    แม้ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ย่อมรุกรานท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตร (เพราะว่า) ท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตรเป็นบัณฑิต ย่อมสามารถกล่าวสนทนาอภิธรรมกถากับพวกภิกษุผู้เถระได้

    ท่านพระมหาโกฏฐิตะได้กล่าวว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่ทราบวาระจิตของผู้อื่น พึงรู้ข้อนี้ได้ยาก ฯ

    นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยก่อน ซึ่งขณะที่ท่านพระเถระท่านกล่าว อภิธรรมกถากัน ท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตรกล่าวแทรกขึ้น และเมื่อท่านพระมหาโกฏฐิตะกล่าวตักเตือน สหายของท่านจิตตหัตถิสารีบุตรกลับมีความเข้าใจว่า ท่านพระมหาโกฏฐิตะรุกรานท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตร เพราะสหายของของท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตรมีความเห็นว่า ท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตรเป็นบัณฑิต ย่อมสามารถกล่าวสนทนาอภิธรรมกถากับพระภิกษุผู้เถระได้

    นี่เป็นความเห็นของคนที่เห็นเพียงภายนอก โดยเห็นว่าท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตรเป็นผู้ฉลาด เป็นบัณฑิต เพราะฉะนั้น ย่อมสามารถที่จะกล่าวอภิธรรมกถากับพระภิกษุเถระได้ แต่ท่านพระมหาโกฏฐิตะเป็นพระอรหันต์ และสามารถที่จะรู้วาระจิตด้วย ท่านจึงกล่าวว่า ดูกร อาวุโสทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่ทราบวาระจิตของผู้อื่น พึงรู้ข้อนี้ได้ยาก ฯ

    รู้จิตของคนอื่นยากไหมว่า ยังมีกิเลสสะสมอยู่จึงได้กล่าวแทรกขึ้นอย่างนั้น หรือว่าเป็นเพราะประการใด หรือเป็นเพราะลักษณะของจิตประเภทใด เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า เรื่องของจิตเป็นเรื่องที่ละเอียด สุขุม รู้ได้ยาก และจะรู้ได้จริงๆ ชัดเจน ละเอียดขึ้นถึงจิตของท่านเอง ด้วยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งทำให้สามารถที่จะรู้ถึงจิตของบุคคลอื่นด้วย เพราะว่าจิตของผู้ที่เป็นปุถุชนก็ย่อมจะเหมือนกัน คือ มีความหนาแน่นของกิเลส มีการไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    แต่จิตของผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า ย่อมขัดเกลา ละคลายกิเลส ดับความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และสามารถที่จะละกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ตามลำดับ ซึ่งถ้าผู้ใดยังไม่ถึงความเป็นพระอริยเจ้า ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าก็ย่อมจะรู้จิตของผู้นั้นได้ว่า ยังเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลสเพียงไร

    ข้อความต่อไป

    ท่านพระมหาโกฏฐิตะกล่าวว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นดุจสงบเสงี่ยม เป็นดุจอ่อนน้อม เป็นดุจสงบเรียบร้อย ตลอดเวลาที่อาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์ผู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นครูรูปใดรูปหนึ่งอยู่ แต่ว่าเมื่อใดเขาหลีกออกไปจากพระศาสดา หลีกออกไปจากเพื่อนพรหมจรรย์ผู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นครู เมื่อนั้น เขาย่อมคลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ พวกสาวกเดียรถีย์อยู่ เมื่อเขาคลุกคลีอยู่ด้วยหมู่ ปล่อยจิต ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบคุย ราคะย่อมรบกวนจิตเขา เขามีจิตถูกราคะรบกวน ย่อมลาสิกขา สึกมาเป็นคฤหัสถ์

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนโคที่เคยกินข้าวกล้า ถูกเขาผูกไว้ด้วยเชือกหรือขังไว้ในคอก ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า โคที่เคยกินข้าวกล้าตัวนี้จักไม่ลงกินข้าวกล้าอีก ณ บัดนี้ ผู้นั้นพึงกล่าวโดยชอบหรือหนอ ภิกษุเหล่านั้นกล่าวตอบว่า ดูกร อาวุโส ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่มีได้ คือ โคที่เคยกินข้าวกล้าตัวนั้น พึงดึงเชือกขาด หรือแหกคอก แล้วลงไปกินข้าวกล้าอีกทีเดียว ฉันใด ดูกร อาวุโสทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นดุจสงบเสงี่ยม เป็นดุจอ่อนน้อม เป็นดุจสงบเรียบร้อย ตลอดเวลาที่อาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์ผู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นครูรูปใดรูปหนึ่งอยู่ แต่ว่าเมื่อใดเขาหลีกไปจากพระศาสดา หรือหลีกออกไปจากเพื่อนพรหมจรรย์ผู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นครู เมื่อนั้นเขาย่อมคลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ พวกสาวกเดียรถีย์อยู่ เมื่อเขาคลุกคลีอยู่ด้วยหมู่ ปล่อยจิต ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบคุย ราคะย่อมรบกวนจิตเขา เขามีจิตถูกราคะรบกวน ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ ฯ

    เป็นชีวิตจริงๆ ของทุกคนหรือเปล่า อยู่ในสถานที่หนึ่งก็เรียบร้อย อ่อนน้อม สงบเสงี่ยม โดยเฉพาะถ้าเป็นเพศบรรพชิต ในสำนักของพระศาสดา หรือว่าอยู่กับอุปัชฌาย์อาจารย์ หรือว่าในสถานที่ ในบางกาล บางแห่ง เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ว่าพอพ้นจากสถานที่นั้น ความโน้มเอียงของกิเลสที่สะสมมานี้ มีหรือที่จะไม่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยที่จะโน้มเอียงไปสู่การชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ

    ชีวิตของทุกคนตามความเป็นจริง เวลาที่ท่านกำลังสนใจในธรรม ฟังธรรม เกิดศรัทธาที่จะขัดเกลากิเลส ก็กาลหนึ่ง สถานที่หนึ่ง ขณะหนึ่ง แต่พอพ้นจากสถานที่นี้ พ้นจากกาลนี้ จะมีความโน้มเอียงของกิเลสที่จะให้ท่านเป็นไปตามอำนาจของการสะสมของกิเลสไหม เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า จะดูหนัง จะดูละคร จะดูโทรทัศน์ จะทำอะไรๆ ตั้งหลายอย่าง ก็ไม่ใช่ว่าจะละเลยการที่จะขัดเกลากิเลส แต่ว่ากิเลสที่สะสมมาเป็นของจริง ย่อมจะปรากฏให้เห็นตามความเป็นจริง เพราะว่าบางครั้งถูกชักชวนไปดูหนังก็ไป ถูกชักชวนไปงานรื่นเริงใดๆ สนุกสนานก็ไป ยับยั้งไม่ได้ ย่อมเป็นไปอย่างนั้นตามความเป็นจริง

    ชีวิตของท่านเอง ไม่ต้องดูบุคคลอื่น เริ่มตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียนในห้องเรียนก็ได้ เรียบร้อยเวลาที่ครูอยู่ แต่เวลาที่พ้นครูไปแล้ว ก็สนุกสนานรื่นเริง ตั้งแต่เด็กก็เป็นอย่างนี้ ครั้นเป็นผู้ใหญ่ มีกิจการงาน มีหน้าที่ ในสถานที่ ในกาลที่ท่านจะต้องรับผิดชอบ ก็เป็นผู้อ่อนน้อม เป็นผู้สงบเสงี่ยม ท่านเป็นอย่างนั้น แต่เวลาที่อยู่ในหมู่คณะด้วยกัน ในระหว่างมิตรสหายเพื่อนฝูง ท่านก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือเป็นบรรพชิต การสะสมของกุศลและอกุศลที่มีอยู่ในจิตจะเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นปรากฏเป็นไปอย่างนั้น ตราบใดที่ยังเป็นผู้ที่ยังไม่หมดกิเลส คือ ในหมู่คณะด้วยกันก็เป็นอย่างหนึ่ง คือ อาจจะเป็นบุคคลที่ดุจสงบเสงี่ยม เป็นดุจอ่อนน้อม เป็นดุจสงบเรียบร้อย ตลอดเวลาที่อาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์ผู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นครูรูปใดรูปหนึ่งอยู่ แต่เมื่อพ้นไปจากสถานที่นั้น คือ ในสถานที่อื่น เขาหลีกออกไปจากพระศาสดา หลีกออกไปจากเพื่อนพรหมจรรย์ผู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นครู เมื่อนั้นเขาย่อมคลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ พวกสาวกเดียรถีย์อยู่ เมื่อเขาคลุกคลีอยู่ด้วยหมู่ ปล่อยจิต ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบคุย ราคะย่อมรบกวนจิตเขา

    เป็นความจริงใช่ไหม เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่สะสมมาที่ยังมีกิเลสอยู่ มีใครบ้างไหมที่ไม่ชอบสนุกสนาน มีไหม

    มีจริงๆ หรือ ไม่มีการเล่นหัว หรือหัวเราะพูดคุย ร่าเริงสนุกสนานกับมิตรสหาย กับเพื่อนฝูงบ้างหรือ

    และถึงแม้ว่าจะเป็นบรรพชิต เป็นภิกษุแล้ว ถ้าคลุกคลีกับภิกษุด้วยกันบ้าง หรือภิกษุณี หรืออุบาสก หรืออุบาสิกา หรือพระราชา หรือมหาอำมาตย์ของพระราชา ย่อมมีเรื่องอื่นที่จะทำให้เพลิดเพลิน วิพากษ์วิจารณ์ สนุกสนานในเรื่องต่างๆ ที่สนทนากัน เพราะฉะนั้น จิตใจย่อมจะเป็นไปด้วยราคะบ้าง โทสะบ้าง แล้วแต่ว่ากิเลสที่สะสมมาจะมีกำลังมากเพียงไร

    ด้วยเหตุนี้ ท่านพระโกฏฐิตะจึงได้อุปมาว่า เปรียบเหมือนโคที่เคยกินข้าวกล้า ถูกเขาผูกไว้ด้วยเชือก หรือขังไว้ในคอก ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า โคที่เคยกินข้าวกล้าตัวนี้จักไม่กินข้าวกล้าอีก ณ บัดนี้ ผู้นั้นพึงกล่าวโดยชอบหรือ ซึ่งภิกษุเหล่านั้นก็กล่าวตอบว่า ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่มีได้ คือ โคที่เคยกินข้าวกล้าตัวนั้น พึงดึงเชือกขาดหรือแหกคอก แล้วลงไปกินข้าวกล้าอีกทีเดียว

    ถ้าเป็นบรรพชิตก็มีศีล หรือมีพระศาสดา มีเพื่อนพรหมจรรย์ผูกไว้เหมือนกับโคที่เคยกินข้าวกล้า แต่จะกล่าวไม่ได้เลยว่า โคที่เคยกินข้าวกล้านั้น จะไม่ไปกินข้าวกล้าอีก เพราะฉะนั้น เมื่อยังมีความปรารถนา ยังมีความต้องการในเรื่องของโลภะ ในเรื่องของโทสะ ในเรื่องของกิเลสต่างๆ และเป็นผู้ที่ไม่สำรวม ยังคงคลุกคลีกับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา ข้อนั้นก็ย่อมเป็นฐานะที่มีได้ คือ โคที่เคยกินข้าวกล้าตัวนั้น พึงดึงเชือกขาด หรือแหกคอก แล้วลงไปกินข้าวกล้าอีกทีเดียว

    เพราะฉะนั้น สำหรับบรรพชิตรูปนั้น ถ้าปล่อยจิตอย่างนั้น ราคะย่อมรบกวนจิตเขา เขามีจิตถูกราคะรบกวน ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์

    เป็นชีวิตจริงตามความเป็นจริง ที่ต้านทานกำลังของกิเลสไม่ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่จะให้กิเลสนั้นเกิดในขณะใดมากหรือน้อย แต่ถ้าเป็นผู้ที่เสพอยู่เสมอ ให้ปัจจัย ให้โอกาสแก่กิเลสอยู่เสมอ บรรพชิตรูปนั้นก็ย่อมสึกมาเป็นคฤหัสถ์

    หรือแม้แต่ท่านพระภิกษุซึ่งท่านเคยอบรมเจริญสมถภาวนา บรรลุฌานต่างๆ ท่านพระมหาโกฏฐิตะก็กล่าวว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ เขากล่าวว่า เราได้ปฐมฌาน (แต่) คลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ พวกสาวกเดียรถีย์อยู่ เมื่อเขาคลุกคลีอยู่ด้วยหมู่ ปล่อยจิต ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบคุย ราคะย่อมรบกวนจิตเขา เขามีจิตถูกราคะรบกวน ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ ฯ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๔ ตอนที่ ๔๓๑ – ๔๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564