แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 460


    ครั้งที่ ๔๖๐


    สุ. ขอบพระคุณท่านผู้ฟังสำหรับการวินิจฉัยพยัญชนะที่ว่า อุจฺจาสยนมหาสยนา มีหลายท่านที่มีความเห็นว่า ควรจะแปลว่า การเว้นจากที่นอนสูง ที่นอนใหญ่ ตรงตามพุทธพจน์ แต่ถ้าเติมคำว่า ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ จะเอาความหมายของอรรถกถาที่อธิบายลักษณะของที่นอนใส่เข้ามาด้วย ซึ่งไม่ตรงกับพยัญชนะที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก คือ อุจฺจาสยนมหาสยนา และการที่กล่าวถึงเรื่องนี้ ก็เพราะเหตุว่าบางท่านข้องใจเหลือเกินในการรักษาอุโบสถศีลว่า การรักษาอุโบสถศีลของท่านนั้นผิดถูกประการใดบ้าง

    เรื่องของการรักษาศีลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ หรือศีล ๘ ก็ตาม จุดประสงค์นั้นเพื่อขัดเกลากิเลสเท่าที่ท่านสามารถจะกระทำได้ ท่านที่ศึกษาพระวินัยบัญญัติแล้ว เห็นว่าสิกขาบทข้อใดที่ท่านสามารถจะประพฤติปฏิบัติตามได้ ท่านก็ประพฤติปฏิบัติตามโดยที่ไม่จำเป็นจะต้องอ้างว่า เวลานี้เป็นศีล ๒๐ หรือว่าเป็นศีล ๒๕ หรือเป็นศีลเท่าไรก็ตาม ซึ่งเป็นการดี คือ เป็นการศึกษาว่า สิ่งใดควรประพฤติตาม เห็นว่าเป็นประโยชน์ และท่านสามารถที่จะประพฤติตามเพื่อขัดเกลาได้ ท่านก็ประพฤติไปตามได้ เพราะว่าไม่เป็นโทษเป็นภัยในเรื่องของกุศลจิต

    สำหรับเรื่องของเมตตาที่ผู้รักษาอุโบสถศีลควรเจริญ บางทีท่านอาจจะไม่ทราบว่า เมตตาจริงๆ ที่จะแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เบื้องบน เบื้องล่าง ควรจะเป็นอย่างไร ถ้าได้ศึกษาเทียบเคียงกับข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทบรรพชิตทั้งหลาย ก็จะทราบว่า การที่จะละคลายขัดเกลากิเลสจนถึงดับเป็นสมุจเฉทจริงๆ เป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะคิดว่า แม้ปัญญาไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงก็สามารถดับกิเลสได้ ซึ่งถ้าเข้าใจอย่างนี้เป็นสิ่งที่ผิด เพราะว่ากิเลสมีมากมายในใจ เมื่อยังไม่ได้ศึกษา จะไม่ทราบเลยว่า เป็นกิเลสประเภทใดบ้าง อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดประการใด แต่ถ้าศึกษาจากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียด ท่านจะทราบว่า กิเลสของท่านนั้นมีมาก และมีอยู่ในลักษณะใดบ้าง ที่ควรจะขัดเกลายิ่งขึ้น

    ขอกล่าวถึงการอบรมเจริญเมตตา ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้มาก โดยเฉพาะแก่บรรพชิต ใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล อรรถกถาพระวินัยปิฎก ว่าด้วยเรื่องภิกษุณีเป็นโจทก์ฟ้องคดีในโรงศาล

    บางท่านอาจจะคิดว่า ไม่เกี่ยวข้องกับตัวของท่านเลย แต่ความจริงเป็นสภาพของจิตซึ่งท่านจะเทียบได้ว่า ถ้ามีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ขณะใดเป็นเมตตา ขณะใดไม่เป็นเมตตา

    สำหรับเรื่องภิกษุณีเป็นโจทก์ฟ้องคดีในโรงศาล ท่านผู้ฟังลองคิดว่า เป็นสิ่งที่ควรหรือไม่ควร ชีวิตธรรมดา เหตุการณ์ปกติธรรมดา สำหรับฆราวาสควรไหม สำหรับบรรพชิตควรไหม เพราะว่าข้อประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสนั้นผิดกัน เพราะฉะนั้น ท่านที่ต้องการจะดับกิเลสจริงๆ ควรที่จะศึกษาเพื่อที่จะเทียบเคียงเวลาที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นว่า ท่านจะขัดเกลากิเลสด้วยการกระทำอย่างไร

    ข้อความมีว่า

    สองบทว่า ทุติยํ วา ปริเยสติ มีความว่า ภิกษุณีผู้ก่อคดี แสวงหาพยาน หรือเพื่อน เป็นทุกกฎ

    แสดงสภาพความจริงของจิตที่ประกอบด้วยกิเลสว่า ผู้ที่เพียรที่จะดับกิเลส ไม่ควรที่จะก่อคดี หรือสร้างความผูกโกรธ เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่การขัดเกลากิเลสเพราะฉะนั้น ภิกษุณีผู้ก่อคดี แสวงหาพยานหรือเพื่อน เป็นทุกกฎ เป็นอาบัติข้อหนึ่ง

    บทว่า คจฺฉติ วา มีความว่า จะเป็นสำนัก หรือทางเที่ยวภิกษาจารก็ตามที ภิกษุณีเดินไปยังสำนักงานของพวกตุลาการจากที่ที่ตนยืนอยู่ แล้วเกิดความคิดขึ้นว่า เราจักดำเนินคดี เป็นทุกกฎ ทุกๆ ย่างเท้า

    บางท่านอาจจะคิดว่า ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องศึกษาพระวินัยบัญญัติ แต่ความจริงเป็นสภาพของจิตทุกขณะที่เกิดดับสืบต่อกัน แม้แต่การที่จะเดินไปที่สำนักงานของพวกตุลาการ ถ้าขณะนั้นไม่มีจิตที่คิดอย่างนั้น ก็เดินไปไม่ได้ ถ้าเกิดความคิดที่จะดำเนินคดี เป็นทุกกฎ และยังเดินไปยังสำนักงานของพวกตุลาการจากที่ที่ตนยืนอยู่ แล้วเกิดความคิดขึ้นว่า เราจักดำเนินคดี เป็นทุกกฎ ทุกๆ ย่างเท้า เพราะว่าขณะนั้นเป็นไปด้วยอกุศลจิต

    ข้อความต่อไป

    ภิกษุณีเห็นพวกตุลาการในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง โดยที่สุดแม้ผู้มาสู่สำนักแห่งภิกษุณี แล้วให้การถ้อยคำของตน เป็นทุกกฎแก่ภิกษุณี

    แม้ตนเองไม่เดินไป แต่เวลาเห็น พวกตุลาการในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง โดยที่สุดแม้ผู้มาสู่สำนักแห่งภิกษุณี แล้วให้การถ้อยคำของตน คือ กล่าวโทษความผิดของบุคคลอื่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นไม่ใช่เมตตาแน่นอน เพราะฉะนั้น การที่เพศบรรพชิตมีข้อปฏิบัติที่จะขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงข้อปฏิบัติไว้ เพื่อที่จะให้ระลึกได้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของจิตที่ยังประกอบด้วยกิเลสมากเพียงใด สำหรับภิกษุณีเป็นทุกกฎในเพราะให้การครั้งแรก เป็นถุลลัจจัยในเพราะให้การครั้งที่ ๒

    เวลาที่ให้การกล่าวโจทก์ ครั้งแรกเป็นทุกกฎ แต่ถ้ายังกล่าวอีกเป็นครั้งที่ ๒ ก็เป็นกำลังแรงของจิต ซึ่งยังไม่หายจากการผูกโกรธ เพราะฉะนั้น ก็เป็นอาบัติที่ใหญ่ขึ้น คือ เป็นถุลลัจจัย

    ภิกษุณีใช้กัปปิยการกให้แถลง คือ ให้บุคคลอื่นเป็นผู้กล่าวโจทก์

    บรรดากัปปิยการกและอุบาสกนั้น กัปปิยการกจงให้การถ้อยคำของภิกษุณีก่อนก็ตาม อุบาสกนอกนี้ให้การถ้อยคำของตนก่อนก็ตาม กัปปิยการกจงให้การถ้อยคำของคนทั้ง ๒ ก็ตาม อุบาสกนอกนี้จงให้การถ้อยคำแม้ของคนทั้ง ๒ ก็ตามที เมื่อชนทั้ง ๒ แถลงบอกอยู่โดยประการใดประการหนึ่ง เป็นทุกกฎแก่ภิกษุณีในแถลงให้การครั้งแรก เป็นถุลลัจจัยในการแถลงให้การครั้งที่ ๒

    แต่เมื่อพวกตุลาการฟังถ้อยแถลงของคนทั้ง ๒ ฝ่ายที่แถลงให้การไป โดยประการอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำการตัดสินแล้ว คดีเป็นอันถึงที่สุด ในคดีที่ถึงที่สุดนั้น ภิกษุณีจะชนะคดีก็ตาม แพ้ก็ตาม เป็นสังฆาทิเสส

    เพราะเหตุว่าเป็นคดีจริงๆ ถึงการตัดสินให้ถึงที่สุดแล้วจริงๆ

    แต่ถ้าว่า อธิกรณ์ที่ดำเนินเป็นคดีกันแล้ว เป็นเรื่องที่พวกตุลาการเคยได้ทราบมาก่อน ถ้าพวกตุลาการเหล่านั้น พอเห็นภิกษุณีและผู้ก่อคดี จึงกล่าวว่า ไม่มีกิจที่จะต้องสอบสวนพวกท่าน พวกเรารู้เรื่องนี้แล้วจึงตัดสินให้เสียเองทีเดียว แม้ในคดีถึงที่สุดเห็นปานนี้ ก็ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุณี

    ถึงแม้ว่าจะมีเรื่อง มีคดี มีผู้รู้ และผู้รู้ตัดสินให้เสร็จ ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุณี เพราะว่าภิกษุณีไม่มีจิตอกุศลที่จะเบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อนด้วยการเป็นโจทก์ โดยการก่อคดีให้เกิดขึ้น

    ท่านที่อยากจะชำระขัดเกลากิเลสให้ยิ่งขึ้น เวลาที่มีอะไรเกิดขึ้น ลองพิจารณาว่า ท่านจะปฏิบัติต่อเหตุการณ์นั้นด้วยเมตตา ด้วยกุศลจิต หรือด้วยอกุศลจิตประการใด

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ภิกษุณีถูกพวกชาวบ้านผู้ก่อคดี มาด้วยตนเอง หรือส่งทูตมาเรียกตัวไปยังสำนักงานของพวกตุลาการ ต่อจากนั้นผู้ก่อคดีจะแถลงถ้อยคำของตนก่อน หรือถ้อยคำของภิกษุณีก่อนก็ตามที ในการแถลงครั้งแรก ก็ไม่เป็นทุกกฎเลย ในการแถลงให้การครั้งที่ ๒ ก็ไม่เป็นถุลลัจจัย แม้ในคดีที่พวกอำมาตย์ทำการวินิจฉัยถึงที่สุดลงแล้ว ก็ไม่เป็นอาบัติเช่นกัน ถ้าแม้ว่า ผู้ก่อคดีกล่าวกะภิกษุณีว่า ขอให้ท่านนั่นแหละจงแถลงถ้อยคำของผมและของท่าน ถึงแม้เมื่อภิกษุณีแถลง พวกอำมาตย์ได้ฟังถ้อยคำแล้วทำคดีให้ถึงที่สุด ก็ไม่เป็นอาบัติเหมือนกัน

    เหตุการณ์ต่างกัน คือ มีเรื่อง มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง แต่ว่าภิกษุณีไม่ใช่เป็นผู้ก่อคดี ไม่ได้เป็นโจทก์ แต่ถูกพวกชาวบ้านผู้ก่อคดีมาด้วยตนเอง หรือว่าส่งทูตมาเรียกตัวไปสำนักงานของพวกตุลาการ ถึงแม้ว่าจะตัดสินวินิจฉัยถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่เป็นอาบัติ หรือแม้ภิกษุณีจะให้การ ก็ไม่เป็นอาบัติแม้ในครั้งแรกและในครั้งที่ ๒ เพราะว่าเจตนาผิดกัน

    สำหรับเรื่องที่อาจจะเป็นปัญหาสำหรับท่านผู้ฟัง คือ เรื่องการที่จะกล่าวโจทก์หรือกล่าวโทษบุคคลผู้กระทำการทุจริต ถ้าเป็นเพศบรรพชิต พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมใน ทุติยสมันตปาสาทิกา ว่าด้วยการขออารักขาจากทางบ้านเมือง ซึ่งในยามที่บ้านเมืองไม่เป็นปกติสุข ก็จะต้องมีผู้ที่ทำทุจริตกรรมเบียดเบียนบุคคลอื่น แม้บรรพชิตก็อาจจะมีผู้ที่เบียดเบียนด้วยประการต่างๆ ได้ สำหรับเรื่องของการขออารักขาจากทางบ้านเมืองที่เป็นธรรม ที่บรรพชิตควรกระทำและที่ไม่ควรกระทำ พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงไว้

    ข้อความมีว่า

    สองบทว่า อารกฺขํ ยาจติ ได้แก่ ขออารักขาอันเป็นธรรม ไม่เป็นอาบัติ

    บัดนี้ เพื่อแสดงวิธีขออารักขาที่เป็นธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า บอกไม่เจาะตัว

    หมายความว่า ไม่ชี้ไม่บ่งว่า เป็นคนนั้นคนนี้ ถ้ากระทำในลักษณะนี้ ก็ยังเป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตา เพราะฉะนั้น ไม่เป็นอาบัติ แต่ถ้าเจาะจงตัวว่า คนนั้นคนนี้เป็นผู้กระทำ ขณะนั้นเป็นการบอกโดยเจาะตัว ขณะนั้นปราศจากเมตตา เพราะรู้ว่าผลก็คือ คนนั้นจะได้รับโทษภัย จึงเป็นอาบัติ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ในคำว่า อนุทฺทิสฺส อาจิกฺขติ นั้น มีวินิจฉัยดังนี้ ปรารภอดีตบอกเจาะตัวก็มี บอกไม่เจาะตัวก็มี แม้ปรารภอนาคตบอกเจาะตัวก็มี บอกไม่เจาะตัวก็มี

    ปรารภอดีตบอกเจาะตัวเป็นอย่างไร คือ ที่สำนักของภิกษุณี พวกเด็กชาวบ้าน หรือคนอันธพาล มีนักเลง เป็นต้น พวกใดพวกหนึ่งประพฤติอนาจารก็ดี ตัดต้นไม้ก็ดี ขโมยผลไม้น้อยใหญ่ก็ดี แย่งชิงเอาบริขารก็ดี ภิกษุณีเข้าไปหาพวกเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายบอกว่า ที่สำนักของพวกเราถูกทำประทุษกรรมชื่อนี้ เมื่อเขาถามว่า ใครทำ บอกว่า คนโน้นและคนโน้น ... ด้วยอาการอย่างนี้ จัดเป็นการบอกเจาะตัวปรารภอดีต คือ ปรารภกรรมที่ได้กระทำแล้ว การบอกเจาะตัวนั้นไม่ควร

    ถ้าพวกเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายเหล่านั้น ฟังคำนั้นแล้วทำการปรับไหมแก่ชนเหล่านั้น ทรัพย์ทั้งหมดที่ถูกปรับไหม เป็นสินใช้แก่ภิกษุณี แม้เมื่อมีความประสงค์ว่า เราจักรับเอาสินไหม ก็เป็นสินใช้เหมือนกัน แต่ถ้าภิกษุณีกล่าวว่า ขอให้ท่านปรับไหมผู้นั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ปรับเอาสินไหมประมาณ ๕ มาสก เป็นปาราชิก (แก่ภิกษุณี)

    แสดงถึงการขาดเมตตา ในการที่จะให้ผู้นั้นได้รับโทษ และถ้าเป็นการปรับไหมประมาณ ๕ มาสก ก็เป็นอาบัติถึงปาราชิก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๖ ตอนที่ ๔๕๑ – ๔๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564